ภาพสยองบนขวดเหล้า ไอเดียโลกไม่ทำ! ตั้งวงถก (ค้าน) กฎหมาย ‘ฉลาก’ สุรา ‘อย่าให้เราต้องไปถึงจุดนั้น’

จำลองการติดฉลากคำเตือนขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อร่างประกาศฯมีผลบังคับใช้

ภาพสยองบนขวดเหล้า
ไอเดียโลกไม่ทำ!
ตั้งวงถก (ค้าน) กฎหมาย ‘ฉลาก’ สุรา
‘อย่าให้เราต้องไปถึงจุดนั้น’

“ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องพวกนี้ต้องปรับมายด์เซต ถ้าไม่ปรับก็อยู่เฉยๆ จะได้ไม่มีปัญหา”

ดุดัน ตรงไปตรงมา สไตล์ สง่า เรืองวัฒนกุล

นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร

Advertisement

เอื้อนเอ่ยคอมเมนต์ในประเด็นร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. … ซึ่งกรมควบคุมโรคได้เปิดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศฯดังกล่าวทางเว็บไซต์ https:/law.go.th/

ใจความสำคัญ คือมีการบังคับให้ต้องปิดรูปภาพและข้อความคำเตือน ที่มีลักษณะเป็นภาพถ่ายแสดงความรุนแรง ลงบนพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 หรือร้อยละ 50 ของพื้นผิวบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ ขวด และกระป๋อง เช่นเดียวกับกรณีบรรจุภัณฑ์ยาสูบ

ทำเอาเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตบเท้าเห็นพ้องว่า ‘ไม่สมเหตุสมผล’ ไม่สอดคล้อง หรือสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเร่งผลักดันการฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ

Advertisement

ไม่เพียงเท่านั้น ยังขัดกับยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ด้านท่องเที่ยวและด้านอาหาร อีกทั้ง จำกัดเสรีภาพของผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคจนเกินสมควร

วงเสวนาเพื่อแสดงเจตจำนงคัดค้านร่างประกาศดังกล่าว จึงเกิดขึ้น ณ ร้าน Hop & Hope Craft Beer อาคาร The Quarter ลาดพร้าว ซอย 4 เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการ โรงแรม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นำโดย สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟท์เบียร์ (สมาคมคราฟท์เบียร์) ร่วมเป็นเจ้าภาพตั้งวงชงเข้ม บรรยากาศดุเดือดดังเช่นประโยคแรกของข้อเขียนชิ้นนี้ที่จดบันทึกปากคำ ข้อมูล เหตุผล อารมณ์ ความรู้สึกของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในหลากหลายภาคส่วน

ฉลากกระทบภาพลักษณ์
ชี้ชัด ‘ไทยถอยหลังลงคลอง’

กลับมาที่คำกล่าวจากปาก สง่า นายกถนนข้าวสาร ที่ชี้ให้เห็นสถานการณ์ว่า ตนมองเห็น 1.กระทบภาพลักษณ์ 2.ไทยถอยหลังลงคลองอีกแล้ว

“ผมว่าพวกนี้ช่วยเราพรีเซ็นต์ ว่าไทยจะไปทางไหน ก้าวหน้า หรือถอยหลัง วันนี้ฉลากบอกว่า 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 18 ปีก็บรรลุนิติภาวะแล้ว ทำฉลากประจานว่า คนที่บรรลุนิติภาวะแล้วยังต้องเตือนอีกเหรอ ไม่อย่างนั้นคงต้องเอาสติ๊กเกอร์ไปติดข้างประตูรถเฟอร์รารี่ ว่าห้ามขับเกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง” สง่าเน้นย้ำแบบตะโกน

จากนั้นขยี้ต่อไม่รอใครเบรก โดยยกประเด็นที่ว่า ถนนข้าวสารเป็นภาพลักษณ์ เป็นหน้าต่างของไทย มีนักท่องเที่ยว 20,000-30,000 คนต่อวัน เอาไปพีอาร์ก็ยังได้ เชื่อแน่ว่าการแปะฉลากในแนวทาง (ร่าง) ประกาศที่ว่านี้ ย่อมมีผลกระทบต่อยอดขาย ทำให้ผู้บริโภคน้อยลง จาก 2 ก็อาจจะเหลือ 1 ขวด

“ฝรั่งดื่มจากขวด ไม่ได้รินใส่แก้ว ผมเชื่อว่าจะมีผลกระทบด้านรายได้ แต่โดยรวมกระทบทั้งหมด ในเรื่องความรู้สึกเป็นส่วนสำคัญ”

เมื่อถามว่า พอจะมีทางออกอื่นอีกหรือไม่?

สง่าแนะว่า มองว่าการศึกษาให้ความรู้เด็กเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าพื้นฐานดี ไม่ว่าเรื่องอะไรก็จะเข้าใจหมด เหมือนการดื่มกาแฟ ดื่มเยอะไปก็ไม่ดี ต้องกลับมามองที่พื้นฐานการให้ความรู้ สิ่งพวกนี้ไม่จำเป็น กฎหมายเมาแล้วจับก็มีอยู่แล้ว ถ้าเราเข้มงวดกับมัน ทุกอย่างจะซอฟต์ลงไปเอง

“สิงคโปร์ เมาแล้วขับได้เหรอ แต่ของไทยได้ กฎหมายเข้มงวดอยู่แล้ว แต่ผู้ปฏิบัติต้องส่งเสริมความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ หรือพวกเราเอง ตรงนั้นมีความสำคัญมากกว่า” สง่ากล่าว ก่อนย้ำอีกว่า วันนี้ภาครัฐต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการ ไม่ใช่กดหัว คุณต้องช่วยพัฒนา ไม่ใช่ปกครอง ต้องไปปรับมายด์เซตใหม่

(จากซ้าย) เขมิกา รัตนกุล, สุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี, ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ และ ทวีชัย ทองรอด

ไม่ศิวิไลซ์ เชื่อ ‘แบรนด์โลก’ ไม่อยากส่งมาขาย
จี้ประเมิน RIA ทำไมต้องใส่รูปสยอง?

อีกมุมมองน่าสนใจ ซ้ำขนข้อมูลแน่นปึ้ก! มาจากถ้อยแถลงของ เขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) ที่กล่าวถึงรายละเอียดของประกาศดังกล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยถูกเสนอมาแล้ว 2 ครั้งในปี ค.ศ.2009 และ 2014 และในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติก็บอกว่า กฎหมายนี้ร่างเหมือนเดิม แต่เดิมมีให้เลือกแค่ 6 แบบ แต่คราวนี้ที่แตกต่างคือแอดวานซ์ขึ้น มีให้เลือก 10 แบบ และมีข้อความให้เลือกอีก 9 แบบ

“แต่มันมีข้อกังวลจาก WHO ว่าคำเตือนที่มีภาพแบบนี้ ไม่เป็นสากล เพราะเขาใช้สัญลักษณ์กราฟิกเล็กๆ ดื่มไม่ขับ และท้องไม่ดื่ม ซึ่งทางผู้ประกอบการเราทำตามเพราะเราแอดวานซ์ ศิวิไลซ์ แต่เมื่อต้องติดฉลากเช่นนี้ มันมีความไม่เป็นสากล มันเกินไป

สุรา จัดว่าเป็นอาหารที่ต้องควบคุม ตาม พ.ร.บ.สุราฯ อาหาร และโคเด็กซ์ องค์กรจัดอันดับมาตรฐานอาหาร ฉะนั้นไม่เหมาะสมที่จะกำกับดูแลสิ่งที่เป็นอาหาร เหมือนบุหรี่ ไม่อย่างนั้นขนมก๊อบแก๊บก็ต้องทำด้วย” เขมิกาเปรียบเปรย

จากนั้นอธิบายต่อไปว่า ถ้าเป็นสุราขวดแก้วทรงเหลี่ยม 10,000 มล. ระบุว่าให้ติดขนาดภาพคำเตือน 50 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ที่ใหญ่สุด คือด้านหลังขวด แต่ถ้าเป็นขวดทรงกลม ให้ติด 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ใครตกเลขคำนวณไม่ได้ เป็นเรื่องเป็นราว โดนปรับตามข้อกฎหมาย

“อย่าลืมว่าในปัจจุบัน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสุรา ก็ห้ามจำหน่ายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และมีกราฟิกอยู่ 2 อัน เขานึกว่าเราเป็นอัลไซเมอร์ไหม ถึงต้องเตือน 3 รอบ” เขมิกากล่าว ก่อนตอบคำถามที่ว่า การติดภาพที่ซองบุหรี่ ทำให้คนสูบบุหรี่ลดลงหรือไม่? ได้คำตอบจากมุมมองส่วนตัวพร้อมคำแนะนำ ความว่า เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยน จาก 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะคนไม่กลัว จำเป็นต้องเปลี่ยนภาพให้น่ากลัวยิ่งขึ้นในประเด็นการจัดทำกฎหมายที่ดี ยังไม่ต้องมองลงไปถึงแง่ พ.ร.บ. จะต้องมีการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย ว่าสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้ผู้ประกอบการเกินจำเป็นหรือไม่ และจำกัดสิทธิผู้บริโภค ที่ไม่ได้มองสิ่งศิวิไลซ์ในอาหาร เขาจึงกลับไปทำ RIA (การวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายหรือกฎเกณฑ์) ถึง 2 รอบ เพราะสิ่งที่ประจักษ์คืออัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นตลอด

(จากซ้าย) ประภาวี เหมทัศน์, สง่า เรืองวัฒนกุล, ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัยและพงษ์พันธุ์ สืบแสงไทย

นอกจากนี้ กรณี ‘ไวน์นำเข้า’ ซึ่งจริงๆ แล้วภาครัฐก็ภาคภูมิใจในการขึ้นทะเบียนไวน์ กรานมองเต้ (GranMonte) จากเขาใหญ่ เป็นของชูหน้าชูตาประเทศไทย เสิร์ฟผู้นำในการประชุมเอเปค 2022 และเป็นความภูมิใจของกระทรวงพาณิชย์

แต่พอหันหลังขวดกลับมา เราจะขายขี้หน้าแค่ไหน?

“รัฐบาลต้องการผลักดัน ดึงนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง นี่อาจจะเป็นศิลปะแอ๊บสแตรกต์ นามธรรมที่เราเข้าไม่ถึง หลายๆ แบรนด์ที่สามารถนำเข้า บางแบรนด์พัฒนามาถึง 200 ปี บางขวดมีตั้งแต่หลักร้อย ถึงหลักหลายแสนบาท แต่เขาจะต้องแยกไลน์การผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าของเขาให้คลาสสิกด้วยตัวเอง

ไม่มีประเทศไหนทำ แต่ไทยจะเป็นประเทศแรกที่ทำ ลองคิดว่าถ้าเราเป็นเจ้าของแบรนด์ ขวดละแสน คงไม่อยากส่งมาไทย มันตัดสินใจได้ง่าย ว่าเมืองไทยไม่ใช่ที่ที่ควรขาย เพราะไม่ศิวิไลซ์ หรือเราต้องกินของหนีภาษีต่อไป” เขมิกาตั้งคำถาม ก่อนฝากไว้ให้คิดว่า ประกาศนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้เซ็น ในขณะที่รัฐบาลต้องการผลักดันการท่องเที่ยว ให้ไทยเป็น ‘ทัวร์โลก’ หรูหรา แต่เชื่อว่าน่าจะมาเห็นตรงกัน เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด สิ่งที่ควรจะเป็นคือการให้การศึกษาเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์

เราจะต้องไม่เป็นสังคมดัดจริต ไม่อย่างนั้นเราก็กินผิดอยู่อย่างนั้น เป็นทางออกที่ยั่งยืนที่สุด” เขมิกาทิ้งท้าย

สูญเสียกว่า ‘มูลค่า’
คือ ‘สิทธิ-เสรีภาพ’ ผู้บริโภค

จากนั้น ถึงคิว สุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไร่องุ่นและผลิตไวน์องุ่น ตัวแทนจากแบรนด์ไวน์ไทยและร้านอาหาร (GRANMONTE) ที่ออกมาเผยว่า

เรื่องการออกแบบให้มีความสร้างสรรค์ จริงๆ แล้วกลุ่มลูกค้าของเครื่องดื่มแต่ละประเภท ก็มีความชัดเจน การออกแบบเองก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่ถ้าต้องประกาศแบบนี้ พื้นที่ในการสร้างเอกลักษณ์ของสินค้าก็จะหายไป

“มีแต่อันน่าเกลียด ดูซองบุหรี่เป็นตัวอย่าง ที่ในชีวิตจริงที่ทุกคนได้เห็นแล้ว เราเดินไปร้านที่ไหน ไปดื่มเบียร์ ดื่มไวน์ เจออันนี้ยาวเป็นตับ ไม่เห็นเอกลักษณ์ ไม่เห็นแบรนดิ้งทั้งสิ้น” สุวิสุทธิ์ชี้

เมื่อถามถึงมูลค่าของฉลาก ในแง่การเพิ่มมูลค่าให้โปรดักต์?

สุวิสุทธิ์เล่าว่า ตัวอย่างของ GRANMONTE ปัญหาคือเรามีหลายเบลนด์ หลายระดับราคามาก ดังนั้น การออกแบบฉลากเป็นการสร้างความแตกต่าง ให้มองแวบเดียวแล้วเข้าใจว่าฉันชอบแนวนี้ แนวนั้น แม้กระทั่งหน่วยงานรัฐก็ใช้เรื่องหน้าตาของขวดไวน์ ที่บ่งบอกระดับราคา หรือสไตล์ของเครื่องดื่มนั้นๆ

“นี่คือตัวอย่างไวน์ที่นำไปเสิร์ฟที่โต๊ะผู้นำโลก ในการประชุมเอเปค 2022 การออกแบบจึงต้อง สุขุม สง่างาม แต่ถ้าเราติดประกาศแบบร่างนี้ ลองคิดดูว่า นี่คือไวน์ที่จะไปเสิร์ฟผู้นำโลก มูลค่าที่ภาครัฐต้องการก็จะหายไป

แล้วถ้าเรามองรัฐบาล ณ ตอนนี้ เข้าใจว่าต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว ซึ่งมีเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฝังอยู่ด้วย โดยเฉพาะที่ผลิตในประเทศ แต่การออกกฎนี้มาจงใจทำให้สินค้าหน้าตาน่าเกลียด ไม่มีจุดดึงดูดใดทั้งสิ้น และทำให้มูลค่าเสียไป ในส่วนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่รัฐต้องการ ก็จะหายไป

ไม่ว่าเครื่องดื่มถูกหรือแพง ก็ไม่ควรทำให้เขาเสียมูลค่าแบบนี้

สิ่งที่เสียมากกว่ามูลค่า คือสิทธิเสรีภาพในการออกแบบ และผู้บริโภคควรได้มองสิ่งที่ตัวเองอยากมอง ไม่ใช่นั่งมองภาพตับ ไต”
เมื่อถามถึง แนวทางการขับเคลื่อนต่อไปของทางสมาคม เพื่อให้คนภายนอกเข้าใจในเรื่องนี้ได้มากขึ้น?

สุวิสุทธิ์มองว่า จริงๆ แล้วประกาศที่ออกมา ไม่ได้ซับซ้อนมาก ที่มีการเพิ่มคำเตือน รูปภาพ แต่เส้นทางการแสดงความเห็น คำถามเยอะ รู้สึกมีความซับซ้อน

“มันเยอะด้วยขั้นตอน ที่ออกแบบมาให้เราท้อแท้ ไม่อยากให้ใครท้อแท้กับการไปออกความคิดเห็น เราถึงพยายามย่อยให้ง่ายที่สุดแล้ว จะได้เข้าไปช่วยกันตอบ อยากย้ำอีกทีว่า ภาครัฐอยากออกร่างประกาศอะไรออกมา มันทำง่ายสำหรับเขา แต่ในฐานะคนที่ต้องทำงานเรื่องนี้ ประกาศหรือกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม มันเป็นเรื่องหนักสำหรับเรา

ทั้งต้องประกอบธุรกิจของเรา ยังต้องทำเรื่องนี้ด้วย ดึงเราออกจากสิ่งสำคัญ คือการเติบโตพุ่งไปสู่อนาคต หรืออย่างเช่นการแก้ปัญหาสำคัญ พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่กำลังเข้าสภาในขณะนี้ ขอให้ทุกคนร่วมจับตาด้วย” สุวิสุทธิ์แจ้งเตือน

กฎหมายเยอะแล้ว แนะรัฐถี่ถ้วน
อย่าสร้าง ‘ภาระ’ ผู้ประกอบการ

ขณะที่ ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ กรรมการผู้ประกอบการธุรกิจคราฟต์เบียร์ ลงดีเทลประเด็นฉลากกับคราฟต์เบียร์ ว่าเน้นความสร้างสรรค์อยู่แล้ว ซึ่งตัวเครื่องดื่มเองก็มีความหลากหลายในตัวของมันเอง และฉลากเป็นตัวบ่งบอกวัตถุดิบ

“ถ้ามันมีรูปมาติดฉลากคงไม่เหลืออะไรแล้ว ผู้บริโภคคงไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์นั้น เขาจะไม่ทราบถึงวัตถุดิบที่แตกต่างได้

การจ้างดีไซเนอร์ต่อครั้งค่อนข้างสูง ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์พอสมควร เช่น มีมอลต์ ฮอปส์ เราต้องสื่อสารให้คนเขาเข้าใจ แต่ละร้านมีเกือบ 100 ตัว เราต้องดีไซน์ให้โดดเด่น และทำให้ลูกค้าแยกได้

จากนั้นยังเผยว่า ขณะนี้ได้ประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกในกลุ่มคราฟต์เบียร์ แสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายว่าไม่เห็นด้วย เพราะตนคิดว่าตัวกฎหมายควบคุมเราค่อนข้างมีเยอะมากอยู่แล้ว ซึ่งมองว่าเป็นภาระของผู้ประกอบการ

ตอนนี้ผู้ประกอบการก็ไม่ได้เติบโต ลำบากกันมากอยู่แล้ว อยากให้รัฐพิจารณาให้ถี่ถ้วนกว่านี้ ทุกวันนี้ผู้ผลิตก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยอยู่แล้ว เราอยากเข้าไปพูดคุยเสนอวิธีที่ดีกว่านี้ไหม มองเปรียบเทียบกับต่างประเทศด้วย” ณัฐชัยกล่าว

บาร์เทนเดอร์ขอพูด! สู้ยิบตามา 10 ปี
เซ็ง เจอแก้แต่ปลายเหตุ

ด้าน ทวีชัย ทองรอด ผู้ผลิตสุรากลั่นชุมชน (สังเวียน) ขอมองบวกว่า คิดในแง่ดีที่สุดคือเขาห่วงสุขภาพประชาชน แต่ถ้ามีหลักฐานอะไรมายืนยันว่าเป็นผล จะดีมาก ไม่ใช่ทำให้รู้สึกว่า อยากตั้งกฎอะไรก็ตั้ง เหมือนการแสดงพลังบังคับ

“มาคุยกันก่อนถ้าอยากได้ฉลากติด แต่มันมีฉลากที่ศิวิไลซ์กว่านี้ไหม เหมือนไฟจราจรที่เตือนห้ามเราเมาแล้วขับรถ ทำให้คนเข้าใจ ไม่ต้องมาดราม่าชีวิต ไม่ต้องมาตีความรูป 1 ภาพ 1,000 ความหมาย” เจ้าของ ‘สังเวียน’ กล่าว

ตัดภาพมาที่ พงษ์พันธุ์ สืบแสงไทย นายกสมาคมบาร์เทนเดอร์ประเทศไทย ที่ย้อนเล่าว่า ต่อสู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2014 ปัญหาฉลากมันเกิดขึ้นหลายปีแล้ว

“เวลาเราทำงานเราจะพรีเซ็นต์ไวน์ 1 ขวด แล้วภาพที่มันออกมา กับสเต๊กที่กำลังจะแล่มันไม่สมเหตุสมผลระหว่างกัน มันเป็นเรื่องของอาหารและเครื่องดื่ม มันไม่เหมือนบุหรี่ที่คุณซื้อแล้วยัดใส่กระเป๋า ถ้าประกาศออกมาจริง เราก็คงต้องปรับตัวแล้ว ใส่ปลอกหุ้มขวด ติดโลโก้ไว้ข้างหน้า มันต้องไปถึงจุดนั้นเลยหรือ มันเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ

ฉลากเหล้ามันไม่ใช่แค่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มันสร้างอาชีพ และของสะสม คุณค่าของสินค้ามันมีมูลค่าหมด ฉลากที่ติดขึ้นอยู่ข้างขวดไวน์ มันบอกปีผลิต หรือเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ จะมาบีบให้เล็กลงเพื่ออะไร มันทำให้ผู้บริโภคไม่เห็นข้อมูล

หน้าที่ของบาร์เทนเดอร์ คือ คนที่พูดถึงเหล้าและควบคุมการดื่มของลูกค้า ไม่ใช่แค่กรอกให้เมาแล้วเอาเงิน ต่างประเทศถ้าเขาจับคนเมาแล้วบอกว่า เมาเพราะบาร์เทนเดอร์คนไหน ถูกจับนะ” พงษ์พันธุ์เล่าอย่างเห็นภาพ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเผยว่า เสียเวลากับเรื่องนี้ 10 ปีผ่านไปยังวนอยู่เหมือนเดิม ตนก็ไปให้ความรู้กับน้องๆ และพยายามแก้ตำราเรียนของเขา กระทรวงก็ไม่รับ ตอนนี้มันกลายเป็นแก้ปลายเหตุ

“จังหวะนี้สุราชุมชนของเราดีหลายแบรนด์ มันน่าเสียดายมาก ถ้าของดีของเรามาติดทับโลโก้ ตอนส่งออกไปต่างประเทศ อยากบอกว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องการผลิต แต่มันเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ของเขา อยู่ในแสตมป์ อยู่ในโลโก้เขาด้วย

ถ้ากฎหมายออกมาจริง ลูกค้าไทยอาจจะเข้าใจ แต่นักท่องเที่ยวไม่เข้าใจ ผมถามคำหนึ่งว่าถ้าจังหวะที่บาร์เทนเดอร์กำลังเสิร์ฟ ภาพของเขาต้องมาเจออะไรแบบนี้ ผมต้องทำอย่างไร ต้องเอากระดาษมาปิดหรือ?” นายกบาร์เทนเดอร์ถามทิ้งท้าย

นับเป็นเวทีระบายใจ คายข้อมูล สะท้อนมุมมอง อีกทั้งข้อเสนอแนะที่รัฐบาลต้องร่วมชนแก้วละเลียดรับฟังอย่างถี่ถ้วน

อธิษฐาน จันทร์กลม
ภูษิต ภูมีคำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image