คอลัมน์ แปดหมื่นหกพันก้าว : อาชีพของคนขี้เกียจ

ในยุคมิลเลนเนียลรูปแบบอาชีพอิสระใหม่ๆ ของคนสหัสวรรษนี้เกิดขึ้นมากมาย หลายคนใฝ่ฝันจะได้ทำอาชีพที่ “ใช่” ทำงานที่ “รัก” หรือบ้างก็มีแนวคิดประกอบอาชีพที่เข้ากับคาแร็กเตอร์ ไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ไม่เสียความเป็นตัวเองไป

มีหนึ่งคำถามผุดขึ้นมาว่า แล้วสำหรับกลุ่มคนที่ฉลาด หรือประเภทมีความเก่งแบบธรรมชาติ แต่ติดอยู่เรื่องเดียวคือ ค่อนข้างขี้เกียจ ไม่กระตือรือร้นกระหายอะไรกันในอาชีพการงานมากนัก มันมีอาชีพที่เข้ากับคุณลักษณะนี้หรือไม่

คำตอบ คือ มีแน่นอน

บีบีซี แคปปิตอล ได้ลองพูดคุยและสำรวจคาแร็กเตอร์ ให้ผู้คนลองนึกดูว่ามันจะมีอาชีพอะไรที่เหมาะกับคนที่มีความสามารถระดับเก่งกาจแต่ติดว่าขี้เกียจ กระนั้นก็ยังทำรายได้ได้ไม่เลว มาลองแลกเปลี่ยนและหาคำแนะนำประเภท best jobs for smart but lazy people ว่าพวกเขาคิดว่าอาชีพอะไรเหมาะกับแนวทางที่ว่า

Advertisement

คำตอบมีตั้งแต่อาชีพอย่าง “ครูสอนภาษา” ซึ่งในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาหลักๆ อย่างภาษาอังกฤษ พบว่าหากเป็นคนที่เก่งกาจในภาษา รายได้ครูสอนภาษาจึงเป็นตัวเลือกน่าสนใจไม่น้อย และมีความยืดหยุ่นในเวลาทำงานได้ มีตั้งแต่เลือกทำแบบพาร์ทไทม์ หรือทำเป็นงานพิเศษคู่กับงานอื่น

นอกจากนี้ ยังมองว่ารายได้ที่ได้จากอาชีพนี้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในแบบชนชั้นกลาง ที่ไม่จำเป็นต้องดำรงชีพแบบชนชั้นกลางทั่วไปที่หลังเรียนจบมหาวิทยาลัยต้องทำงาน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และทำโอทีเพิ่มเข้าไปอีก

การสอบถามความคิดเห็น ยังมีอีกอาชีพ คือ โปรแกรมเมอร์คอมพิวเตอร์ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่จริงๆ ต้องมีการเรียนรู้ต่อเนื่องให้ทันเทคโนโลยี ซึ่งเมื่อรู้และเข้าใจทันก็อาจทำงานแบบไม่ต้องหนักหน่วงได้

Advertisement

มีความเห็นทำนองว่าโปรแกรมเมอร์เทพๆ หรือเก่งๆ เขียนโค้ดภาษาคอมพ์ไม่กี่บรรทัดได้อย่างรวดเร็ว และผลตอบแทนทางรายได้ก็ได้รับกลับมาเร็วเช่นกัน ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้มีเวลาเหลือสำหรับพวกเก่ง เนิร์ดเทคโนโลยี แต่ขี้เกียจ แต่ก็มีวงเล็บว่า อาชีพแนวนี้อาจจะงานหนักขึ้นหากต้องขึ้นเป็นซีเนียร์

และสุดท้ายคือ เป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” มีแนวคิดว่า การเลือกเจาะจงเป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรบางอย่างไปสักเรื่องหนึ่ง เหมาะมากกับการไม่ต้องทำงานหนักโดยยังมีรายได้เข้ามา

เป็นอาชีพการขายความรู้ประเภท “รู้ลึกซึ้ง” จากที่ได้ร่ำเรียนศึกษาหาข้อมูลมากับผู้คนที่ต้องพยายามหนักกว่าในการทำความเข้าใจเรื่องที่ไม่ได้อินหรือสนใจ

เลยมีแนวคิดว่า ผู้เชี่ยวชาญ (ที่ขี้เกียจ) จะมีงานจากผู้มาขอคำปรึกษา เพราะมีความรู้เฉพาะทางนั่นเอง

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ก็ต้องผ่านการทุ่มเท มีช่วงเวลาศึกษาหาความรู้มาหนักพอสมควร

ฟังดูไม่แน่ใจว่าข้างต้นสมเหตุสมผลหรือไม่

แต่การเป็นคนฉลาดที่ขี้เกียจ ทำให้ “บิลล์ เกตส์” มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์เคยบอกไว้ว่า

“ผมมักจะเลือกคนที่ขี้เกียจมาทำงานยากเสมอ เพราะคนเหล่านี้จะหาวิธีง่ายๆ ไม่ซับซ้อนมาลงมือทำให้สำเร็จได้” (ฮา)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image