ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ
ทอล์กเรื่องว้าวเขย่าวงการวิทย์
‘สัตว์ยังมีอะไรให้เราเลียนแบบอีกเยอะ’
ถือเป็นอีกวงทอล์กสุดว้าวประจำบูธ สำนักพิมพ์มติชน J47 ในสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 สำหรับ ‘10 สัตว์มหัศจรรย์เปลี่ยนโลก’ โดย ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เขียนหนังสือ ‘Ani-More วิทยาสัตว์’ พาเจาะลึกแนวคิดเรื่องราวของสัตว์ที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ ในกิจกรรม Matichon’s Special Talk ในช่วงเย็นย่ำของทุกวัน จนถึง 8 เมษายนนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7
“สัตว์มันฉลาดกว่าเรา แต่วิวัฒนาการทำให้ทุกอย่างที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันถูก Optimized (ปรับให้เหมาะสม) ให้อยู่รอดและสืบพันธุ์ สัตว์จึงมีอะไรให้เราเลียนแบบอีกเยอะ”
เปิดมาประโยคแรกๆ ก็สะกดคนฟังอย่างอยู่หมัด
ชวนให้ฟังรายละเอียดลงลึก แต่เข้าใจง่ายสไตล์ SUNDOGS สำนักพิมพ์น้องใหม่ในเครือมติชนที่เอาใจ ‘สายวิทย์’ โดยเฉพาะ
“ลองจินตนาการหัวรถไฟความเร็วสูง (ชินคันเซ็น) มาจากนกกระเต็น ที่มีหัวทู่ๆ ปากแหลมๆ และบินได้เร็วมาก อันนี้ก็เลียนแบบมา หรือกังหัน ก็เลียนแบบมาจากฟลิปเปอร์ของวาฬ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้มันว่ายน้ำได้เร็วขึ้น
สัตว์เป็นต้นแบบให้เราหลายอย่าง เพราะวิวัฒนาการมาหลายร้อยล้านปี มนุษย์เราเพิ่งวิวัฒนาการมาแป๊บเดียวเอง แค่แสนกว่าปี หรือรวมบรรพบุรุษเก่าสุด 8-10 ล้านปี ขณะที่สัตว์มีมานานมากตั้งแต่ยุคแคมเบรียน ประมาณ 500 ล้านปี” ผศ.ดร.ป๋วยอธิบาย ร่ายมนตราแห่งวิทยาศาสตร์
ก่อนเดินหน้าในแง่มุมหลากหลายที่ชวนว้าวววววทุกดีเทล
แมงป่อง สุดโรแมนติก
‘ยอมตาย ไม่ยอมโสด’
แมงป่อง เป็นสัตว์ที่โรแมนติกมาก เวลาจะสืบพันธุ์กัน ต้องจับคู่ก่อน มันมีกล้ามใหญ่ 2 อัน และกล้ามเล็กอีก 2 อันตรงปาก อันดับแรกจะเอากล้ามมาจับคู่กันเพื่อเต้นรำ จนมีคำที่เรียกกันว่า The dance for two เป็นการเต้นรำกัน 2 ตัว แต่ที่จริงแล้วเป็นการงัดข้อกันระหว่างตัวเมียกับตัวผู้
ถ้าตัวผู้งัดข้อชนะตัวเมียได้ มันก็ยอม จากนั้นจะมีการตกลงปลงใจกัน มีการ Kiss ด้วย ใช้กล้ามเล็กจุ๊บกันก่อนผสมพันธุ์เพื่อให้เผ่าพันธุ์อยู่ต่อ แต่ถ้าไม่ชนะ แข็งแรงไม่พอ มันก็จะไม่เอา
แมงป่องบราซิล แม้ดูห้าวแต่ไม่สู้คนสักเท่าไหร่ ชอบซ่อนอยู่ในรู ชอบคืนเดือนมืดมาก ตัวจะเรืองแสงขึ้นมาเลยในตอนกลางคืน ถึงตาไม่ดีเท่าไหร่ แต่ประสาทรับกลิ่นค่อนข้างพอใช้ได้ ส่วนการรับแรงสั่นสะเทือนใช้ได้
นักวิจัยพบว่าถ้าเอาแสงยูวีไปส่อง มันจะกลับไปซ่อน เพราะรู้ว่าไม่ปลอดภัย พอปิดแสง มันก็จะออกมาใหม่ แสงที่เรืองจากแมงป่อง เรียกว่า ฟลูออเรสเซนต์ ถ้าส่องมันนานๆ ต่อมจะพังและเรืองแสงไม่ได้อีก พอเรืองแสงไม่ได้แล้ว มันก็จะเลิกซ่อนตัว เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมไป เราจึงเข้าใจกลไกตรงนี้
ถ้ามันเจออันตรายแล้วหลบไม่ทัน จะสะบัดหางทิ้งไปเลยเหมือนจิ้งจก แต่งอกใหม่ไม่ได้ พอสะบัดหางปั๊บ มันจะต้องปิดแผล แต่ดันไปปิดรูทวารด้วย แมงป่องก็จะท้องผูกสะสมทุกอย่างไว้ข้างใน กินได้แต่ถ่ายไม่ได้ มันยอมท้องผูกตายแต่ไม่ยอมตายตรงนั้น
ก่อนตายมีมิชชั่นอยู่ 1 อย่าง คือ จะหาคู่ผสมพันธุ์ก่อน เพื่อที่จะสืบต่อเผ่าพันธุ์ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก ยอมตายแต่ไม่ยอมโสด แล้วตายแบบทรมานเพราะท้องผูกตาย แต่อาจจะอยู่ได้ถึง 8 เดือน แบบที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 30-40 เปอร์เซ็นต์ อ้วนปี๋เลย แต่ต้องทำเพื่อสืบเผ่าพันธุ์
ตัวผู้ไม่มีปัญหาเพราะยังสามารถไปเต้นรำได้ปกติ ปัญหาอยู่ที่ตัวเมีย เพราะอุจจาระในตัวไปอุดตันส่วนที่จะมีลูกในท้องให้ลดลง อย่างน้อยมีลูกสักหยิบมือหนึ่งยังดี เพื่อให้สามารถสืบพันธุ์ต่อไปได้
พิษแมงป่องราคาแพงมาก ลองค้นกูเกิลเล่นๆ แล้วจะช็อก เขานับปริมาณเป็นแกลลอน ส่วนใหญ่คนเอาไปทำยาต้านมะเร็ง มีโปรตีน มีเปปไทด์เป็นร้อย แต่ก็มีพิษเยอะ เช่น คลอโรทอกซิน เอาพิษไปต่อยอดอย่างอื่นได้ มีคนเอาไปทดลองกับมะเร็งสมอง ปรากฏว่าตัวนี้มันไม่ไปฆ่ามะเร็ง แต่ไปสะสมในเซลล์มะเร็ง ไม่เจอในเซลล์ปกติ เลยมีนักวิจัยลองเอาสีฟลูออเรสเซนต์ไปติดไว้ เวลาผ่าตัดสมองก็จะทำให้ตัวมะเร็งเรืองแสงภายใต้ยูวี เลยเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะเวลาผ่าสมองต้องแม่นยำ เกินไปนิดหน่อยไม่ได้เลย หรือถ้าผ่าออกไม่หมด มะเร็งก็จะกลับมาใหม่ พอมะเร็งเรืองแสงได้ตอนผ่าตัด เราก็จะรู้จุด ตอนนี้กำลังเริ่มการทดลองเพื่อใช้กับมนุษย์แล้ว ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามอยู่ เรียกว่า ทูเมอร์เพนต์ เหมือนสีทามะเร็ง แต่ตามจริงแล้วมาจากแมงป่อง เรื่องมันมหัศจรรย์มาก เป็นเรื่องที่ว้าวอยู่
‘มด’ ฉลาดเว่อร์ มนุษย์เร่งศึกษา
‘มันสื่อสารกันอย่างไร?’
ถามว่า ทำไมวงการวิทยาศาสตร์ชอบศึกษามด เพราะมดมันเยอะ การค้นพบว่ามดมีน้ำนม ซึ่งเราต้องนิยามคำว่านม ก่อนว่ามันเป็นของเหลวที่เอาไว้เลี้ยงตัวอ่อน มันเพิ่งเจอไม่นานนี้เอง แต่เป็นนมของดักแด้ มีสารอาหาร ฮอร์โมนอะไรออกมาเต็มเลย
เรื่องของเรื่องเกิดจากการที่นักวิจัยมดโดยตรงเขาไม่สนใจเรื่องพฤติกรรม เขามองข้าม แต่คนที่ไม่ใช่ กลับตื่นเต้นว่า ทำไมมดไปดูดสารอะไรจากดักแด้มาเยอะ มันมีมดงานดูดเอาไปเลี้ยงตัวอ่อน เลยเกิดการทดลองเอาไปย้อมสี ท้ายสุดกลายเป็นว่าอาหารนี้ เหมือนเป็นนมที่เลี้ยงทั้งรัง มันมีธาตุอาหาร ฮอร์โมนหลายอย่าง หลายคนก็สนใจว่า มันอาจจะเป็นการสื่อสารของมดทั้งรังด้วย คนจึงมุ่งศึกษาเพื่อที่จะเอาไปคอนโทรลมด ศึกษาว่ามันสื่อสารกันอย่างไร
อี.โอ.วิลสัน นักวิจัยมดพบว่า มดเป็นสัตว์ที่ฉลาดมาก ยิ่งถ้าอยู่เป็นโคโลนี (colony) เขาคิดว่า หากเราเข้าใจว่าการอยู่เป็นกลุ่มของมดเป็นอย่างไรจึงทำให้พวกมันสามารถเอาตัวรอดได้ อาจจะเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของคนกับมดได้
สำหรับปรากฏการณ์มดวิ่งเป็นวงกลม เป็นพฤติกรรม swarm intelligence ไม่ได้เหนือธรรมชาติ เพราะคนไปศึกษาว่ามันสื่อสารกันอย่างไร ก็จะมีตั้งแต่สารฟีโรโมน ไปจนถึงสารที่มันหลั่งกันออกมาเพื่อคุยกัน คิดว่านมก็เป็นสารหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์นี้
แพนด้า ตะมุตะมิ ‘หลอกตัวเองว่าไม่หนาว’
แพนด้าเป็นตัวที่ผมชอบเหมือนกัน มันตะมุตะมิ แล้วก็งงกับชีวิตดี ชอบตกจากที่สูงแบบงงๆ แต่แพนด้าจะมีความประหลาดอยู่นิดหนึ่ง มันไม่ค่อยอพยพ แต่จะปรับตัวให้ทนกับอากาศได้ มันจะหลอกตัวเองว่าไม่หนาว ด้วยการเอาขี้ม้าสดมาพอก ยิ่งขี้ม้าสดมันยิ่งชอบ เพราะมีสารเดียวกันในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ในกัญชา แล้วสารพวกนี้ออกฤทธิ์ต่อต่อมรับรู้ความเจ็บปวด
มันหลอกความรู้สึกตัวเอง จึงไม่ค่อยอพยพ มันเลยชอบขี้ม้ามาก เขาสำรวจกันมานานแล้วว่า แพนด้าชอบเอาขี้ม้ามาพอกตัว เขียวๆ ดำๆ เสิร์ชรูปแล้วก็เจอ จนเพิ่งมีคนศึกษากันจริงจังเหมือนกันว่า ทำไมมันชอบเอาขี้ม้ามาพอกแบบนี้
เทคโนฯล้ำๆ ‘เรียนรู้-เลียนแบบ’ จากสรรพสัตว์
แมลงสาบปกติคนจะไม่ค่อยชอบกัน มันอึดถึกทนสุดๆ ฆ่าแล้วก็ไม่ตาย เอาเหยื่อให้มันก็ไม่กิน เพราะการรับรู้ต่อเหยื่อล่อ เป็นเรื่องที่แสบมาก มันมีการกลายพันธุ์จากที่ปกติแล้ว กินเหยื่อแล้วจะหวาน แต่มันพัฒนาให้กินแล้วขม มันก็จะไม่กินเหยื่อล่อ กลายเป็นแมลงสาบ Low Carb (คาร์โบไฮเดรตต่ำ)
ตัวแมลงมันมี exoskeleton คนก็เอามาเลียนแบบสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถซอกแซกตามตรอกซอกซอยได้ นักวิจัยก็ออกแบบหุ่นยนต์มีหน้าเหมือนแมลงสาบ เขาไปตั้งกล้องวิดีโอเลยว่ามันเคลื่อนที่อย่างไร มุดท่ออย่างไร แต่แบตมันหมดเร็ว กลายเป็นว่าเวลาจะไปช่วยคนในซอกตึก คนกลับต้องไปช่วยหุ่นยนต์ที่แบตหมดอีกที จนมีการพัฒนาให้ใช้มือถือปัดซ้ายปัดขวา ควบคุมหุ่นยนต์แมลงสาบให้เคลื่อนแบบคอนโทรลมัน ติดสัญญาณจากหนวดมัน
มีนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นมองว่า แล้วทำไมเราไม่ใช้ตัวจริงเลย มันเดินของมันเองได้ ไม่ต้องชาร์จแบต ตอนนี้เขาก็มีความพยายามเอาไปลองใช้ในซอกตึก แต่ต้องนึกภาพว่าปล่อยแมลงสาบ 500 ตัว วิ่งกรูกันไป ตอนปล่อยออกไปยังไม่เท่าไหร่ แต่ตอนที่มันกลับมาพร้อมกัน ก็น่าสยองอยู่ ซึ่งก็เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจ ช่วยคนตอนแผ่นดินไหว ถ้าไปดูห้องทดลอง จะเห็นกล่องเลี้ยงแมลงสาบเรียงกันเป็นตับเลย
เครื่องมือคีบจิ๋ว ไอเดียจากความแปลก
แมงมุมอัดลม ‘หุบ-อ้า’
นักวิจัยเจอแมงมุมนอนตาย มันจะนอนขดหงิก เพราะกล้ามเนื้อหด แต่ตอนยืด มันเป็นแรงดันน้ำที่ทำให้ขากาง พอมันตาย เลือดไม่มีความดันแล้ว ตัวเลยหงิก นักวิจัยเห็นว่าโพรงตัวมันไม่มีเลือดแล้ว เลยเอาเข็มฉีดยาและกาวบีบลงไป เป็นการเป่าลมเข้าไป คนก็สงสัยว่าน่าสงสัยตรงไหน ที่เอาแมงมุมไปอัดลม อ้าออก หุบได้ แต่กลายเป็นว่ามันใช้แทนมือคนขนาดจิ๋วได้ อันนี้เห็นเป็นเปเปอร์ออกมาอยู่ แต่ยังไม่ได้เอาไปใช้จริง เป็นไอเดียของเครื่องมือจักรกลขนาดเล็ก เขาทำทดลองแมงมุมจิ๋วอยู่ พัฒนาเทคโนโลยีที่จะสามารถคีบของขนาดเล็กได้ เป็นไอเดียที่ได้มาจากความแปลก
ถ้าคน ‘จำศีล’ ได้เหมือนหนู
ตื่นอีกที 90 ปีข้างหน้า
หนูจะมีแบบจำศีลกับไม่จำศีล อย่างหนูท่อบ้านเราไม่จำศีล แล้วจะทำอย่างไรให้มันจำศีล ซึ่งทำให้เมตาบอลิซึมลดลง แล้วถ้าเราสามารถทำให้คนจำศีลได้แบบแวบๆ แล้วฟื้นขึ้นมา ก็จะเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เช่น การเดินทางในอวกาศ ที่จะทำให้คนนอนอยู่ในแคปซูลหลับไปแล้วตื่นขึ้นมาอีกใน 90 ปีข้างหน้า
ปัจจุบันถ้าจะเตรียมให้คนเพื่อรอการรักษา ก็จะมีการแช่ในไนโตรเจน ทำให้เกิดน้ำแข็งซึ่งจะทำให้เซลล์สมองเสียหายได้ Cryopreservation เอาไปแช่แล้วสมองก็จะเอ๋อ ถึงจะมีการแช่แข็งหนูไว้ 16 ปี ลองเอาอวัยวะต่างๆ มาสกัด DNA มาโคลนนิ่ง ก็พบว่าสมองหนูยังสามารถเอามาทำโคลนนิ่งเป็นหนูอีกตัวได้ แต่นั่นเป็นเรื่อง DNA ไม่ใช่สารสื่อประสาทของสมอง ถ้าเราทำให้คนจำศีลได้จะเป็นอะไรที่ดี นักวิทยาศาสตร์ก็ไปพบ Granule ที่เจอในหนูจำศีล เอ๊ะ! ถ้าเราสามารถควบคุมเซลล์ประสาทกลุ่มนี้ได้ เราก็จะสามารถจำศีลได้หากทำให้เจอในหนูท่อ แต่ตอนนี้ในคนเรายังค้นหาไม่เจอ ก็ยังคงต้องค้นหากันต่อไป
หนอนตัวแบน หั่นกี่ชิ้นก็ได้ งอกใหม่สบายๆ
ลุยวิจัย ‘ปลูกอวัยวะ’ มนุษยชาติ
เมื่อก่อนเลี้ยงหนอนตัวแบน หรือพลานาเรีย ที่มีลักษณะเป็นตัวเหมือนลูกศร ตาเหล่ๆ ความเด่นคือเราสามารถหั่นมันกี่ชิ้นก็ได้ แล้วมันจะงอกใหม่ ทุกส่วนสามารถงอกเป็นตัวใหม่ได้ภายใน 14 วัน ตัวนี้ก็เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจวิวัฒนาการที่มันดีพอ รวมไปถึงกบที่งอกหางมันได้ เราจะสามารถเข้าใจการปลูกถ่าย ให้อวัยวะมันงอกขึ้นมาใหม่ได้ แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้เข้าใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันมีเรื่องสเต็มเซลล์ด้วย
มีเด็กคนหนึ่งเป็นโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิด มีการนำหัวใจลิงบาบูน เปลี่ยนถ่ายเข้ามาอยู่ในร่างกายจนสามารถอยู่ได้อีก 2-3 สัปดาห์แล้วเสียชีวิต มันก็เป็นจุดที่เราคิดว่า อาจมีการผลิตอวัยวะจากสัตว์ได้
‘ยูริคูโลซอรัส’ เรื่อง (ดราม่า)
ที่ยังไม่มีใน Ani-More
ยูริคูโลซอรัส ไม่ได้อยู่เล่มนี้ขอพูดไว้เผื่อมีเล่ม 2 (หัวเราะ) เป็นดราม่าที่อยู่ในโลกอินเตอร์เน็ตยุค Y2K มันเป็นหนูที่มีใบหู (มนุษย์) อยู่ข้างหลัง เกิดจากการโครงสร้างสำหรับปลูกถ่ายอวัยวะคนไปใส่ในหนู เลี้ยงให้หนูมันปลูกเนื้อหูไว้ปลูกถ่าย เป็นเรื่องดราม่าสักพักหนึ่งแล้ว
ศิลปินชื่อ สเตลอาร์ก (Stelarc) เอาเซลล์ปลูกถ่ายไปปะแขน จนทำให้มีหูอยู่บนแขนได้ แล้วเขาอยากให้คนได้ยินเสียงที่อยู่บนแขน ก็เอาไมค์ไปติดไว้ที่หูบนแขน เพื่อให้ทุกคนได้ยินเสียงจากตรงนั้น ตอนนี้มีอนุสาวรีย์ และเป็นงานอาร์ตจริงจัง ซึ่งก็มีความแปลกเยอะอยู่
เล่มนี้อยากให้คนได้อ่าน เพราะจุดมุ่งหมายของผม คือ อยากให้คนเห็นถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ภาษาไทยหาอ่านยากมาก เราก็เอามาใส่ไว้ หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าตัววอมแบต อึออกมาเป็นลูกเต๋า คนก็เอาไปคิดค้นต่อได้ เราอาจจะได้เห็นหุ่นยนต์ผลิตไส้กรอกที่เป็นลูกสี่เหลี่ยมก็ได้
ถ้าถามว่าอ่านไปทำไม อ่านเอาไว้ประดับความรู้ก็ได้ เอาไว้เมาธ์ก็ได้ บางทีมันทำให้เราเห็นสิ่งใหม่ที่เราอาจจะไม่นึกถึงมาก่อน
เราอาจจะไม่รู้หรอกว่าจะได้ใช้ความรู้นี้ในอนาคตหรือเปล่า แต่วันหนึ่งมันอาจทำให้เราเจอสิ่งที่เราสนใจก็ได้
ภูษิต ภูมีคำ – เรื่อง
รัฐสีมา พงษ์เสน – ภาพ