‘ไม่อยากจบแค่บนหิ้ง’ องค์ความรู้ สิ่งประดิษฐ์ งานวิจัยพร้อมใช้ เที่ยว เล่น (เรียน)รู้ อนุรักษ์ ‘กรุงเทพฯ-กรุงธนฯ’

'เจริญดี' ABA Art toy ตุ๊กตาแหม่มเทินโคมไฟ แรงบันดาลใจจากของจริงซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์

‘งานวิจัยพื้นฐาน ส่วนใหญ่เอาไปเก็บไว้ในหิ้ง’ คำกล่าวเรียบๆ แต่ส่งอิมแพกต์แรงกล้า

‘ภายใน 1 ปี ต้องมีทั้งองค์ความรู้และสิ่งประดิษฐ์’

เป็นทั้งความคาดหวังของรัฐบาลและความกังวลของสายวิชาการ ขณะเดียวกันก็ชวนให้ตั้งคำถามถึงความรู้พื้นฐาน การค้นคว้าวิจัยในสถาบันการศึกษา ที่ผ่านมานำไปพลิกแพลงให้ใช้จริงได้กี่ชิ้น?

ในขณะที่ภาครัฐหันมาให้น้ำหนักกับคุณค่าของ ‘วัฒนธรรม’ ยกให้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นวาระที่ต้องดัน มีคณาจารย์กลุ่มหนึ่งซุ่มค้นคว้า ย่ำเท้าไปตามตรอก ออกมาเป็น ‘งานวิจัยพร้อมใช้’

Advertisement

เมื่อไม่นานมานี้ ภายในตึก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ย่านพระนคร ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ในฐานะหัวหน้าโครงการ ผู้ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) สภาวิจัยแห่งชาติ วช. พ.ศ.2563 นำทัพอาจารย์อีก 8 ชีวิต ล้อมวงนำเสนอผลลัพธ์ ผ่านเสวนา ‘การอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อการท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมในกรุงเทพฯ’

หลังเคี่ยวกรำงานวิจัยทั้ง 10 ร่วม 3 ปี กระทั่งชิ้นสุดท้ายคลอดออกมาสดๆ ร้อนๆ เตรียมโอเพนนิ่ง
สู่สายตาสาธารณะ 16 มีนาคมนี้

ซูมลึกถึงองค์ความรู้ อัพเดตฐานข้อมูลแน่นๆ พร้อมแนวทางอนุรักษ์ แถมยังปลุกปั้นนักวิจัยรุ่นใหม่ไปในตัว

Advertisement

โบสถ์ มัสยิด วัด วัง ศาลเจ้าและตึกแถว เล่าเรื่องราวที่มากกว่าแค่สิ่งก่อสร้าง แต่คือเมืองหลวง ที่เป็นทั้งศูนย์กลางทางศาสนาและการปกครอง ศูนย์กลางที่งานช่างเรืองรอง และมองเห็นพัฒนาการของพหุวัฒนธรรมได้แจ่มชัด

⦁มัคคุเทศก์ เชิญโหลด
เพิ่มแคปชั่น แทรกคติ ได้ไกด์บุ๊กชั้นดี

“ปกติงานวิจัยพื้นฐานประวัติศาสตร์ศิลป์ โชคดีหน่อยคือได้พิมพ์เผยแพร่ แต่เราไม่อยากจบแค่ในหิ้ง”

ศ.ดร.ศักดิ์ชัยเกริ่นที่มาของโครงการวิจัยย่อยที่ 10 ‘การอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อการท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมในกรุงเทพฯ’ ที่คิดต่อยอดให้เพิ่มมูลค่าและคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ

มองเห็น ‘วัด’ แวดล้อมไปด้วยความอาร์ต คนมาเที่ยวมากมายแต่ไม่รู้วิธีที่จะดึงจุดขาย จึงต้องทำอะไรสักอย่าง

“กรุงเทพฯ มีของดีเยอะมาก วัดวาอารามมีเป็นร้อย มีเส้นทางคลองบางกอกน้อย บางกอกใหญ่ เราก็ทำคู่มือ ภาพรวมเส้นทางว่าเชื่อมโยงกันอย่างไร” หัวหน้าโครงการเล่าความพยายามสร้างต้นแบบ

ลงไปเซอร์เวย์ถึง 3 ครั้ง จนได้ออกมาเป็น ‘คู่มือท่องเที่ยว’ ที่มัคคุเทศก์หยิบไปใช้ได้ทันที

“วัดหลวงใน กทม.มีเป็นร้อย ดึงมา 33 วัด ไม่ใช่แค่ประวัติความเป็นมา สร้างเมื่อไหร่ ใครเป็นเจ้าอาวาส แล้วจบ มันมีความสวยๆ งามๆ ที่อธิบายไม่ได้ จึงพยายามดึงการวิเคราะห์รูปแบบศิลปะ แทรกแนวคิดและคติการสร้าง เวลานำชมจะสนุกขึ้น

อย่าง นิทรรศการในวัดอรุณราชวราราม เนื่องจากคนไปเที่ยวเยอะมาก ทำยังไงให้คนไปดูแล้วเข้าใจได้ทั้งหมดใน 2-3 นาที

ผมเขียนคำบรรยายสั้นๆ ไปเพิ่มเรื่องศิลปะ แนวคิด คติการสร้าง เช่น วัดอรุณฯ เป็นมหาธาตุประจำเมือง เป็นศูนย์กลางจักรวาลอย่างไร อ่านบรรทัดเดียวรู้เรื่อง ทำไมต้องมียักษ์แบก ลิงแบก เทวดาแบก มีพระอินทร์อยู่ตรงนั้นแสดงว่าเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทำเป็นภาษาไทย-อังกฤษ-จีน มีวิดีโอด้วย มัคคุเทศก์สบายเลย” ศ.ดร.ศักดิ์ชัยเชื่ออย่างนั้น

ไม่หวงวิธี ยินดีหากวัดอื่นอยากลองบ้าง จะได้ช่วยชูมูลค่าให้มรดกทางวัฒนธรรม

ศึกษาเรียนรู้งานศิลป์ภายในวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตพนฯ

⦁ฝั่งธนบุรี ของดีเพียบ วัด วัง ต่อยอดแหล่งเที่ยวปังๆ

นอกจากนี้ ทีมงานนักวิจัยยังล้อมวงเปิด ‘องค์ความรู้ในงานศิลปกรรมกรุงเทพฯ และการนำไปต่อยอดเพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่า’ จับทั้ง 10 ชิ้น แยกตามธีมเป็น 3 กลุ่มใหญ่

ส่ง ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ เป็นตัวแทนหมู่บ้าน เล่าผลงานกลุ่ม 1 การวิจัยพื้นฐานของศิลปกรรมที่เป็นช่างหลวงและช่างไทยประเพณี ที่ครอบคลุมเรื่องวัดและวัง โดยจับเรื่องราวของกลุ่มช่างหลวงและช่างราษฎร มาอยู่ด้วยกัน แยกเป็น 4 โครงการย่อย

1.วัดหลวงในกรุงเทพฯ: มรดกศิลปกรรม แหล่งงานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน โดย ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์

สื่อถึงรูปแบบศิลปะของความเป็นวัดหลวงในแต่ละรัชกาล มีทั้งวัดไทยแบบประเพณีที่สืบเนื่องจากอยุธยา อย่างช่วงต้น ร.1 และปรับเปลี่ยนไปตามพระราชนิยม เช่น สมัย ร.3 ที่เริ่มมีความจีนเจ้ามาปะปน รวมถึงยุค ร.4-5 ที่ความตะวันตกเริ่มเข้ามา

2.พระบรมมหาราชวัง: ต้นแบบของงานช่างหลวงสมัยรัตนโกสินทร์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดย ผศ.ดร.พัสวีสิริ

พลิกคำอธิบายเหมือนที่ผ่านมา แต่พยายามสืบจากงานศิลปกรรมที่ปรากฏในราชสำนัก ว่าสะท้อนความเชื่ออย่างไร

ส่วนหนึ่งของเส้นทางท่องเที่ยว บนเว็บไซต์ ABA Bangkok

 

3.วัดแบบไทยประเพณีย่านฝั่งธนบุรี กับความสืบเนื่องของงานช่างจากสมัยอยุธยา โดย อาจารย์ ดร.กวิฎ ตั้งจรัสวงศ์

สำรวจวัดวาอารามในฝั่งธนฯ เจอรูปแบบงานศิลป์บางอย่างที่สืบเนื่องจากอยุธยาโดยเฉพาะตอนปลาย ทั้งการวางแผนผัง อาคารคู่ ประดับแอ่นท้องช้างอาคาร ฯลฯ คือกลุ่มวัดที่สะท้อนความมีอยู่ของผู้คนและชุมชนบางกอก น่าทึ่งที่หาดูไม่ได้ในวัดตามเกาะเมืองอยุธยา แต่ดันมาพบที่ฝั่งธนฯ เป็นคีย์เวิร์ดที่หยิบมาเล่าได้

4.สังคมและวัฒนธรรมย่านคลองบางหลวงผ่านพุทธศิลป์และการท่องเที่ยว โดย อาจารย์ ดร.ดวงกมล บุญแก้วสุข

ศึกษาวัดที่เป็นเส้นทางท่องเที่ยว แบ่งกว้างๆ ได้ 2 ช่วงคือ

1) ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ก่อน-ต้นรัตนโกสินทร์ ได้หลักฐานด้านแหล่งท่องเที่ยวแน่นๆ ทั้งตำนาน ประวัติพระพุทธรูปหรือวีรบุรุษสำคัญ ไม่ว่าจะพระเจ้าตากสินฯ, พระยาพิชัยดาบหัก ฯลฯ

2) ช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่เป็นวัดที่สร้างในสมัย ร.3 มีทั้งฝีมือช่างขุนน้ำขุนนาง และช่างราษฎร

ประเด็นที่ค้นจนเจอเพิ่ม คือในเส้นทางนี้ยังมีวัดที่สร้างขึ้นใหม่ตามกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาตั้งชุมชน มีอายุค่อนข้างใหม่ และมีการสร้างรูปเคารพ มีกิจกรรมดึงดูดให้คนมาเที่ยวกราบไหว้มากกว่าสมัยก่อน

นับเป็นความรู้ที่ล้วนเอามาต่อยอดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ และน่าไปตามรอยอย่างยิ่ง

⦁ร่องรอยตั้งรกราก กรุงเทพฯ ศูนย์กลางงานช่างศิลป์

หลังฟังเรื่องวัดและวังมาเต็มอิ่ม ซูมไปที่ดีเทล ศิลปกรรมและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผลงานกลุ่มที่ 2 ที่แบ่งเป็น 3 โครงการย่อย

อาจารย์ ดร.พิชิต อังคศุภรกุล ชวนมองกรุงเทพฯผ่านเลนส์ใหม่ ที่ไม่ใช่แค่พื้นที่ของชาวสยาม แต่ยังเปิดกว้างสำหรับบ้านใกล้เรือนเคียงที่เข้ามาตั้งรกรากหลังอยุธยาเสียกรุง โฟกัสไปที่งานช่างของต่างชาติที่เข้ามา

“ช่วงหลัง ร.4 ชาวตะวันตกเข้ามามากขึ้น จึงทิ้งร่องรอยงานช่างตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและยุคสมัยที่โมเดิร์นขึ้น สะท้อนผ่านศิลป์หลายแขนง จนอาจเปรียบได้ว่า กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางผสมผสานงานช่างชาวต่างชาติด้วยซ้ำไป” อาจารย์ ดร.พิชิตชี้

หนึ่งในหัวข้อน่าสนใจคือ งานศิลปกรรมในวัดพุทธศาสนานิกายมหายาน จีนนิกาย และอนัมนิกาย กรุงเทพมหานคร โดย ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในไทยมีชาวจีน ชาวญวณเยอะ ค่อนข้างชัดว่ากลุ่มคนเหล่านี้ตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนอย่างเหนียวแน่น และรักษาอัตลักษณ์ไว้ได้อย่างดีเยี่ยม และนับถือพุทธ แบบมหายานทั้งคู่

“ที่ผ่านมาการศึกษาเรื่องนิกาย ประกอบด้วย ‘จีนนิกาย’ หรือมหายานแบบจีน และ ‘อนัมนิกาย’ (แบบเวียดนาม) ซึ่งยังเป็นประเด็นเฉพาะ เช่นเกี่ยวกับเทพ จึงเน้นพูดถึงภาพรวม เพราะเมื่อผ่านกาลเวลา พลัดเจเนอเรชั่น งานศิลปกรรมก็อาจเปลี่ยนแปลงไปตามแนวคิดผ่านการสร้างและการซ่อม” คือภาพกว้างที่ ผศ.ดร.อชิรัชญ์ตั้งใจ

บรรยากาศการทดสอบเส้นทางท่องเที่ยวย่านสามแพร่ง

นอกจากนี้ยังมีหัวข้อ การพัฒนาย่านสามแพร่งเพื่อเป็นพื้นที่อนุรักษ์และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดย ดร.จุฑารัตน์ จิตโสภา

ด้วยความมีเสน่ห์ ต้องยอมรับว่าการเที่ยวย่านเมืองเก่ากำลังมา หลายจังหวัดเริ่มหันมาทำบ้าง ในขณะที่กรุงเทพฯเต็มไปด้วยตึกเก่าสวยๆ มากมาย จึงเลือกโฟกัส ‘สามแพร่ง’ ย่านที่คุ้นหูรู้จักกันดี ซึ่งแพร่งสรรพศาสตร์ แพร่งนรา และแพร่งภูธร ล้วนมีจุดร่วมคือเกิดขึ้นในสมัย ร.5 ที่รุ่งเรืองเรื่องการค้า

“3 ย่านนี้จึงสตรองมาก กลิ่นอายชัด ศึกษาเพื่อให้รู้ถึงรูปแบบ แรงบันดาลใจ และบริบททางสังคมที่สะท้อนผ่านตึกแถวเหล่านี้ คือการพัฒนาความเป็นเมืองและการค้าขายใน กทม. มีความเป็นตะวันตก ทั้งอิมพอร์ตงานช่าง เช่น จากสิงคโปร์ รวมถึงการใส่ลวดลายประดับ ใช้เครื่องไม้ที่เปลี่ยนไป ไม่เหมือนที่คุ้นตาในวัด” อาจารย์ ดร.พิชิตขยายความ

อีกหัวข้อคือ ‘อาคารแบบตะวันตกในกรุงเทพฯ: ตึกแถวและอาคารพาณิชย์ย่านคลองคูเมืองเดิม’ โดยอาจารย์ ดร.พิชิต

ด้วยความที่เกาะรัตนโกสินทร์ ไม่กว้างใหญ่นัก แต่เป็นเมืองหลวงที่ถูกพัฒนาทับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จากพื้นที่หลวง เปลี่ยนเป็นย่านเศรษฐกิจ จึงเลือกเอาส่วนที่ใกล้ชิดกับวังมากที่สุด มาพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่เดินได้ โดยใช้คลองเป็นตัวดำเนินเรื่อง หยิบพื้นที่บางส่วนมาขยายความ

“วิจัยนี้ทำให้ทราบว่า ถนนสายแรกๆ ที่ถูกพัฒนาตั้งแต่ ร.4 เมื่อ ร.5 ทำถนนบำรุงเมือง และเส้นอื่นๆ ต่อ กลายเป็นว่ามีการสร้างตึกแถว จ้างช่างต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ สมัย ร.6 พื้นที่เหล่านี้ยังพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยและค้าขายในเวลาเดียวกัน มันเกิดขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เรื่อยมาถึงช่วงปี 2500” อาจารย์ ดร.พิชิตอธิบาย

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมี ‘งานช่างกระจกเกรียบในศิลปกรรมไทย เทคนิควิธีการผลิตและการอนุรักษ์’ โดย รัชพล เต๋จ๊ะยา

ด้วยพื้นฐานนักเคมีของ อ.รัชพลจึงศึกษาลงลึกว่าจะทำอย่างไรให้กระจกเป็นสี เอาวิทยาศาสตร์มาสร้างเป็นศิลปะ ชูคุณสมบัติ ‘สะท้อนแสง’ ของกระจก เมื่อประดับลงไปจึงเกิดความแวววาว วิจิตรงดงาม มลังเมลือง เป็นศาสตร์ที่หาผู้สืบทอดได้ยากในปัจจุบัน

เข็มกลัดติดสูท จากงานช่างกระจกเกรียบ

รวมถึง ‘หอไตรในกรุงเทพมหานคร : แบบอย่างงานช่างไทยกับแนวทางอนุรักษ์’ โดย สมโชค สินนุกูล

‘หอไตร’ จำแนกได้ 2 กลุ่ม คืองานช่างเครื่องไม้และเครื่องก่อ อย่าง ‘หอไตรเครื่องก่อ’ นิยมแต่งซุ้มหน้าต่างด้วยงานปูนปั้น ประดับกระเบื้องในส่วนของหน้าบัน ส่วนของฐานหอไตรเครื่องไม้ จะเป็นงานแกะสลัก ประดับกระจกสี รวมถึง ‘ลงรักปิดทอง’ งานช่างของไทยมีความยูนีค และในปัจจุบันกำลังขาดแคลน ‘รัก’ ที่เหมือนกาวสำหรับติดกระจกให้หนึบแน่นเป็นร้อยปี

“การศึกษางานช่าง ทำให้เห็นคุณค่ามากกว่าแค่ความงาม เห็นเทคนิคที่มีความยากลำบากกว่าจะได้งานศิลปะชิ้นหนึ่งออกมา สิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญา การใช้วัสดุต่างๆ ถ้าไม่ศึกษาจะไม่รู้เลยว่าเขาทำกันอย่างไร” รศ.ดร.สมโชคเล็งเห็นความสำคัญของช่างที่กระจายไปตามสถาปัตกรรมต่างๆ

ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช เจ้าของผลงานหัวข้อ ‘งานศิลปกรรมในวัดพุทธศาสนานิกายมหายาน จีนนิกาย และอนัมนิกาย กรุงเทพมหานคร’

⦁3 เส้นทางเดินเที่ยว จากองค์ความรู้ สู่แผนที่มรดก

หลังลงลึก ก็ถึงเวลาต่อยอด โกย 3 องค์ความรู้ที่ได้แน่นๆ มาเกลี่ยจัดกรุ๊ปใหม่ตามธีม เพื่อสร้าง 3 เส้นทางท่องเที่ยว

ผศ.ดร.อชิรัชญ์ เผยว่า เส้นทางแรก ต้นแบบงานช่างหลวง พยายามทำให้ง่ายต่อการเดินเท้า จึงเลือก 2 โซนคือ 1.พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 2.วัดพระเชตุพนฯ ที่เต็มไปด้วยงานช่างหลวงและงานอนุรักษ์

“เราอาจรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้อะไรที่ซ่อมมาก็น่าเป็นของใหม่ทั้งหมด วัสดุห่างไกลจากดั้งเดิมแล้ว แต่ครูรัชพลก็ไปชี้ร่องรอยให้ดูว่าของเก่ายังมีวิธีซ่อมให้ใกล้เคียงกับของเดิมที่สุด”

เส้นที่ 2 งานศิลปกรรมย่านฝั่งธนบุรี

“ความจริงกรุงเทพฯก็มีงานศิลปกรรมแบบอยุธยา น่าชมเหมือนกัน และมีอัตลักษณ์ของเขาเอง ไม่ต้องไปถึงอยุธยา”

นอกจากมี วัดอินทารามวรวิหาร วัดราชคฤห์ ที่แทรกตำนานต่างๆ ทั้งพระเจ้าตากสินฯ, พระยาพิชัยดาบหัก ทำให้เห็นความเป็นชุมชนบางอย่าง วัดอาจเป็นตัวแทนงานศิลปกรรมที่ได้รับจากกระแสหลักในสมัยนั้น ขณะเดียวกันก็มีเทรนด์ของความเป็นย่านอยู่ด้วย” ผศ.ดร.อชิรัชญ์เหยาะน้ำจิ้ม

เส้นทางที่ 3 ศิลปกรรมกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่ป้ายยาว่า น่าเดินมาก อย่างวัดทิพยวารีวิหาร เป็นวัดญวณ ที่ต่อมาจีนนิกายเข้ามาใช้พื้นที่ เห็นพัฒนาการทั้งศิลปะจีนและตะวันตกได้ครบจบ

อ.รัชพล เต๋จ๊ะยา ชี้ร่องรอยการประดับกระจกเกรียบ เทคนิคงานช่างโบราณ

⦁มอง กทม. ผ่านเลนส์ศิลปะ อาร์ตทอยคู่ย่าน ‘สิ่งดีดี’ คู่บ้าน

ด้วยเล็งเห็นว่าของเล่นกำลังมา กะว่าจะทำกาชาปองกรุบกริบ เป็นกิมมิคเล็กๆ

แต่ออกแบบแล้วอลังการไปหน่อย จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ABA Art toy ไอคอนแทน 9 โครงการ ภายใต้ธีม ‘สิ่งดีดี’ โดยชูจุดเด่นดั้งเดิมของงานศิลป์ ใช้สีที่เห็นแล้วนึกถึงได้ น่าเก็บสะสมเป็นคอลเล็กชั่น อย่างยิ่ง อาทิ

‘มั่นคงดี’ ยักษ์แบก ประดับฐานปรางค์ประธานวัดอรุณฯ เพิ่มกิมมิคเป็นที่เสียบกระดาษ

‘แผ่นดินดี’ ครุฑยุดนาค ตราของแผ่นดิน ที่เป็นงานประดับสำคัญของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

‘ค้าขายดี’ ดึงตราแบบตะวันตก ที่อยู่บนหน้าจั่วโค้งที่ตึกย่านพระยาศรี ซึ่งมีงู 2 ตัวพันไม้คฑาอยู่ เป็นเทพที่เกี่ยวข้องกับการค้าขาย แต่ปัจจุบันแมวกวักเข้ามาเกี่ยวข้องกับการค้า จึงหยิบเอามาผสมกัน เป็นต้น

เพราะไม่อยากให้ความรู้เลือนหายไปจากหน้าฟีด จึงกลับมานั่งคิดต่อ สร้างเว็บไซต์ ABA Bangkok “บอกเล่าเรื่องราวกรุงเทพฯ ผ่านงานศิลปกรรม” https://www.ancientbangkok.com/ เพื่อรวบรวมคอนเทนต์ ย่อลงใน 1 หน้า A4 อ่านกันให้ฉ่ำๆ มีทั้ง 3 เส้นทางท่องเที่ยวให้ดาวน์โหลด รวมถึงอาร์ตทอย ที่เตรียมพร้อมให้จับจองและร่วมสนุก เพียงโพสต์ภาพเช็กอินบนเส้นทาง พร้อมติดแฮชแท็ก ลุ้นรับอาร์ตทอยเป็นของที่ระลึก 9 แบบ 18 รางวัล

ทั้งหมดทั้งมวลล้วนช่วยให้เราส่องกรุงเทพฯ ผ่านเลนส์ศิลปะได้ชัดขึ้น คือหลักฐานสะท้อนความรุ่งเรืองของบ้านเมืองในอดีต และกำลังชี้ทางสร้างมูลค่าจากงานช่าง อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญในอนาคต

‘มั่นคงดี’ แรงบันดาลใจจากยักษ์แบกวัดอรุณฯ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image