คอลัมน์ ประสานักดูนก: เยือนฮ่องกง (2)

วันที่ 4 มกราคม คนเขียนบินไปเกาะฮ่องกงเป็นครั้งแรกในชีวิต จากเดิมที่เคยคิดจะไปดูนกที่นั่น เนื่องจากเกาะนี้ลือชื่อด้วยกิจกรรมช้อปปิ้ง แต่ทราบจากเพื่อนนักดูนกชาวฮ่องกง ที่เคยมาช่วยอาสาสำรวจเหยี่ยวอพยพเขาเรดาร์ คือ Miss Jennifer Leung ว่าบ้านเธอก็มีของดีในเรื่องดูนก คือ “พื้นที่ชุ่มน้ำไหมโป” ซึ่งเมื่อคนเขียนก็เคยได้ยินชื่อแหล่งดูนกระดับโลกแห่งนี้มาก่อนเหมือนกันอย่างลางๆ

เมื่อทำการบ้าน ถึงได้ทราบว่า “ไหมโป” หาได้ลือชื่อเฉพาะนกชายเลน และนกเป็ดน้ำที่เรียกไหมโปว่าบ้านฤดูหนาว แต่นกนักล่าก็มีของดี ไม่ด้อยกว่าบ้านเรา ทั้ง นกอินทรีหัวไหล่ขาว เหยี่ยวทุ่ง เหยี่ยวทะเลทราย เหยี่ยวเพเรกริน และที่สำคัญ นกอินทรีแถบปีกดำ นกนักล่ามหาเทพของไทย ที่จะพบในฤดูหนาว แต่ที่ฮ่องกง มีรายงานพบทั้งนกตัวเต็มวัย และนกวัยเด็ก ส่อว่าฮ่องกงน่าจะเป็นถิ่นผสมพันธุ์ของนกอินทรีหายากชนิดนี้

เมื่อได้รับเชิญจากสมาคมดูนกธรรมชาติของเกาะฮ่องกง คนเขียนจึงไม่อิดออด ที่จะตอบรับไปบรรยายเรื่องการฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อย และงานวิจัยเรื่องนกนักล่าต่างๆ ที่กลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรี ดำเนินการมากว่า 10 แล้ว

ในวันแรกที่ถึงไหมโป เจนนิเฟอร์และเพื่อนของเธอที่เป็นนักดูเหยี่ยวคอเดียวกันกับคนเขียน ชื่อ Peter Chan ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดีของวงการดูนก อนุรักษ์นกนักล่าของฮ่องกง เพราะปีเตอร์ ยังหนุ่มแน่น อายุเพียง 25 ปีเท่านั้น แต่ประวัติโชกโชน (ในทางก่อการดี ฮา) อาสาเก็บข้อมูลของ เหยี่ยวหูดำ บนเกาะฮ่องกง มาตั้ง 8 ปี ตั้งแต่เขาเรียนในระดับมัธยม! และเป็นตัวหลักในการสำรวจประชากรของเหยี่ยวหูดำ ที่เป็นทั้งนกประจำถิ่น ทำรังวางไข่ ไม่อพยพ และมีอีกส่วน อพยพมาจากประเทศจีนใหญ่ เกาหลี และญี่ปุ่น เข้ามาอาศัยบนเกาะฮ่องกงในฤดูหนาว ด้วยจำนวนเรือนพัน ซึ่งน้อยกว่าบ้านเรา ที่มีจำนวนเรือนหมื่น

Advertisement

และที่สำคัญ แหล่งพักนอนในเวลากลางคืนของเหยี่ยวหูดำบนเกาะฮ่องกง กลับเป็นเกาะเล็กเกาะน้อยในทะเล เพราะคนรบกวนน้อย แต่ในบ้านเรา เหยี่ยวหูดำ ใช้ต้นตาล ต้นมะพร้าว และต้นยูคาลิปตัสกลางทุ่งนาเป็นห้องนอนยามหนาว

จะเห็นว่าสัตว์ป่าอพยพต้องปรับตัวไปตามถิ่นอาศัยที่ต่างกันไปแต่ละภูมิประเทศ ขอเพียงไม่มีคนรบกวน ล่า และยังคงมีอาหาร นกนักล่าก็ยังดำรงชีวิตได้ ที่เกาะฮ่องกงนี้ แหล่งพักนอนขนาดใหญ่ของเหยี่ยวหูดำ ปีเตอร์สำรวจไว้ว่ามีเหยี่ยวประมาณ 300 ตัว

เมื่อเกาะล้อมรอบด้วยน้ำทะเล จากนักล่าหนูนาตัวฉกาจ ในบ้านเรา เหยี่ยวหูดำสัญชาติฮ่องกง กลายเป็น “นักตกปลา” ด้วยวิธีจับปลาใกล้ผิวน้ำไม่ต่างจากเหยี่ยวแดง เหยี่ยวจะบินร่อนละเลียดน้ำ ยื่นขา กางกรงเล็บออกแล้วตะครุบปลาที่ลอยขึ้นมาสูดอากาศหายใจ วิธีเดียวกับนกออก นกอินทรีทะเลอีกชนิดที่พบได้ตามชายทะเล

Advertisement

นอกจากนั้น วิถีของคนฮ่องกงก็เอื้อต่อการรอดชีวิตของเหยี่ยวหูดำฝูงนี้ เพราะที่ท่าเรือ ชื่อ Sai Kung Pier มีชาวประมงจับปลาทะเลสดๆ มาเร่ขายบนเรือของเขา นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจ ก็ซื้อหาปลาสดๆ กลับบ้านหรือซื้อแล้วส่งให้ร้านอาหารทะเลริมสะพานปลา/ท่าเรือแห่งนี้ ปรุงเป็นอาหารจานโปรดกันเดี๋ยวนั้นเลย

เศษปลา เครื่องใน ของปลาที่ชำแหละแล้ว ชาวประมงก็โยนทิ้งในทะเลนั่นแหละ กลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญของเหยี่ยวหูดำ บินมาโฉบจับเศษอาหารเหล่านี้ตลอดทั้งวัน กลายเป็นจุดเด่น จุดขายของสะพานปลาไซกุง ให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อนหย่อนใจ แถมได้ชมพฤติกรรมของเหยี่ยวหูดำในธรรมชาติแท้ๆ ของบ้านเขาอีกด้วย

… สมกับวลีที่ว่า คนอยู่ได้ นกอยู่ได้ นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image