ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร
20 ปี OKMD
ลงเสาเอก ‘ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ’
เพลย์กราวด์กระตุกต่อมเอ๊ะ คอนเน็กต์ทุกเจน
เป็นมิตร ที่ก้าวสู่ขวบปีที่ 20
เป็นคู่ชีวิต ที่เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมๆ กัน
เป็นตัวเปิด เปลี่ยนภาพจำห้องสมุดที่คุ้นชิน
เป็นพื้นที่ตัวกลาง ขยายโลกทัศน์
เป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ได้ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ
“20 ปี OKMD ผมตั้งใจอยากให้เป็นงานทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และมองภาพอนาคต รวมทั้งเปิดตัวโครงการสำคัญที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้พัฒนา ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ แห่งใหม่ ที่ถนนราชดำเนิน”
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) OKMD เผยถึงภารกิจที่กำลังเบนเข็มทิศปรับทางขององค์กร ไปพร้อมๆ กับการอุทิศตนเพื่อส่วนรวม
19 ขวบปีที่ผ่านพ้น ก้าวเข้าสู่วัยบรรลุนิติภาวะ กำลังท้าทายข้อจำกัดการเรียนรู้ของคนไทย
พลิกแพลง ขับเคี่ยว เสาะหาวิธีการ กระทั่งเปิดตัว NKC OKMD National Knowledge Center ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติแห่งใหม่ กำลังก่อร่างสร้างขึ้นโดยมีแผนจะแล้วเสร็จในปี 2570 นี้ เป็นสเปซขนาด 20,000 ตร.ม. ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ ที่พร้อมจะกระตุกต่อมเอ๊ะ ให้คำตอบ และตอบโจทย์คนทุกเจน บนโลกที่อัดแน่นไปด้วยสายธารข้อมูล
ดร.ทวารัฐ เชื่อว่าเป็นผลจากเรี่ยวแรงของทีมงาน ทั้งอดีตผู้บริหารและพนักงานชุดปัจจุบัน ร่วมด้วยช่วยกันเคลื่อนองค์ความรู้ เสิร์ฟคนในประเทศ ภายใต้โจทย์ใหม่ที่ผุดขึ้นและแปรผันอยู่ทุกปี
พัฒนาจนวันนี้เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ‘เราไม่เป็นสองรองใครในอาเซียน’
“เราตั้งใจพัฒนาโครงการนี้ด้วยกลยุทธ์ที่เรียกว่า Knowledge Hub กับ Creative Learning District ให้ไม่ใช่เป็นเพียงอาคาร หรือศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ แต่เราตั้งใจสร้างให้โครงการนี้เป็นจุดเชื่อมต่อ ระหว่างศูนย์เรียนรู้และพื้นที่ความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และกรุงเทพฯ ชั้นใน”
แล้วต่อไปจะสามารถพัฒนาต่อยอด คอนเน็กต์เดอะดอต (Connect the Dots) กับพื้นที่การเรียนรู้ทั่วประเทศ ทำให้พื้นที่นั้นมีชีวิต เป็นพื้นที่แห่งการแสดงออก และเป็นพื้นที่แห่งนวัตกรรมเพื่ออนาคต
เป็นคำประกาศเจตนารมณ์ของผู้บริหาร ในวาระครบรอบ ‘20 years of Thailand Knowledge Creation: Past and Future’ ในช่วงบ่ายคล้อย ที่ห้องออดิทอเรียม ภายในอุทยานการเรียนรู้ TK Park เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ผู้อำนวยการ OKMD เล็งเห็นด้วยว่าพื้นที่ลักษณะนี้ หากสามารถเชื่อมโยง-ต่อยอดกับสิ่งที่เรามีอยู่เดิมได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานทุนทางวัฒนธรรม หรือทุนทางความคิด นวัตกรรมรูปแบบใหม่ ก็มั่นใจว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป
“เชื่อเหลือเกินว่าพวกเราทุกคนคงจะดีใจ ไม่เพียงแค่องค์กรเราครบรอบ 20 ปี แต่ผมอยากเรียนเชิญทุกท่าน ทั้งผู้บริหารในอดีต ปัจจุบันและในอนาคต ช่วยกันมองภาพอนาคต มองสังคมแห่งโอกาสและฐานความรู้ ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่มิติใหม่ ในการพัฒนาประเทศของเรา ให้เข้าสู่เศรษฐกิจบนฐานความรู้อย่างแท้จริง”
คือเสียงปลุกพลัง ตบเท้าพาก้าวไปสู่ฟิวเจอร์ ก่อนเข้าสู่การเสวนาในหัวข้อ 20 years of Thailand Knowledge Creation : Future ที่ดึงคนรุ่นใหม่ ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมเจาะลึกด้านการออกแบบและพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบ Board-based Simulation ซึ่งร่วมถึง ‘วิว’ ชนัญญา เตชจักรเสมา ยูทูบเบอร์ชื่อดังจากช่อง Point of View เจ้าของรางวัล Popular Vote จากเวที Thailand Best Blog Awards 2018 ผู้มีเอกลักษณ์ในการเล่าเรื่องสาระความรู้อย่างสนุกสนานเข้าใจง่ายไม่น่าเบื่อ ทั้งวรรณกรรม วรรณคดี นิทานพื้นบ้าน ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ
ต่อไปนี้คือถ้อยคำของเสาหลัก OKMD ที่ชวนนับถอยหลังอีก 3 ปี ไม่กี่อึดใจ เรากำลังได้สัมผัส ‘พื้นที่สำหรับทุกคน’
⦁ ในฐานะเรี่ยวแรงสำคัญในการผลักดันจัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ NKC ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ชนิดที่เรียกว่าใส่ใจดีเทลทุกตารางนิ้ว ในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็นอะไรบ้าง?
NKC หรือ National Knowledge Center เป็นชื่อย่อของโครงการ แต่ถึงจุดนึงในอนาคตเราอาจจะได้ชื่อใหม่ ของการเป็นศูนย์แห่งอนาคต ที่บ่งบอกทิศทางก้าวต่อไปได้ สำหรับผมเรื่องการเรียนรู้ 1.ไม่มีวันสิ้นสุด 2.ไร้กาลเวลา (timeless) บางเรื่องพูดเมื่อไหร่ก็เป็นอมตะนิรันดร์กาล 3.ไม่มีเส้นแบ่ง (border) กีดกั้นทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ซึ่งการที่เราจะทำสิ่งเหล่านี้มารวมกันได้ ต้องทำหลายเรื่องด้วยกัน ทั้ง ‘เทคโนโลยี คอนเทนต์หรือความรู้ที่อัดแน่น และการเข้าถึงได้’ ดังนั้น การออกแบบศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ NKC ที่ราชดำเนิน เราจึงคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้คนเข้าถึงทั้งในเชิงทางกายภาพและดิจิทัล ในรูปแบบต่างๆ
ผมตั้งใจมาก ถือว่าเป็นภารกิจสำคัญ เพราะผมเชื่อเหลือเกินว่าพื้นที่ที่เราได้รับมอบหมายมาจากทางรัฐบาล รวมทั้งได้รับความสนับสนุนจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่พิเศษ ไม่เพียงแค่อยู่ในพื้นที่ชั้นในของ กทม. แต่ยังเป็นพื้นที่ในเกาะรัตนโกสินทร์ บนถนนราชดำเนินกลาง เป็นพื้นที่ที่มีความรู้อัดแน่น ซึ่งถ้าให้น้องวิวไปเล่า คงได้หลายตอน (episode) และได้หลายมุม บางท่านอาจจะจำเหตุการณ์ทางการเมือง จำเรื่องศิลปวัฒนธรรม อาหาร วัดวาอาราม หรือจำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์จักรี ส่วนผมเป็นวิศวกร ก็อาจจะพูดถึงวิศวกรรมในบางเรื่อง อย่างตึกสูงแห่งแรกๆ ในประเทศไทย ก็มาจากบริเวณโซนนี้ สมัยก่อนตึกสูง 5-9 ชั้นถือว่าสูงมากแล้ว ฉะนั้น คอนเทนต์ที่อัดแน่นบนถนนราชดำเนิน ก็เป็นกลยุทธ์หลักข้อหนึ่ง
ผมเองก็ได้รับการถ่ายทอดจากผู้บริหารรุ่นก่อนว่าการพัฒนาใดใดให้คำนึงถึงความเป็นย่าน (Area Based) การพัฒนาให้พื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้สำคัญซึ่งไม่ใช่ของประเทศอย่างเดียว ผมว่าระดับเอเชีย ระดับโลกเลยก็ว่าได้ หัวใจสำคัญคือต้อง Connect the Dots และ Dot เหล่านี้ในเมืองไทยมีเยอะมาก อย่างเกาะรัตนโกสินทร์มีจุดที่สำคัญด้านการเรียนรู้เยอะมาก ซึ่งจะคอนเน็กต์ได้ ต้องมีโหนดเป็นจุดเชื่อม
การเชื่อมต่อทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการเรียนรู้เชิงการท่องเที่ยว หรือในเชิงเก็บพอยต์ เก็บคะแนน เก็บเครดิต หรือเรียนรู้ในรูปแบบต่อยอดสร้างอาชีพ ทำได้หลายรูปแบบ เป็นภารกิจสำคัญที่ผมได้รับการถ่ายทอดจากพี่ๆ รุ่นก่อน ทำให้ความรู้เหล่านี้สามารถ Connect the Dots และไปสู่การทำมาหากินได้ เพราะฉะนั้น ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ ได้รับการออกแบบจากแรงบันดาลใจหลายเรื่อง เทคโนโลยีก็ดี สถาปัตยกรรม คอนเทนต์ที่อัดแน่น และการเข้าถึงที่เชื่อมโยง
⦁ ความมุ่งหมายที่อยากให้เกิดขึ้น?
เราคาดหวังว่า โครงการนี้ถ้าถึงจุดหนึ่ง รถไฟฟ้าสายสีส้มได้สร้าง ก็จะเชื่อมเข้าไปยังศูนย์ได้ แต่ถ้ายังไม่สร้าง ก็มีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน แต่เดินไกลหน่อย บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์รวมมิวเซียมสยาม ถ้าจำไม่ผิดจะมีสถานีรถไฟฟ้า 3-4 แห่ง ที่สถานีสนามไชย โผล่ถึงมิวเซียมสยามเลย และในอนาคตจะมีสถานีสนามหลวง และสายสีน้ำเงินอีกจุด ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมมั่นใจว่าศูนย์นี้ ที่ราชดำเนิน จะไม่ทำให้พวกเราผิดหวัง
พูดถึงหัวใจของคอนเทนต์ เรื่องหนึ่งที่ตั้งใจมาก คือผมเชื่อเรื่อง ‘ความรู้คู่การปฏิบัติ’ ต้องลงมือทำถึงจะอิน เหมือนการคิดถึง ถ้าไม่บอกก็ไม่ถึง (ยิ้ม) ความรู้ถ้าไม่ทำ มันไม่รู้จริง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ ซุปเปอร์คลาสรูม เราพยายามทำแล็บในหลายรูปแบบ ผ่านการออกแบบของทีมสถาปนิก
มีหลายแล็บที่พร้อมให้พวกเราได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติหลายแล็บด้วยกัน เช่น Kitchen Lab ที่เกี่ยวข้องกับด้านอาหาร ที่ไม่ใช่แค่การปรุงรสอย่างเดียว แต่ยังรวมทั้งการนำเสนอ เรื่องกลิ่น สมุนไพร, Maker Space และ Fabrication Laboratory หรือ FabLab ทดลองการต่อประดิษฐ์ ประกอบเป็นสิ่งของ, Media Lab แล็บเรื่องคอมพิวเตอร์ ไอที, Expression Zone มีเครื่องดนตรี มีลานสานฝัน ที่ยกยอดต่อไปจาก TK Park เป็นจุดให้เด็กและเยาวชนสามารถแสดงออกได้ ทั้งเล่นดนตรี หรือในรูปแบบต่างๆ มีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ทั้ง Art&Craft หรือนิทรรศการในรูปแบบใดก็ตาม
ตอนนี้ที่ผมตั้งใจอยากทำแต่ยังไม่มั่นใจว่าจะออกมาในรูปแบบใด ‘เรื่องอิมเมอร์ซีฟ เทคโนโลยี’ (IMT) คือเวลาคุณเข้าไปในพื้นที่การเรียนรู้แล้วมันปกคลุมไปด้วยแสง สี เสียง สายตามันจะว้าวไปทุกมุม เปิดช่องทางรับสารพัดรส ประตูทั้ง 8 หู ตา จมูก กลิ่น สัมผัส ซึ่งอิมเมอร์ซีฟ เทคโนโลยี กำลังจะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ไมใช่แค่เห็น แต่ต้องสัมผัส
มีเทคโนโลยีหนึ่งที่ผมชอบใจมาก ของ teamLab Planets TOKYO ที่ญี่ปุ่น คือเวลาเข้าไปเขาให้ถอดรองเท้า เพราะต้องเดินลุยน้ำ เขารู้สึกว่าการเรียนรู้กับวัสดุศาสตร์บางเรื่อง สัมผัสแค่มือไม่ได้ ต้องใช้เท้าเข้าไปเป็นส่วนสัมผัสด้วย เขาเอาดอกกล้วยไม้มาห้อยกลับหัวกลับหาง ลงมาหลังคา ซึ่งไม่ได้ให้เรายืนดูนะ เขาให้เรานอนดู (ยิ้ม) เทคโนโลยีลักษณะนี้ประกอบกับการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ผมเชื่อว่าศูนย์การเรียนรู้ที่ถนนราชดำเนิน จะตอบโจทย์กับท่านผู้ปกครองและประชาชนคนไทย ที่สนใจไขว่คว้าหาความรู้ให้กับตัวเราเอง
รวมถึงเรื่องเอไอ (AI) อันนี้สำคัญ ‘ใช้เป็นฉลาด ถ้าใช้ไม่เป็นท่านจะเป็นทาสมัน’ สมัยก่อนการเรียนรู้ถูกป้อน ตอนนี้โลกแห่งการเรียนรู้มันเปลี่ยนแล้ว อยู่ที่เราจะแสวงหา เพราะฉะนั้นการจะทำให้การแสวงหานั้นสนุก ทำให้เข้ากับยุคสมัย และเข้ากับทุกคนได้ คือการเรียนรู้ประกอบกับกิจกรรมอื่นๆ ด้วย จึงขอยืนยันว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญในการเข้าถึงการเรียนรู้
⦁ นอกจากสถานที่แห่งใหม่ที่กำลังจะได้เห็นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า OKMD วางแผนภาพอนาคตอย่างไรบ้าง?
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นภารกิจสำคัญของ OKMD คือ นวัตกรรมการเรียนรู้ ที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ซึ่งสมัยก่อนการเรียนรู้ต้องผ่านการสอน การอ่านหนังสือ การไปพิพิธภัณฑ์ แต่อนาคตจะแหวกแนว ‘เรียนรู้ผ่านการเล่น’ โดยการใช้หลัก Brain-Based Learning (BBL) มาพัฒนาโปรดักต์หนึ่ง กลายเป็นสนามเด็กเล่นรูปแบบใหม่ ที่มีคอนเซ็ปต์ของการออกแบบเพื่อพัฒนาสมองโดยเฉพาะ
เราก็จะมีการพัฒนาต่อยอด เป็นเพลย์กราวด์ (playground) รูปแบบใหม่ จากสนามเด็กเล่น จะเป็นสนามสำหรับสังคมสูงวัย นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมรูปแบบอื่นๆ อาทิ พัฒนาจากบอร์ดเกมกลายเป็นอีสปอร์ต (E-sports) เป็นเทคนิคการเรียนรู้รูปแบบใหม่ของวิชาการหรือศาสตร์นั้นๆ ส่วนเรื่องเอไอ (AI) ตอนนี้กำลังทำงานกับน้องๆ กลุ่มหนึ่ง เป็นฟังก์ชั่นที่ดูดเอาความรู้มา หัวใจคือคีย์เวิร์ด สมมุติเราสนใจคำว่า ‘ขวดน้ำ’ ฟังก์ชั่นนี้ก็จะไปดูดคำว่าขวดน้ำ ซึ่งไม่ได้ดูดจากอัลกอริทึมที่เป็นความถี่ แต่จะดูดคำว่าขวดน้ำจากการแปลความว่า ขวดน้ำมาจากไหน ขวดน้ำมีกี่ประเภท หรือขวดน้ำทำอะไรได้บ้าง ดังนั้นมันจะมีฟังก์ชั่นที่ทำให้เราเข้าถึงและช่วยกรองความรู้ได้ชั้นหนึ่ง ก่อนที่จะให้ความรู้ที่เราจะเสพเรื่องขวดน้ำ มาถึงตัวเรา
ที่ผมพยายามจะใช้กับอีกกลุ่มงานหนึ่ง คือสมมุติว่า เราเชื่อว่าไทยเป็นเมืองแห่งผลไม้ มีราชาผลไม้ชื่อทุเรียน ราชินีผลไม้ชื่อเงาะ ถ้าเราต้องการคำว่า ‘ทุเรียน’ ฟังก์ชั่นเอไอก็จะช่วยหาคำว่าทุเรียน มีกี่ประเภท ทุเรียนที่ไหนอร่อย ปลูกที่ไหนดี จะมีฟังก์ชั่นแห่งการดูด เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ที่เราต้องการ เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของการที่เราจะได้มาซึ่งความรู้ ที่เราจะเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งอีกไม่เกินปี 1-2 ปี เทคโนโลยีลักษณะนี้จะมาถึงมือท่านแน่นอน
⦁ พูดถึง ‘มนุษย์ในยุคอนาคต’ คิดว่าทางองค์กรยังต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร?
สำหรับผม เทรนด์ใหม่ของการเรียนรู้ หัวใจสำคัญมี 7-8 เรื่อง เรื่องหนึ่งเลยคือ ต้องย่อยให้เล็ก พิมพ์สะดวก ง่าย และด้วยความในยุคปัจจุบัน โซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเสพข่าวสารด้วยความรวดเร็ว เพราะฉะนั้นเราจะเล่าเยิ่นเย้อไม่ได้ ต้องทำให้พอดีคำ อย่างที่ 2 ต้องใช้พลังสมองช่วย คือ ต้องมีกราฟิกช่วยอธิบาย เพราะว่าการเห็นกราฟิก หรือภาพวาดที่มีศิลปะเข้าช่วย ถ้าเป็น 3 มิติ 4 มิติ ที่มีเสียงและกลิ่นได้ เพราะเรื่องบางเรื่องอธิบายง่ายกว่าคำพูด ฉะนั้นการเรียนรู้ในลักษณะนี้เป็นภารกิจสำหรับอนาคตของทาง OKMD เราตั้งใจอยากพัฒนาให้การเรียนรู้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ด้วยองค์ประกอบของเทคโนโลยี และการส่งต่อโดยการย่อยคำและความรู้ต่างๆ ซึ่งเราตั้งใจไว้ว่าอยากผลักดัน OKMD ในอนาคต ให้เป็นเพื่อนคู่คิดของเยาวชน คุณพ่อ-คุณแม่ และเพื่อนคู่คิดของ Knowledge Worker ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณครู คนทำงาน จนไปถึงผู้สูงวัยที่มีพลังสมองเหลือ ถ้าเราเป็นคลังความรู้หรือกระบวนการคิดใหม่ๆ เราก็อยากเป็นเพื่อนคู่คิดของท่าน
⦁ เตรียมพร้อมให้คนไทยขนาดนี้ มองภาพประชากรโลกในอนาคต น่าจะต้องมีคุณสมบัติประมาณไหน?
น่าจะต้องเป็นคนที่ ‘มีคำถามในใจ’ ตั้งคำถามเป็น เหมือนอย่างมอตโตของ OKMD ตั้งแต่เริ่มต้น คำว่า ‘กระตุกต่อมคิด’ ยังใช้ได้ตลอด เป็นสกิลแบบหนึ่งที่คนไทยต้องมี ไม่ใช่ว่าเห็นอะไร รู้อะไร ฟังอะไรมา หรืออ่านอะไรเจอแล้วเชื่อก่อนเลย แต่ต้องกระตุกต่อมคิดให้ได้ว่า เอ๊ะ! เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนี้ การค้นคว้า หาคำตอบเจอในมุมมองของตนเอง สามารถที่จะถ่ายทอดได้ คือทักษะที่สำคัญสำหรับเยาวชนในอนาคต เราถึงใช้มอตโตว่า ‘กระตุกต่อมเอ๊ะ’ (ยิ้ม)
⦁ ทาง OKMD เล็งถึงการวางทิศทางของภาครัฐ เพื่อให้ไทย ก้าวไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืนอย่างไร?
ตอนนี้นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งที่รัฐบาลส่งเสริมคือเรื่อง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ซึ่งรากฐานของซอฟต์พาวเวอร์ มาจาก Creative Economy พาวเวอร์ลักษณะนี้เป็นเรื่องของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งการที่จะสร้างสรรค์ได้ดี ต้องมี ‘ความรู้คู่ดีไซน์’ ความรู้ต้องมาจากการปฏิบัติ รู้แท้ สามารถนำไปสู่การทำมาหากินสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ ปัจจุบันน้องๆ เยาวชนส่วนใหญ่สนใจที่จะเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ซึ่งต้องมีทักษะของการเล่าเรื่องเป็นคำเล็กๆ สามารถที่จะส่งต่อความรู้ ให้กับกลุ่มเป้าหมายของเขาได้ ทักษะในลักษณะนี้ มีความจำเป็นสำหรับโลกอนาคตใหม่ หัวใจสำคัญไม่ได้มีแค่เพียง ย่อยเป็น ย่อยง่าย หรือถ่ายทอดได้อย่างเดียว แต่ถ้ามันสามารถต่อยอดไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดอะไรใหม่ๆ ในอนาคต ประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้
เพราะฉะนั้น การที่มีความรู้เป็นพื้นฐาน มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก และสามารถย่อยเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ต่อยอดให้เป็นความรู้ใหม่ๆ ได้ ก็จะทำให้เกิดการต่อยอดเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ได้ในอนาคต
⦁ อยากฝากอะไรกับสังคมไทย?
ตอนนี้เรากำลังเริ่มสร้างโครงการ ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งจะสำเร็จใน 3 ปี อยากให้ช่วยกันกระจายข่าว เรื่องของกระบวนการเรียนรู้ หรือนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง เพราะการเรียนรู้แปรเปลี่ยนไปหลายรูปแบบ หัวใจสำคัญคือ สังคมไทยต้องตามให้ทัน
OKMD เราเป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่าง ของการที่พยายามจะทำให้ให้พวกเราเท่าทันกับองค์ความรู้ที่แปรเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ การจำลองในรูปแบบต่างๆ หรือการประยุกต์สกิลสำคัญมาใช้ในการบอกต่อ
พื้นฐานของการไขว่คว้าหาความรู้ กระตุกต่อมให้คนไทยคิด ทำให้คนไทยสามารถที่จะตั้งคำถามเป็น ค้นคว้า หาคำตอบด้วยตนเองได้ ผมคิดว่าเป็นทักษะสำคัญของภาพอนาคต
อธิษฐาน จันทร์กลม
นภัสสร มงคลรัฐ