อาศรมมิวสิก : ความสำเร็จและการค้นพบ เมื่อแสดงดนตรีที่วัดผาลาด เชียงใหม่

ศิลปิน ดร.สุชาติ วงษ์ทอง กับภาพวาดที่วัดผาลาด

ความสำเร็จและการค้นพบ
เมื่อแสดงดนตรีที่วัดผาลาด เชียงใหม่

การแสดงดนตรีเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 เวลา 17.00-19.00 น. วันสมโภช 650 ปีวัดผาลาด เชียงใหม่ เมื่อพระมหาเถระและพระผู้ใหญ่ได้สวดเจริญพระพุทธมนต์ สวดทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษและครูบาอาจารย์เรียบร้อยแล้ว เป็นเวลาที่วงไทยออร์เคสตรา (Thai Orchestra) แสดงดนตรี การเดินทางไปแสดงครั้งนี้ใช้เครื่องสาย 16 คน เริ่มด้วยเพลงของโยฮัน เซบาสเตียน บาค (Bach, Brandenburg Concerto #3) ผลงานของวิวาลดิ (Vivaldi, Four Seasons) ทั้ง 4 บท บทละ 3 ท่อน ฤดูใบไม้ผลิ เดี่ยวไวโอลินโดย ชัญญา เจริญสุข ฤดูร้อน เดี่ยวไวโอลินโดย พงศ์สิต การย์เกรียงไกร ฤดูใบไม้ร่วง เดี่ยวไวโอลินโดย กานต์ธิดา ปัญจปภาวิน และฤดูหนาว เดี่ยวไวโอลินโดย โชติ บัวสุวรรณ ต่อด้วยการเดี่ยวกีตาร์เพลงลาวดวงเดือนและเพลงลาวคลึง โดย ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ

ทีเด็ดการเดี่ยวปี่จุมกับวงออร์เคสตรา (ทำนองอื่อ ตั้งเชียงใหม่ จะปุ ขะมุกินน้ำมะพร้าว) โดยครูแอ๊ด (ภานุทัต อภิชนาธง) เป็นการห่อเพลงด้วยวงออร์เคสตรา ผลงานของ ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล ผู้ควบคุมการบรรเลง ใช้วิธีนำเอาอดีตมารับใช้ปัจจุบันเพื่อสร้างสรรค์ให้เป็นเพลงใหม่ จบด้วยเพลงชุมนุมเผ่าไทย ผลงานการเรียบเรียงของ พันเอกพิเศษ ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์

การแสดงครั้งนี้ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่มิตรรักแฟนเพลงอย่างมาก มีผู้ฟังเข้ามาชมเต็มวัดโดยที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีผู้ชมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินั่งฟังวงออร์เคสตราในวัดผาลาดที่เงียบสงบ ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดบรรยากาศแบบนี้ขึ้นได้ มีการบันทึกถ่ายทำรายการต่างๆ โดยสื่ออิสระหลายคณะ เมื่อจบรายการแสดงแล้ว ได้สร้างความอบอุ่นให้แก่ผู้ฟังดนตรีทุกคน ซึ่งต่างก็ประหลาดใจว่า ได้ฟังเพลงคลาสสิกจริงๆ ในวัดผาลาด แล้วยังได้ฟังเพลงเมืองเหนือที่ถูกเรียบเรียงให้เป็นเพลงแบบคลาสสิกอีกด้วย

Advertisement

วัดผาลาดตั้งอยู่บนเทือกเขา ล้อมรอบด้วยต้นไม้หนาทึบ ห่างถนนใหญ่ 500 เมตร ไม่มีเสียงเครื่องยนต์หรือเสียงมอเตอร์ไซค์รบกวน วัดผาลาดซึ่งมีความเงียบ มีความสะอาดเป็นพื้นฐาน ดูดีมีสง่าราศี สงบจนสามารถได้ยินทุกเสียงที่ดังขึ้น ได้ยินแม้แต่กระทั่งเสียงลมหายใจของทุกคน

บรรยากาศในวัดผาลาดวันนั้นสุดยอดมาก เมื่ออากาศเย็นลงเวลา 17.30 น. อุณหภูมิ 21 องศา ลมนิ่งสงบ เสียงดนตรีที่ออกมาจากเครื่องดนตรีสด เล่นโดยนักดนตรีที่มีฝีมือสูงจึงมีความไพเราะมาก นักดนตรีเองก็ไม่เคยเจอบรรยากาศเช่นนี้มาก่อน ทุกคนตั้งใจเล่นเพื่อให้ได้เสียงที่ออกมาดี ทุกคนเล่นแบบผีเข้า (สิง) สามารถที่จะสะกดผู้ฟังให้นั่งจดจ่อติดอยู่กับเก้าอี้ได้ตลอดรายการ

ผู้ฟังทุกคนตั้งใจมาฟังดนตรีจริงๆ แต่ละคนมาจากไหนก็ไม่รู้ แต่ที่รับรู้ก็คือทุกคนตั้งใจมาฟังดนตรีมาก เป็นผู้ฟังที่มีคุณภาพสูง รู้จักเพลง รู้จักมารยาทในการฟังดนตรี ทุกคนแต่งตัวดี ปรบมือให้เกียรติแก่นักดนตรี กลายเป็นผู้ฟังที่มีเสน่ห์ ซึ่งทั้งนักดนตรีและผู้ฟังต่างก็โหยหาซึ่งกันและกัน เมื่อนักดนตรีได้เจอบรรยากาศของผู้ฟังที่ดี ก็ตั้งใจเล่นเพื่อตอบแทนความรู้สึกที่ดีและเอื้ออารมณ์ที่ดีต่อกัน

Advertisement
ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล กับวงไทยออร์เคสตราและความใกล้ชิดกับผู้ชม
ชัญญา เจริญสุข (มุ่งมิ่ง) เดี่ยวไวโอลินเพลงฤดูใบไม้ผลิ ผลงานของอันโตนิโอ วิวาลดิ

จากความรู้สึกที่อิ่มบุญ อิ่มความสุข และปีติกับเสียงดนตรีที่ไม่คาดคิดมาก่อน ซึ่งก่อนการแสดงก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนเข้าไปชื่นชมวัดผาลาดเพราะว่ามีความสงบเงียบเรียบง่าย สะอาด สง่างามเป็นธรรมชาติดีสุดแล้ว วัดผาลาดกลายเป็นหอแสดงดนตรีชั้นเยี่ยมโดยบังเอิญและคาดไม่ถึง เมื่อได้ฟังดนตรีจบแล้วทุกคนก็ยังมีอารมณ์ค้าง เพราะความรู้สึกที่จบไม่ลง เหมือนว่าชีวิตได้ล่องลอยไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้

พบว่าเชียงใหม่มีผู้ฟังดนตรีสุดยอดอยู่จำนวนมาก มีพื้นที่สงบเงียบเพื่อการแสดงดนตรีคลาสสิกอย่างที่วัดผาลาดโดยไม่ต้องรอหอแสดงดนตรี พลังเสียงดนตรีได้เชื่อมกับพลังจิตทำให้ทุกคนสดใส ทุกคนได้ใช้พลังจิตสื่อสารผ่านจิตที่สงบและความร่มเย็นที่มีต่อกัน ทำให้พลังต่อกับพลังกันได้อย่างสนิท เมื่อเดินทางกลับบ้าน กระแสจิตก็ยังล่องลอยได้ยินเสียงดนตรีอันไพเราะและไม่ได้จางหายไป

เพลงฤดูร้อน ผลงานของวิวาลดิ เดี่ยวไวโอลินโดยพงศ์สิต การย์เกรียงไกร

สิ่งที่จัดวางได้ลงตัวคือ วงไทยออร์เคสตราสามารถแสดงวงขนาดเล็กได้ นักดนตรีที่มีความสามารถสูง เล่นเพลงคอนแชร์โต (คลาสสิกฝรั่ง) ได้เป็นอย่างดี ที่มีเสน่ห์มากก็คือ การนำเพลงลาวดวงเดือนและเพลงลาวคลึง มาทำเป็นคอนแชร์โต โดยให้นักกีตาร์คลาสสิกเล่นได้อย่างไพเราะและกลมกลืน ที่เท่ไปกว่านั้นคือการพัฒนาเอาเพลงพื้นบ้านและเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่างปี่จุม มาเดี่ยวกับวงไทยออร์เคสตราได้อย่างลงตัว

เพลงสุดท้ายได้นำเพลงชุมนุมเผ่าไทย (พ.ศ.2498) ซึ่งประกอบด้วยเพลงสำเนียงไทยกลาง ไทยใหญ่ ไทยล้านนา ไทยล้านช้าง สิบสองจุไท และสำเนียงไทยอาหม มาเล่าเรื่องด้วยสำเนียงเพลงที่มีความผูกพันของ “ชุมนุมเผ่าไต” กลายเป็นเพลงที่น่าสนใจมาก เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ชนเผ่าด้วยเพลง และที่สำคัญก็คือผู้ฟังตื่นเต้นที่ได้ยินเพลงของท้องถิ่นที่มีชีวิตและไพเราะ

เพลงฤดูใบไม้ร่วง ผลงานของวิวาลดิ เดี่ยวไวโอลินโดยกานต์ธิดา ปัญจปภาวิน

การแสดงดนตรีที่วัดผาลาดครั้งนี้ ได้ยกระดับดนตรีของท้องถิ่นขึ้นเป็นดนตรีคลาสสิกได้อย่างสง่างาม โดยลดช่องว่างระหว่างเพลงท้องถิ่น เพลงพื้นบ้าน นักดนตรีคลาสสิกหรือนักดนตรีพื้นบ้าน ได้เป็นพวกเดียวกัน คือนักดนตรีมีฐานะเท่าเทียมกัน มีโอกาสและได้รับการยกย่องและค่าตอบแทนระดับเดียวกัน สำหรับผู้ฟังแล้ว เกิดความภูมิใจในดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งมีพลังพุ่งสูงกว่าเพลงอื่นๆ อย่างอิ่มอกอิ่มใจ

การแสดงดนตรีที่วัดผาลาด สามารถใช้เป็นต้นแบบในการแสดงที่อื่นๆ ได้ กล่าวคือ ในเมื่อสังคมยังไม่มีหอแสดงดนตรี (Auditorium) ก็หันไปหาพื้นที่สาธารณะได้ โดยเฉพาะวงดนตรีที่ใช้ฝีมือสูง เพื่อพัฒนาจิตใจให้เจริญ ก็สามารถเลือกพื้นที่ของวัด โบราณสถาน อุทยานป่าไม้ เป็นต้น เมื่อได้พื้นที่เหมาะสมเพื่อการแสดงดนตรีอย่างที่วัดผาลาด ซึ่งมีความสงบเงียบ เรียบง่าย สะอาด สง่างาม และเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ห่างจากเมืองและเสียงหนวกหูอื่นๆ ล้อมรอบด้วยต้นไม้สะท้อนเสียง ที่สำคัญก็คือ เป็นพื้นที่ซึ่งมีมิตรรักแฟนเพลงสามารถเข้าถึงได้ จัดแสดงดนตรีคลาสสิกและเลือกเพลงของท้องถิ่นมาผสมผสานในรายการด้วย ซึ่งเป็นมิติและรูปแบบการจัดแสดงดนตรีด้วยวิธีใหม่

เพลงฤดูหนาว ผลงานของวิวาลดิ เดี่ยวไวโอลินโดยโชติ บัวสุวรรณ
เดี่ยวปี่จุมกับวงไทยออร์เคสตรา โดยครูแอ๊ด (ภานุทัต อภิชนาธง)

กรณีการจัดแสดงดนตรีแบบรับจ้าง ซึ่งจะแตกต่างไปจากการแสดงดนตรีเพื่อการฟัง เพราะการแสดงดนตรีแบบรับจ้างก็ต้องทำงานตามใจเจ้าของเงินหรือผู้ว่าจ้าง ส่วนใหญ่เป็นบริษัทรับจัดงาน (Organizer หรือ Agency) บริษัทจัดงานนอกจากจะกินแรงนักดนตรีแล้วยังทำหน้าที่เป็นผู้กำกับการแสดงทั้งหมด วงดนตรีและนักดนตรีมีหน้าที่ทำงานตามคำสั่งของผู้จัดการบริษัทจัดงานสถานเดียว

ส่วนรูปแบบการจัดงานที่วัดผาลาด เป็นการรวมพลังและร่วมใจกันจัดงานแสดงดนตรี โดยนักดนตรีคิดงานและแสดงงานดนตรีเอง เพื่อความไพเราะและเพื่อความเพลิดเพลินที่จะมอบให้แก่ผู้ฟัง โดยนักดนตรีเลือกเพลงเอง แสดงเอง รวมทั้งหาเงินเอง สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ เสรีภาพในการทำงานดนตรี (ศิลปะ) ตามใจศิลปิน

เดี่ยวกีตาร์ เพลงลาวดวงเดือนและเพลงลาวคลึง โดยชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ

สังคมไทยต้องการพื้นที่และต้องการเวทีแสดงดนตรี เพื่อให้โอกาสนักดนตรีที่มีฝีมือได้แสดงศักยภาพ ได้สร้างงานและสร้างอาชีพได้ การแสดงที่วัดผาลาดครั้งนี้ต้องอาศัยผลงานภาพวาดของ ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ซึ่งได้วาดภาพของวัดผาลาดไปพร้อมๆ การแสดงดนตรี เป็นรูปต้นไม้ เจดีย์เก่า อาคารโบราณในวัด รูปพระสงฆ์ น้ำตก ลำธาร เป็นต้น แล้วนำภาพดังกล่าวไปประมูล เพื่อให้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานแสดงดนตรีครั้งนี้ ญาติโยมนำอาหารมาเลี้ยงนักดนตรี มีผู้บริจาคค่าเดินทางให้นักดนตรี ในที่สุดการแสดงดนตรีที่ทำได้ยากเพราะอยากทำ ก็ทำได้สำเร็จอย่างงดงาม

สิ่งที่ค้นพบใหม่คือว่า ดนตรีคุณภาพกับผู้ฟังคุณภาพมีอยู่ในสังคมไทยแล้ว อาศัยพลังศรัทธาและพลังความไพเราะที่มีต่อกัน เมื่อเจอกันก็สามารถที่จะบันดาลให้เกิดงานดนตรีที่สร้างสรรค์และมีพลังที่เข้มแข็งได้

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image