‘อ่านเต็มอิ่ม’ 2024
เฟสติวัลเสิร์ฟ Knowledge
อีกระดับของ Book Fair ที่ไม่ใช่แค่ตัวอักษร
กลับมาอีกครั้งสำหรับ Knowledge Book Fair เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในปี 2023 หลังพาผู้คนค้นความรู้จากใต้ดินถึงอวกาศเมื่อปีก่อน
ตัดภาพมาในปีนี้ สำนักพิมพ์มติชน ยังคงร่วมกับพันธมิตร จัดงานที่ชวนให้ออกมาสนุกกับสาระบันเทิง ณ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือมิวเซียมสยาม ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ที่ 16-18 กุมภาพันธ์นี้ เที่ยงตรง ถึง 3 ทุ่ม จัดเต็ม 3 วัน ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของความรู้ที่สอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน และสิ่งรอบตัว
การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกแห่ง ทั้งยังแตกแขนงไปได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นศิลปวัฒนธรรม สารคดี วรรณกรรม สุขภาพ และแรงบันดาลใจ
ขีดเส้นใต้ว่าเป็นเทศกาลหนังสือเพื่อการเรียนรู้ที่ดีที่สุด สนุกที่สุด และเต็มอิ่มที่สุด
ซึมซับผ่านกิจกรรมกระตุ้นการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบทั้ง Book Fair/Book Talk/Book Walk/Workshop/Special Exhibition/Food/Music
สนุกกับหลากสีสันความรู้และความบันเทิง เปิดพื้นที่ที่ทำให้ทุกวัยได้มาสนุกกับการเรียนรู้แบบเต็มที่ ตั้งแต่เยาวชน คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน ที่สำคัญคือการสร้างองค์ความรู้ให้กับคนในสังคม ต่อยอดและกระตุ้นการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์

16 สำนักพิมพ์ ชนหมัดจัดเต็ม!
ทอล์กเข้ม กว่า 40 กูรู
เริ่มด้วยหลักใหญ่ใจความสำคัญ นั่นคือ ความเป็นงานหนังสือที่เต็มไปด้วยความรู้คู่ความสนุก จาก 16 สำนักพิมพ์และร้านหนังสือที่มารวมตัวกันจัดใหญ่ ได้แก่ มติชน, สารคดี-เมืองโบราณ, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, เคล็ดไทย, ต้นฉบับ, ริเวอร์ บุ๊คส์, บทจร, ยิปซี, แซลมอน บุ๊คว์, อะโวคาโด บุ๊คส์, แสงดาว, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, สมมติ, ฟ้าเดียวกัน, ร้านสุวิมล และร้านสุชิต
นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรมทอล์ก พูดคุยสารพัดประเด็นที่ทั้งอัดแน่นความรู้และความสนุกสุดเข้มข้นจากนักเขียน นักวิชาการ และนักแปล อาทิ สุจิตต์ วงษ์เทศ, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ปรามินทร์ เครือทอง, สมชาย แซ่จิว, ชาตรี ประกิตนนทการ, ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, ประดาป พิบูลสงคราม, อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล, ประชา สุวีรานนท์, ศรัญญู เทพสงเคราะห์, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, ทรงกลด บางยี่ขัน, ดุจดาว วัฒนปกรณ์, นริศ จรัสจรรยาวงศ์, มิ่ง ปัญหา, วรงค์ หลูไพบูลย์ ฯลฯ

เล่มใหม่ฮอตไฟลุก เปิดตัวยิ่งใหญ่
‘อโยธยาเก่ากว่าสุโขทัย’ สุจิตต์ จ่อทอล์กสุดมันส์
หนึ่งในไฮไลต์ที่คอประวัติศาสตร์ต้องขีดเส้นใต้ คือโปรแกรมทอล์ก โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ ในประเด็นคนไทย และอโยธยา ใน ‘Sujit’s Talk: ไทยๆ เริ่มในอโยธยา (คนไทย, ภาษาไทย, อักษรไทย)’
ประเดิมเจิมแป้งร่ำเป็นทอล์กแรกของเทศกาล ในศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 13.00-14.00 น.
ชวนให้ร่วมค้นคำตอบของคำถามมากมายเกี่ยวกับอโยธยา ทั้งข้อสงสัยว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของประเทศไทยจริงๆ หรือเป็นเพียงเครื่องมือควบคุมสังคมผ่านระบบการศึกษา ?
อาณาจักรอโยธยามาก่อนอาณาจักรสุโขทัยจริงไหม หลักฐานสนับสนุนความคิดนี้คืออะไร ?
อาณาจักรอโยธยาเคยตั้งอยู่ในพื้นที่ไหน เหตุใดเมืองนี้จึงไม่ได้อยู่ในความทรงจำของคนไทย ? รวมไปถึงไม่เคยมีใครรู้จักอโยธยามาก่อนจริงหรือ หรือว่าอโยธยาถูกลบเลือนออกไปจากความทรงจำของคนไทยกันแน่ ?
ทุกคำถาม ร่วมติดตามหาคำตอบไปพร้อมๆ

(Book) วอล์กทัวร์
ขยับตัวออกนอกห้องสี่เหลี่ยม
เพราะความรู้ไม่ได้มีเพียงอยู่ในตัวอักษรและห้องสี่เหลี่ยมเพียงเท่านั้น เตรียมตัวขยับร่างออกท่องไปตามมิวเซียมสยามและพื้นที่ใกล้เคียงพร้อมกับผู้บรรยายที่เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ในพื้นที่นั้นๆ ไปด้วยกัน งานนี้ ปรามินทร์ เครือทอง และ วรกานต์ วงษ์สุวรรณ พร้อมพาร่วมทริป ‘นิราศวัง’ (Unseen Museum Siam) ตั้งแต่ช่วงสาย 9 โมงเช้าถึงเที่ยงตรง ของศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์
ขณะที่วันรุ่งขึ้น เสาร์ 17 กุมภาฯ เวลาเดียวกัน ศาสตราจารย์ ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ ชวนร่วม ‘นิราศวัด’
ปิดท้ายอาทิตย์ที่ 18 กุมภาฯ มา ‘นิราศพระนคร’ ไปกับ ปติสร เพ็ญสุต
นอกจากนี้ ยังมีเวิร์กช็อป กิจกรรมฮาวทูความรู้ประเทืองปัญญาแบบสนุกๆ ที่เป็นพื้นที่ให้แสดงออกและลงมือทำ เพื่อสรรค์สร้างความรู้ความสนุกด้วยมือของเราเอง
นริศ ณัฐพล ศรัญญู แปะมือ
โชว์ไอเท็มหายากยุคสร้างชาติ นิทรรศการสุดสเปเชียล
มันส์ให้สุด อย่าลืมหยุดสายตาไว้ที่ Special Exhibition ที่คอการเมือง-วรรณกรรม ห้ามพลาด ชมฟรี! 3 วันเต็ม
นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์คณะราษฎร นักเขียนฝีมือฉกาจ ผู้สะสมหนังสือหายากตัวยง โดยเฉพาะวรรณกรรมที่เชื่อมโยงยุค 2475
งัดกรุหนังสือหายาก คัดเล่มไฮไลต์-ตัวท็อป ที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นฉบับ ‘พิมพ์ครั้งแรก’ เฉียดร้อยเล่ม มาจัดแสดงใน ‘Special Exhibition: 2475 and the Afterwords’
คัดสรรหนังสือว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองมาแบบเนื้อๆ เน้นๆ อาทิ
อัตชีวประวัติภาคปฏิวัติ โดย 4 ทหารเสือคณะราษฎร เช่น เบื้องหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) สัมภาษณ์โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2490, บันทึกพระยาทรงสุรเดช โดย ปั่น แก้วมาตย์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2490 ฯลฯ
หนังสือชุดสร้างชาติ อย่าง เทอดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2476, เปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏ วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2479, ไทยสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกฉลองวันชาติครั้งแรก 24 มิถุนายน พ.ศ.2482 ฯลฯ
“2475 เป็นปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ไม่เพียงเปลี่ยนในมิติการเมือง แต่ยังเปลี่ยนในแง่สังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น อันเป็นผลมาจากประชาธิปไตย ผู้คนต่างมีจินตนาการและมีความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในแวดวงวรรณกรรม ที่นักเขียนหลายคนผลิตงานระดับขึ้นหิ้งเป็นที่ยอมรับมาถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นจึงสามารถพูดได้เลยว่า 2475 นำมาซึ่งความก้าวหน้าของวรรณกรรม” นริศกล่าว
แท็กทีม ณัฐพล ใจจริง และ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ สองกูรูประวัติศาสตร์ 2475 และคณะราษฎร ที่ต่างก็จัดเต็มของดี-ของเด็ด มาจัดแสดงให้ทุกคนได้ชมกันอย่างเต็มอิ่ม ครบสุด แถมด้วยการนำชมและบรรยายแบบเอ็กซ์คลูซีฟ!

เมนูดี กอปรกับดนตรีเพราะมาก
ไม่เพียงเท่านั้น ยังขับกล่อมให้อิ่มเอมใจด้วยบทเพลงไพเราะจากวง
Roberto Uno พร้อมดื่มด่ำกับบรรยากาศดีๆ ที่ชวนฟินแล้วฟินอีก
ยังไม่นับเมนูอร่อยตามรอย Sentangsedtee รวบรวมร้านค้าเจ้าดังมาออกบูธ แรงเสริมกิจกรรมที่มาพร้อมกับความรู้คู่ความอร่อย สร้างบรรยากาศสีสันให้การเรียนรู้ยิ่งแซ่บนัว
หนึ่งในเมนูหวานลิ้นฟินชัวร์ คือ ข้าวเหนียวมะม่วงเจ๊เตียง ต้นตำรับเค้กข้าวเหนียวมะม่วงเจ้าแรกของไทย ยกข้าวเหนียวฉ่ำๆ มะม่วงน้ำดอกไม้สุกๆ หวานๆ ราดกะทิเข้มข้น โรยถั่วทองกรอบๆ มาเสิร์ฟให้ฟิน
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้ใน Knowledge Book Fair เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม 16-18 กุมภาพันธ์นี้ ฟรี! ชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก : matichonbook-สำนักพิมพ์มติชน