103 วัน ก่อนหมดอายุความ 20 ปีคดี ‘ตากใบ’ เมื่อชาวบ้านลุกฟ้องรัฐ

ซาฮารี เจ๊ะหลง

103 วัน ก่อนหมดอายุความ
20 ปีคดี ‘ตากใบ’
เมื่อชาวบ้านลุกฟ้องรัฐ

หนึ่งในคดีความอันเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลสดใหม่ในยุคร่วมสมัยที่ยังไม่อาจลบเลือนจากใจของผู้คน หนีไม่พ้น ‘ตากใบ’ โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2547 เมื่อประชาชนราว 2,000 คนรวมตัวกันอย่างสงบหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 ราย แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่สลายชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง กระทั่ง ‘กระสุนจริง’ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุถึง 7 ราย บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง

หลังจากนั้น มีการรวบตัวผู้ชุมนุม 1,370 คน มัดมือไพล่หลัง บังคับนอนคว่ำทับซ้อนกันบนรถบรรทุกทหาร เพื่อขนย้ายไปยังสถานที่ควบคุมตัวในค่ายทหาร และนั่นคือที่มาของการเสียชีวิตของชาวบ้านอีกถึง 85 คน เนื่องด้วยการขาดอากาศหายใจ

ตลอดนานนับเนื่องเกือบ 2 ทศวรรษ ความยุติธรรมยังไม่บังเกิด คราบน้ำตายังไม่จางหาย ความทรงจำเจ็บปวดของคนในครอบครัวยังแจ่มชัดราวเพิ่งเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่

ย้อนไปเมื่อ 25 ตุลาคม 2566 ในงานครบรอบ 19 ปี เหตุการณ์ตากใบ มีการพูดคุยกันระหว่างผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิต ก่อนนำไปสู่ความต้องการฟ้องร้องเป็นคดีอาญาขึ้นก่อนที่คดีจะหมดอายุความ

ADVERTISMENT

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมที่ได้ให้ความช่วยเหลือแต่ต้น ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ติดตามความคืบหน้า ต่อมา กมธ.ได้เรียกเจ้าพนักงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง โดยในการชี้แจงเจ้าหน้าที่อ้างว่าในสำนวนคดีไต่สวนการตายพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนว่าไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด และในส่วนคดีอาญา ไม่รู้ถึงความคืบหน้ารวมถึงสถานะของสำนวนคดีอาญากรณีตากใบที่ต้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิด

ผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตจึงดำเนินการเตรียมฟ้องคดีอาญาต่อศาลจังหวัดนราธิวาสด้วยตนเอง พร้อมกับทีมทนายความจาก มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ

11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ ร้าน ฌ ฌอเฌอคอฟ ลาดพร้าวซอย 16 เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ทนายความ และชาวบ้านตากใบที่ลุกขึ้นมาฟ้องรัฐก่อนที่จะหมดอายุความ ร่วมพูดคุยกับองค์กรสิทธิมนุษยชนในหัวข้อ ‘20 ปีตากใบ: ความหวัง ความท้าทาย ในวันที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาฟ้องรัฐ ก่อนคดีจะหมดอายุความ’

อูเซ็ง ดอเลาะ ตัวแทนศูนย์ทนายความมุสลิม และชาวตากใบ, ซาฮารี เจ๊ะหลง หรือแบร์ แอดมินเพจพ่อบ้านใจกล้า และ แบมะ (สงวนชื่อจริง) ร่วมอัพเดตความคืบหน้า โดยมี พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมด้วยและต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของปากคำจากภาคส่วนต่างๆ ที่เอื้อนเอ่ยด้วยหัวใจอันบอบช้ำในโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครควรพบเจอ

ซาฮารี เจ๊ะหลง
สื่อใต้และตัวแทนภาคประชาสังคม
ท้ารัฐจริงใจ เปิดถกในสภา ก่อนสิ้นอายุความ

“บรรยากาศในพื้นที่ โดยเฉพาะประเด็นตากใบ สมัยนั้น นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ) ในตอนนั้นคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สื่อก็รายงานยาก ด้วยความซับซ้อนของคดี ถามว่าทำไมชาวบ้านเพิ่งฟ้อง มันเป็นความกลัว ด้วยอำนาจรัฐที่มี พยายามทำให้ประชาชนลืมเรื่องนี้ รัฐไม่รับความผิดพลาดตัวเอง ซ้ำยังกดทับไม่ให้จำได้ การที่ทำสำนวนหาย คือการบกพร่อง ละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการที่ชาวบ้านฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่เคยมีคดีแบบนี้มาก่อนใน 3 จังหวัด ต่างจากส่วนกลางที่มีการฟ้องเจ้าหน้าที่บ่อยครั้ง

เอฟเฟ็กต์ที่รุนแรง คือปฏิบัติการทางการทหาร การใช้อาวุธ ระเบิด มันคือเอฟเฟ็กต์ คือผลพวงจากปัญหาการเมืองที่ไม่ได้รับการคลี่คลาย การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจทางการเมือง เป็นปัญหาเรื่อยมา และเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์

อย่าลืมว่ามันจะ 20 ปีแล้ว เป็นประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวนาน ยิ่งกว่า แต่ตอนนี้ 20 ปี ยังมีญาติเหยื่อที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เสียชีวิต มีกฎอัยการศึก และกฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคงอีก 3 ฉบับ ซ้อนด้วยมาตรา 44 ที่เพิ่งยกเลิกไป มันมีอำนาจพิเศษซ้อนกัน 4 ชั้นอำนาจ มากองอยู่ที่ 3 จังหวัด

ญาติพี่น้องที่เขาถูกฆ่าตาย ก็มีความรู้สึก เราในฐานะสื่อ ก็ถูกคุกคาม เป็นเรื่องเสรีภาพในการรายงานข่าวอีก พอไปแตะรัฐหนักๆ ก็ถูกฟ้องจากรัฐ ด้วยข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ถูกฟ้องตอนไลฟ์สด การแห่ศพผู้เสียชีวิตไปฝัง หรือไลฟ์สดตอนปะทะใน 3 จังหวัด ก็ถูกฟ้อง ทำให้ภาคประชาสังคม คนที่ทำงานด้านมนุษยธรรม และสื่อในพื้นที่ รู้สึกเหมือนอยู่ในกรอบ ที่เราต้องทำตัวเองให้เซฟ ให้เชื่อง พูดข้อเท็จจริงยากในพื้นที่ความขัดแย้ง

No justice no peace ไม่มีสันติภาพ ถ้าไม่มีความยุติธรรม ซึ่งที่อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แก้ปัญหาด้วยการเจรจา ทำให้ความขัดแย้ง การต่อสู้ที่อยากแบ่งแยกเอกราช หมดไป ด้วยการพูดคุย แก้ปัญหาด้วยการเมืองในระบบ ซึ่งกรณีไทยก็ไปเรียนรู้จากที่นั่นเช่นกัน แต่เรายังติดเรื่องความยุติธรรม ที่ทำให้ประชานไม่ได้ ซึ่งถ้าทำกรณีตากใบได้ จะทำให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐ

ถ้าไม่มีความยุติธรรม คงต้องหาทางสู้ต่อไป ทำให้คนในจังหวัดอื่นๆ และใน 3 จังหวัดเอง เชื่อมั่นใจสันติวิธี และความรุนแรงไม่ใช่ทางออก เพราะมีเอฟเฟ็กต์ ทำให้คนเลือกใช้กำลัง ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ

เรามีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกด้วย ในกระบวนการ Peace process ในฐานะประชาชนต้องยึดมั่นในแนวทางไม่ใช้ความรุนแรง และเลือกตัวแทน (ส.ส.) ให้ไปคุยในสภา ให้รับรองเรื่อง 3 จังหวัดเป็นวาระแห่งชาติให้ได้ เชื่อว่า เร็วๆ นี้จะมีรายงานของ กมธ. ที่เป็นรูปธรรม ยื่นเข้าไปในสภาใหญ่ ถ้ายังใช้ทหารนำเช่นเดิม ก็จะย้อนไปสู่ความรุนแรง เราต้องใช้ประชาธิปไตย แก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้ได้ เพราะใช้ไปหลายแสนล้านแล้ว ในการแก้ปัญหา และเป็นภาษีประชาชนด้วย

ขนาดจะสิ้นอายุคดียังโดนคุกคาม มีเจ้าหน้าที่ ฉก.ระดับตำบลมาเยี่ยมบ้านทุกเดือน เพื่อดูว่าอยู่บ้าน ก็มากินกาแฟ เหมือนปรับทัศนคติว่าทำไมโพสต์อย่างนี้ ทำข่าวอย่างนี้

ปัจจุบันมีการฟ้องข้อหา พ.ร.บ.คอมพ์ มาตราที่ฮิต คือ ม.116 กับนักกิจกรรม พยายามยัดคดีความมั่นคง ทำให้เกิดการดิสเครดิต คล้ายกับเป็นนโยบายให้ผลักเราเป็นขบวนการไปเลย เป็นข้อกังวลที่ให้คนทำงานในพื้นที่”

‘แบมะ’ น้ำตาคลอ สูญเสียพี่ชาย
คาใจ สำนวนคดีหาย? ซ้ำเจอขู่ใช้กฎหมาย

“ถ้าถามว่ากังวลไหม ในนามชาวบ้าน อึดอัดใจหลายอย่างเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบ เราอยากให้หลายสิ่งและความยุติธรรมเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเหตุการณ์ สลายการชุมนุมตากใบ ในปี พ.ศ.2547 นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ การที่เราขึ้นมากรุงเทพฯ เพราะต้องการให้สื่อช่วยอีกด้าน เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในเหตุการณ์ครั้งนี้ ความรู้สึกชาวบ้าน ผมเป็นส่วนหนึ่ง เพราะสูญเสียพี่ชายคนโต ชื่อนายอับดุล ในตอนเกิดเหตุอายุประมาณ 27 ปี ผมไม่ได้ไปร่วมในการชุมนุม เพราะไปไถนากับพี่ชายตอนเช้า แล้วพี่ชายแยกไปซื้อเสื้อผ้า รับวันฮารีรายอ ในตอนนั้นที่ตากใบเกิดเหตุชุมนุม แล้วเขาก็เสียชีวิต

ผ่านไป 20 ปี แต่ความรู้สึก ยังไม่จางหายไป คนที่เกิดเหตุยังไม่สบายใจแม้อายุคดีความกำลังจะครบ 20 ปีก็ตาม พูดอีกครั้ง ก็ยังรู้สึกว่ายังรอคอยความยุติธรรม ผมคนหนึ่งเวลาพูดจะมาด้วยน้ำตา ด้วยความเสียใจ ขณะที่พูดในศาลก็หลั่งน้ำตา เพราะจะถึง 20 ปีแล้ว คนที่เสียชีวิต เขาก็เป็นคน

ที่ยังคาใจ ขนาดสำนวนคดีที่เสียชีวิต 85 ศพ ไม่ใช่คนเดียว แต่สำนวนคดีไม่รู้ไปไหน ทำไมรัฐไทยไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โยนไปโยนมา สภ.ตากใบ บอกว่าไป สภ.หนองจิก โยนไปอัยการ ทำให้ชาวบ้านที่เสียชีวิตและพิการ ยังค้างคาใจ ว่าคนทำผิด คนร้ายยังลอยนวล

พี่ชายโดนยิง 2 จุด คนในหมู่บ้าน 4 คนคอหักหมดเลย โดนอะไรเราก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ศพที่เอากลับ ลูบแรงๆ ไม่ได้ เพราะว่าบวม แต่แหวนยังติดนิ้วอยู่ เลยรู้ว่าเป็นพี่

การเยียวยาภาครัฐให้มาแล้ว 7 ล้านบาท แต่พอไหมกับการเสียชีวิตของคนในครอบครัว บางคนเป็นเสาหลัก เป็นสามีภรรยา

อีก 3 เดือนอายุความก็จะจบ ครบรอบเหตุการณ์ตากใบ เราจึงรวมตัวพูดคุยกันว่าจะให้จบโดยไม่เกิดเรื่องอะไรเลยหรือ หรือจะลองสู้เพื่อคืนความยุติธรรมให้คนที่เสียชีวิต ที่เขากลับมาบอกเราไม่ได้ว่าเขาถูกทารุณกรรม เพราะการขนย้ายวันนั้น ชาวบ้านยังพูดปากต่อปากเลยว่าเหมือนสัตว์ จับแขนไขว้หลังกัน ให้นอนทับกัน 4-5 ชั้น ทำไมให้ทำอย่างนั้นในเดือนถือศีลอด เหมือนจงใจทำ ชาวบ้านคิดอย่างนั้น

หากสิ้นอายุความ หรือมีคำสั่งว่าการฟ้องร้องของชาวบ้านนั้นไม่มีมูล ชาวบ้านก็จะยิ่งค้างคาใจ และความรู้สึกคงจะยิ่งแย่ลง แม้อายุความจะหมด แต่ความทรงจำ และประวัติศาสตร์ การสูญเสียก็ยังอยู่ตรงนี้ ผลกระทบไม่มีการแก้ไขปัญหาใดๆ ใน 3 จังหวัดยังไม่มีความยุติธรรม

พอรู้ว่าชาวบ้านจะลุกขึ้นมาสู้คดี เจ้าหน้าที่ก็โทรไปที่บ้าน ส่วนใหญ่ไปด้วยนอกเครื่องแบบ ให้ไปเซ็นเอกสาร แล้วให้เงิน 300 บาท โดยไม่แจ้งว่าให้ไปทำไม ถ้าไม่ไป ขู่จะใช้กฎหมาย กดดันผ่านข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั้งคนชรา ผู้หญิง ก็ถูกขู่เหมือนกัน ชาวบ้านกลัวบ้าง แรกๆ ไม่อยากไป จนทนายแนะนำให้ถาม ว่าไปเซ็นอะไร”

อูเซ็ง ดอเลาะ
ศูนย์ทนายมุสลิม
เปิดใจ ทำไมฮึดลุกฟ้องรัฐ?

“เราต่อยอดจากสมัยของทนายสมชาย นีละไพจิตร เพราะสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ เราทำงานในชมรมนักกฎหมายมุสลิม บทบาทส่วนใหญ่ทำงานร่วมกับนักศึกษา ทำคดีที่สำคัญ เช่น คดีเจไอ (เจมาห์ อิสลามิยาห์-Jemaah Islamiyah) เราเริ่มทำคดีตั้งแต่นั้นมาจนถึงหลังจากปี 2549 คดีที่เกี่ยวกับความรุนแรง ก่อนหน้านี้เราจะฟ้องที่ศาลอาญาเป็นหลัก แต่ตอนหลังก็มีการปรับปรุงนโยบายให้มีการดำเนินคดีแต่ละจังหวัดที่เกิดเหตุ 3-4 พื้นที่ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส สงขลา ที่มีเหตุเกี่ยวกับความมั่นคง

สำนักงานของศูนย์ทนายความมุสลิมมี 5 แห่งในกรุงเทพฯ แต่ไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไหร่ ที่สำคัญ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส มีบทบาทมากที่สุดในการว่าความให้กับจำเลยเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงคดีตากใบที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับจุดเริ่มต้นในการฟ้องคดีด้วยตนเอง เกิดหลังจากแอมเนสตี้ลงในพื้นที่แล้ว พบว่าพี่น้องชาวบ้านที่ได้รับการสูญเสีย มีการตื่นรู้และให้ความสนใจในเรื่องของการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่ทำให้เกิดการสูญเสีย และละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีตากใบ

หลังจากนั้นมีการติดต่อไปที่นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ แจ้งความประสงค์ว่าจะขอเรียกร้องความยุติธรรมให้กับพี่น้องที่ได้รับความสูญเสีย และได้รับผลกระทบ ทางนายอาดิลันได้จัดทีมทนายเพื่อที่จะนำคดีมาสู่ศาลด้วยตัวเอง ซึ่งก่อนที่เราจะฟ้องคดีก็ได้มีการประสานงาน พูดคุยสืบหาหาข้อเท็จจริงจากผู้เสียหาย และญาติที่มีความสัมพันธ์กับผู้ตาย หรือได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรง

จนสุดท้ายได้ข้อมูลมาตอนนั้น มีผู้ที่มีความประสงค์จะร่วมเป็นโจทก์ฟ้องคดีประมาณ 48 คน และมีบางส่วนที่ติดพิธีกรรมทางศาสนา เพราะเป็นช่วงทำพิธีฮัจย์ เราต้องเอาแค่ส่วนที่สามารถเดินหน้าไปก่อน เพราะมันติดเรื่องของอายุความที่กำลังหมดไป จึงได้ตัวแทนของผู้เสียหาย 48 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ตายประมาณ 34 คน และตัวแทนของผู้เสียหายที่ได้รับบาดเจ็บอีก 10 กว่าคน

ส่วนของทนายการที่จะฟังคำตอบสุดท้ายว่า จำเลยทั้ง 9 คนมีความผิด มันเป็นเรื่องอีกยาวไกล แค่ศาลสั่งว่าคดีมีมูลมันก็เท่ากับว่าคดีของประชาชนมันชนะไปครึ่งหนึ่งแล้ว

บทเรียนที่เราจะได้จากกรณีที่ศาลมีคำสั่งว่ามีมูล อย่างน้อยคุณค่าที่มีชีวิตของคน ควรจะได้การปฏิบัติอย่างมีคุณค่าและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เจ้าหน้าที่จะทำอะไรต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งอัตราการวิสามัญฆาตกรรมมันน่าจะตรวจสอบได้มากขึ้น”

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์
นักวิจัยแอมเนสตี้
จี้รัฐขีดมาตรฐานชัด เลิกวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล

สิ่งที่สังเกตเห็นชัดมากตอนลงพื้นที่ปีนี้ คือ บรรยากาศในพื้นที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว มันมีวัฒนธรรมของการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่อยู่ เรารู้กันว่ามันมีเสียงอื้ออึง มันมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเยอะแยะ มีการซ้อมทรมาน วิสามัญฆาตกรรมต่างๆ นานา แต่ไม่มีกรณีไหนเลยที่นำเจ้าหน้าที่มาลงโทษ และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันคนที่ออกมาพูดความจริง ก็โดนคดีอยู่ตลอด ถูกคุกคามโดยตลอด

มันมีพลวัตที่น่าสนใจคือเราเคยลงพื้นที่ตากใบก่อนหน้านี้ครั้งหนึ่งในปี 2019 ซึ่งถ้าเทียบกับปี 2023 เราจะพบว่าตอนนั้นปี 2019 เพิ่งออกจากช่วง ‘รัฐบาลประยุทธ์ 1’ หลังการรัฐประหาร ซึ่งตอนนั้นนักปกป้องสิทธิโดนคดีกัน เพราะออกมาพูดเรื่องการละเมิดสิทธิ

พอหลังจากยุคนั้น เราลงพื้นที่ไปตากใบ ชาวบ้านรู้สึกโพซิทีฟ (Positive) มากขึ้น เขารู้สึกมีความหวังขึ้นมา อยากคุยกับคน อยากเปิดหน้าเพื่อเล่าเรื่องว่าตัวเองเจออะไรมาบ้าง อยากเจอกับองค์กร
สิทธิมนุษยชน เหมือนมีความหวังขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

แต่ปีที่แล้ว 2022 มันมีพลวัตที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทุกคนบอกว่าขอใช้ชื่อสมมุติ หรือปิดหน้าเลย บางคนก็ไม่อยากเล่าเรื่องด้วยซ้ำแม้ว่ามันจะมีการเปลี่ยนรัฐบาล หรืออะไรหลายอย่าง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ยัง
ไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงคุยกับองค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็น 10 รอบ ก็ไม่ได้รับการแก้ไข

ผ่านรัฐบาลประยุทธ์มาแล้ว คนมลายูก็ยังโดนเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีหรือคุกคามที่บ้าน ซึ่งคดีตากใบก็เป็นเรื่องชุมนุมเหมือนกัน เขาคงรู้สึกว่าถ้าออกมาเรียกร้องความยุติธรรมมันก็คงไม่ได้อะไร แต่ก็ต้องขอบคุณทีมงานทุกคนที่ปลุกหลายคนให้ตัดสินใจลุกขึ้นมาพูด ถึงแม้จะเหมือนที่เราคุยกันว่ายังมีการคุกคามเกิดขึ้นอยู่

มันไม่ใช่แค่ต้องการความกล้าหาญจากชาวบ้าน แต่ภาครัฐก็ต้องสร้างบรรยากาศให้รู้สึกปลอดภัย และเอื้ออำนวยให้เขาออกมาหายุติธรรมด้วย เรายังไม่เห็นว่ามีการพยายามคุ้มครองคนที่ออกมาเรียกร้อง เช่น เรื่องของการคุ้มครองพยานที่ยังไม่มี แล้วเราอยากจะเห็นมันมากขึ้น

หลายท่านอาจจะเห็นว่าเหยื่อได้รับเงินชดเชยมาประมาณหนึ่งแล้ว แต่ตามจริงหลักการของกฎระหว่างประเทศ การเยียวยาไม่ใช่แค่การให้เงินชดเชย แต่ต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นได้อย่างไร มันมีการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เกิดเหตุใหม่ๆ แต่ข้อมูลที่ชาวบ้านออกมาพูด ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐ

ตอนผมลงพื้นที่กับแอมเนสตี้ ครอบครัวที่เขามีลูกเป็นเด็ก 12 ขวบ บ้านอยู่ตรงข้ามสถานีตำรวจตากใบ แล้วเขาบอกว่าอยู่ๆ ตอนที่มีการสลายการชุมนุม มีกระสุนยิงมาโดนที่เท้าลูกเขา ทั้งที่อยู่ไกลจากตัวสถานีตำรวจมาก เรียกได้ว่า การสลายการชุมนุมกว้างขวางมาก แต่ก็ยังไม่เห็นการบันทึกข้อมูลเหล่านี้อย่างเป็นระบบ แล้วไม่มีความพยายามจากภาครัฐในการรับรองข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมากเพียงพอ รวมถึงความพยายามการันตีว่าสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก

สิ่งที่เกิดขึ้นในตากใบมันถูกใช้มาเป็นโมเดลสลายการชุมนุมหลายครั้งในประเทศไทย หลายครั้งที่ภาครัฐเหมือนมีแนวปฏิบัติบางอย่างที่อยากจะใช้ในการควบคุมประชาชน โดยนำมาใช้ที่ 3 จังหวัดภาคใต้ก่อน แล้วก็ค่อยเอามาลองใช้ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ

ผมคิดว่าเหตุการณ์ตากใบก็ไม่ต่างกัน มันเป็นเหมือนหนึ่งในการทดลองเพื่อสลายการชุมนุมและควบคุมประชาชน แล้วเราก็ยังเห็นเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการสลายเสื้อแดง สลายการชุมนุมเยาวชนตั้งแต่ 2563-2565 เหมือนรัฐบาลไทยไม่เคยเรียนรู้ว่าสิ่งนี้มันไม่ถูกต้อง

แอมเนสตี้ขอเรียกร้องว่า ขั้นแรกสุดคือการรับฟ้อง ถ้าปล่อยให้หมดอายุความไปแล้วมันจะไม่ใช่แค่การเสียโอกาสของตากใบ แต่เสียโอกาสในแนวทางปฏิบัติในอนาคตเพื่อให้ภาครัฐจัดการดูแลการชุมนุมได้อย่างสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น”

นับถอยหลัง จากวันนี้ ในวันที่หัวหนังสือพิมพ์บอกวันที่ 14 กรกฎาคม คือ 103 วันก่อนหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ย่อมเป็นห้วงเวลาที่เข้มข้นจนต้องร่วมจับตา

อธิษฐาน จันทร์กลม
ภูษิต ภูมีคำ