อาศรมมิวสิก : น้ำใจและไมตรี เป็นตัวต่อยอดความยั่งยืน

อดิลินา ซิงเกอร์ (Adelina Singer) นักไวโอลินหัวหน้าวง

น้ำใจและไมตรี เป็นตัวต่อยอดความยั่งยืน

ผมได้เขียนบทความเรื่อง “เยาวชนไทย-เยอรมัน เชื่อมฝีมือดนตรี” โดยอาศัยโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เชื่อมความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนการศึกษาดนตรีกับโรงเรียนดนตรีเบลเวอเดีย (Belvedere) จากเมืองไวมาร์ (Weimar) ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากได้ผ่านการพิสูจน์เรื่องความจริงใจ น้ำใจ ความตั้งใจ อุดมการณ์ที่แน่วแน่ ความศรัทธาในการพัฒนาการศึกษาดนตรี รวมทั้งเรื่องฝีมือกับประสบการณ์ในการทำงาน และความเชื่อมั่นในสิ่งที่เกิดประโยชน์จากการเรียนรู้ของเยาวชนดนตรี

โรงเรียนดนตรีเยอรมันยอมรับในคุณภาพและความน่าเชื่อถือของฝ่ายไทย ยกวงออร์เคสตราเยาวชน 50 ชีวิต ร่วมกับเยาวชนไทยอีก 30 คน เพื่อแสดงที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี โรงเรียนภูเก็ตไทยหัวอาเซียนวิทยา และแสดงที่พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 6-8 เมษายน พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา

ความพิเศษของโรงเรียนดนตรีเบลเวอเดีย (Belvedere) จากเมืองไวมาร์ (Weimar) ประเทศเยอรมนี เป็นโรงเรียนเตรียมอุดมดนตรี มีนักเรียนทั้งโรงเรียน 105 คน เป็นนักเรียนอยู่หอพักแบบกินนอน โรงเรียนตั้งอยู่บนภูเขา ซึ่งเป็นปราสาทเก่า มีครูดนตรี ครูศิลปะ และครูสอนกีฬา โดยใช้ครูเฉพาะทางที่สอนทั้งโรงเรียนเตรียมอุดมดนตรีและสอนที่มหาวิทยาลัยดนตรี ราว 70 คน เด็กที่เรียนดนตรี อายุ 10-17 ปี โรงเรียนเน้นเป็นวงซิมโฟนีออร์เคสตรา สำหรับเด็กที่เก่งไวโอลินนั้น พิพิธภัณฑ์ของเมืองไวมาร์ก็ให้ยืมไวโอลินสตราดิวาเรียส (Stradivarius) ไปใช้แสดง ซึ่งเป็นไวโอลินที่สำคัญของโลก เป็นราคาที่ประมาณค่าไม่ได้ มีเงินก็ซื้อไม่ได้ ให้นักเรียนที่เก่งไวโอลินนำไปแสดงเพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการเตรียมพร้อมที่จะก้าวไปเป็นนักดนตรีเอกของโลกต่อไป เป็นหนึ่งในวิธีการสร้างคนเก่งทางดนตรีของโลก ในขณะเดียวกันผู้ฟังก็จะได้ฟังนักไวโอลินเยาวชนที่เก่ง โดยเล่นเครื่องดนตรีที่สุดยอดของโลก ซึ่งตัวเครื่องไวโอลินก็ได้ถูกนำไปใช้แสดง ทำให้ชีวิตของโมเลกุลของไม้ในไวโอลินได้สั่นสะเทือนและมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วย

Advertisement

การมาแสดงในเมืองไทยครั้งนี้ก็เกิด “ดราม่า” ให้ทุกฝ่ายต้องจดจำและเป็นประสบการณ์ไปทั้งชีวิต คือ การนำไวโอลินซึ่งเป็นเครื่องดนตรีชิ้นสำคัญของโลกขึ้นเครื่องบิน “นกแอร์” ภายในประเทศไทย จากดอนเมืองไปภูเก็ต วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน ปรากฏว่าสายการบินนกแอร์ไม่ให้นำไวโอลินหิ้วติดตัวขึ้นเครื่อง โดยพนักงานยืนยันให้ใส่ใต้ท้องเครื่องบิน การจ่ายเงินเพิ่มไม่ใช่ประเด็น เพราะไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีที่ทำด้วยไม้ (โบราณ) และไวโอลินประกอบด้วย “กาวทาเชื่อมให้ไม้ติดกัน” ประเทศไทยนั้นเป็นเมืองร้อน ใต้ท้องเครื่องบินยิ่งร้อนขึ้นไปอีก การเจรจาก็จบลงด้วยการให้ใส่กรงสัตว์เลี้ยงไว้ใต้ท้องเครื่องบิน จ่ายเพิ่มอีกชิ้นละ 500 บาท หัวใจแทบสลาย จะยกเลิกการเดินทาง ยกเลิกการแสดง หรือจะเสี่ยงเดินทางไปโดยให้ไวโอลินประวัติศาสตร์อยู่ใต้ท้องเครื่องบิน

การแสดงที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี วันที่ 6 เมษายน 2567 เวลา 16.00 น.
การแสดงที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี วันที่ 6 เมษายน 2567 เวลา 16.00 น.

โดยสามัญสำนึก นักไวโอลินระดับโลกเดินทางไปแสดงทั่วโลก กอดไวโอลินไว้ยิ่งชีวิต นักเชลโล (Cello) ระดับโลกทั้งหลายต้องซื้อที่นั่งตั๋วเครื่องบินให้กับเชลโล นักดนตรีและครูดนตรีจากเยอรมนีที่มาในครั้งนี้ก็เข้าใจและมีความเชื่อว่า “ไวโอลินหิ้วขึ้นเครื่องได้” เพราะพวกเขาเดินทางกันมาแล้วทั่วโลก ยกเว้นในประเทศไทย แม้จะเคยเดินทางมาแสดงในกรุงเทพฯแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เดินทางต่อด้วยเครื่องบินภายในประเทศ

โชคดีไวโอลินที่นำไปใส่ในกรงสัตว์เลี้ยง พื้นที่ใต้ท้องเครื่องบินออกมาปลอดภัย เมื่อแสดงที่ภูเก็ตเสร็จแล้ว เที่ยวขากลับขึ้นมากรุงเทพฯ ใช้วิธีเช่ารถตู้ติดแอร์ เอาเก้าอี้นั่งออก ใส่เครื่องดนตรีกลับกรุงเทพฯ ส่วนการเดินทางโดยเครื่องบินระหว่างประเทศไม่มีปัญหา เพราะสายการบินอนุญาตให้หิ้วไวโอลินขึ้นเครื่องบินได้

Advertisement

บทเรียนครั้งนี้เป็นบทเรียน “ราคาแพง” ทั้งนักดนตรีที่เป็นผู้โดยสารและสายการบิน สำหรับสายการบินในประเทศนั้น จะแก้ปัญหาอย่างไร ก็เป็นเรื่องของสายการบิน จะให้ความรู้ให้ปัญญากับผู้ที่ตัดสินใจ หรือเขาจะให้รักษากฎเกณฑ์เอาไว้ ก็ตามใจปรารถนา แต่สำหรับนักดนตรีที่เล่นไวโอลิน เล่นวิโอลานั้น ขอแนะนำให้ตรวจสอบกับสายการบินภายในประเทศเสียก่อนว่า สามารถหิ้วไวโอลินขึ้นเครื่องได้หรือไม่ จะได้แก้ปัญหาเสียก่อนการเดินทาง อย่าได้ยึดถือกติกาหรือความเข้าใจเอาเอง แบบการเดินทางด้วยสายการบินนานาชาติ เพราะว่าสายการบินภายในประเทศไม่มีวิธีคิด ไม่ได้มีความเข้าใจเหมือนกับสายการบินนานาชาติ

สายการบินนานาชาตินั้น เขาให้บริการและมีความเข้าใจเรื่องไวโอลินสำคัญราคาแพง ส่วนสายการบินภายในประเทศ “ผู้โดยสารคือลูกค้าที่ไม่มีทางเลือก” หากเลือกไปแล้วก็เป็นกรรมของผู้โดยสาร อธิบายอย่างไรก็ไม่มีความรู้ ไม่ใช้ปัญญาจะรับฟังอะไรเพิ่ม แถมไม่มีความเข้าใจใดๆ เพราะระเบียบและกฎเกณฑ์เขียนไว้แล้ว

การแสดงที่พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว วันที่ 7 เมษายน 2567 เวลา 18.00 น.

การแสดงของวงออร์เคสตราจากโรงเรียนดนตรีเบลเวอเดีย (Belvedere) จากเมืองไวมาร์ (Weimar) ประเทศเยอรมนี ร่วมกับนักดนตรีจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีและโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ ได้แสดงจบลงด้วยความตื่นเต้นและประทับใจในความสามารถยิ่งทั้ง 3 ครั้งที่แสดง สำหรับการแสดงที่พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวนั้น เป็นการแสดงกลางแจ้ง ต้องตัดเพลงสมัยบาโรก (Baroque) ออกไป เพราะเป็นเพลงที่ใช้วงขนาดเล็ก เสียงจะเบา (Concerto Grosso) และอุณหภูมิร้อนมาก (32 องศา)

ผู้ฟังทั้งหลายและผู้จัดการทั้งที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีและที่โรงเรียนภูเก็ตไทยหัวอาเซียนวิทยา ต่างก็จะมีคำถามว่า “จะทำงานเชื่อมความสัมพันธ์แบบนี้ให้ต่อเนื่องและจะต่อยอดต่อไปได้อย่างไร”

การแสดงที่โรงเรียนภูเก็ตไทยหัวอาเซียนวิทยา วันที่ 8 เมษายน 2567 เวลา 11.00 น.

สังคมไทยนั้นใช้เงินนำ “คนมีเงินทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด ส่วนคนจนทำอะไรก็น่าเกลียด” ในชีวิตจริงนั้น สำหรับ “เรื่องบางเรื่องหรือคนบางคน แม้คุณจะมีเงิน คุณก็ซื้อไม่ได้” ในกรณีวงออร์เคสตราจากโรงเรียนดนตรีเบลเวอเดีย (Belvedere) จากเมืองไวมาร์ (Weimar) ประเทศเยอรมนี เดินทางมาแสดงที่เมืองไทยได้นั้น คุณมีเงินก็ซื้อหรือจ้างมาแสดงไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้รับจ้าง แต่เขามาเมืองไทยด้วยน้ำใจและมาด้วยความประทับใจเท่านั้น แปลว่าใช้ใจทำงาน

เมื่อสายการบินนกแอร์ของไทยเอาไวโอลินสตราดิวาเรียส (Stradivarius) ใส่ในกรงสัตว์เลี้ยงใต้ท้องเครื่องบิน เกิดความรู้สึกหัวใจสลายและนักดนตรีเหล่านี้จะจดจำและพูดกันต่อๆ ไปชั่วชีวิต พูดทุกครั้งที่เดินทางไปแสดงทุกเมืองทั่วโลก ยิ่งนักไวโอลินเธอโตขึ้น มีชื่อเสียงมากขึ้นเท่าไหร่ เสียงที่เธอพูดก็จะดังขึ้น ประสบการณ์ที่เธอเล่าต่อๆ ไป ก็จะกระจายมากขึ้นไปด้วย จึงเป็นบทเรียนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้ศึกษาเรียนรู้ “แบบว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว”

ผู้ชมเป็นชาวบ้านและคนเดินดินธรรมดา ทุกคนมีความสุข

ต้องขอขอบพระคุณผู้บริหารโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ผู้บริหารโรงเรียนภูเก็ตไทยหัวอาเซียนวิทยา พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว คณะครูดนตรีจากโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ และคณะทำงานจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งได้ทำงานด้วยน้ำใจไมตรี ทำด้วยความประทับใจ เพราะน้ำใจเท่านั้นที่เป็นตัวต่อยอดความยั่งยืนได้

ผู้กำกับรายการโทรทัศน์ได้เอ่ยปากชื่นชมว่า “สำหรับผมแล้ว เสียงดนตรีสามารถนำพาจิตใจที่ยิ่งใหญ่กว่าศาสนาเสียอีก” ซึ่งได้อ้างคำสอนของท่านพุทธทาสที่ว่า “ดนตรีและศิลปะบริสุทธิ์มีคุณสนับสนุนความมีจิตว่าง เราฟังดนตรีกันที่ความไพเราะ เหมือนกับการศึกษาธรรมะ ก็เพราะความไพเราะของพระธรรม”

สุดท้าย อยากจะบอกกับผู้นำไทยและนักธุรกิจไทยว่า น้ำใจไมตรีจะเป็นตัวต่อยอดความยั่งยืน ซึ่งน้ำใจนั้น เป็นหัวใจสำคัญของนโยบายยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่ทุกคนแสวงหา

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image