พินิจ จารุสมบัติ ส่องหลากหลายมิติ ‘ตรุษจีนไทย’ ระดับโลก

ถึงแม้ “ไทย” กับ “จีน” จะไม่ใช่ประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกันโดยตรง แต่ทั้งสองประเทศมีความผูกพันกันมายาวนานตั้งแต่ในอดีตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

มีพัฒนาด้านความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ขณะที่มิตรภาพระหว่างกันก็เพิ่มพูนมากขึ้น รวมถึงด้านวัฒนธรรมที่มีการผสมกันอย่างกลมกลืน

ดังเช่นเทศกาลสำคัญอย่าง “วันตรุษจีน” ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่จีน แต่ประเทศไทยมีการจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ คึกคักแทบทุกจังหวัด อีกทั้งหลายครอบครัวโดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีน มีการจัดพิธีไหว้เจ้าที่ และไหว้บรรพบุรุษ ไม่ต่างจากคนในแผ่นดินจีน

ขณะที่ พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ มองว่าการที่ประเทศไทยจัดงานวันตรุษจีนอย่างยิ่งใหญ่ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจนขึ้น ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวต่อยอดไปถึงความร่วมมือในด้านต่างๆ ในอนาคต

Advertisement

“ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนในอนาคต จะพัฒนาเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงเรื่องวัฒนธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการเกษตร จะมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างกว้างมาก”

เป็นมุมมองของผู้ผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนหลายด้าน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดพัฒนาด้านความร่วมมือมากมาย

 พินิจ จารุสมบัติ

Advertisement

– วันตรุษจีนมีความเชื่อมโยงกับสังคมไทยอย่างไร?

วิถีชีวิตของคนไทยในวันนี้มีความผสมผสาน ไม่ว่าจะเรื่องวัฒนธรรม อาหารการกิน หรือประเพณี รวมถึงวันตรุษจีน ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญของสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่คนไทยมีส่วนร่วมอย่างมาก ซึ่งการที่ประเทศไทยจัดงานตรุษจีนอย่างยิ่งใหญ่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมอย่างมาก คนจีนเองเขาพูดเลยว่างานเทศกาลตรุษจีนที่จัดขึ้นนอกประเทศจีนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงไชน่าทาวน์ ในเมืองใหญ่อย่าง นิวยอร์ก ฝรั่งเศส หรืออังกฤษก็ตาม

– มองการจัดงานตรุษจีนในประเทศไทยอย่างไร?

เราจะเห็นว่างานประเพณีวัฒนธรรมของจีน ที่จัดขึ้นในประเทศไทยมีความเข้มข้น และมีการรักษา ส่งเสริม สนับสนุน ต่อยอดมากมาย รวมถึงวันตรุษจีนในหลายพื้นที่ เช่น งานตรุษจีนที่ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ จัดขึ้นได้อย่างวิจิตรพิสดารและยิ่งใหญ่มากจนคนจีนเองก็รู้สึกตกตะลึง ขณะที่ จ.อุดรธานี มีขบวนแห่และจัดงานอย่างยิ่งใหญ่เช่นกัน ยังมีงานตรุษจีนที่ จ.ขอนแก่น จ.สงขลา เรียกได้ว่ามีการจัดงานขึ้นแทบทุกพื้นที่ ทุกจังหวัดของประเทศไทย รวมถึงหัวใจสำคัญอย่างเยาวราชในกรุงเทพฯ ก็เป็นศูนย์กลางสำคัญของวันตรุษจีน

– การจัดงานตรุษจีนมีผลต่อความสัมพันธ์อย่างไร?

ผมมองว่าการจัดงานเทศกาลวันตรุษจีนเป็นโอกาสอันดี ที่เราจะได้แสดงออกถึงความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมกับประเทศจีน แสดงถึงความเข้าใจ ความเป็นญาติพี่น้อง ความเป็นเพื่อนนำไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจในการร่วมมือด้านอื่นๆ ต่อไป

– ทำงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทยจีนตั้งแต่เมื่อไหร่?

ตั้งแต่ปี 2519 ผมได้รับการเชิญไปเยี่ยมเยียนเมืองจีน ซึ่งสมัยนั้นเป็นช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมใหม่ ทำให้ได้รู้จักเพื่อนมิตรหลายท่าน ถึงตอนนี้เพื่อนมิตรกลุ่มนั่นก็มีอาวุโสมากเหมือนกับผม แต่ก็ยังมีการไปมาหาสู่กันติดต่อกันประสานงานกัน เพื่อรักษาไว้ซึ่งมิตรภาพและสัมพันธภาพระหว่างกันโดยตลอด

จากนั้นเป็นต้นมาก็มีการขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว ต่อมาในช่วงที่ผมเป็นรัฐมนตรี เป็นผู้แทนราษฎร มีโอกาสได้ดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสัมพันธ์และมีความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนกับจีนเยอะมาก ตอนนั้นมีการผลักดันผลไม้ไทยไปจีน มีการเปิดตลาดเจียงหนานและอีกหลายๆ ตลาดเป็นครั้งแรก โดยมี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และปรีชา เลาหพงศ์ชนะ เป็นทีมเศรษกิจในขณะนั้น และผมยังได้เสริมสร้างเรื่องการท่องเที่ยวด้วย

– เดินทางไปประเทศจีนบ่อยแค่ไหน?

บ่อยมากครับ น่าจะเกือบร้อยครั้ง อย่างปีที่ผ่านมาไปมากกว่า 12 ครั้ง บางปีก็ไปเกือบ 20 ครั้ง แต่ละครั้งที่ไปก็มีความประทับใจที่ไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละที่ก็มีศักยภาพ แต่ละมณฑล แต่ละเมือง ก็มีจุดแข็งของเขา ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ทรัพยากร หรือเศรษฐกิจ ที่แต่ละแห่งมีไม่เหมือนกัน พอเราไปเห็นก็คิดว่าน่าจะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกันมาร่วมมือกัน

– แล้วงานที่สภาวัฒนธรรมฯ เริ่มต้นได้อย่างไร?

ตอนที่เว้นวรรคทางการเมือง ก็คิดว่าผมยังมีศักยภาพและความสามารถ แล้วคนเราต้องคิดถึงประเทศชาติ ต้องมีอุดมการณ์ ถึงแม้จะหยุดพักทางการเมือง ก็ควรจะเอาเวลาที่มีมาสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ไม่ควรอยู่นิ่งเฉย อะไรที่สามารถทำให้ประชาชนและประเทศชาติได้ก็ควรจะทำ

ผมมาคิดว่า ผมมีเครือข่าย มีช่องทาง มีเพื่อนมิตรที่เป็นเจ้าหน้าที่ประเทศจีนแทบทุกระดับ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน น่าจะสามารถนำมาสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ เลยเอาสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์มาผูกสัมพันธ์และช่วยกันระดมเพื่อนมิตรในเมืองไทยที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาช่วย โดยไม่ได้หวังผลทางการเมือง หวังอย่างเดียวคือผลประโยชน์ระหว่างไทยกับจีนจะเพิ่มพูนขึ้น

– บทบาทสภาวัฒนธรรมฯ กับความร่วมมือที่ผ่านมา?

เรามีความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ซึ่งมีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกัน อาทิ กระทรวงวัฒนธรรมจีน, สมาคมวัฒนธรรมจีนที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงวัฒนธรรมของจีน, สมาคมเผยแพร่วัฒนธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน, สมาคมมิตรภาพระหว่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน, สมาคมนักธุรกิจยอดเยี่ยมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน, สถานทูตจีนในประเทศไทย, ศูนย์วัฒนธรรมจีนแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ, วัดเส้าหลิน ยังมีความร่วมมือกับมณฑลต่างๆ เช่น ซานตง ชิงเต่า กวางโจว กวางตุ้ง และซัวเถา เป็นต้น โดยเป็นความร่วมมือที่นำไปสู่กิจกรรมร่วมกัน และการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ยังมีการเปิดบิสสิเนส แมทชิ่ง ระหว่างไทยและจีนในเรื่องการค้าการลงทุนต่อเนื่องมากว่า 10 ปี

– อย่างงานวันยางพาราบึงกาฬ มีความร่วมมือได้อย่างไร?

จากความร่วมมือด้านวัฒนธรรมขยายมาสู่ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน เลยมีแนวคิดว่าเกษตรกรชาวสวนยางของเราควรจะพึ่งพาตัวเองและขยายตลาดไปสู่ประเทศจีน เพราะประเทศจีนเป็นประเทศที่ใช้วัตถุดิบจากยางพาราเยอะมาก อย่างปี 2559 ที่ผ่านมาประเทศจีนมีรถยนต์จดทะเบียนทั้งหมด 28 ล้านคัน เพราะฉะนั้นจึงมีความต้องการเรื่องวัตถุดิบมาก ผมก็เลยพาเกษตรกร พาผู้ค้ายางระดับรากหญ้าบุกไปที่ประเทศจีน ตลาดเมืองชิงเต่า มณฑลซานตง ซึ่งเป็นมณฑลที่มีโรงงานยางรถยนต์มากที่สุด เป็นตลาดที่ต้องการยางแท่งเอสทีอาร์ 20 และยางแผ่นมาก

ที่สุด ซึ่งในช่วงแรก ผมบอกนายก อบจ.ให้ร่วมกันจัดงานวันยางพาราบึงกาฬแต่เขาไม่เอาด้วย เพราะไม่รู้จะจัดทำไม ยังไม่เห็นมีประโยชน์ แต่วันนี้เขาเห็นประโยชน์เห็นความสำเร็จแล้ว งานวันยางพารา ทำให้กลุ่มเกษตรกรสามารถส่งออกยางได้ โดยไม่ต้องพึ่งพา 5 เสือ ทำให้กลุ่มสหกรณ์ได้งบประมาณจากรัฐบาลทำโรงงานหมอนยางพารา และมีตลาดจีนรองรับ เป็นปรากฏการณ์ที่ประสบความสำเร็จ

– จากการทำงานที่ผ่านมามองประเทศจีนและคนจีนอย่างไร?

การจะมองจีนต้องมองประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของประเทศด้วย ซึ่งประเทศจีนมีหลายชนชาติ มีหลายภาษา หลายวัฒนธรรม คล้ายกับประเทศไทยที่มีภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ ที่มีวัฒนธรรมต่างกัน มีรสชาติอาหารต่างกัน แต่ประเทศจีนมีความหลากหลายมากกว่า แต่โดยภาพรวมแล้วคนจีนเป็นคนที่มีมิตรไมตรี มีน้ำใจ มีความเอื้ออาทร เห็นได้จากประเทศจีนให้ความช่วยเหลือกับประเทศยากจนหลายประเทศ

– ความประทับใจที่มีต่อวัฒนธรรมจีน?

คนจีนมีฝีมือด้านวัฒนธรรมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะการวาดภาพ การแสดงงิ้ว การร่ายรำ การแกะสลัก เย็บปักถักร้อย และการแสดงกายกรรมที่โลกนี้ไม่มีใครสู้ได้ และยังมีวัฒนธรรมอีกมากมายที่เรายังไม่ได้เห็น เพราะมีคนจีนหลายชนชาติที่อยู่ตามป่าเขาที่เราอาจจะยังไม่รู้จัก แต่นี่คือเสน่ห์ของเมืองจีน

ยังมีเรื่องของคำสอนสำคัญของปราชญ์ชาวจีน อาทิ ขงจื้อ เล่าจื้อ และซุนวู ยังมีหนังสือและตำราจีน โดยเฉพาะตำราพิชัยสงคราม และเรื่องสามก๊ก ที่เป็นมรดกสำคัญของโลกเป็นเรื่องราวที่ประทับใจ รวมถึงเรื่องของศาสตร์แพทย์แผนจีน ทั้งหมดเป็นวัฒนธรรมที่มีสำคัญ

สมัยก่อนตามบ้านของคนจีนจะมีคำสอน คำขวัญ สิ่งสอนใจ สิ่งเตือนใจติดไว้ ให้ลูกหลานได้ศึกษาและเรียนรู้ ที่บ้านผมก็มีจะติดอยู่ใกล้ๆ ที่ตั้งศาลเจ้า เช่น คำสอนให้ซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งทุกคำสอนของปราชญ์ชาวจีน และเหล่าซือ สอนให้เราเป็นคนมีความกตัญญูรู้คุณ มีความเสียสละ เป็นเหมือนตำราการดำเนินชีวิตที่หยั่งรากลึกมานานหลายพันปี

– มีวัฒนธรรมสำคัญอะไรอีกบ้างที่ได้รับจากจีน?

วัฒนธรรมที่สำคัญ คือการค้าขาย คนจีนเป็นคนขยัน ทำให้ประเทศของเขามีการขยายตัวด้านการค้าและเศรษฐกิจ การค้าขายของไทยก็เป็นการได้รับวัฒนธรรมมาจากประเทศจีนด้วย

– มองพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของประเทศจีนอย่างไร?

จากการทำงานที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าประเทศจีนมีการพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงสูง ในอดีตคนจีนกว่าพันล้านคนหนาวตาย อดตาย ตลอดจนป่วยตายไม่มีเงินรักษา เพราะความยากจนข้นแค้น แต่ปัจจุบันจีนพัฒนาจากไม่มีสู่มี จากการด้อยพัฒนามาสู่การพัฒนาที่ขยายตัว เขาสามารถพัฒนาให้คนมีกินมีใช้ ไม่อดตาย ไม่หนาวตาย มีการรักษาพยาบาลและมีปัจจัยสี่ที่ครบถ้วน และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศ เป็นตลาดที่สำคัญของไทยในอนาคต ผมพูดตั้งแต่สมัย 20-30 ปีก่อนแล้วว่าต่อไปนักท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดในตลาดโลกคือ นักท่องเที่ยวจีน และพลเมืองจีนจะออกมาท่องเที่ยวจะเป็นคนที่มีฐานะ มีเงินมีกำลังซื้อ ผมพูดมาตั้งนานแล้ว เพราะไปเมืองจีนบ่อยได้เห็นเมืองจีนเติบโตและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ช่วงสถาปนาจีนใหม่ๆ ประมาณปี 2492 ประเทศจีนมีแค่รถจักรยาน รถม้า รถเทียมวัวเทียมควาย แต่ไม่กี่ปีถนนของจีนเต็มไปด้วยรถยนต์ มีมอเตอร์เวย์และถนนที่เชื่อมโยงมณฑลต่อมณฑล และพัฒนามาถึงทุกวันนี้ มีรถไฟฟ้าความเร็วสูงมากที่สุดในโลก มีสนามบินเกิดขึ้นมากมาย นี่คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและที่สำคัญ เพราะฉะนั้นเราจะต้องใช้ศักยภาพและข้อมูลตรงนี้เพื่อให้ไทยกับจีนมีความร่วมมือกัน โดยเฉพาะเรื่องการค้าและการท่องเที่ยว

– การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนส่งผลกับไทยอย่างไร?

ประเทศจีนเองทั้งระดับผู้นำพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าประเทศไทยไม่ใช่อื่นไกลเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นพี่น้องกัน ที่ผ่านมามีความร่วมมือด้านต่างๆ สำหรับการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับจีนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากเดิม 10,000-20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบัน 80,000-100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 800,000-1,000,000 คนปัจจุบันมีมากถึง 7,000,000-8,000,000 คนต่อปี การเดินทางจากเดิมจีนมีเที่ยวบินมาประเทศไทยน้อยมาก แต่ปัจจุบันมีสนามบินแทบทุกหัวเมืองและมากกว่า 20 หัวเมืองมีเที่ยวบินตรงมาประเทศไทยทั้ง กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และกระบี่ มากกว่า 1,000 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ นักท่องเที่ยวไทยเองก็เดินทางไปเมืองจีนเพิ่มมากขึ้นปีละกว่าล้านคน

– ความรู้สึกที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือระหว่างไทย-จีน?

ภูมิใจมาก ที่ผมได้มาทำงานด้านนี้และได้รับการสนับสนุนอย่างมากทั้งในไทยและจีน ยังได้เป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้อะไรหลายอย่างเติบโตขึ้น ทั้งเรื่องมิตรภาพ สัมพันธภาพ ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว รวมถึงการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาที่ขยายตัวมาก มีคนไทยมาเรียนที่เมืองจีนเยอะ ขณะที่นักศึกษาจีนมาเรียนที่ไทยก็หลายคน

โดยสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ มีการสนับสนุนทุนแลกเปลี่ยนการศึกษา ระหว่างนักศึกษาไทยและจีนด้วย

 พินิจ จารุสมบัติ


ความภูมิใจกับการเป็นคนไทยเชื้อสายจีน

เนื่องจากปัญหาความยากจน ทำให้ยุคหนึ่งกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมาก อพยพไปยังดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย

บรรพบุรุษของ พินิจ จารุสมบัติ ก็เป็นหนึ่งในนั้น

“ครอบครัวของผมเป็นคนไทยเชื้อสายจีน บรรพบุรุษของผมเป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาจากเมืองเตี่ยอัน มณฑลซัวเถา ประเทศจีน มายังประเทศไทยก็เพราะเรื่องความอดอยาก ต้องมาแสวงหาที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งปู่ทวดได้มาแต่งงานกับย่าทวดที่เป็นคนไทยเเละก่อร่างสร้างตัว โดยผมเป็นรุ่นที่ 4 ของตระกูล เป็นคหบดีที่กว้างขวางมีธุรกิจการค้า มีโรงสี โรงทำทองต่างๆ และมีญาติพี่น้องเยอะมาก”

พินิจบอกอีกว่า บรรพบุรุษของเขาได้เล่าถึงการเดินทางไปมาหาสู่กับญาติพี่น้องที่เมืองจีนตลอด ถึงเเม้ขณะนั้นทางเมืองจีนมีการต่อสู้และการเปลี่ยนแปลงการปกครองอะไรต่างๆ ก็ยังมีการเดินทางไปมาหาสู่กัน อันนี้คือความผูกพันที่มีกันมาอย่างยาวนาน

“ผมเองก็มีโอกาสไปเยี่ยมญาติที่เมืองเตี่ยอัน เเละนับว่าเมืองจีนเป็นบ้านของบรรพบุรุษ สิ่งที่ประทับใจคือประเทศจีนสามารถพัฒนาจากการไม่มีมาสู่มี จากความอดอยากมาสู่ความมั่งมี ซึ่งเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก”

พินิจยังเล่าถึงตัวอย่างที่เห็นถึงการพัฒนาของประเทศจีนอย่างชัดเจนจากญาติพี่น้องที่เมืองจีน

“เมื่อก่อนตอนไปเยี่ยมญาติอาหารการกินจะเป็นข้าวต้มผสมมันแล้วกับแกล้มเป็นปลาเค็มตัวเล็กๆ แต่เดี๋ยวนี้เวลาไปเมืองจีน ญาติพี่น้องจะเลี้ยงกับข้าว 36 อย่าง จนโต๊ะแทบวางจานกับข้าวไม่พอ อันนี้คือความเปลี่ยนแปลงเรื่องฐานะที่มั่นคง ร่ำรวยและการประสบความสำเร็จของเมืองจีนในการทำให้ประชากรมีกิน ไม่อดอยากเหมือนในอดีต” เป็นความผูกพัน และความภูมิใจในความเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ของพินิจ จารุสมบัติ

“ผมรู้สึกภูมิใจ เพราะคนจีนเป็นชนชาติที่มีความมานะอดทน ขยัน ซื่อสัตย์ มีการต่อสู้และมีวัฒนธรรมที่ยาวนาน ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ทำให้ประชาชนพันกว่าล้านคนมีกินมีใช้”

“ที่สำคัญยังเป็นผู้นำเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image