“เยาวราช 2017” บนความเปลี่ยนแปลง

ทุกปีเมื่อเทศกาลตรุษจีนเวียนมาถึง เยาวราชจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนทั้งคนไทยเชื้อสายจีนที่มาจับจ่ายข้าวของไว้แต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ปฏิทิน ซองแดง (อั่งเปา) ป้ายคำอวยพร ถุงผ้าใส่ส้มอวยพร เสื้อผ้าใหม่ กระดาษเงินกระดาษทอง ฯลฯ รวมไปถึงทองคำเพื่อมอบเป็นของขวัญกับลูกหลานในวันปีใหม่จีน

ยังมีบรรดาวัตถุดิบของแห้งๆ เพื่อการปรุงอาหารไหว้บรรพบุรุษในเช้าวันชิวอิก สามารถจับจ่ายล่วงหน้าก่อน 1-2 สัปดาห์ ส่วนของสดไปว่ากันอีกทีในวัน (ต้อง) จ่าย ซึ่งสนนราคาจะพุ่งพรวดขึ้นเป็นเท่าตัวเป็นอย่างน้อย

ไม่เพียงคนไทยเชื้อสายจีนในกรุงเทพฯ แต่ทั้งชาวจีนจากประเทศใกล้เคียง ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลย์ รวมทั้งฟากฝั่งยุโรปก็มา มาเที่ยวชม มาสัมผัสวิถีประเพณีจีน

เพราะที่นี่คือ “ไชน่าทาวน์” ย่านวัฒนธรรมจีน เขตการค้าสำคัญของกรุงเทพฯ และเป็นจุดหมายปลายทางของนักเที่ยวสายกินที่ไม่เคยหลับ

Advertisement

วันที่ลงพื้นที่สำรวจย่านตลาดเก่าท่ามกลางผู้คนที่หลั่งไหลกันไปในทิศเดียวกันเสียง ที่ได้ยินไล่หลังตามมา มีทั้งจีนแมนดาริน จีนกวางตุ้ง อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ

ทางฝั่งถนนทรงวาด เส้นทางท่องเที่ยวยอดนิยมนั่นก็มีชาวต่างประเทศถือแผนที่เดินเที่ยวชมอาคารเก่าๆ สไตล์ชิโนโปรตุกีส

ลัดเลาะกลับมาทางวัดคณิกาผล… นั่นสาวฝรั่งเศสนั่งจิบกาแฟอย่างสบายอารมณ์ข้างซอยแคบๆ มุมเก๋ๆ คูลๆ ไม่ไกลจากศาลเจ้าลือตี่เบี่ย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

Advertisement

S__8478764

ลุคใหม่วินเทจสไตล์

แน่นอน ในแง่รูปลักษณ์ภายนอก เยาวราชวันนี้ไม่เหมือนเดิม

นอกจากสถานีรถไฟฟ้าที่จ่อรอเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการใกล้วัดเล่งเน่ยยี่ หรือวัดมังกรกมลาวาส ทางด้านสถาปัตยกรรมตึกรามบ้านช่องมีการรีโนเวตทั้งหน้าตาและพื้นที่ใช้สอยให้เหมาะกับยุคสมัยในหลายพื้นที่หลายชุมชน อาทิ ชุมชนเจริญไชย ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ฯลฯ ที่มีการเวนคืนพื้นที่เปลี่ยนมือปรับลุคเพื่อรองรับวิถีคนยุคใหม่

ร้าน ล.เยาวราช ภาพจากเฟซบุ้ก Lor Yaowaraj Bangkok
ร้าน ล.เยาวราช ภาพจากเฟซบุ้ก Lor Yaowaraj Bangkok

ร้านโชห่วยที่เคยมืดๆ ทึมๆ อย่าง ล.เยาวราช เปลี่ยนเป็นร้านค้าสว่างไสว ท้าทายด้วยโคมไฟสีเขียว ติดเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำ เรียกลูกค้ารุ่นใหม่ให้ก้าวเข้าไปใช้บริการอย่างตื่นตาตื่นใจ

ส่วนโรงแรมที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว บูทีคโฮเต็ลเก๋ๆ กลางเยาวราช อย่างโรงแรมเซี่ยงไฮ้แมนชั่น ที่กลิ่นอายย้อนยุคอารมณ์วินเทจๆ นั่นก็เพิ่งเปิดตัวได้ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังมีโฮมสเตย์อีกหลายต่อหลายแห่งอาศัยที่ทางชั้นบน หรือด้านหลังของอาคารให้บริการแก่แบ๊กแพคเกอร์

แต่นั่นอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ถ้าพูดถึงแก่นของความเป็นเยาวราช ความเป็นไชน่าทาวน์ บางกอก

เจ้าของร้านขายเครื่องกระดาษเล็กๆ ในย่านตลาดเก่ารายหนึ่ง บอกว่า ที่ร้านหน้าตายังเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่ที่เพิ่มเติมคือ ความใส่ใจต่อลูกค้าและคุณภาพสินค้าทุกชิ้นที่วางขายในร้านเป็นสินค้าที่สรรมาแล้วทั้งสิ้น

หยิบเอาประเด็นที่หลายคนตั้งข้อสังเกตกับความเปลี่ยนแปลงของวิถีการสืบทอดประเพณีของคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ที่เห็นและเป็นอยู่ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีนอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกระดาษที่เผาให้กับบรรพบุรุษ ซึ่งแต่ละปีจะมีดีไซน์ใหม่ๆ ล้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นไอโฟน ไอแพด แก็ดเจ็ตเก๋ๆ เสื้อผ้า กระเป๋าหลุยส์ ฯลฯ มีให้เลือกมากมาย

เจ๊เจ้าของร้านในวัย 66 ปี บอกว่า ปัจจุบันมีการรณรงค์เรื่องการเผากระดาษให้น้อยลง ควันน้อยลง มลพิษน้อยลง สิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้น

“การเผากระดาษนั้นหัวใจสำคัญอยู่ที่กระดาษแผ่นเดียว ถ้าเปรียบกับเงิน การที่เราจะเผาแบงก์เล็กๆ 1,000 ใบ ส่งไปกับเผาแบงก์ใหญ่ใบเดียว ความหมายเหมือนกัน การเผาแบงก์ใหญ่ประหยัดกว่า ให้ควันน้อยกว่า ที่ร้านจะเน้นให้ลูกค้าซื้อเป็นแบงก์ใหญ่จะได้ไม่ต้องเผามากๆ แต่ถ้าพูดถึงในแง่การค้าการขาย ก็เท่ากับลูกค้าซื้อจำนวนน้อยลง” เธอบอกอย่างอารมณ์ดี

กระแสรักษ์โลกกำลังมา

จากตลาดเก่าข้ามถนนไปฝั่งตรงข้าม ถนนมังกรเพื่อตัดทะลุไปยังวัดมังกรกมลาวาส แลนด์มาร์คสำคัญที่ไม่เพียงลูกจีนลูกไทยนิยมไปแก้ปีชง และกราบไหว้ขอความเป็นสิริมงคล ในช่วงปีใหม่จีนจึงเนืองแน่นเป็นพิเศษสุดสุด ไหนจะนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม สัมผัสวิถีไชน่าทาวน์ บางกอก

แต่ก่อนจะตัดทะลุไปถึงถนนใหญ่ เลี้ยวซ้ายเดินลัดเลาะเข้าทางซอยเยาวราช 8 เป็นที่ตั้งของวัดเล็กๆ แห่งหนึ่ง “วัดบำเพ็ญจีนพรต” (ย่งฮกยี่) สังฆารามแห่งคณะสงฆ์จีนนิกายที่กล่าวกันว่าสร้างโดยชาวจีนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ท่านเย็นอี
ท่านเย็นอี

วันที่แวะไปกราบ หลวงจีนธรรมรักษ์จีนประจิต (เย็นอี) ผู้ช่วยปลัดซ้ายจีนนิกาย รักษาการแทนเจ้าอาวาส กำลังดูแลพระลูกวัดประดับศาลเจ้าด้วยโคมแดง ให้ความเห็นว่า เยาวราชแม้รูปลักษณ์ภายนอกจะเปลี่ยนไปตามสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ความเป็นเยาวราชยังคงอยู่

“ทุกอย่างอยู่ที่แต่ละคนจะมอง การเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ต้องเกิดจะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับพื้นฐานของครอบครัว สังคม และสิ่งแวดล้อม ประเด็นของประเพณีการเผาเครื่องกระดาษนั้น ปัจจุบันบางคนเผาเพียงนิดหน่อยพอเป็นพิธี เพราะมองว่าเป็นเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม คือเผาแต่เพียงจำเป็น เพราะเป็นสิ่งที่เผากันมาแต่บรรพบุรุษ ครั้นจะไม่เผาก็ไม่สบายใจ จึงมองว่าอะไรที่พอทำได้ก็ทำอยู่”

ท่านเย็นอีบอกอีกว่า ปัจจุบันการเผาเครื่องกระดาษในบางประเทศ อย่างฮ่องกง สิงคโปร์ นอกจากจะย่อขนาดลง บางแห่งยังใช้วิธีการพิมพ์ภาพสิ่งที่ตั้งใจจะเผาส่งไปให้บรรพบุรุษลงบนกระดาษแผ่นเดียว ไม่ว่าจะเป็นบ้านพร้อมที่ดิน เสื้อผ้า ข้าวของ อาหาร ฯลฯ

“อะไรจะเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว ความคิดของคนก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา สิ่งที่เราเห็นวันนี้อีก 50 ปีอาจจะไม่มีอีกแล้วก็ได้ แต่ความเป็นจิตวิญญาณยังคงอยู่”

หัวใจอยู่ที่การมอบสิ่งที่ดีที่สุด

“ขนมปังปิ้งกลายเป็นอาหารยอดฮิตของเยาวราชได้อย่างไร เด็กรุ่นใหม่มาเยาวราชต้องมาต่อแถวซื้อขนมปังปิ้ง พร้อมกับถ่ายเซลฟี่”

สมชัย กวางทองพาณิชย์ ผู้นิยามตนเองว่าเป็นชาวสำเพ็งโดยแท้ โพล่งขึ้นเป็นสิ่งแรกเมื่อถามถึงความเปลี่ยนไปของ “เยาวราช” แล้วหัวเราะร่วน พร้อมกับบอกว่า พูดถึงเยาวราชทุกคนจะนึกถึง “อาหาร”

แต่ “อาหารเยาวราช” จะต้องมีความสมดุล วัตถุดิบต้องดี มีคุณภาพ ถามว่าขนมปังปิ้งสามารถยึดโยงกับชุมชนได้มั้ย มีส่วนไหนของวัตถุดิบที่มาจากชุมชน และถ้าวันหนึ่งเมื่อมีการขยายสาขาไปอยู่นอกเยาวราช ผู้ซื้อจะนึกถึงความเป็นเยาวราชได้หรือไม่

หลังจากเปิดประเด็นให้ได้คิดกันต่อแล้ว กลับมาที่อาหารไหว้บรรพบุรุษของคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ ที่หลายๆ คนตั้งคำถาม

…เราสามารถเปลี่ยน “ไก่ต้ม” เป็น “ไก่ทอดร้านฟาสต์ฟู้ด” หรือเปลี่ยน “ปลาหมึกแห้ง” เป็น “ปลาหมึกอบกรอบ” ได้หรือไม่?

“ถามว่าผิดมั้ย-ไม่ผิด เพราะสิ่งสำคัญคือ สิ่งที่เราไหว้คือสิ่งที่ดีที่สุดในยุคนี้ แล้วเราสรรหาสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดไปไหว้” 16196082_10154881994971668_245511984384982240_n

ก็เหมือนกับขนมถ้วยฟู (ฮวกก๊วย เชื่อกันว่ากินแล้วจะรุ่งเรือง) แต่เรากินแล้วไม่อร่อย พอไปกินที่ “อาฟเตอร์ยู” อร่อยก็ซื้อมาไหว้แทน ถามว่าผิดมั้ย-ไม่ผิด

การที่คนไทยเชื้อสายจีนไหว้เป็ดไก่ เพราะสังคมดั้งเดิมเป็นสังคมเกษตร เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่อยู่แล้ว แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสังคมค้าขายย่อมมีการปรับไปตามยุค

ขณะเดียวกันก็ต้องดูที่ความหมายของ “ความตายที่ไม่ตาย” สมชัยบอก และว่า

คนไทยเชื้อสายจีนเชื่อกันว่าบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้วไม่ได้ล้มหายตายจากไปไหน ในวันจ๊อกี่ (ครบรอบวันเสียชีวิต) จึงปฏิบัติกับท่านเหมือนยังมีชีวิต มีการตั้งชามข้าว วางช้อน ตั้งน้ำแกง เสมือนกับเขามานั่งกินข้าวอยู่ ณ ตรงนั้น

“เมื่อมีความรู้สึกว่าท่านไม่ตาย เราจึงมอบสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งที่คิดว่าท่านจะชอบให้กับท่าน”

ซึ่งกับกรณีของเครื่องกระดาษก็เช่นกัน ต้องมองที่การตีความ การให้ความหมาย ผู้ผลิตออกแบบเครื่องกระดาษมามากมาย ตั้งแต่บ้านพร้อมที่ดิน เสื้อผ้าสารพัดแบบ ไอโฟน ไอแพด แก็ดเจ็ต กระเป๋าหลุยส์ รถสปอร์ต หรือแม้กระทั่งตู้เอทีเอ็มทั้งตู้ แต่คนเผา (ลูกค้า) จะเป็นผู้ที่เลือกสิ่งที่ดีที่สุดในยุคของเขาเผาไปให้

เยาวราช 4.0 ยุคสมัยที่ต้องเปลี่ยน

จากทรรศนะของคนในพื้นที่ ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญจากชุมชน มาฟังในแง่ของวิชาการ

เศรษฐพงษ์เศรษฐพงษ์ จงสงวน นักวิชาการอิสระด้านศาสนาและวัฒนธรรมจีน อธิบายให้ฟังว่า ภาพลักษณ์ของเยาวราชในปัจจุบัน (ร้านค้า) ที่มีการปรับเปลี่ยนให้หน้าตาสมัยใหม่ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าคนที่เคยอยู่เดิมบางส่วนย้ายออกมาอยู่ชานเมือง และปล่อยพื้นที่ให้เช่า ไม่เพียงในเล่งบ๊วยเอี๊ยะ แต่ในสำเพ็ง สะพานหันก็ด้วย เพราะที่นี่เป็นแหล่งการค้า ส่วนคนที่เข้ามาทดแทนในพื้นที่เป็นคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ที่เข้ามาเช่าพื้นที่ค้าขายเอง อาจจะซื้อสินค้าจากจีนมาขาย เช่น เห็ดหอม ใบชา สมุนไพร หรือเปิดเป็นร้านชำก็มี

ขณะที่คนในพื้นที่เดิมอีกส่วนเป็นผู้ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เช่น กรณีของชุมชนเจริญไชย เมื่อถึงเวลาหนึ่งจึงต้องเปลี่ยน

“เราคงห้ามความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ถ้าพูดกันเรื่องวัฒนธรรมประเพณีมันมีแกนกลางมีสาระอยู่ เช่น การเซ่นไหว้คือการแสดงความกตัญญู”

คนเก่าๆ ให้ความสำคัญในเรื่องของ “กาลเทศะ” คือมี “ธรรมชาติ” เป็นตัวกำหนด เช่น เมื่อถึงฤดูกาลนี้เราต้องทำพิธีการอย่างนี้ เป็นการบอกว่าเปลี่ยนฤดูกาลแล้วนะ ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ หรือเช็งเม้ง ทุกอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ

แม้กระทั่งการไหว้พระจันทร์ ซึ่งช่วงนั้นจะเป็นฤดูใบไม้ร่วง คือเก็บเกี่ยวแล้ว มีการนำผลผลิตมาทำขนมขอบคุณธรรมชาติ ขอบคุณแผ่นดิน ขอบคุณบรรพบุรุษ ถามว่าเมื่อทุกอย่างปรับเปลี่ยน เรายังเข้าใจสาระสำคัญตรงนี้มั้ย

บางคนอาจมองว่าปรับเปลี่ยนวัตถุสิ่งของที่นำมาไหว้ เช่น ซื้อของสำเร็จ หรือไก่ทอด พิซซ่ามาไหว้ แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่อาหารที่จะนำมาใช้ แต่อยู่ที่คุณจะสามารถรักษาความกตัญญู และกาลเทศะได้หรือไม่ ว่า นี่คือการไหว้ปีใหม่ ไหว้กลางปี ไหว้ฤดูร้อน ฯลฯ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เข้าใจสาระดั้งเดิมคืออะไร ผมว่าจะเปลี่ยนอย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะมันคือรูปแบบภายนอก

“ในความเห็นส่วนตัว ผมอยากให้มีการอนุรักษ์ความเป็นอาคารเก่า เพราะอย่างน้อยก็เป็นประวัติศาสตร์ของเมือง และอีกสิ่งสำคัญคือ เราขาดคนเล่าเรื่อง ฉะนั้นเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เป็นความทรงจำจะค่อยๆ หายไป เรื่องราวของคนมันหายไป”

เศรษฐพงษ์ บอกอีกว่า เรื่องของความสมัยใหม่อย่างชุดกี่เพ้าที่กลับมาเป็นแฟชั่นของสาวยุคนี้ ก็เป็นไปตามยุคสมัย ถ้านับย้อนหลังกลับไปเยาวราชมีทุกยุค เยาวราชยุคแรกเป็นยุคปลายราชวงศ์ชิง ผู้ชายไว้หางเปีย ผู้หญิงใส่เสื้อผ้าแบบแมนจู พอมาสมัยรัชกาลที่ 6 จีนเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ ทุกคนเปลี่ยน ชุดกี่เพ้าก็มา ไม่มีการไว้เปียอีกแล้ว ใส่ชุดสมัยใหม่ ชุดสากล พอมายุคหลังสงครามโลกก็เปลี่ยนอีก ทางฝั่งไทยตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกนโยบายรัฐนิยม ห้ามใส่กางเกงแพร รองเท้าเกี๊ยะ เดินถนน ทุกคนก็ปรับเปลี่ยน เป็นต้น

เยาวราช ณ วันนี้ที่มีสถานีรถไฟฟ้าการปรับเปลี่ยนจึงเป็นเรื่องธรรมดา แต่อยู่ที่มุมมองที่เราจะรักษาไว้ สุดท้ายเราอาจจะต้องไปเก็บเรื่องเล่าจากอากงอาม่าที่ย้ายไปอยู่ชานเมืองกันหมดก็ได้

16298722_10154875397006668_6184084340840239661_n

IMG_4170

IMG_4164

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image