เศรษฐา ควง 9 รัฐมนตรี โชว์ The Great Challenges ปลุก ฟื้น คืนชีพ เศรษฐกิจ 2024

เศรษฐา ควง 9 รัฐมนตรี
โชว์ The Great Challenges
ปลุก ฟื้น คืนชีพ เศรษฐกิจ 2024

เมื่อขึ้นปีใหม่ของทุกปี ทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจ นักวิเคราะห์ทางวิชาการ ประชาชน รวมถึงหน่วยงานทางการเอง ต่างติดตามและให้ความสนใจว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ปัจจัยหนุนปัจจัยเสี่ยงที่เราๆ ต้องรับรู้ รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการประเทศของรัฐบาล ยิ่งเป็นรัฐบาลใหม่เพิ่งเข้าบริหารประเทศ จะถูกจับตาเป็นพิเศษ

ดังนั้น ในโอกาสก้าวขึ้นปีที่ 47 ของหนังสือพิมพ์มติชน จึงเปิดฉากงานสัมมนาแรกของปี 2567 ในหัวข้อ “Thailand 2024 The Great Challenges เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ในสัมมนาครั้งนี้ ได้เปิดให้เข้ารับฟังแบบใกล้ชิด ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ ถนนรางน้ำ และฟังผ่านการถ่ายทอดสดภาพและเสียงบนอินเตอร์เน็ต (ไลฟ์สตรีมมิ่ง) บนแพลตฟอร์มออนไลน์เครือมติชน ตั้งแต่เวลา 09.30-16.00 น.

ผู้รับฟังสัมมนาจะเต็มอิ่มรับรู้ถึงแนวคิด แนวทางปฏิบัติ และดัชนีชี้วัดของผลงานและเป้าหมาย กับทีมเวิร์ก “รัฐบาลเศรษฐา” โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ Thailand 2024 The Great Challenges เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส

Advertisement

ก่อนส่งไม้ต่อให้กับอีก 9 รัฐมนตรี จับคู่เสวนาต่อตลอดวัน ซึ่งช่วงเช้าเริ่มที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามด้วย พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ช่วงบ่าย เริ่มจาก ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ส่งท้ายด้วยบรรยายพิเศษ โดย ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

⦁ปลุกสร้างโอกาสเศรษฐกิจ

Advertisement

นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา” เกริ่นนำในปาฐกถาพิเศษหัวข้อ Thailand 2024 The Great Challenges เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส ตอนหนึ่งว่า “อยากเน้นการขยายโอกาสให้ประชาชนคนไทยทุกคนมากกว่า ว่าอีก 4 ปี เราจะเห็นอะไรบ้าง การขยายโอกาสต้องมองไปในอีก 20-30 ปีข้างหน้า มองเรื่องการลงทุนพื้นฐาน หลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องพูดถึงแลนด์บริดจ์ แม้มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งรัฐบาลรับฟังทุกเรื่อง ไม่ใช่จะรับฟังแค่ความคิดเห็นของประชาชน แต่ต้องรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนด้วย เป็นเรื่องต้องพูดคุย ต้องใช้เวลา น่าจะต้องใช้เวลาอีก 10 กว่าปีจึงจะเสร็จ อยากให้มองเหมือนสนามบินสุวรรณภูมิ อยากฝากให้มองไปด้านหน้าว่าหากไม่เริ่มต้นวันนี้ โอกาสในอนาคตก็อาจเสียไป และเรื่อง Geopolitics ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนใหญ่ๆ ไทยยืนยันว่าจุดยืนเป็นกลางตลอด ยินดีร่วมทำธุรกรรมกับหลายประเทศ รวมถึงเรื่องเอฟทีเอ ถือเป็นการเริ่มต้นนำประเทศไปทัดเทียมกับต่างประเทศ มีแผนนำรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปต่างประเทศ หากประเทศไทยสามารถทำเป็น Thailand Paviloin มีหลายห้อง แยกตามห้อง มีรัฐมนตรีนั่งประจำ เชื่อว่าประเทศไทยได้รับความสนใจมากกว่านี้”

จากนั้นนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อถึงนโยบายหลักต่างๆ ตั้งแต่การท่องเที่ยว ที่ยึดหลักควิกวิน เริ่มจากใช้มาตรการวีซ่าฟรี เร่งยกระดับประเทศไทยให้เป็น Aviation Asian Hub ลดปัญหาเยาวชนเกี่ยวข้องยาเสพติด ยกระดับด้านสาธารณสุขเพื่อให้เข้าถึงยาและการรักษา ผลักดันสู่ E-Government นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้บริการประชาชนและธุรกิจ ส่งเสริมพลังงานสะอาดและการได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะทำให้ราคาไฟฟ้าลดลง รวมถึงสร้างโอกาสให้เกษตรกรไทยผ่านนโยบายเพิ่มรายได้สามเท่าภายใน 4 ปี และทำไปพร้อมลดปัญหาอุปสรรคและการสร้างโอกาสต่างๆ โดยย้ำในตอนท้ายว่า ทั้งหมดทำวันนี้ จะเป็นฐานรากให้ประเทศไทยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว และส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้กับลูกหลาน

⦁บูสต์ส่งออก-ดิจิทัลปั๊มจีดีพี

จากนั้น ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมเสวนา “จับสัญญาณบวกส่งออก ปลุกเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในตลาดโลก” บน Section เพิ่มรายได้

โดย “ภูมิธรรม” กล่าวว่า ธีมหลักของงาน คือ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส นั้นยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง วันนี้เราเห็นเศรษฐกิจโลกอย่างไรก็ยังมีปัญหา ใช้เครื่องมือแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทยังถือว่าเป็นเรือธง สร้างบรรยากาศและเพิ่มกำลังซื้อ ช่วยขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจ ส่วนงานกระทรวงพาณิชย์ ให้แก้ไขโครงสร้างต้นทุนสินค้า ราคาที่เป็นธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว ไม่ต้องวนกลับมาแก้ไขปัญหาแบบเดิมทุกปี อย่างราคาข้าว ส่วนตลาดส่งออกปี 2567 เชื่อมั่นขยายตัวดีกว่าปี 2566 แน่นอน ผ่านกิจกรรมไปเจรจากับนานาประเทศ อย่างจีนจะไปเจาะแต่ละมณฑล ยังได้จับมือผู้ผลิตซีรีส์วาย ให้เป็นเครื่องมือขายสินค้าไทย และเกิดกำลังซื้อภายในประเทศ ยังเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์

ขณะที่ “ประเสริฐ” กล่าวถึงงานดีอีว่า หากเทียบเศรษฐกิจรวมโตได้อย่างเก่ง 2.5-3% เศรษฐกิจดิจิทัลสามารถทำความเจริญให้กับประเทศได้กว่า 15% และก้าวกระโดดถึง 30% ได้ รัฐบาลจึงตั้งใจมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลลดขั้นตอนต่างๆ กระทรวงแปลงให้เป็นนโยบายเครื่องยนต์เครื่องที่ 5 ของประเทศ จากอดีตไทยมี 4 เครื่องยนต์ คือ บริโภค ลงทุน ส่งออก และท่องเที่ยว โดยทำนโยบายเรียกว่า The Growth Engine of Thailand คือ เครื่องยนต์เครื่องใหม่ของประเทศไทย ภายใต้แผนจะมี 3 เครื่องยนต์ คือ 1.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2.การสร้างความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงและปลอดภัยข้อมูล และ 3.การพัฒนาคนด้านดิจิทัล ซึ่งทำคู่กับการพัฒนาระบบ และผลักดันใช้เทคโนโลยี ซึ่งจากนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน

⦁พลิกโฉมอุตฯ-สร้างที่ยืนไทย

อีกวงเสวนา Section เพิ่มรายได้ ที่มี พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “เปิดโฉมอุตสาหกรรม-การทูตยุคใหม่ ในมุมมอง รมต.New Gen”

ซึ่ง “พิมพ์ภัทรา” เปิดฉากประกาศ เปลี่ยนอุตสาหกรรมที่เป็นเสือหลับ ให้เป็นเสือตื่น โดยดึงนักลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมตรึงผู้ประกอบการในประเทศอยู่ให้ได้ โดยปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเดิมที่กำลังถูกกระทบให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ และสนับสนุนอุตสาหกรรม S-Curve อาทิ รถอีวี อุตสาหกรรมหมุนเวียน พร้อมยกเครื่องอุตสาหกรรมเดิมและส่งเสริม เช่น สิ่งทอ การ์เมนต์ เหล็ก อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (ยุทโธปกรณ์) หรืออุตสาหกรรมฮาลาล ที่สามารถเพิ่มรายได้อีก 1-2 เท่า โดยอยู่ระหว่างจัดตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล

ส่วน “จักรพงษ์” กล่าวไว้ว่า บทบาทใหม่ที่กระทรวงการต่างประเทศ ต้องมีจุดยืนที่เป็นกลาง มีเป้าหมายที่ชัดเจน ต้องอยู่ในอุปสรรคหลายๆ อย่างแน่นอนกับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ตั้งแต่เรื่องสงคราม สงครามการค้า และการเลือกตั้งสหรัฐ ทุกอย่างมีความสัมพันธ์และจะกระทบกับเศรษฐกิจของไทยทั้งหมด บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในอนาคต คือ เราจะเป็นแนวหน้า ที่ต้องเป็นคนเข้าไปเจรจา เปิดประตูให้ทุกคนเห็นว่า ไทยพร้อมจะเปิดประเทศและรับการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ หรือทุกกระทรวง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลนี้

⦁ตัดวงจรอิทธิพล-สางหนี้

ช่วงบ่าย เริ่มที่ Section ลดรายจ่าย โดยเสวนาร่วมระหว่าง ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในหัวข้อ ‘มิติใหม่ ปราบผู้มีอิทธิพล แก้หนี้ แก้จน ปลดหนี้เกษตรกร ได้จริง?’ ซึ่งทั้งสองรัฐมนตรีย้ำรัฐบาลชุดนี้เอาจริงกับการแก้หนี้ปลดหนี้

โดย “ชาดา” ย้ำถึงนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ทำคู่ทั้งแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และดันตลาดนัดแก้หนี้ โดยการนำลูกหนี้เจ้าหนี้ ได้เข้าสู่มาตรการไกล่เกลี่ย และเดินหน้าขจัดปัญหายาเสพติด

ส่วน “ไชยา” ระบุว่า จะเริ่มต้นปลดทุกข์ชาวนา ด้วยการให้เขายืนบนขาตัวเองให้ได้ บนหลักการเกษตรยุคใหม่ ต้องเป็นเกษตรที่มีคุณภาพ และอาชีพเกษตรกรรม สามารถสร้างรายได้และเป็นหลักประกันในสังคมในชีวิตให้ได้

⦁โอกาสการศึกษา-แรงงาน

จากนั้นเข้า Section ขยายโอกาส เป็นการร่วมเสวนาของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หัวข้อ “เรียนดี มีความสุข ขยายโอกาสเพื่อคนไทย”

ฝั่ง รมว.ศธ.ประกาศบนเวทีว่าจะทำแพลตฟอร์มเพื่อสร้างมาตรฐานการเรียนรู้ให้เด็กได้เรียนจากสื่อและครูคนเดียวกัน มีตรรกะการสอนเหมือนกัน แต่วิธีการที่หลากหลาย และสนับสนุนนโยบายเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา

ฟาก รมว.อว.เน้นปรับตัวปรับหลักสูตรให้ทันโลกที่เปลี่นนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเร่งทำธนาคารหน่วยกิต เพื่อให้เด็กมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้เร็วขึ้น เป็นการลดภาระ และเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนมหาวิทยาลัย พร้อมกับเร่ง Skill Transcipt เน้นสร้างทักษะความสามารถตามความต้องการของตลาดแรงงาน

⦁ยกระดับรายได้ภาคเกษตร

ส่งท้ายด้วยการบรรยายพิเศษ โดย ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวข้อ “เพิ่มมูลค่าเพื่อเกษตรกรไทย 2567” ซึ่งตอนหนึ่งการบรรยายระบุว่า การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาสให้กับเกษตรกร ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ถือว่าเป็นกระทรวงที่ต้องดูแลอาชีพภาคการเกษตรประมาณ 31 ล้านคน และมีแรงงานในภาคเกษตรอีก 20 ล้านคน รวมเป็นกว่า 50 ล้านคน ถือเป็นภารกิจอันหนักอึ้งและท้าทายที่จะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเป็น 3 เท่าภายใน 4 ปี ก่อนหน้านี้ไปประชุมรัฐมนตรีเกษตรโลก ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี พบว่า ทุกประเทศต้องเผชิญความท้าทายเช่นเดียวกับไทย ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศตกต่ำ ปัญหาปัจจัยการผลิต ราคาพลังงานสูงขึ้น กระทบต่อจีดีพีด้านการเกษตรต่ำลง สำหรับไทย ภาคเกษตร ตอนนี้เจอปัญหาหลายด้านและกำลังแก้ไข ซึ่งเกิดจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและการเกิดเอลนีโญ ภาคการประมง กำลังแก้ระเบียบเพื่อให้การทำประมงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ยังมีอีกหลายแนวทางที่จะเพิ่มรายได้เกษตรกร และลดต้นทุนด้านต่างๆ อย่างการเปิดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน โดยเฉพาะพื้นที่ทำกินที่ได้ปลดล็อกที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร ที่ทยอยแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ ซึ่งช่วยเหลือเกษตรกรกว่า 2 ล้านครอบครัว การหาแหล่งนำเข้าสินค้าใหม่ที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ

จากสัมมนาสะท้อนให้เห็นว่า ทุกฝ่ายยอมรับถึงการเผชิญกับปัจจัยลบรุมเร้ามากมาย แต่ยังความคาดหวังว่าอย่างไรแล้ว ปี 2567 ยังเป็นปีมังกรทอง เป็นปีที่ดีของคนไทย ที่จะเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และสร้างโอกาส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image