อาศรมมิวสิก : บอกบุญด้วยดนตรี ร่วมพัฒนาวัดผาลาด

พื้นที่ลานวัดสำหรับการตั้งวงออร์เคสตรา แสดงในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567

บอกบุญด้วยดนตรี
ร่วมพัฒนาวัดผาลาด

วัดผาลาด ถนนครูบาศรีวิชัย อำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นวัดฝ่ายอรัญวาสีหรือวัดป่า วัดตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์มหานิกายมานาน ชื่อวัดผาลาด หมายถึงพื้นที่มีความลาดชัน เมื่อคนหรือช้างเดินมาถึงแหล่งน้ำตกซึ่งเป็นหน้าผาที่ลื่นลาดชัน ทำให้ลื่นล้มได้ทั้งคนทั้งช้าง จึงเรียกชื่อตามธรรมชาติว่า ผาลาด เพื่อเตือนให้คนเดินทางระวังที่จะลื่นพลัดตกหน้าผา

วัดผาลาดเดิมเป็นวัดร้าง สมัยที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำกับดูแลกรมศาสนาอยู่ กรมศาสนาได้เข้าไปบูรณะเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2524 เพื่อฟื้นฟูและปฏิสังขรณ์วัดเสียใหม่ โดยพัฒนาให้เอื้อต่อสภาพที่เป็นธรรมชาติและเอื้อกับสถานที่ในการปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ โดยรักษาอาคารโบราณสถานของวัดผาลาด อาทิ เจดีย์ วิหาร พระพุทธรูป ล้วนเป็นศิลปะแบบพม่าและศิลปะแบบล้านนาดั้งเดิม

วัดผาลาดอยู่ท่ามกลางพันธุ์พืชที่หลากหลายชนิด วัดแห่งนี้มีประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า 650 ปี ตั้งอยู่บนเส้นทางเดินจากเมืองเชียงใหม่ไปแสวงบุญวัดพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ชาวพุทธในพื้นที่ล้านนาใช้กันมานาน ตั้งแต่รัชสมัยพญากือนา ราชวงศ์มังราย

Advertisement

วัดผาลาดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์และชาวพุทธ ทางวัดได้รักษาและอนุรักษ์โบราณสถานร่วมกับกรมศิลปากร โดยพัฒนาพื้นที่วัดให้กลมกลืนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้คติของสถาปนิกล้านนา อาศัยความธรรมดา 4 ประการ ซึ่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มีความสะอาดตา สง่างาม สงบเงียบ และเรียบง่าย

ที่สะดุดตามากที่สุดก็คือ “ธรรมชาติและความเงียบสงบ” ซึ่งยังดำรงอยู่ที่วัดผาลาด เป็นวัดที่สงบได้ทั้งทางกายและทางใจ ร่มเย็นเป็นสุข ได้เข้าถึงธรรมชาติซึ่งเป็นธรรมะที่ไพเราะที่สุด รู้สึกฉงนและสนุกคิดว่า ถ้าวัดในประเทศไทย ที่มีอยู่ 43,000 วัด หากวัดได้พัฒนาบริบทให้เข้าใกล้ธรรมชาติมากขึ้น โดยอาศัยความร่มรื่นที่มีต้นไม้เป็นธรรมชาติ สังคมคงไม่วุ่นวาย คนทั้งหลายคงเข้าไปในวัดเพื่อแสวงหาความสงบกันมากขึ้น

ระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ที่วัดผาลาด ได้จัดงานพิธีสมโภช (ปอยหลวง) ทำบุญครบรอบ 650 ปี เจ้าอาวาสได้ขอเชิญชาวพุทธให้ร่วมอนุโมทนาบุญ สำหรับวันที่ 22 ซึ่งเป็นวันแรก มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้อาสานำวงออร์เคสตราบรรเลงเพลงสมโภชงาน

Advertisement

ความเป็นมาเดิมเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2565 เคยนำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราไปแสดงที่วัดป่าสัก เชียงแสน ครั้งนั้นหลวงพ่อวัดผาลาดได้ติดตามขึ้นไปชมงานด้วย แต่ก็ไม่ได้สนทนากัน ซึ่งหลวงพ่อวัดผาลาดมีปรารภที่จะเชิญวงออร์เคสตราไปแสดงที่วัด หลวงพ่อวัดผาลาดได้ฝากข้อความผ่านญาติธรรมไว้ เมื่อมีโอกาสเจอหลวงพ่อเมื่อคราวไปแสดงที่โรงพยาบาลสวนดอก เชียงใหม่ ซึ่งก็ได้รับปากกับหลวงพ่อโดยตรงว่าจะขึ้นไปแสดงที่วัดผาลาด กำหนดในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้

โปสเตอร์การแสดงดนตรีที่วัดผาลาด เชียงใหม่

เพื่อจะบอกบุญและจะได้ร่วมทำบุญกับผู้มีจิตศรัทธา นำปัจจัยที่ได้ไปพัฒนาและบูรณะวัดผาลาด เป็นการดูแลทำนุบำรุงวัดผาลาดให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระศาสนา เพื่อรำลึกการดำรงอยู่ของวัดผาลาดที่มีประวัติศาสตร์คู่กับเมืองเหนือ เป็นการเรียนรู้และเผยแพร่ความรู้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

การทำนุบำรุงรักษาทรัพย์สมบัติของวัดผาลาด ประดุจการดูแลบรรพบุรุษ (พ่อแม่ปู่ย่าตายาย) ที่ยังมีหลักฐานและร่องรอยการดำรงอยู่ โดยการนำบทเพลงและวงดนตรี (วงออร์เคสตรา) มาแสดง ซึ่งครั้งนี้จะนำบทเพลงที่เขียนขึ้นโดยนักดนตรีประจำวัดฝรั่ง ผลงานของโยฮัน เซบาสเตียน บาค (Brandenburg Concerto #3) ผลงานของอันโตนิโอ วิวาลดิ (Four Seasons) นำมาบางท่อน เพลงตับเมืองเหนือ การเดี่ยวกีตาร์เพลงลาวดวงเดือนและเพลงลาวคลึง โดย ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ การเดี่ยวปี่จุม (อื่อ ตั้งเชียงใหม่ จะปุ ขะมุกินน้ำมะพร้าว) โดย ภานุทัต อภิชนาธง บรรเลงเพลงชุมนุมเผ่าไทย คุมวงโดย ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล

การเล่นดนตรีที่วัดไทยเป็นเรื่องยากมากพอสมควร อดีตนั้นมีมหรสพที่หลากหลายแสดงในวัด แต่เป็นการประโคมเพื่อสมโภชและเฉลิมฉลองงานวัด ป่าวร้องให้ผู้มีจิตศรัทธาไปทำบุญเพื่อจะช่วยกันบำรุงรักษาวัด ดนตรีนั้นเป็นเรื่องของญาติโยมและผู้มีจิตศรัทธาวัด ซึ่งไม่เกี่ยวกับวัด

สำหรับงานแสดงดนตรีที่วัดผาลาดในครั้งนี้ เดิมมีผู้ตั้งจิตศรัทธาชักชวนไปแสดงดนตรีเพื่อทำบุญ ซึ่งก็ได้รับปากว่าจะไปช่วย พอดีคนที่ชักชวนวงดนตรีไปแสดง ท่านประสบปัญหาไม่สามารถร่วมบุญดังที่ตั้งศรัทธาไว้ เมื่อผมได้รับปากหลวงพ่อไปแล้ว ก็ไม่ต้องการจะคืนงานแก่วัด เมื่อได้โอกาสแสดงดนตรีในวัดโดยรับงานมาเต็มๆ จึงขอบอกบุญต่อๆ ไปยังพรรคพวกคนอื่นๆ ที่ศรัทธา โดยการกระจายโอกาสร่วมทำบุญทั่วกัน คนที่รู้จักก็จะบอกบุญไปหมด หากว่าขาดตกบกพร่อง ไม่ได้บอก หรือบอกไม่ครบ ก็ถือโอกาสบอกผ่านบทความนี้ด้วย

เจดีย์ในพื้นที่วัดผาลาด

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เป็นต้นมา ได้นำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราไปแสดงตามโบราณสถาน ตามวัดร้างและแสดงตามวัดที่ยังมีพระอาศัยอยู่ ซึ่งพบว่าวัดเป็นพื้นที่พื้นที่หนึ่งที่มีความเงียบ มีความสงบ มีความสะอาด มีความสง่างามและเรียบง่าย เพียงไม่ได้กั้นห้องติดเครื่องปรับอากาศอย่างหอแสดงดนตรีเท่านั้นเอง ที่สำคัญก็คือ วัดเป็นแหล่งประวัติศาสตร์และเป็นหัวใจของชุมชนและสังคม

ที่วัดผาลาดนั้นเป็นวัดที่มีบรรยากาศดีมาก อาศัยธรรมชาติต้นไม้ น้ำตก ลำธาร พื้นที่ของความเงียบ มีความสงบ มีความสะอาด มีความสง่างามและเรียบง่าย ซึ่งเป็นพื้นฐานของวัด นักท่องเที่ยวก็เข้าไปชมวัดอยู่จำนวนมาก การแสดงดนตรีโดยใช้วงแชมเบอร์ออร์เคสตรา (Chamber Orchestra) เครื่องสายจำนวน 15 ชิ้น มีผู้ควบคุมวง มีนักไวโอลิน นักกีตาร์ และปี่จุมเดี่ยวกับวงเครื่องสาย เริ่มแสดง 17.00-18.30 น. เมื่อแสดงเสร็จแล้วนักดนตรีก็จะเดินทางกลับกรุงเทพฯเลย

มีญาติบุญโยมธรรม ได้ช่วยเหลือค่าตั๋วเครื่องบินและช่วยเหลือเรื่องอาหารให้แก่นักดนตรี มีผู้ช่วยเหลือเรื่องเครื่องเสียงและไฟแสงสว่าง เพื่อให้สามารถทำงานได้เมื่อดวงอาทิตย์ตกดินลับฟ้าไปแล้ว จนสามารถขึ้นไปแสดงที่วัดผาลาดเชียงใหม่ได้

การบอกบุญด้วยดนตรี จึงเป็นมิติใหม่ที่ไม่ใช้ดนตรีเพื่อการประโคมอย่างแต่ก่อน แต่เป็นดนตรีเพื่อการฟังอย่างสงบ ดนตรีประณีตเพื่อประโลมชำระล้างจิตใจผู้ฟังให้ใจเย็นลง เสียงดนตรีที่สะอาดจะชักนำจิตใจสู่ความสว่างได้มากขึ้น ซึ่งในการแสดงครั้งนี้ อาจจะเป็นต้นแบบให้แก่วงดนตรีอื่นๆ รวมทั้งที่วัดอื่นๆ ได้จัดงานเลียนแบบขึ้นบ้าง เพราะเมื่อวัดเป็นพื้นที่ของความสงบแล้ว การแสดงดนตรีในวัดก็เป็นเสมือนการแสดงในหอแสดงดนตรีที่ไม่ต้องใช้เครื่องขยายเสียง และผู้ฟังก็นั่งฟังอย่างสงบ วัดซึ่งมีอยู่จำนวนมากในสังคมไทยก็จะเป็นพื้นที่ของความสงบของจิตใจได้ คนก็จะเข้าวัดกันมากขึ้น วัดก็ไม่สร้างเสียงที่หนวกหู และขณะเดียวกันวัดก็ได้สร้างความไพเราะ ความสงบเรียบง่ายให้เกิดขึ้นในสังคมเป็นมิติใหม่ด้วย

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image