ผู้บริโภคมืออาชีพ : คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน บ้าน

เริ่มแล้วคับทั่นผู้ชม ลูกบ้านกระทบกระทั่งกันเองในโครงการจัดสรร

ก็แหม! แต่ละปีมีโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมเกิดใหม่ปีละ 1,000-2,000 โครงการ นับเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลเท่านั้นนะคะ ยังไม่รวมต่างจังหวัดอีก 60-70 จังหวัด น่าจะมีอีกจำนวนโขอยู่

เวลาไปซื้อโครงการจัดสรร มีภาระที่ต้องแบกรับคือค่าใช้จ่ายส่วนกลางรายเดือน กับการหย่อนเงินก้นถุงอีกก้อนหนึ่งอาจจะตารางเมตร (กรณีเป็นคอนโดมิเนียม) หรือตารางวา (กรณีบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด) ละ 500-1,000 บาทตามแต่จะกำหนด

โดยที่ต้องไม่ลืมว่าโครงการจัดสรร เวลาเราไปทำสัญญาซื้อ ผ่อนเงินดาวน์ พอเจ้าของโครงการสร้างเสร็จเขาก็โอนกรรมสิทธิ์ให้เรา ความรับผิดชอบของเขาจะพ้นอกตั้งแต่เรารับโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของเรา โดยที่กฎหมายยังตามไปคุ้มครองในส่วนของ “สิ่งปลูกสร้าง” อาจจะเป็นบ้านหรือคอนโดฯก็ว่าไป ดังนี้

Advertisement

กรณีโครงสร้างหลัก ซึ่งก็มีเสา คาน ถ้ามีการชำรุดเสียหายหรือบกพร่องจากการก่อสร้างภายใน 2 ปี ผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบมาซ่อมแซมให้ดีเหมือนเดิม หรือให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน อีกส่วนคือกรณีสิ่งปลูกสร้างที่เป็น “ส่วนควบ” แปลอีกทีก็คือจุดที่ไม่ใช่โครงสร้างหลัก เช่น ประตู หน้าต่าง ราวบันได ฝ้าเพดาน ฯลฯ กฎหมายให้เขารับประกัน 5 ปี

กฎเหล็กมีอยู่ว่าอสังหาริมทรัพย์ที่รับโอนกรรมสิทธิ์มาแล้วนั้น ผู้บริโภคจะต้องไม่มีการต่อเติมผิดไปจากแบบมาตรฐาน เพราะถ้าต่อเติมผิดแบบโอกาสจะทรุดหรือถล่มย่อมมีสูง ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเขามารับผิดชอบให้

ปัญหามีอยู่ว่า เวลารับโอนบ้านมาแล้ว ไม่ว่าจะเพิ่งโอน 1-2 ปี หรือโอนมาแล้ว 7-8 ปีก็ตาม ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะมีความรู้สึกว่าเวลามีอะไรไม่แฮปปี้ เจ้าของโครงการต้องตามมารับผิดชอบไปตลอดชีวิต สิ่งที่เห็นทั่วไป โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดียจึงมีการประจาน ด่าทอ เยาะเย้ย เสียดสี โครงการยี่ห้อโน้นยี่ห้อนี้เยอะแยะไปหมด

Advertisement

ยกตัวอย่างเป็นน้ำจิ้ม 2 รายก็แล้วกัน แปลกแต่จริงทำเลตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาด้วยกันทั้งคู่ รายแรกอยู่ใกล้รถไฟฟ้าสายสีม่วง มีปัญหาระบบน้ำในโครงการส่งกลิ่นตุ ตุ กับตอนซื้อเจ้าของโฆษณาว่าจะมีพื้นที่มอลล์ชุมชน (งงป่ะคะ มอลล์ชุมชนเป็นคำเดียวกับคอมมิวนิตี้มอลล์นั่นเอ๊ง) แต่ของจริงสร้างมาผิดจากแบบในแผ่นพับโฆษณา

รายหลังใกล้สะพานกรุงเทพ โอนมาหลายปีแล้วล่ะ เผอิญว่าเป็นอสังหาฯแพง อยู่ใกล้เมือง บรรดาไฮโซเซเลบก็เลยพากันไปอยู่เป็นโขยง มีบ้างบางรายหรืออาจจะหลายรายที่อยู่แล้วเพลิน ชอบ ก็เลยซื้อห้องเพิ่มเติมแล้วทำการค้าด้วยซะเลย ปัญหาอยู่ที่มีคนนอกแห่แหนกันเข้ามาใช้ฟาซิลิตี้ในโครงการจนทำให้คนในหงุดหงิดหัวใจ

ทั้งสองเคสนี้วิธีการของผู้บริโภคคิดตรงกันคือ ยึดแบรนด์เป็นตัวประกัน แบรนด์ก็คือยี่ห้อโครงการที่ติดมากับตัวตึกนั่นแหละ เวลาจะตั้งโต๊ะประชุมก็ตั้งหน้าตั้งตาเตรียมมาโวยอย่างเดียว โดยลืมนึกถึงหลักการข้อใหญ่ไปว่า เวลาผู้บริโภคเดือดร้อนสิ่งที่อยากได้จากผู้ประกอบการคือความเป็นมืออาชีพ

หลักการเดียวกันนี้ขออนุญาตแนะนำว่า เวลาผู้บริโภคเดือดร้อนก็อยากให้วางบทบาทเป็นผู้บริโภคมืออาชีพด้วยเช่นเดียวกัน เพราะเวลามีปัญหากระทบกระทั่ง ข้อต่อสู้จะต้องยึดหลักการค่ะ ไม่ใช่หลักกู

หลักการใหญ่ที่สุดคือ “สิทธิตามกฎหมาย” ระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค ดังเช่น เพิ่งสร้างใหม่ๆ รับโอนใหม่ๆ แต่มีปัญหาน้ำในโครงการไม่ได้มาตรฐานอนามัย อาจมาจากการก่อสร้างไม่ดีหรือเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ เรื่องนี้ทางเจ้าของเขารับผิดชอบเต็มๆ อยู่แล้ว กับเรื่องโฆษณาจะทำมอลล์ชุมชนแต่ไปสร้างไม่เหมือนในแผ่นพับ เท่าที่ทราบ ที่ดินที่สร้างมอลล์ชุมชนเป็นกรรมสิทธิ์บริษัท ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของนิติบุคคลอาคารชุด

แบบนี้ สิทธิตามกฎหมายของผู้บริโภคในโครงการนี้น่าจะอ่อนด้อยลง เพราะสิ่งที่เขาทำไม่ตรงกับที่โฆษณาไม่ได้สร้างบนพื้นที่ส่วนกลาง หนทางเจรจากันน่าจะเป็นข้อตกลงในการชดเชยหรือเยียวยาเป็นหลัก

อีกรายที่มีลูกบ้านด้วยกันซื้อห้องหลายห้องแล้วทำการค้าในเขตรั้วโครงการ มีบุคคลภายนอกเข้าไปใช้ห้องน้ำบ้าง ที่จอดรถบ้างมั่วไปหมด สิ่งแรกต้องไปดูคือสิทธิตามกฎหมายระหว่างเจ้าของโครงการ (ซึ่งโอนมาหลายปีแล้ว) กับลูกบ้านยังมีเหลือกี่มากน้อย เท่าที่ทราบโครงการนี้โอนมาหลายปีแล้ว การใช้พื้นที่ส่วนกลางเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของนิติบุคคลอาคารชุด

กรณีนี้หากจะไปใช้วิธีประจานด่าทอเจ้าของโครงการบนโลกโซเชียลมีเดีย เข้าใจว่าอย่างมากคงได้ความสะใจ แต่ปัญหาจะได้รับการแก้ไขหรือปล่าวก็ไม่รู้ แถมดีไม่ดีอาจถูกฟ้องกลับด้วยนะเอ้า เพราะตอนนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ตามไปเช็กบิลบุคคลที่นำเสนอข้อความให้ร้ายหมิ่นประมาทอย่างได้ผลมาหลายคดีแล้ว

ถ้าหากนึกอยากจะเป็นผู้บริโภคมืออาชีพขึ้นมาบ้างแล้ว ง่ายนิดเดียวค่ะ เวลามีปัญหาเดือดร้อนรำคาญใจให้ดูว่าสิทธิตามกฎหมายเราอยู่ตรงไหน เราต่อสู้เรียกร้องไปตามสิทธินั้น

ยึดมั่นหลักการให้ใหญ่กว่าหลักกู ดีที่ซู้ดเด้อค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image