เปิดเบื้องลึก กระซิบเรื่องลับ จาก‘แมนสรวง’ สู่ ‘ชาย’(Shine) ‘ขอเล่าแบบที่เราเชื่อ’

บรรยากาศอบอุ่นประทับใจอย่างยิ่ง สำหรับ Man Suang Talk: เผยความลับ ณ สวรรค์จำลอง บอกเล่าเบื้องลึกเบื้องหลังของภาพยนตร์ดังอย่างแมนสรวง ภายในงาน ‘Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม ณ มิวเซียมสยามที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จัดโดย สำนักพิมพ์มติชน ผนึกเหล่าพันธมิตร 

กฤษดา วิทยาขจรเดช ผู้กำกับภาพยนตร์ และ นักรบ มูลมานัส creative art director และ assistant to executive producer ร่วมบอกเล่าความลับแบบกระซิบผ่านไมโครโฟนให้ประชาชนรับรู้ร่วมกัน โดยมี ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พิธีกรชื่อดังรับหน้าที่ดำเนินรายการ 

เอาวะ ทำก็ทำพุ่งตามสัญชาตญาณ 

เรื่องราวที่ไปไกลกว่ารัก

Advertisement

เปิดประเด็นที่จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ดังกล่าว ซึ่ง กฤษดา หรือปอนด์ ผู้กำกับ เปิดเผยว่า เกิดขึ้นหลังประสบความสำเร็จจากคินน์พอร์ช เดอะซีรีส์ ด้วยสถานการณ์หลายอย่าง เป็นช่วงที่ค้นหาตัวตนของตัวเอง และอยากพิสูจน์ว่า เราเป็นค่ายที่มีคุณภาพ นำเสนอผลงานไทยไปสู่สายระดับโลกได้ โดยตอนแรกแมนสรวงจะเป็นเรื่องราวความรัก แต่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่เล่ายังไม่พอ สุดท้ายมีเรื่องราวที่น่าสนใจกว่านั้น เรื่องรักมันเข้าใจง่าย แต่เสริมเรื่องราวการต่อสู้บีบคั้นเข้าไปด้วย

ตอนนั้นคิดว่า เอาวะ ทำก็ทำ คิดแค่นี้ เราต้องลองทำอะไรที่สัญชาตญาณเราเชื่อ แล้วพุ่งไป เลยไปหาคนเขียนบทที่เราไว้ใจที่สุด ก็เลยไปหา พี่หนิง (ผศ.ดร.พันพัสสา ธูปเทียน) กับ พี่บัว (ปริดา มโนมัยพิบูลย์) ซึ่งเป็นอาจารย์ ไปหาเขาแล้วเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ปอนด์ กฤษดาเล่า 

Advertisement

ความเป็นไทยแบบไม่แมสขอเป็นตัวเอง 

อย่าตัดสินความชอบของใคร

อีกประเด็นน่าสนใจคือความเป็นไทย ในนิยามผู้กำกับรุ่นใหม่ โดย ปอนด์เปิดใจว่า ชื่นชอบความความเป็นไทยอยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยเข้าใจไทยดั้งเดิมมากนัก พอเห็นวิดีโอโฆษณาการบินไทยที่นักรบทำก็ประทับใจมาก จนชวนมาร่วมงานด้วย จากตอนแรกที่ให้เขามาเป็นที่ปรึกษา แต่มันพอทำงานมันก็ไหลไปเรื่อย

ผมจะติดมาก เวลาที่มีคนมาบอกว่าไทยแท้ ยิ้มสยาม ไหว้เก่ง ผมกล้าบอกเลยว่าผมเป็นคนขี้เมาแต่สนุก บางครั้งจะบอกว่าคนไทยเรียบร้อย มันไม่ใช่ คนไทยสนุกสนาน เราขอเล่าแบบที่เราเชื่อได้ไหม ว่ามันไม่ได้เรียบร้อยขนาดนั้น มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานบันเทิง แต่จะไม่มีแนวตบตีแย่งผัวเมีย

สำหรับประเด็นแมสไม่แมสเจ้าตัวเผยว่า เคยโดนถล่มมาแล้ว 

วันนั้นเราโดนถล่มเยอะมาก หลายคนบอกว่ามันเล่าเรื่องไม่แมส สุดท้ายคนจะไม่มาดูหนังเรา ซึ่งเราเข้าใจเขาในมุมความหวังดี จากคนที่มีประสบการณ์ แต่ถึงปรับแล้ว มันอาจจะขายได้กว่านี้ สุดท้ายมันจะเหมือนไม่ใช่งานของเรา

คนดูจะมีกลุ่มของตัวเอง เขาเป็นคนที่เลือกเสพงานคุณภาพ ทั้งการแสดงและโปรดักชั่น ซึ่งมันก็เป็นการท้าทายเขาด้วย ตอนแรกที่คนดูถูกเรียกว่า สาววายสมองไหล แต่สิ่งที่แมนสรวงพิสูจน์ คือ อย่าไปตัดสินความชอบของใคร เราทำตามความเชื่อ ตามความชอบของเรา จนวันนี้มันจะได้ไปอยู่ในเน็ตฟลิกซ์ โกลบอลที่จะสะท้อนออกไปสู่สายตาชาวโลก แค่ตัวอย่างเรายังตื่นเต้นเลย มันเป็นไปตามที่เราเชื่อจริงๆ ถ้าเข้าไปดูข้างใน ความเท่าเทียมอยู่ มันเป็นสิ่งที่เราไม่ได้ขยี้เลย แมนสรวงไม่เคยสอนใคร แต่มันเป็นสิ่งที่เราเชื่อ แล้วจะเห็นได้เองจากในเรื่องกฤษดาย้ำ

ทุกคนมีความเป็นไพร่ในตัวเอง 

ย้อนเล่ายุคถูกเหยียบย่ำ กับเรื่องที่ไม่เคยเชย

นอกจากนี้ กฤษดายังย้อนเล่าถึงประสบการณ์ในวงการบันเทิงเมื่อครั้งหนึ่งเคยถูกเอาเปรียบจากผู้มีอำนาจ เทียบเคียงได้กับความเป็น ผู้ดีไพร่ ก็ไม่ปาน

ตัวเนื้อเรื่องแมนสรวง มีการนำเสนอเรื่องไพร่ เพราะรู้สึกว่า เราไม่ต้องเป็นผู้ดีขนาดนั้น แค่เป็นคนมีมารยาทก็พอ ตอนที่ผมเข้ามาอยู่ในวงการแรกๆ ถูกต่อว่า ว่าไม่มีมารยาท แต่ก็เราไม่เคยทำร้ายใคร

ผมถูกกดขี่ เหยียบย่ำมา ตอนนั้นเขามีคนที่มีอำนาจในวงการบันเทิง ใช้อำนาจในทางที่ผิดเยอะ โดยเฉพาะยุคนั้นไพร่ที่จะไต่ขึ้นมามันยากกว่านี้อีก มันถูกเอาเปรียบจากผู้มีอำนาจ เรื่องแบบนี้มันไม่เคยเชย

วันหนึ่งที่เราสบายขึ้น เราเจอผู้ดีที่วัดจากระดับการใช้ชีวิต แต่ทุกคนมีความเป็นไพร่ในตัว ความเป็นไพร่เป็นสิ่งที่คนโหยหา 

ตีความใหม่ให้อินเตอร์ ความยากระดับ A+++

ด้าน นักรบ creative art director เริ่มต้นตั้งแต่ชื่อภาพยนตร์แมนสรวง อันเป็นชื่อเมืองในวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอซึ่งวังหน้าในรัชกาลที่ 3 หยิบนิยายปรัมปราภาคเหนือมาแต่งเป็นบทละครโดยบทเปิดก็เขียนไว้ว่า พระลอสถิตอยู่ที่เมืองแมนสรวง

แมน ภาษาโบราณแปลว่า เทวดา พอได้ยินชื่อนี้ครั้งแรก ก็รู้สึกว่ามีความน่าสนใจ และมีความซับซ้อนในหลากหลายมิติ ผมชื่นชมทางทีมงานมาก เพราะปกติหนังจะมีไวยากรณ์ รูปแบบวิธีการเล่าของมัน แต่เราก็พยายามแสดงให้เห็นถึงวิชวลของเรา มันเลยออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ และคนจดจำได้ถึงทุกวันนี้

การทำงานมีหลายส่วนมาก แม้จะมีเรื่องของไพร่ ชนชั้นสูง แต่มันมีพื้นที่ตรงกลาง สำหรับไพร่ที่อยากไต่เต้า และชนชั้นสูงที่อยากมีพื้นที่แห่งนี้เพื่อแสดงตัวตน มีองค์ประกอบที่หลากหลาย เราเลยได้หยิบหลายอย่างมาผสมกัน มันเต็มไปด้วยความหลากหลายและพหุวัฒนธรรมนักรบระบุ

ส่วนความยากในเรื่องนี้ถ้าวัดระดับจะเป็นเกรด A+++ จากที่เราเคยทำภาพนิ่งแล้วเราต้องมาทำภาพเคลื่อนไหว แต่ถ้าย้อนกลับไปได้ ก็ยังจะเลือกทำอยู่ดี

ความยากมันเป็น 2 ระดับ 1.เราจะไปหาข้อมูลอย่างไรในสมัยรัชกาลที่ 3 รูปภาพหายาก หรือบ้านเรือน เราจะจินตนาการไม่ค่อยออกสักเท่าไหร่ เราต้องหาหลักฐาน ทั้งในและต่างประเทศ 2.เรื่องนี้มันมีสีสันและความสนุกสนานทุกมิติ มันจึงเป็นโจทย์หนึ่งที่เราต้องปรุง ตีความให้มันมีความกลมกล่อม และอินเตอร์ด้วย ผู้คนทั่วโลกดูแล้วต้องเข้าใจได้ด้วย มันจึงมีความหลากหลายมาก

การทำแมนสรวงมันเป็นแบบใหม่ที่เราเชื่อ มาจากรากฐานเดิม เราพยายามมองมันในมุมใหม่ ว่ามีอะไรที่จะหยิบเอาไปเล่น มองผ่านสายตาคนสมัยใหม่ว่าทำอย่างให้มันยังดูงาม

ในด้านการทำอาร์ตโปรดักชั่น มันประกอบไปด้วยหลายส่วนมาก แต่ผมดูภาพรวมทั้งหมด มันเกิดจากการคุยกัน เช่น ฉากโรงงิ้ว เราเทียบดูว่าถ้าเราดูโรงงิ้วในเมืองจีน ในเวอร์ชั่นปลายรัชกาลที่ 3 มันจะเป็นแบบไหน และถ้าเราไปดูมุมตะวันตก เขาพรรณนาภาพถึงจีนเป็นอย่างไร

มันจะมีกลิ่นอายความเป็นจีน แต่ไม่ได้เป็นสีสันที่ดูเป็นโรงเตี๊ยมจีน สีแดงเลยทีเดียว เราก็มีการหยิบจับชุดความเป็นไทย ทำให้มันออกมามีความหลากหลาย หรือดอกไม้ในแมนสรวง มีช่างดอกไม้มาจัดดอกไม้สด ตั้งแต่ตี 5 มีการคุยกันว่าแต่ละฉากจะมีดอกไม้เปลี่ยนแปลงอย่างไร ดอกไม้ชนิดนี้ ตอนนั้นเข้ามาในไทยหรือยัง เพื่อจะได้ไม่ผิดแผกไปนักรบอธิบาย

มาถึงตรงนี้ ปอนด์ กฤษดา ผู้กำกับ เสริมว่า เราต้องไม่ดูถูกคนดูแม้แต่นิดเดียว

ถ้าเสิร์ฟให้เขาเต็มที่ เขาจะรู้สึกภูมิใจไปกับเรา แม้มันจะแลกมาด้วยงบประมาณและความเหนื่อยที่เพิ่มขึ้น ฮอลลีวู้ดเขาก็คิดแบบเดียวกัน

แมนสรวงxกระทรวงพาณิชย์ ศิลปะการเมือง แยกกันไม่ออก

ครั้น ศิโรตม์ ผู้ดำเนินรายการชื่อดัง เอ่ยปากถามว่า ภาพยนตร์เป็นภาพสะท้อนการเมืองไทย?

ปอนด์ กฤษดา ผู้กำกับ ตอบว่า ทุกคนรู้อยู่แล้วการเมืองส่งผลต่อเราเสมอ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม

เราอยากให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไปสู่วงการอื่น วันที่เปิดตัวหนัง ผมเชิญตัวแทนทุกพรรคการเมือง เราไม่ได้ด่าใคร ไม่ว่าคุณเป็นใคร ช่วงนั้นเป็นช่วงฟอร์มรัฐบาล มีแค่คนเดียวที่ตอบรับมา คือ ทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

แมนสรวงกำลังจะเข้าเน็ตฟลิกซ์ 29 .. อยากฝากให้นักการเมืองได้ลองเปิดดู อยากจะสนับสนุนงาน อย่าไปสนับสนุนตอนสำเร็จแล้ว ให้ไปดูจุดตั้งต้นที่ตั้งใจ ถ้ามาตอนที่เขาสนับสนุนแล้วคนก็จะด่า แล้วมันจะเขินนิดหนึ่งกฤษดาเล่า ก่อนเผยว่า ตอนนี้แมนสรวงนำพาตนไปเจอกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งข้าราชการทุกคนมีความตั้งใจมาก 

เขาอยากให้เอาของชุมชนมาขาย อยากจะบอกว่าราชการกับนักการเมือง ไม่ได้คิดเหมือนกันเสมอไป บางทีนักการเมืองมาแล้วก็ไป แต่ตอนนี้ผมทำงานกับหน่วยงานราชการอยู่ ซึ่งเขามีความตั้งใจมาก

ด้าน นักรบ เสริมว่า แมนสรวงมีเรื่องของไพร่ในชุมชนเล็กๆ มีการเมืองหลายระดับมากๆ จึงมาคิดกันว่า เราจะเล่าเรื่องอย่างไร ทั้งหมดมันถูกเล่าด้วยศิลปะ มันสามารถมองมันจากเลนส์การเมืองโดยตรง หรือมองจากสิ่งที่มันเกิดขึ้นในทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ได้เป็นเรื่องระดับประเทศก็ได้

มันสามารถถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมืองโดยของมันเอง ศิลปะกับการเมือง เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก ซึ่งเราพยายามเชื่อมโยงให้เห็นผ่านงานศิลปะ นักรบอธิบาย

จากแมนสรวง สู่ชาย (Shine)’ มิติใหม่ที่โลกยังไม่เคยเห็น

ปิดท้ายที่การขยายความสำเร็จ จากแมนสรวง สู่ ชาย (Shine) กฤษดาแย้มว่าชายจะเป็นมิติใหม่ที่เชื่อว่าหลายคนไม่เคยเห็น ทั้งโลกยังไม่เคยเห็น ตนยังไม่เคยเห็นเลย ทุกวันนี้ไล่หาทีมงานซึ่งไม่ได้หาง่ายๆ

ผมต้องใช้เวลาพูดคุยกับเขา สิ่งที่เรากำลังพูดอยู่คือเรากำลังรวบรวมคนที่มีความเชื่อ ทั้งคนรุ่นใหม่และคนที่อยู่ในวงการมานานผสมกัน แต่มันจะเป็นอีกเวย์ ไม่ได้เหมือนแมนสรวงเลย เพียงแต่อาจจะมีรากเหง้าบางอย่างออกมาจากแมนสรวง โดยพยายามจะทำ 12 ตอนแม้ว่าจริงๆ ทุกคนอยากให้ทำ 8 ผมรู้สึกว่า อยากขอเล่ายาวอีกนิดหนึ่ง เพราะตัวละครมันเยอะ

ทุกคนจะต้องรอดูตอนออกเลย มันจะมีอะไรหลายอย่างให้คุณได้เห็น คือทีมงานแต่ละคนมาได้อย่างไร เรื่องราวเป็นอย่างไร มันจะมีการเล่าละเอียด เพราะผมภูมิใจมากที่ได้คุณ เจ มณฑล จิรา มาร่วมด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเบื้องหลัง เบื้องลึกแห่งแมนสรวง ที่ฝ่าคำปรามาส ไม่แมส ขายไม่ได้ สู่กระแสฮอตถล่มทลาย ซ้ำพุ่งไกลโกอินเตอร์

********************************************************************************************************

ปลุกกระแสทรงวาด ขอพูดแบบไม่เคลมเลยว่า เราคิดกันเอง

อีกหนึ่งช่วงน่าสนใจท้ายเวที คือ การถามตอบ ซึ่งมีบทสนทนาชวนฟัง ดังเช่นประเด็นการร่วมงานกับกระทรวงพาณิชย์

กฤษดาเปิดเผยว่า โปรเจ็กต์แมนสรวงทำให้เกิดปรากฏการณ์ปลุกกระแสย่านทรงวาด บูมขึ้นมา โดยขอพูดแบบไม่เคลมเลยว่า ไอเดียทั้งหมดเราเป็นคนคิดกันเอง ทีมเราคิดแล้วลงมือทำ จนมีคนต่างชาติหลายคน หรือบริษัทใหญ่ เขาทักมาถามว่าเราใช้ใครในการคิดอะไรพวกนี้ ซึ่งพวกเราทำกันเอง ซึ่งมันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นผลลัพธ์ จากความตั้งใจของเรา โดยเราใช้เม็ดเงินของพวกเราเอง

ผมจำได้ว่างบประมาณทั้งหมด เราลงทุนไปตรงนั้นประมาณ 6 แสนบาท เราเอาเงินตัวเองจ่าย แล้วลงไปช่วยทำหนักมาก แต่สุดท้ายเราเห็นเศรษฐกิจหย่อมนั้น มันปังขึ้นมา จนทุกวันนี้คนรู้จักทรงวาดมากขึ้น ผมเลยบอกว่าเราทำทรงวาดได้ เราก็สามารถขายสินค้าที่เป็นระดับโลกได้เช่นกัน

เราย้อนกลับมามองในฝั่งที่คิดว่าเล็กที่สุด คือ สินค้าไทยชุมชน ถ้าเราพาสิ่งนี้ไปไกลได้ ผมว่าอันนี้เท่กว่าเดิมอีก ก็เลยเข้าไปคุยกับกระทรวงพาณิชย์ เพราะว่าเรื่องวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเราเล่าผ่านภาพยนตร์อยู่แล้ว โดยเฉพาะเราพูดถึงเรื่องค้าขายในช่วงยุครัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการค้าขายกับต่างชาติรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ผมก็ใช้จังหวะนี้ในการลองทำไปด้วยกันเลยว่า เราจะทำได้ดีขนาดไหน แล้วเราก็จะใช้ความเชื่อของเราในการทำงาน นายกฤษดามุ่งมั่น

ตอนนี้ทำงานกับกระทรวงพาณิชย์ บรรยากาศการเข้าร่วมประชุมยิ่งกว่าประชุมสภาอีก ต้องกดปุ่มพูดเลย แต่ที่น่าภูมิใจคือ คือ เขาเข้าประชุมกันทุกกรม ซึ่งในกระทรวงพาณิชย์มีประมาณ 5,000 กว่าคน และมีกรมเยอะมาก เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยกัน 

เราตื่นเต้นกันมาก มันเป็นปรากฏการณ์ที่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน แล้วมีข้อมูลมากมายอยู่แล้วว่า เรามีสินค้าเยอะ แต่ขาดช่องทางการสื่อสารที่จะทำให้เราเป็นที่รู้จักแบบนี้ เพราะฉะนั้นเรารู้สึกว่า เราเองก็ถนัดทางนี้ ก็เลยมาจอยกันกับกระทรวงพาณิชย์กฤษดาชี้ช่อง ทั้งยังเปิดมุมมองว่าคนไทยเป็นคนประณีต ผลิตของได้ดีมีคุณภาพมาก แต่อาจจะขาดจังหวะและช่องทางที่ทำให้คนรู้จัก ฉะนั้นมันจึงไม่ใช่แค่การทำงานของผมคนเดียว มันคือการทำงานของทุกคนที่ต้องช่วยกัน สื่อมวลชน หรือแม้กระทั่งทุกคนตรงนี้ ต้องช่วยผลักดัน 

เราต้องหาของที่มันใช่ แล้วมันอยู่ในที่ที่เหมาะสม สุดท้ายแล้วเราคงจะไม่ทำอะไรซ้ำเดิม เพียงแต่ว่าเราจะสร้างอะไรใหม่ก็อยากให้รอชมโปรเจ็กต์ ชาย (Shine) ต่อไปด้วย 

เมื่อมีผู้ถามถึงความท้าทายในการทำงานกับภาครัฐ ต้องทลายกรอบจำกัดความสร้างสรรค์?

กฤษดากล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า โดยส่วนตัวเป็นคนที่พร้อมตีกับหน่วยราชการอยู่แล้ว 

เราสามารถพูดได้เลยว่า ต่อให้ไม่มีกระทรวงเราก็จะทำ จะให้มาบังคับว่างานอาร์ตเวิร์ก ควรใช้สีแบบนั้นแบบนี้ ไม่ได้ เพราะเรามีความเชื่อของเรา และเราถนัดงานอาร์ต กระทรวงเขาสนับสนุนการค้าขาย เพราะฉะนั้นอย่ามาบังคับเราในมุมการทำงานแบบนั้น

ผมก็จำได้ว่าวันนั้น ผมไปแสวงบุญอินเดียมา ซึ่งผมก็แจ้งทุกท่านตรงนั้นว่า ผมขอหายไปสักแป๊บนึงนะ พอผมจะขึ้นเครื่องกลับปุ๊บ ก็เห็นการเปลี่ยนสีอาร์ตเวิร์กงานของผม ผมก็พิมพ์ไปนิดเดียวเลยว่า ถ้าอยากจะออกนอกกรอบช่วยออกให้จริงด้วยนะครับ ผมอยากได้สีนี้และขอให้เปิดโหวต สุดท้ายทุกคนก็โหวตสีที่เป็นอันนั้นอันเดิม 

ไม่ใช่รู้สึกว่าตัวเองเก๋า แต่รู้สึกว่ามันมีการพูดคุยกันได้แล้วนะ รวมทั้งมีงานที่ท่านรัฐมนตรีมา ท่านปลัดกระทรวง ซึ่งเขาเป็นคนใหญ่คนโต คนจะรู้สึกเกรงใจมาก แต่ผมบอกว่า อย่ามากล่าวพิธีเปิด แล้วมีพิธีเยอะอะไรแบบนั้น ผมรู้สึกว่ามันไม่ไหว เอามานั่งคุยกันเป็นแบบ พูดคุยกันจริงจังว่า เราทำอะไรกันอยู่ให้บรรยากาศมันสบายๆ 

ถ้าจะสื่อสารเข้าถึงกลุ่มแฟนคลับ แล้วจะมาทำแบบเจ้ายศเจ้าอย่าง เหมือนตอนที่เราต้องง้อเวลาไปติดต่อราชการไม่ได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราค่อยๆ ปรับ แล้วกระทรวงทำให้เราจริงด้วย

ภาพที่เห็นวันนั้น เขาดูแลคนมางานอย่างเต็มที่ มันไม่ใช่เพราะว่าพวกผมอย่างเดียว แต่เขาให้ความร่วมมือมากจริงๆ ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ดี เพียงแต่ว่าจะต้องลุกขึ้นสู้ด้วยเหตุผลไม่ได้เป็นการโต้เถียงแบบใช้อารมณ์

ผมก็มองว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามในบ้านเมือง มันใช้เวลา แล้วก็ต้องพูดคุยกันเยอะหน่อย 

กฤษดากระทุ้งจนทะลุกรอบ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image