‘ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์’ ถอดส้นสูง มองคนเท่ากัน ‘สมรสเท่าเทียมผ่าน แต่ยังต้องทำงานกันอีกเยอะ’

‘ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์’
ถอดส้นสูง มองคนเท่ากัน
‘สมรสเท่าเทียมผ่าน แต่ยังต้องทำงานกันอีกเยอะ’

“เพราะเราเชื่อในความเป็นคนเท่ากัน เราเชื่อในศักดิ์ศรีมนุษย์ที่เท่ากัน”

ครูธัญ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปล่งเสียงที่ปนไปด้วยความศรัทธา คือหนึ่งในหัวหอกผู้ร่วมผลักดัน นับตั้งแต่วันแรก ที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ก้าวเข้าสู่สภา 18 มิถุนายน 2563

กระทั่งวันนี้ 18 มิถุนายน พุทธศักราช 2567 ถูกจารึกว่าคนไทยเชื้อสาย LGBTQ+ สามารถตั้งรากฐานสร้างครอบครัว จดทะเบียนสมรสรักแบบไร้เส้นแบ่งทางเพศได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

Advertisement

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านด่านสุดท้าย ในสัปปายะสภาสถานอันทรงเกียรติ ด้วยเสียงหนุน 130:4 งดออกเสียง 18 จาก 152 คน ในองค์ประชุม

ส่ง ‘ไทย’ เป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผ่านกฎหมายประวัติศาสตร์ นับเป็นก้าวแรกของของการคืนเกียรติศักดิ์ศรีให้แก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ

Advertisement

กว่า 12 ปีในนามส่วนตัว และ 4 ปีในฐานะตัวแทนพรรคก้าวไกล เคี่ยวเข็ญวาระสำคัญด้วยความมุ่งมั่นไม่ลดละ

หากแต่ตัวตนที่แท้จริงของ ‘ครูธัญ’ กลับเรียบง่ายกว่านั้น เป็นลูกคนสุดท้อง น้องของอีก 5 คน เป็นคนกรุงเทพฯ ที่หลงใหลในคลื่นทะเล ใช้เวลาวันว่างไปกับการนั่งพักผ่อนริมหาดพัทยาชิล..ชิล พร้อมจกข้าวเหนียวส้มตำ ดื่มด่ำบรรยากาศอันไพรเวต

แอบกระซิบตรงๆ ว่า เป็นคนอินโทรเวิร์ตมากๆ

แต่พร้อมออกมาเปิดหน้าสู้เพื่อคนหมู่มาก เพื่อกฎหมายที่เท่าเทียม เพราะเชื่อในความ ‘คนเท่ากัน’

ต่อไปนี้คือบทสนทนาที่พรั่งพรูออกมาด้วยความปลาบปลื้มใจ บางช่วงหวนอดีตของกลุ่มเพื่อนกะเทยในวัยเด็ก ที่เคยจินตนาการถึงความฝัน อันไม่นึกว่าจะมีทางเป็นไปได้

⦁ โมเมนต์ที่รู้ว่ากฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านเรียบร้อยแล้ว?

เป็นช่วงเวลาที่เกิดขึ้นหลากหลายความรู้สึกมาก ย้อนกลับไปในช่วงที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านวาระหนึ่ง ครูธัญก็รู้สึกว่าตัวเบาๆ มีความว่างเปล่า เลยอยากใช้เวลากับตัวเอง ขึ้นไปบนรูฟท็อปของสัปปายะสภาสถาน เป็นอาคารรัฐสภา ไปยืนนึกถึงเรื่องราวที่ผ่านมา มองฟ้าไปเรื่อยๆ

เรานึกถึงหน้าตาทุกคนที่สูญเสียโอกาส สูญเสียชีวิต คิดถึงเพื่อนเราที่เคยร้องไห้ คิดถึงความเป็นไปไม่ได้ในอดีต คิดถึงสมัยกลุ่มกะเทยเด็กของเราที่คิดหรือจินตนาการชีวิตตัวเองไม่ออก และดูเหมือนไม่มีทางจะเป็นไปได้ นึกถึงเรื่องเล่า หน้าตาประชาชนที่เคยไปพบ เคยไปพูดคุย ที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของเขา ว่าเขาต้องการสมรสเท่าเทียมมากแค่ไหน เราอยากใช้เวลาเพื่อนึกถึงพวกเขา

และเพื่อย้ำเตือนว่า การเฉลิมฉลองมันก็สามารถเฉลิมฉลองได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด เราต้องไม่ลืมความสูญเสีย เราต้องบอกกับตัวเองเสมอว่า ‘อย่าถอย’ ต้องสู้กับปัญหาที่เกิด อย่าหลงประเด็นว่าเราทำเรื่องนี้เพื่ออะไร

⦁ ย้อนกลับไปในช่วงเวลาก่อนผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีความคิดริเริ่มอย่างไร?

กว่าจะมาถึงจุดนี้ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ LGBTQ+ มักอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถก่อตั้ง สร้างรากฐานครอบครัวได้ เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องที่ LGBTQ+ ทุกคนไม่สามารถที่จะจินตนาการชีวิตอนาคตของเราได้ เราไม่มีนิทาน ไม่มีเรื่องเล่าใดที่จะบอกเล่าเรื่องราวการสร้างครอบครัวให้คนอื่นๆ ได้รับรู้

จุดพลิกผัน (Turning Point) ของเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 เขาถอด LGBTQ+ ออกจากบัญชีโรค ที่ว่าการรักเพศเดียวกันเป็นความผิดปกติทางจิต ซึ่งหมุดหมายนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทั่วโลกมองว่าเราไม่ได้ผิดปกติ แต่คำว่าเพศต้องอธิบายใหม่ว่าคือ เพศวิถี เพศสภาพ มันคือความหลากหลายในสังคม ทำให้ทั่วโลกมองว่า LGBTQ+ เขาเสมอภาคกับคนทั่วไปหรือไม่ เพราะเขาอยู่ในโครงสร้างสังคมที่มองพวกเขาว่าผิดปกติ

จึงเกิดมูฟเมนต์การเคลื่อนไหว ผลักดัน LGBTQ+ ขึ้นทั่วโลก ยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศส มีเรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ในเรื่องการก่อตั้งครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดกันทั่วโลก ในประเทศไทย สมัยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีคู่รักเข้าไปจดทะเบียนสมรสกัน ชื่อ นที ธีระโรจนพงษ์ และได้รับการปฏิเสธกลับมา เพราะว่าเป็นคู่รักชายรักชาย ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หลังจากนั้น นที ก็นำเอกสารต่างๆ มายื่นสู่รัฐสภา ซึ่งในขณะนั้นทางหน่วยงานพยายามที่จะหาทางออกว่าควรทำอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้

จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพูดคุยถึงปัญหา ซึ่งในขณะนั้นทั่วโลกกำลังพูดถึงเรื่อง ‘คู่ชีวิต’ จึงเป็นไอเดียหลักในว่า เราควรจะมี พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือไม่

⦁ ในตอนนั้น สมรสเท่าเทียมเป็นเพียงข้อเสนอ?

คำว่า ‘สมรสเท่าเทียม’ เป็นเพียงข้อเสนอสำหรับยุคนั้น ซึ่งประเทศต่างๆ ก็เริ่มดำเนินเรื่องเช่นนี้อยู่แล้วบ้างเหมือนกัน ไอเดียตรงนี้จึงนำมาสู่การส่งผ่านมาทางประเทศไทย โดยนักวิชาการ อาจารย์ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร หรืออ๋อง นำไอเดียสิ่งนี้ไปปรับให้เหมาะกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ช่วงนั้นเรากำลังสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล ได้ศึกษาถึงนโยบายสาธารณะ เราก็มาดูข้อเสนอระหว่าง คู่ชีวิตกับสมรสเท่าเทียม เพราะตอนนั้นเป็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การแก้ไขจากชาย-หญิง ให้มันเท่าเทียม เราจึงหยิบงานของอาจารย์ชวินโรจน์ มาศึกษาต่อ และมาเดเวลอป เป็นร่างของพรรคก้าวไกล และได้มีการเปลี่ยนอายุสมรสเป็น 18 ปี เพิ่มโหมดการหมั้นเข้าไป ให้ครอบคลุมการก่อร่างสร้างครอบครัวได้ จึงเป็นที่มาของการยื่นกฎหมายสมรสเท่าเทียม เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ในวันนั้น

⦁ ต่อสู้มายาวนานแค่ไหนแล้ว?

กว่า 12 ปี จากคู่รัก LGBTQ+ ที่ไปจดทะเบียนสมรส และไม่สามารถจดทะเบียนได้ในวันนั้น สู่การเคลื่อนไหว การร่วมทำงานหลายภาคส่วน ทั้งฝ่ายรัฐสภา ภาคประชาชนบางกลุ่มที่ต้องการยกร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับภาคประชาชน มีการเคลื่อนไหวต่อมาเรื่อยๆ ซึ่งการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็เป็นเรื่องที่คนพูดถึงจำนวนมาก มีหลายกลุ่มก้อนที่ทำงานกับภาครัฐ

แต่ถ้าในนามพรรคก้าวไกล สมรสเท่าเทียมได้เข้าสู่สภาปี 2563 จนกระทั่งผ่านวาระ ใช้เวลา 4 ปี จริงๆ เรื่องนี้ควรเกิดขึ้นตั้งนานแล้ว หากเราต้องย้อนไป 12 ปีก่อน เรานึกไม่ออกว่า ‘สังคมต้องเกลียดชัง และไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศมากแค่ไหน’ ได้รับคำบอกเล่าจากคณะทำงาน มีชุดความคิดที่บอกว่า อย่าไปแก้ไขกฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ มันเป็นของชายหญิง หรือมองว่ากลุ่มคนเหล่านี้ต้องพบแพทย์ก่อน ถึงจะจดทะเบียนกันได้ ยังมีการไม่ยอมรับอยู่ในสังคมจริงๆ เราคิดว่า 12 ปีนานเหลือเกิน เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด และเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด เพราะคือสิ่งที่ถูกพรากไป

⦁ ที่ผ่านมาถูกกีดกันอะไรบ้าง?

เราอยู่ในสังคมที่เขามองว่าเราเป็นพวกผิดปกติมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการทำงาน โอกาสในการนำเสนอความคิดของเรา ซึ่งน้อยกว่าชายหญิงทั่วไป ในหลายๆ ครั้งเรามีความรู้สึกว่า เรื่องที่เรากำลังจะพูด ก็เหมือนกับเรื่องที่ผู้ชาย หรือผู้หญิงคนนั้นพูด แต่เราก็เห็นได้ชัดเจนว่า เรื่องเดียวกันที่ออกมาจากปากของ LGBTQ+ มักถูกได้รับการยอมรับน้อยกว่า

เหตุการณ์ในอดีต เราเคยออกแบบท่าเต้น ทำโชว์ มักมีการแข่งขันเสมอ การนำเสนอความคิดของเรา แน่นอนว่าเรื่องของเราเป็นเรื่องที่ถูกจำกัดไว้ว่า ภาษาหรือการนำเสนอของเราอาจจะไม่ถูกจริตกับลูกค้าบางกลุ่ม หรือแม้กระทั่งเคยเป็นคอมเมนเตเตอร์ รายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง มีระดับทุนใหญ่ของประเทศไทยเขาบอกว่า ‘ทำไมครูธัญทำผมตลกจังเลย’ พอเราอยู่ตรงนั้น เรารู้สึกว่า นายทุนรายใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อการสนับสนุนรายการ ไม่ชอบเรา มันทำให้รู้สึกถึงคำว่า ‘โอกาสมันน้อยลง’

⦁ เหมือนกับว่าเมื่อก่อนเสียงของเรายังไม่ดังพอ ที่จะสามารถต่อรองใครได้?

อำนาจต่อรองสำหรับ LGBTQ+ เป็นสิ่งที่ต้องร้องขอ ทั้งที่เรามีความสามารถในการทำงานบางอย่าง นอกจากคำพูดทั่วไปที่คนมองเราว่า เราเป็นพวกผิดเพศ ในบางยุคมีคำสั่งออกมาเลยว่า ห้ามคนที่มีลักษณะแบบนี้ออกโทรทัศน์หรือเล่นละครเลย โดยให้เหตุผลว่า กลัวเด็กและเยาวชนจะเลียนแบบ จึงมีข้อถกเถียง มองว่า LGBTQ+ แกล้งเป็น หรือชอบเป็น คนที่เป็น LGBTQ+ มันเป็นมาตั้งแต่เริ่มต้น แต่เป็นชุดความคิดที่สังคมยังไม่เข้าใจ

⦁ เงื่อนไขทางเพศมีเยอะ นอกเหนือจากสิทธิต่างๆ ที่ควรจะได้รับเท่ากับคู่ชาย-หญิง ยังมีสิ่งใดอีก?

เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน จะเกิดความเท่าเทียมในสิทธิสวัสดิการโดยทันที การลดหย่อนภาษี หน้าที่ในการบริหารทรัพย์สินร่วมกัน เท่าคู่สมรสชายหญิงทั่วไป สิ่งหนึ่งที่ต้องเปลี่ยน คือเรื่องของสังคมในระดับโรงเรียน ในวันนี้เด็กที่เป็น LGBTQ+ ยังคงโดนล้อ ยังเป็นตัวตลกขบขันในกลุ่มเพื่อน ในกลุ่มสังคม เด็กเหล่านี้ต้องยอมลุกขึ้นมาเพื่อบอกว่า ‘เขาได้รับการยอมรับจากรัฐแล้ว’ สามารถจินตนาการครอบครัวของเขาตั้งแต่เด็ก ว่าอนาคตเขาสามารถสร้างครอบครัวได้ เป็นเรื่องเล็กๆ ที่มีความหมายต่อเด็กคนหนึ่งมาก

⦁ ระบบการศึกษาก็มีส่วนด้วยในเรื่องนี้?

ระบบการศึกษาที่เราพร่ำบอก พร่ำสอนคนในสังคมว่า LGBTQ+ คือคนผิดบาปทางเพศ หรือผิดเพศ จะส่งผลถึงการยอมรับของนานาชาติว่า ประเทศไทยเราโอบรับความหลากหลาย ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน เปลี่ยนแปลงไปถึงการเติบโตด้านเศรษฐกิจ ที่จะมีคนเข้ามาท่องเที่ยว ที่คนจะมาลงทุนในครอบครัวของตัวเอง ทั้งหมดทั้งปวง คือการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทั้งสิ้น แต่ยังไม่มากพอเท่าคนข้างๆ เรา คือการที่เพื่อนของเรา มีความสุขกับคนที่เขาตัดสินใจใช้ชีวิตกับใครสักคน

⦁ กฎหมายที่อยากให้รองรับเพิ่มเติม?

สมรสเท่าเทียม สังคมโดยรวมยอมรับ แต่คำนำหน้า นาย นาง นางสาว หรือคำระบุเพศ ที่กำลังยื่นกฎหมายต่อภายในเดือนกรกฎาคม เราคิดว่ามันเป็นประเด็นที่ยาก ในเวลาที่พูดถึงเรื่องสมรสเท่าเทียมคนจะยอมรับ แต่พอพูดถึงเรื่องคำนำหน้า คนจะยอมรับครึ่ง-ครึ่ง โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท้าทาย จะมีชุดความคิดที่ว่ากลัว LGBTQ+ เป็นเรื่องที่ต้องผลักดันต่อไป

⦁ เชื่อว่ากฎหมายจะนำพาให้ชีวิตของชาว LGBTQ+ ราบรื่นขึ้นได้?

กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ ต้องเผชิญกับสิ่งที่เขาต้องตัดสินใจ กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นสิทธิที่เขาจะใช้ หรือไม่ใช้ก็ได้ แต่ก็ไม่ได้ประกันว่ามันจะไม่มีความรุนแรงในครอบครัว ไม่มีการหย่าร้างกัน สิ่งหนึ่งที่ต้องรับมือ คือหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งความรุนแรงในครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ แตกต่างกันอย่างไรกับกลุ่มชายหญิง และมีวิธีการรับมืออย่างไรที่แตกต่างกัน ครอบครัวทุกครอบครัว มีทั้งสุขและทุกข์ เกิดขึ้นกับทุกเพศ เช่นเดียวกับรัฐก็ต้องเตรียมรับมือในหลายๆ ประเด็นเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคต

⦁ มีคำพูดที่ว่า สมรสเท่าเทียม คือการกดให้ชายหญิงไปเท่ากับ LGBTQ+ คิดเห็นอย่างไร?

ต้องถามก่อนว่า คนที่เขาพูด ถอดส้นสูงออกหรือยัง? ต้องมองดูว่าในสิ่งที่บุคคลนั้นพูด เขาเขย่งอยู่หรือไม่ หากเขย่งอยู่ อยากให้วางส้นลง แล้วอยู่บนพื้นฐานของคนธรรมดาทั่วไป ติดดินเหมือนกับประชาชนทั่วไป เขาจะเข้าใจเองว่าไม่ได้เป็นการดึงเขาลงมาต่ำ เพราะว่าเราต้องมองทุกคนให้เท่ากัน นั่นคืออุดมการณ์สำคัญ คุณค่าของประชาชนทุกคนเท่ากันทั้งประเทศ หรือแม้กระทั่งทั่วโลกควรจะยึดถือร่วมกัน

⦁ มองภาพความสำเร็จในวันนี้ เชื่อว่าจะปูทางสังคมไทยให้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติได้จริงหรือไม่?

คำพูดจากชายจริงหญิงแท้ บางคำก็ทำให้เราแอพปรู๊ฟขึ้นมาว่ามันเปลี่ยนกฎหมายได้ แต่มันไม่ได้เปลี่ยนความเข้าใจของคน และยังมีชุดความคิดที่ตัดสิน LGBTQ+ ในเชิงลบ ในทางที่ไม่ดี การเลือกปฏิบัติทางเพศ มันไม่ได้ออกมาเป็นรูปธรรมที่สามารถอธิบายได้ แต่คนกลุ่มนี้ยังอยู่ในสังคม และเหตุการณ์ยังเกิดขึ้นซ้ำๆ จนจับได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น ความเกลียดชังหรือไม่เข้าใจตรงนี้ มันเกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่เปิดรับ เรายังต้องทำงานกันอีกเยอะ แม้เรื่องกฎหมายผ่านไปก็จริง แต่เราต้องทำงานเรื่องการสื่อสาร เรื่องการศึกษา เรื่องสื่อมวลชน เรื่องความเข้าใจ ต้องมีหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยกันทำให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น ให้เป็นเรื่องทั่วไปให้ได้

⦁ Sex worker จะยังผลักดันต่อไปหรือไม่?

เป็นเรื่องที่ส่วนตัวและพรรคก้าวไกลจะยังผลักดันต่อแน่นอน โดยที่ร่างกฎหมายเสร็จสิ้นเรียบร้อย ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 กฎหมายที่ยื่นเข้าไปก่อนหน้านี้ถูกปัดตก เหตุผลคือรับในหลักการ แต่ร่างของ พม.ยังไม่เสร็จ เราก็ไม่รู้ว่าจริงไหม แต่เขาไม่ควรปัดตก ซึ่งเราไม่ได้เครียดในประเด็นดังกล่าว แต่ในประเด็น Sex worker เมื่อเข้าสภา เขาจะปัดตกอีกเหมือนการรับรองเพศสภาพไหม ฉะนั้นเขามีเหตุผลต่างๆ มากมาย และเรากลัวการไม่ยอมรับว่าคนเราเท่ากัน เราคิดว่าความเท่าเทียมทางเพศตอนนี้ ใครพูดก็ดูดี ใครมีโลโก้ก็ดูดี ใครติดธงสีรุ้งก็ดูดี แต่ต่อจากนี้ความจริงใจมันก็ปรากฏขึ้นมาว่า เอ๊ะ! คุณจริงใจกับความหลากหลายทางเพศจริงหรือไม่

⦁ มักมีคำพูดว่า LGBTQ+ต้องมีความสามารถพิเศษ คำเช่นนี้เป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นเพียงข้อพิสูจน์ตัวตน?

เราคิดว่ามีส่วนจริง เพราะว่าสังคมมักกดดันเรา เราต้องการที่จะมีพื้นที่ทางความคิด ในสิ่งที่เราพูดหรือสิ่งที่เราคิด เราจึงมีความพยายามมากกว่า แต่ถามว่าต้องมีความสามารถพิเศษด้วยไหม? เราคิดว่าไม่ใช่ เมื่อสังคมกดดันเรา เราจึงต้องออกแรงมากกว่าคนอื่น ในการดำเนินชีวิตมากกว่าคนอื่น และบางครั้งคนทั่วไปก็อาจจะมองว่าชีวิตเราต้องเก่งอะไรสักอย่างเพราะการเป็นเพศทางเลือก มันไม่ได้ถูกยอมรับ ซึ่งเราคิดว่ามีส่วนจริงอยู่

⦁ อยากบอกอะไรเด็กรุ่นใหม่ที่ยังไม่กล้าเปิดเผยตัวตน?

เป็นให้กำลังใจ เพราะตอนที่เราเป็น ส.ส. อย่าว่าแต่เด็กเลย บางคนก็ยังต้องปิดบัง เด็กบางคนเปิดตัวตนไปแล้วที่บ้านก็ไม่ยอมรับ บางคนไม่สามารถใช้ชีวิตกับคนที่เขารักได้ คิดสั้นก็มี ในวันนี้ยังมีเด็กจำนวนมาก แต่ผู้ใหญ่ที่ปกปิดตัวเอง เราให้กำลังใจ และไม่คิดว่าต้องคาดคั้นว่าเราจะจะต้องเปิด มันขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม สังคมที่เขาอยู่ และการทำงานของเขา

เราได้แต่ให้กำลังใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาทรมาน เขาไม่สามารถเป็นตัวเองได้ ‘ถ้าลูกคุณเป็น LGBTQ+ คุณจะเสียใจไหม’ หรือถ้า ‘คุณมีเพื่อนร่วมงานที่เป็น LGBTQ+ คุณจะเสียใจไหม หรือคุณจะเกลียดเขาไหม’ เรื่องนี้เราต้องทำความเข้าใจกับสังคม

⦁ โมเมนต์พิเศษจากคนรอบข้าง?

ส่วนตัวที่บ้านไม่เคยพูดเรื่องนี้เลยว่า ‘ครูเป็นกะเทย’ เราอยู่ในบ้านที่พ่อแม่ และคนในครอบครัวยอมรับ ไม่มีใครพูดว่าเราเป็นเพศอะไร แต่เคยมีโมเมนต์พี่ชายไปฟ้องแม่ว่า เราชอบเล่นเป็น ‘สาวน้อยมหัศจรรย์’ (หัวเราะ) แต่แม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร แกก็ยิ้ม ตอนนั้นเรามีโมเมนต์ ทำไมพี่ขี้ฟ้องจัง มันเป็นความลับหรือ เราคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำ

ทางครอบครัวยอมรับ เพราะว่าเราชอบเต้น เราก็แอบไปเรียนเต้นบัลเลต์เอง ถามว่าขอแม่ได้ไหม ก็ไม่กล้าขอ แต่เราก็คิดว่าแม่รู้ เพราะเราก็เริ่มหัดยกขาให้แม่เห็น สักพักแม่ก็พาไปเรียนเลย เรียนที่ถนนหลังสวน ตอนนั้นผู้ชายเรียนฟรี เก็บเงินค่าซื้อรองเท้า แล้วก็เข้าไปเรียนเลย ที่บ้านเป็นเหมือนเซฟโซน ทำให้รู้สึกไม่อึดอัดเรื่องเพศ

⦁ แล้วนอกบ้านล่ะ?

เคยมีบางช่วงที่เราไปประกวดเวที หรือไปงานต่างๆ เราต้องทำให้ตัวเองดูเป็นผู้ชายนิดนึง จะไปสวยแบบ ใหม่ เจริญปุระ, ทาทายัง ก็คงไม่ได้ในสมัยนั้น

⦁ถ้าจะนิยามตัวตนของ ‘ครูธัญ’?

ตัวตนเราเป็น Gay (เกย์) โดยความเป็นเกย์ของเราก็ไม่ได้มีความเป็นผู้ชาย จะออกไปทางทรานส์เจนเดอร์ ที่หมายถึงไม่ได้อยากทำอะไรกับร่างกายนอกจากไว้ผมยาว ไม่ได้อยากอะไรที่ทำให้มันซับซ้อนกับร่างกาย แต่ในชีวิตจริง คนที่เรียกครู ก็จะเรียกว่า คุณแม่ (หัวเราะ) ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่เราถามตัวเองอยู่ ว่าเราเป็นอะไร แต่ด้วยลักษณะตัวตน เราไม่ค่อยแต่งตัวเยอะ ชอบแต่งตัวสบายๆ สิ่งที่จะประสบพบเจอคือ ‘มึงไม่สวย แต่งตัวโทรม ใส่กางกางวอมเสื้อยืดขาดๆ ผมไม่หวี หัวฟู’ นี่คือครูในสมัยก่อน และจะถูกเลือกปฏิบัติ การแต่งตัวก็เป็นส่วนสำคัญในการที่อีกฝ่ายจะมีเฟิร์สอิมเพรสชั่นด้วย

⦁ มีสมรสเท่าเทียมแล้ว แล้วอยากจดทะเบียนสมรสไหม?

อยาก แต่ยังไม่มีคนจด (หัวเราะ) มีคนถามเข้ามาเยอะมาก ว่าทำเรื่องสมรสเท่าเทียมเพื่อตัวเองหรือเปล่า แต่ขอยืนยันว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ควรเกิดขึ้นอยู่แล้ว เราทำเพื่อคนส่วนรวม

แม้ตัวบทกฎหมาย จะหนุนให้ ‘สมรสเท่าเทียม’ เกิดขึ้นได้จริง แต่ยังเป็นเพียงจุดสตาร์ตที่หน่วยงานภาครัฐยังต้องสร้างรากฐาน ล้างอคติที่หยั่งลึก เพื่อรับประกันว่าสิทธิของ LGBTQ+ จะได้รับการคุ้มครองอย่างถูกต้องและเท่าเทียมกับคนทุกเพศ

ชญานินทร์ ภูษาทอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image