หลักฐานใหม่ จิม ทอมป์สัน ‘เหยื่อเผด็จการ’ กรณีตัดเศียรพระถ้ำถมอรัตน์ ศรีเทพ

จิม ทอมป์สัน ภาพจากหนังสือ จิม ทอมป์สัน ราชาไหมไทยหรือสายลับ โดย สำนักพิมพ์มติชน

เมื่อพูดถึงนายจิม ทอมป์สัน ถ้าเป็นกลุ่มคนทั่วไป ก็มักจะรู้จักในนามราชาไหมไทย ชาวอเมริกัน ที่เป็นผู้พลิกฟื้นอุตสาหกรรมผ้าไหมไทยที่เคยตกต่ำให้โดดเด่นขึ้นมาระดับโลก

แต่ถ้าเป็นคนที่สนใจหรือเกี่ยวข้องกับสายโบราณคดี ก็มักจะมีภาพของผู้ร้าย ที่เกี่ยวข้องกับการโจรกรรมภาพสลักจากถ้ำถมอรัตน์ เมืองศรีเทพ ผุดเด่นขึ้นมาแทน ด้วยมีบทความหนึ่งที่ถือว่าน่าเชื่อถือมากเพราะผู้เขียน คือ นายนิคม มูสิกะคามะ นักโบราณคดีที่ต่อมามีผลงานดีเด่นเป็นที่เชิดชู และได้เกษียณอายุราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร

เศียรพระโพธิสัตว์ จากถ้ำเขาถมอรัตน์

ในบทความของสุจิตต์ วงษ์เทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ เรื่องทำลายภาพสลักในถ้ำถมอรัตน์ เมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ให้ข้อสรุปจากบทความของนายนิคม มูสิกะคามะ ดังกล่าวนี้ ที่เขียนตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปากรเดือนกันยายน 2511 และได้นำบทความฉบับเต็มของ นายนิคม มูสิกะคามะ ดังกล่าวมาลงตีพิมพ์ด้วย

บทความเรื่อง ความพินาศของภาพจำหลัก ที่ถ้ำเขาถมอรัตน์ของนายนิคมนี้ จะเป็นเสมือนชุดข้อมูล ‘ความจริง’ ที่นักโบราณคดีที่เกี่ยวข้องมักยกมาอ้างอิงอยู่ตลอด ที่ทำให้ภาพ ‘มีการโจรกรรมสกัดหรือตัดเศียรพระที่ถ้ำเขาถมอรัตน์ แล้วนำไปขายให้ฝรั่งที่ชื่อจิม ทอมป์สัน’ ที่เหมือนชี้นิ้วหรือพิพากษาไปว่า ‘จิม ทอมป์สันคือคนไม่ดี อยู่เบื้องหลังที่มีส่วนทำลายศิลปะและโบราณวัตถุล้ำค่าเหล่านี้’

Advertisement
เศียรพระพุทธรูปจากถ้ำเขาถมอรัตน์

ยกตัวอย่างเช่นที่อ้างใน ภาพที่ 2 ที่เป็นหนึ่งในภาพชุดประกอบเรื่องราวในหัวข้อ เศษซากความพินาศ โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ โบราณวัตถุในศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ โดย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี

ศึกษา (ใหม่) จดหมาย จิม ทอมป์สัน

จดหมายของนายจิม ทอมป์สัน ฉบับดั้งเดิมภาษาอังกฤษที่เขียนถึง นายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2505 เป็นหนึ่งในหลักฐานที่นายนิคมนำมาใช้อ้างในบทความ สำเนาจดหมายฉบับนี้เป็นหนึ่งในจดหมายที่นายจิมได้ส่งไปให้ Lisa หรือ Elizabeth Lyon นักประวัติศาสตร์ศิลป์ที่มิวเซียมของเพนซิลเวเนียจดหมายที่นายจิมเขียนถึง Lisa และสำเนาจดหมายถึงนายธนิตฉบับดังกล่าว ปัจจุบันถูกเก็บรักษาอยู่ใน Archive ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

Advertisement

สำเนาจดหมายนี้มีรวมทั้งหมด 4 หน้า มี 122 บรรทัด ที่นายนิคมแปลและนำมาเสนอ พบว่าตรงกับในต้นฉบับจากบรรทัดแรกจนถึงบรรทัดที่ 68 แล้วนายนิคมละบรรทัดที่ 69-77 คือไม่แปลแต่ละไว้ด้วยจุดประ……. ถัดมาก็จะแปลอีกบางส่วน แล้วละไว้ด้วยจุดประ….. อีก 3 ชุด

แผนผังสังเขปภาพสลักบนผนังในถ้ำพระบนเขาถมอรัตน์ [แผนผังจากบทความเรื่อง “ความพินาศของภาพจำหลัก ที่ถ้ำเขาถมอรัตน์ ต.สระกรวด อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์” ของ นิคม มูสิกะคามะ พิมพ์ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ 12 เล่ม 3 (กันยายน 2511) หน้า 55-72]
ต่อไปจะคัดเนื้อหาจดหมายของนายจิมจากบทความของนายนิคมที่แปลจากต้นฉบับ บรรทัดที่ 59-68 ไปจนจบตามที่นายนิคมแปลหรือยกมา ซึ่งจบด้วยจุดประ….ชุดที่ 4 มาแสดง

‘เมื่อไปถึงถ้ำ พบว่ากลางถ้ำมีหินงอกก้อนใหญ่งอกขึ้นไปจนถึงเพดานถ้ำ ด้านหน้าของหินงอกซึ่งหันสู่ปากถ้ำมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ทางด้านซ้ายขององค์พระมีพระพุทธรูปอีกหลายองค์ ด้านขวามีพระโพธิสัตว์อีกหลายรูป พระพุทธรูปและเทวรูปเหล่านี้เศียรถูกทำลายและสูญหายไปหมด รูปเหล่านี้ได้สลักขึ้นติดกับผนังแบบ Flat Relief เศียร ๓ เศียรที่ข้าพเจ้าซื้อเมื่อปี ๒๕๐๓ นั้นค่อนข้างจะเป็นเศียรเต็ม Full Relief ข้าพเจ้าเชื่อว่าทั้ง ๓ เศียรนี้คงไม่ได้มาจากถ้ำนี้แน่นอน….(1)….

อีก ๓ อาทิตย์ต่อมา ข้าพเจ้าพร้อมด้วยเพื่อนอีก ๒ คน….(2)…..จึงได้ไปถ่ายรูปและทำแผนผังบริเวณถ้ำ….(3)….

ข้าพเจ้าได้พยายามศึกษาค้นคว้าสภาพเดิมของถ้ำนี้เป็นเวลานาน และหวังว่าสักวันหนึ่งคงจะบูรณะให้อยู่ในสภาพเดิม โดยอาศัยการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ในขณะนี้อาจทำเศียรจำลองด้วยปูนพลาสเตอร์ไปติดแทน ซึ่งเป็นงานใหญ่และใช้เวลานาน…(4)…’

เขาถมอรัตน์ อยู่ห่างจากเมืองศรีเทพไปทางทิศตะวันตก ราว 15 กิโลเมตร

สรุปความสำคัญของข้อความที่ถูกละไป

ในส่วนที่ละไว้ 4 แห่งนี้ เป็นเนื้อหาในต้นฉบับรวมประมาณ 36 บรรทัด เมื่อพิจารณาข้อความที่หายไป พบว่า ทำให้ข้อเท็จจริงหายไป อย่างน้อย 3 ประการสำคัญดังนี้

1 ข้อมูลเรื่องถ้ำที่สอง (ที่นายจิมเปิดเผย และสงสัยว่าเศียรแกะสลักชุดแรกสามเศียรที่เขาซื้อมาเป็นแบบเกือบจะลอยตัวเต็ม ไม่น่าจะมาจากถ้ำแรกนี้)

2 ความจริงที่มี Mr. Boeles ร่วมเดินทางไปที่ถ้ำด้วยด้วยในเที่ยวที่สอง แต่นายจิมเป็นไข้หวัดใหญ่กะทันหันจึงไม่ได้ไป และ Mr. J.J. Boeles นี้คือคนที่ทำหนังสือรายงานนายธนิต เรื่องถ้ำเขาถมอรัตน์หลังจากกลับจากการไปถ้ำของเขา ตามคำแนะนำของจิมในต้นปี 2505 นาย Boeles นี้เป็นกรรมการของสยามสมาคม และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยของสยามสมาคม

3 ความจริงที่นายจิมนำเสนอ ที่แสดงว่าเขามีความผูกพันกับเมืองไทยอย่างสูง เจตนารมณ์ของการรวบรวมสะสมของชิ้นเยี่ยมเพื่อไม่ให้ของเหล่านั้นหลุดออกไปต่างประเทศ จะได้สืบทอดต่ออยู่ในเมืองไทยเป็นของเมืองไทย โดยเขา ‘ได้ทำพินัยกรรมยกของที่สะสม บ้าน และของในบ้านทั้งหมดให้แก่สยามสมาคมก่อนหน้านี้แล้ว’

ดังนั้น บทความที่มีการพรรณนาถึงความพินาศที่เกิดขึ้น และชี้นิ้วไปว่าเป็นความผิดของนายจิม ทอมป์สัน ตามเนื้อหาในบทความที่ตีพิมพ์ในเดือนกันยายน 2511 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากนายจิมได้นำเศียรหินปูนแกะสลัก 5 ชิ้นไปมอบคืนที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไปแล้วถึง 6 ปี (12 ตุลาคม 2505) อีกทั้งนายจิมเพิ่งหายสาบสูญไร้ร่องรอยจากการไปพักผ่อนที่คาเมรอนไฮแลนด์ ในมาเลเซีย เพียงปีครึ่ง (26 มีนาคม 2510) เมื่อประมวลเข้ากับข่าวที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หลักเมือง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2511 ที่กล่าวหานายจิม ทอมป์สัน ราชาไหมไทย ว่าเป็นฝรั่งที่มีอิทธิพลผู้ทำลายพระพุทธรูปและโบราณวัตถุของชาติ ฯลฯ น่าจะมีเบื้องหลังอะไรที่สำคัญมากกว่าขอโบราณวัตถุคืนหรือไม่?

ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ การที่ทางกรมศิลปากรได้ทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีในวันที่ 30 ตุลาคม 2505 (หลังจากนายจิมนำเศียรพระไปมอบให้กรมศิลปากรแล้ว 18 วัน!!) กล่าวโยงความเลวร้ายของนายจิม ที่ทำให้เกิดความเสียหายย่อยยับ ที่ไม่อาจปรับคืนมาได้ของโบราณวัตถุในถ้ำนี้ แต่หลังจากได้รับของคืนไปกลับไม่เคยมีการนำเศียรหรือมือที่ถูกสกัดจากภาพสลักเหล่านั้นกลับคืนไปบูรณะหรือซ่อมบำรุงเลย

สภาพถ้ำถูกทิ้งร้าง ไม่มีการไปศึกษาหรืออย่างไรจนถึงทุกวันนี้ การนำเสนอเรื่องนี้ให้ปลัดกระทรวงศึกษาทราบ และนำเข้าสู่ ครม.เพื่อพิจารณานั้น ดูแปลกๆ อยู่

บรรยากาศบ้านเมืองไทยในยุคนั้น

ช่วงปี 2500-2506 เป็นช่วงเผด็จการสฤษดิ์เรืองอำนาจ ที่ใช้อำนาจในมาตรา 17 สั่งประหารชีวิตคนโดยไม่ต้องขึ้นศาล ใช้อำนาจและอิทธิพลเข้าไปครอบงำการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ตัว ธุรกิจครอบครัวและพวกพ้อง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ใช้กลไกของรัฐใหม่ที่ตนเป็นผู้ก่อตั้งและควบคุมอยู่ในการสนับสนุนธุรกิจของตน ก่อตั้งบริษัทการค้าขึ้นใหม่รวม 8 แห่ง รวมทั้งบริษัทกรุงเทพฯไหมไทย จํากัด ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

รายงานการสอบสวน โดยพระมนูเวทย์วิมลนาท คณะกรรมการสอบสวนทรัพย์สินของรัฐในกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สรุปมีความเห็นว่า บริษัท กรุงเทพไหมไทย จำกัด เป็นกิจการที่เติบโตมาจากร้านตัดเย็บ ธุรกิจเก่าของ ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ก่อตั้งเป็นบริษัทในปี 2503

มูลนิธิและพิพิธภัณฑ์จิม ทอมป์สัน

สองปีหลังจากการสูญหายของจิม หลานผู้รับมรดกได้พิจารณาเห็นว่านายจิมเป็นผู้มีปณิธานอันแรงกล้าที่จะปกป้องรักษาโบราณวัตถุที่เขาสะสมไว้และบ้านไม้เรือนไทย (The house on the klong) ให้คงอยู่ในเมืองไทยเป็นของคนไทย จึงได้พิจารณาร่วมกับเพื่อนสนิทหลายคนของจิม ในการจัดตั้งมูลนิธิ

การตั้งมูลนิธิจิม ทอมป์สัน อย่างเป็นทางการเกิดในปี 2518 โดยมีที่ดิน บ้านและศิลปวัตถุที่สะสมได้ถูกจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินของมูลนิธิ และได้จดเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการ

บทส่งท้าย: เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก

จิมได้เขียนจดหมายเล่า Lisa ว่า วันที่ 3 เมษายน 2502 ที่ผ่านมา เขาได้ทำบุญบ้าน (The house on the klong) ที่เพิ่งสร้างเสร็จ นิมนต์พระ 9 รูปมาสวดทำบุญบ้าน ด้วยวันที่ 3 เมษายน 2567 ที่จะถึงนี้ ก็จะครบรอบ 65 ปีที่จิมทำบุญขึ้นบ้านใหม่ บ้านริมคลองของเขา อีกทั้งเพิ่งผ่านวันครบรอบ 57 ปีการสูญหายของจิม (26 มีนาคม 2510) มา 8 วัน ทางมูลนิธิจิม ทอมป์สัน สยามสมาคม และกรมศิลปากรน่าจะได้ร่วมกันจัดงานบุญใหญ่ นิมนต์พระ 9 รูปมาสวด ทำบุญกรวดน้ำให้แก่ผู้ล่วงลับ รวมทั้งให้แก่กัลยาณมิตรจากสยามสมาคมในอดีตของจิมที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว

ขออโหสิกรรมให้แก่กันและกัน ผู้อยู่ก็แผ่เมตตาไปให้

ถ้าทางมูลนิธิจิม ทอมป์สัน จะจัดงานทำบุญในวันที่ 3 เมษายนนี้จริงผมก็ขอปวารณาตัว ขอมาร่วมทำบุญด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image