จาก’เท่าพิภพ’ ถึงบรูว์มาสเตอร์มือเก๋า ‘สมบูรณ์ ตะพานวงศ์’ หลังฉาก’ศาสตร์แห่งการปรุงเบียร์’

การจับกุม “หนุ่มนิติฯ” ที่ชมชอบการดื่มเบียร์ กระทั่งต้มเบียร์ดื่มเองขายเองโดยไม่มีใบอนุญาต ไม่เพียงสร้างความสนใจในแง่ข่าวสารเป็นวงกว้าง ยังเป็นการปลุกกระแสสังคมให้ตื่นขึ้น

การกำหนดเงื่อนไขของผู้ประกอบการโรงเบียร์เล็กตาม พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 ทั้งแง่ของเงินลงทุนที่ต้องมีอย่างน้อย 10 ล้านบาท ปริมาณการผลิต 1 แสนลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี และอื่นๆ อีกมากมาย อาจมีข้อดีต่างๆ นานา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้การต่อยอดความรู้ทางศาสตร์แขนงนี้ รวมทั้งพัฒนาการทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องจักรกลในเมืองไทยเหมือนถูกหยุดเวลาไว้

วันนี้ถ้าถามว่ามีคนไทยที่เป็นบรูว์มาสเตอร์ เป็นผู้ชำนาญการด้านเบียร์จริงๆ นับนิ้วได้

หนึ่งในนั้นคือเขา…สมบูรณ์ ตะพานวงศ์ เจ้าของสูตรคลอสเตอร์ (Kloster) เบียร์พรีเมียมขวดสีเขียวยี่ห้อแรกของเมืองไทย

Advertisement

…จะว่าไปสมบูรณ์บอกว่าไม่ได้คิดจะเป็นบรูว์มาสเตอร์ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ

“ผมอยากเป็นนักวิจัย เพราะไม่ชอบรับราชการ และไม่ชอบอยู่โรงงาน อยากทำวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ตอนที่จบชั้นมัธยมศึกษาอยากเรียกวิศวะ แต่สอบไม่ติด (ยิ้มกว้าง) จึงเลือกเรียนวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”

หลังจากสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตใหม่หมาด สมบูรณ์สมัครงานไป 2 แห่ง บริษัท อสร.จำกัด ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายผลิต และอีกแห่ง บริษัท ไทยอมฤตบริวเวอรี่ จำกัด ในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์

Advertisement

ด้วยตัวเลขเงินเดือนที่จูงใจกว่า ทำให้ปีนั้น (2522) เขาเข้าไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ควบคุมคุณภาพ (เบียร์) ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างเบียร์มาตรวจหาปริมาณน้ำตาล ค่าความขม ค่าพีเอช ค่าแอลกอฮอล์ ตรวจปริมาณ

แร่ธาตุของน้ำ ฯลฯ

แต่กว่าจะได้ทำเบียร์จริงๆ ก็ราว 10 ปีต่อมา

กว่าจะประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในฐานะบรูว์มาสเตอร์ ต้องผ่านอะไรมามาก เขาเดินเข้าออกบริษัท ไทยอมฤต อยู่หลายครั้ง ปัจจุบันในวัย 61 ปี สมบูรณ์เป็นนักปรุงเบียร์อิสระ

ความน่าสนใจไม่ได้เพียงแค่หนทางสู่การเป็นบรูว์มาสเตอร์คนไทย แต่เรื่องราวระหว่างทางบนเส้นทางอาชีพในฝันของใครหลายๆ คนมีอะไรอีกมากมาย

DSC_6198

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเบียร์ได้จากไหน?

ได้จากการอ่านหนังสือ ตอนที่ผมเข้าไปอยู่ที่ไทยอมฤต หัวหน้าเอาหนังสือเล่มหนึ่งมาให้อ่าน ชื่อ เดอ คลาร์ก เป็นตำราเกี่ยวกับเบียร์ ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ จุดควบคุม กระบวนการ ปฏิกิริยาเคมี จนถึงการควบคุมคุณภาพ ปัจจัยที่ทำให้เบียร์ไม่ดี ผมชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว อ่านอยู่ 4 เดือนก็เอาหนังสือไปคืน ผมเชื่อว่าผมทำได้หมด

หลังจากนั้นอีกหลายปี หลังจากลาออกและกลับมาอีกครั้ง ตอนนั้นความรู้ผมก็ยังน้อย ก็เอาหนังสือเล่มนั้นมาอ่านมาศึกษา จนปี 2528 ก็ได้เทกคอร์สของสถาบันซีบิลแอนด์ซัน (Sibel&son) คือศึกษาทางไปรษณีย์ แล้วบินไปทดสอบกับเขา บางทีเขาก็บินมาทดสอบเราที่ฮ่องกง เรียนอยู่ 4 ปีกว่าจะทำเบียร์ได้

เป็นคนดื่มเบียร์อยู่แล้ว?

ไม่ดื่มครับ แต่ปกติเด็กเกษตรศาสตร์ส่วนใหญ่ดื่มเหล้า เพราะเบียร์แพง (หัวเราะ)

ตอนเข้าไปทำงานเดือนแรกดื่มเบียร์แพ้ส่าเบียร์เป็นผื่นทั้งตัว เพราะเบียร์ไม่เหมือนเหล้า เหล้าจะกลั่นเอาแอลกอฮอล์ออกมาหมดเลย ส่วนในเบียร์ยังมีสารอาหาร ถ้าเป็นเบียร์สดบางทีจะมียีสต์อยู่ และที่สำคัญคือมีเอนไซม์ หมอบอกว่าผมแพ้เอนไซม์ที่อยู่ในเบียร์ ผมทนผื่นขึ้นเต็มตัวอยู่เดือนหนึ่ง จนหัวหน้าต้องบอกให้ไปหาหมอ ปรากฏว่าหมอให้มา 2 ทางเลือก 1.กินเบียร์ไปจนร่างกายชินไปเลย 2.ออกไปทำงานอย่างอื่น

ผมตอบหมอว่า ผมจะลองเสี่ยง ผมกินเบียร์ไป 3 เดือน-หาย เพราะร่างกายจะสร้างแอนติบอดี้ออกมาเรื่อยๆ จนไปย่อยสลายมันได้

ต้องฝึกทำความรู้จักกับรสชาติเบียร์?

ครับ 3 เดือนแรกจะให้อยู่แต่ในห้องแล็บวิเคราะห์อย่างเดียว พอพ้นช่วงทดลองงาน ก็ต้องเรียนรู้ โดยในห้องแล็บจะมีการทดสอบทุกวันพุธ หัวหน้าจะซื้อเบียร์จากข้างนอกใส่แก้ว 4 ใบ ไม่ได้ต้องการให้ทายยี่ห้อ แต่ให้ทดสอบรสชาติว่าแก้วไหนดีกว่าแก้วไหน ไม่ให้บอกว่าอะไรอร่อยกว่าอะไร ให้บอกว่ารสชาติเป็นยังไง หวานนำ ขมนำ กลิ่นออกผลไม้ (ฟรุตตี้เบียร์) กลิ่นออกดอกไม้(ฟลาวเวอร์ เบียร์) มอลล์ตี้ ยีสต์ตี้ หรือเป็นพวกเกรน กลิ่นคล้ายๆ น้ำเต้าหู้ เพราะกลิ่นโปรตีนมันขึ้น

โดยเริ่มฝึกจากยี่ห้อเดียวก่อน แต่อายุเบียร์จะต่างกัน ให้เราเรียงลำดับอายุก่อนหลัง ถ้าตอบไม่ได้ก็ให้นั่งชิมไปเรื่อยๆ ให้รู้ให้ได้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยสลับแก้วให้เรา

ต้องชิมวันละกี่แก้ว?

บางทีเป็น 10-20 แก้ว แต่จริงๆ เขาให้อมแล้วกลั้วๆ ในปากแล้วบ้วนทิ้ง แต่พวกนี้เราไม่รู้ก็ดื่ม ก็เมาก่อน (หัวเราะ)

เคยปรุงเบียร์รสชาติที่ตัวเองชอบเพื่อมาดื่มกัน?

มีครับ เราก็จะทำกันในห้องแล็บ แต่ทางผู้จัดการฝ่ายผลิตจะห้าม เพราะเรื่องอย่างนี้ต้องมาจากทางบรูว์มาสเตอร์เป็นคนกำหนด เราไม่มีความรู้ทางด้านนั้น แต่ก็แอบทำเพราะเราได้หนังสือเล่มนั้นมา ซึ่งบอกแม้กระทั่งสายพันธุ์มอลต์ว่าเราต้องการให้เบียร์มีรสชาติอะไรต้องใช้มอลต์สายพันธุ์ไหน ก็เหมือนข้าวบ้านเรา มีข้าวเสาไห้ หอมมะลิ กข. เยอะแยะเต็มไปหมด ฮอพก็มีหลากหลาย แต่ละตัวให้กลิ่นไม่เหมือนกัน ยีสต์ก็เช่นกัน

มีสถาบันสอนการต้มเบียร์โดยเฉพาะ?

มีครับ ตอนนี้ที่ใหญ่ๆ จะมีที่ “สถาบันปาสเตอร์” ของฝรั่งเศส เยอรมนีมี “ไวสเตฟาน” เป็นมหาวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับเบียร์อย่างดี แล้วก็ที่ “วีแอลบี” ที่เบอร์ลิน ฯลฯ เป็นสถาบันวิจัยและสอนเกี่ยวกับเบียร์ สอนจนเป็นดอกเตอร์เลย หรือคนไม่เป็นก็สอนเป็นวิศวกร เรียกว่า Brewing Engineer ถ้าเป็นผู้ปรุงเบียร์ก็เป็น Brewing Science

นอกจากจบออกมาเป็นนักปรุงเบียร์ยังแตกแขนงไปทำอาชีพอื่นได้ด้วย?

ครับ ขายของก็ได้ เพราะมีสารที่เกี่ยวกับเบียร์มากมายให้เรียนรู้ แม้แต่ผงกรองที่ทำให้เบียร์ใสก็มีมหาศาล ซึ่งบ้านเราวิชาความรู้ทางด้านนี้ทุกวันนี้ก็ยังแคบอยู่ ขณะที่ทางยุโรปหรืออเมริกาก้าวหน้ามาก

ในบ้านเราการสอนต้มเบียร์ถือว่าถูกกฎหมาย?

จริงๆ สอนได้ แต่ถ้าต้มเบียร์เองไม่ได้ ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะเบียร์ยังต่อยอดไปได้อีกหลายศาสตร์

จึงต้องไปตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศ และนำเข้ามาขายอีกที?

ครับ แต่ต้องเสียภาษี ซึ่งโครงสร้างภาษี ณ วันนี้ ถ้าเป็นเบียร์ที่ผลิตในเมืองไทย ผู้ผลิตต้องไปยื่นสรรพสามิต โดยใช้ราคาส่งสุดท้ายเป็นฐานคำนวณภาษี นั่นเป็นภาษีตัวที่ 1 ตัวที่ 2 ต้องบวกด้วยค่าแรงแอลกอฮอล์ ตัวที่ 3 ถ้าแอลกอฮอล์เกิน 7% ต้องบวกเข้าไปอีก แต่เบียร์นำเข้า ก่อนจะเสียภาษีสรรพสามิต จะต้องผ่านภาษีศุลกากรก่อนจึงจะนำภาษีเหล่านี้มาคำนวณเพิ่มเข้าไป

พอเป็นอย่างนี้ก็ต้องมาดูว่า ประเทศไหนที่มีสนธิสัญญาเรื่องอาฟต้ากับไทย อย่างออสเตรเลียไม่มีภาษีศุลกากร แต่ถ้าไปทำที่ไต้หวันต้องเสียภาษีศุลกากรเพิ่ม ทำให้เบียร์นำเข้ามีราคาแพงกว่า

คุณสมบัติของบรูว์มาสเตอร์ต้องมีอะไร?

1.ต้องมีพื้นฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ก่อน เพราะอย่างน้อยต้องรู้ว่าเบียร์ประกอบด้วยอะไรบ้าง สูตรเคมีมันเป็นยังไง สูตรของความขมมันเป็นยังไง มันมาจากอะไร 2.ต้องเป็นคนที่ประสาทสัมผัสทั้งปากและจมูกค่อนข้างดีนิดนึง เพราะบางคนเค็มยังไม่รู้ว่าเค็มก็ไม่ได้ 3.คุณสมบัติทางด้านสังคม เราจะไม่ไปติว่าเบียร์คนนั้นดีคนนี้ไม่ดี เพราะถือว่ามันเป็นศาสตร์ของแต่ละคนว่าเขาอยากให้เป็นแบบไหน ต้องมีจริยธรรม มีจรรยาบรรณไม่ไปวิจารณ์คนอื่น

ถ้าจมูกไม่ดี ลิ้นไม่ดี ทำได้มั้ย?

ไม่ได้ครับ เพราะเบียร์เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ คือพูดง่ายๆ ก่อนจะดื่มเบียร์แก้วนี้เราต้องดูสีก่อน ใสมั้ย มีตะกอนมั้ย ตะกอนจากธรรมชาติมั้ย เพราะอย่างพวก ท็อปเฟอร์เมนต์ (top ferment) ตะกอนจะเป็นธรรมชาติของเขา คือเบียร์ที่ไม่กรอง มันจะมีสารแขวนลอยอยู่

พอดูสีสันเสร็จ ต้องไม่เป็นเส้นวุ้นลงมา ต้องดมก่อน ว่ากลิ่นเป็นอย่างไร แตกต่างไปมั้ย อย่างบางคนทานเบียร์บูดยังไม่ทราบเลย อย่างทุกวันนี้ที่ขายเบียร์สดหัวจ่ายเบียร์จะไม่ได้ล้างกัน ก็จะบูด พอรินเบียร์ผ่านก๊อกนี้ออกมาจะมีกลิ่นบูดคล้ายกับข้าวหมาก ยิ่งปล่อยให้เบียร์อุ่น ชิมไปปุ๊บจะรู้ เรียกว่าสปอยลิ่ง เบียร์ คือมันเสียแล้ว

ถ้าปล่อยให้หัวจ่ายมันทิ้งไว้นานมาก จุลินทรีย์มันกลายพันธุ์ มันอาจจะสร้างเป็นสารพิษมาก็ได้ ซึ่งในบ้านเราไม่มีหน่วยงานไหนเคยไปควบคุมเรื่องความสะอาดตรงจุดนี้

หลังจากดมแล้วก็ดื่ม?

ในปากเราจะมีประสาทรับสัมผัส 4 จุด ปลายลิ้นเป็น “หวาน”, “เปรี้ยว” จะอยู่ขอบลิ้นข้างๆ “ขม” จะอยู่โคนลิ้น ตรงกลางลิ้นเป็น “เค็ม”

เพราะตอนที่เรียนทำเบียร์ต้องเทสต์ออก เค็มไม่ยาก แต่หวาน/เปรี้ยวจะยากหน่อย ถ้าเปรี้ยวจะใช้กรดน้ำส้มผสมน้ำให้ชิม ถ้าขมจะใช้ควินิน ใส่ตั้งแต่ 2-3 พีพีเอ็ม (1 ส่วนต่อล้านส่วน) ชิมให้ได้ว่าความขมมันออกมาแล้ว

ใหม่ๆ ผมก็ไม่รู้เรื่อง เมาอย่างเดียว (หัวเราะ)

ตอนอยู่ไทยอมฤตได้ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์แก้ปัญหารสชาติเบียร์?

ช่วงนั้นปี 2526-2527 ตอนนั้นคลอสเตอร์ มาร์เก็ตแชร์สูง แต่พอผลิตมาก เบียร์มันไม่นิ่ง ที่สำคัญคือ มันมีกลิ่นและรสบางอย่าง เขาบอกว่ามันเป็น oxygen pick up จริงๆ มันมีปัญหาทั้งกระบวนการ แม้กระทั่งตัวโรงงาน เช่น ปริมาณยีสต์ที่ใส่ควรจะนิ่ง แต่เนื่องจากโรงงานมันเก่า มันคุมไม่ได้ ตอนนั้นสิ่งที่ผมศึกษามาไม่ตรงกับที่บรูว์มาสเตอร์ว่า ผมไม่รู้จะทำยังไง ก็แอบแก้ เช่น เขาบอกเป็นที่ออกซิเจน เราเชื่อ แต่จะแก้ยังไงไม่ให้ออกซิเจนขึ้น ก็ไปดูทางเครื่องจักร ไปดูที่ปั๊ม ซึ่งยังใช้รุ่นเก่า ก็มาแก้โดยการเปลี่ยนปั๊มก่อน ก็ดีขึ้น

เรื่องเปรี้ยวก็มาพิถีพิถันเรื่องน้ำ มาคุยกับพนักงานซึ่งอายุมากกว่าผมทั้งนั้น ก็นั่งดื่มไปคุยทำความเข้าใจ ใช้เวลาเกือบ 5-6 ปี กว่าจะเข้าที่

ศาสตร์การชิมเบียร์กับชิมไวน์รับรู้ถึงการแบ่งระดับชนชั้น?

มันคนละแบบกันเลย เพราะ “ไวน์” ส่วนใหญ่เป็นทักษะเฉพาะตัว ไม่มีตำราที่บ่งบอกตายตัว อาศัยคนคนนั้นที่ตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ชิม แต่ “เบียร์” เป็นศาสตร์ซึ่งมีตำรารับรอง ทุกคนสามารถศึกษา ทดลองและเก็บความรู้นั้นไว้ได้

ไวน์มาจากวัตถุดิบซึ่งเป็นองุ่นพันธุ์ ฤดูการเก็บเกี่ยว ปริมาณน้ำฝน ดิน แม้กระทั่งไม้โอ๊คที่เราบ่มก็จะมีผล ฉะนั้นไม่สามารถเขียนเป็นตำราว่าไวน์ชนิดนี้ต้องมีค่าชนิดนี้เท่าไหร่ แต่เบียร์สามารถเขียนได้ เช่น ลาเกอร์ควรจะเป็นอย่างไร เป็นพิลสเนอร์ เป็นไวเซ่น ควรเป็นอย่างไร

เหมือนทุกคนสามารถเป็นบรูว์มาสเตอร์ได้ มาตรฐานอยู่ตรงไหน?

ก็มีทดสอบ อย่างในเยอรมนี อเมริกา หรืออังกฤษ จะมีโรงเรียนสอนทำเบียร์ มีการสอบ มีห้องเรียน มีการเรียน ที่สำคัญคือต้องปรุงเบียร์ออกมาให้ได้รสชาติที่กำหนด สมมุติให้โจทย์ว่าให้ไปปรุงเบียร์สเตาท์ เราก็ไปคิดว่าเราจะใช้วัตถุดิบแบบไหน เป็นไอริชสเตาท์ อิมพีเรียลสเตาท์ หรือฟลอเรนซ์สเตาท์ จะมีแยกต่างหาก คนปรุงเบียร์ก็เหมือนกับเชฟ แต่การปรุงอาหารบางทีไม่มีทฤษฎีตายตัว ขณะที่เบียร์เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ มีทฤษฎีตายตัว คือส่วนหนึ่งเป็นวิทยาศาสตร์

เด็กรุ่นใหม่ที่มีความชำนาญด้านเบียร์มีมากมั้ย

ต้องเรียนตรงๆ ว่าบ้านเราถูกตีตราว่าการทำเบียร์เป็นบาป แม้แต่คุณแม่ผมก็ไม่อยากให้ทำ บอกว่ามันบาป แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเครื่องดื่มตัวหนึ่ง ถามว่าเป็นอาชีพที่ดีมั้ย ผมว่าดีนะ 1.ทำให้คนเราได้ดื่มในสิ่งที่ตัวเองชอบ เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ 2.สินค้านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดมา มันเกิดมา 6,000 กว่าปีแล้ว และวิทยาการด้านนี้มันมีความต่อเนื่องมาตลอด ทั้งสายวิศวกรรมและสายวิทยาศาสตร์ก็มีการคิดค้นเครื่องไม้เครื่องมือในการต้มเบียร์ได้ดีมีคุณภาพและอร่อยเต็มไปหมด แต่บ้านเราขาดไปหมด

ปัจจุบันมีคราฟต์เบียร์หลายยี่ห้อมากๆ ได้ลองทุกยี่ห้อ?

ถ้าของไทยทำ บางยี่ห้อไม่กล้าดื่ม เพราะรู้ว่ากระบวนการทำของเด็กคนนั้นทำอย่างไร ต้องเรียนตามตรงว่ามีแอบทำกัน น่าจะมีเป็นพันคน ถ้าเป็นแบรนด์น่าจะประมาณ 30-40 แบรนด์ ทีนี้เด็กบางคนเอ็กซตรีมมาก มาจากสายอื่นไม่เข้าใจพอมาทำแล้วอันตราย อย่างบางคนต้องการยีสต์แล้วไปวางในห้องน้ำเพื่อให้ได้ยีสต์ประหลาดๆ มันอันตราย อาจเป็นพิษได้ ตรงนี้เลยเข้าใจว่าทำไมรัฐบาลต้องเข้ามาคุม

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น การคุมด้วยวิธีนี้ก็ไม่ถูก ก็จะมีการแอบทำเหมือนต้มเหล้าเถื่อน มีการใส่ยาฆ่าหญ้าลงไปเพื่อป้องกันไม่ให้มันติดเชื้อเวลาหมัก จุดประสงค์แค่นี้เอง เพราะเขาไม่เข้าใจว่าวิธีการที่จะไม่ให้มันติดเชื้อต้องทำอย่างไร

จะรู้ได้อย่างไรว่ายี่ห้อไหนมีมาตรฐาน?

ถ้าเป็นคราฟต์เบียร์ต้องติดแสตมป์ เพราะต้องผ่านการขออนุญาตกับสรรพสามิต ซึ่งเครื่องมือในการตรวจสอบคุณภาพเบียร์ของสรรพสามิตดีกว่าของมหาวิทยาลัยอีก แค่ส่งตัวอย่างเข้าไปวิเคราะห์ชั่วโมงเดียวก็รู้หมดว่ามีสารอะไรบ้างในเบียร์นั้น

แต่ถ้าเป็นร้าน สังเกตง่ายๆ ว่าเบียร์อยู่ในถังหรือเปล่า ซึ่งถังจะมี 2 แบบ คือเป็นถังพลาสติกและถังสแตนเลส เชื่อถือได้ในระดับหนึ่งเพราะราคาแพงพอสมควร แสดงว่าต้องมาจากแหล่งที่มีมาตรฐาน แต่บางคนอาจจะเอาเบียร์คนอื่นมากรอกใส่ ก็ให้ดูว่ามีแสตมป์ติดมั้ย หรือไปที่ร้านที่เรามั่นใจ

ปัจจุบันเราปลูกฮอพได้แล้ว เคยใช้ฮอพที่ปลูกในเมืองไทย?

พูดถึงคุณภาพถ้าปลูกเมืองไทยคุณภาพจะไม่ได้ เพราะพืชพวกนี้ต้องอาศัยช่วงคลื่นแสง อุณหภูมิ ดิน และน้ำ โดยเฉพาะคลื่นแสงสำคัญมาก ถ้าคลื่นแสงไม่ได้ เขาจะสร้างสารอาหารได้ไม่ครบ เพราะเดี๋ยวนี้การที่พืชจากที่หนึ่งจะไปปลูกอีกที่หนึ่ง ปลูกได้หมด แต่คุณภาพและปริมาณสารที่เราต้องการจะไม่เหมือนกับต้นสังกัด

อย่างเมืองจีนมีทั้งเขตหนาวและเขตอบอุ่น ก็ปลูกฮอพ ทำบาร์เลย์ ได้ปริมาณมาก ราคาถูกกว่าหน่อย ถามว่าหอมมั้ยก็ไม่ค่อยหอมเท่าไหร่ แต่ได้ขมๆ

เป็นบรูว์มาสเตอร์ต้องดูแลตัวเอง?

ต้องพยายามอย่าให้เป็นหวัด อย่ากินของรสจัด เพราะถ้ามากจะทำให้เทสต์บัดเราเสีย อย่างกาแฟ กินได้ แต่อย่าเยอะ เพราะมันจะไปกลบ ทำให้เราไม่สามารถทดสอบได้เลย ส้มตำกินได้ แต่อย่าบ่อย เป็นอาชีพที่ต้องบังคับตัวเองหน่อยนึง

ถ้ารัฐบาลยอมให้เปิดเสรีโรงเบียร์จะเกิดอะไรขึ้น?

ประการหนึ่งคือจะมีผู้ประกอบการรายเล็กๆ เกิดขึ้น และบนซัพพลายเชน บนวงจรของธุรกิจการค้าจะเกิดขึ้นมามหาศาล ไม่ใช่แค่ต้มเบียร์อย่างเดียว พวกขวดซึ่งมีการทำเป็นโรงงานใหญ่อยู่แล้ว ยังมีทำฉลาก ทำกล่อง พ่อค้าแม่ค้าจะเกิดขึ้นมา

คือนโยบายรัฐบาลน่ะดี เพียงแต่ว่าเจ้าหน้าที่ควรจะตระหนักถึงหน้าที่ของตัวเอง คุมต้องคุมให้อยู่ บอกว่าห่าง 200 เมตร จากสถานศึกษาก็ต้องตามนั้น เพราะต่างประเทศก็มีการคุมเช่นกัน ไม่ใช่เสรีอย่างไร้ขอบเขต อย่างที่เยอรมนีก็ไม่อนุญาตให้เปิดบาร์ใกล้โรงพยาบาลเช่นกัน

สั่งสมประสบการณ์มามากมายจะเปิดสอน?

กำลังคิดอยู่เหมือนกันครับ น่าจะถึงเวลาแล้วที่จะมีการสอนเรื่องนี้ในระดับอุดมศึกษา เพราะศาสตร์แขนงนี้ก็เหมือนอาชีพหนึ่งที่ช่วยให้เด็กมีอีกทางเลือก เบียร์ทำรายได้ให้ประเทศกว่าแสนล้านบาท เป็นรายได้หลักของรัฐบาล ควรจะส่งเสริมให้คนไทยได้เพิ่มพูนความรู้ ถ้าจำกัดความรู้ทางด้านนี้แล้วเขาไปทำเอง ถามว่าเขาผิดมั้ย-ไม่ผิด

ขณะที่ประเทศรอบบ้านเรา อย่าง ลาว กัมพูชา หรือเวียดนามที่เปิดเสรีกันหมดแล้ว ทำให้เด็กไทยบางคนต้องข้ามไปทำเบียร์ที่เกาะกง

ถ้าเปิดเสรีโดยที่ให้ อย. หรือกรมสรรพสามิตดูเรื่องของคุณภาพเบียร์น่าจะดีกว่า

การดื่มเบียร์ใส่น้ำแข็งหรือเบียร์วุ้น ดีหรือไม่ดีอย่างไร?

1.เขาปรุงมาให้แล้ว 2.เบียร์เป็นเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีน้ำ มีสารอาหารอยู่ น้ำแข็งเราไม่รู้ว่าสะอาดมั้ย บางคนบอกว่ากินเบียร์แล้วเจ็บคอ เป็นเพราะเชื้อที่มีอยู่ในน้ำแข็ง ที่สำคัญคือ รสชาติก็เสียไปเลย เพราะเราปรุงมาแล้ว เปอร์เซ็นต์น้ำตาล พีเอชคุมแล้ว

ส่วน เบียร์วุ้น อันตรายมากเลยนะครับ เพราะในเบียร์จะมีคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ เวลาเรารินเบียร์ ก๊าซจะขึ้นมาแล้วดึงโปรตีนตัวหนึ่งให้เป็นฟอง เรียกว่า อัลบูมิน ฟองนี้จะมีสารความขมอยู่ ฉะนั้นที่ฟองจะขมกว่าน้ำ เวลาเราดื่มจะดื่มผ่านฟองลงไป จะปนกันไปนิดหน่อย แต่ถ้าเบียร์เป็นวุ้น คาร์บอนไดออกไซด์จะถูกจับอยู่ในน้ำ เวลาเราดื่มเข้าไป ร่างกายเราอุ่นกว่าเบียร์ พอดื่มเข้าไปคาร์บอนไดออกไซด์จะขยายตัวทันที อันตรายมาก มันจะดันกระเพาะ ขึ้นไปดันกระบังลม และดันช่องทรวงอก

ถ้าเรอก็ช่วยได้ แต่บางทีจะเรอไม่ทันเพราะมันเกิดขึ้นเร็วมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image