ดนตรีเป็นเครื่องหมายของความเจริญ

ดนตรีเป็นเครื่องหมายของความเจริญ

บุคคลสำคัญที่ร่วมกันแถลงข่าวโครงการประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี

มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อจัดประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ในปี พ.ศ.2567 ซึ่งได้จัดแถลงข่าวขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา (BITEC) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ การประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรีจัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนดนตรีได้ออกมาแสดง เปิดเวทีให้โอกาสเยาวชนได้แสดงฝีมือดนตรีเต็มที่ ต้องการจะรักษามรดกวัฒนธรรมดนตรีชาติไว้ เป้าหมายอยู่ที่เพลงพื้นบ้าน ดนตรีท้องถิ่น ดนตรีชาติพันธุ์ ดนตรีไทย ซึ่งเป็นดนตรีประจำชาติ แสดงโดยเยาวชนที่มีฝีมือกับเครื่องดนตรีที่ถนัด

จากซ้าย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมผู้สนับสนุนโครงการประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี, คริษ อรรคราช ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์เนื้อหา ไทยพีบีเอส รศ.ดร.สุชาติ แสงทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

ความสำคัญคือ ต้องการรักษาฝีมือของนักดนตรี รักษาบทเพลง และพัฒนาดนตรีของชาติให้ทันสมัย เมื่อดนตรีที่มีในท้องถิ่นในสังคมเริ่มสูญหาย เพราะความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมดนตรี การประลองยอดฝีมือเยาวชนเป็นการฟื้นฟูวิธีหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางดนตรีลงด้วย เพราะดนตรีแบ่งเป็นชนิดต่างๆ จนกลายเป็นชั้นๆ อาทิ ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีชนเผ่า ดนตรีไทย ดนตรีอีสาน ดนตรีชาวเล ลูกทุ่ง หมอลำ ลูกกรุง คลาสสิก เป็นต้น การประลองจะนำดนตรีไปสู่ความเสมอภาคทางวัฒนธรรมดนตรี โดยอาศัยความไพเราะของเสียงดนตรีเป็นบรรทัดฐานเป็นมาตรวัด

ตัวอย่างวงดนตรี 5 คน เล่นเพลงพื้นบ้านแนวใหม่
ตัวอย่างวงดนตรีเล่น 2 คน ที่สร้างสรรค์เพลงพื้นบ้านไทยใหม่

วันแถลงข่าวโดยมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้นำตัวอย่างการแสดงดนตรีข้ามเผ่าพันธุ์ นักดนตรีวง 2 คน โดยใช้
วิโอลากับกลองรำมะนา อีกวงเป็นเครื่องสายฝรั่ง 5 ชิ้น (String Quintet) ทั้ง 2 วงนำบทเพลงพื้นบ้านของชาวสยามมาแสดงเป็นตัวอย่างให้ดู วิธีแรกสามารถใช้ศักยภาพในการสร้างงานดนตรีได้อย่างเต็มที่ อีกวิธีหนึ่งคือ นำเพลงดั้งเดิมมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ให้มีรูปแบบที่ลงตัวชัดเจน

ADVERTISMENT

เยาวชนดนตรีสามารถสมัครประลองยอดฝีมือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2567 กรรมการคัดเลือกและตัดสินรอบแรก (ออนไลน์) ระหว่างวันที่ 11-15 มีนาคม 2567 ประกาศผู้ที่ผ่านเข้ารอบ จำนวน 20 วง ในวันที่ 15 มีนาคม 2567 ซึ่งจะประลองกันที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในวันที่ 3 เมษายน 2567 โดยคัดเลือกจาก 20 วง ให้เหลือ 6 วง

ในรอบ 6 วงสุดท้าย จะแสดงร่วมกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราที่วัดมเหยงคณ์ เมืองอโยธยา ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 และแสดงที่เมืองศรีเทพ ในวันที่ 20 มิถุนายน 2567 โดยใช้วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา “ห่อ” วงดนตรีที่เข้ารอบให้เป็นดนตรีแบบใหม่ วงที่ได้รางวัลชนะเลิศ (วงเดียว) จะได้แสดงในงานพิธีรับมอบรางวัลมหกรรมการวิจัย ในเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ADVERTISMENT

เยาวชนยอดฝีมือดนตรีที่สมัครเข้ามาประลอง ต้องฝึกซ้อมดนตรี เล่นดนตรีอย่างจริงจัง รักษาคุณภาพอยู่บนฐานวัฒนธรรมดนตรีที่มีอยู่ในสังคมไทย เยาวชนที่เล่นดนตรีเก่งหรือร้องเพลงดีสามารถสร้างเป็นต้นแบบด้านดนตรีด้วยความมั่นใจได้ นำฝีมือออกมาประลองในพื้นที่สาธารณะ บันทึกการแสดงเพื่อให้อยู่ในสื่อสมัยใหม่ แล้วนำออกเผยแพร่ความสามารถไปสู่ความเป็นสากล

การจัดประลองครั้งนี้เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่จะผลักดันวัฒนธรรมดนตรีของชาติ (ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ) ผ่านโครงการประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี เพื่อนำยอดฝีมือเยาวชนดนตรีเสนอผ่านรายการโทรทัศน์ (ไทยพีบีเอส) เพื่ออวดความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมดนตรีของชาติ

คุณสมบัติผู้สมัครจะต้องเป็นเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงระดับอุดมศึกษา ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดเชื้อชาติ อายุ 15-25 ปี (ในวันสมัคร) ใช้เครื่องดนตรีที่ทำเสียงธรรมชาติ (Acoustic Instruments) เล่นบทเพลงในรูปแบบของดนตรีพื้นบ้าน วงดนตรีไทย วงดนตรีสากล วงดนตรีลูกผสม วงดนตรีแจ๊ซ วงดนตรีคลาสสิก ซึ่งจะนำเสนอในรูปแบบใดก็ได้ เป็นงานดนตรีสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ตามความถนัด สามารถจะเปลี่ยนเครื่องดนตรีในรอบต่อไปก็ได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ ในกรณีที่สมาชิกคนใดของวงผู้เข้าประลองไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ เพราะด้วยอุบัติเหตุหรือป่วย คณะกรรมการไม่อนุญาตให้เพิ่มผู้เล่นใหม่

วงผู้เข้าประลองสามารถเลือกเพลงจากท้องถิ่นต่างๆ ทั่วไทย เพลงพื้นบ้าน เพลงไทยเดิม เพลงประจำชาติ เพลงที่ไม่มีลิขสิทธิ์ โดยนำมาเรียบเรียงเพลงขึ้นบรรเลงใหม่ เพื่อนำเสนอในรายการประลองโดยเฉพาะ ถือว่าเป็นเพลงต้นฉบับและได้รับอนุญาตจากผู้เรียบเรียงใช้ลิขสิทธิ์และให้สิทธิในการเผยแพร่กับมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข โดยผ่านรายการโทรทัศน์ (ไทยพีบีเอส)

การสมัครเข้าประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ให้สมัครผ่านทางออนไลน์ โดยส่งเพลงที่เรียบเรียงและเพลงที่บรรเลงขึ้นใหม่ อย่างมีอิสระในการเรียบเรียงเสียงประสานและมีเสรีภาพในการบรรเลง แต่ยังคงทำนอง (วิญญาณ/DNA) ของบทเพลงไว้ ความยาว 3-5 นาที ต้องมีเอกสารการยินยอมในการใช้ลิขสิทธิ์เพลงจากผู้เรียบเรียงเสียงประสาน พร้อมเสียค่าสมัครวงละ 1,000 บาท เพื่อความเชื่อมั่นว่า ผู้สมัครมีความตั้งใจจริง

คณะกรรมการตัดสิน เป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิด้านดนตรี รอบละ 5 คน มีกรรมการกลั่นกรองจากมูลนิธิฯ อีกลำดับหนึ่ง เพื่อสร้างมาตรฐานในการจัดประลองดนตรีให้เกิดความน่าเชื่อถือ สำหรับการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นสิ้นสุด จะร้องเรียน หรือคัดค้านคำตัดสินใดๆ ไม่ได้ ส่วนลิขสิทธิ์การแสดงบนเวทีเป็นของมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ (ไทยพีบีเอส) ได้สิทธิ์ในการบันทึกเทปโทรทัศน์และนำออกเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ ลิขสิทธิ์เพลงต้นฉบับเป็นของวงดนตรีที่เข้าร่วมงานประลอง

การประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรีครั้งนี้ เป็นการนำยอดฝีมือเยาวชนสู่โลกดนตรีรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นวิธีที่แตกต่างไปจากวิถีดั้งเดิม การก้าวข้ามจากดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีของชนเผ่า ดนตรีไทย แต่เป็นดนตรีของโลกที่สามารถให้ผู้ฟังทั้งโลกได้เลือกฟังได้ เปลี่ยนโลกทัศน์ของดนตรีในท้องถิ่นให้เป็นดนตรีสากลของชาวโลก

จากวิธีคิด “เอาน้ำพริกของแม่มาใส่ในจานหยก แล้วนั่งกินที่โรงแรมโอเรียนเต็ล” อาจเรียกได้ว่า การทำใหม่โดยการปรับเปลี่ยนจากรูปแบบดั้งเดิมให้เหมาะกับสภาวะและความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไป เพื่อเสนอตัวให้อยู่รอด เป็นการนำเสนอวัฒนธรรมดนตรีของสังคมดั้งเดิม มอบให้แก่ผู้ฟังในชุมชนและสังคมใหม่

อีกวิธีหนึ่งคือ “ทำเรื่องกระจอกๆ ให้โลกรู้จัก” เพราะโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว วันนี้เมื่อนั่งรถไฟฟ้าหรือนั่งรถไฟใต้ดินในกรุงเทพฯ ผู้คนมีบทสนทนาที่ไม่ใช่เฉพาะภาษาไทยอีกต่อไป ในร้านอาหารชั้นนำทุกร้านในเมืองใหญ่ ไม่ใช่ร้านอาหารไทยอีกแล้ว เด็กๆ อายุต่ำกว่า 12 ขวบที่มาเรียนดนตรี (โรงเรียนดนตรีเอื้อมอารีย์ 600-800 คน) พูดภาษาอังกฤษกับภาษาจีน เด็กไทยก็เปลี่ยนไปแล้ว

ที่ยังหลงเหลือรักษาความเป็นไทยเอาไว้ก็มีอยู่ อาทิ นักการเมือง นักร้อง (ขยันร้องเรียน) นักเลงปากซอย ไรเดอร์ ซึ่งยังสงวนรักษาความเป็นไทยไว้แข็งแรงอยู่ ส่วนอื่นๆ ในสังคมไทยได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว แม้แต่คนเติมน้ำมันรถในปั๊ม คนเสิร์ฟในร้านอาหาร ก็พูดภาษาไทยไม่ชัด

การนำดนตรีของท้องถิ่นมาเสนอ ปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องที่กระจอกๆ มาก เพราะดนตรีของท้องถิ่นตายไปหมดแล้ว การสร้างสรรค์ดนตรีในสื่อแบบใหม่เพื่อให้โลกได้รู้จัก เป็นมิติใหม่โดยเจ้าของวัฒนธรรมดนตรี ซึ่งมีฐานะ “เป็นยาจกที่นั่งอยู่บนถุงทอง” เพราะดนตรีในท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ไม่ได้มีบทบาททางเศรษฐกิจอีกต่อไป แม้ว่าจะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าก็ตาม แล้วจะนำทองที่อยู่ในถุง (วัฒนธรรมดนตรี) มาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร การประลองหายอดฝีมือจึงเป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่จะนำทองมาเทออกจากถุง เพื่อให้โลกได้เห็น

ดนตรีเป็นเครื่องหมายของความเจริญ ถ้าอยากรู้ว่า ประเทศเจริญหรือไม่ ก็ให้ไปดูศิลปะและฟังดนตรี แต่ถ้าอยากรู้ว่าประเทศล้าหลังหรือไม่ ก็ให้ฟังเสียงของนักร้องเรียน ให้ดูพฤติกรรมของนักการเมือง และฟังข่าวความเป็นไปในสังคม ก็จะเรียนรู้และเข้าใจได้ว่า ประเทศเรายังด้อยพัฒนาอยู่

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข จัดการประลองดนตรีขึ้น เพื่อค้นหาเยาวชนยอดฝีมือดนตรี นำฝีมือออกมาเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อถ่วงดุลความรู้สึกของสังคม ที่สำคัญก็เพื่อจะค้นหาศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีของเยาวชน เพราะความเป็นเลิศของเยาวชน คือ อนาคตและความเจริญรุ่งเรืองของชาติ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image