‘อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ’ มองให้ลึก อ่านให้ซึ้ง  27 ปีแห่งรัชสมัย

นับเป็นเวที (บุ๊ก) ทอล์กที่เข้มข้นครบรสอย่างยิ่ง สำหรับ อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ : การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์ จัดโดย สำนักพิมพ์มติชน 

เมื่อ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ราชสำนัก และ ปวีณา หมู่อุบล เจ้าของผลงานเล่มฮิต อำนาจนำพระนั่งเกล้า:การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์ ขึ้นเวทีร่วมพูดคุย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร พิธีกร มติชนทีวี 

ฉายภาพบริบทสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เรื่องพระราชกรณียกิจในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้อย่างลึกซึ้ง เฉียบคม 

ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยในหลากมิติที่ส่งผลถึงความเจริญรุ่งเรืองในด้านการค้ากับนานาชาติ ไม่เพียงทางเรือในฝั่งตะวันออก หากแต่กว้างไกลไปถึงภาคพื้นทวีป 

Advertisement

ซับซ้อน ท้าทาย ชิงไหวชิงพริบ 

Advertisement

ถอดรหัสการเมืองต้นกรุงรัตนโกสินทร์

เปิดเวทีด้วยภาพกว้างของการเมืองในยุคก่อร่างสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่ง ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง มองว่า ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ต่อเนื่องถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีการ ชิงไหวชิงพริบ กัน ระหว่างกลุ่มคนที่มีอำนาจมากน้อยเหลื่อมล้ำ 

เมื่อรัชกาลที่ 2 เสวยราชสมบัติหลังรัชกาลที่ 1 สวรรคต ใช้คำว่าปราบดาภิเษก ไม่ใช่บรมราชาภิเษก กรณีกบฏเจ้าฟ้าเหม็น ซึ่งรัชกาลที่ 3 ในเวลานั้นทรงมีบทบาทสำคัญในการชำระคดี ก็เป็นความสั่นคลอนทางการเมืองระยะหนึ่งที่เห็นได้ชัด แต่ยังมีการเมืองอีกมากมายที่เราเห็นไม่ชัด แต่อยู่ระหว่างบรรทัดของเอกสาร อ่านหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ การเมืองหวั่นไหวมาก ไม่รู้มีกี่คดี ถ้าสมัยนั้นมีหนังสือพิมพ์หรือพงศาวดารกระซิบ คนคงพูดกันอุตลุดเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง ยังกล่าวถึงประเด็น สิทธิธรรม ในการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 3 ซึ่งแม้ทรงเป็นโอรสพระเจ้าแผ่นดินก็จริง แต่เป็น พระองค์เจ้า ไม่ได้ทรงเป็น เจ้าฟ้า สิทธิธรรมในการเป็นกษัตริย์ไม่ได้ชนะเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) แต่ในเวลานั้น กฎมณเทียรบาลการสืบสันตติวงศ์ที่เขียนเป็นตัวหนังสือ ไม่เคยมี การสืบราชสมบัติสมัยอยุธยาก็ไม่ชัดเจนมาตลอด การเป็นพระองค์เจ้า หรือเจ้าฟ้า อาจไม่สำคัญเท่าการมีอำนาจจริง สิ่งนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญ 

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามีความในพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 3 อยู่เหมือนกัน ที่เมื่อได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินขึ้นมาแล้วท่านจะธำรงสถานภาพที่อาจจะมีคนลุกขึ้นตั้งคำถามต่อท่านอย่างไร ในขณะเดียวกันไม่ได้ทรงโค่นล้มสิ่งที่ปัจจุบันอาจเรียกว่าเป็นกลุ่มก้อนซึ่งอาจจะเป็นภัยคุกคาม 

27 ปีที่รัชกาลที่ 3 เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงวางพระองค์พอเหมาะพอสม ภาษาปัจจุบันคือ ไม่ได้ทรงวางแผนสืบทอดอำนาจเลย ทั้งๆ ที่บรรดาคนที่บริหารบ้านเมืองที่อยู่ในการดูแลของพระองค์ยังสามารถมีบทบาทต่อไปได้อีกมาก และไม่ได้ห่วงว่าหากทรงสวรรคตแล้วคนเหล่านี้จะปลอดภัยหรือไม่ แต่ทรงห่วงความเป็นไปในบ้านเมืองมากกว่า ว่าสุดท้ายอะไรเป็นประโยชน์มากที่สุด ดีกว่าการที่จะสงวนอำนาจไว้เฉพาะกลุ่ม ทำให้ 27 ปีที่รัชกาลที่ 3 ครองแผ่นดินจึงเป็น 27 ปีที่น่าสนใจ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง วิเคราะห์

ธงทอง จันทรางศุ

เปิดบทบาท ทีมซัพพอร์ต กับ ตัวแปรการเมือง

เติมคะแนนเสียงไม่ตกหล่น

อีกประเด็นน่าสนใจที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง ชวนมองย้อนประวัติศาสตร์อย่างมีชีวิตชีวาคือ ไม่มีใครเป็นใหญ่คนเดียวได้โดยไม่มีพรรคพวก 

อย่างน้อยในหมู่เจ้านายผู้ที่เป็นต้นแถว คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ซึ่งในทางเครือญาติควรจะเป็นอาของรัชกาลที่ 3 แต่ด้วยพระชนมายุที่ใกล้กัน ทำให้เป็นพระสหายกัน เป็นกำลังสำคัญคู่พระทัยของรัชกาลที่ 3 

อีกหนึ่งคน คือ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในเรื่องการค้าในสมัยรัชกาลที่ 3 และขาดไม่ได้เลยคือ เจ้าจอมมารดาเรียม พระชนนี ซึ่งถือเป็นผู้ปิดทองหลังพระที่คอยช่วยเหลือรัชกาลที่ 3 ในช่วงเวลาครึ่งหลังของรัชกาลที่ 2 

ถึงแม้ในเวลานั้นเจ้าจอมมารดาเรียมจะเป็นบาทบริจาริกาของรัชกาลที่ 2 อยู่แต่มีข้ออ้างว่า ตัวท่านมีอายุมากคงไม่มีหน้าที่งานราชการต้องปฏิบัติถวายรัชกาลที่ 2 แล้ว จึงขอออกจากวังมาอยู่กับลูกคือรัชกาลที่ 3 ที่วังท่าพระ 

พระชนนีเป็นผู้ที่เติบโตมากับครอบครัวขุนนางทำให้เข้าใจการทำงานของราชการบ้านเมือง 

วังท่าพระ มีการตั้งโรงเลี้ยง หน้าวังมีโรงทาน แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่ขุนนางที่จะแวะมาได้แต่ประชาชนทั่วไปก็มาได้เช่นกัน ทำให้คะแนนเสียงของรัชกาลที่ 3 ไม่มีการตกหล่นอย่างแน่นอน ในทางการเมืองแค่เห็นว่าใครเดินเข้าออกประตูวังหลวงก็รู้ได้แล้วว่าใครเป็นใคร สิ่งเหล่านี้เอาไปคำนวณเป็นตัวแปรทางการเมืองได้ทั้งสิ้น 

ตำแหน่งของวังของรัชกาลที่ 3 มีประโยชน์อย่างมากและการวางพระองค์เองที่เป็นมิตรกับประชาชน มีพระชนนีที่คอยดูแลการกิน การอยู่ ไม่ขาดตกบกพร่อง สิ่งเหล่านี้ทำให้ไม่แปลกใจว่าทำไมหลังรัชกาลที่ 2 สวรรคต รัชกาลที่ 4 เพิ่งจะออกผนวช รัชกาลที่ 3 ในพระชนมายุ 37 ปี และมีทีมที่พร้อมจะได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง อธิบายชวนให้ร่วมจินตนาการอย่างเห็นภาพแจ่มชัด 

ปวีณา หมู่อุบล

สถานะยิ่งใหญ่ แต่ไม่ห่างชาวบ้าน 

ทุเลาจักรพรรดิราชสู่ ธรรมราชา

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง ยังกล่าวถึงการสร้างและทำนุบำรุงวัดวาอารามในแผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ ว่า แม้อาจไม่ได้หวังผลทางการเมือง 100% เพียงแต่อยากจะบำรุงพระศาสนา แต่ผลที่ออกมาสะท้อนนัยยะที่สำคัญยิ่ง 

วัดเป็นสะพานเชื่อมสังคมให้อยู่ด้วยกันได้ วัดที่พระองค์สร้าง ทุกคนสามารถเข้าได้ ใครจะมาบวชก็บวชได้ นี่แปลว่าพระองค์เป็นผู้ยิ่งใหญ่แต่ไม่วางตัวห่างเหินจากชาวบ้าน เรื่องราวใหม่ๆ มาจารึก เป็นทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน

ความรู้สึกว่าเป็นคนละพวก รู้สึกว่าไม่ใช่ของเรา มันไม่เกิดขึ้น การสร้างวัดมันมีนัยยะอะไรบางอย่าง 

การที่พระองค์สร้างวัดนั้นพระองค์อยากให้มีพระได้เรียนหนังสือ เหมือนสร้างวิมานให้เทวดาอยู่ และผมคิดว่าพระองค์ทุเลาในเรื่องของจักรพรรดิราชลงไป โดยเน้นในเรื่องของธรรมราชามากกว่า ซึ่งประโยชน์ระยะยาวมีอย่างมาก คติในเรื่องการไปตีรันฟันแทงนั้นลดน้อยถอยลงมาก เว้นแต่ที่จำเป็น 

คตินิยมของการเป็นธรรมราชาการเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ส่งเสริมให้คนอยู่ในศีลในธรรมชัดเจน ทำให้เรารู้สึกว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นพวกเดียวกับประชาชน ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง มองลึกซึ้ง 

การค้ารุ่ง ไม่ใช่แค่ทางเรือ 

กะเหรี่ยงเมืองเหนือ สะท้อนความมากหน้า

ด้าน ปวีณา หมู่อุบล กล่าวถึงสภาพสังคมเศรษฐกิจยุคต้นรัตนโกสินทร์ ที่การค้าเริ่มเจริญรุ่งเรือง สยามในยุคนั้นสามารถค้าขายกับชาวต่างชาติได้มากขึ้น ที่สำคัญคือชาวจีน รวมถึงตะวันตก

การค้าเจริญรุ่งเรืองมาก ไม่ใช่แค่การค้าขายทางเรือ การค้าภาคพื้นทวีป เห็นได้จากโคลงภาพคนต่างภาษา ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ (วัดโพธิ์ ท่าเตียน กรุงเทพฯ) ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงแค่พ่อค้าชาวจีน ชาวแขก ชาวตะวันตกอย่างเดียว แต่กล่าวถึงพ่อค้ากะเหรี่ยงจากเมืองเหนือ แสดงถึงภาพความมากหน้าหลายตาตั้งแต่ยุคต้นรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา 

สยามในยุคนั้นเป็นเมืองเปิด เป็นเมืองท่าทางการค้าที่สำคัญทั้ง จีน อังกฤษ สนใจสินค้าจากสยาม พ่อค้าต่างชาติเหล่านี้ต้องผ่านราชสำนักก่อน ซึ่งรัชกาลที่ 3 ทรงกำกับราชการในกรมพระคลังสินค้า กรมท่า ตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ ทรงมีปฏิสัมพันธ์กับชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ในพระราชสำนักมาก พูดง่ายๆ คือ มีพวกมาก การขึ้นครองราชย์ของท่านในพระราชพงศาวดาร เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ ระบุไว้เลยว่า ได้รับการเชิญจากบรรดาเสนาบดีรวมถึงพระสงฆ์ 

เจ้าของเล่มขายดีเซ็นชื่อให้แฟนหนังสือ ‘อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ’

อ่านคนเก่ง เล็งสถานการณ์ดี 

มองโลกกว้างทั้งเศรษฐกิจสังคม

สำหรับพระอัจริยภาพส่วนพระองค์ นักวิชาการท่านนี้มองว่า รัชกาลที่ 3 ทรงมีความฉลาด อ่านคน อ่านสถานการณ์ได้ดี นอกจากเคยรับราชการแล้ว ขณะเดียวกันก็ทรงเป็นพ่อค้าด้วย เพราะฉะนั้นการมองโลกจึงกว้างไกลมากทั้งในแง่ของการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

ทรงเติบโตในราชสำนัก รัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงเวลาชนชั้นนำในสมัยนั้นรวมถึงรัชกาลที่ 1 พยายามเร่งฟื้นฟูอารยธรรมความเจริญรุ่งเรืองทุกอย่างที่เคยในมีสมัยอยุธยา แล้วเสียจากการเสียกรุงศรีครั้งที่ 2 ซึ่งจริงๆ เริ่มมีการฟื้นฟูตั้งแต่สมัยธนบุรี แต่ชัดเจนและเจริญรุ่งเรืองมากๆ ในรัชกาลที่ 1 โดยเฉพาะคติแนวคิดปัญญาและศาสนา

ส่วนในสภาพสังคมเศรษฐกิจเป็นยุคที่การค้า เริ่มเจริญรุ่งเรือง สยามในยุคนั้นสามารถค้าขายกับชาวต่างชาติได้มากขึ้น ที่สำคัญคือชาวจีนและตะวันตกเข้ามาด้วย การค้าเจริญรุ่งเรืองมากไม่ใช่แค่การค้าขายทางเรือ แต่รวมถึงการค้าภาคพื้นทวีป เห็นได้จากโคลงภาพคนต่างภาษา ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงแค่พ่อค้าชาวจีน แขก และชาวตะวันตก แต่กล่าวถึงพ่อค้ากะเหรี่ยงจากเมืองเหนือด้วย 

พระองค์ทรงเป็นพ่อค้า ต้องเจอคนมากหน้าหลายตาทำการค้ากับพ่อค้าคนชาตินั้นชาตินี้ ในทางการเมือง ต้องเจอกับเจ้าเมืองท้องถิ่น หรือคนที่เข้ามาติดต่อปฏิสัมพันธ์ทางการทูตกับราชสำนักสยาม เติบโตในบริบทที่หูตากว้างไกล ปวีณาอธิบาย

27 ปีแห่งรัชสมัย เศรษฐกิจพุ่ง 

องค์ความรู้อิมแพคต์ หนุนคน ทันโลก

ปวีณามองด้วยว่า ภายใน 27 ปีของการครองราชย์ ทรงเป็นที่นับถือมาก ไม่ใช่แต่ พระเดช ในการจัดการสถานการณ์เหล่านั้น แต่เป็น พระคุณ ด้วย

บริบทสังคมทั่วไป พสกนิกรยังไม่ไกลจากเหตุการณ์เสียกรุงมากนัก คนยังอกสั่นขวัญแขวน คนในสังคมยังอยู่ในป่า ยังไม่อยู่ในเขตเมือง ยังกลัวพม่า แต่ความเจริญก้าวหน้าเข้ามาจ่อแล้ว การค้ามา พ่อค้าเข้ามา คนทั่วไปต้องมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อค้า อย่างน้อยต้องชาวจีน แรงงานคนจีน

สิ่งที่ทรงทำแล้วมี Impact มากคือการสถาปนาองค์ความรูัเกี่ยวกับโลก จินตนาการถึงสังคมในยุคนั้นที่มีการแบ่งชนชั้นมูลนาย กับชนชั้นไพร่ทาส การสถาปนาความรู้เกิดขึ้นผ่านชนชั้นมูลนาย แต่รัชกาลที่ 3 ทำให้ความรู้เหล่านั้นเผยแพร่สู่ประชาชนผ่านวัด ในช่วงเวลาที่คนในสมัยนั้นมีคติเรื่องโลก โลกไตรภูมิ โลกที่มีเขาพระสุเมรุอยู่ตรงกลาง โลกที่มีเขาสัตบริภัณฑ์ที่อยู่รอบเขาพระสุเมรุ

แต่ในหนังสือจะพูดถึงโลกหรือโลกที่เป็นจริง โลกที่เคารพความเป็นจริง มีภูเขา มีทะเล มีพ่อค้าในทะเล พ่อค้าบนแผ่นดิน สังคมไม่ได้มีแค่ชาวสยาม สังคมผู้คนเวลาแตกต่างกัน ต่างชาติ ภาษา สิ่งนี้บรรยายอยู่ในวรรณกรรม นางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ บรรยายว่าโลกในยุคนั้นเป็นอย่างไร ในขณะเดียวกันไม่ได้มีแค่เรื่องโลก แต่มีองค์ความรู้อย่างอื่นที่ท่านและปัญญาชนเครือข่าย ซึ่งเป็นความรู้เหมาะกับสมสถานการณ์ และบริบทยุคนั้น 

ประโยชน์ในโลกนี้ เนื้อนาบุญในโลกหน้า 

เมื่อวัดตอบ 2 โจทย์ ประชาชนล้วนต้องการ

ส่วนประเด็นการสร้างวัด นักวิชาการท่านนี้เชื่อว่า ไม่ใช่พระราชนิยมที่ทำเพื่อเติมเต็มอะไรบางอย่างในจิตใจ แต่สร้างเพื่อประโยชน์ หลังจากบ้านเมืองเพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์เสียกรุง วัดถูกเผา เมืองถูกเผา จึงสร้างวัดใหม่ โดยเน้นการบูรณะ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นต้น

ทรงนิยมสร้างวัด นำองค์ความรู้เหล่านี้แปะผนังวัด อีกสิ่งหนึ่งคือการมีการอุปถัมภ์พระสงฆ์ ซึ่งนอกจากเป็นผู้นำศาสนา ยังเป็นครูด้วย และเตรียมความรู้ให้ประชาชนรู้เรื่องโลกนี้ โลกที่ประชาชนต้องรู้เท่าทัน

ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ทรงเป็นเหมือนกษัตริย์อยุธยามีข้อปฏิบัติตาม คติธรรมในพระพุทธศาสนา ต้องเป็นกษัตริย์ที่ดี ตามคติธรรมศาสนา การที่ทรงสร้างวัดคือเกิดการนำธรรมมาสู่ประชาชน

ประชาชนรู้ว่าใครเป็นผู้มีอำนาจ แต่ไม่เห็นและไม่สามารถจับต้องกับอำนาจได้ว่ารูปแบบไหน การที่สร้างวัด ทำให้เกิดความรับรู้ที่ลึกซึ้งมากขึ้น ทำให้รู้ว่าไม่ได้สงวนอำนาจไว้แต่พวกเขา แต่มีการเผยแผ่มาให้เราด้วย และสิ่งที่ให้มานั้นมีประโยชน์กับชีวิตจริงในโลกนี้ แม้บริบทจะเปลี่ยนแต่คติไตรภูมิยังอยู่ คนยังคาดหวังชีวิตที่ดีในโลกหน้า แต่วัดตอบโจทย์ 2 โจทย์คือ ความรู้ที่ใช้ในชีวิตนี้ และเนื้อนาบุญในภายภาคหน้าด้วย สิ่งที่รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิบัติเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ ปวีณาทิ้งท้าย 

ปิดจบครบประเด็น สะท้อนให้มองเห็นทั้งภาพหลักและภาพรอง ภาพรวมและภาพลึก ของอำนาจนำพระนั่งเกล้าที่ชวนให้ไปอ่านต่อแบบเต็มๆ ในเล่มฮิตได้แล้ววันนี้

เตชิต เสาะแสวง

กันยา เกิดแก้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image