ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีแพทย์รามาฯคนใหม่ ‘เราต้องไม่แพ้ชาติใดในโลก’

ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์
คณบดีแพทย์รามาฯคนใหม่
‘เราต้องไม่แพ้ชาติใดในโลก’

คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้บริการประชาชนมานานเกินครึ่งศตวรรษ

ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ออกสู่สนามมากกว่าหลายพันคน ผลิตแพทย์ต่อปีได้ถึง 150-200 คน โดยประมาณ พร้อมทั้งบุคลากรด้านอื่นๆ ปีละกว่า 300 คน

ปักธงให้ความสำคัญกับบทบาทแห่งการเป็นโรงเรียนแพทย์เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสู่ระบบสาธารณสุขไทย

Advertisement

มุ่งหวังพัฒนาวงการแพทย์ไทยให้ก้าวเท่าทันสภาวการณ์เปลี่ยนแปลง

ปัจจุบันมาถึงมือ ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ คนใหม่

ประกาศมุ่งสู่การผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก สร้างแพทย์ ไฮบริด เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อคนไข้

Advertisement

ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ จบการศึกษาจาก แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มวิชาชีพเวชกรรมตั้งแต่ พ.ศ.2528

มีความชำนาญด้าน อายุรศาสตร์ ความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง ด้านอายุรศาสตร์โรคเลือด

เข้าบริหารงานในคณะแพทยศาสตร์ จากตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายนโยบาย และสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กระทั่งนั่งเก้าอี้คณบดีในวันนี้

⦁ อยากให้ช่วยขยายความถึงพันธกิจ และเป้าหมายในการบริหารงานที่ระบุว่า ต้องไม่แพ้ชาติใดในโลก?

เราเป็นคณะแพทยศาสตร์ที่จะสร้างสรรค์ผลงานให้ดี ต้องมีมาตรฐานระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การสอน การวิจัย เรื่องของการบริการต้องได้มาตรฐานระดับโลก โรงพยาบาลรามาธิบดีของเราต้องไม่แพ้ชาติใดในโลกในด้านต่างๆ

1.ในเรื่องการบริการ เรามีมาตรฐานอย่างไร ต้องบริการให้ได้มาตรฐานตามนั้น และเรื่องงานวิจัย เราก็มีงานวิจัยที่พอจะไปคุยกับเขาได้ สามารถที่จะสู้เขา นำเสนอในเวทีระดับชาติได้

2.ความร่วมมือ ทางคณะแพทย์เองก็มีหลายแคมปัส ทำให้เกิดความร่วมมือทางด้านการส่งเสริมการทำงานเพื่อที่จะผลักดันวงการแพทย์ให้ก้าวหน้าได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกก็ต้องเป็นสิ่งที่เข้มแข็งเช่นกัน อย่างความร่วมมือมหาวิทยาลัยในประเทศ และมหาวิทยาลัยต่างประเทศ สถาบันการแพทย์ชั้นนำ ให้มีความรู้ของอาจารย์ และนักวิจัยของเรามีความรู้มากยิ่งขึ้น

3.การนำนวัตกรรมมาใช้ เราต้องการทำทุกอย่างให้ดีขึ้น ทั้งงานการบริการผู้ป่วย นำแนวคิดการบริหารการจัดการแบบใหม่เข้ามา เราพยายามที่จะออกไปให้บริการคนไข้ภายนอกมากขึ้นคนไข้หลายคนไม่สะดวก บ้านไกลบ้าง มีทั้งการตรวจสุขภาพก็จะมีคนให้ความสนใจและรับการบริการเป็นจำนวนมาก

4.ความยั่งยืน เป็นยุคของสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล ขณะเดียวกันความยั่งยืนขององค์กรก็เป็นสิ่งสำคัญ

เราดูแลคนไข้ เราต้องพยายามรักษาคุณภาพ รักษาความยั่งยืนของเราให้แข็งแรงเพื่อที่เราจะได้มีกำลังในการทำงานต่อไปเรื่อยๆ

⦁ แผนมุ่งพัฒนาสู่หลักสูตรแพทย์ ไฮบริด มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร?

การสร้างบุคลากรการแพทย์ ปัจจุบันมีหลักสูตรการเรียนการสอนผลิตบุคลากรการแพทย์หลากหลายสาขา แพทย์ที่เรียนที่รามาธิบดี จำนวน 150-200 คนต่อปี หลักสูตรปกติ 6 ปี ร่วมสร้างแพทย์ไฮบริด อาทิ  แพทย์นวัตกร หลักสูตรเรียนแพทย์ 6 ปี วิศวกร 1 ปี ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นแพทย์ที่มี 2 ปริญญา ได้แก่ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านการผลิตนวัตกรรมและเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ

แพทย์นักบริหาร หลักสูตรเรียนแพทย์ 6 ปี บริหาร 1 ปี ร่วมมือกับวิทยาลัยการจัดการ เพื่อผลิต แพทย์นักบริหาร เพื่อส่งเสริมให้แพทย์มีทักษะและความพร้อมในการบริหารจัดการโรงพยาบาล และองค์กรด้านสาธารณสุขตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ

และ แพทย์ที่เรียนที่โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา จำนวน 48 คน โดยในปีนี้เรามีความร่วมมือกับทางโรงพยาบาลมหาราช ซึ่งมีศูนย์แพทย์สถานศึกษา ได้รับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลรามาธิบดี เพราะฉะนั้นนักศึกษาที่เข้ามาในหลักสูตรนี้ก็จะเป็นนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี และรับปริญญาจากมหาวิทยาลัยมหิดลเช่นกัน

⦁ แนวคิดใช้ AI หุ่นยนต์ ในการจ่ายยา จะเริ่มต้นเมื่อไหร่?

เครื่อง AI จะนำมาถูกติดตั้งภายในปี 2568 เนื่องด้วยปัจจุบัน ยังติดเรื่องอาคารสถานที่ เพราะเครื่องมีขนาดใหญ่ เมื่อติดตั้งเสร็จสิ้นพร้อมเริ่มทำงานทันที

เนื่องด้วยคนไข้ ที่ต้องมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล มักใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควร  โดยเฉลี่ยแล้ว คนไข้ 1 คนที่ต้องมาพบแพทย์ และรับยากลับบ้านนั้นต้องใช้ระยะเวลาเฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อท่าน หรืออาจจะมากกว่านั้น ซึ่งอาคารในปัจจุบันอาจจะไม่เพียงพอต่อผู้มาใช้บริการ เพื่อลดความแออัดภายในอาคาร ในปัจจุบันเรามีแอพพลิเคชั่นของโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยสามารถดูสถานะของตนเองได้ว่าจะต้องรับยาอย่างไร จะได้ไม่กระจุกอยู่แต่ที่เดิม

ทางคณะแพทยศาสตร์รามาฯ มองเห็นปัญหาเหล่านี้ เนื่องจากจุดที่รับยา คือจุดที่ผู้ป่วยมักรอนานที่สุด ผู้ป่วยบางท่านเป็นโรคซับซ้อนมักใช้ยา 8-10 ชนิด โดยต่อวันเฉลี่ยมากกว่า 1,000 คน

ในอนาคตเราจึงเตรียมนำ AI ที่เป็นลักษณะหุ่นยนต์เข้ามาเพื่อมาช่วยเลือกในการหยิบจ่ายยา หรือคัดกรองยา เพื่อช่วยลดปริมาณการทำงานของเจ้าหน้าที่ ที่มีไม่เพียงพอ และเพื่อย่นระยะเวลาของคนไข้ที่ต้องรออยู่ในจุดห้องจ่ายเป็นจำนวนมาก

⦁ แผนอนาคตในการร่วมแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์ระหว่างประเทศคืบหน้าอย่างไรบ้าง?

สำหรับหลักสูตรพยาบาล ในช่วงอีก 2 ปีข้างหน้า เราจะมีความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยมีนักศึกษาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาศึกษาที่รามาธิบดี เป็นหลักสูตรพยาบาลนานาชาติ พอศึกษาจบแล้วเขาก็จะกลับไปทำงานที่จีนเหมือนเดิม

นอกจากหลักสูตรปกติ ยังร่วมมือกับภาควิชาฉุกเฉินการแพทย์และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อผลิตนักฉุกเฉินการแพทย์ ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ยังขาดแคลนในประเทศไทย

รวมถึงหลักสูตรการสื่อความหมายและแก้ไขการพูด ซึ่งช่วยผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ที่อาจมาจากการไม่ได้ยิน หรือมีปัญหาสืบเนื่องมาจากการเจ็บป่วยโรคอื่นๆ ทั้งกลุ่มที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือกลุ่มที่เป็นในช่วงอายุต่างๆ มีนักศึกษาเฉลี่ยปีละ 40 คน

•อีกแง่มุมน่าสนใจคือ หลักสูตรผู้พิการ ที่ต่อยอดการเรียนร่วมกับสังคมปกติ โดยมีสถาบันราชสุดา รับบทบาทหลักในการเดินหน้า?

สถาบันราชสุดา เป็นสถาบันการศึกษาสังกัดโดยมหาวิทยาลัยมหิดลทำหน้าที่ให้การศึกษากับผู้พิการด้านการได้ยิน ด้านการพูด แบ่งสัดส่วนนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและการพูด 50% และนักศึกษาทั่วไป 50% ซึ่งเป็นนโยบายที่ต้องการให้นักศึกษาผู้พิการ กับนักศึกษาทั่วไปเรียนร่วมกัน เพื่อเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิต ปัจจุบันสังคมที่เปลี่ยนไป

ทางเรายังสอนเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนา ภาษามือแบบไหนที่จะมีการพัฒนาได้ หรือแบบไหนที่มีประสิทธิภาพสูง เราต้องพัฒนาภาษามือของประเทศไทยให้เป็นภาษาสากลให้ได้มากที่สุด จุดมุ่งหมายของเรา เราต้องการให้ผู้พิการสื่อสารกับคนทั่วโลกได้

•อีกประเด็นสำคัญคือการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการรักษาโรคซับซ้อน องค์ความรู้และความพร้อมด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ของรามาฯ วันนี้อยู่ในสถานะใด?

เราเป็นคณะแพทย์ในมหาวิทยาลัย มีหน้าที่ต้องสร้างงานวิจัย ความรู้ใหม่ๆ ให้กับสังคมในประเทศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยทางการแพทย์ เพื่อคิดค้นแนวทางการรักษารูปแบบใหม่สู่การเป็นต้นแบบของการรักษาโดยเฉพาะการรักษาโรคที่มีความซับซ้อน รวมถึงโรคหายาก อาทิ โรคผิวหนังแข็ง, ภาวะลำไส้ไม่มีโพรงประสาท, โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE โรงพยาบาลรามาธิบดีมีเครื่องมือที่จะสามารถรักษาโรคซับซ้อนเหล่านี้ได้

ความซับซ้อนของโรคในอนาคตคงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเพราะว่า คนเราอยากมีชีวิตอยู่นานขึ้นก็จะมีการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยก็ดีขึ้น ทำให้โรคที่เป็นโรคพื้นฐานทางโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ต่างๆ สามารถที่จะจัดการได้

การผ่าตัดต่างๆ สมัยก่อนเราต้องผ่าตัดหน้าท้องใหญ่โต ปัจจุบันนี้เราผ่าตัดแบบการส่องกล้องทำให้แผลเล็กลงมาก เรามีการใช้หุ่นยนต์เข้าไปช่วยในการผ่าตัดร่วมด้วย ทำให้เกิดการแม่นยำสูงขึ้น และสามารถที่จะกลับบ้านได้ภายใน 2 วัน ผลข้างเคียงต่างๆ ก็จะน้อยลงไปมาก

งานวิจัยเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคซับซ้อน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเชิงลึก มีเครื่องมือพร้อมรักษาโรคซับซ้อน ปัจจุบันโรคมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากระบบสาธารณสุขไทยโดยรวมดีขึ้น โรงพยาบาลศูนย์สามารถรองรับโรคซับซ้อนได้ และคนมีอายุยืนยาวขึ้น นวัตกรรมการรักษามีความแม่นยำ ช่วยลดผลแทรกซ้อน ลดความเจ็บปวด และยืดชีวิตของผู้ป่วยได้ยาวนานยิ่งขึ้น

อย่างงานวิจัยด้านสเต็มเซลล์ (Stem Cell) สำหรับการรักษาโรค เช่น โรคเลือด โรคโลหิตจาง โรคมะเร็ง โดยใช้สเต็มเซลล์ในการทำให้กระดูกที่หักประสานกันได้ เพื่อยกระดับการรักษาพยาบาลในอนาคต

งานวิจัยพื้นฐานอย่างการหาตัวยาใหม่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจะมองหาตัวยาที่มีศักยภาพในการรักษาโรคที่อยู่ในสมุนไพรไทย เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มการเข้าถึงตัวยาได้มากยิ่งขึ้น เช่น กระชาย โดยมีการร่วมมือกับหลายหน่วยงานในการทำวิจัยสมุนไพรไทยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพยาให้ได้ผลดีขึ้น

•หัวใจทางการแพทย์ที่สำคัญที่สุดในมุมมองของ แพทย์รามา คืออะไร?

หัวใจสำคัญของการรักษาพยาบาลที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คือ การให้บริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพด้วยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมทั้งเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีความเพียบพร้อม

เราเตรียมความพร้อมให้บุคลากรทางการแพทย์มีศักยภาพในการรองรับการปฏิบัติงานควบคู่กับเครื่องมือเทคโนโลยีการแพทย์ล้ำสมัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตระหนักถึงการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ จึงมุ่งส่งเสริมองค์ความรู้ในการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ ผ่านการเรียนการสอนที่ใช้เครื่องมือทางการแพทย์ล้ำสมัย ให้รับรู้ถึงข้อดีและข้อจำกัดของเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมให้เหล่าบุคลากรทางการแพทย์มีองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างผลลัพธ์ทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

•Rama Channel คุ้นหูคุ้นตาคนไทยมาเกือบ 20 ปี กระจายข้อมูลสุขภาพที่ใครก็ต้องเคยได้ยิน เมื่อถึงยุคโซเชียลมีเดียก็พัฒนารูปแบบตามไปด้วย?

นอกจากการรักษา และสร้างเสริมสุขภาพแล้ว การให้บริการด้านงานวิชาการต่างๆ รวมถึงการให้ความรู้ทางสังคม ก็เป็นหน้าที่ของเราด้วย

Rama Channel เป็นหนึ่งในช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อกระจายข้อมูลและสร้างการรับรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้องสู่ประชาชนไทย เป็นสถานีโทรทัศน์สุขภาพที่ก่อตั้งมาเกือบ 20 ปี แล้ว เป็นสถานีเดียวที่ก่อตั้งมานานขนาดนี้ เผยแพร่ทางดาวเทียม และทางโซเชียลมีเดียมีผู้ติดตามกว่าหลักล้านคน ผลิตคอนเทนต์จำนวนมาก เราทำต่อเนื่องมาตลอด และจะทำต่อไป

•แผนการก่อสร้างอาคารใหม่และย่านนวัตกรรมโยธี มีรายละเอียดเบื้องต้นอย่างไร?

ในอนาคตเราวางแผนที่จะสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี บนพื้นที่ขององค์การเภสัชกรรมที่กำลังจะย้ายออกไป วัตถุประสงค์การสร้างนั้นก็เพื่อแบ่งเบาภาระหลักที่มีคนไข้จำนวนมาก อาคารนี้อายุกว่า 60 ปีแล้ว เรื่องมาตรฐานในสมัยใหม่ก็อาจจะไม่ได้แล้ว ทั้งเรื่องความสูงของเพดาน เรื่องความกว้างห้องผ่าตัด เราจะปรับปรุงก็ไม่ได้ เพราะมันติดอยู่กับโครงสร้าง หากเราต้องการทำให้เป็นมาตรฐานเราก็ต้องสร้างใหม่ ซึ่งจะสร้างในพื้นที่ประมาณ 300,000 ตารางเมตร ก็จะรับคนไข้ได้ประมาณ 800 เตียง กลุ่มคนไข้ที่ดูแล ก็จะเป็นกลุ่มคนไข้ทั่วไป

•ทิศทางการทำงานในวันพรุ่งนี้ของรามาธิบดีฯ เพื่อพัฒนาสาธารณสุขไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น?

คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแหล่งผลิตบุคลากร แหล่งผลิตความรู้วิชาการด้านสุขภาพให้กับประเทศ เราร่วมพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้ามากขึ้นทางด้านสาธารณสุข สร้างทั้งคน สร้างทั้งความรู้ ขณะเดียวกันก็ดูแลคนไข้ไปพร้อมๆ กัน เป็นหน้าที่เราที่ต้องพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้ดีขึ้น เราต้องสร้างหมอไทยให้เก่งขึ้น ต้องสร้างวงการสาธารณสุขไทยให้มีความสามารถที่จะรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงไป ทั้งสังคมผู้สูงอายุ สภาพอากาศที่จะเปลี่ยนแปลง

ทำอย่างไรให้สุขภาพคนไทยดีขึ้นโดยรวม พัฒนาสาธารณสุขไทยให้ก้าวหน้ามากขึ้น ที่ผ่านมาคิดว่าศิษย์เก่าของแพทยศาสตร์รามาธิบดี ช่วยเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขไทยได้มากพอสมควร

พรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ

มูลนิธิรามาธิบดีฯ มีจุดประสงค์มุ่งสนับสนุนทุกการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยครอบคลุมทั้ง 4 ด้านสำคัญ การสร้างบุคลากรการแพทย์ การวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการรักษาโรคซับซ้อน และการสร้างเสริมสุขภาพ ภายหลังได้ทำการริเริ่มโครงการใหม่ที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้การสนับสนุนและพัฒนาขึ้น ซึ่งขยายขอบเขตไปไกลและกว้างขวางมากกว่าแค่พื้นที่ในโรงพยาบาล เช่น โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน โครงการรามาธิบดีศรีอยุธยา และโครงการทุนสถาบันราชสุดา

พรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ

ปัจจุบันมีโครงการระดมทุนที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ให้การดูแลอยู่ในตอนนี้มีประมาณ 7 โครงการ โดยมีโครงการหลักอย่างโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญในปีนี้และอีกอย่างน้อย 7 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มพื้นที่ และเพิ่มศักยภาพทางการแพทย์ให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น สามารถรองรับเครื่องมือทางการแพทย์และเทคโนโลยีของการรักษาโรคซับซ้อนและก้าวหน้าขึ้นในอนาคต บนแนวคิด เข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจทุกข์คน โดยตั้งเป้าหมายการระดมทุนเพิ่มเติมจากการสนับสนุนของภาครัฐบาลรวมจำนวน 9,000 ล้านบาท ซึ่งจะถูกใช้ดำเนินการในการสร้างอาคารโรงพยาบาลและการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย

ทางมูลนิธิรามาธิบดีฯ ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขไทย มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงมีการระดมทุนเข้าโครงการทุนการศึกษารามาธิบดี เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการศึกษาในการสร้างบุคลากรการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพเข้าสู่ระบบสาธารณสุขไทยในอนาคต

ในการขับเคลื่อนสังคม เพื่อระดมทุนบริจาคให้กับโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี อาทิ ในปี 2566 ที่ผ่านมามูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้เปิดตัวโครงการ Rama x Gamer Fun For Fund ในการสตรีมเกมเพื่อการกุศล โดยมีการสตรีมเกมทั้งหมด 4 ครั้ง ผ่านสื่อทั้งหมด 5 ช่องทาง คือ Facebook และ YouTube รวมถึง X และการใช้ช่องทาง TikTok เพื่อเป็นอีกช่องทางสำหรับสื่อสารไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเนื้อหาสำคัญที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ต้องการสื่อสารคือ ความสุขจากการให้ไม่สิ้นสุด ฉะนั้น TikTok ของมูลนิธิฯ จึงใช้ชื่อว่า Rama is happy เพราะการให้สร้างความสุข และมีหลากหลายรูปแบบ

มูลนิธิรามาธิบดีฯ มีแผนความร่วมมือกับทั้งศิลปินและหน่วยงานอื่นๆ การร่วมมือกับทีมงานละครและคอนเสิร์ตเปิดขายบัตรการกุศล เช่น ละครเวทีฟ้าจรดทราย คอนเสิร์ตอัสนีวสันต์ คอนเสิร์ตสาวสาวสาว ความร่วมมือกับศิลปิน และแบรนด์คาแร็กเตอร์ต่างประเทศ เพื่อจัดทำของที่ระลึกการกุศล ที่มูลนิธิฯ ตั้งใจให้เป็นสื่อกลางแห่งความสุขที่ส่งต่อให้กันได้ โดยของที่ระลึกการกุศลของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ตั้งใจจัดทำเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมทำบุญและเป็นเจ้าของ หรือนำไปมอบเป็นของขวัญแก่บุคคลที่รักในโอกาสต่างๆ โดยรายได้ทั้งหมดนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ และจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์

สัญลักษณ์ หัวใจอินฟินิตี้, การให้, ความสุข นำมาสร้างสรรค์เป็นแคมเปญที่เข้ากับยุคสมัย  ในปี พ.ศ.2567 นี้มูลนิธิรามาธิบดีฯ มีการวางแผนกลยุทธ์การสื่อสาร เพื่อครองใจกลุ่มผู้บริจาครุ่นใหม่มากขึ้น โดยใช้สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญขององค์กรมาเป็นแกนหลักในการสร้างสรรค์แคมเปญระดมทุนต่างๆ ซึ่งก็สอดคล้องกับเทรนด์ที่สังคมกำลังพูดถึงในปัจจุบันคือ แนวคิด Soft Power

และนี่คือความสุขที่ได้จากการให้ ไม่มีคำว่าสิ้นสุด

ชญานินทร์ ภูษาทอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image