ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ แคนดิเดตอธิการฯธรรมศาสตร์ พร้อมแก้โจทย์ยาก ลุยการบ้านทุกข้อที่ท้าทาย

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผมว่าธรรมศาสตร์เจอปัจจัยที่เข้ามากระทบเยอะมาก หากเราอยู่เฉยๆ

มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่อันดับ 2 ของไทยก็อาจอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่ปรับตัว”

คือมุมมองของ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์

1 ใน 3 แคนดิเดตอธิการบดีคนใหม่ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อาสาพร้อมแก้ไขทุก Pain Points ทุกปัญหายากๆ และทุกความท้าทายที่ประชาคมธรรมศาสตร์กำลังเผชิญ

Advertisement

ไม่มีเปิดตัวสไตล์แกรนด์โอเพนนิ่ง ไม่เน้นดีเบตสไตล์ผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้แทนราษฎร ทว่า

เดินสายพูดคุยนักศึกษาและบุคลากรรั้วแม่โดมครบถ้วน 4 แคมปัสในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

Advertisement

นำไปสู่การจัดเต็ม 15 นโยบาย TUs MISSION ประกาศผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊ก ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์-Supasawad Chardchawan ที่ใช้สื่อสารอย่างต่อเนื่องแบบรัวๆ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยของคนไทยทุกช่วงวัย, ดูแลคุณภาพชีวิตนักศึกษาครบวงจร, บัณฑิตมีงานทำ 100%, ยกระดับหลักสูตรคุณภาพสูงสู่นานาชาติ, ส่งเสริมเป็นศูนย์กลาง AI, ปรับเพดานเงินเดือน แก้ไขหลักเกณฑ์ต่อสัญญา ลดภาระ คืนชีวิตอาจารย์, ประกันบำนาญ สวัสดิภาพมั่นคง เป็นต้น

ก้าวจากคอมฟอร์ตโซนที่สอนเทอมละ 4 วิชา ประจำการยังคณะรัฐศาสตร์ พร้อมประวัติการทำงาน ตำแหน่งหน้าที่ โปรไฟล์ดีชนิดหลายหน้ากระดาษ

ออกมายืนยันและยืนหยัดมุ่งหน้าผลักดันให้ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่คิดและทำเพื่ออนาคตอยู่เสมอ พร้อมอีกเป้าหมายใหม่ คือทำให้ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่ง ไม่ใช่ในเวิลด์แรงกิ้ง หากแต่ยืนหนึ่งในใจคนไทย

อยากให้มู้ด ที่ผู้คนนึกถึงธรรมศาสตร์เมื่อสังคมเกิดปมปัญหากลับคืนมาอีกครั้ง พูดง่ายๆ คือ มหาวิทยาลัยที่มีคำตอบให้สังคม ตั้งแต่ปากท้องแก้หนี้ยันดิจิทัลวอลเล็ต

“ผมไม่ชอบที่บอกว่าเราเป็นเสาหลัก

แต่อยากทำให้ธรรมศาสตร์เป็นปึกแผ่น

เป็นมหาวิทยาลัยที่คนนึกถึงเมื่อมีปัญหา

เราไม่กล้าเป็นเสาหลักให้ใคร แต่เราให้คนมาพึ่งพา เช่น หนี้สินล้นพ้นตัวไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร ปัญหาปากท้อง มาถามได้ว่า มีคำแนะนำไหม ปลดหนี้ แก้หนี้ ค่อยๆ ทำอย่างไร หรือดิจิทัลวอลเล็ต มาถามเราได้”

นี่คือส่วนหนึ่งของคำในใจในบทสนทนาขณะที่ตึกโดม อยู่ระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ห้วงเวลาเดียวกับการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ในรอบ 6 ปี หลังการนั่งเก้าอี้ควบ 2 สมัยของ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ ตั้งแต่ พ.ศ.2560

นับเป็นอีกไทม์ไลน์สำคัญในประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองของไทยอย่างไม่อาจแยกจากกันได้

⦁ คำถามแรก อาจเป็นสูตรสำเร็จไปหน่อย แต่ก็ขอถามว่า สิ่งแรกที่จะทำ หากได้รับความไว้วางใจจากชาว มธ.ให้เป็นอธิการบดีคนที่ 26 คืออะไร?

อย่างแรกที่อยากทำคือ ทำอย่างไรให้ความเป็นอาจารย์กลับมา ซึ่งอาจดูเป็นเรื่องค่อนข้างนามธรรม แต่ในช่วงเวลาอย่างน้อย 1 ทศวรรษ อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ได้มีชีวิตแบบนี้

อาชีพของคนที่เป็นอาจารย์มันมีอิสระ สามารถทำในสิ่งที่อยากทำ สามารถเสนอความเห็นในสิ่งที่อยากเสนอ เราอยากมีงานวิชาการที่ดี เราสอนนักศึกษาให้ดีที่สุด

แต่วันนี้คนเป็นอาจารย์เหมือนต้องอยู่ในกรอบ อยู่ในข้อบังคับ อยู่ในเกณฑ์บางอย่างที่ต้องทำตามลำดับ 1 2 3 4 5

หลายคนบอกว่า นี่คุณคิดแต่เรื่องส่วนตัวของคุณ เรื่องความเป็นอยู่ของคุณ เรื่องความสุขสบายของคุณใช่ไหม ผมตอบเลยว่า ไม่ใช่นะ เพราะถ้าปลดล็อกพวกนี้ได้มันจะทำให้อาจารย์ลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ควรทำได้เยอะ เพราะเวลาจะกลับคืนมาอย่างมหาศาล สติปัญญามันจะกลับคืนมา ตอนนี้มันเหมือนถูกล็อก

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า อย่างเรื่องการทำงานประกันคุณภาพหลักสูตร มาตรฐานการศึกษา ผมเองก็ไม่แน่ใจว่า สุดท้ายแล้วถ้าเราชั่งน้ำหนักดีๆ

มันทำให้อาจารย์ต้องใช้เวลาอยู่กับเรื่องพวกนี้นานแค่ไหน

แทนที่จะให้เขาทำงานเรื่องพวกนี้น้อยลง แล้วมาให้ความสำคัญกับการดูแลนักศึกษาให้มากขึ้น

ผมว่าเรื่องพวกนี้น่าจะต้องมาจัดกันใหม่

หลายอย่างเป็นเรื่องของเอกสาร มันไม่ใช่เรื่องที่มาวัดกันได้ว่าคุณมีคุณภาพจริงๆ หรือไม่

ผมเองก็เห็นเวลามีผลการจัดอันดับออกมา หรือผลของการประกาศคะแนนคุณภาพหลักสูตร บางทีก็มาชนิดค้านสายตาอยู่เหมือนกันว่า ขนาดนี้เลยเหรอ

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์

⦁ ใน 6 ปีของอธิการบดีเกศินี มีอะไรบ้างที่อยากปรับเปลี่ยนในยุคสมัยของตัวเอง?

1.เรื่องวิ่งไล่ตามเวิลด์แรงกิ้ง ซึ่งมันไปลำบาก ไม่ได้ถึงกับบอกว่า 360 องศา 180 องศา กลับหลังหันไม่ใช่แบบนั้น เราปรับให้มันเบาลง

ผมคิดว่าการทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ มันต้องมีความเป็นธรรมศาสตร์ มีความเป็นตัวของเราเองมากกว่า และผมเองก็ไม่รู้ว่าสถาบันจัดอันดับพวกนี้คือใคร รู้จักเราดีพอหรือไม่ แต่เราก็พยายามทำให้เขารู้จักเรา ซึ่งก็มีเรื่องอะไรหลายๆ อย่างปะปนกัน ผมลุกขึ้นมาทำดีกว่า และชวนคนที่มีความคิดเห็นเดียวกับเรามาทำ

ซึ่งผมไม่ได้มีความรู้สึกว่าไม่เอานะ แต่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันควรจะเป็นในแบบที่เหมาะกับเรา เราอาจจะไม่มีของดีในสิ่งที่คุณต้องการ แต่เรามีของดีในสิ่งที่คุณไม่สนใจ มันควรจะมีอะไรที่เป็นไอเดนติตี้ของธรรมศาสตร์ มีอะไรที่เป็นจุดแข็งของเรา

2.เรื่องการรับอาจารย์ซึ่งเป็นเกณฑ์ของอุดมศึกษา บังคับว่าหลักสูตรที่ได้มาตรฐานต้องมีปริญญาเอกเท่านั้นเท่านี้

ผมคิดว่าเรื่องนี้มันเป็นปัญหากับมหาวิทยาลัยไทย แม้กระทั่งว่า เราต้องมีอาจารย์ที่สอนประจำในแต่ละวิชาไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เกณฑ์ยิบย่อยสารพัด ซึ่งบางเรื่องมันทำไม่ได้

ยกตัวอย่างเช่น เราก็ต้องไปหาคนจบปริญญาเอก ซึ่งจบปริญญาเอกมันมีหลายอย่าง เก่งและดี, เก่งแต่ไม่ดี และทั้งไม่เก่ง ทั้งไม่ดี

การปรุงคนให้ไปเป็นอาจารย์สำคัญ เราควรบ่มเพาะ ไม่ใช่ว่าไปรับสำเร็จรูปมา แล้วเราคัดไม่ได้ บางทีได้คนเก่งมา เขาก็มีคาแร็กเตอร์ของเขา แต่ไม่ได้สนองเป้าหมายขององค์กร เราก็ต้องกลับไปทบทวน

อีกเรื่องคือ ตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งท่านอธิการฯก็เคร่งครัด การต่อสัญญา ต้อง รองศาสตราจารย์ ผมว่าบางทีมันบีบคั้นอาจารย์มากพอสมควร เวลาเราน้อยมาก แค่ 12 ปี ธรรมศาสตร์ถ้าไม่ได้ รศ. จบปริญญาเอก คือออกเลย

⦁ การที่ธรรมศาสตร์จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคำตอบให้สังคม ซึ่งก็ดูเหมือนเป็นสิ่งที่สังคมคาดหวังอยู่แล้ว อุปสรรคจากเมื่อวานและวันข้างหน้าคืออะไร?

พันธะสำคัญอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็คือธรรมศาสตร์ต้องเป็นมหาวิทยาลัยตอบโจทย์ของประเทศ คือ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคเอกชน ธรรมศาสตร์เป็นส่วนสำคัญในการผลิตบัณฑิต หรือผลิตองค์ความรู้เพื่อเสริมผลประโยชน์ของประเทศ และผลประโยชน์ของสังคม ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าถ้าเราวิ่งไล่ตามเวิลด์แรงกิ้งอย่างเดียวเหมือนหลายที่ๆ เขาทำ เราอาจจะลืมทำเรื่องพวกนี้ เพราะจุดเน้นมันคนละแบบ

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องการพิมพ์ เรื่องการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านประวัติศาสตร์วิชาการ บางศาสตร์ คล้ายๆ กับเป็นขนบทางวิชาการที่ทำกันมาโดยตลอด ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร ต้องเคารพกัน เช่น สายหมอ สายวิทยาศาสตร์ มันเป็นเรื่องที่เป็นสากล เราต้องทำงานให้เป็นมาตรฐานสากล

แต่งานอย่างสังคมศาสตร์มันมีโจทย์หลายโจทย์ ที่เป็นปัญหาของเรา มีเรื่องหลายเรื่องที่เป็นปัญหาของเรา ซึ่งมันไม่มีใครอยากตีพิมพ์ให้เรา เพราะว่ามันไม่มีคนอ่าน มันก็ไม่มีทางได้ตีพิมพ์ ทำให้ตายก็ไม่มีการตีพิมพ์ เพราะฉะนั้นเราคิดว่ามันก็มีงานบางประเภทที่เราทำเพื่อตอบโจทย์ประเทศของเราเอง

ผมพูดเสมอว่า หนังสือพื้นฐานดีๆ ในทางวิชาการ ที่มันจะช่วยให้เด็กของเรามีความเข้มแข็งในทางวิชาการมันก็ต้องถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่วันนี้อาจารย์เราถูกบังคับว่า คุณจะต้องตีพิมพ์เท่านั้นเท่านี้ มันก็จะเป็นสิ่งที่บั่นทอนความเข้มแข็งทางวิชาการในเมืองไทยที่มันจะตอบโจทย์ปัญหาของประเทศเรา

⦁ รีสกิล-อัพสกิล เรียนรู้ทุกช่วงวัย ดูเหมือนเป็นหนึ่งในนโยบายที่เน้นย้ำบ่อยมาก?

วันนี้สังคมไทยมีปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากรที่มันเปลี่ยนไป ฉะนั้นเราต้องนึกถึงการทำให้ธรรมศาสตร์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัยมากขึ้น ด้วยสถิติข้อมูลที่เราเห็นมันก็มีข้อมูลที่เด็กเกิดน้อยลง เดิมมหาวิทยาลัยเป้าหมายคือ ช่วงอายุ 18-25 ปี แต่วันนี้คนกลุ่มนี้เริ่มน้อยลงเรื่อยๆ เราต้องมีบทบาทไปดูแลคนตั้งแต่วัยที่ยังไม่เข้ามหาวิทยาลัย อย่างมหาวิทยาลัยรามคำแหง ธรรมศาสตร์ต้องทำอย่างที่รามคำแหงเขาทำ ไม่ได้บอกว่าเราต้องตามอย่างรามคำแหง แต่ที่ไหนมีอะไรดี และสามารถนำมาใช้กับเราได้ เราก็ควรทำ รีสกิล อัพสกิล เพราะว่าจบไปไม่นาน องค์ความรู้ก็เอาต์แล้ว

⦁ ล่าสุด ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ขออธิการฯคนใหม่ อย่าหลงลืมหอจดหมายเหตุ แคนดิเดตจะว่าอย่างไร?

ผมคิดว่าอะไรที่มันมีคุณค่า อะไรที่มันเป็นจุดแข็งที่เราเคยมีมา มันเป็นของดี เราต้องเก็บมันเอาไว้ ผมขอยกอีกเรื่องหนึ่งนอกจากหอจดหมายเหตุ

และได้ยินมานานแล้ว คือสำนักพิมพ์ธรรมศาสตร์ ซึ่งมันไม่ได้รับการดูแล เราไม่ได้ว่าคนทำงาน แน่นอนว่าสำนักพิมพ์ช่วงนี้เป็นช่วงขาลงของธุรกิจแบบนี้ คนอ่านหนังสือน้อยลง แต่ปล่อยแบบนี้ไม่ได้

ที่ผ่านมาเราไม่ได้ปรับตัว เราไม่ได้คิดว่ามันจะเปลี่ยนเร็วแบบนี้ เรายังอยู่ในการทำงานแบบเดิม แบบคอมฟอร์ตโซนที่เคยมี ฉะนั้นเราก็ตามไม่ทัน เราไม่ได้แก้ระเบียบ ไม่ได้แก้เกณฑ์ ไม่ได้มีคนมานั่งบริหารจริงจัง

ผมอยากให้คนรู้สึกว่า อยากให้เอาหนังสือตัวเองมาแปะหัวสำนักพิมพ์ธรรมศาสตร์

⦁ อีกคำถามจากบุคลากร ทาสแมว มธ. คือ อธิการฯคนใหม่จะยังคงหนุนโครงการทำหมันแมวหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความชื่นชมจากประชาชนมาก?

ผมเป็นคนเลี้ยงแมวครับ เป็นแมวที่เก็บมา ก็เข้าใจชีวิตแมว การทำหมันเป็นเรื่องจำเป็น การแก้ปัญหาแมวจร มันไม่ใช่การจับย้ายที่หนึ่งไปที่หนึ่ง เราควรที่จะต้องควบคุมวงจร ซึ่งการทำหมันทำให้เขามีสุขภาพที่ดี ทำให้อยู่ในมู้ดที่เหมาะสม ทั้งช่วงสะวิง ช่วงติดสัด

โครงการแบบนี้ไม่ต้องห่วง นอกจากทำหมันแล้ว เราควรหาบ้านให้ด้วย

⦁ การเปิดตัวเป็นแคนดิเดตครั้งนี้ ได้เข้าพบพูดคุยกับ รศ.เกศินี ไหม?

โดยมารยาทเราอยู่ในทีมท่าน ผมก็ไปเรียนท่าน 3 เรื่อง คือ

1.ขออนุญาตว่า นโยบายอะไรที่ท่านทำและดีต่อมหาวิทยาลัย ผมจะขออนุญาตไปต่อ แต่นโยบายบางอย่างที่ทำแล้วอาจจะทำให้มหาวิทยาลัยมันลำบาก ก็จะขออนุญาตปรับนโยบายบ้าง

2.ผมขอคำสนับสนุนจากท่านอธิการด้วย อยากให้ท่านเชียร์

และสุดท้ายก็บอกท่านว่า สิ่งที่สำคัญ คือผมจะรักษาบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัย จะไม่ให้เกิดความแตกแยก

⦁ ซาวเสียงเป็นอย่างไรบ้าง แนวโน้มคว้าชัยครองใจประชาคมธรรมศาสตร์?

ก็ดีนะ แต่อย่างว่า เรื่องแบบนี้คนที่เขาไม่เชียร์เราเขาไม่บอกเราหรอก (หัวเราะ) เราก็เจอคนที่พูดกับเราว่าเขาเชียร์นะ ก็รู้สึกปลื้มปริ่ม แต่คนไม่เชียร์ ไม่เคยเจอ

⦁ ขออนุญาตถามจริงๆ ว่า ศึกนี้หนักใจไหม?

ก็ถือว่าเป็นการเสนอตัวที่ทำให้ผมต้องทำการบ้านเยอะ เพราะว่ามหาวิทยาลัยท้าทายสูงมากในปัจจุบัน คิดว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับผมในการที่จะมาทำหน้าที่นี้ เพราะถ้าให้มาทำอีก 6 ปีข้างหน้า ตอนนั้นก็อายุประมาณ 50 ปีกลางๆ คงไม่ทันแล้ว โลกหมุนเร็วมาก

นี่คือช่วงเวลาที่เราเห็นปัญหา เราอยู่ในสายงานบริหารมา เราคิดว่าเราพร้อม พอมีแรงที่จะทำอะไร ถามว่าหนักใจไหม ก็ไม่ได้เรียกว่าหนักใจ แต่ถามว่าต้องทำการบ้านไหม ต้องทำการบ้าน ต้องทำทั้งเราและคนอื่น ต้องคิดว่าจะพามหาวิทยาลัยไปทางไหน เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ยากมากกว่า

⦁ แล้วหนึ่งในการบ้านที่ทำ มีการศึกษาวิสัยทัศน์ หรือถอดบทเรียนในอดีตของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงเวลาต่างๆ หรือไม่?

แน่นอนครับ อย่าง ศาสตราจารย์ คุณหญิง นงเยาว์ ชัยเสรี ท่านเพิ่งเสียชีวิต ทำให้เรายิ่งกลับไปอ่านอะไรที่เกี่ยวกับท่าน และผมมีความรู้สึกว่า ท่านมีความคิดที่เป็นกระแสมากพอสมควร กล้าที่จะลุกออกมา แล้วบอกว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องไปอยู่ที่รังสิต ตอนนั้นเราอยู่ที่นี่ ที่ท่าพระจันทร์ อยู่ในคอมฟอร์ตโซนของเรา เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีแล้ว เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ที่เน้นเฉพาะสังคมศาสตร์ แต่ท่านบอกว่าไม่ได้ ธรรมศาสตร์ จะต้องมีสาขาวิชาอื่น ธรรมศาสตร์ต้องเปิดตัวเองออกไป ณ บริบทตอนนั้น มีความก้าวหน้ามาก มันเป็นสิ่งท้าทายมาก

ขณะที่อธิการบดีบางท่านก็อยู่ในช่วงสถานการณ์ที่การเมืองตึงเครียดมาก ต้องต่อสู้ทางความคิด อุดมการณ์ ผมว่าธรรมศาสตร์มันต้องคาถาอะไรบางอย่าง ไม่อยากใช้คำว่าถูกสาป คือเป็นมหาวิทยาลัยสายล่อฟ้า ธรรมศาสตร์อยู่ท่ามกลางพายุ ท่ามกลางสายฟ้าอยู่ตลอดเวลา (หัวเราะ)

⦁ ขอย้อนมาที่ภาพจำ ของคำว่าธรรมศาสตร์ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงสาขาวิชาสังคมศาสตร์เป็นจุดแข็ง แม้ที่ผ่านมามีความพยายามโปรโมตตลอดมา?

วันนี้ผมพูดได้เลยว่าไม่ใช่แล้ว พูดง่ายๆ เราเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยเลย เป็นสหสาขาวิชา ผมชอบไปโฆษณาบอกว่า มีคนมาถาม คณะแพทย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ตรงไหน พูดเหมือนน้ำเสียงดูถูกว่าแพทย์ธรรมศาสตร์ห่วย ผมบอกว่ารู้หรือเปล่าว่าในวงการแพทย์ แพทย์ธรรมศาสตร์คือเบอร์ 4 เป็นรองจุฬาฯ ศิริราช และรามาฯ เท่านั้น คนก็ยังมองว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยสังคม

เราต้องพยายามรักษาสิ่งที่มีอยู่เดิม คือสายสังคมที่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทำสหวิชาที่มีความสามารถให้มีโอกาสพัฒนาต่อให้มันไปได้ ให้มันเป็นเรื่องสำคัญ

⦁ สร้อยท้ายในตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของไทย คือความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ พร้อมรับความกดดันในอีก 3 ปีข้างหน้ามากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะความเป็นธรรมศาสตร์ที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิดและอุดมการณ์สูง?

ถ้าถามผม ความสำเร็จของธรรมศาสตร์ คนธรรมศาสตร์มีความรักในสถาบันตัวเอง ผู้นำทุกฝักฝ่าย ทั้งฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายก้าวหน้า การเมืองในสถาบันหลัก การเมืองข้างถนน เกิดมาจากธรรมศาสตร์มากมาย ผมว่าสิ่งนี้คือความสำเร็จของธรรมศาสตร์

นี่คือธรรมศาสตร์ ยิ่งตีกัน ยิ่งทะเลาะกัน เรายิ่งแข็งแกร่ง เรายิ่งกลายเป็นมหาวิทยาลัยที่มีภูมิต้านทานสารพัดเรื่อง

ประกอบด้วยคนที่มีความหลากหลายอยู่ร่วมกัน องค์กรอื่นอาจทำให้คนเห็นต่างต้องไปอยู่ที่อื่น แต่สำหรับธรรมศาสตร์ ไม่เลย มันคือที่ที่คนหลากหลายความคิดที่อยู่ด้วยกัน นี่เป็นจุดแข็งธรรมศาสตร์

ผมว่าธรรมศาสตร์เรามีกลไกบางอย่างที่ทำให้คนมีความคิดคนละขั้ว ยังอยู่ในธรรมศาสตร์ด้วยกันได้ คือคุณก็ทำอะไรของคุณอย่างที่คุณอยากทำ และธรรมศาสตร์ก็ไม่เคยตัดสินลงโทษใคร หรือว่าใครดีกว่าคนไหน เราไม่เคยพูดแบบนั้น

⦁ สุดท้าย คำถามเชย แต่ต้องถามอีกเช่นเคยว่า ธรรมศาสตร์ในฝันที่อยากเห็นเป็นอย่างไร?

ผมได้ยินตั้งแต่เกิด ว่าประเทศไทยมี 2 มหาวิทยาลัยหลัก คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่จุฬาฯก็เรา ไม่เราก็จุฬาฯ แต่วันนี้ตอนนี้ มหาวิทยาลัยมันเยอะมาก เราเริ่มไม่แน่ใจว่า ไม่จุฬาฯก็ธรรมศาสตร์ไหม

ผมอยากให้อารมณ์แบบนั้นมันกลับคืนมา เราควรเอาทิศทางของเรากลับคืนมา

ผมอยากให้ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยแรกๆ ที่คนในบ้านเราคิดถึง

พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร เรื่อง
วรพงษ์ เจริญผล ภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image