คอลัมน์ เดินไปในเงาฝัน: ยอมรับความเป็นจริง

ดั่งที่ทุกคนทราบดีประเทศฟินแลนด์มีความโดดเด่นในเรื่องการศึกษาอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งยังเป็นประเทศต้นแบบที่ทำให้นักการศึกษาจากประเทศต่างๆ เดินทางมาศึกษาดูงานอย่างคับคั่ง

ไม่เว้นแม้แต่นักการศึกษาจากประเทศไทย

แต่กระนั้น หากมองย้อนกลับไปจะพบว่าเบื้องหลังแห่งความสำเร็จ จนทำให้ประเทศฟินแลนด์ผลิตบุคลากรคุณภาพออกไปอย่างมากมาย ล้วนมาจากความเจ็บปวดในอดีต

เพราะฟินแลนด์ต้องเผชิญกับสงครามมาตั้งแต่ปี 1939-1945

Advertisement

จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 90,000 คน และอีกกว่า 60,000 คน ทุพพลภาพ นอกจากนั้นประชากรอีก 25,000 คนต้องกลายเป็นม่าย ขณะที่เด็กอีกกว่า 50,000 คนกำพร้า

ที่สำคัญฟินแลนด์ต้องยกดินแดน 12% ให้แก่สหภาพโซเวียตในอดีต และยังต้องอพยพประชาชนที่มีอยู่เพียงน้อยนิดออกไปจากประเทศด้วย

แต่ประชากรของเขากลับไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา

Advertisement

อาจเป็นเพราะว่าฟินแลนด์ถูกขนาบข้างไปด้วยประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหภาพโซเวียตและสวีเดน พวกเขาจึงกลายเป็นคนยอมรับกับความเป็นจริง

และพยายามหาประโยชน์จากโอกาสเท่าที่มีอยู่ เนื่องจากประชาชนของเขามีทักษะการเจรจาต่อรองแบบนักการทูต ทั้งยังมีความร่วมมือร่วมใจกันทำงาน รู้จักการแก้ไขปัญหา

กระทั่งกลายมาเป็นวัฒนธรรมฟินแลนด์แบบร่วมสมัย

ที่ทำให้บุคลากรการศึกษาจากทั่วโลกประจักษ์ชัด

กล่าวกันว่า การพัฒนาระบบการศึกษาของฟินแลนด์ดำเนินคู่ขนานไปกับการฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจ 3 เรื่องหลักคือ

หนึ่ง ระยะของการส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน โดยอาศัยการเปลี่ยนผ่านจากชาติเกษตรกรรมในภูมิภาคยุโรปเหนือ มาเป็นสังคมอุตสาหกรรม

โดยเฉพาะช่วงปี 1945-1970

สอง ยุคของการสร้างระบบโรงเรียนรัฐแบบผสม โดยอาศัยการเป็นสังคมรัฐสวัสดิการ อันเป็นลักษณะเด่นของประเทศกลุ่มนอร์ดิก พร้อมกับการขยายตัวของภาคบริการ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

โดยเฉพาะปี 1965-1990

สาม ยุคของการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ใหม่ของประเทศฟินแลนด์ ในฐานะประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ และมีเทคโนโลยีขั้นสูง

โดยเฉพาะปี 1985 จนถึงปัจจุบัน

ฉะนั้น จะเห็นว่าถ้าเรามองดูแนวทางการขับเคลื่อนประเทศของเขานับแต่สงครามภายในประเทศ กระทั่งบานปลายมาเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2

รัฐบาลของเขามองเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญมาก

เพราะเขารู้ว่าประเทศเขาเล็ก ประชากรน้อย ทั้งพื้นฐานทางทรัพยากรธรรมชาติต่างเต็มไปด้วยเกษตรกรรม เขารู้ว่าหากจะสร้างประเทศให้มีความแตกต่าง และโดดเด่นกว่าประเทศอื่นๆ ในอนาคต

การศึกษา คือ กุญแจสำคัญ

ยิ่งเมื่อมาเจอคำพูดประโยคหนึ่งของ “มาร์ตติ อะห์ติซาริ” อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ ที่พูดไว้เมื่อปี 1994-2000 ทั้งเขายังเป็นเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพอีกด้วย เขาพูดบอกว่า…ในระยะเวลา 10 ปี นับจากนี้ไป คนวัยหนุ่มสาวอายุตั้งแต่ 15-30 ปี ประมาณ 1,200 ล้านคนจะก้าวเข้าสู่ตลาดงาน และจากทรัพยากรเท่าที่เรามีอยู่ตอนนี้ คนประมาณ 300 ล้านคนจะได้งานทำ

“ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราจะมีอะไรไปมอบให้แก่คนหนุ่มสาวอีกประมาณพันล้านคนที่เหลือ ผมมองว่านี่เป็นความท้าทายใหญ่หลวงประการหนึ่ง หากเรามุ่งหมายให้เกิดการพัฒนาอย่างสันติ และเกิดความหวังในเยาวชน”

เพราะเขาเชื่อว่าเยาวชนเป็นผู้สร้างประเทศ

ผลเช่นนี้ ถ้ามองนโยบายการศึกษาระดับชาติของฟินแลนด์ในช่วงปี 1945-1970 จะพบว่าบันได 3 ขั้นในการปูรากฐานการศึกษาสู่อนาคตมีความน่าสนใจมาก

หนึ่ง โครงสร้างระบบการศึกษาจะต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่สูงขึ้น และดีขึ้น

สอง รูปแบบและเนื้อหาของหลักสูตรจะมุ่งเน้นพัฒนาบุคลิกภาพแบบองค์รวม และคุณลักษณะที่เป็นปัจเจกของนักเรียน

สาม ต้องปรับปรุงการฝึกหัดครูให้ทันสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการอันเป็นผลสืบเนื่องจากการพัฒนาดังกล่าวข้างต้น เพราะความใฝ่ฝันในอนาคตของฟินแลนด์ต้องตั้งอยู่บนฐานของความรู้และทักษะ

ดังนั้น คนฟินน์จึงมองว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานของการก่อร่างสร้างอนาคต

โดยรัฐบาลใช้คณะกรรมาธิการศึกษาของฝ่ายการเมือง, คณะกรรมาธิการระบบการศึกษา และคณะกรรมาธิการหลักสูตรสถานศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อนทั้งกระบวนการ

จนทำให้นักเรียนทุกคนเรียนเหมือนกันตั้งแต่เกรด 1 – เกรด 4 แต่เฉพาะเกรด 5 – เกรด 6 หรือชั้นมัธยมต้น นักเรียนจะเลือกได้เองว่าจะเรียนวิชาที่เน้นภาคปฏิบัติ หรือจะเรียนภาษาต่างประเทศ

ส่วนการเรียนในเกรด 7-9 จะแบ่งออกเป็น 3 สาย คือสายอาชีพ และรายวิชาที่เน้นภาคปฏิบัติ, สายกลางที่กำหนดให้นักเรียนเรียนภาษาต่างประเทศ 1 ภาษา และสายวิชาการขั้นสูงที่กำหนดให้เรียนภาษาต่างประเทศ 2 ภาษา

จนทำให้เกิดโรงเรียนแกรมมาร์สคูลทั่วประเทศ

ทั้งยังทำให้จำนวนนักเรียนจาก 34,000 คนในปี 1955-1956 แต่พอปี 1960-1961 นักเรียนกลับเพิ่มขึ้นเป็น 215,000 คน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี กระทั่งถึงปี 1970 นักเรียนแกรมมาร์สคูลมีสูงถึง 324,000 คน

จนทำให้ผู้ปกครองทุกคนกลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้ภาครัฐจะต้องปรับปรุงระบบการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดความทันสมัยอยู่เสมอ

โดยภาครัฐเองก็เห็นด้วย

เพราะเขาสนองตอบผู้ปกครอง นักเรียน และนักการศึกษาของฟินแลนด์ทุกคนด้วยการมีหลักสูตรแห่งชาติ

และควรมีฉันทามติฟินแลนด์ด้วย

จนทำให้ระบบการศึกษาดำเนินตามทิศทางอย่างมีแบบแผนและต่อเนื่อง กระทั่งทำให้ฟินแลนด์ทุกวันนี้กลายเป็นกรณีศึกษาที่หลายประเทศอยากนำไปประยุกต์ใช้

ฉะนั้น ถ้าจะให้สรุปความสำเร็จที่เกิดขึ้น จึงไม่ได้มาจากภาครัฐโดยตรง แต่มาจากประชาชนของเขาที่ยอมรับความเป็นจริงมาตลอดว่าถ้าเราจะสร้างประเทศ เราต้องสร้างการศึกษาก่อน

เพราะถ้าบุคลากรในประเทศมีการศึกษา พวกคนหนุ่มสาวก็จะเป็นผู้สร้างประเทศเอง

หมายเหตุ-แรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือ “Finnish Lessons 2.0” ซึ่งมี “Pasi Sahlberg” เป็นผู้เขียน ส่วนผู้แปลคือ “วิชยา ปิดชามุก”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image