มติชน ‘อ่านเอาฤกษ์’ เบิกโรง 14 เล่มใหม่ ไม่เจิมไม่ได้ ในสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

มติชน‘อ่านเอาฤกษ์’
มติชน‘อ่านเอาฤกษ์’
ในสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

โคจรมาอีกครั้ง สำหรับฤกษ์งามยามดี สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และ สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 จับยามสามตาในห้วงเวลา 12 วันเต็ม ตั้งแต่วันนี้ 28 มีนาคม-8 เมษายน พิกัดเอาชัย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7
เสกคาถาป้ายยาเรียนเชิญมายัง สำนักพิมพ์มติชน บูธ J47 ซึ่งเปิดฤกษ์มงคลไว้รอผู้อ่านและอยากอ่าน พร้อมความยิ่งใหญ่ตระการตาในธีมฮิตจัด ‘ReadUp อ่านเอาฤกษ์’
ส่องทางสว่างในเส้นทางชีวิต ให้ ‘ความรู้’ ช่วย ‘มู’ อนาคต
เจิม 14 เล่มใหม่ที่เพิ่งออกจากแท่นพิมพ์สดๆ ร้อนๆ ชนิดลวกมือ พร้อมกิจกรรมและเสวนาน่าฟังมากมายระดับ ‘ทำถึง’

1.Twists and Turns คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม
โดย สันติธาร เสถียรไทย
พาผู้อ่านสำรวจเทรนด์โลกที่ ‘หักมุม’ (Twists) อย่างเหนือคาดทั้งในภาคเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลั่นประสบการณ์จากการทำงานในโลกกว้างมากลั่นเป็นคู่มือเบื้องต้นว่าเราควร ‘หัน’ อย่างไรในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม

Advertisement

2.ลอกคราบพุทธเเท้ : ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยร่วมสมัย
โดย อาสา คำภา
ว่าด้วยประวัติศาสตร์ ปรากฏการณ์สังคม จริต และอารมณ์ความรู้สึก เมื่อ พ.ศ.2564 นับตั้งแต่อดีตกรอบคิดเรื่อง กฎแห่งกรรม เป็นสิ่งที่แฝงฝังอยู่ในโครงสร้างทางวัฒนธรรม ทำให้ผู้คนเชื่อเรื่องการสั่งสมบุญ เริ่มทำความดีตั้งแต่ชาตินี้เพื่อให้เกิดความสบายในชาติหน้า และมีนิพพานในฐานะสิ่งยอดปรารถนา ขณะเดียวกันพระพุทธศาสนาในห้วงเวลานั้นยังแยกไม่ขาดจากศาสนาผีและฮินดู

3.พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น : จากวัตถุที่จัดหาและได้มาในยุคอาณานิคม สู่นิทรรศการที่โอบรับคนทุกวัฒนธรรม
โดย Adam Kuper วรรณพร เรียนแจ้ง แปล
ย้อนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของ ‘ชนดั้งเดิม’ (primitive peoples) หรือ ‘อนารยชน’ (barbarians) กลุ่มต่างๆ ซึ่งอยู่พ้นไปจาก ‘ยุโรปที่เป็นอารยะแล้ว’ – โดยไล่เรียงตั้งแต่ต้นกำเนิดของมันในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงตำแหน่งแห่งที่ของมันในยุคปัจจุบัน

Advertisement

4. The Lost Forest: ประวัติศาสตร์
(การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร
โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ประวัติศาสตร์ของการทำลายสิ่งแวดล้อมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันในแง่มุมที่ผู้เขียนสนใจ โดยผสมผสานระหว่างการเล่าเรื่องแบบสารคดีที่ผู้เขียนเคยลงไปสัมผัสปัญหาในพื้นที่มากับข้อมูลจากงานศึกษาต่างๆ รวมทั้งบทสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญและคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม

5.ไม่มีครั้งสุดท้ายสำหรับโอกาส (ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ ลำดับที่ 36)
โดย หนุ่มเมืองจันท์
พากลับมาขบคิดมุมมองของตนเองที่มีต่อคำว่าโอกาสซึ่งเป็นคำที่หลายคนให้คุณค่า คาดหวัง อยากให้มันเกิดขึ้นในชีวิตของตนเอง และพานคิดไปว่าโอกาสเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก จนเกิดเป็นความกลัวว่า เมื่อโอกาสใดๆ เกิดขึ้น มันจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว

6.อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ :
การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์
โดย ปวีณา หมู่อุบล
สภาวะของเศรษฐกิจและสังคมที่มีการยายตัวทางเศรษฐกิจการค้า การผลิตเชิงพาณิชย์ ระบบเจ้าภาษีนายอากร และการสั่งสมกำลังคน ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและกลุ่มอำนาจใหม่ๆ มากขึ้น พระองค์จึงต้องพยายามควบคุมอิทธิพลและผลประโยชน์ของเหล่าชนชั้นนำผ่านกฎหมายต่างๆ แต่จะใช้วิธีที่รุนแรงและเด็ดขาดมากก็ไม่ได้ จำต้องอาศัยการสร้างอาณาบารมีผ่านปฏิบัติการทางวัฒนธรรมร่วมด้วย

7.Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว
โดย กำพล จำปาพันธ์
เล่าประวัติศาสตร์ไทยในมุมใหม่ที่มีสัตว์เป็นแกนกลางตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงทศวรรษ 2500 โดยในสมัยอยุธยาเชื่อกันว่าบรรพชนของเรา อาจเวียนว่ายตายเกิดมาเป็นสัตว์จึงไม่นิยมทำร้ายสัตว์เลี้ยง ช่วงเวลาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา โรคห่าได้คร่าชีวิตคนมากมาย ‘แมว’ มีส่วนสำคัญในการปราบหนูซึ่งเป็นพาหะนำโรค และเป็นของมีค่าราคาแพงในตลาดจีนเป็นทั้งบรรณาการและแมวประจำเรือที่สามารถระวังภัยตามสถานการณ์ต่างๆ

8.จิ้มก้องและกำไร : การค้าไทย-จีน 2195-2396/1652-1853
โดย สารสิน วีระผล
การค้าไทย-จีน เป็นตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคจารีตที่ไม่เพียงเป็นเรื่องปกติ แต่ยังมีความสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์ไทย
ความเข้าใจต่อประเด็นการค้าทางทะเลยุคจารีตในประวัติศาสตร์ไทยมักมุ่งเน้นไปที่การค้ากับตะวันตกเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าอำนาจทางการเดินเรือและทางทหารทำให้ตะวันตกมีอิทธิพลอย่างมากในการค้าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งที่ความจริงแล้ว ตะวันตกก็เป็นเพียง 1 ในคู่ค้าของดินแดนต่างๆ เท่านั้น กลับกันแล้ว จีนต่างหากที่ตะวันตกมองเป็นมหาอำนาจในเวลานั้น การค้าไทย-จีน จึงไม่อาจละเลยได้ เนื่องด้วย สัมพันธ์ต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในภูมิภาคและในไทย

9.ชิงแดนแม่น้ำโขง : ประวัติศาสตร์เสียดินแดนฉบับวิวาท (กรรม)
โดย ฐนพงศ์ ลือขจรชัย
พาสำรวจหลักฐานทางประวัติศาสตร์และสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เพื่อสืบสาวความจริงของประวัติศาสตร์การเสียดินแดนบริเวณแม่น้ำโขงของสยาม น่าสนใจคือประวัติศาสตร์ไทยก็กล่าวว่าสยามเสียดินแดนลาวไปเช่นเดียวกัน เช่นนั้นแล้วใครกันที่เสียดินแดน? แท้จริงแล้วมีการเสียดินแดนหรือไม่? ความจริงนั้นเป็นเช่นไร?

10.ชีวิตเชลยศึก : หยดเลือดและหยาดน้ำตาในค่ายกักกันไทยหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา
โดย เทพ บุญตานนท์
เรื่องราวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งไทยมีสถานะเป็นผู้แพ้สงคราม จึงต้องชดใช้ความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงสงคราม เช่น การเสียค่าปฏิกรรมสงคราม การคืนดินแดนบางส่วนของอินโดจีนให้แก่ฝรั่งเศส รวมถึงดูแลเชลยศึกซึ่งยังคงตกค้างอยู่ในประเทศหลังสงครามสิ้นสุดด้วย
เชลยศึกที่ยังคงตกค้างอยู่ในประเทศไทยหลักๆ ประกอบไปด้วยเชลยศึกญี่ปุ่น ดัตช์ และเกาหลี เชลยศึกเหล่านี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากในค่ายกักกัน ความอดอยากและสุขภาวะที่ไม่ดีมีอยู่เสมอโดยเฉพาะในค่ายกักกันนอกกรุงเทพฯ
แม้ว่าการจัดการกับเรื่องเหล่านี้จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงสถานะและเอกราชของประเทศไทยดีขึ้น แต่ก็แลกมาด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ และปัญหานี้ก็กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่กองทัพลุกขึ้นมาทำรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนใน พ.ศ.2490

11.เสด็จพ่อ ร.5 วีรบุรุษในวัฒนธรรมไทย
และประชาชนในรันาฏกรรม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
บทความรวมเล่มของนักปราชญ์ผู้ล่วงลับ เปรียบเสมือนบทบันทึกรอยต่อและจุดหักเลี้ยวของยุคสมัย ประกอบด้วยประเด็นเรื่องการเมืองของประเพณีและพิธีกรรม ความคิดเรื่องวีรบุรุษที่เลื่อนไหลแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ปมปัญหาเรื่องการถ่ายโอนอำนาจแลการสืบทอดอำนาจ บทบาทของปัญญาชนในสังคมไทย ความขัดแย้งภายในหมู่ชนชั้นนำ ที่ทางของประชาชนในรัฐราชการไทย อำนาจนำทางศีลธรรมที่เสื่อมคลาย และจิตสำนึกใหม่ของประชาชนที่กำลังก่อตัว

12. Sex Appear เพศสะพรั่ง
โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์
ความเรียงกึ่งเรื่องเล่า ของเรื่องจริงจากคนใกล้ตัว ดำเนินเรื่องอย่างมีน้ำเสียงและจิตวิญญาณ ตั้งแต่สิทธิการแต่งกาย มายาคติว่าด้วยความเป็นชายหญิงแบบที่สังคมคาดหวัง ความรุนแรงในความสัมพันธ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ประเด็นทางเพศใหม่ๆ บนสื่อโซเชียล และรสนิยมทางเพศที่ลื่นไหล

13.Everything is Washable ขจัดปัญหาชีวิต ง่ายนิดเดียว
โดย Sali Hughes เพียงขวัญ ลักษณ์แสงวิไล แปล
ซาลี่ ฮิวจ์ส นักข่าว พรีเซ็นเตอร์ และคอลัมนิสต์ด้านความงามของ The Guardian ได้คัดสรรประสบการณ์และบทเรียนชีวิตของตัวเองมา
บอกเล่าให้สาวๆ ทั้งวัยรุ่น working women และบรรดาแม่บ้านยุคใหม่ได้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุดแสนธรรมดาอย่าง การดูแลรักษาบ้านช่อง การจัดการในครัว การแต่งสวนหลังบ้าน ไปจนถึงเรื่องยุ่งยากชวนปวดหัวอย่างการรักษาสารพัดความสัมพันธ์ การวางแผนชีวิตคู่ทั้งด้านการเงินและการงาน เรียกได้ว่าเป็นคัมภีร์สาวๆ ที่เนื้อหาครอบคลุม ครบถ้วน อ่านทุกอย่างจบได้ภายในเล่มเดียว

14. Virtual Society สังคมเสมือน: สู่พรมแดนใหม่บนโลกใบเดิม
โดย Herman Narula โสภณ ศุภมั่งมี แปล
นำเสนอวิสัยทัศน์และเปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับ ‘เมตาเวิร์ส’ ที่มีบทบาทต่อสังคมทั้งด้านการทำงาน การเล่นสนุก การพักผ่อนคุณค่าของชีวิต ฯลฯ โลกเสมือนคือความเป็นไปได้อีกระดับที่จะกลับมาโต้ตอบและ ทำให้คุณภาพชีวิตในโลกปัจจุบันนี้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่การหนีจากความจริงเข้าไปในโลกจินตนาการตามที่เคยเข้าใจ แม้แต่ระดับกองทัพเองก็สามารถใช้การจำลองเพื่อฝึกการรบได้ โดยเชื่อว่ามนุษย์จะสามารถมีชีวิตที่เติมเต็มได้ผ่านการใช้ประโยชน์จากโลกเสมือน

นับเป็น 14 เล่มเน้นๆ เฟ้นมาให้เจิมในฤกษ์งามยามสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งล่าสุด เกาะติดตารางกิจกรรมและรายละเอียดเพิ่มเติมของทุกเล่มแบบเต็มอัตราได้ที่ FB : Matichon book-สำนักพิมพ์มติชน www.matichonbook.com โทร 0-2589-0020

แอดไลน์ ‘รับหิ้ว’

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image