บัวหลวงเซฟโลก‘รักษ์ท่าจีน’ รุกฆาตสกัดขยะปากแม่น้ำ เปิดแผน 5 ปี กู้วิกฤตที่รอไม่ได้

บัวหลวงเซฟโลก‘รักษ์ท่าจีน’ รุกฆาตสกัดขยะปากแม่น้ำ เปิดแผน 5 ปี กู้วิกฤตที่รอไม่ได้

ขยะทะเลในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ล้วนแล้วแต่มาจากฝีมือมนุษย์โดยทั้งสิ้น โดยร้อยละ 80 เกิดขึ้นจากบนบก

โดยเฉพาะขยะพลาสติกซึ่งทำร้ายสัตว์ใต้ท้องทะเลอย่างมากมาย อย่างหลอดที่เข้าไปติดจมูกเต่า ถุงพลาสติกที่ปลากินเข้าไป หรือแม้กระทั่งอวนประมงที่เข้าไปพันตัวโลมา

สิ่งเหล่านี้คร่าชีวิตสัตว์น้ำอย่างน่าเศร้า

Advertisement

ธนาคารกรุงเทพ หรือบัวหลวงแบงก์ ที่เรารู้จักกันดี จึงเข้าไปมีส่วนร่วมในการรุกขับเคลื่อนโครงการ “Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน” จับมือหน่วยงานราชการท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายชุมชน ลุยติดตั้งทุ่นดักขยะ ประเดิมพื้นที่นำร่อง ได้แก่ คลองหลวงสหกรณ์ และคลองพิทยาลงกรณ์ ในพื้นที่วัดสหกรณ์โฆสิตาราม จังหวัดสมุทรสาคร หวังลดปริมาณขยะที่ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนและอ่าวไทย ปีละกว่า 148 ตัน

พร้อมเร่งศึกษาที่มาของขยะ ตั้งเป้าหมายแก้ให้ถึงต้นตอปัญหา ตอกย้ำบทบาท “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ที่มุ่งมั่นสร้างรากฐานความยั่งยืนในทุกมิติของสังคมไทย พร้อมก้าวสู่ปีที่ 80 อย่างแข็งแกร่ง

ทุ่นดักขยะ ติดตั้งที่คลองหลวงสหกรณ์ และคลองพิทยาลงกรณ์

‘บัวหลวง’ผนึกท้องถิ่น

Advertisement

ร่วมมือ Save the Earth

มาฟังแนวคิดที่มาของการริเริ่มโครงการนี้จาก กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเผยว่า ตามที่ธนาคารได้เริ่มต้นดำเนินโครงการ “Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน” เพื่อร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะในแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย โดยปัจจุบันได้เริ่มดำเนินงานในระยะที่ 1 อย่างต่อเนื่อง

กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ล่าสุด ได้ร่วมกับหน่วยงานราชการท้องถิ่น ประชาชน และชุมชนในพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน สมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาสมุทรสาคร องค์การบริหารส่วนตำบลโคกขาม วัดสหกรณ์โฆสิตาราม และประชาชนในพื้นที่ เพื่อติดตั้ง “เครื่องมือดักขยะ” ในพื้นที่นำร่องบริเวณคลองหลวงสหกรณ์ และคลองพิทยาลงกรณ์ ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร หลังจากศึกษาข้อมูลและสำรวจพื้นที่ร่วมกันพบปัญหาขยะจำนวนมากที่ไหลจากชุมชนต่างๆ มารวมบริเวณนี้ก่อนจะถูกกระแสน้ำพัดพาออกปากแม่น้ำท่าจีนและอ่าวไทย

ยืนยันว่า แม้จะเป็นองค์กรใหญ่แต่ขอไม่ทิ้งชุมชน กอบศักดิ์เล่าว่า นอกจากการติดตั้งเครื่องมือดักขยะแล้ว คณะทำงานยังได้เริ่มดำเนินงานตามแผนในระยะ 2 โดยจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และปลูกฝังในเรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือนให้แก่ชุมชนและโรงเรียนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และต่อยอดสู่การเพิ่มมูลค่าและเป็นรายได้ให้แก่ครอบครัว เมื่อชุมชนเริ่มมีองค์ความรู้และขยะที่คัดแยกออกมาได้มีปริมาณที่มากขึ้น ธนาคารจะเริ่มพัฒนาและต่อยอดสู่การก่อตั้งโครงการ “ธนาคารขยะ” ในชุมชนต้นแบบ ให้ประชาชนและบริษัทรับซื้อ เข้ามาแลกเปลี่ยนซื้อขายขยะในพื้นที่ เพื่อให้จัดการขยะได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ

บ่อดักขยะ ในพื้นที่วัดสหกรณ์โฆสิตาราม จังหวัดสมุทรสาคร

ติดตั้ง‘น้องจุด’ที่พักขยะถาวร

คุมขัง‘ขวดพลาสติก’ก่อนคัดแยก-รีไซเคิล

สำหรับเครื่องมือดักขยะที่ติดตั้ง ประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่ ทุ่นดักขยะ (Boom) ผลิตจากพลาสติก HDPE สีเหลือง ขนาด 0.35×0.50 เมตร พร้อมตาข่ายความยาว 15 เมตร และลึกลงไปจากผิวน้ำ 50 เซนติเมตร อายุการใช้งาน 5-7 ปี กระชังไม้ไผ่ดักขยะ เป็นโครงไม้ไผ่ติดอวน ขนาด 3×3 เมตร อายุใช้งาน 3-5 ปี และเครื่องมือดักขยะแบบปักหลัก เป็นโครงไม้ไผ่ผูกอวน ขนาด 5×10 เมตร อายุใช้งาน 3-5 ปี ซึ่งเครื่องมือทั้ง 3 ประเภทเหมาะสมกับสภาพกระแสน้ำ สามารถรองรับกระแสน้ำขึ้นน้ำลงได้ จะเป็นตัวช่วยดักขยะที่ไหลมาตามน้ำไม่ให้ไหลต่อลงสู่แม่น้ำท่าจีนและทะเลอ่าวไทย

น้องจุด

ขณะเดียวกัน ได้ทำการติดตั้ง “น้องจุด” หรือฉลามวาฬพี่ใหญ่แห่งท้องทะเล เป็นที่พักขยะแบบถาวร สำหรับพักขยะประเภทขวดพลาสติก ทั้งจากการดักจับบนผิวน้ำและเกิดขึ้นบนบก ซึ่งเป็นหนึ่งในขยะทะเลที่ถูกพบมากในประเทศไทย โดยจะตั้งวางไว้ 2 จุดในบริเวณลานวัดสหกรณ์โฆสิตาราม ซึ่งเป็นพื้นที่การจัดกิจกรรมและตลาดนัดเป็นประจำ ทั้งนี้ อุปกรณ์ทุกประเภทดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้ามาดูแลเป็นประจำ โดยตักขยะเพื่อนำไปคัดแยกและรีไซเคิล ส่วนขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้แล้ว หรือขยะกำพร้า จะถูกส่งไปทำเชื้อเพลิงทดแทนให้เกิดประโยชน์ต่อไป

กิจกรรมการคัดแยกขยะโดยฝีมือนักเรียน

เปิดแผน 5 ปี จัดการปัญหาขยะปากแม่น้ำ

เรื่องใหญ่ที่ ‘รอไม่ได้’

กอบศักดิ์ยังเน้นย้ำว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของธนาคารกรุงเทพที่ต้องการเข้าไปแก้ไขปัญหาขยะทะเล โดยมีการร่วมลงนามใน “บันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ” เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ณ จังหวัดภูเก็ต เพื่อเข้าร่วมโครงการในระยะนำร่อง 5 แห่ง แบ่งพื้นที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาขยะใน 5 แม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเล (แผนงานระยะ 5 ปี ระหว่าง ปี 2566-2570) โดยธนาคารกรุงเทพดำเนินการแก้ปัญหาขยะใน “แม่น้ำท่าจีน” และได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานราชการท้องถิ่นและชุมชน โดยตัดสินใจวางแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกันอย่างครอบคลุมทุกมิติ ภายใต้แนวทางแก้ปัญหาครบวงจร เพิ่มการมีส่วนร่วม และสร้างรายได้ให้ชุมชน เพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดการขยะทะเลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

กอบศักดิ์ ภูตระกูล นำทีมคัดแยกขยะ

“ขอแรงทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดัน โครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะทะเล โดยแม่น้ำท่าจีน เป็น 1 ใน 5 แม่น้ำสายสำคัญที่จะไหลลงสู่ทะเล และพบปัญหาขยะที่มีมากกว่า 14 ล้านชิ้น หรือประมาณ 148 ตันต่อปี เป็นเรื่องใหญ่มากซึ่งเรารอไม่ได้ ต้องเร่งกำจัดขยะเหล่านี้ออกให้เร็วที่สุด ควบคู่กันก็คือ ต้องสกัดไม่ให้ขยะใหม่ไหลลงไปสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น อันเป็นที่มาของการติดตั้งเครื่องมือดักขยะที่เราทำในครั้งนี้

“ดังจะเห็นว่าอยู่ในแผนระยะแรกของโครงการที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันเรามีสมาชิก ‘Bualuang Green Team’ และทีมเจ้าหน้าที่จิตอาสาของธนาคาร ทั้งจากสำนักงานใหญ่ และพนักงานสาขาในพื้นที่ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลโคกขาม ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรม โดยจะมีการบันทึกข้อมูลเพื่อวัดปริมาณขยะแต่ละประเภทและวิเคราะห์ที่มาของขยะ เพื่อจะได้เข้าใจปัญหาอย่างชัดเจนและแก้ไขไปจนถึงต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหา อันจะทำให้เป็นการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน” กอบศักดิ์กล่าว

ธนาคารกรุงเทพฯ ผนึกภาครัฐและท้องถิ่น ร่วม ‘รักษ์ท่าจีน’

ไม่ถึงปี ลดขยะได้เพียบ

ทช.ขอบคุณ‘เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน’ กัลยาณมิตรเซฟสิ่งแวดล้อม

ด้าน เกรียง มหาศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 เผยว่า ภาพรวมในแม่น้ำท่าจีน สมุทรสาคร นั้นเดิมปริมาณขยะค่อนข้างเยอะ ปัจจุบันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เข้ามาจัดการขยะก่อนที่จะลงสู่ทะเล ทำให้ปริมาณขยะลดน้อยลงพอสมควรด้วยมาตรการต่างๆ

“แนวทางที่เราทำคือ 1.เมื่อเราเห็นขยะที่ไปติดตามทะเล และป่าชายเลน เราต้องเก็บเอง 2.เราต้องร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล หรือว่าโรงเรียน อาสาสมัคร ร่วมกับเก็บขยะตามป่าชายเลน 3.ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีเรือที่วิ่งเก็บตามแม่น้ำท่าจีน และกระจายอยู่ตามแม่น้ำสำคัญๆ 4.มาตรการจากเรือประมงพื้นบ้าน เวลาที่เขาออกไปทำประมง เราแจกตาข่ายเพื่อให้เข้าไปดักขยะที่ลอยอยู่ในแม่น้ำ

กิจกรรมพนังงานธนาคารกรุงเทพเก็บขยะช่วยชุมชน

“เมื่อทางธนาคารกรุงเทพเข้ามามีส่วนร่วมถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทางหน่วยงานภาครัฐอาจจะติดขัดทางเรื่องงบประมาณ สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นคือการนำภาคเอกชนมาเป็นกัลยาณมิตร เมื่อธนาคารกรุงเทพเข้ามา เพียงแค่ไม่ถึง 1 ปี ก็สามารถลดขยะลงไปได้มาก” ผอ.ทช.ที่ 8 อธิบาย

ชุติมา น้ำพระทัย เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบายเสริมถึงผลกระทบจากขยะและสัดส่วนขยะ ซึ่งส่วนมากเป็นพลาสติก

“แนวโน้มมาจากสถานการณ์โควิดที่ต่อเนื่องมา ปัจจุบันเรายังสั่งสินค้าออนไลน์มากขึ้น ทำให้ขยะส่วนมากเป็นขยะพลาสติก ส่งผลต่อระบบ ผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก ทำให้อุดตันในระบบทางเดินอาหาร สูญเสียอวัยวะ พิการ ไม่สามารถ หาอาหารกินได้ ส่วนผลกระทบต่อระบบนิเวศ คือชายหาดสกปรก ปกคลุมไปด้วยขยะปะการังถูกขยะทับถมตาย ส่งผลให้ต้นไม้ในป่าชายเลนอ่อนแอ และตายได้ ส่วนผลกระทบต่อมนุษย์คือเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค สารเคมี สารพิษ ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว

‘ธนาคารขยะชุมชน’ตัวกลางซื้อขาย

ปลุกจิตสำนึกตั้งแต่โรงเรียน

ขณะที่บัวหลวงแบงก์ ช่วยเก็บเงิน ธนาคาร 3R ก็ช่วยเก็บขยะ

จิตติมาศ แก้วตา นักวิชาการสุขาภิบาล ธนาคารขยะชุมชน เผยว่า รุกทำงานตามหลัก 3R Reduce, Reuse, Recycle จากชาวบ้านในพื้นที่รวมกันเก็บ แล้วนำมาบริจาค หรือขาย ทางธนาคารมีหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับซื้อของเก่า และจะนำไปขายให้โรงงานรับซื้อในพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง ก่อนนำเงินส่วนนี้มาซื้อเครื่องสาธารณูปโภคกระจายสู่ชุมชน

“กระดาษลัง 3 บาทต่อ 1 กิโลกรัม กระดาษหนังสือพิมพ์ 4 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ขวดพลาสติกใส 7 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ในการรับฝากจากชาวบ้านแต่ละครั้งประมาณ 1,300 กิโลกรัมต่อเดือน และจ่ายเงินเป็นรอบๆ ขยะพลาสติกนับว่าเป็นอันดับ 1 ของการนำฝาก” จิตติมาศเล่า

ครู และนักเรียนโรงเรียนบ้านชายทะเลโคกขามมิตรภาพที่ 95

ด้าน แสงดาว เชิดชิด ครูโรงเรียนบ้านชายทะเลโคกขามมิตรภาพที่ 95 บอกเล่าว่า ทาง อบต.ได้เข้ามาเชิญชวนให้โรงเรียนเข้ามาร่วมกิจกรรมในโครงการ “เปลี่ยนทิ้งเป็นทุน” ให้นำขยะมาขาย

“เด็กๆ ก็ช่วยกันนำขยะจากทางบ้านมา ทั้งขวดน้ำ เศษอาหาร ทางโรงเรียนเองก็ร่วมกับธนาคารขยะ พอถึงเวลาที่ขยะเยอะมากขึ้นเรียกรถจากธนาคารมารับโดยต่อครั้งจะอยู่ที่ 1,000 บาท และเงินที่ได้มาก็มาทำกิจกรรมภายในโรงเรียน และซื้ออุปกรณ์ในการเรียนให้กับเด็กๆ” ครูแสงดาวเล่า

รุกล้ำเพิ่ม ขยะเพิ่ม ‘ทุ่นดักขยะ’ คือความหวัง

‘อยากเห็นกุ้งธรรมชาติเติบโต’

จากนั้นมาฟังเสียงอีกภาคส่วนในพื้นที่ เริ่มที่ ผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งกล่าวว่า มีความยินดีอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะในแม่น้ำก่อนจะลงไปสู่ท้องทะเล เพราะหากเราปล่อยทิ้งไว้ก็จะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัญหากับสัตว์น้ำ

“เป็นเรื่องที่ดีที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีส่วนร่วมกันได้เลือกพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร อย่างน้อยพี่น้องในจังหวัด และริมแม่น้ำก็ยังได้ช่วยกัน ได้รู้ถึงพิษภัยของขยะ และร่วมรักษาลำน้ำต่อไป” พ่อเมืองสมุทรสาครกล่าว

ด้าน วสันต์ แก้วจุนันท์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มองว่าโครงการรักษ์ท่าจีนจะช่วยแก้ไขปัญหาขยะก่อนลงสู่ทะเลได้เป็นอย่างดีและเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น เนื่องจากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พื้นที่เมืองเริ่มขยายตัวมากขึ้น มีหมู่บ้านจัดสรรและโรงงานเพิ่มขึ้น ตามมาด้วยปัญหาขยะและน้ำเสียที่ไหลลงแม่น้ำลำคลอง ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงชายฝั่ง หรือการทำวังกุ้ง มีความยากลำบาก หาลูกกุ้งธรรมชาติได้ยากมากขึ้น หรือแม้แต่การลงเล่นน้ำในคลองก็ทำไม่ได้ เพราะน้ำไม่สะอาด

วสันต์ แก้วจุนันท์

“เราหวังว่าการติดตั้งทุ่นดักขยะ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยดักขยะไม่ให้ไหลลงสู่ชายฝั่งและทะเล ที่เป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของปัญหา จากนั้นคงต้องช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง พวกลูกกุ้งธรรมชาติจะได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อมีการส่งเสริมความรู้เพื่อปลุกฝังจิตสำนึกในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าเมื่อเด็กมีนิสัยที่ดีติดตัว ก็จะช่วยเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นได้ในอนาคต” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 กล่าวด้วยความหวัง

การแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อม สานโครงการ “Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน” นับว่าตอกย้ำบทบาท “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ของธนาคารกรุงเทพ ที่มุ่งมั่นสร้างรากฐานความยั่งยืนมาตลอด 80 ปี

ชญานินทร์ ภูษาทอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image