‘สงกรานต์’ ก่อนจะเป็น (ซอฟต์) พ(ร) าวเวอร์

‘สงกรานต์’ ก่อนจะเป็น (ซอฟต์) พ(ร) าวเวอร์

‘สงกรานต์’
ก่อนจะเป็น (ซอฟต์) พ(ร) าวเวอร์

จบไปแล้ว สำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยการโกยยอดเฉียด 400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 10% พร้อมเผยแพร่งานวิจัยว่าคนไทยอ่านหนังสือวันละ 2 ชั่วโมง ล้างวาทกรรม 8 บรรทัดตัดจบให้รู้แล้วรู้รอด

ที่สะดุดตาคือ ในงานดังกล่าวยังผุดนิทรรศการชื่อเก๋จัด ‘สงกรานต์ พราวเวอร์ Proud Songkran’ ที่โดดเด่นเตะตาด้วยรถตุ๊กตุ๊กและอุปกรณ์สาดน้ำ ฉีดน้ำ เล่นน้ำ สไตล์ ‘ไทยๆ’

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ เนื้อหาที่เปิดประเด็นด้วยคำถามที่ว่า ‘สงกรานต์ มาจากไหน?’ แล้วบอกเล่าด้วยชุดความคิดที่ให้ข้อเท็จจริงว่า สงกรานต์มีทั่วไปทั้งในไทย และเพื่อนบ้านอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ไท/ไต ที่นับถือพุทธศาสนา

Advertisement
สิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับประเพณีสงกรานต์ ในปี 2497 และ 2505

เปิดเอกสารที่แจกฟรี พิมพ์สี่สีอย่างดี พบว่าบรรณาธิการนิทรรศการและเนื้อหามีนามว่า อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ นักวิชาการชื่อดัง จึงไม่น่าฉงนฉงายที่แนวทางตีแผ่ความเป็นไทย ไม่ได้อยู่แค่ในเรื่องเล่าแบบเดิมๆ แถมเพิ่มเติมด้วยเอกสารและหนังสือหายาก ถ่ายสำเนามาจัดวางไว้ให้ชมจุใจทั้งเล่ม

แน่นอนว่า แม้คนทั่วไปไม่ได้ตื่นเต้นยืนเปิดอ่าน แต่ก็ให้บรรยากาศของความพยายามเผยแพร่ความรู้

สำหรับเครดิตผู้จัดทำนิทรรศการ คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สนับสนุนโดย กระทรวงวัฒนธรรม, Thailand Creative Culture Agency (THACCA), สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT), ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

Advertisement

zerotwostudio ออกแบบนิทรรศการ

และนี่คือส่วนหนึ่งของเนื้อหา จากที่มาของสงกรานต์ จนถึงการขึ้นชั้นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ใบประกาศสงกรานต์ พ.ศ.2474 จุลศักราช 1293 โดย บริษัทยาสูบอังกฤษอเมริกัน
ประกาศสงกรานต์ โดยบริษัทเอเชียติ๊กปิโตรเลียม สยาม จ.ส.ช.

สงกรานต์ คือ กาลเมื่อถึงเดือนห้า
จากอักขราภิธานศรับท์ หมอบรัดเลย์

นิทรรศการดังกล่าวอธิบายว่า สงกรานต์ มาจากคำในภาษาสันสกฤต ที่หมายถึง ก้าวขึ้น หรือผ่าน หรือเคลื่อนย้าย เดิมหมายถึงการเคลื่อนย้ายจากราศีหนึ่ง ไปยังอีกราศีหนึ่ง จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกเดือน

แต่เมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนย้ายเข้าสู่ราศีเมษ หลังผ่านสู่ราศีอื่นๆ จนครบ 12 เดือน คติพราหมณ์ถือเป็นการเคลื่อนย้ายครั้งสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นปีใหม่ ในเดือนเมษายน คือ ‘มหาสงกรานต์’

นอกจากนี้ ยังหยิบยกความหมายของ สงกรานต์ ใน อักขราภิธานศรับท์ หมอบรัดเลย์ ที่ว่า

‘สงกรานต์, คือ กาลเมื่อถึงเดือนห้า, แลพวกโหรทำเลขคูณหาร รู้เวลา อาทิตย์ย้ายราศรี คือ ออกจากราศรีมิญ ไปสู่ราศรีเมศปีละหนนั้น’

สัพะ พะจะนะ พาสาไท
สงกรานต์ To go to another place ; angel who preside over the year.’

ไม่เพียงเท่านั้น ยังโกยนิยามจาก สัพะ พะจะนะ พาสาไท ของ สังฆราชชอง บาตีส์ ปาเลอกัว (Jean Baptiste Pallegoix) พิมพ์ที่กรุงปารีส เมื่อ พ.ศ.2497 ดังนี้

“… สงกรานต์ To go to another place; angel who preside over the year.’
“ตรุดสงกรานต์ The beginning of the year, a new year.”

ประกาศสงกรานต์หน้าประตูพระบรมมหาราชวัง

ใบประกาศสงกรานต์
ธรรมเนียมปฏิบัติราชสำนักสยาม

เนื้อหาจากนิทรรศการเดียวกัน ยังนำเสนอเรื่องราวของใบประกาศสงกรานต์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมเดิมในของราชสำนักสยาม ระบุเวลาที่พระอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ นามของนางสงกรานต์ประจำปี วันมหาสงกรานต์ วันเนา วันเถลิงศก อีกทั้งปริมาณน้ำฝน และคำทำนายทายทักของพระโหราธิบดี

ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ประกาศสงกรานต์ปรากฏในสมุดไทย

ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการเขียนภาพนางสงกรานต์แขวนตามท้องพระโรงพระที่นั่ง ศาลา และหน้าประตูพระบรมมหาราชวัง

ครั้นสมัยรัชกาลที่ 5 มีการจัดพิมพ์หนังสือประกาศสงกรานต์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง

ต่อมาหน่วยงานราชการ เอกชน ห้างร้าน ได้ตัดพิมพ์ประกาศสงกรานต์เผยแพร่ทุกปีจนถึงทศวรรษที่ 2540 อาทิ ธนาคารออมสินและบริษัทยาสูบ เป็นต้น

สงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์ เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.2479 ก่อนมีพัฒนาการสู่งานสเกลใหญ่ มีทั้งทำบุญ ตักบาตร และที่กล่าวขวัญขจรขจายคือ เวทีประกวดนางงาม ‘เทพี
บรรยากาศ ‘สาดน้ำ’ สงกรานต์ในอดีต
ตุ๊กตุ๊ก สะท้อนแสงแยงตา ชวนตื่นใจ หนึ่งในพาหนะยอดฮิตพร้อมถูกสาด ส่วนหนึ่งในนิทรรศการ ‘สงกรานต์ พราวเวอร์’ โดยมีฉากหลังตกแต่งด้วยอุปกรณ์ขาดไม่ได้ในวันที่สงกรานต์กลายเป็น ‘เฟสติวัล’

สงกรานต์ เทศกาลของชาวโลก

ตัดภาพมาในปัจจุบัน สงกรานต์โกอินเตอร์ โดยได้รับการรับรองจาก องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้ ‘สงกรานต์ในประเทศไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representation List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา

นับเป็นลำดับ 4 ของไทย ต่อจากโขน นวดไทย และโนราของภาคใต้

ทั้งหมดนี้คือเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์สงกรานต์เมื่อวันวาน ก่อนถึงวันถูกแปะป้ายซอฟต์พาวเวอร์ไทยๆ ในวันนี้

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image