ไปรษณีย์ไทยxหอการค้าไทย ก้าวทันโลจิสติกส์ผลักดันสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก

ไปรษณีย์ไทยxหอการค้าไทย ก้าวทันโลจิสติกส์ผลักดันสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก

ไปรษณีย์ไทยxหอการค้าไทย
ก้าวทันโลจิสติกส์ผลักดันสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สถาบันการศึกษาชั้นนำด้านธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมบริการในอาเชียน (A Leading University in Trade & Services in ASEAN) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด (THPD) ผู้ให้บริการขนส่งและกระจายสินค้าแบบครบวงจร ร่วมกันจัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “ก้าวทัน…โลจิสติกส์ ผลักดันสมุนไพรไทยไปสู่ตลาดโลก” ในโอกาสที่บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ฉลอง 10 ปี และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ฉลอง 20 ปี สาขาวิศวกรรมโลจิสติกส์ พร้อมกันนี้ยังได้จัดโครงการ THPD X UTCC New Biz & Innovation ldea Hackathon ซึ่งเป็นการแข่งขันเพื่อหาไอเดียต่อยอดธุรกิจโลจิสติกส์ในด้านการให้บริการด้านโลจิสติกส์ ขนส่ง และการกระจายสินค้าแบบครบวงจรตามนโยบาย Digital Economy

องศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงความเชื่อมั่นว่าจะสามารถยกระดับมาตรฐานรูปแบบและการให้บริการด้านโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้สมุนไพรไทยไปสู่ตลาดโลกได้ด้วยระบบโลจิสติกส์ของไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น โดยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ มาใช้บริหารจัดการคลังพัสดุ ลดค่าใช้จ่ายด้านขนส่งให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน

“บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีความประสงค์ร่วมมือสนับสนุนเพื่อศึกษาแนวทางการลดต้นทุนการขนส่งพัสดุและบริหารจัดการคลังพัสดุ รวมถึงการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์อื่นๆ ที่ทันสมัยมาปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์แก่ธุรกิจไทยมาตลอด 10 ปี โดยไม่ยอมหยุดที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์มาให้บริการแก่ลูกค้า

ADVERTISMENT

“คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ของเราก็ฉลองครบรอบ 20 ปี ที่ได้เปิดการเรียนการสอนด้านโลจิสติกส์ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกที่เปิดสอนสาขาด้านโลจิสติกส์ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพเพื่อเข้าสู่โลกธุรกิจ และพร้อมจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ระดับโลก ในโลกที่เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น โลจิสติกส์มีบทบาทสำคัญในการยกระดับการค้าระหว่างประเทศ

“และเมื่อพูดถึงสมุนไพรไทย ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพและใช้ประโยชน์จากสมุนไพรมายาวนาน จึงทำให้สมุนไพรไทยหลายชนิดมีชื่อเสียงในด้านสรรพคุณทางยา และการทำอาหาร อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสมุนไพรของเราจะมีคุณภาพที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ก็ยังมีความท้าทายที่สำคัญที่เราจะต้องเอาชนะเพื่อเจาะตลาดโลกได้สำเร็จ โดยเรามีวัตถุประสงค์ร่วมกัน นั่นคือ เพื่อได้แลกเปลี่ยนความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ที่พัฒนาตลอดเวลา และส่งเสริมการส่งออกสมุนไพรไทยให้ประสบความสำเร็จในเวทีโลก” รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์กล่าว

ADVERTISMENT

ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติโตพุ่ง
เปิดยุทธศาสตร์ดันสมุนไพรไทย
ยืนหนึ่งเอเชียตะวันออกเชียใต้

นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยว่า ปัจจุบันนี้สมุนไพรไทยเป็นที่สนใจของคนไทยและตลาดต่างประเทศ เวลานักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย นอกจากมีความสนใจด้านอาหาร อาหารพื้นบ้านพื้นเมืองของประเทศส่วนหนึ่งก็มีส่วนประกอบสมุนไพรไทยทั้งเครื่องเทศ ผัก ผลไม้พื้นบ้าน อีกทั้งชาวต่างชาติชื่นชอบยาดม ยาหม่องของประเทศไทยมาก

“ยาหม่องเมืองไทยนับว่าเป็นของฝากท็อปต้นๆ ของนักท่องเที่ยวชาวจีน การนวดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกถ่ายทอดตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น มีพัฒนาการนวดต่างๆ ออกมามากมาย มีทั้งการนวดตามแนวเส้นประธานสิบใช้ในการดูแลรักษาดูแลอาการ ในบางครั้งนิ้วมือของหมอนวดเปรียบเหมือนเป็นเครื่องวินิจฉัยโรคไปด้วย ทั้งอาการแข็งตึง ของกล้ามเนื้อ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาของคนไทย ซึ่งเราสามารถหยิบสมุนไพรของประเทศเราไปพัฒนาและต่อยอด ทิศทางการพัฒนาในสมุนไพรเราไปต่อยอดสู่ตลาดโลก เราต้องต่อยอดจากสิ่งที่เป็นจุดแข็ง จุดเด่นของประเทศไทยอยู่แล้ว” นพ.ขวัญชัยกล่าว

จากนั้นวิเคราะห์ตลาดโลก ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมีการเติบโตมาก และมีแนวโน้มที่ขยายขึ้น ส่วนใหญ่ตลาดอยู่ในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีน อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น ในส่วนของสหรัฐ ก็มีความสนใจอยู่ไม่น้อยเริ่มมีการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ แต่จะนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากทั่วโลกไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ และยุโรปก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีสัดส่วนของการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาก อาทิ ประเทศเยอรมนี เป็นประเทศที่ส่งเสริมการใช้สมุนไพร

“ในกระแสการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทย บ้างครั้งก็ต้องใช้หลักการให้ ‘โลกล้อมประเทศ’ ให้ไปดังที่ต่างประเทศก่อน แล้วจึงกลับมาขยายในประเทศไทย เพราะคนไทยส่วนมากชอบเชื่อฝรั่ง แต่ไม่ชอบเชื่อคนไทยด้วยกันเอง เราจะเห็นผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยต่างๆ ไปตั้งอยู่ที่ต่างประเทศจำนวนมาก โดยที่เราไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์นี้ผลิตที่ประเทศไทยความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เรายังอยู่ในระดับกลาง ประเทศจีนยังคงเป็นที่หนึ่ง หากเราต้องการยึดตลาดโลกได้ ต้องเป็นระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน” นพ.ขวัญชัยกล่าว

กัญชา กัญชง เปิดไทม์ไลน์
จากพืชผิดกฎหมาย สู่พืชทางการแพทย์

ด้าน ภก.สัญชัย จันทร์โต ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การควบคุมวัตถุยาเสพติด กล่าวถึงการลุยตลาดโลกกับสมุนไพรไทยว่า มาตรฐานที่ตลาดโลกต้องการเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรับรู้ เพื่อกระบวนการการผลิตตั้งแต่การปลูก การผลิต การแปรรูปไปจนถึงการจัดจำหน่าย ทุกขั้นตอนจะถูกควบคุมให้เป็นคุณภาพที่ตลาดโลกต้องการ ทลายกำแพงทางการค้าและสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

“เล่าย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อน เริ่มต้นจากการดูแลกัญชงและกัญชาตั้งแต่ยังไม่ถูกกฎหมาย จนริเริ่มทำกฎหมายเรื่องนี้ขึ้น ตอนนั้นกัญชายังถูกมองว่าเป็นสารเสพติด จนปี 2561 เริ่มมีกระแสเรื่องกัญชาว่าสามารถเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ได้

“ในปี 2562 รัฐบาลได้ปลดล็อกนโยบายกัญชาและกัญชงว่าไม่ใช่ยาเสพติดที่ผู้ประกอบการรวมถึงประชาชนสามารถนำไปผลิตหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ อาทิ กิ่ง ก้าน ราก ใบ แต่ส่วนช่อดอกของกัญชายังคงเป็นยาเสพติดอยู่ ซึ่งช่อดอกมีสารหนึ่งที่ทำให้เกิดการมึนเมา ต่างประเทศหรือหน่วยงานควบคุมยาเสพติดจึงยังต้องมีการควบคุมอย่างรอบคอบ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามผู้ประกอบการหรือ อย. ต้องมีการรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสมอเพื่อเป็นการควบคุมในระดับโลกต่อไป

“มาจนถึงปี 2565 ศึกษาข้อมูลจนได้มีมาตรการที่ครอบคลุมกัญชงกัญชาเฉพาะแค่สารสกัดที่มาจากช่อดอก ซึ่งแบ่งการควบคุมออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งต้นน้ำ คือการปลูก ณ ตอนนี้ อย.ไม่ได้ควบคุมการปลูกเหมือนเมื่อก่อน ผู้ประกอบการที่สนใจการปลูกสามารถจดแจ้งในแอพพลิเคชั่นก็พอ มีการควบคุมกลางน้ำคือการที่นำช่อดอกของกัญชาไปสกัดเป็นสารสกัดที่บ่งบอกว่าถ้ามีสารเมามากกว่า 0.2% ยังถือว่าเป็นยาเสพติดอยู่ แต่ถ้าผู้ประกอบการที่สนใจกลางน้ำที่สกัดออกมาแล้วขายให้ผู้ประกอบการปลายน้ำ ต้องทำ อย.เองผลิตให้มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ อาทิ อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ ทั้งนี้ก็ต้องมีวิธีการในการจดแจ้งเช่นกัน

“ทาง อย.ได้เข้าใจถึงผู้ประกอบการในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะผู้ประกอบการเล็ก กลาง และใหญ่ ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ จะมีเงินลงทุนที่สูง สามารถสร้างสถานที่ตอบโจทย์ตามที่ต่างประเทศต้องการ ทาง อย.จึงออกหลักเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการ เล็ก และกลาง สามารถสกัดสาร CBD ได้โดยต้องผ่านหลักเกณฑ์ 30 ข้อ อาทิ ห้องเตรียมสถานที่หรือบริเวณที่ใช้ในการเตรียม
การสกัด มีเครื่องสกัดอะไรบ้าง เมื่อมาถึงขั้นตอนกลางน้ำ ผู้ประกอบการฝั่งนี้ก็ต้องมีการพิจารณาทั้งใบขออนุญาตต่างๆ

“ด้านผู้ประกอบการปลายน้ำ ทาง อย.จะมีศูนย์บริการ One Stop Service เปิดให้บริการซึ่งผู้ประกอบการทุกรายสามารถเข้าไปสอบถามข้อมูลเบื้องต้นโดยเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำในทุกด้านและทุกขั้นตอน ณ ปัจจุบันนี้ทางเลขานุการ อย.ได้เร่งทำนโยบาย เรื่องของ Speed คือต้องรวดเร็ว ไม่ว่าผู้ประกอบการจะเข้ามาในรูปแบบไหนเราต้องพยายามที่จะผลักดันโลจิสติกส์หรือผลิตภัณฑ์เพื่อขยายผลต่อไปในอนาคต” ภก.สัญชัยเล่า

ขนส่งอย่างไรให้ได้มาตรฐาน
จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ถามว่าทิศทางกัญชา กัญชงในบ้านเราจะเป็นอย่างไร นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ เปิดข้อมูลว่า ในวันนี้ทุกหน่วยงานการแพทย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ใช้กัญชาทางการแพทย์มูลค่ากว่า 500 ร้อยล้านในปีที่ผ่านมา โดยยาก็จะมีทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน

“ส่วนการขนส่งกัญชา กัญชง ซึ่งเป็นสมุนไพร เวลาส่งออก หรือขนส่งไปที่ไหน อย่างเช่นฟ้าทะลายโจร มีสารแอนโดรกราโฟไลด์อยู่ ขมิ้นชัน เคอร์คิวมิน สารพวกนี้อาจจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และความชื้นทำให้คุณภาพของยาต่ำลงเวลาส่งออก กัญชาที่หลายคนเคยบริโภคจะอยู่ในขวดที่ทึบแสง เพื่อป้องกันแสง ป้องกันอุณหภูมิ ป้องกันความชื้น ตามหลักการต้อง 25 องศา ความชื้นไม่เกิน 60% ซึ่งสมุนไพรแห้ง หรือสมุนไพรสดการส่งก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ต้องมีการดูแลที่ดี พอต้นทาง-ปลายทาง ขนส่งกันไปทำให้คุณภาพลดลง การปลูกกัญชาหรือกัญชงสารสัมพันธ์ก็อาจจะไม่เท่ากันตามภูมิภาคที่มี หลังมาๆ การปลูกกัญชาจะเริ่มทำให้เป็นวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น มีการปลูกเป็นโรงเรือนและควบคุมสภาพแวดล้อมทั้งหมด เพื่อให้คุณภาพออกมาสู่มาตรฐาน

“ข้อมูลจากการสอบถามทางกระทรวงเกษตรฯในตอนนี้มีการส่งออกกัญชาแล้ว มีการขออนุญาตจากทางกรมการแพทย์แผนไทยกว่า 400 ใบอนุญาตส่งออก เวลาที่เราส่งกัญชาไปยังต่างประเทศ เราจะเจอด่านใหญ่เลย ต้องชี้แจงมาตรฐานการปลูก คุณปลูกที่ไหน ได้ปลูกตามมาตรฐานหรือไม่ ไม่ใช่เพียงแค่ยาแพทย์ไทยเท่านั้น ยาแผนปัจจุบันก็เช่นกัน ยาสมุนไพรไม่สามารถทนสภาพแวดล้อมที่มันสุดโต่งได้ ประเทศไทยเรามีศักยภาพในการส่งออก แต่อยู่ที่ทางประเทศปลายทางที่เขาได้ตั้งเงื่อนไข จะเป็นแบบ GACP หรือไม่ ต่างประเทศเขาต้องเลือกสมุนไพรที่มีคุณภาพของเรา” นพ.กิตติกล่าว

‘ส่งใหญ่ ส่งยาก ส่งเย็น ส่งเยอะ’
ไปรษณีย์ไทยฉายภาพโลจิสติกส์ยุคใหม่

มาถึงมุมมองของผู้ให้บริการขนส่ง อย่างบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ดร.พีระ อุดมกิจสกุล กรรมการผู้จัดการ ฉายภาพบทบาทสำคัญของไปรษณีย์ไทยที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการที่มีการสนับสนุนการขนส่ง อำนวยความสะดวก นำสินค้าส่งถึงมือผู้บริโภคทั่วโลก

“บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดเก็บและกระจายสินค้า สินค้าที่เป็นธุรกิจหลักคือการบริการ Health care solution รายใหญ่ของประเทศไทย ประชาชนส่วนใหญ่งงกับการขนส่งว่าไปรษณีย์ส่งยาได้ด้วยหรือไม่ ความจริงการบริการด้านนี้ดำเนินการมาระยะเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว โดยเริ่มจากการที่ให้บริการกับผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย ซึ่งเป็นการล้างไตที่บ้าน ขั้นตอนการจัดเก็บยา การกระจายยาทุกอย่างจะถูกควบคุมด้วยระบบมาตรฐาน ซึ่งมีคลังขนาดใหญ่ อยู่ที่คลองส่งน้ำ และ กม.19 บางนา-ตราด มีการจัดเก็บน้ำยาไว้ประมาณ 4.9 ล้านถุงต่อเดือน ฉะนั้น ผู้ป่วยโครงการ สปสช.ประมาณ 30,000 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่เปราะบางมาก ในแต่ละเดือนมีการเสียชีวิตได้ตลอดเวลาและมีรายใหม่เข้ามาในเวลาเดียวกัน ที่ผ่านมาผู้ป่วยต้องไปรับยาด้วยตนเองที่โรงพยาบาลอย่างยากลำบาก

“เราจึงต้องดูแลในเรื่องด้านโลจิสติกส์ต่างๆ บทบาทหน้าที่ตั้งแต่การเป็นคลังยา การขอรับยาต้องเป็นยาที่ได้มาตรฐานของ GSP (Good Storage Practice) ในการเก็บยา เมื่อเก็บยาแล้วต้องมีระบบ IT ควบคุมยาที่อยู่ภายในคลังเพราะยาต่างๆ มีวันหมดอายุ มีความเข้มข้นของยาที่แตกต่างกันโดยผ่านระบบ WMS (Warehouse Management System) รวมทั้งมีการพัฒนาต่อยอดเรื่องการทำ OMS (Order Management System ส่งไปที่โรงพยาบาลต่างๆ ผ่านการสั่งยาจากคุณหมอในระบบ ส่วนคลังสินค้ามีหน้าที่ในการจัดยาตามที่สั่งในระบบแล้วกระจายสินค้าไปยังบ้านผู้ป่วย

“บทบาทหนึ่งที่ต้องทำคือเมื่อขนส่งถึงบ้านผู้ป่วยต้องมีการยกสินค้าเข้าไปในบ้านของผู้ป่วยตามมาตรการที่กำหนด เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ยาที่อยู่ในระยะเวลาตลอดเวลา ประชาชนหรือชาวบ้านที่ใช้บริการอยู่จะเรียกพวกเราว่าหมอเสื้อแดง ทุกเดือนจะมีการเช็กยอดการใช้ยาของผู้ป่วยแต่ละรายผ่านแอพพลิเคชั่นเสมอ คุณหมอก็จะทราบการใช้ยาของผู้ป่วยผ่านระบบเช่นกัน” ดร.พีระกล่าว

วัดวาอาราม
ศูนย์กลางเศรษฐกิจชุมชน

“วัดจะดีมีหลักมีฐาน เพราะบ้านช่วย บ้านจะสวยเพราะมีวัด ดัดนิสัย
วัดกับบ้านผลัดกันช่วยก็อวยชัย แต่ถ้าขัดกัน ก็บรรลัยทั้งสองทาง”
ธรรมะจาก พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาส วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม ซึ่งให้แง่คิดว่า เพราะวัดคือศูนย์กลาง เรื่องของสมุนไพรที่อยู่คู่คนไทยจะอยู่เยอะที่สุดก็คือ วัดในสมัยหลวงพ่อพูล อดีตเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ท่านจะมีการทำสมุนไพรเพื่อฉันเอง และแจกจ่ายไปสู่ญาติโยมทั้งหลาย นี่คือสิ่งที่อาตมภาพได้เห็นพระเดชพระคุณของหลวงพ่อพูลและได้นำมาปฏิบัติ ทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบันได้นำมาอยู่ที่วัด เป็นศูนย์กลาง และชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดนครปฐม มีการปลูกกระช่ายเยอะ มีทั้งการรับจ้างส่งเป็นรถกระบะ ในเรื่องมาตรฐานเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงตั้งแต่การปลูกการควบคุมการผลิต และการขนส่งเป็นสิ่งสำคัญ บางพื้นที่วัดก็เป็นศูนย์กลาง

“แม้กระทั่ง มวย ยาสมุนไพร การนวด ที่วัดไผ่ล้อมมีครบหมดเลย ทางวัดส่งเสริมเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยใช้วัดขับเคลื่อนในนามมูลนิธิหลวงพ่อพูล มีทั้งคลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์อยู่ในวัดเช่นเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของวัดในเรื่องการขนส่ง เราต้องร่วมกันปรับ สมัยก่อนขนส่งกระช่ายกันเต็มรถ แต่ไม่มีการป้องกันใดๆ เป็นสิ่งที่ต้องกลับไปเป็นแง่คิดในการปรับปรุง” พระครูปลัด
สิทธิวัฒน์กล่าว

จากคน ‘ไม่เชื่อ’ กัญชารักษาโรค
พลิกผันสู่ผู้ปลูก 6 ปีซ้อน

ด้านผู้ปลูกกัญชา อย่าง ธวัช จรุงพิรวงศ์ ประธานวิสาหกิจชุมชน Thai Herb Center กล่าวว่า สมุนไพรไทยเป็นพืชที่มีเสน่ห์ ได้เริ่มศึกษาจากการปฏิบัติจริง อยากที่จะเปิดร้านอาหารจนได้เข้าสู่วงการกัญชา จุดเริ่มต้นมาจากเพื่อนที่ป่วยเป็นมะเร็งตับ บอกว่าจะใช้น้ำมันกัญชาในการรักษา จึงบอกว่าอย่าใช้เลยให้รักษาตามแพทย์แผนปัจจุบันดีกว่า เมื่อเพื่อนได้เริ่มใช้น้ำมันกัญชา ก็กินได้ นอนหลับมากขึ้น สู่เดือนที่ 2-3 ค่ามะเร็งเริ่มลดลง

“หลังจากนั้นผมก็ได้เริ่มศึกษาการทำน้ำมันกัญชา เริ่มจากการปลูกที่คอนโดใช้ทั้งห้องเลย เริ่มศึกษาจากการใช้ดิน เราจะปลูกอย่างไรให้ไม่มีสารตกค้าง ศึกษาลักษณะการเจริญเติบโตของกัญชาเริ่มจะเป็นต้นน้ำที่ ทำอย่างไรให้มีมาตรฐาน เราต้องดูว่า ปลูกกัญชาสายพันธุ์ไหนเหมาะแก่การรักษาโรค อันไหนใช้ในการนอนหลับปัจจุบันได้ปลูกกัญชามากว่า 6 ปีแล้ว เราจึงมีความคิดที่จะส่งกัญชาออกต่างประเทศ ก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้ผ่านมาตรฐาน GACP มาตรฐานทางยุโรปก็จะมีอีกมาตรฐานหนึ่ง ประเทศไทยเรามีพืชสมุนไพรมากกว่า 1,800 ชนิด การส่งออกก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันนี้” ธวัชกล่าว

โลจิสติกส์จึงเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันสมุนไพรไทยสู่ประชาขนชาวไทยพร้อมต่อยอดสู่โลกกว้างทางการแพทย์ในอนาคต

ชญานินทร์ ภูษาทอง
สุภัทตรา น้อยสอาด

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image