ชวนเที่ยว ‘มะละกา’ จากเมืองท่านานาชาติ…สู่ ‘มรดกโลก’

ชวนเที่ยว ‘มะละกา’ จากเมืองท่านานาชาติ...สู่ ‘มรดกโลก’
จัตุรัสดัตช์สแควร์

ชวนเที่ยว ‘มะละกา’ จากเมืองท่านานาชาติ…สู่ ‘มรดกโลก’

ปลายปีที่แล้วทางมติชนทัวร์ได้จัดไปเที่ยวเมืองจอร์จทาวน์ที่เกาะปีนังกันมาแล้ว ขึ้นเป็น “มรดกโลก” พร้อมกันกับ “มะละกา”

“มะละกา” จึงเป็นเมืองมรดกโลกต่อไปที่มติชนทัวร์ โดยศูนย์ข้อมูลมติชน จะพาไป

ชมเมืองและฟังเรื่องความสำคัญของเมืองท่าแห่งนี้ต่อจาก เมืองจอร์จทาวน์ สหพันธรัฐมาเลเซีย หรือประเทศมาเลเซีย ถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความน่าสนใจอย่างมาก นอกจากจะเป็นแหล่งรวมของพหุวัฒนธรรมที่หลากหลาย ตลอดจนมีมนต์เสน่ห์ชวนสัมผัสทุกคราวที่ได้ไปเยือน ทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของผู้คนที่มีความแตกต่างแต่กลับลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ และเพื่อเรียนรู้เรื่องราวที่ทรงคุณค่านี้ จึงได้จัดทริป “มะละกา” จากเมืองท่านานาชาติ…สู่มรดกโลก ในวันที่ 21-23 มิถุนายน 2567 นำเที่ยวและเติมเต็มความรู้โดย รศ.ดร.ศุภการ สิริไพศาล ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเล และวัฒนธรรมเปอร์รานากันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ADVERTISMENT

ทำไมต้อง ‘มะละกา’?

มะละกาเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีอายุกว่า 600 ปี และถือเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน ตลอดช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เมืองแห่งนี้ผ่านการเดินทางมาแล้วในหลายมิติจากรุ่งโรจน์สู่ร่วงโรย ตั้งแต่การก่อร่างสร้างเมือง การผูกสัมพันธ์กับดินแดนมหาอำนาจจากโพ้นทะเลอย่างจีน การเติบโตจากความไพบูลย์ทางการค้า การเข้ามาของศาสนาอิสลาม กระทั่งตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกอย่างต่อเนื่อง ทั้งโปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ แต่นี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้นครประวัติศาสตร์แห่งนี้เป็นดั่งแม่เหล็กที่คอยดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาอย่างไม่ขาดสาย

ADVERTISMENT

โดยก่อนที่จะไปเดินทางไปชมและสัมผัสกับสถานที่จริง มติชนทัวร์ขอนำข้อมูลของย่านไฮไลต์ต่างๆ ในมะละกา มาพอสังเขป เพื่อเพิ่มอรรถรสในการท่องเที่ยวครั้งนี้

ย่านภูเขาซำปอกง หรือบูกิต ไชน่า กับเรื่องราวของ ‘เจิ้งเหอ’

ศาลเจ้าซำปอกง ที่เชิงเขาซำปอกง หรือบูกิต ไชน่า

ย่านนี้อยู่ห่างจากเมืองเก่าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปราว 1 กิโลเมตร มีภูเขาขนาดย่อมสูงประมาณ 148 เมตร ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้อันร่มรื่นเป็นแลนมาร์กสำคัญ โดยที่นี่เป็นที่ตั้งของ “ศาลเจ้าซำปอกง” ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึง “เจิ้งเหอ” หรือซำปอกง แม่ทัพขันทีชื่อก้องโลกผู้เป็นที่เคารพสักการะของชาวจีนโพ้นทะเลมาจนถึงปัจจุบัน โดยการออกสมุทรยาตราของเขาได้ทำการแวะจอดเรือที่มะละกาถึง 6 ครั้ง แอบกระซิบว่ามีครั้งนึงที่มีเรื่องเล่าว่า เจิ้งเหอได้มาเคลียร์ความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดีนักระหว่างมะละกาและอยุธยา
อีกทั้งยังมีตำนานพื้นบ้านเกี่ยวกับ “เจ้าหญิงฮังลิโป” ธิดาของจักรพรรดิจีน ได้เดินทางมาอภิเษกสมรสกับสุลต่านแห่งมะละกา ที่ดูไปดูมาก็มีความคล้ายกับตำนานเจ้าแม่สร้อยดอกหมากอยู่ไม่น้อย แต่จะอย่างไรก็ตามตำนานนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมะละกาและราชสำนักจีนได้เป็นอย่างดี

บรรยากาศบนถนนยองเกอร์ (ภาพจาก : wikipedia)

ย่านเนินเขาเซนต์ปอล กลิ่นอายแห่งคืนวันอันรุ่งโรจน์

บริเวณเนินเขาเซนต์ปอล หรือเนินเขามะละกานั้น นับเป็นจุดศูนย์กลางของความเจริญของมะละกามากว่า 400 ปี ตั้งแต่สมัยเจ้าชายปรเมศวรก่อร่างสร้างเมือง ต่อเนื่องจนถึงสมัยที่โปรตุเกสและฮอลันดาได้ปกครองที่นี่ ทำให้บริเวณนี้ยังคงหลงเหลือมรดกทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นพระราชวังสุลต่านมะละกา ที่ปัจจุบันได้ถูกสร้างขึ้นใหม่บนพื้นที่เดิมด้วยสถาปัตยกรรมแบบมลายูพื้นเมือง หรือ โบสถ์เซนต์ปอล ที่สร้างขึ้น 10 ปีหลังจากที่โปรตุเกสเข้ายึดครองมะละกา โดยคณะบาทหลวงเยซูอิต และป้อมประตูซานติเอโก ซึ่งเดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของป้อมขนาดใหญ่นามว่าลาฟาโมซา เพื่อเป็นที่อยู่ของชาวโปรตุเกสที่เข้ามาแสวงโชคในดินแดนแห่งนี้

นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์การเดินเรือทะเล ที่สร้างจำลองขึ้นตามแบบเรือฟลอราเดอลามาร์ ของอัลฟอนโซ อัลบูเกิร์ก อุปราชของโปรตุเกสประจำอินเดีย ผู้สามารถยึดครองมะละกาได้สำเร็จ และตึกอนุสรณ์การประกาศเอกราช ที่แต่เดิมเป็น “มะละกาคลับ” สถานที่สำหรับพบปะสังสรรค์ของชนชั้นสูงในยุคที่อังกฤษปกครอง ซึ่งต่อมาได้รับคัดเลือกให้เป็นสถานที่ประกาศเอกราชของประเทศมาเลเซีย เมื่อปี ค.ศ.1957

ย่านจัตุรัสดัตช์สแควร์ แลนด์มาร์ก ‘สีแดง’ แห่งมะละกา

บริเวณนี้เดิมเป็นศูนย์กลางการปกครองของฮอลันดา ก่อนที่ปัจจุบันจะกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างไม่ขาดสาย นอกจากจะโดดเด่นด้วยบรรดาอาคารสีแดงสดทั่วทุกตารางนิ้วแล้ว บริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อาทิ โบสถ์คริสต์มะละกา ที่สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ในวาระการปกครองมะละกาครบ 1 ศตวรรษ ของฮอลันดาแล้ว ยังมีลานสวนหย่อมที่กลางลานมีเสาน้ำพุหินอ่อนที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 65 ปี ของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียแห่งอังกฤษ รวมทั้งหอนาฬิกาสีแดงที่ช่วยสร้างความงามที่ลงตัวให้กับจัตุรัสแห่งนี้

นอกจากนี้ยังมีอาคารที่เคยใช้เป็นศูนย์บัญชาการและบ้านพักของผู้ปกครองชาวฮอลันดา หรือที่เรียกว่า สแตดฮายส์ หรือ สแตดฮุยส์ (Stadthuys) ซึ่งปัจจุบันได้ถูกปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และชนชาติประจำเมืองมะละกา ที่ภายในเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองตลอดจนวัฒนธรรมและประเพณีของชนชาติต่างๆ ในมะละกา

ย่านถนนสายวัฒนธรรม ชิโน-โปรตุกีส

ถือเป็นย่านที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยว ด้วยเสน่ห์ที่โดดเด่นของวัฒนธรรมแบบเปอร์รานากัน หรือชาวจีนบ้าบ๋าและย่าหยาแล้ว ยังมีบรรดาอาคารเก่าแก่ศิลปะแบบชิโน-โปรตุกีสที่เรียงรายอยู่บนสองฟากฝั่งถนนสายวัฒนธรรมทั้งสามสาย ได้แก่ ถนนตนตันเชงล็อก ถนนฮังเจบัต และถนนโตกง

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวบ้าบ๋าและย่าหยา (ภาพจาก : wikipedia)

สิ่งที่น่าสนใจในย่านนี้คือพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวบ้าบ๋าและย่าหยา ที่สร้างโดยคหบดีชานเชงชิว ในปี ค.ศ.1898 มีลักษณะเป็นตึกแบบชิโน-โปรตุกีสที่ยังคงอนุรักษ์แบบแผนบ้าน เฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ที่มีอายุกว่าร้อยปีไว้ได้อย่างครบถ้วน ตามแบบวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวจีนบ้าบ๋าและย่าหยาที่ผสมผสานทั้งความเป็นจีน ฝรั่ง และท้องถิ่นได้อย่างลงตัว อีกทั้งย่านนี้ยังมีศาลเจ้าเช็งฮุนเต็ง ศาลเจ้าเก่าแก่และสวยงามที่สุดในคาบสมทุรมลายู มัสยิดกัมปุงคลิง ศาสนสถานอันเก่าแก่ที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันออกกับตะวันตกได้อย่างกลมกลืน และวัดศรีโพยาธา วินยาการ์ มูรติ วัดฮินดูแห่งแรกของมะละกา ที่สร้างในสมัยที่ฮอลันดาปกครองที่นี่

ทั้งหมดนี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงพหุวัฒนธรรมอันหลากหลายที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว อันเป็นเสน่ห์ที่ไม่เคยจางหายไปของ “มะละกา” อดีตเมืองท่าการค้าสู่เมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ที่สายลมตะวันตกมาพบตะวันออก ณ ที่แห่งนี้

ศูนย์ข้อมูลมติชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image