48 ปี (ทำไม) เคลียร์ไม่จบ? จุฬาฯ-อุเทนถวาย กฎหมาย จิตวิญญาณ ประวัติศาสตร์ความทรงจำ

นักศึกษาและศิษย์เก่านับ 2,500 ชีวิต แห่เดินขบวน ‘คัดค้านการย้ายเขตพื้นที่อุเทนถวาย’ เมื่อ 27 ก.พ.

48 ปี (ทำไม) เคลียร์ไม่จบ?
จุฬาฯ-อุเทนถวาย
กฎหมาย จิตวิญญาณ ประวัติศาสตร์ความทรงจำ

‘เราอยู่กันมาเกือบ 100 ปี เราจะไม่ยอมย้ายไปไหน’

หนึ่งในป้ายข้อความประท้วง ที่แสดงเจตจำนงอย่างหนักแน่น จากนักศึกษาและศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ‘อุเทนถวาย’ นัดหมายรวมตัวกันกว่า 2,500 คน แสดงพลังแบบสู้หลังชนฝา ตบเท้าเข้ายื่นหนังสือ ‘คัดค้านการย้ายเขตพื้นที่อุเทนถวาย’ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นักศึกษาและศิษย์เก่าอุเทนถวาย กว่า 2,500 คน เคลื่อนขบวนไปยังสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการย้ายพื้นที่

ตลอดเส้นทางแห่งการต่อสู้ทวงคืนพื้นที่ครั้งนี้ ขับเคลื่อนแรงฮึดสู้ด้วยรถขยายเสียงบอกเล่าประวัติความเป็นมาของอุเทนถวาย พร้อมเสียงตะโกนกู่ก้อง ‘ไม่ย้ายออกจากพื้นที่ อุเทนถวายสู้ๆ’ สร้างความฮึกเหิมระหว่างเดินเท้า บุกเข้าพบคณะผู้บริหารสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอให้ทำข้อตกลงที่จะรักษาประวัติศาสตร์อุเทนถวาย และประกาศให้เป็นพื้นที่สาธารณสมบัติ

Advertisement

ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนมาเยือนยานแม่ เข้าพบผู้ดูแลโดยตรง ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

“หลังจากคุยกันแล้วไม่ต้องห่วง จะบอกว่ากระทรวง อว.เหมือนแม่ มีหน้าที่ดูแลลูก เขาก็เหมือนลูก เรามีหน้าที่ดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อย นอกจากจะยึดหลักกฎหมายแล้ว เรายังต้องยึดมิติทางสังคมด้วย เพื่อให้สังคมมีความสงบมีความสุข และเกิดข้อขัดแย้งให้น้อยที่สุด” ศุภมาสเผยในภายหลัง

ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ขณะที่นักศึกษาส่วนหนึ่ง แยกขบวนเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้วินิจฉัยทบทวน พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2551 โดยได้มีการอ้างอิงประวัติการก่อสร้างวิทยาลัยอุเทนถวาย ก่อนที่จะมาเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ในปัจจุบัน

Advertisement

วิทยาเขตอุเทนถวายได้ก่อตั้งมา 89 ปี มีศิษย์เก่าอยู่มากมา ที่ประสบความสำเร็จในการงาน และศิษย์ปัจจุบัน ที่กำลังศึกษาอยู่จะเป็นปัญหาในระบบการศึกษาของนักศึกษาปัจจุบัน พร้อมทั้งตั้งคำถามด้วยว่าสถานที่แห่งนี้ “ควรเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการค้าพาณิชย์?” ตัวแทนนักศึกษาตั้งคำถามสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่

เสียงทั้งสองฝ่ายเกี่ยวเนื่องกับปัญหาเชิงพื้นที่ ผ่านการเจรจาอย่างยืดเยื้อมานานกว่า 48 ปี

แม้ปัจจุบันจะได้ข้อสรุปด้านกฎหมายอย่างชัดเจน จากศาลปกครองสูงสุด ที่มีคำสั่งกำหนดให้ย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 60 วัน หลังจากออกคำสั่งเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา พร้อมเสนอพื้นที่ใหม่ขนาด 20 ไร่ 3 งาน แต่ก็ไม่เป็นผลที่น่าพึงพอใจของเหล่านักศึกษา โดยอ้างอิงเหตุผลเชิง ‘ประวัติศาสตร์’

ขณะที่หัวเรือใหญ่ อว.ย้ำชัดอีกทีว่า ประเด็นนี้ผ่านการพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยแล้ว

โดยจัดทำโครงการก่อสร้างขยายเขตพื้นที่การศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ไปยังย่านมีนบุรี กรุงเทพฯ

พร้อมกับได้เสนอของบประมาณในปี 2568 จำนวนประมาณ 400 ล้านบาทต่อสำนักงบประมาณ

ด้านศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันยังคงลุยค้าน โดยยืนยันว่า

“แม้ในทางกฎหมายอาจไม่ใช่ผู้ชนะ แต่เสียงของชาวอุเทนถวายจากอดีตถึงปัจจุบันไม่เคยเปลี่ยน และพร้อมที่จะต่อสู้เสมอ”

จาก ‘เพาะช่าง แผนกก่อสร้าง’
สู่ ‘(เชิงสะพาน) อุเทนถวาย’

‘ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานองค์พระวิษณุ’ คือ หนึ่งในประโยคที่ถูกหยิบยกมาเขียนป้ายประท้วง ในการชุมนุมครั้งนี้ แสดงถึงจิตวิญญาณที่นักศึกษาอุเทนถวายหวงแหน พื้นที่ทางประวัติศาสตร์การสืบสาน ‘วิชาช่างไทย’ หลากรุ่น มีการริเริ่มโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภไว้แล้วแต่ยังมิทันได้โปรดเกล้าฯให้ดำเนินการก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน

กระทั่ง พ.ศ.2456 กระทรวงธรรมการ ซึ่งมีเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เป็นเสนาบดี ได้จัดการก่อสร้างโรงเรียนฝึกหัดการหัตถกรรม เพื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นที่บริเวณถนนตรีเพชรและนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานนาม โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามว่า ‘โรงเรียนเพาะช่าง’ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม พุทธศักราช 2456

ต่อมา ใน พ.ศ.2474 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ทรงเป็นเสนาบดี กระทรวงธรรมการ พระเสนอพจนพากย์ (เสนอ รักเสียม) เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเพาะช่าง จึงได้เปิดการสอนวิชาช่างแผนกแบบแปลน และเปิดแผนกรับเหมาก่อสร้างขึ้นที่ ‘เชิงสะพานอุเทนถวาย’ ถนนพญาไท ให้ชื่อแผนกที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า โรงเรียนเพาะช่าง แผนกก่อสร้าง

โดยสะพานอุเทนถวาย ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานนักเรียนเพาะช่าง อันเป็นที่มาของชื่อโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายนั้น เป็นสะพานข้ามคลองสวนหลวง ถนนพญาไท คลองนี้เชื่อมต่อกับคลองอรชร ข้าราชการและพนักงานกรมสรรพากรใน ร่วมกันบริจาคเงินจำนวน 8,015 บาท 40 สตางค์ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างสะพานในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

จนเมื่อ พ.ศ.2455 เจ้าพระยายมราชเสนาบดีกระทรวงวัง ซึ่งกำกับดูแลกรมสุขาภิบาล ได้เสนอชื่อสะพานที่จะสร้างใหม่ทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงเลือก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า ‘อุเทนถวาย’ โดยกรมสรรพากรมีตราประจำกรมเป็นรูปพระเจ้าอุเทนธราธิราชดีดพิณ หรืออุเทนราชดีดพิณ ดังนั้นอุเทนราชจึงเป็นสัญลักษณ์ของกรมสรรพากรและข้าราชการในสังกัด สะพานอุเทนถวายจึงหมายถึง ‘สะพานที่ข้าราชการกรมสรรพากรสร้างถวาย’

ผ่านเวลาล่วงเลย จนถึงช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้มีคำสั่งเรื่องตั้งโรงเรียนวิสามัญศึกษาช่างก่อสร้างขึ้นที่โรงเรียนเพาะช่างแห่งนี้ โดยให้ชื่อว่า “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย” ผ่านประวัติศาสตร์ยาวนาน จนกลายมาเป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวายในปัจจุบัน

‘ช่างก่อสร้างอุเทนถวาย’ จึงเป็นสถาบันการศึกษาเก่าแก่ เป็นโรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรก ที่อุบัติขึ้นในประเทศไทยและผลิตช่างฝีมือคุณภาพ ออกรับใช้สังคมอย่างต่อเนื่อง เกียรติภูมิของสถาบันแห่งนี้เป็นที่ชื่นชมของบรรดาครูบาอาจารย์และศิษย์ช่างก่อสร้าง

โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย (ภาพจาก : มูลนิธิสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย)

วิวาทะคนดัง ฟังความ 2 ฝั่ง
‘จุฬาฯ-อุเทนถวาย’ เสมือนพี่น้อง?

กลับมาที่ประเด็นยืดเยื้อระหว่างจุฬาฯ-อุเทนถวาย

แน่นอนว่างานนี้ย่อมมีความเห็นแตกต่างหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือศิษย์เก่าคนดัง อย่าง ยืนยง โอภากุล หรือแอ๊ด คาราบาว ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า

‘อุเทนสู้ๆ อุเทนสู้ตาย เสียดายผมอยู่อังกฤษ ถ้าบ้านนี้เมืองนี้มีแต่คนออกแบบ แต่ขาดไร้ซึ่งช่างก่อสร้าง โลกคงจบสิ้นไปนานแล้ว’

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเน้นย้ำว่า

‘อุเทนถวายกับจุฬาลงกรณ์ เป็นเสมือนพี่น้องกัน’

โดยหยิบยกประวัติศาสตร์การก่อตั้ง 2 สถาบันการศึกษา พร้อมระบุว่า ตน ‘รับไม่ได้’

‘ขอประท้วงจุฬาฯ ผู้นำมาซึ่งความไม่ชอบธรรมนี้ด้วย 3 เกิบ หากเรารักสมัครจิตก็จงคิดสมัครมือ ถิ่นสีน้ำเงินคือที่รวมรักสมัครคง ครับพี่น้อง’ แอ๊ดระบุ

ก่อนที่คนดังจากฝั่งจุฬาฯ จะเปล่งวาจาข้ามรั้วผ่านเฟซบุ๊กเช่นกัน

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความโต้ว่า ไม่เคยรู้สึกถึงความเป็นพี่น้อง โดยติดแฮชแท็กว่า #กฎหมู่จะอยู่เหนือกฎหมาย หรือไม่ ?

เตรียมอุดมฯ ไม่โดนไล่?
อุเทนถวายมีคำถาม ประวัติศาสตร์มีคำตอบ

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ในช่วงเวลาเดียวกัน เกิดคำถามจากฝั่งค้านย้าย โดยเฉพาะศิษย์เก่าอุเทนถวายในทำนองว่า เหตุใด โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งอยู่ในรั้วจุฬาฯเช่นกัน จึงไม่ถูกรุกไล่?

โลกออนไลน์ รุดแนะให้พิจารณาเบื้องต้นตั้งแต่ตราโรงเรียนซึ่งเป็นรูป ‘พระเกี้ยว’ เช่นเดียวกับจุฬาฯ

ที่สำคัญ คือประวัติการก่อตั้งโดยมีชื่อเดิมคือ

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่วนสีประจำโรงเรียนนั้นไซร้ ก็ยังเป็น (น้ำใจน้องพี่) ‘สีชมพู’ เฉดเดียวกับจุฬาฯ เปี๊ยบ

ข้อมูลอย่างเป็นทางการจากเว็บไซต์โรงเรียนเตรียมอุดมฯ ยังระบุชัดเจนว่า เดิมสังกัดอยู่กับจุฬาฯ ก่อตั้งขึ้นเพื่อเตรียมนักเรียนแผนกต่างๆ ก่อนเข้าศึกษาในคณะวิชาต่างๆ ของจุฬาฯโดยเฉพาะ โดยสภามหาวิทยาลัยลงมติจัดตั้งโรงเรียนดังกล่าวขึ้นเมื่อ 3 มกราคม พ.ศ.2480

ถือเป็นโรงเรียนสหศึกษาแห่งแรกของประเทศตามแผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2479 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎร

ย้อนเทียบเหตุร้อน ย้าย-ไม่ย้าย
‘ธรรมศาสตร์’ จากท่าพระจันทร์ไปรังสิต

อาคารตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เหตุการณ์ย้าย-ไม่ย้ายที่ตั้งของสถาบันการศึกษาของรัฐที่เกิดความเห็นต่างครั้งสำคัญเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่มีมาแล้วหลายต่อหลายหน

เหตุการณ์ที่ผู้คนยังจดจำได้ดี หนีไม่พ้นกรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อกว่า 20 ปีก่อน โดยครั้งนั้น ถึงขนาดมีแคมเปญจริงจัง แจกสติ๊กเกอร์รณรงค์ ‘ไม่ย้าย’ ไปจากท่าพระจันทร์ โดยให้เหตุผลในเชิง ‘จิตวิญญาณ’

ย้อนไปใน พ.ศ.2544 กับโจทย์ที่ว่า ‘ย้าย’ หรือ ‘ไม่ย้าย’ ธรรมศาสตร์ ‘ท่าพระจันทร์’ สู่ ‘ทุ่งรังสิต’ ปทุมธานี ซึ่งแม้ว่าสถานที่แห่งใหม่ที่สร้างขึ้นอยู่บนพื้นที่กว้างขวางกว่า 3 พันไร่ สามารถรองรับศักยภาพและขยายตัวได้มากขึ้น แต่ประชาคมธรรมศาสตร์เกิดการถกเถียงอย่างเข้มข้น โดยมีประเด็นหลักคือ ‘ย้าย หรือ ขยาย’ และ ‘จิตวิญญาณจะสูญสลายหรือไม่’ เป็นคำถามที่ชวนให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันทั้งฝั่งค้าน และฝ่ายสนับสนุน

ในช่วงเวลานั้น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้คัดค้านเคยแสดงความคิดเห็นอย่างเผ็ดร้อนว่า เราจำเป็นต้องตีความกันก่อนว่า การไปรังสิตเป็นการ ‘ย้าย’ หรือ ‘ขยาย’

“มหาวิทยาลัยควรจะขยาย โดยการให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 เรียนวิชาพื้นฐานที่รังสิตเหมือนที่เป็นอยู่ ส่วนโครงการที่ขยายเพิ่มเติม หรือคณะที่จะตั้งขึ้นใหม่ ถึงจะเอาไปไว้ที่รังสิต

เราจะต้องรักษาปริญญาตรี ซึ่งเป็นหัวใจของมหาวิทยาลัยเอาไว้ที่ท่าพระจันทร์ โดยเฉพาะคณะนิติศาสตร์ บัญชี รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เพราะเป็นคณะดั้งเดิมของธรรมศาสตร์ และมีความแข็งแกร่งทางวิชาการมาก

การย้ายไปอยู่รังสิตยังเป็นการทำลายจิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ ที่ตรงนี้เป็นที่เปิดการศึกษาของชาติครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทำให้คนจำนวนมากได้เรียน ได้เลื่อนฐานะ เป็นผู้ที่กู้ชาติในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นที่บัญชาการของเสรีไทย ที่ตรงนี้ต่อสู้กับเผด็จการทหาร เป็นระยะเวลายาวนานมาก และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับประชาสังคม

ถ้านักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่ได้อยู่ตรงนี้ เขาก็ย่อมจะไม่มีจิตวิญญาณ ความเป็นธรรมศาสตร์ สถานที่มีความสำคัญมาก ในการปลูกฝังความรู้สึกนึกคิด” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวเมื่อกว่า 2 ทศวรรษก่อน

อาคารโดมบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ขณะที่ ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ อดีตรองอธิการบดี ฝ่ายวางแผนพัฒนาและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนั้นได้แสดงมุมสนับสนุนการย้าย โดยระบุว่าเป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่สมัยที่ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี เมื่อปี พ.ศ.2512 แล้ว เพราะท่านเล็งเห็นว่าท่าพระจันทร์นั้นคับแคบเกินไป เราอยากให้นักศึกษาได้ใช้ชีวิต ในการเรียนร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกันตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนกระทั่งจบการศึกษา…

แต่สิ่งหนึ่งซึ่งรังสิตอาจจะขาดไปก็คือ บรรยากาศที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของท่าพระจันทร์ ซึ่งชาวธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญ และมีความผูกพันมาก ผู้บริหารตระหนักในเรื่องนี้ดี จึงมีแนวคิดที่จะให้นักศึกษาปริญญาตรี มีความผูกพันกับท่าพระจันทร์ โดยการจัดหลักสูตรภาคฤดูร้อนที่ท่าพระจันทร์, รับปริญญาที่ท่าพระจันทร์ และจัดให้นักศึกษามาร่วมกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยที่ท่าพระจันทร์

“ผมไม่คิดว่าการย้ายนักศึกษาปริญญาตรีไปอยู่ที่ศูนย์รังสิต จะทำให้เด็กรุ่นใหม่สูญเสียความเป็นธรรมศาสตร์ เพราะสถานที่ย่อมมีบทบาทในการปลูกฝังความเป็นธรรมศาสตร์น้อยกว่าการสอนให้นักศึกษาเข้าใจถึงจริยธรรมและปรัชญาของมหาวิทยาลัย มุมมองของคณาจารย์บางส่วนที่คิดว่าท่าพระจันทร์ทำให้นักศึกษามีความผูกพันกับมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ผิด แต่ในเชิงการบริหาร เราต้องชั่งน้ำหนักว่า แนวทางใดจะเป็นประโยชน์กับการพัฒนามหาวิทยาลัยมากกว่า

เราควรให้ความสนใจกับสิ่งที่จะสร้างให้นักศึกษาเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์แบบ การคิดแต่ว่าตัวอาคารและสถานที่เป็นเพียงอย่างเดียวที่ปลูกฝังความเป็นธรรมศาสตร์นั้น เป็นการคิดไม่รอบด้าน

บทบาททางการเมืองและสังคมของมหาวิทยาลัยก็คงไม่ลดน้อยลงไป เพราะโดยหลักการ ธรรมศาสตร์ก็ทำเพื่อสังคมอยู่แล้ว” ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์เผยอีกมุม

แม้ธรรมศาสตร์จะมีแนวคิดจะย้ายตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 แล้วคืบคลานเข้าสู่ ‘ยุครังสิต’ ในปี พ.ศ.2529 ที่มีการเริ่มย้ายอาจารย์และนักศึกษาไปเรียนที่นั่น รวมถึงมีการเปิดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นคณะแรก

สุดท้ายได้บทสรุปปี 2544 มีนโยบายให้นักศึกษา 8 คณะ ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่ท่าพระจันทร์ ต้องไปเรียนรังสิต 2 ปีแรก และกลับมาเรียนปีที่เหลือที่ท่าพระจันทร์ จนกระทั่งมีการถ่ายโอนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปี 2552 โดยฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย ให้อาจารย์และนักศึกษาปริญญาตรีทุกชั้นปีที่ท่าพระจันทร์ ย้ายไปทำการเรียนการสอนที่รังสิต

นักศึกษากว่า 500 คน ยื่นหนังสือคัดค้านการย้ายวิทยาเขตอุเทนถวาย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566

กลับมาที่เคส จุฬาฯ-อุเทนถวาย แม้ไม่เหมือนกันเสียทีเดียวกับกรณีข้างต้น ไม่ว่าจะเชิงกฎหมายและรายละเอียดปลีกย่อย แต่เหตุผลที่ถูกฝั่งค้านย้ายหยิบยกมีไฮไลต์คือ ‘จิตวิญญาณ’ ในประวัติศาสตร์ของสถาบันการศึกษาที่ยึดโยงกับพื้นที่เดิม โดยในกรณีของธรรมศาสตร์ซึ่งท้ายที่สุดการคัดค้านไม่เป็นผล แต่ปัจจุบันนับได้ว่ายังคงรักษาประวัติศาสตร์ภายใต้อุดมการณ์ร่วมกันกับคนรุ่นต่อไปได้ไม่มากก็น้อย

ขณะที่กรณีอุเทนทวาย ดูเหมือนยังคงไม่ชัดเจนแนวทางการถ่ายโอนประวัติศาสตร์ที่บรรจุเรื่องราวอันยาวนานลงในสถานที่แห่งใหม่ได้ จึงทำให้เต็มไปด้วยบรรยากาศของความหวาดกลัว การสูญหายของความทรงจำบนพื้นที่เดิม จนเกิดการลุกขึ้นต่อต้านการพลิกโฉมย้ายไปสู่ที่ตั้งใหม่

ดังนั้น การย้ายสถาบันการศึกษา จึงไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลง เพียงเพื่อขยับขยายเชิงพื้นที่ แต่ยังมีโจทย์เรื่องของการถ่ายโอนจิตวิญญาณ ที่สามารถเชื่อมโยงอุดมการณ์ของนักศึกษาหลากรุ่น บรรจุลงบนพื้นที่แห่งใหม่ให้ได้

นี่อาจเป็นโจทย์สำคัญที่ยังต้องร่วมจับตาในทางออกของทุกฝ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image