นายก อบจ.คนแรกของบึงกาฬ ‘นิพนธ์ คนขยัน’ บทบาทผู้นำแปรรูปยางภาคอีสาน

เป็นผู้นำท้องถิ่นที่เน้นประโยชน์ของชาวบ้านสำคัญที่สุด นับตั้งแต่ก่อตั้ง “บึงกาฬ” เป็นจังหวัดน้องใหม่ลำดับที่ 77 ของประเทศไทย จนถึงปัจจุบันก็ยังมุ่งมั่นขจัดปัญหาปากท้องของประชาชน

และล่าสุดกับการผลักดันก่อตั้งโรงงานแปรรูปยางพารา เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

กำลังพูดถึงผู้นำท้องถิ่น ที่ชาวบึงกาฬรู้จักกันดี นิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ หนึ่งในผู้ส่งเสริมและผลักดันเรื่องยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ

การทำงานของเขามาจากความเข้าใจชาวบ้านและเน้นเรื่องความใกล้ชิดเป็นหลัก ทำให้มองเห็นปัญหาได้ชัดเจนและแก้ไขได้อย่างตรงจุด ซึ่งทั้งหมดมาจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิต

Advertisement

มีโอกาสได้พูดคุยกับ นายกฯนิพนธ์ แบบเจาะลึกถึงเรื่องราวชีวิต แบบที่ใครหลายคนอาจจะนึกไม่ถึง

นิพนธ์ เกิดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2502 ในพื้นที่อำเภอพรเจริญ จังหวัดหนองคาย ซึ่งปัจจุบันอำเภอพรเจริญ เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดบึงกาฬ ชีวิตของเขาไม่ได้สุขสบายมาตั้งแต่เกิด ครอบครัวมีอาชีพทำนา พี่น้องทั้ง 8 ก็ต้องช่วยทำนาตั้งแต่เด็ก แต่ละปีได้เงิน 20,000 บาท

ในตอนที่นิพนธ์อายุ 12 ปี พ่อซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นถูกกลุ่มคอมมิวนิสต์ยิงเสียชีวิตพร้อมกับพี่ชาย ทำให้เขาไม่ได้เรียนหนังสือต่อ หลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนชุมชนบ้านโคกอุดม ก็มาช่วยทำนา สลับกับรับจ้างใช้แรงงานไปเรื่อยๆ

Advertisement

“ทำงานรับจ้างตั้งแต่อายุ 14-15 ปี ทั้งในโรงงานเหล็ก รับจ้างแบกเหล็กในกรุงเทพฯ ลงเรืออวนดำที่ชุมพร ได้เงินเดือนละประมาณ 700 บาท เสร็จแล้วก็กลับมาทำนา จนโตเป็นหนุ่ม จนปี 2523 จับสลากได้ใบแดง เป็นทหารเกณฑ์ผลัดสอง กองบิน 23 อุดรธานี เป็นทหารได้ 2 ปี ก็ออกมาทำงานรับจ้างเหมือนเดิม”

แต่แล้วชีวิตของนิพนธ์ ก็ต้องพลิกผันอีกครั้ง เมื่อถูกหลอกไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์

“ตอนอายุ 23 ปีมีคนชักชวนไปทำงานต่างประเทศ บอกว่าเงินดี แต่พอไปถึงงานไม่ได้เป็นแบบที่คุยไว้ คนที่พาไปเขาหนีไป ลอยแพเราไว้พร้อมกับคนที่ถูกหลอกมาด้วยกันอีก 9 คน พูดภาษาเขาก็ไม่ได้ เลยต้องทำงานเก็บเศษเหล็กที่นั่น เก็บจนเล็บกุดหมด ทำอยู่ 2 ปี ก็เก็บเงินกลับมาประเทศไทย”

การโดนหลอกครั้งนี้ทำให้ นิพนธ์ ฝังใจไม่อยากให้มีคนโดนหลอกอีก

พอกลับถึงบ้านเกิดที่ประเทศไทย เป็นจังหวะที่ไม่มีผู้ใหญ่บ้าน คนในหมู่บ้านก็ยกให้ นิพนธ์ เป็นโดยไม่มีคู่แข่ง

“ตอนเป็นหนุ่ม ผมไม่ชอบคนโดนรังแก เวลามีผู้มีอำนาจมาเอาเปรียบชาวบ้านผมจะปะทะกับคนพวกนั้นตลอด นิสัยของผมไม่ชอบให้ใครมารังแกใคร ทุกคนเลยอยากให้เราเป็นผู้ใหญ่บ้านเพื่อดูแลชาวบ้านได้”

จากนั้นเดือนต่อมากำนันเกษียณอายุพอดี นิพนธ์ จึงขึ้นเป็นกำนันและทำหน้าที่นี้เป็นเวลา 14 ปี

แต่ระหว่างทำหน้าที่กำนัน เขายังแบ่งเวลามาให้กับการศึกษาด้วย ด้วยการเรียนต่อ กศน.ในวัย 30 ปี

“ได้รับการชักชวนจากครู กศน.ให้เรียนเราก็อยากหาประสบการณ์และความรู้เพิ่ม เลยเรียนจนจบมัธยมปลาย แล้วตอนอายุ 42 ปี ก็มาเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ถามว่าอายุมากไปสำหรับการเรียนไหม จริงๆ ก็ค่อนข้างมาก แต่สุดท้ายมองว่าการศึกษาไม่มีคำว่าสายก็เลยตัดสินใจเรียนจนจบ”

พอได้ปริญญาก็ตัดสินใจอย่างมุ่งมั่นที่จะเข้าสมัครเป็นผู้แทนราษฎร เพราะคิดว่าจะสามารถช่วยคนได้เยอะขึ้น

“แต่เขาไม่รับ เขาบอกว่าเราเป็นกำนันบ้านนอก”

นิพนธ์หัวเราะเบาๆ ก่อนเล่าย้อนว่า ในตอนนั้นเเม้ถูกปฏิเสธ ก็ยังกลับไปสมัครอีกหลายรอบ จนเขารับเพื่อให้เต็มนามจำนวน และไม่ได้ให้งบสนับสนุนมาเพราะคิดว่ายังไงก็ต้องสอบตกแน่ๆ

“แต่ปรากฏว่าผมสอบได้พื้นที่ จ.หนองคาย เขต 6 อำเภอพรเจริญ อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง แล้วตอนนั้นก็เป็น ประธานกรรมาธิการแรงงานด้วย เพราะผมไม่ชอบการเอาเปรียบโดยเฉพาะแรงงาน แล้วเราก็เคยโดนหลอกไปทำงานสิงคโปร์มาแล้ว พอมาทำหน้าที่นี้ก็จัดการหมดทุกคนที่เอาเปรียบคนงาน หรือเรื่องแรงงานถูกโกงค่าแรงผมทำจนได้ค่าแรงคืน”

เป็นประสบการณ์การทำงานของนิพนธ์ ก่อนจะมีการยุบสภา และไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎรอีก แต่เส้นทางชีวิตทางการเมืองของนิพนธ์ไม่ได้หยุดนิ่ง

เมื่อการประกาศจัดตั้ง “จังหวัดบึงกาฬ” ขึ้นโดยแยกออกจากจังหวัดหนองคาย นิพนธ์ เข้ามาสมัครเป็นนายก อบจ.และได้รับเลือกจากประชาชนอย่างท่วมท้น

จนถึงปัจจุบัน “นายกนิพนธ์” ยังทำงานเพื่อชาวบึงกาฬอย่างต่อเนื่อง

3Q2A5053

– เป็นนายก อบจ.บึงกาฬ คนแรกรู้สึกกดดันไหม?

ไม่เลยครับ ตอนนั้นคิดแค่ว่าจะพัฒนาบึงกาฬ และมาเเก้ปัญหา คือคาดหวังจากสิ่งที่เห็นตอนเป็นกำนัน เรื่องการเอารัดเอาเปรียบ เราเห็นแล้วว่าชีวิตชนบทเป็นยังไง มีความทุกข์ยากแค่ไหน แล้ววันหนึ่งเราจะพัฒนาบึงกาฬให้ได้

– เน้นเรื่องไหนเป็นพิเศษ?

นโยบายหลักของผมคือเรื่อง คน สิ่งแรกที่ต้องทำคือการพัฒนาคน พัฒนาเรื่องการศึกษา ส่วนการพัฒนาโครงสร้างหรือพัฒนาอื่นๆ เป็นสิ่งที่ต่อเนื่อง แต่ต้องถือว่าบึงกาฬ เป็นจังหวัดใหม่ สิ่งที่สำคัญคือ งบประมาณ ที่ผ่านมาเราได้งบน้อยมาก แต่ปีนี้ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ให้งบมาพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในการทำโรงงานทำหมอนและที่นอนจากยางพารา

– พัฒนาการของจังหวัดบึงกาฬที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?

นับจากวันก่อตั้งถึงวันนี้บึงกาฬพัฒนาต่อเนื่องอย่างก้าวกระโดด เพราะคนบึงกาฬมีวินัย คนบึงกาฬมีความเป็นมิตร สามารถแยกเรื่องการเมืองออก อย่างผมเป็นนายก อบจ. มีท้องถิ่น 59 แห่ง ทุกคนมีทีมการเมืองในระดับชาติของตัวเอง แต่ทุกคนร่วมมือกัน เป็นเพื่อนกันช่วยกันพัฒนาจังหวัด นี่เป็นสิ่งที่ทำให้จังหวัดบึงกาฬเดินหน้าได้เร็ว เพราะเราสามัคคี ส่วนเรื่องการเมืองหลักเก็บไว้ชกกันวันหน้า (หัวเราะ)

– ด้านเศรษฐกิจของจังหวัดเป็นอย่างไร?

ถ้าดูจากวันนี้ บึงกาฬ มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยางพารา มีการส่งเสริมและแปรรูป มีการก่อตั้งโรงงานผลิตหมอนยางพารา เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนที่นี่ลืมตาอ้าปากได้

– ยางพาราบึงกาฬ มีจุดเริ่มต้นอย่างไร?

จุดเริ่มต้นจาก พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ ชักชวนให้ชาวบึงกาฬปลูกยางพารา เมื่อประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว แต่ในวันแรกที่ท่านพินิจ มาชวนผมผมไม่กล้าปลูกเพราะกลัวจะไม่มีน้ำยาง แล้วตอนนั้นผมปลูกไม้ยูคาลิปตัสขายอยู่ คิดว่าปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลตัดขายก็ง่ายกว่า ซึ่งตอนนั้นชาวบึงกาฬส่วนใหญ่ก็จะปลูกไม้ยูคาลิปตัสขาย

ต่อมาก็มีกล้ายางจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เข้ามาอีก แต่ผมก็ยังไม่กล้าปลูก เลยไปหลอกให้สารวัตร ปลูกยางพารา บอกว่าให้ปลูกเป็นตัวอย่างให้ลูกบ้าน จากนั้นประมาณ 10 กว่าปีให้หลัง ยางรุ่นแรกเริ่มกรีดได้ สารวัตรรวยก่อนเลย (หัวเราะ)

– ช่วงไหนที่คนบึงกาฬเริ่มหันมาปลูกยางพารา?

พอคนที่ปลูกกลุ่มแรกๆ กรีดยางขายแล้วได้เงินเยอะ คนอื่นๆ เห็นก็อยากจะทำสวนยางบ้าง ผมเองก็โค่นต้นยูคาลิปตัส ปลูกยางพาราแทน (หัวเราะ)

แต่มาเยอะมากจริงๆ ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ให้ชาวอีสานปลูกยางพาราได้ แล้วก็มีการแจกกล้ายางฟรี ทำให้สวนยางผุดขึ้นมาเกือบครึ่งจังหวัดในคราวเดียว บึงกาฬเลยเป็นจังหวัดที่ปลูกยางพารามากที่สุดในภาคอีสาน

แต่ช่วงแรกคนบึงกาฬยังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องการปลูกยางพารา เห็นเขาปลูกก็ปลูกบ้าง แต่ละคนต้องการต้นยางเยอะเพราะมีกล้ายางแจก ก็ปลูกกันอย่างธรรมชาติ ต่อมามีทางกระทรวงเกษตรฯ สกย. เข้ามาช่วยแนะนำทั้งเรื่องพันธุ์ยางและวิธีการปลูกยาง การใส่ปุ๋ย มีการอบรม

– ปัจจุบันจังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ปลูกยางพาราเท่าไหร่?

ที่ขึ้นทะเบียน 8.9 แสนไร่ แต่ถ้ารวมที่ไม่ขึ้นทะเบียนด้วยมีมากกว่า 1 ล้านไร่ มีที่เปิดกรีดประมาณ 7 แสนไร่

– ช่วงไหนที่ยางพาราบึงกาฬรุ่งเรืองที่สุด?

ประมาณ 3-4 ปีก่อนครับ เป็นช่วงที่ยางพาราราคาพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท ทั้งจังหวัดลืมตาอ้าปากกันได้เลย แบบซื้อรถปิกอัพเหมือนซื้อจักรยาน

ช่วงนั้นรถยนต์ในบึงกาฬขายดิบขายดี เพราะทุกคนมีเงินหมด อย่างห้างสรรพสินค้ามาเปิดคนต่างจังหวัดหลายคนยังไม่เคยเห็นแล้วมีเงินในกระเป๋าอยู่ แค่วันเดียวไปขนซื้อของกันจนเกลี้ยงห้าง

– แล้วช่วงที่วิกฤตที่สุด?

ปีที่ผ่านมาเลยครับ ยางพาราเหลือกิโลกรัมละ 13 บาท ใครที่ผ่อนรถยนต์อยู่ก็เอารถไปคืน ทุกครอบครัวต้องดิ้นรนกันหมด ยิ่งคนมีลูกที่ต้องเรียนหนังสือ จากลูกเรียน 2 คนบ้าง บ้านต้องลดภาระด้วยการให้เรียนแค่คนเดียว และต้องลดค่าใช้จ่ายอะไรที่ฟุ่มเฟือยก็งดไปก่อน เป็นช่วงที่ลำบากมาก

เราในฐานะ อบจ.ก็เข้าไปให้กำลังใจเขาว่าเดี๋ยวจะส่งไปจีนนะ เดี๋ยวจะมีโรงงานแล้วนะ และแนะนำว่าวันนี้ต้องรัดเข็มขัดให้มากที่สุด ให้ลองปลูกผักกินเองจะได้ไม่ต้องซื้อ

– เพราะยางราคาตกเลยทำให้คิดเรื่องการตั้งโรง งานแปรรูปหรือเปล่า?

ส่วนหนึ่งครับ แต่ก่อนหน้านั้นเคยคุยกับ จาง เหยิน ประธานกรรมการและผู้จัดการใหญ่ บริษัท รับเบอร์วัลเลย์ กรุ๊ป จำกัด เขาบอกว่าสิ่งที่ยั่งยืนที่สุดคือต้องแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า

ทำให้เราผลักดันเรื่องการแปรรูปด้วยการตั้งโรงงานผลิตหมอนยางพารา ชุมชนสหกรณ์สวนยางจังหวัดบึงกาฬ ที่ อ.เซกา จ.บึงกาฬ แต่กว่าจะได้โรงงานนี้มา ใช้เวลานานกว่า 3-4 ปี คือคนเราพร้อมมาก ตลาดก็มีจีนรองรับ แต่ทั้งระบบราชการและระบบหาทุนมีความยากลำบากมาก กว่าจะคุยและทำความเข้าใจกันได้ เพราะเขากลัวว่ามันจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ต้องบอกว่าวันนี้เราต้องมองเรื่องการแปรรูป ต้องเป็นเจ้าของเองนะ เราต้องรวมพลังเพื่อให้เกษตรกรไทยอยู่รอดและเพื่ออนาคตของประเทศชาติ

แล้วในที่สุดตอนนี้มีโรงงานทำหมอนและที่นอนจากยางพาราแล้ว จะมีพิธีเปิดในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ เป็นโรงงานของประชาชน ที่จะช่วยให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้จริงๆ

ส่วนสาเหตุที่ทำโรงงานหมอนยางพาราเพราะมันเพิ่มมูลค่าได้เยอะ และเชื่อว่ามีตลาดรองรับ ตลาดแรกที่มองจริงๆ คือตลาดไทย มองง่ายๆ เลย แค่จังหวัดบึงกาฬ 400,000 คน ซื้อหมอนยางพาราคนละ 1 ใบ ก็ขายได้แล้ว 400,000 ใบแล้ว และตลาดที่ 2 คือตลาดประเทศจีนซึ่งมีความต้องการเยอะมาก

นอกจากนี้ ยังอยากจะทำล้อรถยนต์ ผมคิดตลอดเลยว่าอยากจะทำ แต่ก็อาจจะยังยากไป ยังไม่กล้าคิดไกลขนาดนั้น เลยมองว่าล้อรถจักรยาน ล้อจักรยานยนต์ และล้อรถอีแต๋น น่าจะทำได้ ซึ่งตรงนี้ถ้ารัฐบาลจะสนับสนุนสร้างโรงงานก็มีความเป็นไปได้ เริ่มต้นอาจจะขายคนในภาคอีสาน ซึ่งเขาใช้กันอยู่แล้ว ให้เขาได้ซื้อของถูกแต่มีคุณภาพ แล้วอนาคตก็อาจจะพัฒนาเป็นล้อรถยนต์ของไทย จากโรงงานในประเทศไทยที่ได้มาตรฐานก็ได้ ซึ่งวิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุด สะท้อนให้เห็นแล้วว่าเวลามีปัญหาก็ควรจะต้องถามชาวบ้านว่าต้องการอะไร

– สถานการณ์ยางพาราบึงกาฬในวันนี้?

พอใจ (ยิ้ม) ตอนนี้ราคาขยับดีขึ้น แล้วอนาคตโรงงานหมอนและที่นอนยางพาราเสร็จผมไม่ห่วงเรื่องราคายางอีกแล้ว เพราะน้ำยางสด 5 กิโลกรัม ได้หมอน 1 ใบ ต้นทุนต่อใบไม่เกิน 200 บาท สามารถขายเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าเท่าตัว

– ราคายางขึ้น-ลง มีผลต่อการนำมาแปรรูปไหม?

สมมุติว่าราคายางพาราขึ้นมากิโลละ 100-200 บาท ก็ขายยางพาราสิ จะทำถนนยาง จะขายหมอนทำไม (หัวเราะ)

เราก็ทำถนนคอนกรีตที่ถูกกว่าแทนเลย ชาวบ้านขายยางได้เขาก็ไม่เดือดร้อน แล้วถ้าราคายางพาราลง ก็ค่อยเอามาทำถนน ทำหมอนก็ได้

– มีเรื่องถนนยางพาราด้วย?

ที่บึงกาฬจะเริ่มทำถนนยางขึ้นในงานวันยางพาราปีนี้ ซึ่งมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คำนวณแล้วว่าถนน 2.5 กิโลเมตร ใช้เงิน 2.95 ล้านบาท โดยจะมีการทำถนนตัวอย่างประมาณ 400 เมตรขึ้นที่อำเภอเซกา

เรื่องถนนยางพาราถ้าสำเร็จ จะเป็นการเพิ่มมูลค่ายางอีกเยอะมาก แล้วถ้ารัฐบาลตั้งงบประมาณจากเดิมทำถนนคอนกรีตอย่างเดียว ก็ปรับเป็นถนนที่ทำจากน้ำยางพาราด้วย ช่วยทำให้เกิดการใช้ยางพาราจำนวนมาก แล้วในนามสมาคม อบจ. วันนี้ถ้าถนนยางพาราในบึงกาฬได้ผล ต้นทุนถูก ใช้งานได้ดี มั่นใจว่าจะนำไปสู่กระบวนการเอาน้ำยางพารามาทำถนนทั่วประเทศในอนาคต

3Q2A5527

– อย่างงานวันยางบึงกาฬ ทำไมตอนเเรกถึงไม่อยากให้จัด?

จะจัดทำไม ยางราคาตก (หัวเราะ) หลายคนก็บอกว่าจะจัดทำไมเสียดายเงินตอนนั้นราคายางก็เริ่มตก แต่ถึงวันนี้พิสูจน์แล้วว่าถ้าไม่จัดคงแย่ไปแล้ว คงไม่มีเวทีให้เกษตรกร ไม่มีการกระตุ้น ไม่มีเรื่องการแปรรูป และคงจะไม่ได้โรงงานหมอนยางพาราในวันนี้

ตอนนี้ผมไม่คิดว่างานวันยางพารามันมีผลต่อจังหวัดบึงกาฬนะ แต่งานนี้มันมีผลในระดับประเทศ ทำให้รัฐบาลเห็นเรื่องการเพิ่มมูลค่า เห็นถึงความสำคัญและรู้ถึงปัญหา ทำให้รัฐบาลสามารถช่วยเหลือเกษตรได้ตรงจุด ตรงตามความต้องการ

– มองบึงกาฬในอนาคตอย่างไร?

แนวโน้มในอนาคตถ้าสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) เสร็จก็จะเป็นประโยชน์ในเรื่องการขนส่งอย่างมาก จากเดิมชาวภาคอีสานจะขนส่งสินค้าไปลงเรือที่แหลมฉบัง แต่ถ้าสะพานเสร็จต่อไปสามารถไปลงเรือที่ท่าเรือเวียดนามซึ่งระยะทางใกล้กว่า ประหยัดค่าขนส่งครึ่งต่อครึ่ง

ยังมีเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้เรามีการไปเยี่ยมเยียนไปมาหาสู่กันตลอด โดยเฉพาะเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ที่อยู่ติดกับบึงกาฬ รวมถึงแขวงเชียงขวาง ก็มีการผูกมิตร มีการเชื่อมสัมพันธ์ไมตรี ทั้งการค้าขาย วัฒนธรรม อย่างทุกปีจะมีกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์อย่างงานแข่งเรือไทย-ลาว เป็นต้น ยังมีเรื่องการท่องเที่ยว อนาคตมาเที่ยวบึงกาฬสามารถไปเที่ยวต่อที่ลาวเเละเวียดนามได้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของสนามบินบึงกาฬด้วย หากสำเร็จบึงกาฬน่าจะเป็นจังหวัดที่รุ่ง และรับประกันได้ว่าจังหวัดบึงกาฬไม่ใช่จังหวัดที่เจริญเป็นอันดับสุดท้ายแน่นอน ถึงแม้จะเป็นจังหวัดน้องใหม่ก็ตาม

– ความภูมิใจ?

ชีวิตของผมต้องบอกว่าสูงสุดแล้ว จากเด็กบ้านนอกไม่ได้เรียนหนังสือต่อเหมือนเพื่อน เรียนจบ กศน. แต่เรามีโอกาสได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นกำนัน เป็นผู้แทนราษฎร และได้เป็นนายก อบจ.บึงกาฬ ต้องขอบคุณชาวบ้านที่เลือกเรา มันเป็นความภูมิใจมาก แล้ววันนี้เรามีโอกาสแล้ว เราได้รับโอกาสมากมาย ก็ต้องการที่ให้โอกาสกับเยาวชน ลูกหลานในจังหวัดบึงกาฬด้วย ทั้งเรื่องการศึกษาผมพยายามสนับสนุนเต็มที่ ผมมองว่างบประมาณที่ใช้ ไม่ใช่เงินของผม แต่เป็นเงินของประชาชน จะใช้อย่างไรต้องเน้นที่ประโยชน์ของคนบึงกาฬก่อน

วันนี้ผมภูมิใจแล้วที่ได้ทำงานใช้ชีวิตทดเเทนบุญคุณบ้านเกิดและแผ่นดินเกิด ทดแทนคุณคนบึงกาฬที่เลือกเรามา อย่างเรื่องยางพาราที่สู้มาจนถึงทุกวันนี้ ไปถึงประเทศจีน ทั้งพยายามหาทุนตั้งโรงงานก็เพื่อให้คนบึงกาฬและคนในประเทศไทยได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก ได้มีความสุขกัน

สำหรับงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-22 กุมภาพันธ์ 2560 ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image