อาศรมมิวสิก : ‘ดาร์เรล แอง’และ‘โยฮันเนส คลุมพ์’ : วาทยกรสำหรับนักดนตรีหรือวาทยกรสำหรับผู้ชม

‘ดาร์เรล แอง’และ‘โยฮันเนส คลุมพ์’ : วาทยกรสำหรับนักดนตรีหรือวาทยกรสำหรับผู้ชม

บางทีก็อาจเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเกินไป หรืออาจเป็นเรื่องดาบสองคม ที่ผู้เขียนต้องการฟังเสียงความรู้สึกเบื้องหลังของบรรดานักดนตรีบางคนที่พอจะรู้จักกันในวงออร์เคสตรา เพื่อที่จะนำปฏิกิริยา-ความรู้สึกเหล่านั้นมาประกอบข้อวินิจฉัยในการเขียนวิพากษ์ถึงการแสดงดนตรีในแต่ละครั้ง ปรารถนาที่จะทราบความรู้สึกของนักดนตรีในวงว่าพวกเขามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อวาทยกรที่พวกเขาร่วมงานด้วย และ “บ่อยครั้ง” ที่ต้องพบกับความผิดหวังที่ว่า ความชอบของนักดนตรีในตัวผู้อำนวยเพลงนั้นกลับไม่ตรงกับความชอบส่วนตัวของผู้เขียนเอง หรือไม่ตรงกับผู้ชม, ผู้ฟังคนอื่นๆ (ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องธรรมดาๆ สำหรับความเห็นเกี่ยวกับงานดนตรีหรือศิลปะ) เรื่องจึงกลายเป็นว่าวาทยกรที่นักดนตรีโปรดปรานในการร่วมงาน กลับไม่สามารถสร้างดนตรีที่น่าพึงพอใจได้มากเท่ากับวาทยกรที่นักดนตรีไม่ชอบใจในการร่วมงานด้วย ประสบการณ์เช่นว่านี้ เกิดขึ้นอีกครั้งกับการแสดงคอนเสิร์ตของวง ที.พี.โอ. (Thailand Philharmonic Orchestra) สองครั้งในคอนเสิร์ตช่วงบ่ายสี่โมงเย็นในวันเสาร์ที่ 3 และเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ณ หอแสดงดนตรีมหิดลสิทธาคาร ภายใต้การอำนวยเพลงของวาทยกรมากความสามารถ อย่าง “โยฮันเนส คลุมพ์” (Johannes Klumpp) ชาวเยอรมัน และ “ดาร์เรล แอง” (Darrell Ang) ชาวสิงคโปร์

วาทยกรทั้งสองสร้างสรรค์เสียงดนตรีในคอนเสิร์ตของวง ที.พี.โอ.สองครั้งที่แตกต่างกัน ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า โดยส่วนตัวผู้เขียนเองแล้วต้องสารภาพว่า ชอบใจในเสียงดนตรีที่ “ดาร์เรล แอง” สร้างสรรค์มากกว่า เสียงดนตรีที่ “โยฮันเนส คลุมพ์” กำกับวง ในมุมมองของผู้เขียนเองนั้น ดาร์เรล แอง สร้างสรรค์เสียงดนตรีได้มีรสชาติมากกว่า มีสีสันทางดนตรีที่หลากหลายกว่า โยฮันเนส คลุมพ์ ชัดเจน แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจสำหรับการกำกับวงของโยฮันเนส คลุมพ์ ก็คือวิธีการกำกับวงที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าดนตรีมีความหลากหลายทางความคิดลื่นไหลไปอย่างเป็นธรรมชาติ จนในบางขณะก็ยากแก่การคาดเดา (แต่ความหลากหลาย, น่าประหลาดใจที่ว่านี้ก็มิได้มากมายโดดเด่นมากนัก) หลังคอนเสิร์ตผ่านไปทั้งสองครั้ง ผู้เขียนได้มีโอกาสสอบถามมุมมองของนักดนตรีในวง ที.พี.โอ. “บางคน” จนได้ทราบว่าเขามีความพึงพอใจ ในการบรรเลงดนตรีภายใต้การอำนวยเพลงของโยฮันเนส คลุมพ์ มากกว่า ข้อพึงสังวรในประเด็นนี้ก็คือ นี่ไม่ใช่ความเห็นของนักดนตรีในวง ที.พี.โอ.ทั้งวง หรือแม้แต่จะอ้างได้ว่าเป็นความเห็น “ส่วนใหญ่” เป็นเพียงการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเล็กๆ น้อยๆ กับนักดนตรีในวงบางคนเท่านั้น (นั่นแปลว่า “บางคน” ก็อาจรู้สึกพึงพอใจ ดาร์เรล แอง มากกว่าก็อาจเป็นได้เช่นเดียวกัน) บทความนี้จึงใคร่จะได้ กล่าวถึงและเปรียบเทียบการแสดงคอนเสิร์ตของวง ที.พี.โอ.สองครั้งที่ให้ประสบการณ์ และข้อคิดที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจ

โยฮันเนส คลุมพ์ กำกับวง ที.พี.โอ.ในบ่ายวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ด้วยรายการเพลงที่มีลีลา, แนวคิดแตกต่างไปจาก คอนเสิร์ตในรายการที่กำกับวงโดย ดาร์เรล แอง เป็นอย่างมาก โยฮันเนส คลุมพ์ เลือกเปิดรายการด้วยบทเพลงในลักษณะ “บัลเลต์” มันคือเพลงเต้นรำ “Dance of Seven Veils” ที่ตัดตอนออกมาจากอุปรากรเรื่อง “ซาโลเม” (Salome) ประพันธ์โดย “ริคาร์ด ชเตราส์” นักประพันธ์ดนตรีชาวเยอรมันในปลายศตวรรษที่ 19 นี่เป็นการเปิดรายการที่โยฮันเนส คลุมพ์ สร้างคำว่า “สีสันทางเสียง” (Tone Color) ได้ชัดเจนที่สุดในรายการครั้งนี้ (นั่นอาจเป็นเพราะ การเขียนสกอร์ดนตรีของ ริคาร์ด ชเตราส์ ที่เอื้ออำนวยโดยธรรมชาติอยู่แล้ว) โยฮันเนส คลุมพ์ สร้างสีสันทางเสียงที่ฟังดูลึกลับได้เป็นที่ประจักษ์ เขาทำให้วงดนตรีเนรมิตบรรยากาศอันลึกลับ แห่งการเริงระบำของสตรี 7 คน ที่มีผ้าคลุมปิดหน้าได้อย่างเย้ายวน น่าสยบหลงใหลในอำนาจของเสน่ห์แห่งสตรีเพศ เสียงดนตรีที่แทบจะทำให้เห็นภาพควันหรือไอแห่งเมฆหมอกและควันบางๆ อันน่าลึกลับ โยฮันเนส คลุมพ์ สร้าง “ความหมายที่สอง” ในเสียงดนตรีได้เป็นที่ประจักษ์ น่าเสียดายที่เขาไม่สามารถทำให้มิติแห่งความหลากหลายทางสีสันของเสียงดนตรีแบบเพลงแรกนี้ บังเกิดได้ชัดเจนในบทเพลงหลักอีกสองเพลงที่ตามมา

Advertisement

นับเป็นโชคดีของวงการดนตรีในบ้านเราที่ ในบางครั้งก็มีศิลปินดนตรีฝีมือยอดเยี่ยมระดับนานาชาติ มาพำนักอาศัยอยู่ในเมืองไทยแบบเงียบๆ โดยผู้คนในแวดวงดนตรีบ้านเราก็แทบจะมองข้ามคุณค่าในบุคลากร เช่นว่านี้ไปเลย “รอล์ฟ-ดีเทอร์ อาเรนส์” (Rolf-Dieter Arens) ศิลปินเดี่ยวเปียโนระดับปรมาจารย์ชาวเยอรมัน คือเพชรน้ำงามอีกเม็ดหนึ่งที่มาฝังตัวในเมืองไทยอย่างเงียบๆ เสมือนกับ ดร.เบนเน็ทท์ เลอร์เนอร์ (Dr.Bennett Lerner) ปรมาจารย์ทางเปียโนซึ่งมาพำนักอยู่ที่เชียงใหม่นานนับสิบปีจนพูดไทยได้คล่อง ในคอนเสิร์ตครั้งนี้ วง ที.พี.โอ.เชิญ รอล์ฟ-ดีเทอร์ อาเรนส์ มาร่วมบรรเลงเดี่ยวในบทเพลงเปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 2 ของเฟลิกซ์ เมนเดลส์โซห์น (Felix Mendelssohn) บทเพลงแนวโรแมนติกเปียโนคอนแชร์โต ที่อาจจะไม่ใช่แนวที่จะเรียกเสียงอุทาน “ว้าว” หรือ “โอ้โฮ” หรือเสียงตะโกนเป่าปากใดๆ นี่เป็นบทเพลงเปียโนคอนแชร์โตที่เข้าทางกับรอล์ฟ-ดีเทอร์ อาเรนส์ เป็นอย่างยิ่ง เขาเป็นศิลปินที่สูงด้วยวุฒิภาวะที่อยู่เหนือความต้องการเสียงกรี๊ดกร๊าดใดๆ จากผู้ชม การแสดงเดี่ยวของเขาคือการสาธิตของศิลปินชั้นครูให้เห็นถึงความสุขุมลุ่มลึก รสนิยมอันดีระเบียบและการควบคุมทางดนตรีให้เกิดความพอเหมาะพอดี และนี่คือบทเพลงที่ให้คุณค่า, กำไร และประสบการณ์ทางดนตรีที่น่าจดจำมากที่สุดในรายการแสดงครั้งนี้

อาจารย์อาเรนส์ สลายอัตตาตัวตนมุ่งรับใช้ศิลปะดนตรี ในท่อนแรกเขาเน้นความสำคัญของแนวทำนองที่สอง (2ndTheme) ในลักษณะครุ่นคิด, เพ่งพินิจทางความคิด นี่ทำให้ราวรู้สึกราวกับว่า แนวทำนองที่ 1 (1st Theme) นั้นแทบจะเป็นเพียงส่วนนำ (Introduction) เขาแสดงให้เห็นความสามารถในการควบคุมการแสดงออกถึงเฉดสีทางเสียงต่างๆ ในเครื่องดนตรีที่เรียกว่าเปียโน ตลอดไปจนถึงเฉดสีทางเสียงในดนตรีของเมนเดลส์โซห์น แม้วัยวุฒิของเขาจะล่วงเลยกลางคนมาแล้ว แต่ทว่าดนตรีเมนเดลส์โซห์นของเขายังหนุ่ม, ยังมีพลังอันแจ่มใส แต่ก็แฝงความทรงภูมิรู้แบบนักคิด การบรรเลงเดี่ยวของเขาคือการสวมร่างทรงทางความคิดด้านดนตรีของเมนเดลส์โซห์นทีเดียว บทเพลงแถม (Encore) สะท้อนถึงรสนิยมและภูมิปัญญาของศิลปินเดี่ยวอยู่แล้ว อาจารย์อาเรนส์ จึงเลือกเพลงแถมแห่งภูมิปัญญาด้วยบทเพลงของบาค (J.S.Bach) มันคือบาคบนเปียโนยุคใหม่ที่ นำบทเพลงคีย์บอร์ดของบาค มาขยายคุณค่าบนศักยภาพของเครื่องดนตรีในศตวรรษที่ 20 อธิบายว่า บาคไม่ใช่เป็นเพียงแค่ดนตรีเชิงคณิตศาสตร์ หากแต่เต็มไปด้วยสีสันและมิติ, ความใกล้ไกลทางเสียง อย่าว่าแต่คุณค่าประสบการณ์สำหรับนักเปียโนด้วยกันเลย แม้แต่ผู้ใฝ่หาประสบการณ์ทางดนตรีทั้งหลายก็คู่ควรอย่างยิ่งแก่การจดจำการแสดงของเขา

Advertisement

บทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 4 ของโยฮันเนส บรามส์ (Johannes Brahms) ซึ่งนำมาปิดท้ายรายการนี่เอง ที่อาจทำให้เห็นชัดว่า ความชื่นชอบหรือการประเมินการตีความของวาทยกร ของนักดนตรีในวง (บางคน) กับผู้เขียนนั้นแตกต่างกัน โยฮันเนส คลุมพ์ เป็นวาทยกรที่มีเสียงชื่นชมจากนักดนตรีภายในวงนับตั้งแต่เขามาร่วมงานครั้งแรกกับวง ที.พี.โอ.เมื่อ พ.ศ.2561 แต่ในครั้งนี้ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับมุมมองของเขาในดนตรีซิมโฟนีบทสุดท้ายของบรามส์ชิ้นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่อนแรก ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเสน่ห์อันสำคัญในบทเพลงท่อนแรกนี้ก็คือ ความละห้อย, ละเหี่ยใจ, ท้อใจ ราวกับคนสิ้นหวัง ซึ่งผู้ฟังสามารถเห็นประจักษ์ได้ นับแต่การเปิดการบรรเลงด้วยโน้ต “โมทิฟ” (motif) 2 พยางค์ ที่เปิดการบรรเลงขึ้นมาอย่างอ่อนแรง, ท้อแท้ นี่คือเสน่ห์อันสำคัญของบทเพลงนี้ (เสน่ห์ในดนตรีหรือศิลปะมิใช่พลัง หรือความสดชื่น, แจ่มใสเสมอไป) แต่ฟังดูว่าโยฮันเนส คลุมพ์ ไม่เชื่อในแนวทางความคิดนี้ เขาจึงเน้นการบรรเลงท่อนแรกด้วย “อักขระวิธี” ทุกสิ่ง, ทุกอย่างดูจะแสดงความกระจ่างใสสะอาดเป็นระเบียบ แสดงคุณลักษณะ “คลาสสิก” ของบรามส์ ที่ผู้เขียนรู้สึกว่าออกจะแห้งแล้งเกินไป

โยฮันเนส คลุมพ์ มิใช่ว่าจะเป็นวาทยกรที่ไร้ซึ่งเคล็ดลับไปเสียทีเดียว เพราะในดนตรีสามท่อนที่เหลือ เขาแสดงคุณลักษณะบางอย่างแห่ง “การด้นสด” (Improvisation) ได้แบบที่เราคาดเดาไม่ถูก ขอกล่าวโดยรวมๆ ในภาพสรุปที่ว่า เขาใช้วิธีการแบบ “Da Capo Aria” ของนักร้องในสมัยบาโรค (Baroque) นั่นคือการสร้างความแตกต่างน่าประหลาดใจแบบคาดไม่ถึง ในการย้อนกลับของแนวทำนองหลัก แนวทำนองใน “เที่ยวย้อนกลับ” ในการควบคุมวงของเขาฟังดูแตกต่างจากเที่ยวแรกเสมอ หรือการเร่ง, ผ่อนจังหวะจนแทบจะฟังดูไร้ระเบียบ แต่ก็ต้องยอมรับว่าน่าสนใจทีเดียว เพราะนั่นทำให้เราหวนนึกไปถึงวิธีการควบคุมวงแบบ “กึ่งด้นสด” ในแบบของตำนานอันยิ่งใหญ่อย่าง “วิลเฮล์ม เฟิร์ทเวงเลอร์” (Wilhelm Furtwangler) ในบางชั่วขณะ

คอนเสิร์ตในวันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 กำกับวงโดย “ดาร์เรล แอง” วาทยกรชาวสิงคโปร์ มีความแตกต่างไปเป็นอย่างมาก เพราะดูจะเป็นรายการเพลงที่เน้นถึงสีสัน, ความสดใส และความมีชีวิตชีวาทางดนตรี และดาร์เรล แอง ก็สามารถสร้างสรรค์พลังทางดนตรีที่ว่านี้ได้อย่างประจักษ์ชัด ตลอดรายการ นับแต่บทโหมโรง “Overture to Colas Breugnon” ผลงานของ “ดมิทริ คาบาเลฟสกี” (Dmitri Kabalevsky) นักประพันธ์ดนตรีชาวรัสเซียแห่งศตวรรษที่ 20 ดาร์เรล แอง สามารถทำให้เสียงวงดนตรีมีความแจ่มใส, เนียนเรียบแบบไร้ตะเข็บ องค์ประกอบทางดนตรีที่ชัดเจน สมกับเป็นบทเพลงเปิดรายการ และเขาแสดงรูปทรงทางดนตรีที่งดงามเด่นชัด สร้างความพึงพอใจและความคาดหวังได้เป็นอย่างมาก

เพชรน้ำเอกของรายการครั้งนี้อยู่ที่ศิลปินเดี่ยวฮอร์น (French Horn) ชาวโครเอเชีย วัย 62 นามว่า “ราโดวาน วลัตโควิค” (Radovan Vlatkovic) เขาคืออดีตนักเป่าฮอร์นมือหนึ่งแห่งวง “Berlin Radio Symphony Orchestra” ซึ่งลาออกมาดำเนินอาชีพเป็นศิลปินเดี่ยว (Soloist) เต็มตัวตั้งแต่เมื่อ 34 ปีที่แล้ว ไม่เกินเลยที่เราจะกล่าวว่า “เป็นบุญหู” ครั้งสำคัญในชีวิต ที่ได้มีโอกาสฟังเขาบรรเลงเดี่ยวบทเพลงฮอร์นคอนแชร์โต ของ “ไรน์โฮลด์ กลิเยร์” (Reinhold Gliere) นักประพันธ์ดนตรีชาวรัสเซียแห่งศตวรรษที่ 20 นี่จัดเป็นบทเพลงที่หาชม, หาฟังการแสดงสดๆ ได้ยากเต็มที มันไม่ใช่บทเพลงคอนแชร์โตแบบตลาดๆ มาตรฐานทั่วๆ ไป เรียกร้องเทคนิคและพลังลมปราณอันมหาศาล ไรน์โฮลด์ กลิเยร์ เขียนเพลงโดยแทบจะลืมไปว่านี่คือเครื่องดนตรีที่เกิดเสียงด้วยลมจากปอดมนุษย์ มิใช่ไวโอลินหรือคีย์บอร์ด

ใครที่เคยฟังบทเพลงนี้จากงานบันทึกเสียงชั้นดีทั้งหลาย พึงสำเหนียกว่า ชุดสุดยอดเครื่องเสียงใดๆ บนพื้นพิภพนี้ มิอาจถ่ายทอดความมหัศจรรย์แห่งสีสันและเฉดสีทางเสียงอันละเอียดอ่อนหลากหลาย แห่งศักยภาพของเครื่องดนตรีชนิดนี้ที่ ราโดวาน วลัตโควิค สำแดงไว้ในการแสดงสดได้เลย มันมิอาจทดแทนกันได้ยิ่งกว่าเสียงไวโอลินหรือเปียโนในการแสดงสดด้วยซ้ำไป เรามิอาจ “เก็บเสียง” อันมหัศจรรย์ของเขาใส่อุปกรณ์ใดๆ ไว้เพื่อนำมาสำแดงซ้ำได้อีก มันคือประสบการณ์แห่งปรัชญา-ความจริงทางเสียงที่ว่า เสียงนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับสิ้นไปในทันที ด้วยพื้นที่กระดาษอันจำกัดจึงขอสดุดีคุณูปการทางเสียงของเขาไว้แต่เพียงเท่านี้

บทเพลง “Symphonic Dances” ของ เซอร์เกย์ รัคมานินอฟ ที่ปิดท้ายรายการนั้น ดาร์เรล แอง ทำให้กลุ่มเครื่องสายของวง ที.พี.โอ.รำพัน “เสียงรัคมานินอฟ” (Rachmninov Sound) ได้อย่างก้องกังวาน, ฉ่ำหวาน น่าจดจำ เสียงกลุ่มเครื่องลมทองเหลืองที่ไม่สงวนท่าที, กลั้นอารมณ์จนเกินไป ทำให้เป็นดนตรีของรัคมานินอฟที่ประกาศก้องความเป็นโรแมนติกแบบชุ่มฉ่ำในจิตวิญญาณ การตีความดนตรีซิมโฟนีของรัคมานินอฟที่ผู้เขียนขอออกตัวชื่นชมแบบไม่ต้องสงวนท่าทีใดๆ

ใครจะว่าอย่างไรก็ตามที แต่ถ้าจะปรามาสว่า ดาร์เรล แอง เป็นเพียงอาตี๋ชาวสิงคโปร์ ก็ขอให้อย่าลืมว่านี่คือโลกดนตรียุคไหนแล้ว ลองไปค้นประวัติการอำนวยเพลงของเขาในยุโรป อีกทั้งผลงานบันทึกเสียงดนตรีอีกมากมายของหนุ่มสิงคโปร์ผู้นี้ดู อคติแห่งสุนทรียะทางดนตรีของท่านจะมลายหายไปโดยพลัน

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image