‘กว่างโจว-ซัวเถา’ สัมผัสถิ่น ‘แต้จิ๋ว’ บ้านเก่าไทยเชื้อสายจีน

คณะอาศรมสยาม-จีนวิทยา ที่เดินทางไปเยือนเมืองซัวเถา

‘กว่างโจว-ซัวเถา’
สัมผัสถิ่น ‘แต้จิ๋ว’
บ้านเก่าไทยเชื้อสายจีน

เทศกาลวันหยุดตรุษจีน ช่วงปลายๆ เฉียดฉิวกับวันเริ่มทำงานของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ คณะ CPALL โดยอาศรมสยาม-จีนวิทยา นำสื่อมวลชนบินลัดฟ้าจากไทยไปเยือนจีน

บัญญัติ คำนูณวัฒน์ ที่ปรึกษาคณะเจ้าหน้าที่บริหาร CPALL ประสิทธิ์ ฉกาจธรรม รองกรรมการผู้จัดการ ธานี ลิมปนารมณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ชักชวนให้ไปดูถิ่นกำเนิดชาวแต้จิ๋วที่เมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ได้ยินมานานแล้วว่า ณ เมืองซัวเถามีความผูกพันกับชาวไทยเชื้อสายจีนในไทยมาก เพราะได้อพยพมาจากที่นั่นมาอยู่ในไทยจำนวนมาก

Advertisement

แต่ก็รู้แค่นั้น ไม่ได้รู้อะไรมากมาย

กระทั่งเดินทางร่วมทริปไปกับ “อาศรมสยาม-จีนวิทยา” มีเหล่าซือ-ประสิทธิ์ ฉกาจธรรม เป็นผู้อำนวยการ จึงได้รับความรู้เพิ่มเติมมากขึ้น

ได้เรียนรู้การแบ่งระดับการปกครองประเทศจีน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 มหานคร 23 มณฑล 5 เขตปกครองตนเอง และ 2 เขตบริหารพิเศษ

Advertisement

มหานครเป็นเมืองที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง มี 4 มหานคร ได้แก่ ปักกิ่ง เทียนสิน เซี่ยงไฮ้ และฉงชิ่ง มีผู้ว่าราชการเป็นผู้บริหารสูงสุดในกิจการส่วนท้องถิ่น

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในพื้นที่สุสานพระเจ้าตากสิน ณ เมืองซัวเถา

เขตปกครองตนเอง มี ก่วงซี มองโกลเลียใน หนิงซย่า ซินเจียง และทิเบต เขตบริหารพิเศษ คือ ฮ่องกง กับ มาเก๊า

สำหรับนครกว่างโจว เป็นเมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางตุ้งอยู่ใน 23 มณฑลที่มีผู้ว่าการมณฑล ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลกลางเป็นผู้บริหารสูงสุด

กว่างโจวเป็นนครที่มีความพิเศษ เนื่องจากเป็นเมืองท่าของจีนมาตั้งแต่อดีต ถือเป็นเมืองใหญ่ที่มีความโดดเด่นด้านการค้า

นครใหญ่ที่มีบุคลิกพิเศษในเมืองจีนมีอีก 3 นคร ได้แก่ ปักกิ่ง เป็นเมืองราชการ เซี่ยงไฮ้ เป็นเมืองการเงิน และเซินเจิ้น เป็นเมืองเทคโนโลยี

ประสิทธิ์ ฉกาจธรรม ผู้อำนวยการ อาศรมสยาม-จีนวิทยา

นครกว่างโจว เป็นที่แรกที่อาศรมสยาม-จีนวิทยา นำคณะไปเยือนในทริปนี้

ชื่อกว่างโจวนี้ ซุนกวน อ๋องแห่งง้อก๊ก ในยุคสามก๊กเป็นผู้ตั้งชื่อให้

ดินแดนแห่งนี้มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีต มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น สามก๊ก ถัง 5 ราชวงศ์  ซ่ง หยวน หมิง และชิง เพราะเป็นแผ่นดินที่ออกทะเลได้ กลายเป็นท่าเรือทางการค้ากับต่างชาติมาตั้งแต่โบราณ

กว่างโจวถือเป็นต้นทางของเส้นทางสายไหมทางทะเลในอดีต

ในราชวงศ์ถัง จากกว่างโจวมีเส้นทางการค้าสู่ประเทศแถบมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกใต้ ในราชวงศ์ซ่ง เทคโนโลยีการต่อเรือก้าวหน้า มีเข็มทิศ และอุปกรณ์ต่างๆ เพียบพร้อมขึ้น ประกอบกับเส้นทางสายไหมทางบกได้รับผลกระทบจากภัยต่างๆ ทำให้เส้นทางสายไหมทางทะเลได้รับความนิยม

ภาพและประวัติ เจี่ย เอ็กชอ บิดาของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ได้รับการบันทึกไว้ในศูนย์จัดแสดงวัฒนธรรมและประวัติเตี่ยซัว

ทำให้กว่างโจวซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญ กลายเป็นเมืองพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของจีนในบัดดล

การเยือนนครกว่างโจวและเมืองซัวเถาครั้งนี้ ในช่วงแรกของการเดินทางมีโอกาสทอดน่องเดินชมหมู่บ้านโบราณพั่นถังใจกลางเมือง ได้ชมสถาปัตยกรรมจีนในยุคเก่า ระหว่างทางมีฮวงซุ้ยต้นตระกูลลี้ในหมู่บ้าน จากนั้นเดินทะลุไปยังสวนสาธารณะ และทะเลสาบ

การเดินในวันนั้นไม่ได้ซึมซับอะไรทางประวัติศาสตร์ เพราะความรู้เกี่ยวกับกว่างโจวมีไม่มากนัก

สิ่งที่สัมผัสได้กลับเป็นความสะอาดของสวนสาธารณะ ฟุตปาธที่อิฐวางเรียบ เดินไม่มีสะดุด อากาศที่ไร้ฝุ่นพีเอ็ม2.5 รวมไปถึงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ชาวบ้านใช้กันมากถึงมากๆ

ส่วนความซึมซับถึงประวัติศาสตร์ กลับมาพอกพูนเมื่อท่องเที่ยวไปแล้วหลายวัน

ได้ฟังคำบรรยายจากไกด์ท้องถิ่น และเติมความรู้จากเหล่าซือ-ประสิทธิ์

เรือสำเภา ณ ท่าเรือซัวเถา
สวนสาธารณะที่นครกว่างโจว

ความรู้ในประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์กวางตุ้งที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของมณฑลกวางตุ้งตั้งแต่ 500,000 ปีที่แล้วเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ไกด์ท้องถิ่นเล่าให้ฟังว่า พื้นที่มณฑลกวางตุ้ง มีชาวจีน 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกเรียกว่า “กวางตุ้ง” เข้ามาอาศัยแทรกซึมอยู่กับชนเผ่าดั้งเดิมตั้งแต่โบราณ

ต่อมามีชาว “แต้จิ๋ว” เข้ามาทำมาหากิน โดยชาวกวางตุ้งอยู่บริเวณนครกว่างโจว ขณะที่ชาวแต้จิ๋วอยู่บริเวณเมืองซัวเถา

ในตอนท้ายๆ มีชาว “จีนแคะ” อพยพเข้ามาอีก

เหล่าซือประสิทธิ์ ให้เกร็ดความรู้ว่า คำว่า “แคะ” ก็คือ “แขก” เป็นคำเรียกผู้ที่มาเยือนนั่นเอง

ตอนจีนแคะเข้ามานั้น พื้นที่ทำกินต่างๆ ถูกจับจองไปมาก ทำให้บางคนต้องขึ้นไปอยู่บนภูเขา และบางคนถืออาวุธสวมบทโจรสลัดออกอาละวาดในทะเล

นอกจากนี้ ข้อมูลในพิพิธภัณฑ์กวางตุ้งยังได้ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของกวางตุ้งที่กลายเป็นดินแดนที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์สำคัญ

อาทิ ท่านเว่ยหลาง พระสังฆปริณายกองค์ที่ 6 ของพุทธนิกายเซนเติบโตในกว่างโจว ขณะที่พระโพธิธรรม ตั๊กม้อ ผู้ก่อตั้งวัดเสี้ยวลิ้ม เดินทางเข้าประเทศจีนผ่านมณฑลกวางตุ้ง

หมู่บ้านจำลองชาวซัวเถาสมัยก่อน

ดินแดนแห่งนี้ หลังจากราชวงศ์ถังล่มสลาย จีนแตกออกเป็น 5 ราชวงศ์ ช่วงนั้น “หลิวเหยี่ยน” ในฐานะอ๋องหนานไห่ ได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์ และสถาปนาอาณาจักรต้าเยว์ขึ้นในปี ค.ศ.907

ตั้งกว่างโจวเป็นราชธานี ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอาณาจักรฮั่นใต้

ในช่วงการปฏิวัติการปกครองของ “ซุนยัดเซ็น” จุดเริ่มต้นอยู่ที่นครกว่างโจว และภายหลังการปฏิวัติซินไฮ่สำเร็จ และสถาปนาสาธารณรัฐจีนใน ค.ศ.1911 ปี ค.ศ.1921 “ซุนเคอ” บุตรชายของซุนยัดเซนได้เป็นผู้ว่าการนครกว่างโจวเป็นคนแรก

ปัจจุบัน หากใครมีโอกาสได้นั่งเรือล่องแม่น้ำกลางนครกว่างโจวจะเห็นตึกใหญ่อาคารสูงเสียดฟ้าอยู่ริม 2 ฝั่ง ผนังอาคารเปิดไฟสว่างเป็นภาพเคลื่อนไหวตึกต่อตึก แถมสะพานข้ามแม่น้ำยังมีแสงสีที่เคลื่อนไหวสวยงาม

ตอกย้ำความเป็นไฮเทคของจีน ทำให้ผู้ที่เคยมาประเทศนี้เมื่อหลายสิบปีก่อน ต้องรู้สึกทึ่งถึงการเปลี่ยนแปลง

วันที่สองได้ขึ้นรถไฟความเร็วสูงจากนครกว่างโจวไปเมืองซัวเถา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง

เส้นทางของสำเภาจากซัวเถามาไทย

ทราบภายหลังว่าการเดินทางไปด้วยรถไฟฟ้าดังกล่าวใช้ความเร็วสูงปานกลาง แต่ถ้าใช้ความเร็วสูงจะเดินทางกว่า 400 กิโลเมตรด้วยระยะเวลาที่น้อยกว่านี้

เมืองซัวเถา เป็นเมืองในมณฑลกวางตุ้ง ถือเป็นเมืองสำคัญที่ได้รับการผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ความหมายของคำว่า ซัวเถา คือ สันดอนทราย หมายถึงดินแดนแห่งนี้เกิดขึ้นจากการตกตะกอนของดินทรายที่ถมทับกันจนเป็นสันดอน

เหล่าซือ-ประสิทธิ์ให้ความรู้ว่า ที่ดินแห่งนี้มีคำกล่าวเอาไว้ว่า เป็นภูเขา 80 เป็นแม่น้ำ 10 เป็นที่ทำกิน 10

มิน่าล่ะ เมื่อชาวจีนแคะเข้ามาสมทบ ณ ดินแดนแห่งนี้ในช่วงหลัง จึงไม่มีที่อยู่บนพื้นราบ ต้องระเห็จไปอยู่บนภูเขา หรือไม่ก็ไปเป็นโจรสลัดในทะเล

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลที่อาศรมสยาม-จีนวิทยาค้นหาให้มา

สีสัน 2 ฝั่งแม่น้ำนครกว่างโจว

ข้อมูลดังกล่าวระบุว่า หลังสิ้นสุดสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ค.ศ.1856-1860 เมื่อต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานประกอบธุรกิจที่เมืองซัวเถา ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว

แต่ชาวแต้จิ๋วซึ่งเป็นเกษตรกรยังลำบากเหมือนเดิม และเป็นแรงกระตุ้นให้พวกเขาลงเรือสำเภาเดินทางไปหาแผ่นดินใหม่เพื่อลงหลักปักฐาน

สำหรับเมืองซัวเถายังคงมีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อ ค.ศ.2011 รัฐบาลจีนได้ยกฐานะเมืองซัวเถาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเต็มรูปแบบ ภายหลังทดลองมาตั้งแต่ ค.ศ.1981

การพัฒนาทางเศรษฐกิจทำให้ซัวเถามีประชากรเพิ่มขึ้น

ข้อมูล ณ ปลายปี ค.ศ.2022 พบว่าเฉพาะที่ซัวเถามีประชากร 5.78 ล้านคน

แผนที่เมืองซัวเถา ที่บอกสถานที่ขึ้นเรือสำเภา และยังเห็นรูปลักษณะเป็นสันดอนทราย

เมื่อเดินทางมาถึงนครกว่างโจวสิ่งที่ต้องลิ้มลองยังคงเป็นอาหาร

อาหารของมณฑลกวางตุ้งถือว่ามีจุดเด่น ที่นั่นมีทั้งอาหารจีนแบบกวางตุ้ง อาหารจีนแบบแต้จิ๋ว และอาหารจีนแบบจีนแคะ

จุดเด่นหลายประการดังกล่าวเท่าที่จำได้ คือ มีปลามาก มีผักมาก มีน้ำจิ้มมาก มีของหวานมาก

ลักษณะการปรุงก็มีเอกลักษณ์ นั่นคือ จืดแต่ไม่ชืด สดแต่ไม่คาว มันแต่ไม่เลี่ยน

เหล่าซือ-ประสิทธิ์ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ข้าวต้มถือเป็นเอกลักษณ์ของที่นั่น แม้มณฑลอื่นจะนิยมหมั่นโถ แต่มณฑลนี้เขากินข้าว

สำหรับข้าวต้มนั้นเกิดขึ้นเพราะความแร้นแค้น จึงมีคนคิดหาวิธีใช้ข้าวสารน้อย แต่อิ่มท้องเร็ว จึงนำข้าวไปต้มทำให้ข้าวบาน กลายเป็นข้าวต้มที่ได้รับความนิยมกันทั่วโลก

ช่วงท้ายของการเดินทางที่ซัวเถา ชาวคณะมีโอกาสเข้าสักการะสุสานพระเจ้าตากสิน ที่เมืองซัวเถา

เหล่าซือ-ประสิทธิ์ให้ความรู้ว่า คนจีนที่จากแผ่นดินไป เมื่อเสียชีวิตบรรดาญาติจะนำร่างกลับคืนสู่มาตุภูมิ

ในยุคโบราณญาติจะจ้างคนแบกร่างผู้วายชนม์กลับบ้าน โดยแต่งชุดขุนนางจีนให้ผู้ที่เสียชีวิต ถือเป็นการให้เกียรติ จากนั้นเอาไม้ไผ่ทำเป็นคาน แล้วนำร่างผู้เสียชีวิตจัดเรียงเป็นแถว พยุงด้านหน้าและหลัง ก่อนที่จะแบกกลับไปบ้านเกิด

การใช้วิธีนี้ ทำให้ชาวบ้านคนอื่นๆ มองเห็นร่างผู้เสียชีวิตเคลื่อนไหวคล้ายกระโดด

กลายเป็นจินตนาการผีจีนที่เคลื่อนที่ด้วยการกระโดด เหมือนภาพยนตร์ ผีกัดอย่ากัดตอบ

ส่วนผู้วายชนม์คนใด ไม่สามารถนำร่างกลับมาได้ ญาติจะนำเสื้อผ้ากลับมาฝังเป็นสัญลักษณ์การกลับคืนสู่มาตุภูมิ

เล่าขานกันว่า หลังจากที่พระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคต พระญาติได้นำฉลองพระองค์และพระมาลากลับมาฝัง เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้คนระลึกถึง ในฐานะมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว

โดยปรากฏตามตัวอักษรที่สลักหน้าสุสานว่า “สุสานฉลองพระองค์และพระมาลาของแต้อ๋องตากสินมหาราชแห่งสยามประเทศ”

ที่เมืองซัวเถา คณะทัวร์มีโอกาสเข้าไปชมศูนย์จัดแสดงวัฒนธรรมและประวัติเตี่ยซัวด้วย

ด้านล่างของศูนย์วัฒนธรรมฯ มีเรือสำเภาจำลองแสดงให้เห็น

เรือสำเภาลักษณะนี้ คือ พาหนะที่นำชาวจีนไปยังโพ้นทะเล

เมื่อเดินชมศูนย์จัดแสดงวัฒนธรรมฯ ประกอบคำอธิบายจากไกด์ท้องถิ่น ทำให้ทราบถึงการตัดสินใจเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากซัวเถาไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

สาเหตุที่ตัดสินใจเป็นเพราะความยากจนที่ประสบ จึงต้องการไปแสวงหาที่ทำมาหากินบนแผ่นดินใหม่

จากจุดเริ่มต้นที่ซัวเถา บรรพบุรุษเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก

ปัจจุบัน ลูกหลานชาวจีนเหล่านั้นได้ก่อร่างสร้างตระกูลในดินแดนห่างไกลได้สำเร็จ ในศูนย์จัดแสดงวัฒนธรรมฯ ได้นำรูปบุคคลสำคัญที่มีถิ่นเกิดอยู่ในซัวเถามาแสดง

ณ มุมหนึ่งยังปรากฏรูป “เจี่ย เอ็กชอ” บิดาของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ รวมอยู่ด้วย

จากวันนั้น วันที่ชาวจีนเดินทางไปหาแผ่นดินใหม่ทำมาหากิน มาถึงวันนี้ลูกหลานชาวจีนเหล่านั้นเติบโต มีอาชีพการงานมั่นคง

ลูกหลานชาวจีนเหล่านั้นยังคงกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด และมีความกตัญญูต่อแผ่นดินที่ให้พักอาศัย

คนจีนโพ้นทะเลจึงเสมือนเป็นสายใยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกัน

เริ่มจากความสัมพันธ์เครือญาติของประชาชนจีนกับประชาชนของชาตินั้นๆ

ก่อเกิดเป็นความผูกพันในรูปแบบสมาคมที่อยู่ในจีนกับสมาคมตระกูลแซ่ที่อยู่ในแต่ละประเทศ

ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นช่องทางในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศกับประเทศ

เหมือนเช่นความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่มั่นคงกลมเกลียวกันมาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image