‘ผิดเพศ ผิดไหม’ อยู่อย่างไรกับลูกผิดเพศ?

“…เป็นคำถามที่ชวนให้หลายๆ คนเดือดมากๆ บางคนหงุดหงิดเลยไม่มาในงานนี้…” (ฮา)

เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี ผู้ดำเนินรายการเกริ่นเปิดงานเสวนากับหัวข้อแรงๆ อย่าง “ผิดเพศ ผิดไหม อยู่อย่างไรกับลูกผิดเพศ” ในงาน “วันผู้ใหญ่แห่งชาติ 2017 แด่ผู้ใหญ่สมัยโลกพัฒนา”

ฟังแค่ชื่องาน บางคนอาจมีรอยยิ้มกระตุกที่มุมปาก บางคนอาจคิ้วขมวดผูกเป็นโบ ไปถึงเกิดอาการหัวร้อน

แต่…เรื่องอย่างนี้ต้องเปิดใจกว้างๆ ฟังกันก่อน

Advertisement

ทั้งหัวข้อเสวนาและการมีขึ้นของงาน “วันผู้ใหญ่แห่งชาติ” ที่จัดขึ้นปีนี้เป็นปีแรกที่พิพิธบางลำพู ถนนพระสุเมรุ เมื่อวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้จัดงานซึ่งก็คือกลุ่มเด็กๆ ที่มีหัวขบวนคือน้องเพนกวิน หรือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา บอกว่า…

วัตถุประสงค์จริงๆ แล้ว ต้องการให้ผู้ใหญ่เปิดใจกว้างๆ รับฟังว่าเด็กๆ อย่างเราคิดอะไร

“ผู้ใหญ่จัดงานวันเด็กแห่งชาติเพื่อบอกว่า เด็กดีต้องเป็นแบบไหน เด็กๆ จึงขอจัดงานวันผู้ใหญ่แห่งชาติบ้าง”

Advertisement

ไม่เพียงการเสวนาหัวข้อ “ผิดเพศ ผิดไหม อยู่อย่างไรกับลูกผิดเพศ” โดยเชิญ โตมร ศุขปรีชา เจ้าของคอลัมน์ Genderism ในนิตยสาร อะเดย์ วีคลี่ และ ธันวา รุ่งเรืองเกียรติ กะเทยไทย ลูกชายคนเดียวของครอบครัวคนจีน ที่ผ่านการต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากครอบครัวในฐานะ “ลูกสาว” คนหนึ่ง มาร่วมพูดคุยบอกเล่าประสบการณ์ โดยมีเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี เป็นผู้ดำเนินรายการ

ยังเชิญเด็กๆ แอลจีบีทีเมื่อวันวานที่ผ่านภาวะลำบากต่างๆ มาบอกเล่าประสบการณ์และความรู้สึกที่ต้องต่อสู้เพื่อลบคำปรามาสจากผู้ใหญ่ที่ว่า “…แล้วโตไปจะทำอะไรกินล่ะ ลูก”

น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะประเด็นที่พูดกันมานาน และยังเป็นสิ่งที่เด็กๆ รวมทั้งผู้ใหญ่หลายๆ คนต้องเผชิญ ต้องต่อสู้กับสังคมและคนรอบข้าง ที่สำคัญคือการสร้างความเข้าใจเพื่อให้เกิดการยอมรับในครอบครัวคือเรื่องเพศ (Gender)

โตมร ศุขปรีชา

โลกนี้ไม่ได้มีแค่หญิงและชาย

คำถามที่สำคัญมากคือคำถามที่เป็นหัวข้อเสวนาคือ ผิดเพศ ผิดไหม? ซึ่งคำตอบมีหลายอย่าง จะตอบว่าผิดหรือไม่ผิดก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าสังคมเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า…คอลัมนิสต์ Genderism โตมรให้ทรรศนะ

เวลาที่เราบอกว่าผิดเพศหรือไม่ผิดเพศ ต้องย้อนกลับไปดูว่ามนุษย์เราเป็นอย่างไรตั้งแต่สมัยก่อน ตั้งแต่เราเป็นโฮโมอีเร็กตัส เป็นนีแอนเดอร์ทัล สมัยโบราณเราอยู่กันแบบเป็นมนุษย์ล่าของป่า มีการแบ่งบทบาททางเพศพอสมควร ผู้ชายไปล่าสัตว์ ผู้หญิงอาจจะอยู่ในชุมชนของตนเอง พอมาเป็นสังคมเกษตรกรรม การแบ่งบทบาทชาย-หญิงยิ่งชัดขึ้น

สังคมแบบนี้เป็นมาหลายพันปี เป็นสังคมที่อาศัยอยู่รวมกันแบบ “สัตว์ฝูง” เป็น “คอลเล็กทิวิซึ่ม” (collectivism) มีลำดับของหัวหน้า ตัวรอง มีตัวผู้ ตัวเมีย การแบ่งหน้าที่ตามบทบาทจึงเป็นการง่ายในการจัดการระบบในสังคม

จนกระทั่งมาช่วง 100 กว่าปีให้หลัง เริ่มมีวิธีคิดแบบใหม่ขึ้นมา เป็นสังคมที่มีความเป็น “อินดิวิดวลลิซึ่ม” (Individualism) ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องมีการต่อสู้ต่อรองกันมานานมาก

“ในสังคมเมื่อก่อน ถ้าผู้ชายไม่เอาหญิง แต่ไปเอาชาย ถือว่าไม่ทำหน้าที่เมื่ออยู่ในฝูง นั่นคือ ‘ผิด’ เพราะต้องทำตามบทบาททางเพศเพื่อผลิตทรัพยากรคือลูก นั่นคือ มนุษย์เกิดมาพร้อมหน้าที่ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้ยินว่ามนุษย์ต้องทำตามหน้าที่ โดยที่ไม่พูดถึงสิทธิ นี่คือสำนึกของคอลเล็กทิวิซึ่มที่อยู่กันเป็นฝูง”

ฉะนั้น ถ้าเราอยู่ในสังคมแบบนั้น ถามว่า ผิดเพศผิดมั้ย-ผิด แต่ถ้าในสังคมอีกแบบหนึ่ง (อินดิวิดวลลิซึ่ม) ที่เพิ่งเกิด จะให้อำนาจกับปัจเจกในการจะบอกว่า ฉันจะเป็นอะไรก็ได้ ฉันจะทำอะไรก็ได้ ฉันสามารถจะสละการอยู่ในโครงสร้างคอลเล็กทิวิซึ่มแบบเดิมออกไป ซึ่งในสังคมแบบนี้จะเป็นเพศอะไรก็ไม่ผิด ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ง่าย

โตมรบอกว่า ในความเห็นของตนเอง โลกนี้มีแค่ 2 เพศ คือ ไบนาลิซึ่ม (Binalism) กับนอน-ไบนาลิซึ่ม (Non-binalism)

สังคมแบบไบนาลิซึ่ม เห็นเพศมีแค่ 2 เพศคือชายกับหญิง ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ ผิดเพศผิดมั้ย-ผิด แต่อาจจะยอมรับได้ เหมือนเรายอมรับเกย์ ทอม ดี้ ซึ่งแม้ว่าจะ “ยอมรับ” แต่ก็ยังถือว่า “ผิด” อยู่ดี

นั่นคือ ในสังคมแบบอินดิวิดวลลิซึ่ม อาจมีไบนาลิซึ่มอยู่ด้วยเหมือนกัน

ขณะที่นอน-ไบนาลิซึ่ม มองว่าคนเราไม่จำเป็นต้องสังกัดเพศใดเพศหนึ่ง เช่น เป็นทรานส์แมนที่อยากมีสัมพันธ์แบบหญิงอยู่ คือมันจะเป็นอะไรก็ได้ ซึ่งเป็นในลักษณะของอินดิวิดวลลิซึ่มแบบที่สุดของความหมาย

โตมรบอกอีกว่า เพราะเรื่องเพศนั้นมีความซับซ้อน แม้ในกระบวนการของกลุ่มแอลจีบีที ต่อสู้เรียกร้องเรื่องสิทธิ บางครั้งก็ยังมีการจัดลำดับชั้นอยู่ข้างใน แต่ถ้ามันเป็นนอน-ไบนาลิซึ่ม จะไม่มีปัญหา ซึ่งประเด็นนี้ในความเป็นจริงแล้วถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะสังคมเราเป็นคอลเล็กทิวิซึ่มกันมาเป็นพันๆ ปี เพิ่งจะมีอินดิวิดวลลิซึ่มเพียงนิดเดียวเท่านั้น

ธันวา รุ่งเรืองเกียรติ

รับมืออย่างไรเมื่อพ่อ-แม่ไม่เข้าใจ

จากเรื่องไกลตัว ขยับเข้ามาใกล้ ในครอบครัว “รุ่งเรืองเกียรติ” เมื่อลูกชายคนเดียวของครอบครัวคนจีนไม่ใช่ลูกชาย

น้องเปา ธันวา รุ่งเรืองเกียรติ บอกว่า ถามว่ารู้ตัวเมื่อไหร่-ตอบไม่ได้ มารู้ตัวอีกทีตอนมัธยม 1 ความที่อยู่โรงเรียนชายล้วน พอถึงวิชาพละ ผู้ชายจะเปลี่ยนเสื้อเลย ขณะที่ตัวเองต้องไปเปลี่ยนในห้องน้ำ จนเพื่อนๆ ล้อว่าเป็นกะเทย จากที่โกรธจนไม่โกรธ ปัจจุบันใครจะเรียกว่ากะเทย หรือสาวข้ามเพศ ได้ทั้งนั้น

ธันวายอมรับว่า สังคมตอนนั้นปฏิบัติกับเราเหมือนเป็นโรค โดยเฉพาะที่บ้าน ความที่เป็นครอบครัวคนจีน พ่อค่อนข้างจะคาดหวัง เพราะเป็นลูกชายคนเดียว ต้องสืบทอดกิจการต่อ บางครั้งขู่ว่า ถ้าทำตัวแบบนี้จะส่งไปหาจิตแพทย์

“วันที่พ่อเริ่มระแคะระคายว่าเราอาจจะไม่ใช่ลูกชาย พ่อรับไม่ได้ ขณะที่แม่ยอมรับแต่ก็จะนิ่งๆ ไม่แสดงออก เพราะพ่อเป็นหัวหน้าครอบครัว ตอนนั้นพ่อค่อนข้างใช้ความรุนแรงหลายอย่าง และมีการยกระดับความรุนแรง เช่นวันหนึ่งขณะที่ใช้ไม้ยิมนาสติกลีลา (ติดริบบิ้น) เล่นเป็นเซเลอร์มูน นั่นคือโลกของเรา พ่อเข้ามาเห็นแล้วหักไม้ทิ้งเลย”

ธันวาย้อนความหลัง และบอกว่า ต้องใช้เวลานานถึง 10 ปีกว่าที่พ่อจะยอมรับ เป็นสิบปีที่ต้องปกปิดตัวเองเมื่ออยู่บ้าน ทำตัวเป็นแบบที่พ่ออยากให้เป็น แม้ไม่ใช่วิธีที่ถูก แต่ ณ ตอนนั้นมันเป็นการประนีประนอมที่ดีที่สุด

“โชคดีอย่างหนึ่งคือ มีพี่สาวที่ค่อนข้างเปิดกว้างและคอยอยู่ข้างๆ เสมอ ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ เป็นคนที่ทำให้เราสามารถแสดงตัวตนออกมาได้เมื่ออยู่ด้วย แต่กับพ่อ บางครั้งพ่อจะให้ไปเตะบอลกับเพื่อนผู้ชาย พยายามที่จะให้เราเปลี่ยนเป็นผู้ชายตลอด มารู้ทีหลังว่าจริงๆ แล้วพ่อ-แม่ไม่ได้เกลียด แต่เขากังวลว่าเราจะอยู่ได้มั้ย หางานได้มั้ย ซึ่งเราก็ใช้ความพยายาม เราเรียนไปทำงานไป ให้เห็นว่าเรามีความคิด ทำงานหาเงินได้ด้วยตัวเองเหมือนคนอื่นๆ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ก็ค่อยๆ เปิดใจกับเรามากขึ้น”

สิ่งที่พ่อพูดคือ ตัดสินใจดีแล้วใช่มั้ย แน่ใจแล้วใช่มั้ย จึงรู้ว่าพ่อไม่ได้เกลียดหรือโกรธ แต่เพราะรักและอยากให้เรามีความสุขในชีวิตเท่านั้น

ภาพบรรยากาศในงานวันผู้ใหญ่

LGBT ไทย ในสังคมลูกครึ่ง

“ธันวา” เป็นเพียงกรณีตัวอย่างที่เชิญมาบอกเล่าบนเวทีเสวนา ในความเป็นจริงยังมีเด็กอีกมากมายที่ต้องปรับตัวเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากครอบครัวและสังคมรอบข้าง

“มันไม่มีอะไรผิด แต่สิ่งที่ผิดคือ การชี้หน้าด่าคนอื่นว่าผิดเพราะเป็นเกย์ ชี้นิ้วบอกต้องทำอะไร อย่างไร”

โตมรบอก และว่า ในระดับครอบครัวถือว่าความผิดนี้ยังไม่เท่าไหร่ แต่ยังมีอีกความผิดหนึ่งที่หนักหนายิ่งกว่าคือในกฎหมายแต่งงาน

“ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของเราที่บอกว่าการแต่งงานเป็นเรื่องของ ‘ชายและหญิง’ แต่ในรัฐธรรมนูญบอกว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน หมายความว่าชายหรือหญิงเป็นคนเหมือนกัน ซึ่งต้องย้อนกลับไปถามว่า สังคมนี้เป็นสังคมแบบไหน เป็นสังคมแบบอยู่เป็นฝูงหรือเปล่า”

ถามว่า สังคมปัจจุบันเปิดกว้างกับแอลจีบีทีหรือไม่?

โตมรบอกว่า เวลาที่เราไปดูซานฟรานซิสโก หรือซิดนีย์ จะเป็นสังคมที่กดขี่มาก เกิดการแยกตัวเป็นย่านๆ แต่ในสังคมไทยไม่มีการกดขี่มากมายขนาดนั้น เราอยู่ก้ำๆ กึ่งๆ มีย่าน เช่น สีลม ที่กลางคืนเป็นย่านของเกย์ มีร้านหนังสือซึ่งไม่เชิงเฉพาะแอลจีบีที แต่มีหนังสือประเภทอื่นด้วย คือเรายอมรับแบบไม่เป็นทางการ และไม่ยอมรับอย่างเป็นทางการ

ฉะนั้น สีลมกลางวันเป็นนักธุรกิจ กลางคืนเป็นกะเทย

สมัยก่อนกลุ่มเกย์ในสีลมสามารถจัดพาเหรดเกย์ได้ แต่ก็ยอมให้มีพาเหรดแค่ครึ่งถนนเท่านั้น อีกครึ่งหนึ่งเปิดให้รถยนต์สัญจรได้ ขณะที่เมื่อมีงานเปิดท้ายขายของที่สีลมสามารถปิดถนนได้ทั้งเส้น

“ผมเคยคุยกับเกย์ว่าคิดจะต่อสู้มั้ย เขาบอกว่าไม่หรอก แค่นี้ก็พอแล้ว ทำให้ขบวนการต่อสู้มันอ่อนแรง” โตมรบอก

เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่จนถึงวันนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการร่าง ยังไม่ได้รับเข้าพิจารณาในรัฐสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image