อธิปทรรศน์ กันยาวิริยะ ฟื้นชีวิตโชห่วย “เยาวราช” ในมือคนรุ่นต่อไป

เทศกาลตรุษจีน เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ทำให้ย่าน “เยาวราช” เต็มไปด้วยสีสันบรรยากาศคึกคักที่สุดของปี ในฐานะ “ไชน่าทาวน์” เป็นย่านค้าขายของคนเชื้อสายจีนมาเนิ่นนาน

อายุที่ยาวนานของถนนสายนี้ช่วยสั่งสมเอกลักษณ์และเสน่ห์เฉพาะตัว นอกจากเป็นย่านธุรกิจการค้า ยังถูกจดจำในฐานะถนนสายวัฒนธรรม นอกจากร้านค้าส่ง ร้านทอง เยาวราชยังขึ้นชื่อเรื่องสถานที่ไหว้พระขอพร และเป็นแหล่งรวมอาหารอร่อยยามค่ำคืน

อายุที่ยาวนานของถนนสายนี้ช่วยสั่งสมเอกลักษณ์และเสน่ห์เฉพาะตัว นอกจากเป็นย่านธุรกิจการค้า ยังถูกจดจำในฐานะถนนสายวัฒนธรรม นอกจากร้านค้าส่ง ร้านทอง เยาวราชยังขึ้นชื่อเรื่องสถานที่ไหว้พระขอพร และเป็นแหล่งรวมอาหารอร่อยยามค่ำคืน

แม้โรงหนังห้างร้านชื่อดังบางแห่งจะถูกแทนที่ด้วยธนาคารและโรงแรม พร้อมราคาที่ดินที่พุ่งสูง แต่เยาวราชทุกวันนี้ก็ยังไม่คลายกลิ่นอายย่านค้าขายคนจีน

Advertisement

ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่คนเยาวราชต้องปรับตัวรับมือ เมื่อวันนี้คนที่เดินผ่านไปมาบนท้องถนนไม่ได้มีเพียงลูกค้าที่ซื้อขายกัน แต่ยังมีนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตาจนย่านนี้กลายเป็นทำเลทอง

อธิปทรรศน์ กันยาวิริยะ ทายาทรุ่นที่ 4 ของร้าน “ล.เยาวราช” โชห่วยเก่าแก่อายุกว่า 75 ปี บนถนนเยาวราชที่วันนี้เป็นที่จดจำในภาพลักษณ์ทันสมัยด้วยฝีมือของนักธุรกิจรุ่นใหม่

ช่วงปี 2554-2555 อธิปทรรศน์ใช้เวลาหนึ่งปีเต็มเข้ามาปรับโฉมร้าน และเปลี่ยนภาพลักษณ์จนเป็นที่จดจำในชื่อ “LOR YAOWARAJ BANGKOK” นอกจากลูกค้าประจำที่ค้าขายกันมานานแล้ว ภาพลักษณ์ร้านที่สะดุดตานี้ดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเลือกซื้อสินค้าและถ่ายภาพ จนมีชื่อเสียงเป็นที่จดจำ

Advertisement

กว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ชายหนุ่มวัย 31 ปี ต้องผ่านแรงกดดันจากการเข้ามาสั่นคลอนความเชื่อมั่นในครอบครัวที่ทำธุรกิจกงสี

เมื่อความเปลี่ยนแปลงใหม่เข้ามาปะทะกับความคิดความเชื่อดั้งเดิม

อธิปทรรศน์เกิดและเติบโตในเยาวราช ช่วงมัธยมย้ายไปอยู่บ้านย่านฝั่งธน ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นศูนย์กระจายสินค้าขายส่ง

เรียบจบปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์เกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนจะกลับมาช่วยงานที่บ้านและจุดประกายความคิดอยากเปลี่ยนแปลงร้าน

“ไม่ได้ตั้งใจมาสายธุรกิจ ที่บ้านไม่ได้คิดว่าเราจะต้องกลับมาทำ คนแถวนี้เป็นเหมือนกันทุกบ้าน เขาจะมองว่าค้าขายลำบาก ลูกๆ อย่ามาทำเลย ไปเรียนวิศวะ ไปเป็นหมอดีกว่า แต่เราเห็นว่าที่ตรงนี้เป็นโลเกชั่นที่ดีมาก มีเงินก็อาจซื้อไม่ได้ เมื่อเรามีโอกาสทำไมไม่ลองปรับปรุงเปลี่ยนแปลง”

หลากชีวิตที่เรียกถนนเยาวราชว่าบ้าน กำลังถึงช่วงวัยที่คนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้และรับช่วงต่อกิจการ

ชีวิตชีวาของเยาวราชจะยังคงอยู่ได้ด้วยลมหายใจของชุมชน ขณะเดียวกันคนรุ่นต่อไปก็ต้องคิดถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างสมดุล ทั้งในแง่ธุรกิจและความเป็นชุมชน เมื่อสังคมที่โอบล้อมเยาวราชกำลังเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ

– ตอนนี้ดูแลงานส่วนไหนบ้าง?

ภาพรวมยังเป็นธุรกิจแบบดั้งเดิม ร้านโชห่วยบริหารธุรกิจแบบกงสีครอบครัวใหญ่ เปิดมาปีที่ 75 แล้ว พ่อแม่พี่น้องญาติๆ ดูแลกันเอง เป็นเสน่ห์ของโชห่วย ผมจะดูแลภาพลักษณ์ ออกแบบหน้าร้านและแพคเกจจิ้ง นอกจากนี้ไปบรรยายเรื่องดีไซน์ร้านตามที่ต่างๆ เป็นที่ปรึกษาให้ร้านค้าที่ต้องการเปลี่ยนแปลง และมีธุรกิจไอศกรีม “KIINTIM” ใช้หน้าร้านส่วนหนึ่งมาขาย

ส่วนภายในที่ร้านยังคงมีคือธุรกิจค้าส่ง เนื่องจากธุรกิจทำมายาวนานมาก เริ่มมาจากขายปลีก เยาวราชเป็นแหล่งซื้อสินค้าอยู่แล้ว ทุกเช้าจะมีฝ่ายจัดซื้อตามโรงแรมมาหาวัตถุดิบของจีน เช่น กระเพาะปลา กุ้งแห้ง หูฉลาม ร้านของผมจะเด่นเรื่องเครื่องปรุง น้ำมันงา เครื่องปรุงเมืองนอกต่างๆ เพราะเราเป็นแหล่งนำเข้าวัตถุดิบ ร้านเล็กก็จริง แต่มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์กว่าห้าพันรายการ และคนขายจะรู้จักวัตถุดิบ เป็นเสน่ห์ของร้าน คนที่อยากลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จะเข้ามาถามว่าตัวนี้อะไร ดียังไง

– ทำไมถึงคิดว่าต้องปรับปรุงร้าน?

ตอนเด็กผมเรียน ร.ร.วัดปทุมคงคา ระหว่างทางกลับบ้านจะเจอโรงพิมพ์ในห้องแถว ร้านบะกุ๊ดเต๋ ร้านบะหมี่มีอาเจ็กสองพี่น้องขาย เป็นเจ็กว้ากเข้าร้านแล้วต้องสั่งเลย ตอนนั้นอาจจะไม่ได้รู้สึกชอบ แต่ตอนนี้รู้สึกโหยหาว่าเจ็กไปไหน เจ็กไม่อยู่แล้ว เพราะมูลค่าที่ดินสูงมากจนเจ็กอยู่ไม่ได้ กลายเป็นธนาคารแทน โรงพิมพ์ตรงนั้นก็ไม่อยู่แล้ว เปลี่ยนไปหมดเลย ผมคิดว่าถ้าร้านเราไม่ทำจะซอมซ่อ รถผ่านไปมาไม่สนใจ เราอยากทำให้เด่นขึ้นมา เป็นจุดเริ่มต้นที่อยากทำ เพื่อนที่อยู่ละแวกเดียวกัน เติบโตมาด้วยกันก็อยากทำ แต่บางคนมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความอดทนอดกลั้นกับผู้ใหญ่ บางคนมีน้อยก็จะรู้สึกเบื่อ หรือรู้สึกว่าได้งานที่เหมาะสมกว่า บางบ้านลูกหลานเยอะ บ้านผมรุ่นหลานมีแค่ 2 คน อาจได้เปรียบเรื่องการต่อรอง

– ตอนปรับปรุงร้านต้องถกเถียงกันเยอะไหม?

ใช้เวลาคุยอยู่ 1 ปี หาจังหวะที่เขายอม เราก็เริ่มรื้อเริ่มทำ ปรับปรุงอีก 1 ปี ที่บ้านมีทั้งคนเจนเบบี้บูมเมอร์ เจนเอ็กซ์ ส่วนผมเจนวายชอบท่องเที่ยว เราท่องเที่ยวแล้วเห็นว่าไชน่าทาวน์แต่ละประเทศเจ๋งมาก เขามีพื้นที่หน้าร้านและใช้พื้นที่เต็มประสิทธิภาพ สามารถเดินเล่นได้ กลับกันเยาวราชคนอยากมาแค่ซื้อวัตถุดิบ ซื้อทอง กลับบ้าน หลังๆ รุ่นเราเริ่มเปลี่ยน ตรุษจีนแต่ก่อนคนมาไหว้พระ เดี๋ยวนี้จะเห็นใส่กี่เพ้าส้นสูงมาถ่ายรูปเต็มเลย เราคิดว่าเรามีโลเกชั่นที่ดีมาก ทำไมไม่ปรับปรุง

พอมาคุยกับที่บ้านก็เจอทางตัน เขามองว่าไม่จำเป็น ขายได้อยู่แล้ว เสียเงินเสียเวลา ลื้อเอาเวลาไปเรียนหนังสือ ไปทำงานที่ลื้อชอบดีกว่า

เยาวราชมีลูกหลานเต็มไปหมด แต่เดี๋ยวนี้มีแค่คนค้าขายที่อาศัยอยู่ ลูกหลานไปอยู่ที่อื่น ตรงนี้ไม่ใช่ที่ของเขา เป็นแค่อดีตความทรงจำเลือนๆ อาจกลับมาไหว้เจ้าตรุษจีน นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไป ผมคิดว่าสิ่งนี้ไม่ควรหายไป ผมพูดกับที่บ้านว่า อยากแก้ปัญหาในสิ่งที่ขาด ไม่ใช่แค่สวยอย่างเดียว ที่ผ่านมาพอมีร้านสะดวกซื้อทำให้ยอดขายลดลง คนเข้าร้านลดลง ผมบอกว่าจะทำร้านให้กลับมาเหมือนเดิม ที่บ้านก็บอกว่าร้านรกอยากทำให้หาของง่าย อาอี๊บางคนชอบดารา ผมบอกว่าถ้าทำร้านเดี๋ยวจะมีดาราเข้ามาถ่ายรูปในร้านเลย พยายามตอบโจทย์ทุกมุมว่าทำแล้วจะได้อะไร ไม่ใช่แค่ความฝันว่าอยากมีเหมือนต่างประเทศจึงคิดจะทำ

– การเปลี่ยนแปลงต้องคิดถึงอะไรบ้าง?

คิดว่าจะทำยังไงให้มีความสวยงามแต่ยังกลมกลืน จึงชูเรื่องวัฒนธรรมขึ้นมา ผมเรียนจบวิทยาศาสตร์การเกษตร จึงอยากใช้สีเขียว ในร้านคนจะแปลกตา เพราะเอาโคมจีนหุ้มสีเขียวห้อยเต็มร้าน หน้าร้านจากที่วางของเยอะๆ ก็วางจักรยานน่ารักๆ ให้คนถ่ายรูป

เราตีชั้นขึ้นสูงถึงเพดานซ้ายขวาติดบันไดที่เลื่อนได้ให้คนปีนหยิบของ แต่ก่อนหน้าร้านเป็นจุดคิดเงิน สมัยผมเด็กเป็นกระป๋องชักรอกขึ้นไปกลัวหาย จากนั้นเป็นตู้เก่าๆ มีอาม่านั่งทอนเงิน เราปรับเอาเครื่องคิดเงินสดมาตั้งอยู่หลังร้าน เพื่อคนสามารถเข้ามาได้เต็มไม่ต้องออหน้าร้านและเดินชมได้ สมัยก่อนคนใช้เวลาซื้อ 5-10 นาที ยืนมองจากหน้าร้านแล้วบอกว่าจะเอาอะไร แต่ตอนนี้สามารถเดินเข้าไปในร้านแล้วเลือกได้ อย่างน้อยใช้เวลา 20 นาทีเดินอยู่ในร้าน คูหาเดียวแต่มีระยะเวลาเลือกซื้อเลือกชม เพิ่มโอกาสการขาย ที่บ้านก็ถูกใจ ทำแล้วได้ผลระดับหนึ่ง

– มีความเชื่ออะไรที่ไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงไหม?

เรื่องความเชื่อเป็นกำแพงกั้นสูงมาก อันดับแรกคือเงิน เขาไม่อยากเอาเงินไปลงทุนกับอะไรที่ไม่รู้ว่าจะสำเร็จไหม และเรื่องดีไซน์ ผมเอาแบบร้านสีน้ำตาลไปให้ดู เขาถามว่าจะเปลี่ยนไปขายยาจีนเหรอ ทำไมต้องห้อยโคม ลื้อจะขายโคมเหรอ วางจักรยานหน้าร้าน ลื้อจะขายจักรยานเหรอ จะมีคำถามทุกอย่าง ผมพยายามตอบว่าทำเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามา

สุดท้ายติดเรื่องสี ทำให้ทุกอย่างคุยยาก พอบอกว่าจะทาสีดำ ปฏิเสธเลย สีดำไม่เป็นมงคล ไม่เอา สีพื้นฐานสุดคือสีขาว แต่เราขอ บอกว่างั้นเทาเข้มแล้วกันนะ สุดท้ายเราก็ทาสีดำ ไฟต์กับเขามาตลอด ทำให้เขาเห็นว่าอย่าพิ่งบ่น เดี๋ยวทำให้ดูก่อน

โจทย์มีอยู่ว่าห้ามปิดร้าน ผู้รับเหมาขอสามเดือนปิดร้านทำ เราก็พาซื่อไปบอกว่าให้ปิดร้านสามเดือน เขาตอบมาว่าเปิดมา 70 ปีไม่เคยปิดร้านสักวัน จึงต้องหาวิธีการ ช่วงนั้นร้านเปิด 08.00-20.00 น. จึงเริ่มงานตั้งแต่สามทุ่ม อาอี๊จะลงมาอีกทีตอน 7 โมง จะต้องเรียบร้อยขายของได้ ต้องทำทีละล็อกนานถึง 1 ปี เราทำให้ดูว่าทาสีแล้ววางสินค้าจะเด่นเลย สินค้าทุกอย่างพยายามชูจุดเด่นให้คนเลือกซื้อ ไม่ต้องทำอะไรมาก ทำแบ๊กดรอปสีดำ วางเขานิ่งๆ อัดไฟเข้าไป สวยทุกรายการ เป็นทฤษฎีที่เขาไม่รู้ แต่พอเห็นภาพจริงเขาก็ยอม

– กงสีคนเยอะ ต้องคุยหลายคนกว่าจะยอมเปลี่ยนแปลง?

กงสี 13 คน ผมเป็นหลาน อัตราการต่อรองน้อยมาก ช่วง 1 ปีเราเก็บข้อมูลค่อยๆ คุย ก็รู้ว่ามีคนตัดสินใจหลักไม่กี่คน เป็นวิธีการที่หากรุ่นลูกอยากทำธุรกิจครอบครัวต่อไปต้องมีความเข้าใจ ต้องค่อยๆ หาความจริงว่าเขาต้องการอะไรเพราะเขาไม่บอก ตอนเย็นไปกินข้าวข้างนอกกันเราก็ชวนคุย ถามว่าทำร้านใหม่อยากได้แบบไหน เราจะได้รายละเอียดเล็กๆ ว่าแต่ละคนต้องการอะไรผสมผสานกับความต้องการของเรา ออกมาเป็นร้านที่เจนเอ็กซ์อยู่ได้เจนวายก็อยู่ได้ ไม่ได้สุดโต่ง

ช่วงทำแรกๆ คนรุ่นแม่แอนตี้หมด เขามองว่าจะทำสำเร็จไหมไม่น่าให้เริ่มทำเลย ความรู้สึกนี้ส่งผ่านไปยังลูกน้องคือหลงจู๊ คนใกล้ตัวที่เก่าแก่ เขารับความรู้สึกว่าครอบครัวเราไม่โอเคเขาก็ต่อต้านด้วย สักพักก็ลาออก เขย่าถึงเนื้อในองค์กร ที่บ้านกดดันว่าเราลืมคนเก่าๆ คิดแต่จะทำสิ่งใหม่ ตอนนั้นลำบากมาก แต่ 8 เดือนพอทำร้านเสร็จเราเข้าไปคุย เขามองเห็นว่าร้านโอเคก็กลับมาทำงาน

อธิปทรรศน์ ล.เยาวราช

– ที่บ้านรู้สึกยังไงที่ตอนนี้มีคนมาเที่ยวมาถ่ายรูปในร้านเยอะๆ?

เขารู้สึกว่าดีแล้วที่ให้ทำ ไม่เจ๊งก็โอเคแล้ว (หัวเราะ) ปกติด้วยความที่เป็นย่านชุมชน เราไปยืนหน้าร้านที่สำเพ็งหรือเยาวราชเขาจะไล่ ถามว่าเอาอะไร ไม่เอาก็หลบไป คนมุ่งไปซื้อแล้วกลับ ไม่อยากเดินเล่น พอเราทำร้านสิ่งแรกที่คนทำคือหยิบมือถือมาถ่ายรูปร้าน ยังไม่ซื้อของ เป็นพฤติกรรมที่เขาต้องปรับตัวช่วงแรก แต่เขาเริ่มภาคภูมิใจในที่อยู่ของเขา ร้านอยู่ตั้งนานไม่มีคนสนใจเลย ลูกค้าก็เข้ามาชมร้าน เขารู้สึกว่าร้านประสบความสำเร็จ ยังค้าขายได้เหมือนเดิม คนเก่าก็ยังซื้ออยู่เพราะราคาไม่เปลี่ยน สินค้าหาง่ายขึ้น

– เพื่อนบ้าน คนเยาวราชมองการปรับปรุงร้านอย่างไร?

แถวบ้านผมเป็นแซ่ลิ้มมาจากซัวเถามีหลายตระกูล ถนัดคนละอย่าง อากงผมถนัดค้าขาย ตอนมาตั้งรกรากก็จะไปเอาของแปลกๆ จากท่าเรือมาขายปลีก คนซื้อเป็นกลุ่มลูกค้าไทยไดมารูที่ขายของนอก มีแหล่งค้าส่งมาจากร้านผมเพราะรับมาโดยตรง 70 ปีไม่มีใครรู้ เป็นแหล่งเล็กๆ ที่คนรู้กันวงใน

เพื่อนบ้านเขาจะพูดภาษาจีนกัน บอกว่าอย่าเชื่อเด็ก เขาไม่เคยทำมา อย่าเอาเด็กทำงานเดี๋ยวจะเจ๊ง ให้ช่วยงานนานๆ ก่อน พอทาสีดำก็บอกว่าอยู่กันมาตั้งนานรุ่นเหล่ากงเหล่าม่าคงเสียใจมากที่มาย่ำยีในที่นี้ ที่บ้านจะมีตี่จู้เอี๊ยะเป็นศาลบรรพบุรุษห้ามเคลื่อนย้าย เก่ามาก ห้ามยุ่ง ผมไปรื้อออกมาเทพื้นเอาชั้นสีดำไปใส่แล้ววางท่าน สีดำตัดกับแดงเลย เขาก็บอกว่าแย่หมดแล้ว ถึงกับต้องไปปรึกษาซินแส คนข้างบ้านแนะนำให้เอาฮู้ (ยันต์) เผาใส่ในน้ำให้เรากินไล่ชง เป็นเรื่องความเชื่อที่ลบล้างไม่ได้ สุดท้ายทำมาก็โอเค

-ความเปลี่ยนแปลงของเยาวราชที่เห็นตั้งแต่เด็ก?

เปลี่ยนแปลงไปมาก อาหารการกินธุรกิจละแวกนี้เปลี่ยนไปหมด คนไม่ได้แค่มาซื้อทองไหว้เจ้า เดี๋ยวนี้มาเยาวราชต้องเตรียมกล้องมาถ่ายรูป สำเพ็งแต่ก่อนขายเป็นโหล เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็น 3 ชิ้นส่ง เพราะพฤติกรรมคนเดินเปลี่ยนไป ผู้บริโภคมาซื้อเอง ต้องเปลี่ยนวิธีการขาย ถนนเยาวราชเปลี่ยนไปมาก จากแหล่งค้าขาย กลายเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมแฟชั่น อยากมากิน ถ่ายรูป ซื้อของ

ร้านที่ปรับตัวยังน้อยมาก อาจมีแค่ร้านใหม่ๆ ที่เข้ามา ร้านริมถนนยังเป็นร้านค้าดั้งเดิมอยู่ บางร้านปิดธุรกิจปล่อยเช่า เพราะได้เงินมากกว่า แต่ก่อนในเยาวราชหาธนาคารได้ยากมาก เดี๋ยวนี้มีธนาคารตามมุมตึกต่างๆ แสดงให้เห็นว่าคนเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่มาซื้อของแล้วกลับ

– เสน่ห์ของเยาวราชเปลี่ยนแปลงไปไหม?

เยาวราชตอนนี้เมื่อมาตามกระแสผู้บริโภคใหม่ กลุ่มเจนวาย และเริ่มเป็นเจนซี (z) เขาแสวงหาอะไรแปลกใหม่ พร้อมความกลมกล่อมดั้งเดิม อยากมากินก๋วยเตี๋ยวคั่วในตรอก มากินกวยจั๊บที่รุ่นพ่อรุ่นแม่เคยกิน มาถ่ายรูป ถนนต้องปรับปรุงเติมเสน่ห์ ร้านค้าอาจร่วมมือกันเปิดไฟถนน ปกติจะเหมือนฮ่องกง เที่ยงคืนยังเปิดไฟสว่างอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ประหยัดไฟก็จะมีสีสันแค่ร้านข้างทาง ถ้าทุกคนร่วมมือกัน ตรงนี้จะเป็นถนนเส้นวัฒนธรรมการท่องเที่ยวที่แท้จริง ถ้าทุกร้านปรับตามความถนัด จะทำให้เยาวราชน่าเดินขึ้น มากกว่าที่ตอนนี้กลางคืนจะเน้นของกินริมฟุตปาธแล้วร้านค้าปิด ถ้าทุกคนเปิดจะยิ่งอิมแพคมากขึ้น

– มองเยาวราชในอนาคตอย่างไร เมื่อคนรุ่นใหม่เริ่มมารับช่วงต่อเต็มตัว?

ตอนนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างรุ่น ไม่ว่าผมหรือใครก็แล้วแต่ที่มารับช่วงต่อถ้าเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของคนเจนเอ็กซ์ว่าเขาต้องการให้เราแก้ปัญหาอะไรและลงมือทำโดยมีฝ่ายเจนเอ็กซ์สนับสนุน จะเปลี่ยนโฉมถนนเยาวราชที่คงคอนเซ็ปต์เดิม แต่ถ้าไม่ทำแล้วล้มหายตายจากไปก็จะมีกลุ่มทุนเข้ามาครอบครองแทน ความเป็นเยาวราชจะลดน้อยถอยลงไป สุดท้ายเหลือทองกับของกิน แต่ค้าปลีกจะหายไปอยู่ตามตรอกซอกซอย

เยาวราชเป็นถนนที่ไม่เคยหลับใหล 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ตี 3 คนเริ่มลงของ รถบรรทุกมาลงของสต๊อกไว้เพราะเยาวราชไม่ใช่แหล่งผลิต เปิดอีกที 7 โมงเช้าค้าขายส่ง ถึงเที่ยงเริ่มเป็นกลุ่มแม่บ้านส่งลูกไปโรงเรียนแล้วมาซื้อของเล็กน้อยจับจ่ายไหว้เจ้าขอพร พอ 3-4 โมงเย็นจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ร้านค้าริมทางเริ่มเปิด นักศึกษา เด็กๆ ครอบครัวมาหาของกินยาวไปจนถึงตี 2

เยาวราชไม่เคยปิด 24 ชั่วโมง ถ้าเราสามารถรักษาให้คงอยู่ ปรับปรุงให้ร่วมสมัย จะทำให้ถนนเยาวราชมีเสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย

ตรงนี้เป็นที่ดินของบรรพบุรุษ ในอนาคตเชื่อว่ายังไงเขาก็มีความรักในสิ่งที่เขาเป็น ลูกร้านขายยาก็รู้ว่าเติบโตมากับการขายยา คงจะปรับให้อยู่ได้ เพียงแต่ร้านผมปรับก่อนเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image