อนาคต ‘พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก’ ในวันที่ไร้ ‘วราพร สุรวดี’

ภาพเหมือนในพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกซึ่งเคยเป็น 'บ้าน' เดิมของรศ.วราพร

จากไปอย่างกะทันหัน จนสังคมไทยเตรียมใจไม่ทัน สำหรับการสูญเสีย รศ.วราพร สุรวดี ผู้ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” อย่างไม่มีวันกลับ ด้วยอุบัติเหตุไม่คาดฝันในค่ำคืนของวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม หลังพลัดตกจากชั้น 2 ของเรือนไม้ในพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นที่พัก

นำความโศกเศร้ามาสู่คนใกล้ชิด ลูกศิษย์ รวมถึงผู้ร่วมบริจาคในคราวที่มีการระดมทุน 10 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินข้างพิพิธภัณฑ์ หวังไม่ให้ตึกสูงมาบดบังทัศนียภาพ คงไว้ซึ่งพื้นที่สีเขียวกลางกรุง ที่กลายเป็นกระแสเชี่ยวกรากจนมียอดโอนเข้าบัญชีครบถ้วนในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ สร้างความฮือฮาถึงจิตสำนึกสาธารณะที่คนไทยมีร่วมกันในการธำรงมรดกทางวัฒนธรรม

ไม่เพียงความอาลัย หากแต่ยังมีความห่วงใยว่าอนาคตของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกจะเป็นเช่นไร ในวันที่ไร้หญิงชราผู้นี้

รศ.วราพร เสียชีวิตเมื่อ 25 ม.ค.60 หลังรักษาตัวในห้องผู้ป่วยวิกฤตสถาบันประสาทฯนานกว่า 1 สัปดาห์ ศพตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดหัวลำโพง พระอารามหลวง
รศ.วราพร เสียชีวิตเมื่อ 25 ม.ค.60 หลังรักษาตัวในห้องผู้ป่วยวิกฤตสถาบันประสาทฯนานกว่า 1 สัปดาห์ ศพตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดหัวลำโพง พระอารามหลวง

‘เสาเอก’ ที่ยังไม่ได้ลง

หลังโชว์โฉนดสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อได้รับโอนจากการซื้อที่ดินด้วยเงินบริจาค ในวันที่ 26 สิงหาคม 2559 แผนการก่อสร้างอาคารในพื้นที่อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงเริ่มต้นอย่างจริงจัง โดยว่าจ้างบริษัทแห่งหนึ่งย่านสี่พระยาให้เป็นผู้ดำเนินการ แผนเดิมที่วางไว้ คาดจะเริ่มต้นในเดือนมีนาคม 2560 แต่มาเกิดเหตุเสียก่อน

Advertisement

ด้วยสุขภาพโดยรวมที่ยังแข็งแรงกว่าคนวัยเดียวกัน ยังขับรถยนต์ไปไหนมาไหนได้ด้วยตนเอง ยังทำงานที่ ม.เกษมบัณฑิต อย่างคล่องแคล่ว รศ.วราพรในวัย 81 ปี จึงไม่ได้ตระเตรียมสิ่งใดไว้ล่วงหน้า

ทั้งกิจการของ “มูลนิธิอินสาท-สอาง” และ “บริษัทเพื่อพิพิธภัณฑ์” ซึ่งต้องใช้ลายมือชื่อของ รศ.วราพรในการเบิกจ่าย จึงหยุดชะงักชั่วคราวนับแต่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

ทั้งมูลนิธิและบริษัทล้วนก่อตั้งขึ้นเพื่อดูแลพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกเป็นเหตุผลหลัก โดยเฉพาะบริษัทเพื่อพิพิธภัณฑ์ จัดตั้งเพื่อ “ประมูล” งานดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จาก กทม.แบบจงใจ “ตัดราคา” ทุกคู่แข่งแบบไม่หวังผลกำไร

Advertisement

เมื่อไร้ รศ.วราพร จึงยังไม่รู้อนาคตที่แน่ชัดของบริษัทดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวพันกับพิพิธภัณฑ์โดยตรง

เช่นเดียวกับการดำเนินการก่อสร้างและพัฒนาที่ดินด้านข้างพิพิธภัณฑ์ ซึ่ง รศ.วราพรลั่นวาจาไว้ชัดเจนว่าจะไม่มีการยกให้กรุงเทพมหานคร เหมือนที่เคยยกพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร เขตบางรัก”

รศ.วราพร สุรวดี ประธานมูลนิธิอินสาท-สอาง และผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
รศ.วราพร สุรวดี ประธานมูลนิธิอินสาท-สอาง และผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

กทม.ยัน’สานต่อ’เจ้าของเดิม

ท่ามกลางความห่วงใยของหลายฝ่าย มักมีประเด็นที่ถูกหลงลืมไปคือ การที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่เรียกติดปากว่าพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกนั้น ได้ถูกยกให้กรุงเทพมหานครตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2547 ที่ดินพร้อมอาคาร 4 หลัง ของเลขที่ 273 ตรอกสะพานยาว ซอยเจริญกรุง 43 ถนนเจริญกรุง แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพฯ ได้รับการบริหารจัดการพร้อมสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานเขตบางรัก นั่นหมายความว่า แม้ รศ.วราพรจากไปแล้ว พิพิธภัณฑ์ก็จะยังได้รับการดูแลต่อไปในแง่ของงบประมาณ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ

วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยหลังการเสียชีวิตของ รศ.วราพร ว่า ที่ผ่านมามีการจัดสรรงบประมาณดูแลและบำรุงรักษาเฉลี่ยปีละ 1,500,000 บาท โดยในปี 2560 ได้งบ 1,639,300 บาท พร้อมกับขอเพิ่มเติมเพื่อเป็นค่าซ่อมแซมปรับปรุงพิพิธภัณฑ์อีก 426,400 บาท จัดหาอาสาสมัครช่วยปฏิบัติงานในวันทำการ คือระหว่างวันพุธถึงอาทิตย์ วันละ 4 คน พร้อมมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เขตบางรัก เข้าไปประสานงานและร่วมดำเนินงานเป็นประจำทุกวันด้วย

วัลลภยังยืนยันว่า กทม.ยังคงดูแลการบริหารพิพิธภัณฑ์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ รศ.วราพรที่ได้มอบไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และจะดำเนินการพัฒนาปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ให้มีความสวยงามสมบูรณ์ เป็นประโยชน์กับการศึกษาวิถีชีวิตในอดีตของพื้นที่เขตบางรัก

ภาพเขียนสีน้ำ ในมุมที่ผู้คนจดจำ
ภาพเขียนสีน้ำ ในมุมที่ผู้คนจดจำ

ชีวิตที่หายไป

แม้ผู้ดูแลอย่างเป็นทางการในปัจจุบันอย่าง กทม.จะยืนยันว่าพร้อมดูแลพิพิธภัณฑ์ต่อไปเช่นเดิม แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะไม่เหมือนเดิมไปตลอดกาลเมื่อไร้เงา
ศ.วราพร เจ้าของ “บ้าน” เดิม ซึ่งยังอยู่อาศัยในเรือนไม้หลังเล็กๆ พร้อมสัตว์เลี้ยงสี่ขา สุนัข ชื่อ ดอกสร้อย แมวชื่อ ป้ายดำ กระรอกชื่อ ตาโต และหางเหลือบ ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของความมีชีวิต ความเป็นบ้าน

รอยยิ้ม บทสนทนา รวมถึง “เรื่องเล่า” ที่มีต่อข้าวของและสถานที่ นับแต่นี้จะต่างออกไป

บุคคลต้นแบบผู้ล่วงลับท่านนี้ อาจถูกบรรจุประวัติไว้ในพิพิธภัณฑ์ตามที่ สุภาวดี สิทธิกรไพบูลย์ ผู้อำนวยการเขตบางรัก เปิดเผยว่า จะประชุมร่วมกับคณะกรรมการที่ดูแลพื้นที่ เพื่อหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการว่าจะดำเนินงานต่อไปอย่างไร รวมถึงจะหารือเรื่องการจัดทำประวัติของ รศ.วราพร บรรจุไว้ภายในพิพิธภัณฑ์

“ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่าอาจารย์เป็นบุคคลที่น่ายกย่องและทำความดีเพื่อสังคมมาโดยตลอด สำนักงานเขตบางรักพร้อมสานต่อแนวคิดของ รศ.วราพรสู่คนรุ่นหลัง” สุภาวดีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการดำเนินงานของ กทม. โดยสำนักงานเขตบางรักกับ รศ.วราพรจะไม่ค่อยราบรื่นนัก

"ดอกสร้อย" หนึ่งในสัตว์เลี้ยงตัวโปรดที่มอบความมีชีวิตให้พิพิธภัณฑ์
“ดอกสร้อย” หนึ่งในสัตว์เลี้ยงตัวโปรดที่มอบความมีชีวิตให้พิพิธภัณฑ์

‘คำสัญญา’ ต่อผู้บริจาค

อีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับการเปิดเผยหลังการเสียชีวิตของ รศ.วราพร คือ หนังสือ 3 เล่มที่อยู่ระหว่างจัดทำ ซึ่งสำนักพิมพ์ชนนิยม โดย ปรีดา ข้าวบ่อ เล่าว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 รศ.วราพรได้นำต้นฉบับหนังสือ 3 เล่มมอบให้จัดการ หนึ่งในนั้นคือ “พิพิธภัณฑ์ฯ กับวันวิกฤต” มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรม กรณีพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนถึงการได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากคนไทย จนสามารถระดมทุนซื้อที่ดินด้านข้างพิพิธภัณฑ์ได้สำเร็จ ขณะนี้ดำเนินการเสร็จไปราว 80 เปอร์เซ็นต์ แต่มาเสียชีวิตก่อนที่จะได้เห็นหนังสือเสร็จสมบูรณ์

ข้อความส่วนหนึ่งจากหนังสือเล่มดังกล่าวพูดถึงคำสัญญาต่อผู้บริจาค ไม่เพียงค่าซื้อที่ดิน 10 ล้าน แต่ยังบริจาคเพื่อการก่อสร้างอาคารอีก 3 ล้านบาท

“ตามที่ฉันได้สัญญากับผู้บริจาคไว้ว่าจะพัฒนาสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกเมื่อโครงการสำเร็จ ย่อมสานฝันให้พวกเราและลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ ณ สถานที่แห่งนี้ร่วมกัน คงไม่ช้าเกินรอ เพราะมีผู้บริจาคเพื่อภารกิจนี้รวมได้ถึง 3 ล้านบาท ซึ่งคงจะพอเริ่มต้นก่อสร้างได้ในไม่ช้านี้

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกสามารถก้าวข้ามวิกฤตมาด้วยการร่วมใจ ร่วมจ่ายทุนทรัพย์ของภาคประชาชน ฉันหวังว่าเพียงเจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วนได้รับรู้เจตจํานงจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เอาใจใส่และร่วมดูแลสมบัติของชาติอย่างเหมาะสม ไม่นิ่งเฉยถ้าจะมีความเสียหายเกิดขึ้น ก็จะยังประโยชน์ให้ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างสันติสุข ด้วยค่านิยมทางวัฒนธรรมตามอัตภาพตลอดไป”

8 ธันวาคม 2559

วราพร สุรวดี

ต้นฉบับหนังสือที่อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ยังไม่ทันแล้วเสร็จ
ต้นฉบับหนังสือที่อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ยังไม่ทันแล้วเสร็จ

เครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม

นอกเหนือจากการทุ่มเทเพื่อพิพิธภัณฑ์แล้ว รศ.วราพรยังเป็นประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม ซึ่งมักนัดหมายรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก โดยมีรพีพัฒน์ เกษโกศล เลขานุการเครือข่ายฯ เป็นกำลังสำคัญ

หลังการเสียชีวิตของ รศ.วราพรได้มีการเผยแพร่เจตนารมณ์ผ่านเฟซบุ๊ก “เครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม” ว่า “จะทำทุกอย่างเหมือนเมื่อครั้งที่อาจารย์วราพรยังมีชีวิตอยู่” โดยล่าสุดยังมีวิทยากรบอกเล่าข้อมูลเรื่องแนวคิดและวัตถุประสงค์ในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้แก่นักศึกษาจากสาขาการออกแบบภายใน จากคณะสถาปัตยกรรมฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามโครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวดังความมุ่งหวังที่ รศ.วราพรไม่ทันได้เห็น

นับจากวันนี้ แน่นอนว่าย่อมมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไปว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร

ศศิวิมล เพ็ชรรัตน์ อาสาสมัครพิพิธภัณฑ์ ผู้ใกล้ชิด ซึ่งถูกสอนให้จดจำสิ่งต่างๆ "ถ้าฉันไม่อยู่แล้ว"
ศศิวิมล เพ็ชรรัตน์ อาสาสมัครพิพิธภัณฑ์ ผู้ใกล้ชิด ซึ่งถูกสอนให้จดจำสิ่งต่างๆ “ถ้าฉันไม่อยู่แล้ว”
ที่ดินข้างพิพิธภัณฑ์ที่มีการระดมทุนจนสามารถซื้อได้สำเร็จ เตรียมสร้างสิ่งปลูกสร้างราวเดือนมีนาคม 2560 แต่รศ.วราพรเสียชีวิตก่อน
ที่ดินข้างพิพิธภัณฑ์ที่มีการระดมทุนจนสามารถซื้อได้สำเร็จ เตรียมสร้างสิ่งปลูกสร้างราวเดือนมีนาคม 2560 แต่รศ.วราพรเสียชีวิตก่อน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image