ไสยศาสตร์เบื้องหลัง ‘อนุสาวรีย์’ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่

ไสยศาสตร์เบื้องหลัง ‘อนุสาวรีย์’ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่

การก่อสร้าง “อนุสาวรีย์” เพื่อรำลึกถึงบุคคล หรือเหตุการณ์ที่มีความสำคัญแก่บ้านเมือง มีให้เห็นทั่วไป ในประเทศไทยเองก็มีอยู่หลายแห่ง เช่น พระบรมรูปทรงม้า, พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก,ท้าวสุรนารี ฯลฯ รวมถึง อนุสาวรีย์สมเด็จพระตากสินมหาราชที่วงเวียนใหญ่

อนุสาวรีย์สมเด็จพระตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ หนึ่งในอนุสาวรีย์ที่มีเบื้องหลังเป็นเรื่องมูเตลูมากมาย

อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่

ส่วนจะมีอะไรบ้าง นริศ จรัสจรรยาวงศ์ เรียบเรียงจากเอกสารเก่าเป็นบทความชื่อ “70 ปี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ (พ.ศ. 2497-2567) ไสยศาสตร์ในอนุสาวรีย์” ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมีนาคม 2567

Advertisement

เริ่มจากแผนการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ พ.ศ.2491 นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ กับ นายเพทาย โชตินุชิต สองสมาชิกสภาเทศบาลนครธนบุรี ร่วมกันฟื้นฟูแผนการสร้างอนุสาวรีย์ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” อีกครั้ง

ปี 2492 นายเพทายได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ธนบุรี ได้ยื่นขอแปรญัตติจำนวน 200,000 บาท จากงบประมาณแผ่นดินเป็นทุนเริ่มแรก ในการสร้าง สภาผู้แทนราษฎรคณะรัฐบาลที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ลงมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติเงินงบดังกล่าว

นับจากนั้นเรื่องราวของ “ไสยศาสตร์” ก็ค่อยๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

Advertisement

นายทองอยู่ได้รับมติจากกรรมการดำเนินงาน ให้กำหนดวันพิธีวางศิลาฤกษ์และเททองหล่อพระเศียร จึงได้ปรึกษากับ ร.อ.ท.สงัด จูฑะศร โหราจารย์แถวหน้าที่ผู้นำต่างยกย่อง รวมกับนายทองอยู่ กำหนดเอาวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 เป็นวันวางศิลาฤกษ์

ร.อ.ท.สงัด เล่าถึงเรื่องครั้งนั้นว่า

“ถ้าตอนใดเกิดความยุ่งยากไขว้เขวขึ้นในสมอง ก็บังเกิดการเคลิบเคลิ้มคล้ายกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช…ได้มาประทับเป็นประธานช่วยในการค้นคว้าดวงพระชาตะของพระองค์เองด้วย…”

ข้างนายทองอยู่ก็เล่าประสบการณ์คล้ายคลึงกันว่า

“คืนวันหนึ่ง…ขณะที่เคลิ้มๆ จะหลับมิหลับแหล่นั้น ก็ได้ยินเสียงหนึ่งแว่วขึ้นที่หน้าต่างทางหัวนอนว่า ฝังศิลาฤกษ์และเททองให้เอาวันต้นๆ เดือนอ้าย…ข้าพเจ้าคาดว่าพระองค์ท่านคงเสด็จมาจึงได้กระทำการสักการะอีกครั้งหนึ่ง

แล้วก็รีบจดวันที่ได้ทรงกำหนดให้นั้นไว้ เพราะเกรงจะลืมไปเสีย…ในขณะนั้นข้าพเจ้าก็ได้ไปพลิกดูปฏิทินพกประจำปี…ก็พบว่าวันที่ 29 พฤศจิกายนตรงกับวันพฤหัสบดีเดือนอ้ายขึ้น 1 ค่ำ และวันที่ 30 พฤศจิกายน ตรงกับวันศุกร์เดือนอ้ายขึ้น 2 ค่ำ ซึ่งทั้งสองวันนี้เผอิญอยู่ในเดือนพฤศจิกายน 2494 ถูกต้องตามมติของคณะกรรมการพอดี…”

พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกต ประธานองคมนตรี
เป็นประธานวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่

สุดท้าย ร.อ.ท.สงัด จูฑะศร คำนวณแล้วก็ตกลงพระฤกษ์ชาตะของพระราชานุสาวรีย์ว่า

“…กำหนดเอาวันที่ 30 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2494…ฤกษ์สมณะ ซึ่งเป็นฤกษ์สูงสุดและดีเด่น ไม่มีฤกษ์ใดในบรรดาฤกษ์ทั้งหลายมาปราบได้ ฤกษ์สมณะนี้ แม้แต่มนุษย์ หรือเทพยดาที่เรามองไม่เห็นก็ต้องเคารพรัก…”

โดยในวันที่ 30 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันทำพิธีวางศิลาฤกษ์และเททองหล่อพระเศียรนั้นตรงกับวันศุกร์ ฉะนั้นจึงมีกำลังเทวดาที่จะพิทักษ์รักษาพระราชานุสาวรีย์นี้ถึง 21 องค์ นายทองอยู่ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ในด้านพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์จึงได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จำนวน 21 รูป มาประกอบพิธีนี้

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ชื่น สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร (สังฆราชองค์ที่ 13), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) วัดอนงคาราม, สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร (ต่อมาคือสังฆราชองค์ที่ 14), พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (โสม ฉนฺโน) วัดสุทัศนเทพวราราม, พระศาสนโศภณ (จวน อุฏฺฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม(ต่อมาคือสังฆราชองค์ที่ 16), พระธรรมดิลก (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพน (ต่อมาคือสังฆราชองค์ที่ 17) ฯลฯ

นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ.2476 เมื่อสมัคร
เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี

นายทองอยู่ยังเห็นว่า อนุสาวรีย์ดังกล่าว ควรมีทองคำ, นาก และเงิน ด้วยจึงจะสมกับพระเกียรติยศ นายทองอยู่เรี่ยไรตามร้านขายทองบ้านหม้อและสะพานหันได้แผ่นนาก 21 แผ่น, ร้านขายทองแม่สมบุญ สะพานหัน ให้แผ่นเงินแผ่ 21 แผ่น และนายอุเทน เตชะไพบูลย์ (แต้โหงวเล้า) ในนามพี่น้องแซ่แต้ ซึ่งแซ่เดียวกับพระเจ้าตากสินมหาราชที่ทรงมีเชื้อสายจีนให้แผ่นทองคำแผ่ 21 แผ่น แผ่นโลหะทั้ง 63 แผ่นนี้ นายทองอยู่ถวายแก่พระสงฆ์ในพิธีองค์ละ 3 แผ่น เพื่อปลุกเสกด้วยพระพุทธมนต์

จากนั้นก็นำศิลาฤกษ์ที่ได้จารึกดวงพระชาตะแล้วนั้นไปถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) สมภารวัดอนงคารามวรวิหาร
และเจ้าคณะจังหวัดธนบุรี ขอให้เพ่งกระแสจิต ทำนองเดียวกับที่เสกเป่าแผ่นโลหะ 3 กษัตริย์นั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) ก็รับนิมนต์ด้วยความเต็มใจยิ่ง และได้เสกเป่าอยู่ถึง 3 คืน เพื่อให้เกิดความขลังและศักดิ์สิทธิ์เกิดทิพยอำนาจเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) ยังแนะนำว่า ในการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ควรนำทองชนวนที่เหลืออยู่จากการหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นเครื่องรางองค์เล็กๆ ครั้งสงครามเกาหลีทั้ง 2 คราวมาหล่อหลอมผสมเข้ากันไปกับทองที่จะเทหล่อในวันที่จะประกอบพิธีนั้น เนื่องจากปลุกเสกโดยพระอาจารย์เจ้าผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาคาถาอาคมชั้นสูงเป็นจำนวนมาก เป็นของขลังและศักดิ์สิทธิ์ซึ่งหาได้ยาก

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ออกแบบและควบคุมการหล่ออนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ทั้งมีเรื่องเล่าว่า ในการหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นเครื่องรางครั้งที่ 2 นั้น ผู้จัดงานทำบายศรีไม่สมพระเกียรติ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือลืมกล่าวถึงพระนามของพระองค์ท่านเพื่ออัญเชิญเสด็จมาประทับเป็นประธาน จนเกิดเหตุให้ผู้ประกอบพิธีเป็นลมล้มทั้งยืน

ด้านพิธีพราหมณ์ นายทองอยู่กำชับ “ขุนศิวาจารย์” พระครูแห่งโบสถ์พราหมณ์เสาชิงช้าผู้กระทำพิธี เพื่อจัดทุกสิ่งทุกอย่างให้ถูกต้องครบถ้วนพร้อมทั้งพระกระยาหารมากหลาย ครบถ้วนบริบูรณ์ไม่ขาดตกบกพร่องแต่ประการใด และได้นำมาตั้งกระทำพิธีในวันที่
30 พฤศจิกายน 2494

ได้ทยอยมาโดยรถยนต์ถึงปะรำโรงพิธีตามลำดับ และได้นำโลหะ 3 ชนิด คือ แผ่นทองคำแผ่, แผ่นนาก, แผ่นเงิน, ที่ได้ปลุกเสกแล้วมอบให้นายทองอยู่ เพื่อรวบรวมเข้าไว้ในพานหน้าโต๊ะบูชา โดยมีสายสิญจน์พันคู่ควบกันไปกับศิลาดวงพระฤกษ์ที่ได้วางไว้ก่อนนั้น

การดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ ใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี จึงแล้วเสร็จ จึงจัดพิธีฉลองสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 17-18 เมษายน พ.ศ.2497 โดยอ้างอิงจากวันพระราชสมภพตามจันทรคติคือ “ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 วันอาทิตย์ จ.ศ.1096 (พ.ศ.2277)” ตามทฤษฎีของนายทองอยู่

แต่เรื่องราวยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ที่นำเสนอนี้เป็นเพียงบางส่วน จาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนเมษายนนี้ ที่อยากเชิญชวนท่านผู้อ่านได้ติดตาม เบื้องหลังไสยศาสตร์นี้มีเหตุผลอะไร

วิภา จิรภาไพศาล
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image