‘เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างนอก’ ประมูลงานศิลป์ล้ำค่า สร้างที่พักพิงให้ผู้ลี้ภัย2ล้านคนทั่วโลก

สถานการณ์ผู้ลี้ภัยโลกได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่ขาดแคลนที่พักพิง

ตัวเลขจาก ยูเอ็นเอชซีอาร์ หรือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติที่มีภารกิจหลักในการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยทั่วโลกบอกว่า ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยมากถึง 65 ล้านคนทั่วโลก โดยในประเทศไทยมีมากกว่า 106,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่คือเด็ก ผู้หญิง ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ที่ต้องอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยยาวนานกว่า 30 ปี

โดยพื้นที่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากภัยสงครามจนมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย อาทิ อัฟกานิสถาน จอร์แดน เลบานอน รวันดา และสาธารณรัฐชาด เป็นต้น ซึ่งประสบปัญหา ขาดที่พักพิง

ยูเอ็นเอชซีอาร์ ร่วมกับ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) จึงมีความประสงค์ในการส่งมอบความช่วยเหลือแก่เพื่อนมนุษย์ ผ่านการดำเนินการจัดงานแสดงผลงานศิลปะและงานประมูลผลงานศิลปะ ภายใต้แนวคิดการระดมทุนระดับโลกในชื่อโครงการ “Nobody Left Outside” หรือ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างนอก” ซึ่งเป้าประสงค์ของการจัดงานแสดงผลงานศิลปะและงานประมูลผลงานศิลปะในครั้งนี้ เพื่อนำรายได้ช่วยเหลือและมอบที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยจำนวน 2 ล้านคน ใน 12 ประเทศทั่วโลกที่กำลังเผชิญวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยอยู่ ณ ขณะนี้

Advertisement

01

สุริยา นามวงษ์ ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA) ที่ช่วยประสานงานกับศิลปินในการสร้างสรรค์เพื่อโครงการนี้โดยเฉพาะ เกริ่นว่า เคยทำงานประมูลมาแล้วหลายครั้ง ทั้งประมูลศิลปกรรมแห่งชาติและประมูลออนไลน์ เราก็จะเห็นว่างานศิลปะสามารถระดมเงินทุนได้

“จึงเสนอท่าน ว.วชิรเมธี ว่าถ้าจะทำประมูลจริงๆ เราให้งานศิลปะเป็นตัวนำดีกว่า ส่วนรายได้จะตามมาเอง เพราะถ้างานดี เราเชื่อมั่นว่าการระดมทุนจะดีตามมา แต่ถ้างานไม่ดี การประมูลก็จะยิ่งเหนื่อย เมื่องานดีแล้ว เราจะเชิญเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เขาชอบงานศิลปะมาประมูล เขาก็จะอยากมา”

Advertisement

ชิ้นงานศิลปะที่นำมาประมูลในครั้งนี้มีทั้งชิ้นงานเดิมและชิ้นงานที่สร้างขึ้นใหม่

ชิ้นงานเดิมที่ศิลปินสร้างไว้ เช่น “คู่รัก” ประติมากรรมเบอร์ 1/10 ของ อ.นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (วิจิตรศิลป์) ที่สร้างในปี 2559 ก่อนท่านจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา

สุริยา นามวงษ์
สุริยา นามวงษ์

“งานที่ทำขึ้นมาใหม่ เช่น ภาพ “ใจดำ” ของ ประทีป คชบัว

“พี่เขาดูข่าวผู้ลี้ภัยในประเทศไทยนั่นคือเผ่าโรฮีนจา เขียนเป็นเรือในทะเลที่แห้ง แต่บนฝั่งของสองประเทศไม่มีใครช่วยเหลือ เอาปืนจ่อ เรือมีควันขึ้นมา ในกลุ่มควันสีดำนั้นมีคนกำลังกรีดร้องด้วยความทุกข์ เป็นแนวเซอเรียล”

“อย่าง วีระศักดิ์ สัสดี ศิลปินรุ่นใหม่ที่ได้รับความนิยมจากนักสะสม เขียนมากี่รูปก็หมด งานดีๆ ของเขาก็ไม่มีโอกาสได้เห็น เพราะคนซื้อแล้วเก็บไว้ที่บ้าน คุณวีระศักดิ์มีโอกาสไปที่ค่ายผู้ลี้ภัยที่ จ.ตาก ได้เห็นความแออัดของชุมชนในค่าย เกิดข้อสงสัยว่าทำไมเด็กเยอะจังเลย เขาเขียนภาพผู้หญิงอุ้มท้อง 3 คน บนหัวแบกภาระ พันธนาการไว้มากมาย” สุริยาอธิบาย

05

ก่อนบอกถึงความมุ่งหวัง 3 อย่าง

1) เราอยากให้งานสร้างสรรค์งานศิลปะเป็นสิ่งนำทาง เพราะถ้าเราจัดกิจกรรมงานประมูลทั่วๆ ไป จะได้กิจกรรมที่ไม่ได้เกิดการสร้างสรรค์อะไรขึ้นมา แต่พอเราเจอแบบนี้ จะเห็นว่าสิ่งที่จะพูดกับประชาชนได้นั้นไม่ใช่แค่คำพูด แต่มันคือภาพที่ศิลปินแสดงออกมาด้วย และศิลปินได้เอาใจ เอาความคิดไปวิเคราะห์ ตระหนักถึงปัญหาแล้วแสดงออกมาให้เราเห็น เกิดเป็นงานสร้างสรรค์ออกมาชุดหนึ่ง เราสามารถพูดได้เลยว่าบางชิ้นเป็นผลงานมาสเตอร์พีซของศิลปินท่านนั้นได้เลย

งานมาสเตอร์พีซมันมีความสำคัญตรงที่ว่าอีกสัก 100 ปีข้างหน้า งานนี้ก็ยังเป็นงานศิลปะที่สามารถเป็นครูบาอาจารย์ให้กับนักเรียนรุ่นต่อไปได้ แต่ว่าถ้ามันเป็นงานที่ไม่ใช่มาสเตอร์พีซ อาจทำได้แค่ชื่นชมอย่างเดียว แล้วมันก็ค่อยๆ หายไป พอมันเป็นมาสเตอร์พีซมันจะเป็นมรดกของประเทศได้

2) เรามีความคาดหวังว่าคนไทยจะมีโอกาสได้แสดงออกถึงความเมตตาที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมาร่วมประมูล และ 3) คนที่มาร่วมประมูลจะได้ทำบุญและได้ของที่มีคุณค่า ได้ผลงานศิลปะที่มีคุณค่ากลับไปด้วย

สุริยาทิ้งท้ายว่า เราคัดงานที่มีคุณค่าจริงๆ ดังนั้น ในเชิงมูลค่าแล้วไม่ต้องกังวลว่าวันหนึ่งราคาจะตก ราคาไม่มีตกแน่นอน มีแต่จะพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น มันสามารถเป็น asset ได้ ได้ทั้งบุญ ได้ทั้งความมีคุณค่า

“งานนิทรรศการอาจจะมีแบบนี้บ่อยๆ แต่การทำประมูลในลักษณะนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ เป็นครั้งบุกเบิกที่เรากล้าเอางานราคาสูงมาประมูล ปกติงานราคา 3-4 แสน ประมูลได้สบายๆ งานแต่ละชิ้น เราเชื่อว่าถ้างานดีคนที่ได้จะรู้สึกว่าคุ้มค่าในวันข้างหน้า

“การให้งานศิลปะนำ คนประมูลได้งานที่ดีและได้ทำบุญ มันก็ได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย”

อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์
อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์

อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการแผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน (ประเทศไทย) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า เราทำงานร่วมกันกับหลายหน่วยงานคือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ มูลนิธิวิมุตตยาลัย พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย เขาใหญ่อาร์ตมิวเซียม และไฮบริดอาร์ต คอลเล็กเตอร์ เป็นหน่วยงานที่ร่วมกันจัดงานประมูลศิลปะในครั้งนี้ โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จะสมทบทุนโครงการ Nobody Left Outside เพื่อสร้างที่พักพิงให้กับผู้ลี้ภัย คาดว่าจะช่วยผู้ลี้ภัยได้ 2 ล้านคน ใน 12 ประเทศ

“คิดว่าท่าน ว.วชิรเมธี ต้องการให้ศิลปินที่เป็นชั้นแนวหน้าของไทยได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานระดับโลก เพื่อที่จะยกระดับความสามารถของศิลปิน หรือให้คนได้เห็นผลงานของศิลปินในระดับที่สูงกว่าในประเทศไทย เพราะว่าด้วยลักษณะโครงการระดมทุนแบบนี้ โดยการประมูลภาพศิลปะใน UNHCR ทั่วโลกไม่มีใครทำ ไทยจะเป็นประเทศแรกและเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ด้วย

“วัตถุประสงค์ของเรามีหลายด้าน หนึ่งในนั้นคืออยากให้คนไทยได้เห็นงานศิลปะ ได้มีวัฒนธรรมในการเสพศิลปะมากขึ้น เพราะไม่บ่อยที่มีการนำผลงานศิลปะทรงคุณค่ามาจัดแสดงร่วมกันแบบนี้”

โครงการนี้ได้รับเกียรติจากศิลปินระดับประเทศจำนวน 25 ท่าน จัดทำ และบริจาคงานศิลปะเพื่อร่วมนำไปประมูลหารายได้ในวันที่ 11 มีนาคม โดยจะมีการจัดแสดงผลงานศิลปะทั้ง 30 ชิ้น ระหว่างวันที่ 15-19 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน

ผู้สนใจเข้าร่วมการประมูล ติดต่อไปที่โทรศัพท์หมายเลข 09-7231-8166 หรือเฟซบุ๊ก www.facebook.com/UNHCR Thailand

08


ศิลปินที่เข้าร่วมโครงการ

ผศ.ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง จิตรกรที่มีชื่อเสียงในการเขียนภาพเหมือนจริง อาจารย์คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร นิติกร กรัยวิเชียร ช่างภาพผู้มีชื่อเสียงของเมืองไทย และนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ อาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ช่วง มูลพินิจ (ทายาทร่วมมอบผลงาน) ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ศ.ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)

เสงี่ยม ยารังษี ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ลำดับต้นของเมืองไทย นนทิวรรธน์ จันทะนะผลิน ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (วิจิตรศิลป์) ประทีป คชบัว ศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ลำดับต้นของเมืองไทย สมภพ บุตราช ศิลปินผู้มีชื่อเสียงของเมืองไทย อภิรักษ์ ปันมูลศิลป์ 1 ใน 84 ศิลปินโครงการศิลปกรรมพระประวัติและพระกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ศ.ชลูด นิ่มเสมอ (ทายาทร่วมมอบผลงาน) ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ชัชวาล รอดคลองตัน ศิลปินรุ่นใหม่ผู้ชำนาญด้านแสงและเงา

ธณฤษภ์ ทิพย์วารี อาจารย์คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร วีระศักดิ์ สัสดี หนึ่งในศิลปินที่ร่วมกิจกรรมร้อยใจศิลปินสืบศิลป์เมืองเชียงราย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อนุพงษ์ จันทร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิษณุพงษ์ หนูนันท์ ศิลปินรุ่นใหม่ที่ชำนาญด้านภาพเหมือน ลำพู กันเสนาะ ศิลปินรุ่นใหม่ผู้มีชื่อเสียง ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เอกชัย ลวดสูงเนิน ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ แถวหน้าของเมืองไทย บุญชัย เบญจรงคกุล ร่วมมอบผลงานในครอบครอง

คณชัย เบญจรงคกุล ช่างภาพแฟชั่นที่มีชื่อเสียง สุริยา นามวงษ์ ศิลปินและภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA) พรชัย ใจมา ศิลปินรางวัลศิลปาธรและผู้เชี่ยวชาญภาพจิตกรรมล้านนา วราวุธ ชูแสงทอง ศิลปินผู้ชำนาญด้านภาพเหมือน โดยเฉพาะภาพของพระบรมวงศานุวงศ์

และ เดวิด เล้า ช่างภาพชื่อดังชาวจีน อันดับ 7 ของโลกจากเวทีประกวดภาพถ่ายระดับนานาชาติของสมาคมถ่ายภาพแห่งสหรัฐอเมริกา

02

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image