“คนไทย”หนึ่งเดียวบนเวทีโลก พสุ เดชะรินทร์ ประเมินการศึกษา สร้างมาตรฐานสากล

“การศึกษ” เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงแทบทุกยุค ทุกสมัย ที่ผ่านมามีความพยายามยกระดับคุณภาพในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความมุ่งหวังให้การศึกษาไทยพัฒนาสู่มาตรฐานระดับสากล

ถือเป็นความท้าทายของบรรดาสถาบัน ที่มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตสู่สังคม

สำหรับประเทศไทยนับเป็นก้าวสำคัญเมื่อ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ก้าวสู่การเป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้รับรองมาตรฐานการศึกษาระดับโลก ในสถาบันรับรองการศึกษาบริหารธุรกิจ AACSB (The Association of Advance Collegiate School of Business) ของฝั่งอเมริกา และสถาบัน EFMD (European Foundation for Management Development) ของฝั่งยุโรป

นอกจากนี้ ยังดำรงตำแหน่งประธานสถาบัน AAPBS (Association of Asia-Pacific Business Schools) ของฝั่งเอเชีย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจแห่งเอเชียแปซิฟิก ที่มีสมาชิกกว่า 130 สถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วภูมิภาคเอเชียด้วย

Advertisement

แต่กว่าจะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้รับรองการศึกษาให้กับมหาวิทยาลัยทั่วโลกในวันนี้ พสุ ต้องผ่านการสะสมประสบการณ์มากมาย

หลังเรียนจบโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พสุ เลือกสอบเอ็นทรานซ์ได้ที่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ซึ่งเลือกเป็นอันดับที่ 5 ระหว่างเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมของสาขาอยู่เสมอ พอจบปริญญาก็ทำงานกับบริษัทเอกชนอยู่ช่วงหนึ่ง

ก่อนตัดสินใจบินลัดฟ้าไปศึกษาระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ (University of Colorado Boulder) ประเทศสหรัฐอเมริกา

ขณะนั้นเองได้เกิดเหตุการณ์พลิกผันครั้งสำคัญของชีวิต คุณพ่อ คือ ดร.ไพรัตน์ เดชะรินทร์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และคุณแม่ สุภาพ เดชะรินทร์ อดีตอาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินเลาด้าแอร์ตก ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เสียชีวิตพร้อมกันทั้งสองคน ตรงกับวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2534

“ผมว่าเหตุการณ์นี้เป็นจุดพลิกผันของชีวิต เนื่องจากผมเป็นลูกคนเดียว ตอนคุณพ่อกับคุณแม่เสียชีวิตเป็นช่วงปิดเทอมพอดี ก็เลยต้องกลับมางานศพ จากนั้นก็ดูแลตัวเองและมีญาติของพ่อและแม่ช่วยเหลือจนเรียนจบ” จากนั้น พสุ ก็กลับมาทำงานที่บริษัทเอกชนในประเทศไทย ประมาณ 1 ปี ก็ตัดสินใจมาเป็นอาจารย์ในคณะเดียวกับ คุณแม่ ที่เสียชีวิตไป

“จริงๆ พ่อกับแม่ไม่อยากให้เป็นอาจารย์ เพราะมีรายได้น้อย ท่านอยากให้ทำธุรกิจ แต่เราลองทำงานเอกชนแล้วคิดว่าน่าจะชอบการเป็นอาจารย์มากกว่าเลยตัดสินใจ เเละสอนหนังสือจนถึงทุกวันนี้”

ปัจจุบันพสุ จบปริญญาเอกที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) เป็นคณะกรรมการรับรองมาตรฐานของสถาบันบริหารธุรกิจระดับโลก 3 แห่ง ยังสานต่อเรื่องการยกระดับคุณภาพการศึกษาอันเป็นรากฐานสำคัญ ที่จะพัฒนาประเทศ

ชายคนนี้ยังมีแนวคิดและมุมมองต่อแวดวงการศึกษาที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจอีกมากมาย…

01 รศ.ดร. พสุ เดชะรินทร์

– ทำไมถึงสนใจเรื่องการมาตรฐานการศึกษา?

เนื่องจากสถาบันที่สอนด้านบริหารธุรกิจทั่วโลก มีแนวโน้มเหมือนองค์กรธุรกิจที่มีเรื่องของ โกลบอลไลเซชั่น (Globalization) หรือ โลกาภิวัตน์ เข้ามามากขึ้น แม้อาจจะมาช้ากว่าภาคธุรกิจอยู่มาก แต่พอโกลบอลไลเซชั่นเข้ามาแล้ว จากเดิมความเป็นจุฬาฯ ความเป็นสถาบันต่างๆ อยู่แค่ในประเทศไทยก็พอ เด็กก็อยากมาเรียนแล้ว แต่เมื่อมีมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศเข้ามา เด็กมีโอกาสและทางเลือกมากขึ้น ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศเองที่อยากมาจับมือด้านการศึกษากับเราแต่คำถามคือ เขาจะรู้ได้ยังไงว่าเรามีมาตรฐานเท่ากับเขา ความเป็นจุฬาฯ แบบเดิมไม่พอ เขาไม่รู้จัก เพราะฉะนั้นเพื่อเป็นเครื่องมือที่บอกว่า เรามีมาตรฐานการศึกษาเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยของโลก ดังนั้น มหาวิทยาลัยจำนวนมากจึงต้องมุ่งสู่เรื่องการรับรองมาตรฐานการศึกษา

– เริ่มงานประเมินมาตรฐานการศึกษาได้ยังไง?

ช่วงที่เป็นหัวหน้าภาควิชา คณบดีในขณะนั้นคือ รศ.ดร.อรรณพ ตันละมัย มีการคุยในที่ประชุมว่าจะมุ่งสู่เรื่องการรับรองมาตรฐานนะ พอท่านเกษียณอายุ ผมเข้ามาเป็นคณบดี คำถามแรกที่เกิดขึ้นคือ เราจะทำเรื่องนี้กันต่อไหม ตอนนั้นยุทธศาสตร์ของผมชัดเจน คือทำต่อ แต่ที่ทำเราไม่ได้มุ่งหวังเพื่อการรับรองอย่างเดียว แต่ประโยชน์หลักคือทำเพื่อนักเรียน

คือตอนนั้นมีนักศึกษาส่งอีเมล์มาถามว่าจุฬาฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานอะไรหรือเปล่าเพราะเขาไปสมัครเรียนต่อต่างประเทศแล้วมหาวิทยาลัยต่างประเทศเขาถามกลับมา ดังนั้นที่เราทำเพื่อเป็นการยกระดับและเปิดโอกาสให้เด็กด้วย ซึ่งการรับรองมาตรฐานการศึกษามีความสำคัญนะ เหมือนธุรกิจที่ขอ ISO และยังเป็นการประกาศให้โลกรู้ว่าสถาบันการศึกษาของไทยมีมาตรฐานทัดเทียมกับนานาชาติ

– มาร่วมงานกับสถาบันรับรองมาตรฐานAACSB ได้ยังไง?

พอจุฬาฯ มีกระบวนการขอรับรองมาตรฐานการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากสถาบัน AACSB ของอเมริกา ซึ่งก่อตั้งมากว่า 100 ปี มีสมาชิกกว่า 1,500 มหาวิทยาลัยทั่วโลก ผมก็เข้าร่วมกิจกรรมกับเขาเสมอ อย่างเวลามีเสวนาอะไรต่างๆ ก็เข้าร่วมและแสดงความคิดเห็น

แล้วในช่วงหลัง AACSB มีความพยายามทำให้มีความเป็นนานาชาติมากขึ้น เลยมีตัวแทนจากสถาบันต่างๆ ของแต่ละภูมิภาคทั่วโลกมาเป็นคณะกรรมการ ทั้งทาง ยุโรป เอเชีย อเมริกาใต้ แอฟริกา ตอนคณะกรรมการเขาว่าง ก็มีกระบวนการสรรหา ปรากฏว่ามีการเสนอชื่อของผม กับชาวต่างประเทศอีกคนในเอเชีย แล้วส่งให้คณบดีต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกโหวต แล้วผมก็ได้เป็นคนไทยคนแรกที่รับเลือกเป็นคณะกรรมการของสถาบัน

– กดดันไหมแล้วต้องทำการบ้านเยอะหรือเปล่า?

ผมมองว่าเป็นตัวแทนของประเทศไทย ไม่ใช่แค่ตัวแทนของจุฬาฯ เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญคือจะทำอย่างไรไม่ให้ขายหน้าประเทศ ไปแล้วไม่ใช่ไปนั่งเงียบ ผมจะพยายามเสนอความคิดเห็น พยายามพูด แล้วสิ่งที่พูดไปก็ต้องไม่โง่ด้วย (หัวเราะ)

ดังนั้น จึงต้องเตรียมตัวพอสมควร ต้องศึกษาเพิ่มเติมมากมาย เพื่อให้พูดออกมาแล้วคนอื่นดูถูกเราไม่ได้ แล้วไม่ใช่แค่พูดในที่ประชุม แต่สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องคือเรื่อง เน็ตเวิร์กกิ้ง ต้องทำความรู้จักคณะกรรมการจากสถาบันอื่นมากขึ้นด้วย

– ต้องประเมินมาตรฐานของมหาวิทยาลัยจากประเทศต่างๆ ด้วย?

ต้องบอกก่อนว่าการประเมินไม่ใช่แค่ผมคนเดียว แต่คณบดีจากมหา”ลัยต่างๆ ที่ได้รับการรับรองจะต้องทำหน้าที่เข้าไปประเมิน ไปตรวจสอบก่อน อย่างที่ผ่านมาผมก็ไปที่ไต้หวัน เพื่อไปดูว่ามหาวิทยาลัยในไต้หวันที่จะขอรับรองคุณภาพการศึกษา เป็นไปตามเกณฑ์พื้นฐานไหม แล้วส่งข้อมูลให้คณะกรรมการพิจารณา นอกจากนี้ยังต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำด้วย

ผมยังนั่งอยู่ในตำแหน่งคณะกรรมการ IAC (Initial Accreditation Committee) คือกรรมการวิชาการ เมื่อยื่นขอรับรองคุณภาพแล้วมีคนประเมินเรียบร้อยแล้ว จะส่งทุกอย่างมาที่กรรมการวิชาการ ซึ่งจะเป็นผู้อ่านพิจารณาเพื่อให้ความเห็นว่าจะให้การรับรองหรือไม่ เพราะฉะนั้นเราเป็นเหมือนด่านสุดท้าย สำหรับมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย

– การรับรองมาตรฐานมีเกณฑ์อย่างไร?

คณะกรรมการ IAC จะแบ่งกันรับผิดชอบ เช่น ผมรับผิดชอบดูมหาวิทยาลัย A,B,C แต่ละแห่งจะพิจารณาตามมาตรฐานการประเมินทั้งหมด 15 ข้อ อาทิ สถาบัน มีเรื่องยุทธศาสตร์ และทิศทางดำเนินการที่ชัดเจนไหม เรื่องทุน ของมหาวิทยาลัยมีเพียงพอหรือเปล่า เรื่องมาตรฐานของอาจารย์ เรื่องผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ รวมถึงเกณฑ์ที่พูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคเอกชน ด้วยซึ่งทั้ง 15 ข้อมีเกณฑ์ที่หลากหลาย เราต้องมาพิจารณาว่าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนั้นๆ เป็นไปตามเกณฑ์แต่ละข้อหรือไม่

– ข้อไหนผ่านการประเมินยากที่สุด?

การเปลี่ยนแปลงคน ใน 15 ข้อจะมีเรื่องการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการของคน ซี่งปัญหานี้ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย แต่ในวงการศึกษาทั่วโลกทุกคนจะพูดเหมือนกันว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยากที่สุดคือ คน

โดยเฉพาะคนที่เป็นอาจารย์ เพราะทุกคนก็มีความรู้ ทุกคนเก่งในวิชาการของตัวเอง จะมีคำถามคือทำไมฉันต้องเปลี่ยน ทำไมต้องทำแบบนี้ แต่ถ้าไม่ทำแล้วจะอยู่แบบเดิมได้หรือเปล่า ตัวอย่างเช่น ตอนที่จุฬาฯ ขอรับรองมาตรฐานก็มีคำถามเกิดขึ้นภายในเหมือนกันว่า ไม่ทำได้ไหม? ผมบอกว่าไม่ทำก็ได้นะ แต่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยหลายแห่งกำลังทำอยู่ เราจะอยู่กันได้ไหมถ้าอีก 5 ปีข้างหน้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยผ่านการรับรองมาตรฐานหมดแล้วแต่จุฬาฯเราไม่มี

ดังนั้น การรับรองมาตรฐานเป็นเครื่องมือที่กระตุ้นและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในขึ้น คือไม่อยากให้มองว่า การประเมินคุณภาพการศึกษาทำเพื่อให้ได้ตรา แต่จริงๆ มีจุดประสงค์เพื่อยกระดับการศึกษาทั่วโลก และเป็นเครื่องมือให้สถาบันพัฒนาตัวเองด้วย

– ทำงานกับสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาของยุโรปด้วย?

ฝั่งยุโรปมีสถาบัน EFMD ซึ่งเกิดหลังอเมริกา คือเขามองว่ามาตรฐานของอเมริกาอาจจะไม่สามารถใช้ได้ทั่วโลก เพราะฉะนั้นจึงสร้างมาตรฐานของยุโรปขึ้นมา ส่วนคณะกรรมการก็มีจำนวนมากที่ทำงานทั้งสององค์กร ผมยังเป็นคนไทยคนแรกที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการวิชาการ EPAS Accreditation Board ที่ดูแลในเรื่องของสถาบันที่ยื่นขอรับรองมาตรฐานหลักสูตร

– การทำงานกับสถาบันในอเมริกาและยุโรปสะท้อนอะไร?

แสดงให้เห็นว่าทั้งฝั่งอเมริกาและฝั่งยุโรป เขาเองเริ่มยอมรับคนไทยมากขึ้น ในเรื่องการศึกษาและบทบาทการศึกษา

แล้วทั้งสององค์กรมีการทำงานที่ต่างกันด้วย ฝั่งอเมริกา ทุกอย่างจับต้องได้ เป็นขั้นเป็นตอน มีสถิติมา

รองรับ ขณะที่ฝั่งยุโรปจะอาศัยเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องเน็ตเวิร์กกิ้ง การพูดคุยมากกว่า ด้านเกณฑ์การประเมินจะมีส่วนที่แตกต่างกันพอสมควร แต่แก่นของการประเมินเช่น คุณภาพอาจารย์ คุณภาพหลักสูตร กระบวนการบริหารจัดการคณะมีระบบหรือไม่ ตรงนี้ไม่แตกต่างกัน และทั้ง 2 องค์กรมีพันธกิจคล้ายกันในเรื่องของการยกระดับคุณภาพการศึกษา

– ฝั่งเอเชียมีสถาบันแบบนี้ไหม?

เอเชียมีสถาบัน AAPBS เป็นสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจแห่งเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเขาจะมองอีกมุมมีวัตถุประสงค์ไม่เหมือนกับทางยุโรปและอเมริกาที่ต้องการยกระดับการศึกษาโดยอาศัยการประเมินคุณภาพ แต่ AAPBS ต้องการยกระดับการศึกษาของเอเชียแปซิฟิก โดยเน้นเรื่องการแลกเปลี่ยนไม่เน้นเรื่องการประเมินคุณภาพเช่น การแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 130 มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วเอเชียแปซิฟิก ทั้งประเทศไทย จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ เกาหลี และญี่ปุ่น ก็อยู่ในนี้หมด โดยปีนี้ผมมีโอกาสเป็นประธานกรรมการของสถาบัน AAPBS

– มองสถาบันการศึกษาธุรกิจในประเทศไทยยังไง?

ขณะนี้เรามีสถาบันหรือมหาวิทยาลัยที่สอนด้านบริหารธุรกิจค่อนข้างเยอะมากกว่า 130 แห่งทั้งประเทศ ในเรื่องคุณภาพมีความหลากหลาย บางแห่งอาจจะไม่พร้อมเราต้องพยายามช่วยเหลือประคับประคองกันไป และถึงแม้หลายแห่งเรามีมาตรฐานระดับโลก แต่ถ้าให้ไปเทียบระดับท็อปอย่าง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หรือมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด คงจะไม่ได้ แต่ถ้าเทียบในเอเชียถึงจะไม่อยู่ใน 10 อันดับแรกแต่ถ้านึกถึงมหา”ลัยชั้นนำที่เป็นที่ยอมรับในเอเชียอาจจะท็อป 20 ต้องมีชื่อของมหาวิทยาลัยไทยไปปรากฏอยู่ด้วย

– แนวโน้มสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจในอนาคตเป็นอย่างไร?

เทรนด์การศึกษาทั่วโลกจะมาในเรื่องของดิจิทัล และการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจมากขึ้น บทบาทของสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจ จะไม่ได้สอนให้จบไปแล้วทำกำไรอย่างเดียว ต้องนำไปสู่การพัฒนา ช่วยเหลือสังคม และความยั่งยืนทางสังคมด้วย

– เราสามารถเป็นศูนย์กลางการศึกษาได้ไหม?

ในเชิงของความเป็นประเทศเราไม่ดึงดูดมหาวิทยา ลัยต่างชาติเลย รวมทั้งยังไม่ดึงดูดนักศึกษาต่างชาติให้เข้ามาเรียนในประเทศไทย เนื่องจากมาเรียนที่นี่โอกาสในการทำงานก็ไม่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นอย่างสิงคโปร์ ที่เรียนจบแล้วโอกาสที่จะทำงานที่นั่นเยอะกว่ามาก ขณะเดียวกันภาษาหลักในการใช้ชีวิตในประเทศไทย เป็นภาษาไทย จะเห็นว่ามีมหา”ลัยจากอังกฤษ และอเมริกาไปเปิดที่ประเทศมาเลเซียเยอะมากเพราะเขาใช้ภาษาอังกฤษอยู่ดังนั้นประเทศสิงคโปร์หรือมาเลเซียเอง ก็มีบรรยากาศที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาเรียนที่เราสู้ไม่ได้

– แล้วสถาบันการศึกษาไทยควรปรับตัวยังไง

ผมมองว่าตอนนี้ทุกแห่งมีความพยายามที่จะปรับปรุงและพัฒนาตัวเองอยู่เเล้ว แต่อาจจะมีเรื่องทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ขณะเดียวกันต้องตระหนักว่าความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตค่อนข้างเปลี่ยนไป เขาไม่ต้องการบัณฑิตที่มีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด และเท่าที่ถามภาคธุรกิจมาเขาบอกอย่างชัดเจนว่าระหว่าง ทัศนคติ ทักษะ และความรู้ เขาให้เรื่องของความรู้ต่ำสุด ตอนนี้เขาไม่ต้องการเด็กที่เกรด 3.99 แต่ทั้งวันนั่งอยู่ในห้องสมุด แต่ได้เกรด 3.99 แล้วทำกิจกรรมด้วยไหม บางคนดูแค่เกรดผ่านในระดับหนึ่ง ทีเหลือดูว่าชีวิต 4 ปีในมหาวิทยาลัยคุณทำอะไรบ้าง

ดังนั้นสิ่งที่เราต้องปรับตัว ไม่ใช่แค่ปรับตัวเข้ากับต่างชาติและเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ต้องปรับตัวตามผู้ใช้บัณฑิตด้วย ไม่ใช่ผลิตมาแต่ไม่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ

– นักศึกษาบริหารธุรกิจในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

ขึ้นอยู่กับเด็กมีทั้งที่ขวนขวาย เรียนรู้ด้วยตัวและเด็กที่คิดว่าเรียนมหาวิทยาลัยเป็นแบบเหมือนมัธยม เพราะฉะนั้นเราจะเจอเด็กหลายคนที่ไม่ได้มีการปรับตัวจากระบบเดิม รอครูแวะเวียนมาสอนไปเรื่อยๆ

แต่สิ่งที่ค่อนข้างน่ากลัว คือเด็กสมัยนี้ติดกับการเรียนพิเศษ รวมถึงเด็กมหาวิทยาลัย ซึ่งจริงๆ แล้วเข้ามหา”ลัยจะต้องเรียนด้วยตัวเอง วิชายากๆ ก็จะจับกลุ่มเพื่อนติว เน้นการเรียนด้วยตัวเองไม่มีครูสอน แต่ตอนนี้เด็กมหาวิทยาลัยเรียนพิเศษกันหมด

ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของค่านิยมของการเรียนพิเศษ เดี๋ยวนี้เริ่มติวกันตั้งแต่อนุบาลเพื่อเข้าประถม ซึ่งเด็กบางคนไม่จำเป็นต้องเรียนพิเศษด้วยซ้ำ แต่เห็นเพื่อนเรียนเลยเรียนด้วย และติดการเรียนพิเศษมาตั้งแต่เด็กเลยเรียนต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้เกรดดีๆ แล้วทุกคนก็มุ่งไปที่ตัวเกรดเป็นหลัก

– การแก้ปัญหาการศึกษาควรเริ่มจากตรงไหน?

เริ่มจากการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ ต้องมองทั้งระบบให้ออกว่ามีอะไรบ้าง ตั้งแต่เรื่องหลักสูตร เทคโนโลยี ครู ความเกี่ยวข้องกับ พ่อแม่ และควรเริ่มตั้งแต่ประถมวัยไม่ใช่มาเริ่มตอนอุดมศึกษา ถ้าเราต้องการจะเพิ่มศักยภาพคนไทยให้แข่งขันกับนานาประเทศได้ เช่น เรื่องการอ้างอิง ต่างประเทศจะสอนเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ตั้งแต่เด็กการจะเอาข้อมูลมาจะไปดึงมาเฉยๆ ไม่ได้จะต้องอ้างอิง มีการค้นหาข้อมูลมาประกอบแล้วใส่ที่มา แต่ไทยไม่ค่อยพูดถึงตรงนี้ มาเริ่มจริงๆ ตอนปริญญาตรี

– เด็กไทยควรปรับปรุงเรื่องใด?

บัณฑิตไทยเรามีความรู้ แต่ยังขาดเรื่องทักษะและวิธีการคิด เด็กสามารถวิเคราะห์ได้ แต่คิดเชิงระบบในการเชื่อมเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกันไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ควรพัฒนาตั้งแต่เด็ก เพราะอุดมศึกษามันคือปลายน้ำถ้าจะเเก้ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ คนที่จะแก้เรื่องนี้ต้องคิดในเชิงระบบทั้งหมด จะแก้จิ๊กซอว์ตัวเดียวไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image