‘ชุนเหลียน’ กลอนคู่แห่งฤดูใบไม้ผลิ ลายสือศิลป์จากปลายพู่กัน ‘นิธิวุฒิ ศรีบุญชัยชูสกุล’

‘ชุนเหลียน’ กลอนคู่แห่งฤดูใบไม้ผลิ ลายสือศิลป์จากปลายพู่กัน ‘นิธิวุฒิ ศรีบุญชัยชูสกุล’

‘ชุนเหลียน’ กลอนคู่แห่งฤดูใบไม้ผลิ
ลายสือศิลป์จากปลายพู่กัน ‘นิธิวุฒิ ศรีบุญชัยชูสกุล’

ตรุษจีน คือเทศกาลพิเศษสำหรับชีวิต เป็นการเฉลิมฉลอง การพบหน้า ส่งความปรารถนาดีให้แก่กัน ลูกหลานที่อยู่ต่างถิ่นห่างไกลมุ่งหน้ากลับบ้าน การเซ่นไหว้รำลึกถึงบรรพชนเป็นความตั้งใจในการแสดงความกตัญญูอย่างหนึ่ง

หนึ่งในสัญลักษณ์ของการส่งความปรารถนาดีในช่วงตรุษจีน คือการมอบ ‘ชุนเหลียน’ คำกลอนคู่เขียนด้วยพู่กันจีนลงบนกระดาษแดง อันเป็นภาพคุ้นตา

ลายสือศิลป์ แค่รู้ภาษาจีน เขียนไม่ได้!

Advertisement

กระดาษสีแดงสดปรากฏตัวอักษรภาษาจีน ติดบนประตู ด้านละ 1 แผ่น ข้อความบนกระดาษมีจำนวนอักษรเท่ากัน เป็นใจความอวยพรปีใหม่ ภาษาจีนกลางเรียกข้อความในลักษณะดังกล่าวว่า ‘ตุ้ยเหลียน’ คือ ‘กลอนคู่’ ที่ไม่จำเป็นต้องมีสัมผัส หากแต่ต้องเป็นถ้อยคำ 2 วรรคที่มีเสียงหนักเบาและความหมายสมดุลกัน นั่นคือ มีจำนวนคำ (อักษร) เท่ากัน และความหมายเป็นคู่กันอย่างสละสลวย

สำหรับกลอนคู่ในเทศกาลตรุษจีนมีชื่อเฉพาะในภาษาจีนกลางว่า ‘ชุนเหลียน’ หมายถึง กลอนคู่ในวสันตฤดู คือฤดูใบไม้ผลิ (ไม่ใช่ฤดูฝน) ส่วนใหญ่มีใจความอวยพรปีใหม่ หรือกล่าวเรื่องราวเกี่ยวกับปีใหม่

โดยปกติกลอนคู่ตรุษจีนถูกเขียนลงบนกระดาษแดงด้วยตัวอักษรสีทอง หรือสีดำ

Advertisement

ที่สำคัญต้องเขียนด้วยลายมือที่งดงาม เป็นศิลปะแขนงหนึ่งของจีนซึ่งผสานอักษรศาสตร์และงานจิตรกรรมไว้ด้วยกันอย่างลงตัว เรียกว่า ‘ลายสือศิลป์’ ศิลปะชั้นสูง ต้องผ่านการร่ำเรียนและฝึกฝน

ไม่ใช่ทุกคนที่เขียนได้ แม้แต่คนจีนที่รู้ภาษาจีน

นิธิวุฒิ ศรีบุญชัยชูสกุล คือผู้สร้างสรรค์ ‘ลายสือศิลป์’ ด้วยพู่กันจีนในสถานที่สำคัญมากมายของคนไทยเชื้อสายจีนทั่วประเทศ

1 ใน 30 ศิลปินลายสือศิลป์ยอดเยี่ยมของโลก
จากหนังสือพิมพ์ People’s Daily

คว้าที่ 1 จากการแข่งขันรังสรรค์อักษรศิลป์ครั้งแรกในไทย จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย ตั้งแต่ 20 ปีก่อน ด้วยอายุเพียง 40 ต้นๆ ในเวลานั้น

ให้เกียรติตอบรับเทียบเชิญ จากเครือมติชน ในการตวัดพู่กันเนรมิตชุนเหลียนสำหรับฉบับพิเศษ เฉลิมฉลองตรุษจีน 2567 แทรกในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน, ประชาชาติธุรกิจ และข่าวสด

ส่งมอบความปรารถนาดีให้ผู้อ่านได้พานพบแต่สิ่งดีงามตลอดตรุษแห่งมังกร

หนัก เบา หยิน หยาง สมดุล 2 ข้างของ ‘ชุนเหลียน’

“การมอบชุนเหลียนให้ ถือเป็นการส่งความปรารถนาดีที่ง่ายที่สุด โดยเป็นคำกลอนที่มีความหมายมงคล พูดถึงการเฉลิมฉลองตรุษจีน ขอให้มีสิ่งดีๆ เข้ามา เช่น อวยพรให้มีสุขภาพแข็งแรง พบแต่สิ่งดีๆ หรือมีบุญบารมี มีอายุยืน ความร่ำรวย แข็งแรง” อาจารย์นิธิวุฒิ เกริ่นข้อมูลเบื้องต้น ระหว่างจัดเตรียมกระดาษแดง พู่กัน และหมึกดำ อันเป็นอุปกรณ์สำคัญ

“สิ่งสำคัญคือต้องใช้กระดาษแดงเท่านั้น ส่วนหมึก เมืองไทยนิยมใช้สีทอง แต่ในเมืองจีนใช้สีดำด้วยซ้ำ จีนไม่ถือว่าหมึกดำเป็นเรื่องอวมงคล

จริงๆ แล้ว สีดำที่เข้มข้น ตัดด้วยสีแดง สวยงามมาก คลาสสิก ใช้กันมาตั้งแต่ยุคโบราณ

สำหรับกระดาษ พิมพ์มาสำหรับ 4 และ 7 คำโดยเฉพาะ ส่วนพู่กันถ้าสังเกตด้วยตาเปล่า จะแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่มันเป็นสีขาว ใช้กลุ่มขนกระต่าย หรือแพะ มีความนุ่ม

อีกกลุ่มหนึ่งคือขนของสุนัขจิ้งจอก มีความเป็นหยาง คือ แข็ง ของผม นำมามิกซ์แอนด์ แมตช์ ใช้ทั้ง 2 อย่าง ตรงกลางใช้ขนสุนัขจิ้งจอก แล้วหุ้มด้วยขนแพะสีขาว จึงมีราคาแพง มีทั้งความแข็งและอ่อนในด้ามเดียวกัน” ปรมาจารย์พู่กันจีนอธิบาย

จากนั้น เริ่มจรดปลายพู่กันอย่างชำนาญ เผยให้เห็นวิทยายุทธที่ฝึกปรืออย่างยาวนาน

“ดูเหมือนเขียนง่าย แต่จริงๆ แล้วยากมาก ถ้าคนเขียนเก่งๆ มือจะลอย ข้อมือจะไม่ติดที่พื้น

การเขียนที่ทำให้สวยงามได้ อักษรต้องมีหยินหยาง หมายถึง เส้นหนัก เส้นเบา” ศิลปินลายสือศิลป์ชวนให้สังเกตความพลิ้วไหว หนักแน่น เข้มข้นอย่างมีจังหวะจะโคน ปรากฏเป็นถ้อยคำอัน ‘สมดุล’ 2 ข้างที่ล้อกัน เรียกว่า ‘ตุ้ยเหลียน’ คือ ‘กลอนคู่’ ซึ่งใช้ได้หลากหลายโอกาส (ตุ้ย แปลว่า คู่) แต่หากมีเนื้อหาอวยพรปีใหม่ เขียนขึ้นเพื่อใช้ในตรุษจีนโดยเฉพาะ เรียกว่า ‘ชุนเหลียน’ ดังที่เกริ่นมาข้างต้น

“ตุ้ยเหลียน คือ คำกลอนคู่ที่สามารถใช้ได้ในหลากหลายโอกาส เช่น ถ้าใช้ในงานแต่งงาน ใช้ว่า ฮุนเหลียน ถ้าใช้ในงานปีใหม่ ตรุษจีน คือ ชุนเหลียน เป็นคำประพันธ์ซึ่งมีความไพเราะ สมดุลในเสียง และความหมาย ได้รับความนิยมเรื่อยมา พอถึงตรุษจีน ชาวจีนจะนำติดไว้ที่หน้าประตู

ชุนเหลียน มีกลอนบน กับกลอนล่าง กลอนบน คือกลอนที่ใช้ติดด้านขวามือ มองเข้าไป อยู่ทางขวา จีน ขวามือเป็นใหญ่ กลอนด้านซ้าย เป็นกลอนล่าง”

มังกรทะยานในเมฆที่เป็นมงคล ไฮไลต์มะโรงไม้ 2567

แน่นอนว่า ถ้อยคำและเนื้อหาใน ‘ชุนเหลียน’ ที่ฮิตสุด โดยเฉพาะในไทย คือ

‘ซิน เจีย ยู่ อี่ ซิน นี้ ฮวด ใช้’ (สำเนียงแต้จิ๋ว)

“ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ถาวร สิกขโกศล ท่านแปลไว้ว่า เดือนอ้ายใหม่จงได้สมจินตนา ปีใหม่มาพูนทรัพย์นับอนันต์ เป็นกลอนคู่ที่แพร่หลายที่สุดในเทศกาลตรุษจีน” อาจารย์นิธิวุฒิกล่าว

ส่วนชุนเหลียนที่เขียนขึ้นสำหรับปี ‘มังกรไม้’ (ไม่ใช่มังกรทอง) 2567 สำหรับฉบับพิเศษของเครือมติชน อาจารย์นิธิวุฒิ เฟ้นหาและสร้างสรรค์ โดยค้นคว้าข้อมูลจากแดนมังกรร่วมด้วย

“ผมเลือกมาให้เป็นพิเศษ สำหรับปีมะโรงไม้ หรือมังกรไม้ มังกร ภาษาจีนคือ หลง หรือ สำเนียงแต้จิ๋วว่า เล้ง

หลง หรือเล้ง เป็นนักษัตรที่มีความยิ่งใหญ่ ปีมังกรจึงค่อนข้างมีความสำคัญ

คำอวยพรบางส่วน เมืองไทยไม่มีคนเขียน ผมไปศึกษาจากเมืองจีน ว่าโบราณเมื่อเข้าถึงปีมะโรง เขาเขียนคำว่าอะไรบ้าง เป็นคำอวยพรเฉพาะปีมะโรงเท่านั้น”

มังกรทะยานในเมฆที่เป็นมงคล

คือไฮไลต์ที่อาจารย์นิธิวุฒิจรดปลายพู่กัน ด้วยลายสือศิลป์เป็นอักษรจีนในถ้อยคำเปี่ยมความหมาย สำหรับตรุษจีนปีมังกรโดยเฉพาะ โดย ‘เครือมติชน’ นำมาใช้เป็นถ้อยคำสำคัญในฉบับพิเศษตรุษจีน 2567

นอกจากนี้ ชุนเหลียนชิ้นอื่นๆ ก็ล้วนงดงาม สื่อความอันมงคลยิ่ง อาทิ

‘ว่านซื่อหรูอี้’ คำอวยพรฮอตฮิต ‘หมื่นสิ่งสมประสงค์’ สื่อถึงความสำเร็จสมดังใจหมายทุกประการ

‘ไฉหยวนกว่างจิ้น’ ทรัพย์หลั่งไหลเหมือนสายน้ำ มาทุกทิศทุกทาง มากว้างขวาง มาสารพัด จัดเป็นคำอวยพรแนวราชาแห่งโชค

‘จินอวี้หม่านถัง’ ทอง หยกเต็มบ้าน นั่นคือ ร่ำรวย โดยครั้งหนึ่งอาจารย์นิธิวุฒิ เคยแปลให้คล้องจองจำง่ายว่า ‘เงินเต็มห้อง ทองเต็มบ้าน’

แต่หากพิจารณาถ้อยคำลึกไปกว่านั้น ‘หยก’ ยังสื่อถึงยศถาบรรดาศักดิ์

‘เหอเจียฮวานเล่อ’ ทุกคนในบ้าน ความยินดี มีความสุข ประสบความสำเร็จ

‘เซิงอี้ซิงหลง’ กิจการงานรุ่งเรือง เจริญเติบโต

เป็นต้น

นับเป็นความมงคลที่เนรมิตขึ้นอย่างงดงามสมความยิ่งใหญ่ของตรุษจีนแห่งมังกรไม้ 2567

พรรณราย เรือนอินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image