เปิดนวัตกรรมดับความจน งานวิจัยใช้ได้จริง ‘เทคโนโลยีพร้อมใช้ ชุมชนไทยยั่งยืน’

เปิดนวัตกรรมดับความจน งานวิจัยใช้ได้จริง ‘เทคโนโลยีพร้อมใช้ ชุมชนไทยยั่งยืน’

ที่ 2 จากซ้าย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่, ที่ 3 จากซ้าย สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม

ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ นับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน และปัจจุบันหลายๆ พื้นที่ในประเทศไทยยังคงประสบปัญหาความยากจน จากผลกระทบทางเศรษฐกิจดังนั้น จึงเป็นปัญหาที่ต้องนำกลไกหลายอย่างเพื่อเร่งเข้าไปแก้ไขไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชน และกลุ่มคนสำคัญที่ขาดไม่ได้และจะมาช่วยเสริมกำลังในการกำจัดต้นตอของปัญหาให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น นั่นคือ บุคลากรในด้านงานวิจัย

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏและ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั่วประเทศจัดงาน ‘เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยที่ยั่งยืน 2567’ พร้อมขนทัพผลงานเทคโนโลยีพร้อมใช้กว่า 2,289 ผลงาน จากภูมิปัญญานักวิจัยไทย ที่ศึกษา ค้นคว้าและพัฒนาทดลองเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับนำมาปรับใช้กับชุมชนชาวบ้าน และผู้ประกอบการท้องถิ่น ที่จะเป็นการปูรากฐานสำคัญของการพึ่งพาตัวเองด้านเทคโนโลยีและขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวผ่านปัญหาความยากจน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจรากฐาน ไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน โดยจัดขึ้นทั้ง 4 ภูมิภาค ทั่วประเทศ เริ่มต้นที่โซนภาคใต้ จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ชวนให้เจาะลึกเรื่องราวของตัวอย่างนวัตกรรมที่โดดเด่นจากจังหวัดนครศรีธรรมราชรวมถึงมุมมองของชุมชนและผู้ประกอบการที่มีต่อการปรับใช้เทคโนโลยีจริงจากการพัฒนานวัตกรรมของนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา

Advertisement

อว.ประสานสิบทิศ ชูเทคโนโลยี ‘ดับความจน’

สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเริ่มต้นเปิดงานถึงการขับเคลื่อนเทคโนโลยีพร้อมใช้ไปช่วยชุมชนซึ่งเป็นแนวคิดเชิงสนับสนุนนโยบายของกระทรวง ที่มอบหมายให้ บพท.เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับเครือข่ายอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ที่เหมาะสมเป็นเครื่องมือ จากการศึกษา ค้นคว้าและวิจัย เพื่อตอบโจทย์สู่การเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน พัฒนาพื้นที่ ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างความอยู่ดีกินดีแก่ประชาชน และสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในระยะถัดไปจะพร้อมเปิดตัวแผน Technology and Innovation Library ระบบรวบรวมฝั่งข้อมูล รวมทั้งข้อมูลนวัตกรชุมชนให้เกิดการขยายผลไปทั่วประเทศ

ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. เผยว่า งานนี้รวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากเครือข่ายอุดมศึกษาที่สามารถประยุกต์ใช้ในการเข้ามาช่วยชุมชน เพื่อให้สามารถจัดการตัวเองได้อย่างยั่งยืน

Advertisement

“การพัฒนาไม่ว่าจะเป็นการเกษตร กลุ่มอาชีพ หรือครัวเรือนยากจน สามารถพัฒนาให้เกิดอาชีพได้ แต่กลุ่มเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยยังต้องเจอกับปัญหามากมายไม่ว่าเป็นการผลิต การแปรรูปสินค้าต่างๆ และผลผลิตการเกษตรก็ค่อนข้างต่ำ คุณภาพก็ไม่ดี อาจเป็นเพราะการเข้าถึงเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมของเรายังเข้าไม่ถึงชาวบ้านโดยตรง จึงเป็นที่มาของการนำงานผลงานวิจัยเข้ามาใช้ในชุมชน โดยการนำนวัตกรรมและทีมวิจัยที่มืออาชีพมาเจอผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวบ้าน หรือกลุ่มเกษตรกร ใส่การเรียนรู้เข้าไป ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และก่อให้เกิดนวัตกรชาวบ้าน หรือนวัตกรชุมชน” ผอ.บพท.กล่าว

ผลิตภัณฑ์จากปลาใส่อวนไร้ก้าง

‘ปลาใส่อวน’ (ไร้ก้าง) สูตรลับของแม่ สู่โอท็อปพรีเมียม

ว่าแล้วมาแวะชมสินค้าพื้นบ้านที่ไดรับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีจนได้มาตรฐาน เพิ่มดีกรีคุณภาพแบบปังๆ อย่าง ‘ปลาใส่อวน’ หรือปลาหมักข้าวคั่ว ซึ่งเป็นอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยคำว่า ‘อวน’ ในภาษาใต้แปลว่า การคั่ว มาจากชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ทำนาข้าวและจะไม่ทิ้งข้าวที่เหลือเลยนำมาตากแห้ง คั่ว บดละเอียดและนำมาประกอบอาหารและขนม หนึ่งในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่นำมาแปรรูปโดยมีส่วนผสมของข้าวเป็นหลัก คือ ปลาน้ำจืด จุดประสงค์เพื่อถนอมอาหารให้เกิดการเก็บรักษายาวนานขึ้น โดยเมนูปลาใส่อวน จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับเมนูปลาส้ม ที่มีรสเปรี้ยวกลมกล่อมจากกระบวนการหมักของเกลือและข้าว แต่ความแตกต่างคือ ปลาใส่อวน จะใช้ข้าวคั่วเป็นส่วนผสมหลักในการหมัก ขณะที่ปลาส้มจะใช้ข้าวหุงสุก

สพัชนันท์ จันทรัตน์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาใส่อวนแม่แกวดสูตรโบราณ เล่าว่า การทำปลาใส่อวนเป็นสูตรตกทอดจากครอบครัวของตนกว่า 100 ปี ตนถือเป็นรุ่นที่ 3 ใช้ปลานิลเป็นส่วนผสมหลัก ทำขายภายในชุมชน จากสมาชิกเพียง 7 คน ขยายเป็น 25-30 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านละแวกใกล้กันในตำบลดอนกะโก แบ่งกลุ่มผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาผลิตที่โรงเรือน และมีการจ่ายรายได้ต่อวันและซื้อวัตถุดิบจากคนในท้องถิ่นเพื่อกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน

“ก่อนหน้าที่จะตัดสินใจมาทำธุรกิจปลาใส่อวนเต็มตัว เคยเป็นพนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป แต่แม่แกวด (มารดา) มีปัญหาเรื่องสุขภาพเลยตัดสินใจหารายได้เสริม ช่วงแรกมีอุปสรรคพอสมควร ด้วยความที่ใหม่ต่อโลกธุรกิจและต้องศึกษาเรียนรู้เองทั้งหมดตั้งแต่ต้น และผู้บริโภคเองมีข้อติในตัวสินค้าค่อนข้างมากเลยตัดสินใจปรึกษากับทาง ผศ.ดร.จุรีภรณ์ นวนมุสิก นักวิจัยประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมกระบวนการหมักปลาใส่อวนแบบไร้ก้าง ที่ได้มาตรฐานและยืดอายุการเก็บรักษาที่นานขึ้น และมีรสชาติและคุณลักษณะที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และได้รับการรับรองมาตรฐาน อย. นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเครื่องทอดปลาใส่อวนพร้อมบริโภคด้วยระบบสุญญากาศเพื่อควบคุมน้ำมัน เกิดเป็นปลาใส่อวนที่ตอบโจทย์ลูกค้าในรูปแบบพร้อมบริโภค โดยใช้ทุนสนับสนุนจาก บพท. ภายใต้โครงการการขยายผลวิจัยเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology)

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมาคือตัวก้างที่คัดออกจากการทำปลาใส่อวนจะเหลือตกค้างค่อนข้างมาก ทางนักวิจัยได้แนะนำให้มีการแปรรูปชิ้นส่วนก้างโดยใช้หลักการ zero waste มาพัฒนาให้เป็นสินค้าพร้อมจัดจำหน่ายได้ อาทิ ผงโรยข้าวปลาใส่อวน และข้าวเกรียบ

“ตัวผงโรยข้าวปลาใส่อวนนั้นมีจุดขายด้านคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง มีวิตามิน A วิตามิน B1 และแคลเซียมสูงที่จะได้จากตัวก้างปลาและมีส่วนผสมของผักพื้นบ้าน เพื่อเชื่อมโยงอัตลักษณ์ของอาหารท้องถิ่น ผลิตออกมาหลักๆ 4 รสชาติ ได้แก่ รสข้าวยำ และรสผักใบเหลียง ที่โชว์เอกลักษณ์ของภาคใต้ และยังมีรสอาหารไทยยอดนิยมอย่าง รสต้มยำ และรสผัดกะเพราอีกด้วย” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาใส่อวนฯ เล่า ก่อนลงลึกถึงก้าวต่อไปว่า ตั้งใจจะพัฒนาสูตรและปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ที่สามารถส่งออกต่างประเทศได้ และกำลังอยู่ในช่วงทดลองสูตรข้าวเกรียบที่ทำจากกระดูกสันหลังปลา โดยจะใช้น้ำมันรำข้าวในการทอดด้วยเครื่องทอดระบบสุญญากาศ เพื่อตอบโจทย์คนรักสุขภาพและสามารถอุ่นร้อนในไมโครเวฟได้

จากการพัฒนาปรับปรุงสูตรและรูปแบบผลิตภัณฑ์ส่งผลให้สินค้าจาก ‘ปลาใส่อวน’ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาใส่อวนนั้นเป็น 1 ใน 11 ผลิตภัณฑ์ OTOP ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้รับรางวัลการันตีจากกระทรวงสาธารณสุข เดินสายออกบูธตามงานอีเวนต์และออกรายการโทรทัศน์หลายช่อง รวมไปถึงได้ยกระดับรายได้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการปลาใส่อวนมากกว่าร้อยละ 15 และเพิ่มอัตราการจ้างงานขึ้นไม่น้อยกว่า 20%

วัตถุดิบประกอบอาหารการเลี้ยงไก่

ตู้ฟักไข่ไอโอที โปรแกรมให้อาหาร ‘ไก่พื้นเมือง’

แก้หลากปัญหา ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน

อีกหนึ่งนวัตกรรมน่าสนใจ ยกให้ กลุ่มเกษตรกรบ้านวังฆ้องพัฒนา ตำบลสามตำบล อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา-ปาล์มน้ำมัน ทำนา และเลี้ยงไก่พื้นเมืองเป็นอาชีพเสริมรายได้ แต่เนื่องจากทางกลุ่มประสบปัญหาอัตราการเจริญเติบโตของไก่พื้นเมืองค่อนข้างช้า คุณภาพซากไม่สม่ำเสมอ ทางทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นำโดย ดร.ณปภัช ช่วยชูหนู นักวิชาการด้านสัตวศาสตร์ จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช จึงนำ ‘เทคโนโลยีอาหารและโปรแกรมอาหารสำหรับไก่พื้นเมือง’ ที่ได้รับทุนการสนับสนุนจาก บพท. ตั้งแต่ปี 2563 มาเผยแพร่ข้อมูลและเข้ามาช่วยเหลือ สำหรับการพัฒนาพันธุ์ไก่พื้นเมืองลูกผสม ภายใต้ชื่อ ‘ไก่ขาวดอกแค’ ซึ่งเป็นไก่ทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภค โดยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์จากไก่ศรีวิชัย ซึ่งเป็นไก่พื้นเมืองภาคใต้

“ช่วงเวลานั้นปัญหาที่เจอคือการเพาะพันธุ์ค่อนข้างช้า ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทางทีมนักวิจัยจาก มทร. ศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ได้พัฒนาคิดค้นเทคโนโลยีพร้อมใช้นวัตกรรมตู้ฟักไข่ไอโอที และโปรแกรมการให้อาหาร โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการคิดค้นและนำนวัตกรรมนี้มาใช้ส่งผลให้ มีการขยายศักยภาพการเพาะพันธุ์ลูกไก่ดำบ้านเขาหลักจาก 40% เพิ่มขึ้นมากกว่า 90% และเพียงพอสำหรับการจำหน่าย

ผลิตภัณฑ์ไซรัปคาราเมลจากน้ำตาลมะพร้าว, ลูกจาก, น้ำตาลโตนด

ต่อมาในปี 2565 มทร.ได้รับจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ประเภททุนวิจัยพื้นฐานเพื่อดำเนินงานวิจัยเรื่อง ศักยภาพการผลิตและการตลาดของไก่พื้นเมืองลูกผสม

การเลี้ยงไก่พื้นเมือง สิ่งที่สำคัญที่สุดและมีผลต่อการเติบโตของไก่ คือ อาหาร การจัดการเรื่องอาหารหากดำเนินการไม่ตรงกับความต้องการโภชนาการของไก่แต่ละช่วงอายุจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพซาก ดังนั้น จุดประสงค์หลักของการพัฒนา ‘เทคโนโลยีอาหารและโปรแกรมอาหารสำหรับไก่พื้นเมือง’ คือการทำให้เกษตรกรเข้าใจชนิดของอาหาร ส่วนผสมสำหรับการประกอบอาหาร และการให้อาหารตรงกับความต้องการในแต่ละช่วงอายุ การนำวัตถุดิบอาหารในท้องถิ่นมาใช้โดยประยุกต์ความรู้ทางวิชาการให้สอดคล้องกับองค์ความรู้เดิมของเกษตรกร” ดร.ณปภัชกล่าว

ปรีดา ขุนรัง หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรอำเภอจุฬาภรณ์ วัย 63 ปี เผยถึงความสำเร็จของการเข้ามาร่วมโครงการวิจัยกับทาง มทร. ว่า หลังจากทีม ดร.ณปภัช เข้ามาช่วยให้ความรู้ เรื่องโปรแกรมอาหารในการเลี้ยงไก่พื้นเมืองแต่ละช่วงอายุ และมีกรมปศุสัตว์ช่วยเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ ก็สามารถจัดการบริหารอาหารให้ไก่ในโรงเรือนได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพซากที่ดีเป็นที่ต้องการของตลาด สามารถลดระยะเวลาเลี้ยง จาก 20-18 สัปดาห์ เหลือ เพียง 16 สัปดาห์ และช่วยกระจายรายได้ให้ชาวบ้านทั่วถึงมากขึ้น
มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น

“ในอนาคตอยากเลี้ยงไก่ขาวดอกแคเฉลี่ยเดือนละ 200 ตัว และเพียงพอต่อตลาด ตอนนี้กำลังใจเต็มเปี่ยมและมีความตั้งใจเต็มร้อย” ปรีดากล่าว

นอกจากนี้ นวัตกรรมที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีอีกหลากหลายนวัตกรรมชุมชนที่น่าสนใจและเป็นที่น่าจับตา อาทิ นวัตกรรม ‘ไซรัปคาราเมลจากน้ำตาลมะพร้าว/ลูกจาก/น้ำตาลโตนด’ ดำเนินการโดย ผศ.ปุญญาเพชร เตชเพชรธรักษ์ มีจุดขายสำคัญคือสามารถเป็นสารให้ความหวานทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพได้และมีดัชนีค่าน้ำตาลต่ำ (Low GI)

สำหรับงานเทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน ประจำปี 2567 ครั้งต่อไปจัดที่ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ วันที่ 21 พ.ค. และปิดท้ายที่ภาคกลางที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 24 พ.ค.นี้

‘หลาด YIP’ ทุ่งสง สะท้อนงานวิจัย

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจรากฐานด้วยทุนวัฒนธรรม

นอกจากสินค้าเกษตร อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์โชว์ความเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้คือ ‘เครื่องประดับจากลูกปัดมโนราห์’ มีจำหน่ายที่ ‘หลาด YIP’ อำเภอทุ่งสง ตลาดที่เน้นผู้ประกอบการชาวบ้านนำสินค้าท้องถิ่นทำมือและอาหารที่ทำจากวัตถุดิบท้องถิ่นมาขาย โดยตลาดแห่งนี้จะมีเฉพาะวันพุธ เป็นการรวมตัวของเทศบาลเมืองทุ่งสงและกลุ่มประชาคมสร้างสรรค์จัดขึ้นเพื่อคาดหวังการเกิดรายได้ภายในท้องถิ่น และเป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตการท่องเที่ยวเมืองทุ่งสง อย่างไรก็ตาม ยังต้องการพัฒนาและปรับเปลี่ยนแนวทางเพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นแต่ยังอิงความตั้งใจแรกที่อยากให้เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นและวัฒนธรรมใหม่ รวมไปถึงการหล่อเลี้ยงรายได้ให้กับชุมชนชาวทุ่งสง

‘เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยที่ยั่งยืน 2567’ นับเป็นงานที่ช่วยจุดประกายความคิดให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ แก่ชุมชนและสังคม ได้รับชมนวัตกรรมใหม่ๆ ที่พร้อมใช้ที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและนำมาสู่การจัดการปัญหาสำคัญในชุมชน และการสร้างโอกาสใหม่ในชุมชนหรือพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้มีทางเลือกในการแก้ไขต้นตอของปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้าและปรับเปลี่ยนให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

บีม คณะโจทย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image