ผู้เขียน | พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร / ชญานินทร์ ภูษาทอง |
---|
68 ปีของชีวิต พระราชรัตนสุนทร
‘ความสะอาดเป็นหัวใจของทุกหนทุกแห่ง’
ทำเอากุฏิคณะใต้ 34 หรือ ‘ต.34’ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ดูคับแคบไปถนัดตา
เมื่อมีการจัดงานทำบุญอายุวัฒนมงคล 68 ปี พระราชรัตนสุนทร หรือ ‘เจ้าคุณราช’ แห่งวัดโพธิ์ ท่าเตียน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ศิษยานุศิษย์ ทั้งรุ่นเก่า รุ่นกลาง รุ่นใหม่ ทยอยเดินทางสมทบตั้งแต่เช้าตรู่ จนเกือบสิ้นแสงสุดท้ายของวัน
ด้วยคุณูปการมากล้นตลอดชั่วชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์ จึงไม่มีเหตุผลอันใดต้องแปลกใจหากบุคคลในหลากหลายแวดวงจะพร้อมใจปักหมุด ต.34 รวมถึงส่งแจกันดอกไม้เพื่อน้อมถวายมุทิตาจิตสักการะด้วยใจจริงแท้
อาทิ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ดุสิต เขมะศักดิ์ชัย สมาชิกวุฒิสภา, บุญส่ง น้อยโสภณ สมาชิกวุฒิสภา กลุ่ม 2 (กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม), วราวุธ ตีระนันทน์ สมาชิกวุฒิสภา กลุ่ม 20 (อื่นๆ), นายแพทย์สุรินทร์ อัศววิฑูรย์ทิพย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, พล.อ.ธีระ บูรณกสิพงษ์, นายไพศาล คุนผลิน, ศ.ดร.มานิต เอื้อทวีกุล และครอบครัว, พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ, เสรัชย์ ตั้งตรงจิตร ทายาทรุ่น 3 โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ, เยาวมาลย์ วัชระเรืองศรี กรรมการอำนวยการ สภาสตรีแห่งชาติฯ และธนชานันท์ พัฒนาดี นักธุรกิจชื่อดังแห่งเมืองนครปฐม และอีกมากมายที่ไม่อาจเอ่ยถึงในที่นี้ได้หมดสิ้น
ช่วงเช้า พระสังฆาธิการ สวดมาติกา บังสุกุล พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์นพเคราะห์ แล้วถวายภัตตาหารเพล พระภิกษุ สามเณรทั้งพระอาราม
ลูกศิษย์ลูกหาและแขกผู้มีเกียรติร่วมรับประทานอาหาร เป็นอันเสร็จพิธี
อบอุ่นและอบอวลด้วยมิตรไมตรี
ลึกซึ้งและหนักแน่นด้วยศรัทธาที่มีต่อ ‘เจ้าคุณราช’ พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มากมายด้วยเมตตา ทั้งยังสมถะ ไม่ถือซึ่งยศถา
การยืนกวาดใบไม้หน้าวัด ริมถนนสนามไชย จึงกลายเป็นภาพคุ้นตา
“ความสะอาด เป็นหัวใจของบ้าน เป็นหัวใจของวัด เป็นหัวใจของทุกหนทุกแห่ง”
คือวาทะที่เอื้อนเอ่ยเน้นย้ำเสมอมา
เส้นทางชีวิตใต้ร่มกาสาวพัสตร์
จากเด็กชายชาวสุพรรณ สู่ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ
‘พระราชรัตนสุนทร’ มีนามเดิมว่า วินัย เทียนเบ็ญจะ ฉายา ธมฺมานนฺโท เกิดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2499 เป็นชาวสุพรรณบุรีโดยกำเนิด
ประวัติด้านการศึกษา
พ.ศ.2515 สอบได้นักธรรมชั้นเอก
พ.ศ.2519 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค
พ.ศ.2530 สำเร็จปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาบริหารการศึกษา (พธ.บ.) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.)
และวุฒิการศึกษา น.ธ.เอก (2515) ป.ธ.4 (2519) และปริญญาตรี พธ.บ. (บริหารการศึกษา) 2530 มจร.
ประวัติด้านสมณศักดิ์
พ.ศ.2527 เป็นพระครูปลัดชั้นราช ฐานานุกรมในพระราชปัญญาสุธี
พ.ศ.2537 เป็นพระครูปลัดชั้นเทพ ฐานานุกรมในพระเทพวรมุนี
พ.ศ.2539 เป็นพระครูปลัดสาธุวัฒน์ ฐานานุกรมในพระธรรมเสนานี
พ.ศ.2544 เป็นพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ ฐานานุกรมในพระธรรมปัญญาบดี
5 ธันวาคม พ.ศ.2547 เป็นพระราชคณะปลัดซ้าย ที่ พระอุดรคณารักษ์ อรรควิจารณคุณ วิบูลญาณอนันต์ สรรพมหาคณาธิบดี ตรีปิฎกธรรมรักขิต ฐานานุกรมในพระอัฐิสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
12 สิงหาคม พ.ศ.2559 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชรัตนสุนทร ศาสนภารธุราทรสิกขกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานฝ่ายศึกษาสงเคราะห์ เจ้าคณะเขตบึงกุ่ม
ท่องให้จำ ย้ำให้แม่น
สะอาด ร่มรื่น มีศิลปวิทยา แจ้งธรรมะ ละอบายมุข
พระราชรัตนสุนทร เมตตากล่าวถึงคติธรรมที่ควรประพฤติปฏิบัติ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดของโลกชีวิต นั่นคือ
‘ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มัธยัสถ์ กตัญญู’
แน่นอนว่า อีกสิ่งสำคัญ คือ ‘ความสะอาด’
“หากอยากจะเป็นนักบริหาร จะบริหารวัดก็ได้ บริหารบ้านก็ได้ บริหารโรงเรียนก็ได้ แต่ต้องมีหลักที่ว่าจะทำอย่างไรให้วัดก็ตาม บ้านก็ตาม โรงเรียนก็ตาม สะอาดร่มรื่น หลักการนี้ ถ้านำไปใช้ได้ จะเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด เป็นหัวใจของบ้าน เป็นหัวใจของวัด เป็นหัวใจของทุกหนทุกแหน่ง หากที่ใดไม่สะอาด ถือว่าติดลบแม้ร่มรื่น” เจ้าคุณราชอธิบาย ก่อนให้สโลแกน
‘สะอาด ร่มรื่น มีศิลปวิทยา แจ้งธรรมะ ละอบายมุข’
นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างด้วยว่า หากถูกถามจากญาติโยมว่าเหตุใดกุฏิจึงเก่า ไม่พัฒนา ยังพอตอบได้ว่า เพราะขาดปัจจัย แต่หากโดนถามว่า ทำไมห้องน้ำจึงสกปรก ทำไมพื้นไม่สะอาด นั่นคือสิ่งที่ตอบโยมไม่ได้
“ท่านอยู่วัด ท่านไม่ได้ทำอะไรเลยหรือ ฉันแล้วก็นอน ถ้าเกิดอย่างนี้ ตอบโยมไม่ได้เลย” เจ้าคุณราชยกเหตุการณ์สมมุติ ดังเช่นที่เน้นย้ำต่อภิกษุสามเณรตลอดมา
วัดโพธิ์ ท่าเตียน จึงสะอาดตา รวมถึงกุฏิ ต.34 ที่เจ้าคุณราชจำพรรษามานานนับเนื่องหลายทศวรรษ จนทราบแม้กระทั่งที่มาของต้นไม้และไหเก่าแก่ 2 ข้างของบันไดทางขึ้น
1 เหรียญ 1 กองทุน ‘พัฒนาสามเณร’
3 เดือนเห็นผล ต่อยอดไกล ครบ 1 ทศวรรษ
ครั้นสอบถามถึงบทบาทด้าน ‘ศึกษาสงเคราะห์’ พระราชรัตนสุนทร กรุณาเล่าตั้งแต่ภาพรวม ว่าได้อุปถัมภ์พระเณรให้ได้เรียนหนังสือที่วัดโพธิ์ทั้งไทยและต่างชาติ โดยย้อนถึงที่มาของกองทุนที่มีสโลแกนว่า ‘1 เหรียญ 1 กองทุน สบทบทุนการศึกษา พัฒนาสามเณรให้มีคุณภาพ’ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบัน ครบรอบ 10 ปีพอดิบพอดี
“เณรมาเรียนที่วัดโพธิ์ ประมาณ 300 รูป ซึ่งล้วนแล้วแต่มาจากวัดที่อื่นกันทั้งสิ้น ฉันเพลเสร็จก็มาเรียนที่วัดโพธิ์ มีทั้งเณรไทย เณรต่างชาติ เมียนมา ลาว กัมพูชา บังกลาเทศ อาตมาเองในฐานะผู้บริหาร ต้องเรียนว่า เดิม เณรต่างชาติเราไม่รับ เพราะเราไม่รู้เรื่องเขา เขาก็ไม่รู้เรื่องเรา แต่ผู้ปกครองขอให้ช่วยรับไว้ พอมาเรียนกับเรา 2 สัปดาห์รู้เรื่องเลยว่าอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เมื่อเขียนภาษาไทยไม่ได้ อ่านภาษาไทยไม่ออก ภาษาอื่นก็ไม่ต้องพูดถึง ยกเว้นภาษาอังกฤษ ต่างชาติอาจจะได้เปรียบ เลยตัดสินใจใหม่ว่าจะสงเคราะห์ มัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ทั้งโรงเรียนเลย โดยมาสอบใหม่ ทั้งข้อเขียนและปากเปล่า” เจ้าคุณราชเล่า ก่อนเผยถึงการแก้ไขปัญหาการ ‘อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้’ ทั้งเณรไทยและต่างชาติ โดยเข้ากราบนมัสการท่านเจ้าอาวาส เพื่อขออนุญาตตั้งตู้บริจาคที่วิหารพระพุทธไสยาส หรือวิหารพระนอน วัดโพธิ์ ให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนการศึกษา โดยใช้สโลแกนว่า ‘1 เหรียญ 1 กองทุน สบทบทุนการศึกษา พัฒนาสามเณรให้มีคุณภาพ’
“อาตมาทำอยู่ประมาณ 3 เดือน สามารถนำเงินตรงนี้มาจ้างครูจากโรงเรียนวัดราชบพิธบ้าง โรงเรียนตั้งตรงจิตรบ้าง โรงเรียนวัดพระเชตุพนฯบ้าง มาสอนให้สามเณรตัวน้อยๆ เรียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทย์-คณิต ระดับ ม.1-ม.3 แค่ 3 เดือน เท่านั้นได้ผล จากเณรที่อ่านไม่ออก ก็อ่านออก เราภูมิใจมากๆ โดยสามารถพัฒนาอย่างอื่นได้อีก เช่น การบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปในกุฏิ ต.34 ที่ชำรุดทรุดโทรม ซึ่งก็ทำมาตลอด” เจ้าคุณราชกล่าว
เผยแผ่ศาสนา ปักหมุด ‘ปารีส’ ไม่ทิ้ง ‘สุพรรณฯ’ บ้านเกิด
อีกหนึ่งภารกิจสำคัญ คือการเผยแผ่พระศาสนาซึ่งไม่ได้ขีดเส้นพรมแดนเพียงแผ่นดินไทย หากแต่ไปไกลถึงอีกซีกโลก โดย พระราชรัตนสุนทร ได้ติดตามท่านเจ้าอาวาสไปยังสาธารณรัฐฝรั่งเศส เนื่องในโครงการสร้าง วัดพระเชตุพน กรุงปารีส ซึ่งดำเนินการด้วยงบประมาณของทางวัด ตั้งแต่การจัดหาสถานที่ก่อสร้างเมื่อราว 10 ปีก่อนหน้า
กระทั่ง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 พิธีสถาปนาวัดพระเชตุพน กรุงปารีส ได้เกิดขึ้น โดยมี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมฺงกโร) เจ้าอาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นประธานฝ่ายบรรพชิต และ ธนา เวสโกสิทธิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์
ประจวบเหมาะพอดีกับวาระครบรอบ 333 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส
เจ้าคุณราชมองว่า การสร้างวัดพระเชตุพน กรุงปารีส โดยมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา อย่างน้อยต้องพูดภาษาฝรั่งเศสได้ เพื่อให้สามารถสื่อสารเผยแผ่หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมภาษาฝรั่งเศสและภาคส่วนต่างๆ
“เมื่อพระไปอยู่ อย่างน้อยก็ต้องพูดภาษาฝรั่งเศสให้ได้ เพราะเราต้องไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ต้องสอนเขาได้ อย่างน้อยให้นั่งสมาธิ 5 นาที 10 นาที เจ้าประคุณสมเด็จฯท่านเรียกไปบอกว่า ท่านเจ้าคุณช่วยเป็นภาระตรงนี้ให้หน่อย เลยมาคิดร่วมกันว่า ถ้าอย่างนั้นเราเปิดอบรมพิเศษ 90 ชั่วโมง ให้พระเณร ให้ญาติโยม ทุกคนมาเรียนภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ฉะนั้น พระที่ไปอยู่ฝรั่งเศสอย่างน้อยก็สื่อสารพื้นฐานได้ ทุกวันนี้ก็ทำเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว” เจ้าคุณราชเล่า
ปิดท้ายด้วยการช่วยเหลือญาติโยมที่ทุกข์ยาก เจ้าคุณราชเผยว่า ที่ผ่านมาทางวัดช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนมาโดยตลอด รวมถึงเด็กๆ โดยบริจาคทั้งข้าวและน้ำดื่มสมทบกับรัฐบาลเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้เด็กได้กินข้าวฟรีครบทุกคนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าคุณราชยังผลักดันการพัฒนา ‘วัดเขาดิน’ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี บ้านเกิด ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางในฐานะแหล่งท่องเที่ยว ‘สไตล์ญี่ปุ่น’ ที่ผู้คนเนืองแน่นทุกวันหยุดสุดสัปดาห์
นับเป็น 68 ปีของชีวิตที่สร้างคุณูปการหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการศึกษา อันเป็นหัวใจของการพัฒนาคน พัฒนาสังคม พัฒนาประเทศชาติ และโลกสากล