หนึ่งปีที่ผ่านมา (อีกครั้ง) ของนันทวัฒน์ บรมานันท์ ‘ความเป็นดำขาว ทำให้คนต้องตีความ’

หนึ่งปีที่ผ่านมา
(อีกครั้ง) ของนันทวัฒน์ บรมานันท์
‘ความเป็นดำขาว ทำให้คนต้องตีความ’

“ก็ผมเป็นนักกฎหมาย”

คือวาทะทันควันจากปาก นันทวัฒน์ บรมานันท์ ผู้มีตำแหน่งทางวิชาการนำหน้าว่า ศาสตราจารย์ ดร.

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ รั้วสามย่าน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Advertisement

ไม่ใช่ต่อประเด็นเชิง ‘การเมือง’ ใดๆ

ทว่า เป็นคำตอบของคำถามถึงการ ‘ตีความ’ ที่เจ้าตัวหยิบคำดังกล่าวมาใช้บ่อยครั้งกับภาพถ่ายขาวดำเปี่ยมเสน่ห์ที่เจ้าตัวเรียก ‘ดำขาว’ จนกลายเป็นเอกลักษณ์

“ความที่เป็นดำขาว ทำให้ทุกคนต้องตีความ” นันทวัฒน์เอ่ย

Advertisement

แน่นอน ไม่มีใครลืมว่าเขาคือนักกฎหมายมหาชนมือวางอันดับต้นๆ ของประเทศนี้ ชนิดที่โปรไฟล์การทำงานและรางวัลเกียรติยศยาวแทบนับหน้ากระดาษไม่ไหว

ขณะที่สองมือเดียวกัน ก็ถือกล้อง กดชัตเตอร์ เดินเท้าถ่ายภาพบันทึกห้วงเวลาชั่วขณะความงามไว้ให้เป็นนิรันดร์

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นสองมือที่ร่วมโอบอุ้ม บรรเทาความโศกเศร้าในชะตากรรมของมนุษย์ ด้วยการรวบรวมทุนทรัพย์ผ่านนิทรรศการภาพถ่ายที่เคยจัดมาแล้ว 2 ครั้ง ในชื่อ ‘ดำขาวเล่าเรื่อง สองเมืองของนันทวัฒน์’ ตั้งแต่ปี 2565 ได้แก่ ‘บทเริ่มต้น’ ที่ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ และ ‘บทส่งท้าย’ ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) พร้อมการจัดพิมพ์หนังสือ โดยสามารถระดมได้เกือบ 11 ล้านบาท มอบให้มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์

‘เปลี่ยนชีวิต’ ของเด็กๆ และอีกหลายครอบครัวไปตลอดกาล

บรรทัดข้างต้น ไม่ใช่คำกล่าวเกินจริง หากได้พบ ‘แม่ๆ’ ที่ประสานเสียงเล่าด้วยน้ำตา ทั้งจากความทรงจำทุกข์ทนในนาทีที่ได้รับรู้ว่าลูกน้อยของตนอยู่ในโลกแห่งความเงียบงัน

ทั้งจากความปลื้มปีติที่ท้ายที่สุด ‘การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม’ ช่วยทำลายความเงียบ จากที่ไม่อาจได้ยินสุ้มเสียงใดๆ จึงไม่อาจเรียนรู้ซึ่งภาษา ไม่อาจเอื้อนเอ่ยได้แม้คำว่า ‘แม่’ สู่การใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ

ดังคำยืนยันของ ศุขสนั่น โชติกเสถียร ประธานมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่ย้ำชัดว่า ประสาทหูเทียมเป็นวิวัฒนาการมหัศจรรย์ที่ทำให้คนหูหนวกได้ยินสุ้มเสียง แต่อุปสรรคสำคัญคือค่าใช้จ่ายต่อรายที่สูงถึงครึ่งล้าน ยังไม่รวมอีกยิบย่อยที่จะตามมา

ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องแข่งกับเวลา เพราะวัย 9 เดือน จนถึงไม่เกิน 2 ขวบ คือช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการผ่าตัด ด้วยเหตุปัจจัยด้านวิวัฒนาการทางภาษา อีกทั้งการฟื้นฟูที่ต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

นิทรรศการครั้งที่ 3 จึงถือกำเนิดขึ้น ระหว่าง 9-25 พฤษภาคมนี้ ที่ห้องแกลเลอรี่ 1 TCDC อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก

ปรากฏนามบนโปสเตอร์ที่เขียนด้วยลายมือว่า ‘หนึ่งปีที่ผ่านมาของนันทวัฒน์’

เรียบง่าย ตรงไปตรงมา

เช่นเดียวกับบทสนทนาในบ่ายวันหนึ่ง ณ ตึกเก่าแก่สีเหลืองนวลตาของมูลนิธิ บนถนนนครไชยศรี ในย่านอันเงียบสงบ

“ทุกครั้งที่จัดนิทรรศการ ผมจะเครียด เป็นไข้ นี่ก็ไม่สบายอยู่หลายวัน นอนไม่หลับ เพราะคิดทุกวัน ออกกำลังเยอะ แล้วเทรนเนอร์จับบิดไปบิดมา จนมากดทริกเกอร์พอยต์ เจ็บหน้าอกไปหมด รู้สึกว่า เอ๊ะ! จะตายไหม

ถ้าตาย นิทรรศการจะทำอย่างไร เลยลุกขึ้นมาเที่ยงคืน เขียนใส่กระดาษว่า นิทรรศการ 1.ต้นฉบับภาพ อยู่กับใคร 2.ใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับการจัดนิทรรศการ เบอร์โทรอะไร แล้ววางไว้ที่โต๊ะ คือ ผมตายได้ แต่นิทรรศการต้องไปต่อ” นันทวัฒน์เล่าอย่างเปิดเผย ออกรส ไร้การวางมาดนักวิชาการใหญ่วัยเกษียณที่มีลูกศิษย์ลูกหาเต็มบ้านเต็มเมือง

มองเห็นเพียงช่างภาพดำขาวฝีมือเยี่ยม ผู้มีแววตามุ่งมั่นในการเสกเวทมนตร์เนรมิตให้เด็กๆ หลุดพ้นจากโลกเงียบ

ได้ยินคำเรียกอันอ่อนโยนของผู้เป็นแม่

ได้เรียนรู้ความลึกซึ้งของภาษา

ได้ดื่มด่ำความไพเราะของดนตรี

ได้รู้ว่าโลกใบนี้มีพลังงานที่เรียกว่า ‘เสียง’

⦁ ขอย้อนไปเมื่อปี 2564 เคยจัดนิทรรศการ ‘ความทรงจำดำขาวของนันทวัฒน์’ มอบรายได้ให้มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์มาแล้ว จากครั้งนั้น มีความทรงจำหรือเหตุเกี่ยวเนื่องเป็นพิเศษอย่างไร จึงขยับมาช่วยเด็กหูหนวกอย่างต่อเนื่องถึงวันนี้

จริงๆ เริ่มต้นจากโควิด สอนหนังสือไม่ได้ ทุกอย่างที่ต้องไปปรากฏตัวถูกยกเลิกหมด น่าจะเกือบครึ่งปี กว่าจะคิดระบบออนไลน์ได้ ผมเป็นคนชอบถ่ายภาพ และถ่ายภาพดำขาวมาตลอด เลยอาศัยเวลาว่างนั้นรื้อภาพถ่ายมาจัดไฟล์ ทำอะไรต่ออะไร บางภาพก็สวย เลยดึงออกมา จนกระทั่งในที่สุด ดูๆ แล้วก็น่าสนใจเหมือนกัน เลยพิมพ์หนังสือรวมภาพถ่าย ชื่อ ความทรงจำดำขาวของนันทวัฒน์ เพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะมีโอกาสแบบนี้อีกหรือเปล่า พิมพ์เสร็จก็ส่งให้เพื่อนๆ ทางไปรษณีย์

พอโควิดเริ่มคลี่คลายเล็กน้อย น้องที่คุ้นเคยกันบอกว่า ทำไมไม่จัดนิทรรศการ สมัยเป็นคณบดีที่จุฬาฯ ก็มีการจัดนิทรรศการของผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ผมก็เอาภาพถ่ายไปแสดง เขาทำกรอบอะลูมิเนียมอย่างดีใส่ภาพไปแสดง พอจบงานก็ขนมาคืนที่ห้อง แล้วผมจะทำอย่างไรกับภาพพวกนั้น เลยคิดว่าถ้าจะจัดนิทรรศการภาพถ่าย ก็ควรจะขาย

มีน้องคนหนึ่งมาบอกว่า บริจาคให้คนตาบอดไหม เพราะเขาไม่ได้เห็นภาพ ตอนผมอยู่ที่มหาวิทยาลัย ก่อนเป็นคณบดีด้วยซ้ำไป นิสิตทำชมรม มีการไปทำกิจกรรมที่โรงเรียนคนตาบอดเยอะแยะไปหมด แม้กระทั่งหนังสือกฎหมายปกครองของผม ผมก็ให้เด็กอ่านเป็นหนังสือเสียง ทำร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ นำไปให้โรงเรียนสอนคนตาบอด เราเหมือนกับมีความสัมพันธ์กับโรงเรียนสอนคนตาบอด เลยเข้าไปติดต่อ แล้วเริ่มทำนิทรรศการ ตอนนั้นยังไม่ค่อยรู้ทิศรู้ทางอะไร จัดหนแรก ที่ TCDC ตั้งราคาภาพถูกมาก

ก่อนถึงวันสุดท้ายของนิทรรศการ ดร.มลิวัลย์ ธรรมแสง เลขาธิการมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ พาเด็กหูหนวกไปดูภาพที่เราจัดให้คนตาบอดนี่แหละ ก็สนุกดี ผมอธิบาย ล่ามภาษามือก็แปล ตอนถ่ายภาพหมู่ อาจารย์บอกว่า ทำให้โรงเรียนคนหูหนวกด้วยได้ไหม ถ้ามีโอกาส ผมก็คิดว่าจะทำ โดยขอศึกษาข้อมูลก่อนว่า ผ่าตัดแล้วเด็กจะได้ยินเสียงไหม จากการศึกษาหาข้อมูล สอบถามผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทำให้ได้ข้อมูลว่าเด็กที่จะเข้ารับการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมทุกคนต้องผ่านกระบวนการคัดกรองทางการแพทย์ก่อนว่า สามารถผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมแล้วได้ยินได้ ผมเลยคิดว่า โอเค ถ้าอย่างนั้นลองจัดนิทรรศการหาเงินสนับสนุนการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมดู

⦁ ทำไมตอนนั้นแบ่งจัดเป็น 2 ครั้ง คือ บทเริ่มต้น และบทส่งท้าย?

เดิมวางแผนกันว่าจะจัดปลายปี 2565 แต่ก่อนหน้า บังเอิญผมมีเพื่อนในกลุ่มเดินเที่ยวรอบเมือง ถ่ายภาพ เดินเล่น ไปนัดเจอที่ร้าน เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ ซึ่งจากการสอบถามสถานที่ ว่างให้จัดนิทรรศการได้ 2 สัปดาห์ แม้จะฉุกละหุก แต่ก็คิดว่าจัดเลยแล้วกัน เดิมที่จะจัดนิทรรศการปลายปี ตั้งชื่องานไว้แล้วว่า ‘ดำขาวเล่าเรื่องสองเมืองของนันทวัฒน์’ คือ เป็นเรื่องของภาพถ่ายกรุงเทพฯกับปารีส เพราะพอหมดโควิด ผมก็ไปปารีสตลอด

ทีนี้พอเขาให้ไปทำที่นั่นได้ ก็เลยต้องทำ 2 หน ชื่อเดียวกัน หนแรก เราทำเป็นปฐมบท (ส.ค.65) มีภาพขายกว่า 30 ภาพ ตอนนั้นเริ่มรู้ทิศแล้ว ปรับราคาขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง จากที่เคยทำให้คนตาบอด ตอนนั้นได้มากว่า 6 แสนบาท ขณะจัดนิทรรศการคุณครูบอกว่า มีเด็กคนหนึ่งต้องผ่าตัดด่วน เอาเงินที่ได้จากการขายภาพไปใช้ได้ไหม ผมบอก เอาไปเลย เขาก็ผ่าตัดเลยหลังจบนิทรรศการไม่กี่วัน เด็กใส่ประสาทหูเทียมเรียบร้อย ได้ยิน จากนั้นจัดปลายปีอีกทีหนึ่ง (ธ.ค.65) ที่ TCDC เป็นบทส่งท้าย ตั้งชื่อตามแบบวรรณกรรมฝรั่ง

⦁ จากครั้งแรกได้ 6 แสน ก้าวกระโดดสู่ยอดเกือบ 11 ล้านใน ‘บทส่งท้าย’ อะไรดลใจให้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์?

ตอนนั้นมาคิดว่าเงิน 6 แสน ผ่าเด็กได้คนเดียวเอง จะทำอย่างไรดี คุณครูเอาตัวเลขมาให้ดูเรื่อยๆ ว่ามีเด็กเยอะแยะไปหมดที่รอผ่า ผมก็ไปคิดหาวิธีการที่จะทำให้ได้เงินมากขึ้น เลยนึกถึงการเพนต์ภาพลงบนภาพถ่าย จึงนำมาซึ่งการขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์ลงบนภาพถ่ายของผม 2 ภาพ และเพื่อนศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง อาจารย์พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก, รุ่นกลางอย่าง นักรบ มูลมานัส, อัชลินี เกษรศุกร์ นักวาดภาพมือทอง ส่วนอีกคนหนึ่งคือ อาริญญา กันธิโน เป็นนักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชวนมาลองวาดดู ทั้งหมดรวม 10 ภาพ ใช้วิธีประมูล และภาพของผมอีก 70-80 ภาพ ทั้งหมดได้มาเกือบ 11 ล้าน เหมือนนอนใจว่าสบายแล้ว ไม่ได้คิดอะไรมากมาย จนกระทั่ง 6 เดือนผ่านไป มีโอกาสทราบจากคุณครูว่า เงินที่หามาได้ใช้ผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมเด็กไป 20 คน จนเงินหมดแล้ว แต่ยังมีเด็กรอคิวอยู่ เลยเป็นที่มาของการจัดนิทรรศการให้คนหูหนวกเป็นหนที่ 3

⦁ ที่มาของชื่อ ‘หนึ่งปีที่ผ่านมา ของนันทวัฒน์’ เข้าใจง่าย แต่มีอะไรลึกซึ้งระหว่างบรรทัดไหม?

ต้องย้อนเล่าว่าตอนจัดนิทรรศการ ‘ความทรงจำดำขาวของนันทวัฒน์’ ชื่อนิทรรศการพอไปได้ เพราะเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วคนคนหนึ่งที่ชอบถ่ายภาพ แต่ไม่สามารถแม้กระทั่งเดินออกไปแถวบ้าน ทุกคนกลัวหมด คงจำได้ ตอนนั้นติดโควิด จะมีการไล่เช็กไทม์ไลน์หมดเลย เราไปไหนไม่ได้ ก็อยู่บ้าน เลยนึกถึงเป็นความทรงจำของเราว่า ไอ้นู่นสวย ไอ้นี่สวย ไอ้นั่นสวย สะเปะสะปะ ไม่รู้กี่ที่ ไปจีน ไปญี่ปุ่น ไปไหนต่อไหนก็เอามาลง เลือกภาพที่ถูกใจ

ทีนี้พอช่วงเริ่มเปิดประเทศ แต่นั่งเครื่องบินยังต้องเปลี่ยนเครื่อง และใส่หน้ากากอนามัยอยู่ ตอนนั้นผมก็ไปได้แค่ปารีสที่เดียว เลยเป็นภาพถ่ายของปารีสและกรุงเทพฯ ตั้งชื่อเรื่องเป็นเหมือน A Tale of Two Cities ของ Charles Dickens แปลเป็นไทยว่า ‘ดำขาวเล่าเรื่อง สองเมืองของนันทวัฒน์’

ปัจจุบัน พอโควิดหายไปแล้ว ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น ปีที่ผ่านมาผมก็ทำตามความตั้งใจที่จะเกษียณแล้วไม่ต่ออายุ เพราะอยากเที่ยว อยากไปถ่ายภาพ เลยกลับไปยุโรปใหม่ ผมคุ้นกับฝรั่งเศส มีที่พักอาศัยอยู่ได้ ผมก็ไปกลับ ไปกลับ ไปกลับ เบ็ดเสร็จปี 2566 ทั้งปีรวมเวลาที่อยู่ฝรั่งเศสแล้วร่วมครึ่งปีเดินทางไปหลายที่ทั้งในฝรั่งเศสและประเทศใกล้เคียงในยุโรป

พออยากจะทำหนังสือ ก็ไปขายไอเดียกับเพื่อน จะหาสปอนเซอร์ เขาบอกว่า โอ๊ย! ภาพจะซ้ำกับที่เคยพิมพ์หนังสือที่ทำขายไปแล้วไหม เราบอก ไม่ซ้ำ ผมจึงเริ่มทำหนังสือจากวันที่ 1 มกราคม 2566 ว่าผมอยู่ที่ไหน โดยเลือกภาพมาจำนวนหนึ่ง จบที่ 31 ธันวาคม 2566 อาจจะไม่ครบทุกวัน บางทีหายไป 20 วัน เพราะไม่ได้เอากล้องออกไปไหนเลย อย่างกลับมากรุงเทพฯ หรืออยู่ปารีส หนที่ 1 หนที่ 2 3 4 5 เดินถนนสายเดียวกัน ดูแม่น้ำสายเดียวกัน ถ่ายภาพออกมาเหมือนกัน เพราะตาผมมองแบบนั้น ก็ซ้ำไปซ้ำมา หอไอเฟลถ่ายอยู่นั่นแหละ มุมนั้นนะ มีใบไม้ร่วง ใบไม้ผลิก็ถ่ายไป เลยเลือกภาพออกมาเฉพาะที่น่าสนใจ และเป็น 1 ปี แต่ไม่ใช่ 365 วัน เพราะบางวันมี 5-6 ภาพ บางวันไม่มีเลย คิดชื่ออะไรไม่ออก เลยตั้งชื่อเล่นๆ จำได้ว่า ตอนเริ่มทำคิดว่าเอาชื่อนี้ไปก่อน ไปๆ มาๆ เอาชื่อนี้ไปเลยก็ได้ เลยเป็น หนึ่งปีที่ผ่านมาของนันทวัฒน์

บางคนถามว่า ทำไมต้อง ‘ของนันทวัฒน์’ ผมบอกว่า ก็มันของผม เล่มแรกและเล่มที่ 2 ก็ของนันทวัฒน์ เล่มสามกับนันทวัฒน์ เล่มสี่ก็อยากให้เป็นธีมเดียวกัน

⦁ ทำไมยังคงเป็นภาพ ‘ดำขาว’ เพราะเป็นตัวตน ภาพจำ และลายเซ็นของนันทวัฒน์ไปแล้ว?

คือจริงๆ ดำ ขาว ก็คือสี แต่มีหลายเฉด ดำเข้ม ดำกลาง ดำสนิท บางวันผมใส่เสื้อผ้าออกมา เอ๊ะ! นี่น้ำเงินหรือดำก็ไม่รู้

ภาพดำขาว สะท้อนให้นึกถึงวัยเด็ก พ่อแม่ถ่ายภาพเรา ผมมีภาพตอนเด็กๆ ดำขาวเยอะแยะ พ่อเสียตั้งแต่ผมยังเด็ก ตอนนั้นยังไม่มีฟิล์มสี ผมก็มีภาพคุณพ่อดำขาวทั้งนั้น ทำให้ผมชอบภาพดำขาว

ตอนผมไปเรียนหนังสือต่างประเทศ ซื้อกล้องญี่ปุ่น ถ่ายภาพสีเก็บไว้เยอะแยะ ปัจจุบันสีซีดหมด ในขณะที่ภาพดำขาวสมัยคุณพ่อยังไม่ซีดเลย ยังดูเป็นอมตะ นี่คือประการที่ 1

ประการที่ 2 ภาพดำขาวมีเสน่ห์ในตัวของเอง ทำให้คนดูต้องตีความ แต่บางคนอาจมองผ่าน ดำก็ดำ ขาวก็ขาว

อย่างผมถ่ายภาพสะพาน มีใบไม้ มีต้นไม้ เมืองที่ไปเที่ยวมา เดือนมกราคม หน้าหนาว กับเดือนกรกฎาคม หน้าร้อน คนละแบบกันเลย เพราะฉะนั้น คนดูเห็นปั๊บ ต้องจินตนาการเอาว่า ใบไม้สีอะไร ใบไม้สด หรือใบไม้แห้ง มันเป็นได้ทั้งสีเขียว และสีน้ำตาล

ในขณะที่ผมถ่ายภาพดอกไม้ มีแต่คนถามว่า ดอกจริงสีอะไร

ความที่เป็นดำขาว ทำให้ทุกคนต้องตีความ ทำให้คนตั้งใจจินตนาการ มันทำให้คนคิดมากขึ้นเมื่อดูภาพดำขาว

⦁ แล้วถ่ายภาพสีบ้างไหม?

ถ่าย ตอนที่ผมทำนิทรรศการครั้งหลังสุดได้มาเกือบ 11 ล้าน สัปดาห์ถัดมาหลังจบนิทรรศการ ผมกลับไปฝรั่งเศสเลย ลูกศิษย์คนหนึ่งบอกว่า อาจารย์เศร้าเหลือเกิน ถ่ายแต่ภาพดำขาว ถ่ายภาพสีเป็นหรือเปล่า ถ่ายส่งมาอวดบ้าง ผมก็เลยถ่ายภาพสี เพราะเมืองนั้นสวยมาก มีทะเลสาบ มีอะไรต่ออะไร เมื่อกลับมา ผมก็เลยทำหนังสือภาพถ่ายสี ชื่อ หนึ่งวันในอานซีกับนันทวัฒน์ ทำร้อยเล่ม แจกให้คนที่ร่วมทำบุญให้มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ในนิทรรศการทั้ง 2 ครั้งของผม โดยผมเขียนจดหมายสั้นๆ ไปขอบคุณในนามของผม และทำรายงานผลการผ่าตัดเด็กๆ ในขณะนั้น เป็นกระดาษเอสี่ ทำเอง พิมพ์เอง ถ่ายเอกสารเอง ส่งเป็นรายงานให้ผู้บริจาคทุกคนว่าเราจัดนิทรรศการเป็นอย่างไร ได้เงินเท่าไหร่ จะผ่าตัดเด็กได้กี่คน ตอนนั้น ผ่าไปแล้วจำนวนหนึ่ง อีกจำนวนหนึ่งยังไม่ได้ผ่า นั่นเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่ง มีแต่ภาพสีอย่างเดียว ไม่หนามาก มีสัก 30-40 หน้า

⦁ ในจำนวนภาพทั้งหมดที่จัดแสดงในครั้งนี้ ถ้าให้เลือกเพียงภาพเดียว เป็นภาพแทนของ หนึ่งปีที่ผ่านมาของตัวเอง จะเลือกภาพไหน เพราะอะไร?

ภาพหน้าปกหนังสือ ซึ่งเป็นภาพที่ผมชอบที่สุด ฝรั่ง 2 คนลงไปริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วมองวัดอรุณราชวราราม ปกหน้า ผมตั้งใจเลือกภาพนี้ เพราะ หนึ่งนี่คือภาพความงดงามของประเทศไทย แต่มองอีกที เป็นได้หลายอย่าง เป็นอะไรก็ได้ ไม่ใช่ประเทศไทยอย่างเดียว เจดีย์รูปร่างแบบนี้มีเยอะแยะไปหมด แต่คนไทยดูก็จะบอกว่าเป็นวัดอรุณ โครงหน้าของคนที่อยู่ในภาพเป็นคนต่างชาติ การแต่งกาย นุ่งขาสั้นด้วย แต่จริงๆ แล้วที่ซ่อนอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือ ผมเป็นคนชอบน้ำ อย่างภาพที่ผมขาย จะเป็นภาพน้ำ ภาพทะเล

ผมว่าน้ำ คือความสดชื่น ร่มรื่น เย็นสบาย เวลาไปอยู่ฝรั่งเศส วันไหนไม่มีประชุมออนไลน์ ผมก็นั่งรถเมล์ออกมาจากบ้าน เริ่มต้นเดินจากริมแม่น้ำ กินอาหารเช้า แล้วเดินทั้งวัน

ส่วนปกหลัง เป็นน้ำเหมือนกัน แต่เป็นน้ำในคลองที่ฝรั่งเศส แล้วเรือมุ่งหน้าต่อไป หมายความว่า ยังมีภาคต่อไปนะ

⦁ เป็นความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อถึงอะไรเป็นพิเศษหรือไม่?

เชิงสัญลักษณ์ว่า ถ้าต้องหาเงินต่อ เราจะต้องขึ้นเรือไปด้วยกัน ลงเรือลำเดียวกันแล้ว ก็ต้องไปต่อด้วยกัน (ยิ้ม)

⦁ อาจเชยหน่อย แต่ต้องขอถามถึงความภาคภูมิใจ พึงพอใจ และสุขใจที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นที่ไม่ แม้แต่เคยรู้จัก?

เป็นสิ่งอยู่ในนิสัยมาตั้งแต่เด็กแล้ว เราโตมากับการที่คนนั้นเป็นญาติของคนนี้ คนนี้เป็นญาติคนนู้น มีคนมาอยู่ดูแลคุณยายที่บ้านจำนวนมาก ตอนเด็กๆ ก็มีคนมาเป็นเพื่อนเล่นตลอด บางคนก็ให้เราขี่คอเล่นเป็นที่สนุกสนาน ในบ้านก็มีคนโน้นคนนี้มาอยู่กับเรา เราก็เห็นตัวอย่าง พอโตขึ้นก็เหมือนจะซึมซาบเรื่องพวกนี้ด้วย

เอาง่ายๆ ตั้งแต่เป็นอาจารย์ ผมดูแลเด็กมาเยอะ จุฬาฯมีทุนหลายอย่าง เด็กบางคนได้ทุนกันครบหมดแล้วก็ยังเอาตัวไม่รอด ตอนผมจัดนิทรรศการก็มีเด็กที่ผมเคยดูแลมาช่วย บ้านอยู่รังสิต ในกระต๊อบสังกะสี พ่อมีรายได้ 6 หมื่นบาทต่อปี แม่ขายส้มตำ พี่ชายมีปัญหาทางสมอง ผมดูแลอยู่ 5 ปี กว่าจะจบ มีแบบนี้มาตลอด บางทีเจอลูกเศรษฐีล้มละลาย หน้าตาดี สุภาพ เรียบร้อย ผมช่วยตลอด แต่มีเงื่อนไข ไม่ให้ใครฟรี

เด็กที่ผมช่วยเหลือ ต้องไปทำงานที่ห้องสมุดคณะ มีบรรณารักษ์คนหนึ่งที่สนิทกัน ผมบอกให้ช่วยดูเด็กที่ผมส่งไป ให้ทำงานให้คณะ ไม่ใช่ทำงานให้เรา เขาต้องตอบแทนสถาบันที่ตัวเองอยู่

⦁ ถามด้วยภาษาวัยรุ่น อะไร ‘ฟิน’ กว่ากัน ระหว่างบทบาทนักกฎหมายกับช่างภาพตาม ‘แพชชั่น’ ตั้งแต่วัยหนุ่มที่อยากเรียนด้านศิลปะอย่างคณะมัณฑนศิลป์ รั้วศิลปากร?

มันแล้วแต่ช่วง แต่ละเวลา ตอนผมรับราชการเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ผมก็เป็นแบบตัวของผมเอง ตอนเป็นคณบดี เด็กโพสต์ในเฟซบุ๊กว่าคณะนิติศาสตร์ของเราเข้าสู่ยุคเปรี้ยวแล้ว (หัวเราะ)

ผมน่าจะเป็นคนแรกที่ใส่เสื้อยืดโปโลไปสอน ทุกคนมอง แต่ผมมีข้ออ้าง คือ ผมช่วยงานที่อยู่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ต้องเดินไปนั่นนี่เพื่อดูพื้นที่ มายุ่งเอาตอนไฟไหม้สยามสแควร์แล้วก่อสร้างตึกใหม่ ตอนนั้นต้องไปช่วยดูในพื้นที่ซึ่งอากาศร้อน ก็เลยใส่เสื้อโปโล

แล้วเมื่อก่อนที่ไว้ผมยาว เลยกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง เคยถูกรุ่นพี่ด่าด้วยว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เขาบอกว่าคณบดีไม่เรียบร้อย เด็กก็เลยแต่งตัวไม่เรียบร้อยตาม ว่าผมแบบตึมเลย เราก็แต่งตัวของเราสบายๆ แต่ขนาดทำตัวแบบนั้น ผมก็เป็นคนที่ได้รับรางวัลมากที่สุดในคณะ รางวัลวิจัย ผมควบ 2 รางวัลใหญ่ของประเทศ คือรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ กับเมธีวิจัยอาวุโส

ผมเรียน วปอ. ก็ได้รางวัลเอกสารวิจัยส่วนบุคคลดีเด่น ชื่อยังสลักที่กำแพงเลย ตำราวิชาการผมก็เขียนเยอะกว่า 30 เล่ม เพราะฉะนั้นคนเขาว่าเราไม่ได้ เราถึงจุดที่ทำทุกอย่างแบบเพอร์เฟ็กต์แล้ว

วันนี้ถ้ายังอยู่ในจุฬาฯต่อ ผมก็ไม่รู้จะไปเอารางวัลอะไรอีก เพราะได้หมดแล้ว

ผมไม่รู้จะเขียนหนังสือเรื่องอะไรอีก เพราะเราก็เขียนไปเยอะแล้ว ถึงเวลาที่ต้องปล่อยให้เด็กรุ่นใหม่เขาทำแล้วครับ เพราะฉะนั้นในเมื่อไม่มีอะไรให้ทำมากนัก ก็เลยเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตมาเป็นช่างภาพดีกว่า

พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร

—————————–

‘หนึ่งปีที่ผ่านมาของนันทวัฒน์’

จัดแสดงภาพถ่ายของ ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์

พร้อมด้วยภาพฝีพระหัตถ์พระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

และศิลปินหลากรุ่น ได้แก่ ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์, ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ กุญแจทอง, พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก, ม.ล.จิราธร จิรประวัติ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเสริม เปรมธาดา, อัชลินี เกษรศุกร์, นักรบ มูลมานัส, อาริญญา กันทิโน และ รักฟ้า ซูทเทอร์ลิน

9-25 พฤษภาคมนี้

ห้องแกลเลอรี่ 1 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)

อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง บางรัก กรุงเทพฯ 10500

รายได้ทั้งหมดมอบให้แก่มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image