เปิดแผน ‘ป่อเต็กตึ๊ง’ 67ต่อยอด ‘ช่วย-รักษา-สร้าง (ชีวิต)’ ผุดมหาโปรเจ็กต์ศาลเจ้าไต้ฮงกง
แม้กาลเวลาจะผ่านมายาวนาน แต่ความศรัทธาที่สืบทอดตามความเชื่อที่มีต่อ ‘หลวงปู่ไต้ฮงกง’ ยังคงได้รับการกล่าวขานในประเทศไทย ผู้เปรียบเสมือนนักบุญช่วยเหลือชาวบ้านผู้ยากไร้ และศพไร้ญาติ
นับเป็นเวลากว่า 115 ปี ที่ ศาลเจ้าไต้ฮงกง ซึ่งเป็นศาลเจ้าแห่งแรกในประเทศไทยย่านพลับพลาไชย เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจที่ผู้คนต่างแวะเวียนมาสักการะกราบไหว้ไม่เคยขาดสาย และถือเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง’ ที่สืบสานต่อปณิธานของหลวงปู่ไต้ฮงกงผ่านรูปแบบการช่วยเหลือสังคมสงเคราะห์ทุกรูปแบบ งานสาธารณกุศลและการจัดการศพไร้ญาติ ซึ่งสอดคล้องกับจริยวัตรอันงดงามที่เป็นแบบอย่างของการช่วยเหลือผู้คน ให้แก่มูลนิธิฯในปัจจุบัน

‘มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง’ องค์กรสาธารณกุศล เอกชนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ ถนนพลับพลาไชย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ที่มุ่งมั่นตั้งใจ บรรเทาทุกข์ บำรุงสุขโดยไม่เลือกชนชั้น วรรณะ และศาสนาอย่างครบวงจรชีวิต ภายใต้ปณิธาน ‘ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต’ มานานกว่า 114 ปี ด้วยพลังศรัทธาของมูลนิธิฯที่เดินตามรอยคุณงามความดีของหลวงพ่อปู่ไต้ฮงกงมายาวนาน และดูแล ‘ศาลเจ้าไต้ฮงกง’ ย่านพลับพลาไชย ที่ชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนต่างรู้จักกันดี ในปี 2564 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกับศิษยานุศิษย์และสาธุชนที่ศรัทธาในหลวงปู่ไต้ฮงกง ร่วมบุญก่อสร้างมหาโครงการ ศาลเจ้าไต้ฮงกง แห่งใหม่ย่านสาทร ซึ่งจะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ในด้านกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมเพื่อสังคม รวมทั้งสืบสานพลังศรัทธาของการทำความดี ตอบแทนคุณแผ่นดิน อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ล่าสุด มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย วิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พร้อมด้วย คณะกรรมการมูลนิธิฯ จัดงานแถลงผลการดำเนินงานปี 2566 และเป้าหมายนโยบายเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ปี 2567 ภายใต้ปณิธาน “ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต” รวมถึงแถลงความคืบหน้าในรอบหลายปีของการก่อสร้าง ‘ศาลเจ้าไต้ฮงกง (สาทร)’ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมใหญ่ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พร้อมเผยภาพองค์ไต้ฮงกงหินหยกขาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ได้ไปประดิษฐานภายในศาลเจ้าแห่งใหม่
ตลอดปี’66 ‘ป่อเต็กตึ้ง’ ช่วยคนนับล้าน
เปิดการประชุมด้วยการแถลงผลประกอบการที่มูลนิธิฯเดินหน้าช่วยเหลือสังคมมาตลอดปี 2566
ศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เผยว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนไป ไม่ต่ำกว่า 1.1 ล้านคน รวมงบประมาณ 501,469,876.26 บาท (ห้าร้อยหนึ่งล้านสี่แสนหกหมื่นเก้าพันแปดร้อยเจ็ดสิบหกบาทยี่สิบหกสตางค์) โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่

ด้านการช่วยชีวิต มีหน่วยบรรเทาสาธารณภัยและฌาปนกิจสุสาน ที่คอยช่วยเหลือประชาชนในงาน กู้ชีพ กู้ภัย สนับสนุนงานนิติเวช และงานฌาปนกิจ รับแจ้งเหตุผ่าน สายด่วนและแอพพลิเคชั่น ป่อเต็กตึ๊ง 1418 มีอาสาสมัครไม่ต่ำกว่า 4,000 คน
สำหรับในด้านนี้กว่า 123 ล้านบาท มีผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งสิ้นจำนวน 503,289 คน
ด้านการรักษาชีวิต มีหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชนให้บริการตรวจรักษาประชาชนทั้งในเขต กรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงถิ่นทุรกันดาร และพร้อมสนับสนุนห้องผ่าตัด อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลที่ขาดแคลน รวมถึงช่วยเหลือผู้ป่วยรายได้น้อย ผู้ป่วยโรคไต ทั้งยังร่วมกับหน่วยงานในเครือ ได้แก่ โรงพยาบาลหัวเฉียว ให้บริการโดยศาสตร์การแพทย์แผนจีนแขนงต่างๆ อย่างครบวงจร รวมงบประมาณกว่า 119 ล้านบาท
ด้านการสร้างชีวิต มูลนิธิฯดำเนินโครงการกว่า 10 โครงการ โดยครอบคลุมด้านสังคมสงเคราะห์ การศึกษา และการประกอบอาชีพ ตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯได้เปิดโครงการคาราวานปันสุขให้ชุมชน ใน 50 เขตกรุงเทพฯ และยังได้ร่วมกับภาครัฐ ในโครงการแก้ปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน ช่วยเหลือครัวเรือนยากจน, โครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสตรี ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่สตรีที่มีรายได้น้อยที่ต้องดูแลคนในครอบครัว แม่เลี้ยงเดี่ยว หรือด้อยโอกาสทางสังคม นอกจากนี้ ยังมีโครงการ “เล่นสนุกกับภาษาจีนกันเถอะ” ร่วมกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เปิดสอนภาษาจีนให้เยาวชนที่สนใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมงบประมาณการสร้างชีวิตและดำเนินงานกว่า 258 ล้านบาท และมีผู้ได้รับการสงเคราะห์จำนวน 613, 653 คน
สานต่อนโยบายชิงรุกต่อเนื่อง ปี ’67
ในส่วนการดำเนินเป้าหมายการดำเนินงานของมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง ปี 2567ศิริกุลกล่าวว่า จะยังคงเดินหน้า ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ บำรุงสุขแก่ทุกชีวิตที่ตกทุกข์ได้ยาก รวมถึงมุ่งมั่นพัฒนา และขยายขอบข่ายการดำเนินงาน เพื่อให้เป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ให้ความช่วยเหลือสังคมและเป็นที่พึ่งของประชาชน อย่างครบวงจรชีวิตภายใต้ปณิธาน “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต” ต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

‘ศาลเจ้าไต้ฮงกง (สาทร)’
พลังศรัทธาแห่งใหม่ใจกลางกรุง
ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2439 ชาวจีนแต้จิ๋วนาม ‘นายเบ๊ยุ่น’ ได้อัญเชิญรูปจำลองหลวงปู่ไต้ฮงกงมาพร้อมกับผู้อพยพชาวจีนคนอื่นๆ มายังประเทศไทย และประดิษฐานอยู่ที่ร้านกระจกย่านวัดเลียบ ซึ่งเมื่อผู้คนทราบต่างก็พากันมาสักการบูชาที่จำนวนมาก จนต้องย้ายไปประดิษฐานที่ สุสานวัดดอนกุศล (สุสานเก่าของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง) ช่วงนั้นเกิดโรคระบาดประชาชนต่างมากราบไหว้หลวงปู่ เพื่อช่วยให้คุ้มครองปลอดภัยและหายจากโรค ทำให้เกิดความศรัทธา และต่อมาในปี 2452-2453 พระอนุวัตร์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) ได้ร่วมกับพ่อค้าคหบดี รวม 12 ท่าน เห็นความสำคัญและประโยชน์แห่งกุศลเจตนาของผู้เลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่ไต้ฮง จึงจัดตั้ง คณะเก็บศพไต้ฮงกง ขึ้น พร้อมสร้างศาลเจ้าไต้ฮงกงขึ้นที่บริเวณถนนพลับพลาไชย กรุงเทพฯ เพื่อประดิษฐานองค์หลวงปู่ไต้ฮงและเมื่อศาลเจ้าไต้ฮงกงสร้างเสร็จสมบูรณ์ ได้อัญเชิญรูปจำลองของหลวงปู่ที่นายเบ๊ยุ่นนำมาจากประเทศจีนมาประดิษฐานไว้ที่ศาลเจ้าไต้ฮงกงแห่งนี้เป็นการถาวร
การก่อสร้างศาลเจ้าไต้ฮงกงแห่งที่ 2 ที่มีชื่อว่า ‘ศาลเจ้าไต้ฮงกง (สาทร)’ เป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์สำคัญที่ทางมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งภาคภูมิใจและอยากนำเสนอให้กับประชาชนทุกคนได้รู้จักมากขึ้น ซึ่งเป็นโครงการใหญ่และเป็นพุทธสถานใหม่อีกแห่งของประเทศไทย ตั้งอยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร บนพื้นที่ถนนเจริญราษฎร์ ซึ่งอยู่ระหว่างถนน (สาทร) กับถนนพระราม 3
วิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เล่าว่า เนื่องจากพื้นที่ของศาลเจ้าไต้ฮงกงปัจจุบันซึ่งตั้งอยู่ในถนนพลับพลาไชย เป็นพื้นที่เช่าและสิ่งสำคัญคือพื้นที่ค่อนข้างคับแคบเพียง 297 ตารางวาเศษเท่านั้น จึงเกรงว่าจะไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้มีจิตศรัทธาในหลวงปู่ไต้ฮงกงที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี และประกอบกับพื้นที่ย่านนั้นการจราจรค่อนข้างติดขัดตลอดวัน โดยเฉพาะเวลามีงานเทศกาลสำคัญทางศาสนา ดังนั้นทางคณะกรรมการมูลนิธิฯ จึงมีมติอนุมัติให้ดำเนินการจัดสร้างศาลเจ้าแห่งใหม่และประกอบกับที่ดินที่จะจัดสร้างเป็นของทางมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดยจัดสรรจำนวน 4 ไร่ กับ 17 ตารางวา อยู่ติดกับด้านหลังสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ซึ่งใหญ่กว่าเนื้อที่ปัจจุบันกว่า 5 เท่า
ในส่วนอาคารทั้งหมด เป็นการออกแบบร่วมกันโดยสถาปนิกชาวจีนตอนใต้และชาวใต้ ให้เป็นศาลเจ้าแห่งใหม่ใจกลางเมืองด้วยสถาปัตยกรรมจีนตอนใต้ฉบับแต้จิ๋ว ที่กว้างขวางโอ่โถง วิจิตรงดงามในทุกรายละเอียด พร้อมตกแต่งด้านหน้าด้วยสวนสวยงามเข้ากับบรรยากาศกับศาลเจ้า โดยประกอบไปด้วยอาคาร 2 หลัง พื้นที่รวม 11,588.12 ตารางเมตร แบ่งเป็นอาคารศาลเจ้า และอาคารอเนกประสงค์
อาคารศาลเจ้า สูง 2 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นโถงพักคอย รองรับประชาชนที่มาสักการบูชาหลวงปู่ไต้ฮงกงชั้นที่ 2 เป็นศาลเจ้าไต้ฮงกง ประดิษฐานองค์ไต้ฮงกงหยกขาวแกะสลักขนาดใหญ่ แท่นบูชาด้านซ้ายและขวา ประดิษฐานองค์พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (กวนอิมผ่อสัก) และพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ (ตี่จั๋งอ้วงผ่อสัก) ชึ่งจะขึ้นประดิษฐานภายในศาลเจ้าพร้อมกัน พร้อมด้วยเทพเจ้าสำคัญของจีนอีก 8 องค์ พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ที่จอดรถใต้ดินที่สามารถขึ้นสู่อาคารศาลเจ้าทั้งทางบันไดและลิฟต์ และเพิ่มการก่อสร้างอาคารจอดรถ ที่สามารถรองรับสูงสุดได้ 200 คัน เพื่อรองรับสาธุชนทุกเพศทุกวัย
ส่วน อาคารอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ จะเป็นอาคารรองรับห้องรับบริจาคเงิน ห้องรับรอง และห้องน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับประชาชนที่เข้ามากราบไหว้สักการะองค์ไต้ฮงกงและจัดกิจกรรมการกุศลต่างๆ
ทุกๆ การตกแต่งภายในศาลเจ้า เป็นการรวบรวมงานศิลปะ ประติมากรรมหินแกะสลัก ที่สร้างสรรค์โดยศิลปินที่มือชื่อเสียงในประเทศจีนมาจัดแสดงไว้ภายในศาลเจ้า ซึ่งมีทั้งเรื่องราวพุทธประวัติของ หลวงปู่ไต้ฮงกง และเทพเจ้าต่างๆ โดยอาคารทุกหลังติดตั้งสาธารณูปโภค ระบบปรับอากาศ และระบบอัคคีภัยอย่างครบถ้วนตามมาตรฐาน
“ศาลเจ้าไต้ฮงกงใหม่แห่งนี้ เป็นโครงการใหญ่และนับเป็นประวัติศาสตร์แห่งการรวมพลังศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ของหลวงปู่ไต้ฮงกง และพร้อมเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่บนถนนสาทรใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อให้บุคคลทั่วไปและนักท่องเที่ยวสายบุญจากทั่วโลกสามารถเดินทางมากราบสักการะหลวงปู่ไต้ฮงกงที่ประเทศไทยได้อย่างสะดวกและปลอดภัย” วิเชียรกล่าว

พร้อม 90% เตรียมเปิดเอาใจ ‘สายมู’
ทันเทศกาลตรุษจีนปี’68
การดำเนินงานก่อสร้างศาลเจ้าไต้ฮงกงแห่งใหม่นี้ มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง เริ่มพิธีวางศิลาฤกษ์และลงเสาเอกสร้างศาลเจ้าไต้ฮงกง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง แห่งที่ 2 ภายใต้ชื่อ ‘ศาลเจ้าไต้ฮงกง (สาทร)’ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เวลา 11.10 น. บริเวณด้านหลังสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนเจริญราษฎร์ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยวางกำหนดระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปี และจะเป็นพุทธสถานที่ ประดิษฐานองค์ไต้ฮงกงหินหยกขาวแกะสลักขนาดใหญ่ น้ำหนัก 50 ตัน ความสูง 3 เมตร ฐานหน้า ตักกว้าง 2.60 เมตร ตั้งบนฐานหยกขาวซึ่งสลักจากหินหยกขาวก้อนเดียวกันจากประเทศจีน ฐานหยกขาวสูงจากพื้น 1.20 เมตร รวมองค์ไต้ฮงกงและฐานตั้ง มีความสูงรวม 4.20 เมตร นับเป็นองค์ไต้ฮงกงหินหยกขาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดย อุทิศ ชัยลือกิจ หรือฉั่วเตาะเม้ง นักธุรกิจชาวจีนที่กำเนิดในประเทศไทยเป็น
ผู้จัดสร้างและบริจาคให้แก่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
ภายในงานแถลงข่าวทางมูลนิธิฯได้มีการจัดนิทรรศการแสดงองค์ปู่ไต้ฮงกงหินหยกขาวจำลองให้กับประชาชนทั่วไปได้ยลโฉม ภายในบริเวณอาคารมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งอีกด้วย
ปัจจุบันดำเนินงานก่อสร้างคืบหน้าแล้วเสร็จทั้งในด้านงานก่อสร้างตัวอาคารหลัก งานโครงสร้างอาคาร งานสถาปัตยกรรม และงานระบบวิศวกรรม มากกว่า 90% เหลือเพียงการเก็บรายละเอียดและคาดว่าจะเสร็จและพร้อมเปิดให้สาธุชนสายบุญเข้าสักการะก่อนเทศกาลตรุษจีนประจำปี 2568
ในส่วนทุนงบประมาณการสร้างศาลเจ้าแห่งใหม่ ทางมูลนิธิฯจะนำมาจากกองทุนจากการเปิดรับบริจาคสำหรับการสร้างศาลเจ้าแห่งใหม่เท่านั้นจากผู้ที่มีจิตศรัทธาในปู่ไต้ฮงกง โดยไม่ใช้จากงบสังคมสงเคราะห์ทั่วไปสักบาท โดยใช้งบประมาณจัดสร้างศาลเจ้าแห่งใหม่นี้กว่า 1,000 ล้านบาท
“ครั้งเดียวในชีวิต ไหนๆ จะสร้างทั้งที เราต้องทำให้เต็มที่และตอนนี้มีผู้จิตศรัทธาเข้ามาบริจาคอย่างต่อเนื่อง ผมอยากให้ทุกท่านสบายใจได้ว่า ทางมูลนิธิฯได้แยกกองทุนชัดเจน โดยกองทุนบริจาคสำหรับการสร้างศาลเจ้าแห่งใหม่เป็นกองทุนเฉพาะกิจซึ่งจะแยกส่วนคนละกองกับกองทุนสำหรับสังคมสงเคราะห์ทั่วไป” วิเชียรกล่าว
ทั้งนี้ ศาลเจ้าไต้ฮงกง (สาทร) จะกลายเป็นศูนย์รวมความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ พร้อมเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของมูลนิธิฯในด้านกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมเพื่อสังคม
สำหรับผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญก่อสร้าง ‘ศาลเจ้าไต้ฮงกง (สาทร) ร่วมบุญได้ที่ บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาพลับพลาไชย เลขที่ 001-472515-4 ชื่อบัญชี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0-2225-0020 ต่อ 366 ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง / POH TECK TUNG FOUNDATION
บีม คณะโจทย์