นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. พาฉึกฉักขึ้นขบวนแห่งความทันสมัย ‘ขอบอกว่าการรถไฟเปลี่ยนไปแล้ว’

นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท.
พาฉึกฉักขึ้นขบวนแห่งความทันสมัย
‘ขอบอกว่าการรถไฟเปลี่ยนไปแล้ว’

เริ่มรีโนเวตรถไฟคันใหม่ แปลงโฉมออกมาเป็นขบวนแสนพิเศษ สีแดงคาดทองสุดหรูหรา จนสร้างความตื่นตาให้กับผู้คนที่พบเห็นระหว่างทาง

รถไฟขบวนนำเที่ยวสุดพิเศษ ‘SRT Royal Blossom’ ถูกปัดฝุ่นจากรถไฟเก่าที่ได้รับมอบมาจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR Hokkaido) ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 10 คัน ซึ่งอาจเปรียบได้ว่า ‘ของเก่าใครของใหม่เรา’ โดย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำตู้รถไฟเก่า 5 คันมาตกแต่ง เสริมดีไซน์ ให้มีความโดดเด่นด้วยฝีมือคนไทย สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย พร้อมบาร์กาแฟสุดเก๋ เสมือนคาเฟ่เคลื่อนที่ได้

SRT Royal Blossom สีแดงเชอรี่คาดทองสุดโดดเด่น

เมื่อมองมาจากด้านนอกตู้รถไฟ SRT Royal Blossom จะเห็นการแต่งแต้มสีสันภายนอก ด้วยสีแดงเชอรี่ คาดทอง ส่วนภายนอกตัวรถ ได้มีการทำสีใหม่ให้เป็นเฉดสีแดงคาดลายสีทอง ซึ่งเป็นสีของกลีบดอกไม้ ที่มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของขบวนรถไฟท่องเที่ยวชุดนี้ ส่วนด้านหน้าและด้านข้างตัวรถจะมีโลโก้ สลักว่า “STATE RAILWAY OF THAILAND ROYAL BLOSSOM SINCE – 2022”

Advertisement

ควบคู่กับสัญลักษณ์ ‘ดอกราชพฤกษ์’ วางบนหน้าปัดนาฬิกา ตัวเลขโรมัน และเข็มนาฬิกาชี้ไปที่ตัวเลข 13 เป็นการเปรียบเทียบถึงการเดินทางครั้งใหม่ของ Hamanasu จนเป็น SRT Royal Blossom ซึ่งจะสร้างช่วงเวลาแห่งความสุขและความพิเศษที่จะเกิดขึ้นกับการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟในประเทศไทย

พร้อมออกเดินทางเพื่อทดสอบการใช้งาน แล่นฉิวบนรางจริง จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปยังหมุดหมายทางแห่งวัฒนธรรม เมืองเหนือที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรม พื้นที่แห่งความสโลว์ไลฟ์ ‘สถานีนครลำปาง’ โดยมี นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำเดินชมขบวนรถไฟคันใหม่ พร้อมบอกเล่าไอเดีย

⦁ เมื่อถามถึงไอเดียของการทำรถไฟขบวน ‘SRT Royal Blossom’ คืออะไร

Advertisement

เราได้รับตู้โดยสารมาจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรถไฟที่ยังมีโครงสร้างดีมาก จึงเริ่มเกิดความคิดว่าการรถไฟเราพาคนเดินทาง แต่ยังไม่ได้พาคนท่องเที่ยวสักเท่าไหร่ จึงเป็นที่มาของการทำโปรเจ็กต์นี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

คอนเซ็ปต์การทำขบวนนี้ เกิดจากรถเก่าที่ญี่ปุ่นเขาให้มานานแล้ว ถูกทิ้งไว้นานพอสมควร เราเลยคิดว่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะรถท่องเที่ยวขาดหายไปจากรางของเรา จึงมีความคิดว่า เอ๊ะ! ควรมีรถบางประเภทที่ให้ความสุขกับประชาชนได้ และมันควรเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของคนไทยด้วย เลยจับเอารถขบวนนี้มาปรับปรุง ด้วยฝีมือคนไทยล้วนๆ

เราออกแบบให้มีสีแดงคาดทอง อยากให้ทำให้แตกต่างจากรถไฟในยุคก่อน เพื่อที่จะบอกอย่างหนึ่งว่าการรถไฟเปลี่ยนไปแล้ว และจะเปลี่ยนไปในทางที่ทันสมัยขึ้น ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น

 

การตกแต่งบาร์กาแฟภายใน SRT Royal Blossom

⦁ Royal Blossom แตกต่างจากคันเดิมของการรถไฟอย่างไร

ตู้โดยสารแบบปกติ เรามีเยอะแล้ว ก็เลยอยากจะได้ตู้ที่เป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ เปิดพื้นที่โล่งให้เราได้ใช้ชีวิตปกติ ไม่เหมือนเราอยู่บนรถไฟ เหมือนเราอยู่คาเฟ่ แล้วมีบาร์กาแฟที่สามารถนั่งรอบๆ ได้ รวมถึงมีหน้าต่างที่กว้างกว่าปกติ ให้สามารถดูวิวได้แบบพาโนรามา เราเชื่อว่าคนไทยน่าจะได้สัมผัสและมีความสุขกับรถไฟ Royal Blossom

ปกติขบวนท่องเที่ยวอาจจะมีสัปดาห์ละครั้ง ไปเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หัวหิน เมืองกาญจน์ แต่ขบวนนี้เป็นรถเพื่อการท่องเที่ยวตามตารางรูทีนปกติ ซึ่งรถท่องเที่ยวจริงๆ เรายังไม่ค่อยมี มีแค่การเอารถโดยสารมาพาท่องเที่ยว ขึ้นไปก็นั่งอยู่กับที่ พอถึงที่เที่ยวแล้วก็ลง

เรายังไม่เห็นรถที่นั่งแล้ว สามารถดำเนินกิจกรรมสันทนาการบนรถได้อย่างเต็มที่ ก็เลยเป็นที่มาของการลองเอารถชุดนี้มาทำ ซึ่งไม่ได้ใช้ต้นทุนอะไรมากมาย เพราะเราได้มาฟรี

นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

⦁ เมื่อเปิดให้บริการ มีการวางแผนเส้นทาง และคิดราคาอย่างไร?

หลังจากทดสอบความปลอดภัยวันนี้แล้ว จะเอาไปเติมรายละเอียดให้สมบูรณ์ที่สุด คิดว่ากลางปีนี้น่าจะออกมาวิ่งได้แล้ว ตามตารางที่เราคิดไว้ในยุคแรก จะมีการจัดตารางการเดินรถเพื่อการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน ประชาชนเข้าถึงได้แน่นอน เพราะเราทำเพื่อประชาชน ส่วนเส้นทางกลางปี ที่คิดไว้อยากให้เป็นเส้นทางที่ไปกลับวันเดียวได้

คิดว่าคงเป็นเส้นทางสุดฮิตก่อน เช่น กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และหัวหิน น่าจะพอได้ เพราะเส้นทางคู่ไปหัวหินเร็วขึ้นแล้ว

มันจะเป็นราคาของรถท่องเที่ยว ไม่ได้เวอร์วังอะไรอยากให้ทุกคนได้สัมผัส สามารถเปิดได้ทั้งคณะและเดี่ยวก็ได้ สามารถไปหัวหิน เมืองกาญจน์ก็ได้ แต่ความพิเศษคือนอกจากจะนั่งที่ของตัวเองแล้วก็ยังสามารถมานั่งที่บาร์กาแฟตรงนี้ได้

ดีไซน์รถคันนี้ตอบโจทย์ว่าทำไมถึงเป็นรถท่องเที่ยว บอกเลยว่าเราอยากให้คนที่นั่งได้สัมผัสบรรยากาศข้างนอก เพราะนอกจากบรรยากาศข้างในที่แตกต่างแล้ว ข้างนอกก็ต้องแตกต่าง เห็นได้จากหน้าต่างที่มีความกว้างขึ้นมันก็จะโล่งขึ้น ทำให้รู้สึกว่าฉันไม่ได้นั่งอยู่บนรถแล้วมองลอดหน้าต่าง แต่สามารถมองออกไปแบบโล่ง สำหรับมองวิว

SRT Royal Blossom ขบวนแห่งความทันสมัย

⦁ แนวคิดของการรถไฟไทย กับ การพัฒนาอย่างยั่งยืน คืออะไร?

แนวคิดการรถไฟแห่งประเทศไทย คนอาจจะเข้าใจว่าเป็นองค์กรที่จะทำหน้าที่ขนส่งคน จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งโดยทางรถไฟ หรือขนส่งสินค้า แต่ตามจริงแล้วปณิธานอันแน่วแน่ของล้นเกล้า ร.5 ที่อยากให้รถไฟมีส่วนในการพัฒนาชุมชน ตามพื้นที่ที่รถไฟไปถึง หมายถึงว่า รถไฟไปที่ไหน ความเจริญต้องไปที่นั่น ปรัชญาที่ว่ารถไฟต้องอยู่คู่กับชุมชน จึงเป็นปรัชญาที่เรามุ่งมั่นตั้งใจมาโดยตลอด ผมเองได้เข้ามาเป็นผู้ว่าการรถไฟฯ ก็ได้สืบสานปรัชญานี้

โจทย์ต่อมาจึงคิดว่าแล้วเราจะอยู่คู่กับชุมชนได้อย่างไร นอกจากจะสร้างความเจริญ และรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น ที่รถไปถึงแม้ว่าคนเหล่านั้นจะไม่ได้เดินทางโดยรถไฟก็ตาม แต่ก็ต้องได้ประโยชน์ ได้ความสุขจากสิ่งที่เรา และคนรถไฟทำ เราได้มองหาว่าที่ไหนที่จะสามารถเป็นต้นแบบที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การรถไฟอยู่คู่ชุมชนได้ จึงเห็นศักยภาพของสวนรถไฟสะพานดำ จ.ลำปาง

ภายในขบวนรถไฟ SRT Royal Blossom ฉบับปรับปรุง ด้วยฝีมือคนไทย

⦁ ภาพจำต่อ ‘สะพานดำ’ ของผู้ว่าการรถไฟฯ ในฐานะคนลำปางคืออะไร

ในวันนั้นเมื่อผมเข้ามาทำงาน ช่วงเดือนเมษายน แล้วเริ่มโครงการใน 4 เดือนต่อมา ผมมีความชัดเจนในสถานการณ์ เห็นพื้นที่นี้มาตลอดเพราะเป็นคนลำปาง เวลาไปโรงเรียนก็ต้องผ่านใต้สะพานดำ ปั่นจักรยานไปโรงเรียนอัสสัมชัญบ้าง โตมาก็ไปโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย

มันมีภาพที่ติดหัวมาตลอด และเป็นสิ่งที่คาใจมาก เนื่องจากตอนนั้นคนพูดกันว่าพื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่ของการรถไฟนั่นแหละ มันถึงได้เสื่อมโทรม อันนี้เป็นสิ่งที่คาใจ พอวันหนึ่งได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการรถไฟแล้ว ก็พยายามที่จะบอกว่า สิ่งที่เราเห็นในอดีตมันสามารถที่จะพัฒนาได้ แล้วก็อยากจะให้เป็นการพัฒนาจริงๆ และสามารถพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน และมีคุณค่าอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การพัฒนาด้วยการเอาเงินใส่เข้าไปแล้วก็ดับไป ก็เลยมีความคิดนี้

ถ้าท่านได้ดูตู้โดยสารที่เราจัดแสดงเอาไว้ จะเห็นประวัติการบูรณะสะพานดำ เริ่มตั้งแต่การทาสีง่ายๆ ทำให้สะพานนี้กลับมาเป็นสีดำแท้ๆ แล้วก็เริ่มจัดงบประมาณเข้ามาบูรณะ อะไรที่เราทำเองได้ อย่างการไถปรับปรุงพื้นที่ให้มีความสะอาดสะอ้านก่อน แล้วหลังจากนั้นเราก็เริ่มสร้างสวน ซึ่งวิธีการสร้างมีแนวคิดว่า จะทำอย่างไรให้สร้างขึ้นมาแล้ว มันถูกส่งต่อไปในอนาคต ไปยังพื้นที่อื่นได้อย่างสง่างาม

ภายนอก SRT Royal Blossom สีแดงเชอรี่คาดทองสุดโดดเด่น

เกิดโจทย์ขึ้นมาว่า “รถไฟก็ต้องคู่กับลำปาง” โดยการเอาชิ้นส่วนของรถไฟ วัสดุที่ใช้แล้วชำรุดไป เช่น ผ้าเบรก คันเกียร์ ล้อที่หมดอายุแล้ว เอามาสร้างเป็นประติมากรรมขึ้นมา ซึ่งก็ต้องขอบคุณดีไซเนอร์ด้วย เขาเป็นคนลำปาง แล้วได้หยิบเอาอัตลักษณ์ของลำปางขึ้นมา ประกอบรวมกับอุปกรณ์ของการรถไฟ สร้างเป็นผลงานที่เชื่อว่าอีก 100 ปี หรือหลายร้อยปี ก็จะยังคงอยู่แบบนี้

เราไม่ได้คิดว่าจะทำสวนรถไฟสะพานดำที่ลำปางที่เดียว แต่อยากให้ลำปางเป็นต้นแบบ ซึ่งมันเป็นแบบนั้นจริงๆ ผมเดินทางไปทุกที่ที่รถไฟไปถึง ทุกจังหวัด หลายจังหวัดมาขอเราหมดเลยว่า อยากขอพื้นที่รถไฟ แล้วทำเหมือนสวนรถไฟสะพานดำ

⦁ มองความสำเร็จของ ‘สะพานดำ’ แลนด์มาร์กลำปางอย่างไร

ทุกคนรู้จักสวนรถไฟสะพานดำกันหมดเลย ผมไปราชบุรี นครศรีธรรมราช ชุมพร ยะลา ทุกคนพูดถึงสะพานดำลำปาง ต้องบอกว่าภูมิใจมากในฐานะที่เป็นคนลำปาง แล้วคนรู้จักสะพานดำ อยากได้แบบนี้บ้าง แสดงว่าสิ่งเราทำ รวมไปถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชนที่ร่วมมือกัน มันเป็นสิ่งที่สามารถภาคภูมิใจร่วมกันได้ว่า สะพานดำลำปางนี้ เป็นแลนด์มาร์กและมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศไทยแล้ว

ทางเราเราทำได้เพียงในระดับหนึ่ง แต่ถ้าประชาชนคนลำปางและคนทุกภาคส่วนไม่เข้ามาร่วมมือร่วมใจกัน ทำให้สวนนี้มีชีวิต ดำรงต่อไปได้อย่างยั่งยืนได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับเราลำปาง และชุมชนคนภาคเหนือของเราด้วย

ชัชวาลย์ ฉายะบุตร

⦁ ผู้ว่าฯลำปาง มองคุณค่าสะพานดำ แลนด์มาร์กสำคัญอย่างไร

ด้านพ่อเมืองนครลำปาง เดินทางมาต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองด้วยตนเอง โดย ชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการ จ.ลำปาง กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ร่วมกันบูรณะและปรับปรุงสวนรถไฟสะพานดำ ให้มีความสวยงามเกิดการอนุรักษ์และเก็บรักษาสถานที่อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดลำปาง รวมถึงเป็นพื้นที่สันทนาการ ให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมมาเยือน

ลำปางเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ที่ยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศย้อนยุค สะพานดำก็เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์ก ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของภาคเหนือ หลังจากการสร้างรถไฟสายเหนือ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างดี พร้อมทั้งยังเป็นสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่า และสัญลักษณ์สำคัญของลำปาง

ขอบคุณทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ซ่อมแซมปรับปรุงภูมิทัศน์ของสะพานดำ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และทำให้พื้นที่โดยรอบสวนรถไฟ ได้เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนชาวลำปาง

เควิน กับ จุฑามาศ

⦁ ท่องเที่ยวลำปางต้องขึ้น รถม้า-รถไฟ มนต์เสน่ห์ย้อนยุค?

ลองมาฟังเสียงคนลำปางรุ่นใหม่ ที่มาร่วมเดินงานชม ‘สวนรถไฟสะพานดำครั้งที่ 1’ จุฑามาศ กับ เควิน พนักงานโรงแรมรีเจนท์ลอด์จ ผู้คลุกคลีกับภาคการท่องเที่ยวอย่างแนบแน่น

เริ่มต้นจากมุมมองของ จุฑามาศ พนักงานโรงแรมสาว กล่าวว่า รถไฟกับรถม้าเป็นยานพาหนะที่หานั่งได้ยาก มันสร้างบรรยากาศการย้อนยุคเข้ากับเมืองลำปาง ถ้าจะไปเชียงใหม่ยังไงก็ต้องแวะที่สถานีนครลำปางก่อน เมื่อก่อนคนจะไปขุนตาล ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางกันมาด้วยรถไฟ

หากเขาถามว่าก่อนกลับจะต้องไปเที่ยวไหนดี เราก็แนะนำให้ไป กาดเก๊าจาว ที่อยู่ใกล้ที่นี่ คุณจะได้กินอะไรที่ไม่เคยกิน เป็นของคนท้องถิ่นทำจริงๆ แล้วราคาก็จับต้องได้

สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากนั่งรถม้า เราแนะนำให้นั่งตอนเช้า เพราะมันจะถ่ายรูปได้แสงสวย และมันไม่ใช่การทารุณกรรมสัตว์ เขาจะมีเวลาพักม้าอยู่แล้ว บางทีม้าเขาต้องอาบแดด มีการเช็ดตัว ให้น้ำม้ากันอยู่แล้ว ถ้าเราได้คลุกคลีในสมาคมคนเลี้ยงม้า ก็จะรู้ว่าเขาไม่ได้วิ่งทั้งวันขนาดนั้น มันช่วยกระจายรายได้จากการท่องเที่ยว

ก่อนหน้าที่จะมีการจัดงานสวนรถไฟสะพานดำ เขามีการจัดงานรถม้า ถ้าเขาจัดรวมกันเป็นคานิวัลได้ มันจะเป็นอีกหนึ่งสีสันให้งานน่าสนใจได้ยิ่งขึ้น อาจจะเป็นการเดินพาเรดอยู่ในเมืองให้คนในเมืองรู้ก่อน แล้วค่อยมาที่นี่ เขาก็จะได้ตามมาที่งานนี้ด้วย

SRT Royal Blossom เช็กพอยต์ สะพานดำเมืองลำปาง

สถานที่แห่งนี้มีประวัติศาสตร์ของรถไฟจัดแสดง เขาก็ไม่ได้ทิ้งให้สูญเปล่า เขามาสร้างให้เป็นจุดเช็กอินใหม่ ตอนที่ไม่มีงานเขาก็มีการใช้พื้นที่เล่นวอลเลย์บอลกัน เดี๋ยวสักพักก็อาจจะเป็นลานสเก็ตบอร์ด ให้คนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์กัน

⦁ สะพานดำกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างคอนเทนต์ก็เลิศ?

ขณะที่ เควิน เล่าอีกมุมว่า เมื่อก่อนตรงนี้จะเป็นป่ารกร้าง รู้สึกดีที่เขาพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของลำปาง มันมีความอาร์ตให้มานั่งถ่ายรูป ทำคอนเทนต์ มาเดินเล่นกันได้ แล้วคนในพื้นที่มีส่วนร่วม ในการใช้พื้นที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันทำให้ตลาดรอบข้างมีรายได้มากขึ้น

คนเขามาออกกำลังกายที่นี่เสร็จแล้ว เขาก็ออกไปซื้ออะไรกินกันที่ตลาดรถไฟ มันก็เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน อยากให้คนได้มาสัมผัสลำปาง สัมผัสอากาศตอนเช้าของเมืองที่มีกลิ่นอายเมืองเก่าอยู่หน่อยๆ ให้มาชิมอาหาร เดินชมวิถีชีวิตผู้คนลำปางที่ยังคงรักษารูปแบบวิถีชีวิตเดิมไว้ให้ได้เห็น ถ้าคุณได้มาเห็น มาถ่ายรูป คอนเทนต์คุณจะเลิศมาก

สำหรับคนที่ตามนางงามอยู่ เราอาจจะได้เห็นการเอาแลนด์มาร์กตรงนี้ ไปออกแบบประกวดในรอบชุดประจำชาติ มันจะเป็นการสื่อสารออกไปให้คนรู้จักลำปางมากขึ้น ผ่านวงการนางงาม ข้าวของเครื่องใช้ และการท่องเที่ยวอีกด้วย

สัญลักษณ์ ‘ดอกราชพฤกษ์’ วางบนหน้าปัดนาฬิกา ตัวเลขโรมัน

นับว่าเป็นนิมิตหมายอันดี สำหรับต้นแบบการเดินทางอันสุดแสนพิเศษ ด้วยรถไฟขบวนใหม่ไฉไลกว่าที่เคย กลางปีร่วมลุ้นเซอร์ไพรส์เส้นทางท่องเที่ยว ด้วยขบวน ‘Royal Blossom’ ที่จะพาทุกคน ออกไปสัมผัสมนต์เสห่ห์โลคอลของไทยไปพร้อมกัน

ภูษิต ภูมีคำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image