คอลัมน์ เริงโลกด้วยจิตรื่น : เหตุที่ควรอยู่กับ “ดี”

คนเราเมื่อมีความรู้สึก “ดี” จะทำให้จิตใจเบิกบาน สดชื่น

เมื่อไรที่รู้สึก “ไม่ดี” จะทำให้เศร้าหมอง หม่นมัว

ดังนี้จึงมีคำบอกกล่าวมาแต่บรรพกาลว่าให้เลือกที่จะอยู่กับ “ดี” พยายามหลบเลี่ยง “ความไม่ดี” ทั้งปวง

แต่คำบอก คำสอน มักเป็นเรื่องของคำบอก คำสอน ส่วนความคิดความเชื่อของคนที่ได้รับการบอกกล่าวจะเป็นอย่างไรนั้น ดูท่าจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

Advertisement

มีบ้างที่เป็นไปตามคำบอก แต่ส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามที่ได้รับฟัง

เพราะทุกสิ่งอย่างเป็นไปตามปัจจัยหลายหลากที่มาประกอบกัน

“คำบอก คำสอน” เป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง มีความสำคัญหรือไม่กับความคิดความเชื่อของคนที่ได้ฟัง ขึ้นอยู่กับการเปิดใจรับแค่ไหนของคนผู้นั้น

Advertisement

ทำให้คำบอก คำสอน ไม่ว่าเรื่อง “จงอยู่กับความดี” นั้น เหมือนลอยมาแล้วลอยไปกับสายลม ส่วนใหญ่ไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงจิตใจคนที่ได้รับฟังได้

ทั้งที่หากทำใจให้เปิดกว้างรับเอาคำบอกนั้นมาพิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นว่าเป็นประโยชน์มหาศาลต่อชีวิต

ถ้าชีวิตปรารถนาความสุข

เพราะการอยู่กับ “ความดี” นั้นจะทำให้ “แก่นแกนความคิด” ขับเคลื่อนไปด้วยความรู้สึกดี อันหมายถึงที่จะส่งผลให้จิตใจสดชื่น เบิกบาน

ลองนึกดู

คนหนึ่ง แม้จะเผชิญกับเรื่องเลวร้าย แต่มีความหวังเสมอว่า “เดี๋ยวจะเปลี่ยนเป็นดี เรื่องร้ายมาแล้วก็ไป อยู่ได้ไม่นาน” หรือไม่ก็ “มองโลกในแง่ดี ในเรื่องร้ายเสียเลย”

อย่างเช่น “อุปสรรคเป็นบทเรียน หรือแบบฝึกหัดที่ทำให้ได้ประสบการณ์ไปใช้ประโยชน์ในอนาคต”

คนที่มี “แก่นแกนความคิด” แบบนี้ จะมีแต่ความสุข เริงรื่น เฉลิมฉลองกับเรื่องดีงามที่เกิดขึ้นกับชีวิตได้เต็มที่ ขณะที่เมื่อเกิดเรื่องชวนหม่นหมองขึ้นกับมองเห็นมุมดีๆ ในเรื่องนั้น และบางทีสามารถเฉลิมฉลองกับมุมมองที่ดีจากเรื่องร้ายนั้นได้เสียอีก

แต่อีกบางคน เมื่อเกิดเรื่องดีงามกับชีวิต กลับแต่ห่วงว่าจะสูญเสียเรื่องดีงามนั้นไป หรือไปไกลกว่านั้นคือ มองความดีงามนั้นในมุมที่จะสร้างความเลวร้ายให้กับชีวิต

ชีวิตประสบความโชคดี แทนที่จะเฉลิมฉลองความโชคดีนั้นอย่างมีความสุข กลับคิดกลัวไปว่า “คนอื่น หรือใครจะมาช่วงชิงความโชคดีนั้นไป หรือความโชคดีของตัวจะทำให้เกิดความอิจฉาในใจของคนอื่น หวั่นไหวว่าคนอื่นจะมองความโชคดีของตัวเองไปในทางไม่ดี”

ทั้งที่เผชิญกับเรื่องดี คนบางคนยังสร้างความทุกข์ให้ตัวเองได้

ความแตกต่างระหว่างคนสองกลุ่มนี้อยู่ที่ “แก่นแกนความคิด” มีที่อยู่ที่ต่างกัน

คนหนึ่งเริงรื่นอยู่กับ “แก่นแกนที่เป็นความดี”

อีกคนหนึ่ง “จมปลักกับแก่นแกนที่เลวร้าย”

แก่นแกนที่เป็นความดีจะชี้นำความคิดให้ไปในทางรื่นเริง สดชื่น เบิกบาน มีความหวัง หรือที่เรียกกันว่า “ความคิดในมุมบวก”

ขณะแก่นแกนความเลวร้ายจะชี้นำความคิดไปในทางกังวล หวาดกลัว หม่นเศร้า ตื่นตระหนก

การจะอยู่กับแก่นแกนความคิดแบบใด

เป็นเรื่องของการฝึกฝน และมุ่งมั่นที่จะเลือกอยู่ ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับการฝึกฝนในเรื่องอื่นๆ นั้นคือสร้างความเคยชินในทิศทางที่มักมุ่งมั่น

มุ่งไปในทาง “คิดดี พูดดี ทำดี”

หรือไปในทาง “คิดร้าย พูดร้าย ทำเลว”

ย่อมส่งผลต่อการสร้างแก่นแกนความคิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image