คอลัมน์ เดินไปในเงาฝัน : “หอฝิ่น”มีชีวิต

ตลอดชีวิตการทำงาน ผมไปจังหวัดเชียงรายบ่อยครั้งมาก แต่ไม่มีสักครั้งที่จะมีโอกาสเดินทางไปหอฝิ่น ณ อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ บริเวณ ต.บ้านสบรวก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

อาจเป็นเพราะอยู่ไกลเกินไป

หรืออาจเป็นเพราะการจัดกิจกรรมขององค์กรต่างๆ มักอยู่ในอำเภออื่นๆ หรือในเมือง จึงทำให้ผมพลาดโอกาสดีๆ เช่นนี้เสมอ

กระทั่งเมื่อไม่กี่วันผ่านมา

Advertisement

มีโอกาสไปเชียงรายอีกครั้ง และมีโอกาสเดินทางไปยังหอฝิ่น จึงรู้สึกตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก อาจเพราะเราพอรับรู้จากประวัติศาสตร์ข่าวในช่วงผ่านมา

ดูสารคดี

อ่านหนังสือ

Advertisement

จึงทำให้เห็นภาพของขบวนการค้ายาเสพติด กองกำลังของขุนส่า และกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ ที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน

การสู้รบระหว่างชาวเขากับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

ไปจนถึงการเป็นสถานที่ปลูกฝิ่น ผลิต และแหล่งค้ายาเสพติดรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก เพราะอย่างที่ทราบบริเวณสามเหลี่ยมทองคำมีอาณาบริเวณชายแดนติดต่อ 3 ประเทศด้วยกันคือไทย, เมียนมา และ สปป.ลาว

ภูมิประเทศจึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับปลูกฝิ่น

เพราะอยู่บนที่สูง

อากาศดี

ชาวเขาเผ่าต่างๆ จึงอาศัยโอกาสนี้แผ่ขยายการเพาะปลูกฝิ่นจากดอยแห่งหนึ่งไปยังดอยอีกแห่งหนึ่งในอาณาบริเวณกว้าง จนทำให้พื้นที่ป่าค่อยๆ หายไป

กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม

กลายเป็นภูเขาหัวโล้น

เพราะชาวเขาเผ่าต่างๆ นอกจากถางป่าเพื่อปลูกฝิ่นแล้ว อีกทางหนึ่งเขายังถางป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย จนทำให้ผืนป่าที่เคยเขียวขจีกลับกลายเป็นภูเขาดินแดง

จนกระทั่ง “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือ “สมเด็จย่า” มีโอกาสเสด็จฯมาแถบบริเวณนี้ และพบว่าหากปล่อยให้สภาพผืนป่าเป็นอยู่อย่างนี้เห็นทีจะมีปัญหาในระยะยาว

เพราะขณะนั้นพระองค์ทรงริเริ่มปลูกป่าในใจคนก่อนแล้วบริเวณดอยตุง

แต่ที่สามเหลี่ยมทองคำค่อนข้างจะหนักกว่ามาก

เพราะเกี่ยวข้องกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่นิยมปลูกฝิ่น ที่สำคัญพวกเขายังติดฝิ่นกันอย่างงอมแงม

ทั้งยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดอีกด้วย

“สมเด็จย่า” จึงทรงมอบหมายให้ “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ” ดำเนินการตามพระราชปรารภ ด้วยการเข้าไปให้ความรู้แก่ชาวเขาเผ่าต่างๆให้หันมาปลูกพืช ผัก ผลไม้เมืองหนาว

แรกๆ อาจต่างเต็มไปด้วยอุปสรรค

แต่เมื่อเวลาผ่านมา ชาวเขาเผ่าต่างๆ เหล่านั้นล้วนต่างเดินตามรอยพระราชดำริ เพราะพวกเขาค้นพบแล้วว่าฝิ่นก่อให้เกิดโทษกับตัวเอง ครอบครัว และประเทศชาติอย่างไร

กระทั่งภายหลัง ราวปี 2542 หอฝิ่นจึงเริ่มก่อสร้าง และตลอดระยะเวลา 6 ปีของการก่อสร้างต่างได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งจากภายในประเทศ และต่างประเทศ ในการสนับสนุนงบประมาณ ข้อมูล รูปภาพ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อจัดแสดงนิทรรศการ

กระทั่งแล้วเสร็จในปี 2548 หอฝิ่นจึงเปิดให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการ ที่ไม่มีเพียงเฉพาะหอฝิ่นเท่านั้น หากยังมีอาคารจัดแสดงนิทรรศการยาเสพติด อันเป็นหัวใจสำคัญ และยังมีศูนย์ประชุม ที่พักที่เปิดให้บริการประชาชนอีกด้วย

บนอาณาบริเวณพื้นที่กว่า 250 ไร่

ภายในหอฝิ่น นอกจากจะจัดเสนอเนื้อหาประวัติศาสตร์ และการพัฒนาของฝิ่น และสารเสพติดที่ได้จากฝิ่น สงครามฝิ่น และขบวนการค้ายาเสพติด ยังมีเรื่องราวของปัญหายาเสพติดต่างๆ ที่เพิ่มความซับซ้อน และรุนแรงมากขึ้น

รวมถึงการค้ายาเสพติดเพื่อหาเงินทุนสำหรับการซื้ออาวุธ และการทำสงครามล่อลวงให้เกิดการฉ้อฉลฉ้อราษฎร์บังหลวง พิษภัยจากการสูบฝิ่น และยาเสพติดชนิดอื่นๆ ตลอดจนรายละเอียดต่างๆ ของสนธิสัญญาฝิ่น กฎหมายเกี่ยวกับฝิ่น และอื่นๆ อีกมากมาย

ที่สำคัญ นับแต่ก้าวแรกที่เข้าไปหอฝิ่น ผู้ชมจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของอุมงคมุข หรืออุโมงค์แห่งกาลเวลา ที่วิศวกรออกแบบจะเจาะทะลุเขาเข้าไปยังอาคารขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถมองเห็นจากภายนอก

โดยผนังของทางเดินเป็นประติมากรรมนูนต่ำรูปผู้คนในหลายอิริยาบถที่ถูกพิษภัยของฝิ่นทำลายร่างกาย เสมือนเป็นการปูพรมเล่าเรื่องให้ผู้ชมเห็นว่ายาเสพติดน่ากลัวเพียงใด

“อุมงคมุข” แห่งนี้มีความยาว 137 เมตร

และเมื่อเดินเข้าไปภายในหอฝิ่น ผู้ชมจะได้เข้าห้องเธียเตอร์เพื่อบอกเล่าเรื่องราว ประวัติความเป็นมาในการสร้างหอฝิ่นแห่งนี้ เสมือนเป็นการแนะนำให้ผู้ชมเห็นความตั้งใจของ “สมเด็จย่า” ในสิ่งที่ทรงต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศของดอยต่างๆ ให้ฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง

เพราะมีการจัดลำดับและเนื้อหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เข้าใจง่าย ประกอบด้วยแสง สี เสียง เทคนิคต่างๆ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์

ตลอดจนการแสดงอุปกรณ์การสูบและขายฝิ่น ซึ่งได้รวบรวมจากหลายประเทศทั่วโลก เพื่อให้ผู้เข้าชมนิทรรศการเดินเข้าสู่อีกมิติของกาลเวลา เพื่อเข้าสู่การเรียนรู้ จนทำให้เราๆ ท่านๆ พลอยขบคิดไปกับเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้น

ซึ่งน่าชมมาก

แต่ผู้คนกลับไม่มากเท่าไหร่

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร ผมจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนลองไป “หอฝิ่น” สักครั้ง แล้วคุณจะรู้เลยว่าของดีๆ ที่เป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของสามเหลี่ยมทองคำอยู่ที่นี่มากมาย

สำคัญไปกว่านั้น “หอฝิ่น” ยังได้รับรางวัล PATA Gold Award ในสาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (PATA) อีกด้วย

รวมถึงรางวัลดีเด่นในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเพื่อนันทนาการจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2549

จนมีผู้กล่าวขวัญกันว่า “หอฝิ่น” เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยและเอเชีย

ลองไปเยี่ยมชมกันนะครับ

อย่าปล่อยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยี่ยมชมกันแต่เพียงฝ่ายเดียวเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image