อาศรมมิวสิก : ความตายของดนตรีไทย ชั่งกิโลขายฆ้อง ขายระนาด ให้ซาเล้ง

ร้านฆ้องที่ขโมยตัดลูกฆ้องไปชั่งกิโลขาย

ความตายของดนตรีไทย
ชั่งกิโลขายฆ้อง ขายระนาด ให้ซาเล้ง

เมื่อวันที่ 8-10 มีนาคม พ.ศ.2567 ผมได้เชิญวงปี่พาทย์อาชีพไปเล่นงานศพผู้ที่เคารพนับถือ โดยหาวงปี่พาทย์ฝีมือดีไปบรรเลงในงานศพเพื่อมอบให้เป็นของขวัญแก่คนที่เคารพรัก ปัจจุบันนี้ไม่มีคนรู้จักและไม่มีวงปี่พาทย์เล่นในงานศพแล้ว วงปี่พาทย์กลายเป็นเรื่องแปลก เกิดคำถามว่างานศพมีวงปี่พาทย์ด้วยหรือ พิธีกรรมความตายของสังคมไทยเปลี่ยนไป อาชีพวงปี่พาทย์ไม่มีงานเล่นในวัด เจ้าภาพงานศพไม่จ้างวงปี่พาทย์เล่น วงปี่พาทย์จึงไม่มีพื้นที่ทำมาหากิน สรุปว่าวงปี่พาทย์ในงานศพได้ตายไปแล้วและวงปี่พาทย์ก็กลายเป็นศพเสียเอง

โดยส่วนตัวหลงรักวงปี่พาทย์มานาน ฟังวงปี่พาทย์เล่นสนุก ตื่นเต้นมีชีวิตชีวา เป็นความบันเทิงที่ฟังแล้วรู้สึกเนื้อเต้น การบรรเลงของวงปี่พาทย์เป็นปัจจุบันนิยมคือด้นสด ใช้ปฏิภาณกวี เป็นความรู้สึกที่สามารถจะสัมผัสได้ว่าเป็นดนตรีสด วงปี่พาทย์ไม่มีชนชั้น ไม่มีพิธีการ นักดนตรีมีชีวิตเรียบง่าย ไม่เรื่องมาก จะเล่นจะเลิกก็ทำได้ทันที เจ้าภาพสั่งการได้เลย นักดนตรีวงปี่พาทย์เก่งรอบวง คือเล่นเครื่องดนตรีได้ทั้งวง เล่นได้ทุกเพลงและทุกเพลงก็อยู่ในตัวของนักดนตรีหมดแล้ว

วันนั้นทราบข่าวสะเทือนใจว่า มีขโมยได้ตัดลูกฆ้องลงหิน (Bronze) ซึ่งเป็นฆ้องตีมือ 11 วง (176 ลูก) และระนาดเหล็ก 5 ชุด (110 ลูก) เอาไปขายซาเล้ง รู้สึกใจหายว่าดนตรีไทยตายแล้วจริงๆ ไม่มีใครใส่ใจดูแล ไม่รักษา ไม่เห็นคุณค่า ไม่เอาใจใส่ ไม่มีความรับผิดชอบ เห็นเครื่องดนตรีไทยเป็นแค่โลหะ ขนไป “ชั่งกิโลขายซาเล้ง”

Advertisement

ต่อไปก็ไม่มีเครื่องดนตรีไทยดีๆ ใช้ ฆ้องลงหินซึ่งหายากในปัจจุบัน จะไม่มีฆ้องดีๆ ใช้สอนดนตรีไทย ทั้งที่หาคนเรียนดนตรีไทยก็ยากอยู่แล้ว เมื่อไม่มีเครื่องดนตรีที่ดี ไม่มีครูดนตรีที่มีฝีมือ ไม่มีใครเอาใจใส่ดนตรีไทย เรียนดนตรีไทยแล้วแถมไม่มีงานอาชีพทำอีกต่างหาก

ฆ้องคือครู ฆ้องคือความศักดิ์สิทธิ์ ฆ้องคือจิตวิญญาณของความเป็นไทย เมื่อเอาฆ้องไปชั่งกิโลขายเป็นการทำลายจิตวิญญาณดนตรีไทย การเอาฆ้องลงหินเอาระนาดเหล็กชั่งกิโลขาย เป็นความตายของดนตรีไทย เครื่องดนตรีเหล่านี้คัดเลือกโดยบรมครูดนตรีไทยซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นมรดกของคนรุ่นหลัง แค่นั่งดูฆ้องลงหินก็สวยแล้ว เมื่อขายซาเล้งแล้วก็ซื้อฆ้องหล่อทองเหลืองย้อมแมวมาใส่แทน เป็นวิธีการที่น่าอดสูและจัญไรยิ่ง

Advertisement

พลังความเป็นไทยตายแล้ว เมื่อสถาบันดนตรี “เลิกไหว้ครูดนตรีไทย” ยังปล่อยให้ขโมยฆ้องและระนาดไปขายซาเล้งอีกโดยไม่ติดตามคืน มุ่งหวังแต่จะใช้พลังสากลที่สามารถหาเงินได้เป็นกอบเป็นกำ หลงคิดว่าพลังไทยได้ค่าแรงต่ำ ความเป็นไทยขายได้ไม่คุ้มค่า แม้จะขายได้ก็ราคาถูก แถมรังเกียจการยัดเยียดความเป็นไทย เพราะเห็นว่าเป็นรสนิยมที่จืดชืดเชย ล้าหลัง และไม่มีเสน่ห์ ซึ่งเป็นความเข้าใจของพวกสิ้นคิด

ข่าวว่า “รัฐบาลยึดโมเดลสิงคโปร์จัดคอนเสิร์ตระดับโลก” (มติชน 7 มีนาคม) เป็นสภาวะที่เชื่อว่า “ตามเขาว่าเก่ง ทำเองว่าโง่” ประชาชนต้องปรับตัวใหม่ จากเหตุความตายของปี่พาทย์งานศพ การเอาฆ้องวงระนาดเหล็กไปชั่งกิโลขาย รัฐใช้หลักการจัดดนตรีของสิงคโปร์เป็นต้นแบบ จึงต้องกลับมาตั้งสติคิดใหม่

เมื่อเชื่อว่า ดนตรีเป็นอาภรณ์ของผู้เจริญ ดนตรีไทยอยู่ในเลือดเนื้อเชื้อไข มีผู้สืบทอดฝีมือดนตรี ซึ่งต้องมีวิธีคิดใหม่ ทำอย่างไรจะพัฒนาดนตรีไทยให้มีโอกาส สามารถทำมาหากินได้ อาศัยภูมิพลังวัฒนธรรมดนตรีซึ่งเป็นพลังที่มีศักยภาพและมีความเป็นเลิศอยู่ในวิถีชีวิต อยู่กับภูมิปัญญา อยู่กับความคิดสร้างสรรค์และมิติจินตนาการแบบไทย เพื่อให้นักดนตรีไทยมีความเชื่อมั่นในอาชีพ การอวดฝีมือวงปี่พาทย์ซึ่งเป็นรากเหง้าของความเป็นไทยมาแต่อดีต การสูญเสียวงปี่พาทย์ก็คือการสูญเสียเอกราชทางวัฒนธรรม

สิงคโปร์นั้นมีวิถีชีวิตแบบ “ขากถุยนิยม” มาก่อน เพราะเป็นกรรมกรกุลีรับจ้าง ต้องต่อสู้ ไม่มีอะไรเป็นหลัก ไม่มีรากฐานของตนเอง สร้างวัฒนธรรมตัวเองไม่ได้ ไม่มีภาษาของตัวเอง เป็นชาติพันธุ์ผสม ไม่มีเพลงของตนเอง ทำงานรับจ้างจนไม่มีเวลาขัดเกลาจิตใจด้วยศิลปะและดนตรี จึงต้อง “ซื้อความสำเร็จ” จากที่อื่นเข้ามารับใช้สังคม ซึ่งเป็นความแตกต่างจากสังคมไทยอย่างสิ้นเชิง

วันนี้วงปี่พาทย์มาถึงจุดหายนะ คนในสังคมไทยต้องช่วยกันทำเรื่องดนตรีไทยให้โลกรู้จัก สร้างเสน่ห์และรสนิยมของดนตรีไทยใหม่ ต้องขายความเป็นไทย นำความไพเราะของเพลงไทยสู่สากล นำเครื่องดนตรีไทยที่สวยงามมานำเสนอใหม่ เพื่อสร้างราคาความน่าเชื่อถือ สร้างคุณค่าใหม่ สร้างตลาดและเวทีดนตรีไทย รวมทั้งสร้างอาชีพวงปี่พาทย์ในพิธีงานศพใหม่ “ขายพิธีกรรมและปี่พาทย์งานศพ” พัฒนาฝีมือวงปี่พาทย์คนรุ่นใหม่ พัฒนาและแต่งตัวนักดนตรีวงปี่พาทย์ให้ดูดี ฝีมือดีเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้ วงปี่พาทย์มีต้นทุนสูงอยู่แล้ว วงปี่พาทย์เป็นผู้ที่รักษามรดกเพลงไทยและรักษาประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตของแผ่นดินเอาไว้

วงปี่พาทย์งานศพใช้เครื่องมอญ ฆ้องมอญ ตะโพนมอญ ปี่และระนาด เพื่อบอกฐานะของผู้ตาย

ผมได้เรียนดนตรีไทยกับครูผู้ใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.2514-2515 ได้เรียนเป่าขลุ่ยกับครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ก็ไม่ได้คิดจะเอาดีอะไรนัก แต่ต้องเรียนดนตรีไทยเพื่อจะออกไปเป็นครูดนตรีในชั้นมัธยมศึกษา ครูเทวาประสิทธิ์ท่านเป่าปี่และมีปี่ท่านพระ ซึ่งเชื่อว่าเป็นปี่ของครูมีแขก ส่วนผมก็เรียนให้จบๆ ชั่วโมง เพราะกลางคืนก็ต้องไปเล่นดนตรีหารายได้เรียนหนังสือ ครูเทวาประสิทธิ์เล่าว่า เมื่อท่านจะต่อเพลงทางปี่ ก็ต้องต่อเพลงตอนฝนตกหรือฝึกต่อเพลงในตุ่มน้ำ เพราะกลัวว่าคนข้างบ้านจะจำทางเพลงไปเล่น ซึ่งท่านหวงทางเพลงมาก เมื่อสอนให้นักเรียนต่อเพลงที่หวง นักเรียนอย่างผมก็ไม่ได้เพลง กว่าจะสำนึกได้ก็หมดโอกาส

“ปี่ท่านพระ” เป็นปี่คู่ชีวิตของครูมีแขก (พระประดิษฐ์ไพเราะ) คนดีที่โลกลืม เป็นผู้รวบรวมผลงานเพลงในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ไว้ ครูมีแขกเป็นพระอภัยมณีตัวจริง มีตำนานเกี่ยวกับครูมีแขกอยู่มาก ส่วนพ่อของครูเทวาประสิทธิ์คือจางวางทั่ว พาทยโกศล ท่านเอาเครื่องดนตรีทั้งวงไปแลกปี่ของครูมีแขกมาได้ ผมเองก็เคยคิดที่จะซื้อ “ปี่ท่านพระ” มาไว้ในพิพิธภัณฑ์ดนตรีอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่มีวาสนา

เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จกลับจากเยอรมนี มีพระสหายเป็นนักดนตรีชื่อปอล เซลิค (Paul J. Seelig) ท่านโปรดดนตรีไทยมาก ท่านได้มอบให้จางวางทั่ว พาทยโกศล เป็นผู้ตีระนาดเพลงไทยแล้วให้ปอล เซลิค จดบันทึกเป็นโน้ตสากลปี พ.ศ.2473 เมื่อทูลกระหม่อมบริพัตรเสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย โน้ตเพลงสยามจึงได้ตีพิมพ์ที่เมืองบันดุง

ความสำนึกในเรื่องดนตรีไทย ผมได้เอาหนังสือเพลงสยามมาพิมพ์ใหม่ แล้วก็หาโอกาสทำเรื่องดนตรีไทยเพื่อไถ่บาปที่ปฏิเสธการต่อเพลงไทยกับครู เคยจัดงานแสงทิพย์ประลองปี่พาทย์ พ.ศ.2537-2539 ในปี พ.ศ.2546 ก็ได้สร้างประติมากรรมครูมีแขก โดยขอยืมปี่ท่านพระที่บ้านครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล มาเป็นต้นแบบ ได้ขอให้ครูกาหลง พึ่งทองคำ เป่าปี่ท่านพระให้เป็นต้นแบบ ได้บันทึกเพลงของครูมีแขก (4 แผ่นซีดี) และตั้งใจจะสร้างพิพิธภัณฑ์ดนตรีในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ดนตรีที่มีชีวิต แต่ก็ทำไม่สำเร็จ

หน้าตาของฆ้องลงหินหรือสำริด (Bronze) ฆ้องที่ถูกนำไปชั่งกิโลขาย

เมื่อตั้งวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทยได้นำเพลงไทยมาเรียบเรียงขึ้นบรรเลงเป็นเพลงโหมโรง ทุกครั้งที่มีการแสดงก็จะมีเพลงไทยที่เรียบเรียงไว้ ระหว่าง พ.ศ.2548-2560 ไม่น้อยกว่า 300 เพลง เมื่อได้อิสรภาพเป็นเสรีชน ก็ตั้งวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา เดินทางไปแสดงตามเมืองต่างๆ อาศัยเพลงในท้องถิ่น เพลงพื้นบ้าน เพลงชาติพันธุ์ และนำเพลงไทยทั้งหลายไปแสดง เพื่อความสุขทางใจที่ได้ตอบแทนครูดนตรีไทย

วงปี่พาทย์ซึ่งเคยมีเวที มีงานสมโภชในวัด บรรเลงงานศพที่วัด วันนี้วงปี่พาทย์ไม่มีเวทีแสดงอีกต่อไป มรดกเพลงของวงปี่พาทย์ก็จะตายตามวงปี่พาทย์ไปด้วย ความพยายามที่จะสร้างเวทีให้แก่วงปี่พาทย์ สร้างอาชีพให้แก่นักดนตรีไทย สร้างนักดนตรีไทยรุ่นใหม่ให้มีฝีมือ สร้างโอกาสให้วงดนตรีไทยและวงดนตรีพื้นบ้าน การเชิญครูดนตรีพื้นบ้านมาสอน ทำให้ครูดนตรีที่เก่งๆ ได้ถ่ายทอดความรู้ความสามารถให้แก่คนรุ่นใหม่ วันนี้โอกาสของดนตรีไทยและโอกาสของวงปี่พาทย์หมดแล้ว

สิ่งที่พอจะทำได้ตอนนี้คือ หากมีงานศพของคนใกล้ชิด บุคคลที่เคารพนับถือ ก็ใช้โอกาสจ้างวงปี่พาทย์ไปบรรเลงเป็นของขวัญในงานศพ โดยบอกกับเจ้าภาพว่า โบราณเชื่อเรื่อง “วิญญาณของผู้ตายจะกลับขึ้นสู่สรวงสวรรค์โดยอาศัยเสียงปี่พาทย์” หากไม่มีเสียงปี่พาทย์ในงานศพ วิญญาณผู้ตายก็จะกลายเป็นสัมภเวสี คือจะเร่ร่อนวนเวียนอยู่ ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด

ฆ้องคือครู ฆ้องคือความศักดิ์สิทธิ์ และฆ้องคือจิตวิญญาณของดนตรีไทย เมื่อไม่ไหว้ครูดนตรีไทยแล้ว แถมยังเอาฆ้องไปชั่งกิโลขายอีก เป็นการทำลายและเผาจิตวิญญาณดนตรีไทยไปด้วย

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image