ยิ่งกว่านิยาย 3 วันอันตรายของจอมพล ป. ‘ก้าวสุดท้ายจากแผ่นดินไทย’

ยิ่งกว่านิยาย 3 วันอันตรายของจอมพล ป. ‘ก้าวสุดท้ายจากแผ่นดินไทย’

ยิ่งกว่านิยาย 3 วันอันตรายของจอมพล ป. ‘ก้าวสุดท้ายจากแผ่นดินไทย’

จัดเป็นเวทีสุดมันส์ มากด้วยสีสัน ครบเครื่องด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ผ่านความทรงจำ สำหรับ BookLaunch: เปิดเรื่องลับเมื่อจอมพล ป. ลี้ภัย ในงาน Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม ครั้งที่ 2 ณ มิวเซียมสยาม เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ตบเท้าขึ้นเวทีอุ่นหนาฝาคั่ง ทั้ง ประดาป พิบูลสงคราม ทายาทจอมพล ป. พิบูลสงคราม, ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์, ประเสริฐ ศิริ หรือ ‘กำนันโจ๊ด’ อดีตกำนันบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ผู้ขับเรือพาจอมพล ป. ไปส่งที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา หลังการรัฐประหาร 16 ก.ย.2500, ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา ดำเนินรายการโดย ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์

เบื้องหน้า คือ หนังสือ ก้าวสุดท้ายจากแผ่นดินไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ฝากไว้ที่หาดเล็ก ตราด พิมพ์สดใหม่หมาดๆ เป็นครั้งแรกให้อ่านเต็มอิ่ม 239 หน้า เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567 โดย มูลนิธิ จอมพล ป. และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม

Advertisement

รวบรวมเรื่องราวที่บอกเล่าถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม จากบุคคลใกล้ชิด เป็นบันทึกความทรงจำ เรื่องราวเกี่ยวกับการพาคณะของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลี้ภัยทางการเมืองของจากรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ.2500

ทายาทจอมพล ป. ไขปม ‘ทำไมท่านไม่สู้ เพราะรู้แล้วว่ามันจบ’

“พ่อผมเป็นลูกคนที่ 2 ของจอมพล ป. ตอนที่คณะราษฎรปฏิวัติ ตนอายุ 8 ขวบ จอมพล ป. เสียชีวิตตอนที่ตนอายุ 15 ปี จึงไม่ค่อยรู้เรื่องมากนัก มารู้ทีหลังจากการที่นักวิชาการเขียนหนังสือเผยแพร่”

Advertisement

ประดาป พิบูลสงคราม ทายาทจอมพล ป. ประธานมูลนิธิจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนักการทูต เล่าถึงสายสัมพันธ์ทางสายเลือดกับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก่อนเอ่ยที่มาของเนื้อหาในหนังสือจากประสบการณ์ของ ‘กำนันโจ๊ด’

“ขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มนี้ทุกท่านที่ทำให้คนไทยมีหนังสือเล่มนี้ไว้อ่าน และต้องขอบคุณมติชนที่ทำให้เราได้มีวันนี้ หนังสือเล่มนี้ กำนันโจ๊ด เขียนมากว่า 30 ปีแล้ว เขียนทุกเดือน 22 บท ประมวลและเรียบเรียงใหม่โดย กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน เขียนคำนิยมโดย ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ และขอคำนำจาก ผศ.ดร.ณัฐพล ทำให้มันได้มาตรฐาน”

ทายาทจอมพล ป.กล่าว ก่อนเผยว่า ‘ดีใจ’ ที่ช่วง 3 วันอันตรายของจอมพล ป. นั้น คนไทยจะได้อ่าน เพราะตนก็ยังไม่รู้ มารู้ทีหลังตอนเจอกำนันโจ๊ด

“อ่านบทความตอนแรก แล้วมาเอ๊ะ ว่าวันที่ 16 กันยายน ทำไมมีคนคิดว่า จอมพล ป.ไปด้วยรถซีตรอง บางคนคิดว่าไปทันเดอร์เบิร์ด หรือวิหคเหินฟ้า เพิ่งเข้าใจว่าเป็นแผน ฟังจากญาติพี่น้อง ที่คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า จอมพล ป .ให้รถทันเดอร์เบิร์ด ออกมาก่อน แล้วตัวเองไปรถซีตรอง ขับไปที่บ้านชิดลมก่อน แล้วถึงขับไปที่ตราดเลย” ประดาปเล่า พร้อมฝากประเด็นที่ต้องสืบค้นกันต่อ

“อยากให้นักวิชาการช่วย คือ 1.ทำไมท่านถึงลี้ภัย บริบทตอนนั้นคือสงครามเย็น ท่านคิดสะระตะแล้ว ปี 2500 ท่านดูแล้ว คอมมิวนิสต์มาแรง พยายามหาทางที่เราจะไม่ต้องรบราฆ่าฟันกัน แต่ถ้าอเมริกันไม่เอาด้วยแล้ว พ่ายหมด ตอนหลังสิ่งที่จะสู้กับคอมมิวนิสต์ได้คือ ทหาร ช่วงแรกที่ท่านออกจากประเทศ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ได้กะจะฆ่าท่าน ดีไม่ดีคาดหวังว่าจะเอาท่านกลับมาด้วยซ้ำไป พ่อผมได้ถูกตั้งให้เป็นทหารเรือ ที่ฝรั่งเศส จอมพลสฤษดิ์ไปถามที่บ้านว่ามีเงินใช้ไหม รออยู่ 1 เดือน จอมพล ป.ไม่กลับ เพราะดีดลูกคิดแล้วคิดว่าสูตรนี้เท่านั้น ที่จะเอาสงครามเย็นอยู่ 16 ปีผ่านมามันก็จริง เป็นที่นักวิชาการต้องไปวิเคราะห์กันต่อ ที่ผมคิดว่าทำไมท่านถึงไม่สู้ เพราะรู้แล้วว่ามันจบ” ทายาทจอมพล ป. วิเคราะห์

‘ถ้าไม่หนี มีสิทธิตาย’ ก้าวสุดท้าย มันส์มาก

ด้าน ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ ป้ายยาว่า หนังสือเล่มนี้เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์โดยพูดถึงเหตุการณ์เพียง 3 วันคือ 16-18 กันยายน 2500

“เราต้องมาดูหลายอย่างที่มันดำ มันขาว หรือประวัติศาสตร์ที่มีเวอร์ชั่นเดียว มันใช้ไม่ได้แล้ว อย่างน้อยมันต้องมี 2 ด้านมันต้องมองด้านหน้า ด้านหลัง หรือ ควรมี 3 4 5 ด้านด้วยซ้ำไป” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ชี้

เมื่อถามว่า สิ่งที่จอมพล ป. สร้างไว้ให้สังคมไทย นอกจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีอะไรที่อยากตีความ หรือนำเสนอ

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่า สิ่งที่ประทับใจจากหนังสือเล่มนี้ และอยากฝากไว้ คือ การทำให้ได้ ‘คิดต่อ’

“มันมีอะไรนิดๆ หน่อยที่มาสะกิดเรา แล้วทำให้เราคิดอะไรได้อีกเยอะ ทำไมจอมพล ป. หนีไปเกาะกง ประเทศกัมพูชา เพราะกัมพูชากับไทย ในสมัย จอมพล ป. เป็นมิตรประเทศกัน …เอาเข้าจริงแล้ว ผมคิดว่าในแง่ของ จอมพล ป. ท่านอาจจะตระหนักดีกว่า ถ้าไม่หนี มีสิทธิตาย เชื่อว่าการเมืองไทยในระดับสูง โหด อำมหิต ไว้วางใจมากไป ก็มีคนเตือนเหมือนกัน หนังสือเล่มนี้ผมว่ามีเกร็ดอะไรเยอะแยะที่ผมชอบ

สรุปแล้ว เมื่อจอมพล ป. ไปถึงเกาะกง เจ้าหน้าที่ชายแดนก็ต้องจับตัวไว้ก่อน จะไปรู้เหรอว่าเป็นใคร ต้องรายงานไปกรุงพนมเปญ” นักประวัติศาสตร์อาวุโสกล่าว พร้อมเหยาะน้ำจิ้มด้วยว่า ตอนท้าย ‘มันส์มาก’

“ตอนท้ายมันส์มาก จอมพล ป. ให้เงินกำนันโจ๊ด 2,000 บาท ให้ไปซื้อของ ซื้อกับข้าว กำนันก็ไปซื้อ ปรากฏว่ามีเรือราชนาวีกัมพูชา มารับ จอมพล ป. ไปกรุงพนมเปญแล้ว ดังนั้น กำนันก็ไม่ได้เห็นหน้าจอมพล ป.อีกเลย มีเกร็ดประวัติศาสตร์ ที่เราอ่านฉบับราชการแล้วไม่เห็นอะไร เกร็ดเหล่านี้ทำให้ผมคิดและตั้งคำถามอะไรต่อ

….หนังสือเล่มนี้ ให้อะไรกับเราเยอะ ระบอบเก่ากับระบอบใหม่ ที่ว่าจะต้องรบกันไปอีกนาน ท่านพูดเมื่อ 2483

….มันมีอีกอันที่ผมอ่านแล้วประทับใจมาก คือประโยคที่ว่า สำหรับบ้านเมือง หมดหน้าที่ของเราแล้ว เรามีหน้าที่แต่สร้างประชาธิปไตยเป็นสำคัญ เวลานี้ก็เป็นหลักเป็นฐานแล้ว ใครจะมาเลิก ไม่ได้แล้ว หมดหน้าที่ของเราแล้ว ท่านพูดเมื่อ 2501 ช่วงนั้นจากญี่ปุ่น ท่านจะไปอเมริกา เพื่อไปบรรยาย มีการพูดว่า จะมีการเชิญ จอมพล ป. ไปเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ มหาวิทยาลัยที่แสนจะท็อป แต่ปรากฏว่ามีอาจารย์คนหนึ่งค้าน บานปลายไปเรื่อย เรื่องของ จอมพล ป. มีอะไรที่เราจะต้องเรียนรู้อีกเยอะ” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ทิ้งท้าย

(จากซ้าย) ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง, ประเสริฐ ศิริ หรือ ‘กำนันโจ๊ด’, ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประดาป พิบูลสงคราม และ ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ

นโปเลียน โบนาปาร์ต ไอดอล จอมพล ป. และหลาก ‘เรื่อง (ลึก) ที่คนไม่รู้’

ขณะที่ ผศ.ดร.ณัฐพล จับไมค์เล่าว่า วีรบุรุษคนหนึ่งที่ จอมพล ป. ชอบคือ นโปเลียนโบนาปาร์ต โดยสำหรับจอมพล ป.แล้วคิดว่าเขามีประสบการณ์คล้ายกับสิ่งที่นโปเลียนทำ คือเป็นนายทหารปืนใหญ่ มีส่วนร่วมในการปฏิวัติ ต่อต้านอำนาจเก่าอย่างรุนแรง สุดท้ายพ่ายแพ้ต้องหนีไปยังเกาะ นโปเลียนได้สร้างสิ่งสำคัญให้กับโลกไว้มากมาย ทั้งระบบกฎหมายและการปกครอง อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน เช่นเดียวกับวีรกรรม ของจอมพล ป.

“เรื่องของจอมพล ป. ในหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องราวที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้เกี่ยวกับ จอมพล ป.ในวาระสุดท้าย ซึ่งมีฮีโร่คือ นโปเลียนโบนาปาร์ต ที่ในห้วงสุดท้ายเขาถูกขับไปขังที่เกาะเซนต์ เฮเลน่า เหมือนตอนที่กำนันโจ๊ด พา จอมพล ป. ไปลี้ภัยไปกัมพูชา ซึ่งได้พักที่เกาะแห่งหนึ่ง แล้วบอกกับตำรวจอารักขา คุณชุมพล โลหะชาละ ว่า เหมือนเหตุการณ์ นโปเลียนปล่อยเกาะเลย”

ดังนั้น ถ้าเราอยากจะรู้เรื่องราวของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์โลกเมื่อเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ไทยแล้ว จอมพล ป. ถือได้ว่าเป็นนโปเลียนแห่งการปฏิวัติ 2475 เช่นเดียวกัน เพราะเรื่องราวคล้ายกัน นโปเลียนมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติ 1789 ของฝรั่งเศส เหมือนที่เขาปฏิวัติ 2475 และยังเป็นนายทหารใหญ่ ที่มีบทบาทปฏิวัติ และปราบกลุ่มอนุรักษนิยม ต่อมาก็พ่ายแพ้ในศึกกับมหาอำนาจยุโรป ถูกส่งไปยังเกาะเอลบา ระหว่างนั้นฝรั่งเศสก็มีการฟื้นฟูอำนาจระบอบเก่ากลับขึ้นมาใหม่ ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 นโปเลียนจึงแหกคุก สุดท้ายแพ้ศึก ส่งกลับไปขังที่เกาะเซนต์ เฮเลน่าอีกครั้ง

เหมือนจอมพล ป. หากเปรียบเทียบในเชิงประวัติ เป็นทหารปืนใหญ่เหมือนกัน มีบทบาทปราบกบฏบวรเดช และปราบกบฏหลายครั้งในช่วงคณะราษฎร และกลับมามีบทบาทอีกครั้งช่วงหลังสงคราม สู้กับอนุรักษนิยม กระทั่งปิดฉากลงวันที่ 16 กันยายน 2500 โดยการลี้ภัยไปยังเกาะกง และขึ้นฝั่งกัมพูชาดังนั้น สิ่งที่ จอมพล ป. เอื้อนเอ่ยกับคุณชุมพล โลหะชาละ คือเหมือนนโปเลียนที่ถูกปล่อยเกาะ

จอมพล ป. อยู่ในฐานะถูกท้าทายบทบาทอย่างมาก ทั้งทหารและกลุ่มอนุรักษนิยม เป็นผู้ที่มองไปข้างหน้า หรือสนใจมองกลับไปข้างหลัง เป็นผู้นำพาไทยให้รอดพ้นจากการสู้รบญี่ปุ่นในสงคราม หรือทำให้ไทยย่อยยับในสงคราม แม้แต่เป็นนักประชาธิปไตย หรือเผด็จการ ดังนั้น การประเมินบทบาทคุณค่าจอมพล ป. จึงมีสีสันอย่างมากในเชิงวิชาการ แต่ยังมีน้อยคนมากที่รู้ฉากสุดท้ายว่าหมดอำนาจอย่างไร ลี้ภัย และมีชีวิตหลังลี้ภัย ในกัมพูชา สหรัฐ และญี่ปุ่นอย่างไร” ผศ.ดร.ณัฐพลเล่ายาว

จากนั้น ลงลึกถึงดีเทล ว่าคืนวันที่ 16 กันยายน 2500 หลังจากเกิดความขัดแย้ง ระหว่างกลุ่มจอมพล ป. ที่จับมือกับกลุ่ม พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และกลุ่มปรีดี พนมยงค์ เมื่อทราบว่า จอมพล ป. ขัดแย้งกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล คือกลุ่มจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับกลุ่มอนุรักษนิยมเกิดความขัดแย้งกัน สุดท้าย จอมพลสฤษดิ์ ในฐานะ ผบ.ทบ.จึงทำรัฐประหารในคืนนั้น

“จอมพล ป. เมื่อทราบแล้ว ท่านก็ขับรถออกจากกรุงเทพฯ มุ่งไปทางสุขุมวิท ตอนแรกกะจะแวะหาลูกชาย ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ หรือ ผบ.เรือ กรมนาวิกโยธิน ที่ อ.สัตหีบ แต่เปลี่ยนใจ ขับรถไปกับคนสนิทอีก 3-4 คน วิ่งตรงไปลี้ภัย โดยขับรถข้ามคืน พร้อมดูดบุหรี่และฟังข่าวไปเรื่อยๆ ระหว่างนั้นทหารเรียกให้ไปรายงานตัว ท่านก็ยิ้มแล้วก็ขับรถต่อไป โดยสมาชิกบนรถไม่รู้ว่าจะไปถึงไหน

จนไปสว่างที่ จ.ตราด หาทางข้ามลี้ภัยไปกัมพูชา พยายามติดต่อเรือ เรือเล็กๆ ส่ายหน้าหมด เพราะเป็นช่วงมรสุม เดือนกันยายน ออกไปตายแน่นอน สุดท้ายได้เป็นเรือขนาดเล็ก แล่นไปต่อไม่ได้ จึงต้องมาหาเรือที่ใหญ่ขึ้น คือเรือประสิทธิ์มงคล แต่คุณพ่อของกำนันโจ๊ด ไม่ได้ไป มอบให้ลูกชาย เด็กอายุ 19 ทำภารกิจสำคัญ” ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว

นาทีหนีตาย ‘ลุงแปลก’ ของกำนันโจ๊ด พาขับเรือซิ่ง ระทึกจนต้อง ‘เป่าคาถา’

ว่าแล้วถึงคิว ‘กำนันโจ๊ด’ คนขับเรือให้จอมพล ป. ที่ทั้งเล่าฉากฮา ลุ้นระทึกอย่างกับนิยาย เผยวินาทีลี้ภัยซึ่งเรือเกือบล่ม

“วันที่ 16 กันยายน 2500 หลังได้ข่าวว่าจะมีการรัฐประหาร จอมพล ป. ขับรถออกจาก กทม. โดยมีการไล่คนลงจากรถไป 1 คน เหลือ 4 คน ระหว่างทางมีการขับไปเติมน้ำมัน กินเหล้า จนไปถึงตราด จากแหลมงอบ นั่งเรือมาแล้ว แต่เรือดันลำเล็ก ต้องไปหลบตามเกาะเพราะคลื่นลมแรง จนมาถึงเกาะไม้ซี้ใหญ่ ไปเจอเรือประสิทธิ์มงคล จึงเข้าเจรจาว่าขอเปลี่ยนเรือได้ไหมเพราะไปไม่ไหว เป็นเหมือนเรือประมงในปัจจุบัน พวงมาลัยอยู่ข้างบน ห้องเครื่องอยู่ข้างล่าง ต้องให้สัญญาณด้วยกระดิ่ง แต่เรือนี้ดันไม่มีกระดิ่ง จึงไปที่บ้าน และมองว่าคนที่น่าจะเหมาะสมที่สุดคือผม” กำนันโจ๊ดเล่า ผศ.อัครพงษ์แซวว่า เพราะขนของหนีภาษีเป็นประจำใช่หรือไม่ เจ้าตัวรับโดยไม่อิดออด ทำฮาครืนทั้งห้อง

“ขอให้นึกถึงเมื่อ 67 ปีที่แล้ว ตอนนั้นประเทศไทย คนที่ผมรู้จัก คนใหญ่คนโต มียศที่สุดที่รู้จักคือ ปลัดกิ่ง ผมเรียกจอมพล ป.ว่าลุง ไม่รู้ว่าเป็นใคร

ตอนนั้นอยากรู้ พ่อผมเป็นผู้ใหญ่บ้านปี 2500 แต่ก่อนเป็น ต.หาดเล็ก ก่อนยกระดับเป็นอำเภอ คลองใหญ่ จ.ตราด ผมก็ถามพ่อ สมัยก่อนเดินทางด้วยเรืออย่างเดียว ห่างกัมพูชาแค่ 450 เมตร เพราะพ่อเป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็สั่งผม วันนั้นมีคนมาเตรียมต้อนรับผู้หลักผู้ใหญ่ ต้องตัดผมไม่ให้ยาวถึงหู แต่งตัวเอาเสื้อใส่ในกางเกง ทำยังไงก็ได้ให้มีระเบียบ เวลาคุยกับผู้ใหญ่ ให้ก้มหัว ตอนนั้น เราก็คิดว่าพบผู้ใหญ่มันยากเหลือเกิน พ่อสั่งไว้ว่า เป็นเด็กถ้าเขาไม่เรียกอย่าเสนอหน้า แต่เราอยากจะรู้ ก็เข้าไป

“เป็นเด็กก็อยากจะรู้ว่าคนนั้นเป็นใคร ก็เลยวางแผน ไปตักน้ำบ้านกำนัน เขาเก็บน้ำฝนไว้ต้อนรับแขกคนสำคัญ ผมก็ใช้แผนนี้ แม่ไม่ได้สั่ง ผมเอาขันไปตักน้ำ” นายประเสริฐกล่าว และว่า หลังจากนั้น บิดาได้มอบหมายภารกิจให้เป็นผู้ขับเรือพา จอมพล ป. ลี้ภัย

กำนันโจ๊ดเล่าต่อไปว่า มารู้ทีหลังว่าลุงคนนั้นคือจอมพล ป.

“ผมเรียกลุงจนติดไปแล้ว ลุงแปลก ผมท่องมาว่า ต้องเรียกจอมพล พอเจอหน้าจริงๆ ลืม (หัวเราะ) ผมก็นวดให้ท่าน ตี 5 ลุกขึ้นมาแปรงฟันในเรือ ท่านมาเปลี่ยนรถระหว่างทาง เพราะในรถมีปืน 3 กระบอก อันที่หนักใส่ไว้ท้ายรถ และมีคุณชุมพล โลหะชาละ ที่มาออกข่าวว่าท่านจะยิงตัวตาย ไม่ใช่จมน้ำ แต่ผมมารู้ข่าวทีหลัง”

ตอนเดินทาง วิ่งจากหัวค่ำไปถึงตราดยันสว่าง และท่านเป็นคนขับเอง ไม่ให้ใครขับ ผมเลยเขียนไว้ในหนังสือ ว่าท่านมีการเปลี่ยนตำแหน่งข้างทางด้วย”

จากนั้น ยังกล่าวตอนหนึ่งถึงความยากลำบาก เมื่อจอมพล ป. ขับรถมาต่อเรือที่ จ.ตราด เพื่อไปยังเกาะกง ข้ามไปยังกัมพูชาว่า ต้องรอให้พายุสงบ จึงออกเรือได้ และต้องผลัดกันนั่ง หัวเรือ ท้ายเรือกันอยู่อย่างนี้ เพื่อให้เรือบาลานซ์

“ผมขับเรือขึ้นไปถึง 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ด้วยสมรรถภาพของเรือ เวลาจะติดไฟ ต้องใส่ก้อนแอลกอฮอล์ ให้ติดไฟ เปิดวาล์ว หมุน แล้วปิดวาล์ว อีก 10 นาทีพายุจะมาถึง ถ้าถึงหัวเรือเมื่อไหร่พายุฝนจะถึงทันที ต้องออกทันที และต้องถอนสมอ เวลาใช้สมอตอนคลื่นลมแรง ลำบากมาก จนคุณลุงแปลก (จอมพล ป.) บอกว่า ไม่ต้องหาประกาศนียบัตรที่ไหน เดี๋ยวมอบให้ เพราะเห็นว่าผมขับเรือเก่ง

ไปถึงเกาะยอ มีหินโสโครก ปลาตรงนั้นตายหมด ถ้าน้ำซัด เรือแตกกลางทะเลแน่ เรากลัวเพราะช่วยตัวเองไม่ได้ น้ำเล็ดลอดเขาเรือทีละนิด ห้องเครื่องเลยดับ ใจหายหมด ผมก็สั่งลงสมอ มันมีวิชา เงี่ยนสมอ ช่วยกันดึงให้สายสมอตึงขึ้นมา ต้องสู้พลาง ถอยพลาง

เครื่องดับไปเเล้วทำยังไงถึงติด ผมบอกท่านไป เดี๋ยวก็ติด แต่เราหมดแรงไปแล้ว ไม้ขีดหัวก็เปื่อยหมดแล้ว เหลือไฟแช็ก เอามาเป่าและเหน็บรักแร้เพื่อดูดความชื้น ทำทีเป็นเป่าคาถานิดหน่อยว่า เดี๋ยวติดไฟแน่ กว่าจะติดได้ก็เที่ยงคืนไปแล้ว

ที่ร้ายกว่านี้ คือวันที่ 16 กันยายน ที่พาเรืออกไป จินตนาการว่าเรือลำแค่นี้ ขับออก คือความเป็นความตาย ทุกคนหมดอาลัยตายอยาก แต่สุดท้ายก็กู้สถานการณ์ตรงนี้ได้ จุดที่สำคัญคือวินาทีถอนสมอ และตัวที่ทำให้เครื่องยนต์หมุน แต่เครื่องดันดับ ต้องทำให้ร้อนตลอดเวลา สุดท้ายใช้ไฟแช็กจุดให้ติดขึ้นมาได้” กำนันโจ๊ดเล่าเป็นฉาก ชี้ชวนให้ร่วมกันอ่านรัวๆ ผ่านตัวหนังสือในเล่ม

ก้าวสุดท้ายจากแผ่นดินไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ฝากไว้ที่หาดเล็ก ตราด ที่คอประวัติศาสตร์ไม่อาจพลาดได้

อธิษฐาน จันทร์กลม – ภูษิต ภูมีคำ

สั่งซื้อ หนังสือ ก้าวสุดท้ายจากแผ่นดินไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ฝากไว้ที่หาดเล็ก ตราด’ ได้ที่
www.matichonbook.com โทร 0-2589-0020 ต่อ 3350-3360 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image