คอลัมน์ ประสานักดูนก : ดูนกเมืองขแมร์ (1)

วันที่ 1 ถึง 7 กุมภาพันธ์ มหาวิทยาลัยต้นสังกัด จัดงานเกษตรแฟร์ ไม่มีการเรียนการสอน คนเขียนจึงขอลาพักผ่อนไปตะลอนดูนกเมืองนอก ตามเคย (ฮา) ครานี้เป็นเพื่อนบ้านอาเซียน ฝั่งขวา ที่ประวัติศาสตร์บาดหมาง อาจทำให้เรามองกันและกันไม่เป็นมิตร หากไปเยือนและสัมผัสชาวบ้านในชนบทแล้ว คนเขียนยืนยันได้ว่าน้ำใสใจจริงของคนไทย ขแมร์ หรือพม่า ล้วนไม่ต่างกัน ทางเราและขแมร์ ปันประวัติศาสตร์ ต่าง “รับ” และ “แลก” วิถีวัฒนธรรมกันไปมาหลายร้อยปีแล้ว ดังตัวอย่างปรากฏให้เห็นในภาษาและโบราณสถาน

ทริปนี้ คนเขียนตั้งชื่อว่า The Red, the White and the Giant เพราะนกเป้าหมายหลายชนิด เป็น นกนักล่า ในกลุ่มอีแร้งประจำถิ่น 3 ชนิดที่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปจากป่าและทุ่งนาเมืองไทยแล้วกว่า 3 ทศวรรษ สีแดง จึงหมายถึง พญาแร้ง หรือ Red-headed Vulture ส่วนสีขาว หมายถึง เหยี่ยวเล็กตะโพกขาว white-rumped pygmy falcon ซึ่งเป็นเหยี่ยวปีกแหลมป่าขนาดเล็กเท่ากำมือ แม้ในประเทศไทยก็มีเหยี่ยวชนิดนี้ ที่มีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม แต่ในอินโดจีน คือ ลาว กัมพูชาและเวียดนาม เป็นพันธุ์ที่ต่างจากบ้านเรา จึงเป็นเป้าหมายของคนเขียนโดยเฉพาะเพื่อเก็บภาพมาใช้พิมพ์ในหนังสือ Raptors of Thailand and South-east Asia ที่กำลังขะมักเขม้นเขียนต้นฉบับอยู่

ส่วนนกตัวสุดท้าย คือ ยักษ์ นั้น หมายถึง นกช้อนหอยใหญ่ หรือ Giant Ibis นกช้อนหอยขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นนกถิ่นเดียวของภูมิภาคอาเซียน ในอดีตเคยพบในประเทศไทยเช่นกัน แต่น่าเสียดายเหมือนสัตว์ป่าอีกหลายชนิด เช่น สมัน ของที่ราบลุ่มภาคกลาง ทยอยกันสูญพันธุ์ไปอย่างรวดเร็วเพราะการล่าอย่างไม่บันยะบันยัง

คนเขียนเคยไปดูนกเมืองขแมร์ 3 ครั้งแล้ว หากคราวนี้จะไปสำรวจเปิด เส้นทางดูนกสายใหม่ มุ่งตะวันออกเฉียงเหนือไปที่หมู่บ้านเซียมปัง ริมแม่น้ำเซกง จังหวัดสตึงเตรง ติดชายแดนประเทศลาว ณ ที่นี่ มีป่าเต็งรังผืนใหญ่ อันเป็นเขตอนุรักษ์อีแร้งอาเซียน 3 ชนิด มานานกว่า 1 ทศวรรษ โดย องค์กรอนุรักษ์นกสากล BirdLife International และ หน่วยงานสัตว์ป่าของประเทศกัมพูชา นับเป็นตัวอย่างความร่วมมือระหว่างประเทศที่น่าชื่นชม เพราะโครงการหนึ่ง คือ การจัดทำร้านอาหารแร้ง ให้ซากสัตว์ คือ วัว หรือ ควาย เป็นอาหารที่สะอาด ปราศจากการปนเปื้อนสารพิษ ให้แร้งกินเป็นประจำทุกเดือน

Advertisement

นอกจากนกนักล่าแล้ว มีนกอีก 2 ชนิดที่เป็นนกถิ่นเดียวของอาเซียน ที่วางแผนจะไปดูกันด้วย ได้แก่ นกเด้าลมแม่น้ำโขง ซึ่งพบได้ในแม่น้ำโขง และพบในจังหวัดอุบลราชธานีด้วย และ นกกระจิบกัมพูชา เป็นนกถิ่นเดียวของประเทศกัมพูชาที่ไม่พบในประเทศอื่นใดบนโลกนี้ จึงมีสถานภาพพิเศษที่นักดูนกอยากเห็น นกกระจิบเชื้อชาติขแมร์ตัวนี้เพิ่งจะถูกค้นพบเผยแพร่ทางวิชาการ เมื่อ พ.ศ. 2556 นี้เอง

จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่คนเขียนต้องกลับไปเมืองขแมร์ เพื่อตามดูเจ้านกตัวน้อยที่หน้าตาคล้ายนกกระจิบคอดำแต่ตัวสีเทานี้ เพราะเมื่อ 8 และ 6 ปีก่อน ที่คนเขียนไปดูนกขแมร์ นักปักษีวิทยายังไม่รู้จักนกกระจิบกัมพูชาเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image